แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ม.๘ ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_3935.JPG



ประวัติวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ตั้งอยู่เลขที่ ๔๙๙ บ้านพระบาทห้วยต้ม หมู่ที่ ๘ ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕๓ ไร่ ๑ งาน ๕ ตารางวา น.ส. ๓ ก เลขที่ ๑๘๘๗ เลขที่ดิน ๑ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๓ แปลง เนื้อที่ ๙ ไร่


อาณาเขต ทิศเหนือ จดหมู่บ้าน ทิศใต้ จดหมู่บ้านและลำห้วยต้ม ทิศตะวันออก จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตก จดหมู่บ้านและเขตป่าสงวน

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหารหลวง วิหารพระ ๑๐๘ นิ้ว วิหารพระพุทธไสยาสน์ อุโบสถ มณฑปพระเขี้ยวแก้ว มณฑปภูมิพล วิหารพระเจ้าเก้าตื้อจำลอง วิหารพระมหาสังกัจจายน์ วิหารพระเมืองแก้ว วิหารพิพิธภัณฑ์ หอพระไตรปิฎก ศาลาการเปรียญ ศาลาบาตร ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆัง กุฏิสงฆ์ โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงครัว

ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูปต่างๆ รอยพระพุทธบาท พระบาทกบ และพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ตามประวัติวัดแจ้งว่า เดิมเป็นที่วัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ครูบาผุย มหาชโย เจ้าคณะอำเภอลี้ ครูบาอินต๊ะ วัดพวงคำ ครูบาคำสุข วัดบ้านแวน ได้ประชุมคณะศรัทธา และแจ้งว่าเสนาสนะต่างๆ ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มได้ชำรุดทรุดโทรมไปมากสมควรที่จะบูรณะขึ้นเสียใหม่

จึงได้นิมนต์ พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (พระจนฺทวํโสภิกขุ) จากวัดป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นวัดขึ้น เดิมชื่อว่า วัดนาเลี่ยง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕

รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เท่าที่ทราบนามดังนี้

๑. พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา)     
     ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙-๒๕๔๓

๒. พระครูพินิจสารธรรม (ครูบาพรรณ พรหฺมเสโน)  
     ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๖๔

การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอน พ.ศ.๒๕๑๕

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : หนังสือประวัติวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม หน้า ๘๖๓. ได้รับความอนุเคราะห์หนังสือจาก พระอธิการสีมา นริสฺสโร เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง และเว็บแดนนิพพาน ดอทคอม เรียบเรียงใหม่ (๒๕๖๗, กุมภาพันธ์))

IMG_4357.JPG



IMG_4086.JPG



IMG_3968.JPG



วิหารรอยพระพุทธบาท (วิหารหลวง) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

จัดสร้างโดย พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระครูบาเจ้าท่านได้เริ่มพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อเดือน ๑๒ เหนือ (เดือน ๑๐ ใต้) ขึ้น ๑ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ โดยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาเริ่มลงมือก่ออิฐคนแรก และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓

รวมเวลาที่ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารรอยพระพุทธบาทขึ้นมาใหม่เป็นเวลาถึง ๕๓ ปี ทั้งนี้เนื่องจากหลวงปู่ท่านมีภารกิจการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงอีกด้วย ไม่ได้ทำเฉพาะวัดของท่านเท่านั้น

โดยทางวัด
พระพุทธบาทห้วยต้มกำหนดการพิธีทำบุญฉลองพระวิหาร ในระหว่างวันที่ ๓-๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔ หลังจากที่ท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนามรณภาพแล้ว

บรรดาศิษย์ทั้งหลายมีท่านพระครูพินิจสารธรรม (ครูบาพรรณ) เป็นต้น ได้มีการจัดงานฉลองสมโภชวิหารรอยพระพุทธบาท เพื่อจักทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา เนื่องในวันครบรอบวันที่ท่านครูบาเจ้ามรณภาพครบ ๑ ปี


IMG_3950.jpg



ประวัติการก่อสร้างวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



ครั้นถึงเดือน ๑๐ เหนือ (เดือน ๘ ใต้) ขึ้น ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ทางคณะสงฆ์ อำเภอลี้ นายอำเภอและศรัทธาประชาชน ผู้เฒ่า ผู้แก่ บ้านนาเลี่ยง หมู่ ๑ ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน พร้อมใจกันไปนิมนต์ พระจันทวังโส มาพักอยู่ที่วัดนาเลี่ยง เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งร้างอยู่นานแล้ว


พระจันทวังโส (หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) ได้ทำการก่อสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทและสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม จนพอพักอาศัยได้ และได้อยู่จำพรรษาที่วัดห้วยต้มแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา จนถึงพรรษาที่ ๒ เดือน ๑๒ เหนือ (เดือน ๑๐ ใต้) ขึ้น ๑ ค่ำ เป็นวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ ปีกุน ก็วางศิลาฤกษ์สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาท

