ถ้ำพระฤาษี ภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
ประดิษฐานรูปหล่อท่านปู่ฤาษี ๒ องค์ คือ ท่านปู่ฤาษีวาสุเทพ และท่านปู่พรหมฤาษีวาลมิกิ
ที่มาของชื่อคูหานี้ว่า “ถ้ำพระฤาษี”
คุณแม่ชีเกษร วรชน และคุณแม่ชีพัชรี นิลทองคำ จากวัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี มาทอดผ้าป่ากฐิน พอถึงเวลากลางคืนฝันว่า มีพระฤๅษีมาหาบอกว่า ที่ท่านอาจารย์สิงห์คิดจะสร้างอนุสาวรีย์องค์เจ้าแม่จามเทวีไว้ ณ ในถ้ำนั้น ความจริงก็สร้างได้ แต่ยังไม่สมควร สมควรสร้างองค์พระฤๅษีก่อน เพราะพระฤๅษีได้มาอยู่ ณ ที่ถ้ำป่าไผ่นี้ มาก่อนที่พระนางเจ้าจามเทวีจะมา
รุ่งเช้าคุณแม่ชีทั้งสองท่าน ได้เล่าความฝันให้พระมหาสิงห์ เจ้าอาวาสฟัง แล้วก็บอกว่า ฝันนั้นเป็นฝันที่แปลกมากเหมือนไม่ใช่ฝัน คือ เห็นชัดเจนและจำได้ติดหูติดตา คุณแม่ชีเลยอธิษฐานกันเองว่า ถ้าฝันนั้นเป็นความจริง กลับไปนี้ขอให้ถูกหวยก็แล้วกันนะ จะหล่อรูปพระฤๅษีมาให้
เมื่อกลับไปก็ถูกหวยกันนิดหน่อยพอจะสร้างได้ ก็เลยมาอีก จึงพากันไปขอแบบจากหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม องค์หลวงปู่ก็นั่งแสดงท่าให้ ก็ไปบอกช่างให้หล่อตามแบบท่าที่ท่านนั่งนั้น ก็แพงกว่ารูปหล่อพระฤๅษีองค์อื่นๆ เพราะช่างต้องปั้นแบบใหม่ ส่วนอีกองค์หนึ่ง เขาสร้างถวายแถมมา องค์นี้ไม่แพง ราคา ๕๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ก็เลยได้รูปองค์ปู่ฤๅษีทั้งสองมาประดิษฐานไว้ ณ ถ้ำแห่งนี้
รูปหล่อท่านปู่ฤาษีวาสุเทพ ภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
รูปหล่อท่านปู่พรหมฤาษีวาลมิกิ ภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
ทางไปนมัสการพระพุทธรูปปางนาคปรก ภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
พระพุทธรูปปางนาคปรก ประดิษฐานภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
ภายในบรรจุเส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ จำนวน ๑ เส้น ได้มาโดยผู้รับใช้เก็บได้จากที่บรรทมของพระองค์ แล้วได้มอบให้เพื่อน เพื่อนได้มาบวชอยู่ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี และนำมาถวายหลวงพ่อพระมหาสิงห์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่ ถือว่าเป็นของล้ำค่าที่สุด หลวงพ่อพระมหาสิงห์กลัวจะหาย จึงสร้างพระนาคปรกเป็นที่เก็บรักษาไว้
ต่อจากนั้นเราก็เดินขึ้นบันไดและเดินตรงไปอีก จะเข้าไปสู่คูหาอีกคูหาหนึ่งค่ะ
พระพุทธรูปชำระหนี้สงฆ์ ๒ องค์ ประดิษฐานภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
พระพุทธรูปปางสมาธิ ๒ องค์ (พระพุทธรูปชำระหนี้สงฆ์) ประดิษฐานภายในถ้ำป่าไผ่ วัดพระพุทธบาทถ้ำป่าไผ่
เป็นพระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก คณะศรัทธาสามัคคี สร้างถวายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