ประวัติวัดพระธาตุศรีคีรีกัสสปะ (สำนักสงฆ์ปฏิบัติธรรมดอยต๊อก)
(แหล่งที่มา : ครูบาบุญศรี อภิปุณโณ เพิ่มเติมรายละเอียดโดย พระชัชวัสส์ ชวนปญโญ. ประวัติวัดพระธาตุศรีคีรีกัสสปะ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://watdoitok.multiply.com/journal. (วันที่ค้นข้อมูล : ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕))
“ดังมีประวัติเล่าสืบๆ กันมาว่าบูรณะในสมัยพระนางเจ้าจามเทวี ในสมัยนั้นพระนางได้มาสร้างที่วัดป่าหยวก (ปัจจุบันนี้ได้จมไปใต้น้ำเขื่อนภูมิพลตอนที่สร้างเขื่อนขึ้นแล้ว) ต่อจากนั้นมาสร้างที่วัดแคปู (น้ำท่วมไปแล้ว) ต่อจากนั้นก็ไปสร้างวัดหัวโต่งหรือวัดหัวทุ่ง ซึ่งจากปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่กลางสวน ต่อจากนั้นก็ไปสร้างที่เมืองฮอด คือ วัดหลวงฮอดในปัจจุบัน จากนั้นไปสร้างที่วัดดอยน้อย อำเภอจอมทอง หลังจากนั้นไปสร้างที่เมืองลำพูน คือ วัดจามเทวี ในปัจจุบัน
ในเวลาขณะนั้นได้เกิดสงครามกับม่าน (พม่า) ที่ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านเกิดความระส่ำระสายกลัวภัยสงครามจึงนำของมีค่าจากวัดป่าหยวก วัดแคปู วัดหัวโต่ง มาซ่อนไว้ในดอยพระเคี่ยน เนื่องจากกลัวพม่านำของมีค่าไปปากถ้ำมีทางทิศตะวันออกที่เราสร้างฐานครอบไว้ในเจดีย์นี้เป็นปล่องถ้ำลึกลงไป ๑๐ศอก แต่อาตมาว่าน่าจะอยู่ลึกไม่ต่ำกว่า ๑๐ เมตร เพราะสมัยก่อนเช่นสมัยอโยธยาได้ซ่อนของมีค่าลึกกว่า ๑๐ เมตร ดอยพระเคี่ยนก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เป็นที่เก็บของสำคัญต่าง ๆ
ประวัติวัดพระธาตุศรีคีรีกัสสปะ(สำนักสงฆ์ปฏิบัติธรรมดอยต๊อก) (ต่อ)
เดิมที่พุทธสถานแห่งนี้ชื่อสมัยที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาและประทับรอยพระพุทธบาทเอาไว้อยู่ตรงข้ามกับทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้งและอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ชื่อว่า ท่าหัวเคี่ยน และมาเปลี่ยนเป็น ดอยพระเคี่ยน ในหนังสือพระพุทธเจ้าเลียบโลกเสด็จมาทางภาคเหนือตามแม่น้ำที่เมื่อได้ชื่อว่า แม่น้ำระมิงค์ และเปลี่ยนมาเป็น แม่น้ำปิง ในปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดสงครามกับพม่าชาวบ้านกลัวม่าน (พม่า) นำของมีค่าไปจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นดอยต๊อกในปัจจุบัน และดอยต๊อกจริงๆ ก็มีอยู่อีกแห่งหนึ่ง
ดอยต๊อกนี้คงสร้างหรือบูรณะในระยะไล่เลี่ยกันในสมัยพระนางจามเทวีได้ไปสร้างและบูรณะที่พระธาตุแก่งสร้อยหรือเมืองท่าสร้อยเมื่อปีพ.ศ.๑๒๓๐ และหลังจากนั้นมาเมืองท่าสร้อยก็เจริญรุ่งเรืองมาถึงที่สุดในสมัยกษัตริย์องค์สุดท้ายชื่อ ปาตูมมะราชบรมกษัตริย์ ได้ทรงสร้างและบูรณะวัดวาอารามขึ้นมาใหม่ถึง ๙๙ วัดจนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๓๑๐ ทางอโยธยาเกิดศึกสงครามกับพม่าจึงร้างตั้งแต่นั้นมาจนมาถึงยุคปัจจุบัน วัด ๙๙ วัดได้จมอยู่ใต้น้ำพอน้ำลดลงก็จะเห็นได้บางอย่างเช่น เจดีย์และพระธาตุและรอยพระพุทธบาทที่ได้ไปสักการะทุกวันนี้เท่านั้น
ประวัติวัดพระธาตุศรีคีรีกัสสปะ(สำนักสงฆ์ปฏิบัติธรรมดอยต๊อก) (ต่อ)
ขออนุโมทนากับท่านศรัทธาทั้งหลายทุกๆ ท่านที่มีส่วนร่วมในการสร้างพระธาตุ เสนาสนะ และหนังสือประวัติพระธาตุเจ้าดอยต๊อกนี้เพื่อเป็นการสืบสานอายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดศาสนาพุทธกาล ขอให้ท่านจงประสบแต่ความสุขความเจริญเป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภ่ณธนสารสมบัติ ปราศจากโรคาพยาธิเป็นผู้มีจิตดำรงคงมั่นในพระพุทธตลอดถึงพระนิพพานทุกๆ ท่านเทอญ”
ขอเจริญพรเจริญธรรม
( ครูบาบุญศรี อภิปุณโณ)
๒๕ มีนาคม ๒๕๔๕
เพิ่มเติมรายละเอียดโดย
(พระชัชวัสส์ ชวนปญโญ)
เจ้าอาวาสพระธาตุดอยต๊อก
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