ระหว่างนั้นโดยขณะที่ท่านพระจันทวังโสได้ไปทำถนนที่ทุ่งหัวช้าง-ผาเบ้อ ก็ได้มอบหมายให้ พระครูบาพรรณ (พระครูพินิจสารธรรม) สั่งให้ศรัทธาชาวบ้านนาเลี่ยงปั้นดินจี่ (อิฐ) หลังคาเรือนละ ๕๐๐ ก้อน และคณะพระภิกษุ-สามเณร วัดแม่หว่าง โดยการนำของพระไวย ก็มาช่วยศรัทธาญาติโยมปั้นดินจี้ (อิฐ) นี้ด้วย เพื่อนำมาก่อสร้างพระวิหาร การก่อสร้างก็ได้ดำเนินเรื่อยๆ ตลอดมา

พระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทได้สำเร็จในที่สุด ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ รวมเวลาที่ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เป็นเวลาถึง ๕๓ ปี ตามคำบอกกล่าวของท่านครูบาเจ้าว่า “พระวิหารหลังนี้ตัวของท่านจะไม่ได้ฉลอง จะมีเจ้าของมาฉลองเอง”


พอมาเมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ท่านก็ได้ปรารภว่า อยากจะฉลองพระวิหารหลังนี้ ก็มีกะเหรี่ยงชายหนึ่งเข้ามากราบท่าน ครูบาเจ้าก็บอกกับกะเหรี่ยงผู้นั้นว่า “ให้ไปหาหัวปลีมาถวายครูบาเจ้า

กะเหรี่ยงผู้นั้นพูดขึ้นว่า “ตอนที่ท่านครูบาเจ้าได้บอกกับข้าพเจ้าให้ไปนั้น ข้าพเจ้าก็นึกว่าท่านครูบาเจ้าพูดเล่น พอได้หาก็ได้จริงๆ เสมอเหมือนกับว่าเทพยดานำไป”

เมื่อท่านครูบาเจ้าได้รับหัวปลีมาแล้ว ก็ได้หันไปสั่งพระที่อยู่ใกล้ชิดท่านว่า “ต่อไปภายหน้า ถ้าได้ฉลองวิหารหลังนี้ ก็ให้หาหัวปลีต้นเดียวมี ๓ หัวนี้ ไปฉลองพร้อมวิหารหลังนี้ด้วย”


ต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน ท่านครูบาเจ้าก็ได้อาพาธด้วยโรคชรา คณะศิษยานุศิษย์ก็ได้นิมนต์ท่านครูบาเจ้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลลานนา จ.เชียงใหม่ ถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ อาการอาพาธของท่านก็ไม่ดีขึ้น

ทางคณะแพทย์มีความเห็นว่าควรนิมนต์ให้ท่านครูบาเจ้าไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อเวลา ๐๑.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาได้มรณภาพด้วยอาการสงบ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

จากนั้นคณะศิษยานุศิษย์มีท่านพระครูพินิจสารธรรม (ครูบาพรรณ) เป็นต้น ได้ปรึกษาหารือกันว่าจะฉลองพระวิหาร เพื่อจักทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา

จึงได้บอกบุญไปยังคณะศิษยานุศิษย์ จะทำการบูรณะซ่อมแซมพระวิหารหลังนี้ เพื่อให้ทันงานทำบุญครบรอบวันที่ท่านพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนามรณภาพครบ ๑ ปี ซึ่งจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ ๓-๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๔

-------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอ่อนแก้ว ชัยยะเสโน, พระพงษ์ศักดิ์ คัมภีรธัมโม และคุณธนกร สุริยนต์. (๒๕๔๔, ๑ พฤษภาคม). ชัยวงศาปูชนียาลัย (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์.)


DSC01349.JPG



IMG_3974.JPG



ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้า วิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


DSC01350.JPG



ภายในวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_3980.JPG


IMG_3979.JPG



พระพุทธรูปประธานภปร. ประดิษฐานภายในวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

เป็นพระพุทธรูปฝีมือการปั้นของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

DSC01352.jpg



รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานภายในวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_3998.JPG



IMG_4021.JPG



รอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

เมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงสถานที่แห่งนี้ และได้อธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้บนก้อนหินที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งอยู่ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

โดยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้ทำการก่อสร้างที่ครอบรอยพระบาทจำลองครอบรอยพระบาทจริง (รอยเดิม) เอาไว้อีกชั้นหนึ่ง


IMG_3985.2.JPG



คำนมัสการพระพุทธบาท

(ว่านะโม ๓ จบ) ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะปาทัง ตัง ปาทะ วะลัญชะนะ มะหัง สิระสา นะมามิฯ



IMG_4010.JPG



ตำนานรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน



จากหนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง หน้า ๑๓๔ กล่าวไว้ว่า หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นสู่ “ผาดอกไม้” แล้วทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่นั่น เพื่อให้เป็นที่ไหว้และสักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย (อยู่บนถ้ำ “ผาดอกไม้” ห้วยน้ำดิบ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน)

จากนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าก็เสด็จบรรลุถึง “เมืองลี้” (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดลำพูน) เสด็จขึ้นสู่ภูเขาลูกหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำ แล้วประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้ขุนต้นหนึ่ง ไม้ต้นนั้นใหญ่ ๗ กำมือ

