- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-23
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2021-3-25
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 593
- สำคัญ
- 0
- UID
- 15
|
| | | |
บ่อน้ำทิพย์ บนยอดดอยขะม้อ สำนักสงฆ์ผาลาด (ดอยขะม้อ-บ่อน้ำทิพย์)
บ่อน้ำทิพย์ บนยอดดอยขะม้อ สำนักสงฆ์ผาลาด (ดอยขะม้อ-บ่อน้ำทิพย์) มีลักษณะเป็นบ่อที่เกิดขึ้นกลางพื้นดิน ปากบ่อกว้าง ๓ เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียว ลึกลงไปเป็นรูปกรวย กล่าวกันว่า ความลึกของบ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อนั้นไม่สามารถลงไปวัดได้ และน้ำก็ไม่เคยแห้งเลย แต่ถ้าผู้หญิงเข้าไปในเขตน้ำจะแห้งทันที
นอกจากน้ำทิพย์จากดอยขะม้อจะใช้ในการสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยในเทศกาลแปดเป็งแล้ว ยังมีการใช้น้ำทิพย์แห่งนี้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๖ ปี พ.ศ.๒๔๕๓ ทางราชการจังหวัดลำพูนได้นำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์เข้าร่วมพิธีสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็ได้ใช้น้ำทิพย์จากดอยขะม้อในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย กระทั่งในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสรงน้ำมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ทำพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ มหาเจดีย์สถานและพระราชอารามต่างๆ ในราชอาณาจักร จำนวน ๑๗๘ แห่ง
น้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ยังถือเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ ๑ ใน ๗ แห่ง ที่ได้จากแหล่งน้ำที่สำคัญของประเทศ ที่ได้นำไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมพิธีทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีประเพณีตักน้ำทิพย์จากดอยขะม้อเพื่อไปสรงองค์พระธาตุหริภุญชัย ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ หรือเดือนแปดเป็งของทุกปี ส่วนประเพณีตักน้ำทิพย์จากดอยขะม้อนี้มีในเดือนแปดเหนือขึ้น ๑๒ ค่ำ ก่อนสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย ๓ วัน วันประเพณีตักน้ำจากบ่อน้ำทิพย์นี้ยังเป็นประเพณีขึ้นดอยขะม้อของพุทธศาสนิกชนทั่วไปอีกด้วย
ตำนานบ่อน้ำทิพย์แห่งดอยขะม้อ
ตามตำนานเล่าว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จมาพักค้างคืนที่ ดอยห้างบาตร หลังจากทรงบิณฑบาตรในหมู่บ้านแล้ว จึงเสด็จขึ้นมาฉันภัตตาหารบนดอยขะม้อนี้ ขณะนั้นไม่มีน้ำเสวย จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำยังลำห้วยแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของดอยนี้
เมื่อพระอานนท์ไปถึงลำห้วยนั้น ก็ตีบตันไปหมด ไม่สามารถตักน้ำได้ จึงกลับมากราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสว่า ต่อไปภายหน้าคนทั้งหลายจะเรียกลำห้วยนี้ว่า "แม่ตีบ" แล้วพระอานนท์ก็ไปที่ลำห้วยด้านทิศใต้ บังเอิญมีเกวียนผ่านทำให้น้ำขุ่น ต้องรอท่าอยู่เป็นเวลานาน ฉะนั้นคำว่า "รอท่า" ภายหลังเปลี่ยนเป็น "แม่ทา"
แล้วพระอานนท์ก็ไปทางหนองน้ำด้านทิศตะวันตกของดอยขะม้อนี้อีก พญานาคก็ได้บันดาลให้น้ำแห้งไปหมด ต่อไปคนทั้งหลายจะเรียกว่า "หนองแล้ง" เมื่อเป็นดังนี้พระพุทธองค์จึงอธิษฐานใช้นิ้วพระหัตถ์กดลงบนแผ่นดิน ทันใดนั้นก็มีน้ำพุ่งขึ้นมาให้เสวยเป็นอัศจรรย์ (แต่รอยคล้ายกับปักไม้เท้าลงไป)
แล้วได้ตรัสพยากรณ์ว่า ดูกร อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พระธาตุตถาคตจะไปตั้งอยู่ใจกลางเมืองหริภุญชัย ในสมัยพระยาอาทิตตราช แล้วคนทั้งหลายจักตักเอาน้ำแห่งนี้ไปสรงพระธาตุของตถาคต
----------------------
(แหล่งที่มา : พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๙ ธันวาคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๓ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๓๗๕-๓๗๖.)
ตักน้ำทิพย์ใส่ถังขึ้นมา แล้วอย่าลืม...พกขวดน้ำมาใส่น้ำทิพย์กลับ
| | | | |
|
|