พระบรมธาตุเจดีย์ วัดหนองเงือก ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุ ๑๑๑ องค์ โดยพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมฺา พฺรหฺมจกฺโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ท่านได้อัญเชิญมาจากวัดนครเจดีย์
ประวัติวัดหนองเงือก
ประวัติโดยสังเขปของหมู่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ตามตำนานเล่าสืบกันมา เนื่องจากในครั้งหนึ่งได้มีผู้คนได้อพยพมาจากเมืองยองประเทศพม่า และได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเขตบ้านหนองเงือก โดยได้อพยพมาตั้งหมู่บ้าน ๕ ครอบครัวด้วยกัน โดยแต่ละครอบครัวได้กระจายกันอยู่ดังนี้ คือ บ้านม่อน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด บ้านหลวง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตลาดสดในปัจจุบันนี้ บ้านริ้วนา ซึ่งตั้งอยู่นอกริ้วนา ปัจจุบันเรียกว่า บ้านป่ามะหุ่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด แต่ละบ้านมีชื่อไม่เหมือนกัน
สาเหตุที่เรียกชื่อบ้านว่า บ้านหนองเงือก นั้น เป็นผลสืบเนื่องว่า ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านได้มีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ และได้มีรูน้ำไหลขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลออกมาตลอดทั้งปี และได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ที่คนทั้ง ๕ ครอบครัวไม่คาดคิด ได้ปรากฏว่ามีงูหรือเงือก (พญานาค) ใหญ่ขนาดเท่ากับคน ปรากฏผุดขึ้นในหนองน้ำแล้วหายไป ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้คนทั้งห้าครอบครัวตั้งชื่อนามบ้านว่า บ้านหนองเงือก ตราบเท่าทุกวันนี้ ในปัจจุบันนี้หนองน้ำก็ยังมีอยู่ และยังมีน้ำไหลออกรูมาตลอดทั้งปี
ต่อมา พ.ศ.๒๓๗๑ ได้มีชาวบ้านหนองเงือกคนหนึ่งชื่อว่า นายใจ มีความคิดที่จะสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้านหนองเงือก เนื่องจากว่าในขณะนั้นหมู่บ้านนี้ยังไม่มีวัดเลย จึงปรึกษากับครูบาปารมี และได้นิมนต์ท่านครูบามาเป็นประธานในการสร้างวัด ในปี พ.ศ.๒๓๗๒ จึงแล้วเสร็จ และตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้านว่า วัดหนองเงือก โดยมีท่านครูบาปารมี เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ดังนี้
๑. ครูบาปาระมี พ.ศ.๒๓๗๖-พ.ศ.๒๔๐๐
๒. ครูบาอุปะละ พ.ศ.๒๔๐๐–พ.ศ.๒๔๑๖
๓. ครูบาไชยวงษา พ.ศ.๒๔๑๖–พ.ศ.๒๔๓๐
๔. ครูบาไชยสิทธิ พ.ศ.๒๔๓๒–พ.ศ.๒๔๕๓
๕. ครูบาญาณะ (คำแสน) พ.ศ.๒๔๕๓–พ.ศ.๒๔๙๐
๖. ครูบาพรหม พ.ศ.๒๔๙๐–พ.ศ.๒๕๐๔
๗. พระครูโพธิโสภณ (ศรีวัย โพธิวํโส) พ.ศ.๒๕๐๔
------------------
(แหล่งที่มา : ป้ายประวัติวัดหนองเงือกตามตำนาน รวบรวมโดย พระครูโพธิโสภณ (โพธิวํโส))
คำไหว้พระบรมธาตุเจดีย์ วัดหนองเงือก
(ตั้งนะโม ๓ จบ) เกสาสะนัง ธาตุระญานัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
พระแก้วมรกตจำลอง วัดหนองเงือก
คำไหว้พระแก้วมรกต
(กล่าวนะโม ๓ จบ) กาเยนะ วา เจตะสา วา พุทธะมะหามะณี รัตตะนะปะฏิมาการัง นะมามิหัง (๓ จบ)