ในเวลานั้นมีลัวะผู้หนึ่ง ไปป่ากลับเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ มันก็ถวายอภิวาทกราบไหว้ แล้วทูลว่า “ข้าแด่พระพุทธเจ้า ไม้ต้นนี้ชื่อว่า “ไม้หมากขุน” แล้วมันก็ขึ้นไปปลิดเอาลูกหมากขุนลงมาหนึ่งผล ถวายแก่พระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยแล้ว ก็เสด็จไปประทับนั่งเหนือหินก้อนหนึ่ง กว้าง ๒ ศอก ยาว ๔ ศอก

ในกาลนั้นยังมีฤาษีรูปหนึ่งชื่อว่า “อตุลฤาษี” เป็นชาวลัวะทมิฬที่นั่น บวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าแห่งนั้น ทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมตตาเช่นนั้น ฤาษีรูปนั้นก็เข้ามาอภิวาทกราบไหว้ พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า “ดูราท่านฤาษี ท่านมาหาตถาคตเป็นการดีแท้”

อตุลฤาษีจึงกราบทูลว่า “ข้าแด่พระพุทธองค์ ข้าพระองค์ได้ทราบว่า พระพุทธองค์เสด็จมาเมตตา จึงมาอภิวาทกราบไหว้พระพุทธองค์ อาราธนาพระพุทธองค์ประทับพักอยู่ที่นี่ก่อนเถิด” กราบทูลแล้ว ท่านฤาษีก็ไปบอกแก่ลัวะทั้งหลาย ๗๐ หลังคาเรือน นำข้าวและอาหารมาหุงต้มในห้วยแห่งหนึ่ง แล้วนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ทรงรับและเสวยแล้ว จึงตรัสว่า “เมื่อตถาคตมาถึงที่นี้ ลัวะทั้งหลายเอาข้าวและอาหารมาหุงต้มใส่บาตรตถาคต เขาพูดกันว่า “ห้วยแห่งนี้ต้มบุญ” ต่อไปภายหน้าห้วยแห่งนี้จะได้ชื่อว่า “ห้วยต้มบุญ” (บางฉบับว่า “ห้วยต้มปุน, ห้วยตุมปุน) สถานที่นี้เป็นที่ตั้งศาสนาแล”

พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกมหาราชก็กราบทูลขอพระเกศาธาตุจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า “สถานที่นี้เป็นบ้านเล็กเมืองน้อย หาคนเอาใจใส่รักษาพระเกศาธาตุไม่ได้ ประการหนึ่งไม่มีถ้ำ ด้วยเหตุนี้ตถาคตไม่ควรไว้เกศาธาตุ”

แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้หนึ่งรอย เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาแก่เขาทั้งหลาย พระบาทรอยนี้ทรงเหยียบลงบนก้อนหินที่พระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่ (ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า “พระบาทห้วยต้ม” อยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นเจ้าอาวาส)


หมายเหตุ ข้อความในฉบับของวัดบ้านเอื้อม ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

“กล่าวว่า.... ต่อไปภายหน้า ห้วยนี้จะได้ชื่อว่า “ห้วยต้มบุญ” พระพุทธเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะลงสรงน้ำในแม่น้ำ น้ำในแม่น้ำก็มีน้อย เป็นเมืองแห้งแล้งน้ำไหลขึ้นทางทิศเหนือ เมืองนี้จะได้ชื่อว่า เมืองอี้ ตถาคตไม่ควรไว้ธาตุ เท่าแต่ควรไว้รอยพระบาท แล้วพระเจ้าอโศกจึงเอาฉลองพระบาทมาสวมให้แก่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่ง

พระเจ้าอโศกทอดพระเนตรรอยพระบาท ก็ทรงโสมนัสยิ่ง ทรงดำริว่า “เราจะเอาทองคำ ๑๐๐๐ ถวายบูชารอยพระพุทธบาท” ทรงดำริแล้วก็ใช้สิ่วเจาะที่รอยพระบาท แล้วเอาทองคำบรรจุไว้สามพัน เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาพระพุทธบาท

(ข้อความในระยะตอนนี้ทั้ง ๔ ฉบับ สับสนกัน แต่เห็นว่าฉบับของวัดบ้านเอื้อม น่าจะนำมาต่อจากข้างบน เพราะสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองลี้และพระบาทห้วยต้ม อยู่ห่างกันเพียง ๑๘ กิโลเมตรเท่านั้น)

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๑๓๔.)


IMG_4006.JPG



ประวัติรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



จากหนังสือชัยวงศาปูชนียาลัย หน้า ๒๖-๒๗ กล่าวไว้ว่า “ที่นี่ อาตมาชัยยะวงศา ได้ยินพระครูบาชัยลังก๋า กล่าวมาว่า ในตำนานคัมภีร์เดิมกล่าวไว้ว่า

ปางเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพุทธบริษัทที่นี่ มีพญาลัวะอยู่บริเวณนี้ตนหนึ่งชื่อว่า แก้วมาเมือง และพญาคนหนึ่งมาจากเมืองเถิน มาเที่ยวที่นี่ ก็เจอพระพุทธเจ้า พวกพรานเนื้อก็ป๋ง (วาง) เนื้อไว้ แล้วเข้าไปหาพระพุทธเจ้า

พนมมือขึ้นถามว่า “ท่านเป็นอะไรถึงนุ่งห่มเหลืองแบบนี้” พระพุทธเจ้าตอบว่า “กูเป็นพระพุทธเจ้า” พรานก็กล่าวว่า “ดีกล่าว” และถามว่า “ท่านได้ฉันอาหารแล้วหรือ” พระพุทธเจ้าตอบว่า “ยังไม่ได้ฉัน”

พรานเนื้อทั้ง ๘ คน ก็เอาเนื้อที่หาบมาคนละชิ้นมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่รับเพราะว่ามันเป็นเนื้อสด หมอพรานก็เอากลับไปกองไว้ที่หนึ่ง


แล้วพวกพรานก็หาบเอาเนื้อไปถึงห้วย แล้วพูดกันว่า “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสด” พรานก็รีบเอาเนื้อสดไปผัดไปต้มที่ข้างห้วย พอสุกแล้วก็เอามาใส่บาตรพระพุทธเจ้า พวกลัวะทั้งสองก็มาร่วมใส่บาตรด้วย

พระพุทธเจ้าก็ฉันข้าวต้มแล้วก็เทศน์โปรดเมตตาให้พวกพญาลัวะและพวกพรานเนื้อทั้ง ๘ คน ได้ฟังเสียงพระพุทธเจ้าเทศน์ก็ใจปีติยินดี มีศรัทธาเกิดขึ้น พญาลัวะและพรานทั้ง ๘ คน ก็ขอพระเกศาธาตุไว้เป็นที่สักการะแทนพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “สถานที่นี้ไม่มีรูถ้ำ ให้ไม่ได้” พวกพญาลัวะและพวกพรานเนื้อทั้ง ๘ คน ก็ขอรอยพระบาทอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ที่นี้ไม่มีหิน” พวกคนเหล่านั้นก็ขออาราธนานิมนต์ให้พระพุทธเจ้ารออยู่ที่นี่ก่อน พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไปเสาะหินมาให้พระพุทธเจ้าเหยียบ

แล้วพรานเนื้อ ๘ คน ก็พากันไปเสาะหาหิน พอดีได้ ๑ ลูก ก็พากันหามก้อนหินนั้นมาวางไว้ตรงหน้าพระพุทธเจ้า พ่อพญาลัวะทั้ง ๒ คน กับพรานเนื้อ ๘ คน ก็ขออาราธนาพระพุทธเจ้าเหยียบหินให้เป็นรอยพระบาท ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของพญาลัวะและพราน ๘ คน พร้อมทั้งพุทธบริษัททั่วไป

พระพุทธเจ้าก็ทำนายไว้ว่า “ห้วยที่พรานต้มข้าว วันหน้าเขาจะเรียกว่า ห้วยต้มข้าว” ปัจจุบันนี้คงเรียกกันว่า ห้วยต้ม พระพุทธเจ้าก็สั่งพญาลัวะและพราน ๘ คน มารักษาและปฏิบัติรอยพระบาทกูตถาคตนี้ไปเรื่อยๆ “ท่านทั้งหลายได้อุปฐากและปฏิบัติรอยพระบาทกูนี้ ก็เสมอดั่งได้ปฏิบัติกูตถาคต”

แล้วพระพุทธเจ้ายังทำนายไว้อีกว่า “ในระยะครึ่งศาสนา ๕,๐๐๐ พระวัสสา จะมีพระหน้อย (สามเณรน้อย) จากเมืองตื๋น ต๋นหนึ่ง จะมาสร้างพระพุทธศาสนาที่นี่ให้รุ่งเรืองต่อไป แล้วยังมี ฤาษีชื่อ ส่างทุมมา ที่ติดตามพระพุทธเจ้ามา พระพุทธเจ้าก็มอบให้ฤาษีตนนั้นรักษารอยกูตถาคตนี้ไว้เรื่อยๆ”

แล้วพระพุทธเจ้าก็เอาไม้แทงลงที่พื้น ห่างจากรอยพระบาท ๑๐ วา ให้เป็นน้ำบ่อทิพย์ น้ำก็ออกมาเรื่อยๆ ไม่มากไม่น้อยให้ฤาษีอุปฐากรอยพระบาทกูตถาคตได้กินต่อไป เมื่อพวกพญาลัวะและพราน ๘ คน ได้รับศีล ๕ จากพระพุทธเจ้า เขาก็รักษาศีลไม่ทานเนื้อสัตว์ตราบชีวิตอายุของใครของมัน

ต่อมาในสมัยหนึ่ง ได้มีกะเหรี่ยงผู้หญิงคนหนึ่งเข้าป่าเสาะหาเห็ด ได้พบเห็นรอยพระบาทในกลางป่า แล้วกลับไปบอกต่อพ่อพญาลี้ พวกพ่อพญาลี้ได้พากันไปดูและได้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้สักการบูชา จนหมดเขตอายุของพญาลี้ มาภายหลังหลายสิบปี รอยพระพุทธบาทนั้นก็หายไป เพราะไม่มีใครมารักษา

อยู่ต่อมาสมัยหนึ่ง ก็มีผู้หญิงกะเหรี่ยงชื่อว่า ย่าผะแล มาหาผักและเห็ด ได้พบรอยพระบาทอีก ก็กลับไปบอกให้ท่านครูบากิตติ ท่านมาจากอินเดียมาอยู่ที่วัดลี้หลวง


ครูบากิตติได้ทราบเรื่อง พร้อมกับศิษย์ทั้งหลายพากันไปดู ก็ว่าเป็นรอยพระบาทจริงๆ ท่านก็พากันกราบไหว้สักการบูชา แล้วก็ช่วยกันสร้างมณฑปครอบรอยพระบาทไว้ จนหมดยุคไปยุคหนึ่ง รอยพระบาทนั้นก็หายไป เพราะไม่มีใครมาสักการบูชา

ต่อมาอีกสมัยหนึ่ง มีกะเหรี่ยงผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อว่า ย่าตา มาหาผัก หาไม้หาเห็ด จนมาเห็นรอยพระบาท ก็กราบไหว้ แล้วก็กลับไปบอกท่านครูบามหาอิน พระครูลี้ทราบเรื่อง


ครูบามหาอินก็ได้พาลูกศิษย์ พร้อมกับครูบาใจ วัดสันโปร่ง พากันไปดูก็ว่าเป็นรอยพระบาทจริงๆ ก็พากันมาสักการบูชา อยู่มาอีก ๒-๓ วัน ครูบามหาอินก็พาศิษย์และญาติโยมทั้งหลายมากวาดมาแผ้วถางหญ้าทำการบูรณะ ต่อมาเขาก็พากันมากราบสักการบูชากันเรื่อยๆ

หลังจากนั้นอีก ๔-๕ ปี ก็มาประชุมกันให้สร้างมณฑปครอบรอยพระบาทห้วยต้มขึ้นมา ได้จัดให้ช่างชื่อว่า พ่อหนานเต๋จา บ้านนาเลี่ยง มาเป็นช่างสร้างมณฑปครอบรอยพระบาท กว้างประมาณ ๗ ศอก มุงด้วยกระดานไม้เส๊า
แล้วสร้างกำแพงอิฐรอบมณฑป

และทำเจดีย์เล็กๆ กว้าง ๒ ศอก สูง ๓ ศอก สร้างศาลาหนึ่งหลัง กว้าง ๔ ศอก ยาว ๑๒ ศอก มุงด้วยกระดานไม้เส๊าะ ปลูกต้นลาน ๗ ต้น แวดล้อมพระพุทธบาท ปลูกดอกจุ๋มป๋าลาว (ดอกลั่นทม) ๘ ต้น และมะม่วงอีก ๔ ต้น

ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๘๙ สิ่งก่อสร้างทั้งหลายทั้งปวงในบริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้มแห่งนี้ ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป ครูบาผุย มหาชโย เจ้าคณะอำเภอลี้ ครูบาอินต๊ะ วัดพวงคำ ครูบาคำสุข
วัดบ้านแวน ได้ประชุมคณะศรัทธาทั้งหลาย

และแจ้งว่ามณฑปครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้มและสิ่งก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง ได้ชำรุดทรุดโทรมไปมาก สมควรที่จะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นเสียใหม่ จึงได้ตกลงกันว่า สมควรนิมนต์ครูบาชัยยะวงศา (พระจนฺทวํโสภิกขุ) จากวัดป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ครูบาชัยยะวงศา ท่านได้ตอบรับนิมนต์และเดินทางมาอยู่จำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งเป็นวัดร้าง เดิมชื่อว่า วัดนาเลี่ยง ตั้งแต่เดือน ๑๐ เหนือ (เดือน ๘ ใต้) ขึ้น ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นต้นมา

โดยได้มาทำการแผ้วถางบริเวณรอบพระพุทธบาท คณะศรัทธาบ้านนาเลี่ยง ปั้นอิฐ ๕๐,๐๐๐ ก้อน คณะศรัทธาบ้านผาลาด เผาปูนขาว ได้ประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ กิโลกรัม เมื่อได้จัดเตรียมสิ่งของเหล่านี้ไว้แล้ว ได้ไปนิมนต์ครูบาอภิชัยขาวปี วัดพระบาทตะเมาะ มาตรวจและวางแผนสร้างวิหาร เมื่อเดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ขึ้น ๑๓ ค่ำ


ภายหลังจากครูบาอภิชัยขาวปีกลับไปวัดพระบาทตะเมาะแล้ว ท่านครูบาชัยยะวงศาได้จัดทำแบบแปลนพระวิหาร ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อเดือน ๑๒ เหนือ (เดือน ๑๐ ใต้) ขึ้น ๑ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ ปีกุน โดยพระชัยยะวงศาเริ่มลงมือก่ออิฐคนแรก

ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๓ พวกชาวเขากะเหรี่ยงก็ได้พากันอพยพมาอยู่ใกล้บริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นจำนวน ๑,๒๐๐ ครอบครัว ได้มาถือศีลกินเจไหว้พระสวดมนต์มาเรื่อยๆ ปฏิบัติตามคำสอนของอาตมาชัยยะวงศาถึงปัจจุบัน”


----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระอ่อนแก้ว ชัยยะเสโน, พระพงษ์ศักดิ์ คัมภีรธัมโม และคุณธนกร สุริยนต์. (๒๕๔๔, ๑ พฤษภาคม). ชัยวงศาปูชนียาลัย (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์, หน้า ๒๖-๒๗.)


IMG_4043.JPG


รูปเหมือนพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา ประดิษฐานภายในวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4034.JPG



IMG_4035.JPG



IMG_4038.JPG



IMG_4042.JPG



จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4112.JPG



พระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ประดิษฐานด้านหลังวิหารรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4183.JPG



IMG_4107.JPG



IMG_4069.JPG



IMG_4092.JPG



IMG_4070.JPG



พระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4084.JPG



คำไหว้พระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
(ว่านะโม ๓ จบ) สาธุละหังนะมามิ ลาตุสะหัสสะ อัตฐะ สัตตะ สะริระกะธาตุ ลาตุ สะหัสสะ สัตตะ พุทธรูปัง ปะลุถาปะนะ สัตถะ ตะสะมหา เจ๋ติยัง สัมมาลุยหิง อัตจ๊ะลา ภะวัตสา กะเล พุทธป๋า ต๊ะวะลัง อะหังวันตามิ สัปปะตา อะหังวันตามิ สิระสา


IMG_4129.JPG



ขอโมทนาบุญกับผู้สร้าง ผู้บูรณะ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในบุญกุศล ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต สาธุ สาธุ สาธุ



IMG_4187.JPG



DSC01356.JPG



ประวัติพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



พระเจดีย์องค์นี้มีฐานกว้าง ๒๐ เมตร สูง ๓๔ เมตร เริ่มสร้าง เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘ โดยมี ท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา เป็นประธานการก่อสร้าง ได้มอบหมายให้ นายโต๊ะโน่ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเป็นช่างดำเนินการก่อสร้าง

ในระยะนั้นก็ได้มี ครูบาบุญทืม จากวัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ได้มากราบเยี่ยมครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา ก็มาเห็นทางวัดกำลังก่อสร้างพระเจดีย์ และได้นั่งพูดคุยกับท่านครูบาเจ้าว่า “ท่านครูบาจะเอาปัจจัยที่ไหนมาสร้าง”

ครูบาเจ้าก็ตอบว่า “ไม่รู้จะเอาปัจจัยที่ไหน” หลังจากนั้น ครูบาบุญทืมก็เดินทางกลับไปวัดจามเทวี แล้วท่านก็ได้อาพาธ ข่าวการอาพาธของครูบาบุญทืมได้ไปถึงหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

หลังจากนั้น ครูบาบุญทืมได้ทราบข่าวว่า หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร จะขึ้นมาเยี่ยมท่าน ซึ่งหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ได้บอกกับคณะศิษยานุศิษย์ว่า ครูบาบุญทืมอดีตชาติเป็นพี่ชายของท่าน

ส่วนองค์ท่านครูบาบุญทืมท่านก็ได้นึกถึงคำพูดของครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาเรื่องสร้างพระเจดีย์ แล้วท่านครูบาบุญทืมก็ได้สั่งให้คณะศิษย์นำองค์ท่านไปส่งที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มทั้งที่ยังป่วย การเดินทางในสมัยนั้นก็ไม่ค่อยสะดวก การติดต่อกันยากลำบากมาก

พอท่านครูบาบุญทืมมาถึงวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาก็ไม่อยู่วัด (ท่านได้เดินทางไปสร้างวัดและถนนเข้าหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน) ต่อมาท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาได้ทราบข่าวว่า ครูบาบุญทืมมาเยี่ยมที่วัด ท่านก็ได้กลับมาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

พอมาถึง ท่านครูบาบุญทืมก็ได้ขึ้นมากราบท่านครูบาเจ้าที่บนกุฏิ พร้อมกับเรียนว่า “ข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยสบาย พอได้ข่าวว่าหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร จะขึ้นมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่วัดจามเทวี

ข้าพเจ้าก็ได้นึกถึงคำพูดของท่านครูบาเจ้าเรื่องสร้างเจดีย์ ข้าพเจ้าก็อุตส่าห์หอบสังขารที่ป่วยมาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มแห่งนี้ เพื่อที่จะให้หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร ตามมาเยี่ยมที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ต่อมา ๔-๕ วัน หลวงพ่อพระมหาวีระก็ได้ตามมาเยี่ยมครูบาบุญทืมที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และได้พบกับครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา หลังจากนั้น หลวงพ่อมหาวีระ ถาวโร ก็ได้นิมนต์ท่านครูบาเจ้าไปโปรดญาติโยมที่วัดท่าซุงและกรุงเทพฯ

ต่อมาศรัทธาญาติโยมของหลวงพ่อพระมหาวีระ ก็ได้เลื่อมใสในองค์ท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา และได้ถวายปัจจัยเพื่อมาสร้างพระเจดีย์มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘–๒๕๔๐ สิ้นงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ประมาณ ๓๒ ล้านบาทเศษ

เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมหินเพื่อบรรจุในองค์พระเจดีย์นี้

ปาฏิหาริย์ของเจดีย์องค์นี้ ได้มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้มาเวียนเทียนทุกๆ วันพระ บางครั้งก็ได้เห็นเป็นแสงสว่างพุ่งออกมาจากองค์เจดีย์ และบางครั้งจะได้ยินเสียงสวดมนต์รอบๆ เจดีย์ แต่พอเดินเข้าไปใกล้ๆ องค์เจดีย์ก็ไม่เห็นมีใครสักคนหนึ่ง

ชาวกะเหรี่ยงก็ได้มากราบเรียนถามท่านครูบาเจ้าว่า มีใครมาสวด ท่านครูบาเจ้าก็ได้ตอบว่า เป็นเทพยดาและชาวลับแลมากราบสักการบูชาองค์เจดีย์

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม)

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4102.JPG



IMG_4120.JPG



มณฑปพระเขี้ยวแก้ว วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



DSC01357.JPG



IMG_4146.JPG



IMG_4130.JPG



หอพระไตรปิฎก วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4137.JPG



IMG_4161.JPG



IMG_4155.JPG



อุโบสถ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4172.JPG



DSC01361.JPG



ต้นโพธิ์ อยู่บริเวณด้านข้างอุโบสถและมณฑปพระเขี้ยวแก้ว วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4189.JPG



พระพุทธรูป ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ บริเวณด้านข้างอุโบสถและมณฑปพระเขี้ยวแก้ว วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


โดย คณะศิษย์หลวงปู่ปาน วัดคลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เจ้าภาพอุปถัมภ์ และคณะศิษย์หลวงปู่ปาน โสนันโท และพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) บูรณะสร้างถวายเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐



IMG_4165.JPG



IMG_4051.JPG



ศาลาบาตร วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_3948.JPG



IMG_4064.JPG



พระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานภายในศาลาบาตร วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4258.JPG



วิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


จัดสร้างโดย พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์) และคณะศิษย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗



IMG_4246.jpg



IMG_4254.JPG



พระแก้วมรกตจำลอง เครื่องทรงฤดูหนาว ประดิษฐานบริเวณประตูทางเข้าด้านหน้าวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4096.JPG



หอระฆัง วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


จัดสร้างโดย พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์) และคณะศิษย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘


IMG_4052.JPG



IMG_4353.JPG



เสาล่อฟ้า วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4195.JPG



IMG_4245.1.JPG



IMG_4196.JPG



เรือนาวา หรือเรือสำเภา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4186.JPG



IMG_4202.JPG



ประวัติเรือนาวา หรือเรือสำเภา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



เรือสำเภา เป็นเรือที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าและส่งผู้คน ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ สามารถนำพาผู้คนไปถึงฝั่งตามความต้องการ หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา จึงได้สร้างเรือสำเภาลำนี้ขึ้นมา ใช้ในงานทำบุญใหญ่ เช่น งานพิธีชำระหนี้สงฆ์ งานทอดกฐินสามัคคีประจำปี

ในการทำบุญแต่ละครั้ง ชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศ จะมาร่วมทำบุญและนำข้าวสารอาหารแห้ง พืชผักสวนครัวต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ของใช้ส่วนตัว ยารักษาโรค และปัจจัย ๔ มาใส่ในเรือสำเภาลำนี้

เรือสำเภานี้หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา ท่านได้กล่าวว่า เรือสำเภานี้ เป็นเรือที่นำทาง และส่งให้ผู้คนข้ามไปถึงฝั่งพระนิพพาน ส่งให้เราพบเจอแต่สิ่งที่ดีๆ ในชีวิต ในปัจจุบันนี้ เรือลำนี้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ในการทำบุญอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า มหาทานบารมี

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติเรือนาวา หรือเรือสำเภา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม)

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4198.JPG



IMG_4205.JPG



ทางไปบ่อน้ำทิพย์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  



IMG_4238.JPG



DSC01363.JPG



รูปปั้นยักษ์กุมภัณฑ์ ๒ ตน ประดับซุ้มประตูและบันไดทางไปบ่อน้ำทิพย์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  


IMG_4213.JPG



IMG_4210.JPG



รูปปั้นพญานาค ประดับประตูทางเข้าบ่อน้ำทิพย์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4263.JPG



IMG_4224.JPG



บ่อน้ำทิพย์ (น้ำบ่อทิพย์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  

อยู่ห่างจากรอยพระพุทธบาท ๑๐ วา เกิดจากเมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าเอาไม้แทงลงที่พื้น ให้เป็นน้ำบ่อทิพย์ น้ำก็ออกมาเรื่อยๆ ไม่มากไม่น้อย เพื่อให้ฤาษีอุปัฏฐากรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าได้ดื่มกิน


DSC01365.JPG


IMG_4234.JPG



ประวัติบ่อน้ำทิพย์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  



เมื่อพระพุทธองค์ทรงเทศนาแก่พวกละว้าเสร็จ มีพญาละว้าได้ทูลขอรอยพระพุทธบาท พระพุทธองค์ทรงตรัสให้พวกละว้าไปเอาก้อนหินมาเพื่อที่จะประทับรอยพระพุทธบาทบนก้อนหินนั้น พระพุทธองค์ให้ไปหาน้ำมาล้างก้อนหิน พญาละว้าได้ทูลว่า น้ำไม่มีล้างก้อนหิน

พระพุทธองค์เลยเอาไม้ทิ่มลงพื้นดินมีน้ำออกมา จึงได้เอาน้ำนั้นมาล้างก้อนหิน เพื่อจะประทับรอยพระพุทธบาท พระพุทธองค์ทรงตรัสให้พวกละว้าไปตักน้ำมาล้างก้อนหิน เพื่อจะประทับรอยพระพุทธบาท สถานที่นี้จึงเป็นบ่อน้ำทิพย์ในปัจจุบัน


-------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติบ่อน้ำทิพย์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม)



IMG_4223.JPG


ป้ายขอเชิญดื่มน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  

ทางวัดจะต่อน้ำในบ่อน้ำทิพย์มาไว้อำนวยความสะดวกให้ศรัทธาญาติโยมผู้มาเยือนได้ดื่มและประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล และศรัทธาญาติโยมสามารถนำขวดพลาสติกเปล่าเพื่อใส่น้ำมนต์กลับบ้านได้ด้วย



IMG_4236.JPG



หลังจากนั้นเราจะเดินย้อนกลับทางเดิมไปสำรวจภายในวัดพระพุทธบาทห้วยต้มกันต่อนะคะ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_3965.JPG



IMG_4283.JPG



สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4285.JPG



พระพุทธรูปปางประทานพรหงายพระหัตถ์ ประดิษฐาน ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

สร้างถวายโดย คุณอธิชา ประทุมมินทร์


IMG_4287.JPG



พระคาถาข่ายเพ็ชรพระพุทธเจ้า
ตั้งนะโม ๓ จบ
     ชาโล มหาชาโล ชาลัง มหาชาลัง ชาลิเต มหาชาลิเต ชาลิตัง มหาชาลิตัง
     มุตเต มุตเต สัมปัตเต มุตตัง มุตตัง สัมปัตตัง สุคัง คะมิติ สุตัง คะมิติ มัคคะยีติ
     ทิฏฐิลา ทัณฑะลา โรคิลา กะระลา ทุพพะลา ริตติ ริตติ กิตติ กิตติ
     มิตติ มิตติ จิตติ จิตติ มุตติ มุตติ จุตติ จุตติ ธาระณี ธาระณีติ อิทัง ธาระณะ ปะริตตังฯ



IMG_4302.JPG



IMG_4299.JPG



พระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาว ๒ องค์ ประดิษฐาน ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4310.JPG



พระพุทธรูปปางนาคปรก ประดิษฐาน ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4269.JPG



IMG_4273.JPG



IMG_4296.JPG



IMG_4290.JPG



รอยพระพุทธบาทจำลองต่างๆ ประดิษฐาน ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_3970.JPG



ต้นโพธิ์ ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4280.JPG



รูปปั้นพระฤาษี ผู้ดูแลปกปักรักษาวัด ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4279.JPG



ศาลเจ้าที่ ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4306.JPG



ต้นไม้โบราณมีผ้าหลายสีพันรอบต้นไม้ ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4294.JPG


ทางเดินจงกรม ณ สวนพุทธธรรม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4339.JPG



DSC01319.JPG



พระพุทธรูปปางประทานพร วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4342.JPG



IMG_4345.JPG



พระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระชำระหนี้สงฆ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


สร้างถวายโดย พมกพรหม กพรหม พร้อมด้วยบริวาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๔


IMG_4319.JPG



รูปปั้นปู่ฤาษีส่างทุมมา (บุญมา) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ในสมัยพุทธกาลพระฤาษีส่างทุมมา ได้ติดตามพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงสถานที่แห่งนี้ คือวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน และพระพุทธองค์ก็ได้มอบให้พระฤาษีมีหน้าที่อุปัฏฐากรักษารอยพระบาทของพระพุทธเจ้านี้ไว้เรื่อยๆ


DSC01316.JPG



DSC01317.JPG



ประวัติปู่ฤาษีส่างทุมมา (บุญมา) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



ปู่ฤาษีส่างทุมมา ท่านเป็นคนเชื้อสายงิ้ว และเป็นหนึ่งในพระฤาษี และชาวบ้านละว้าร่วมกันทูลขอรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาล ตอนเสด็จเมืองลี้

ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฤาษีส่างทุมมาท่านเคยมาปฏิบัติธรรม ใต้ต้นมะม่วงป่า ในสถานที่แห่งนี้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน ในสมัยก่อนยังไม่มีวัด ไม่มีกุฏิหรือที่พักอาศัยเลย สถานที่แห่งนี้เป็นป่าอยู่ หลวงปู่ท่านได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์ของท่านได้เล่าให้ฟังว่า

มีฤาษีตนหนึ่งได้มาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่นี้ เป็นประจำ มีวันหนึ่งฤาษีตนนั้น ได้นอนพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ มีชาวละว้าคนหนึ่งได้มาพบฤาษีนอนอยู่ เลยเกิดความศรัทธาต่อฤาษี อยากจะเอาครัวทานมาถวาย แต่กลัวฤาษีจะหนีเลยเอามีดผ่าสะบ้าเข่าออก แล้วก็กลับไปเอาครัวทานมาเพื่อถวายฤาษี

เมื่อเอาครัวทานมาถึงแล้ว จะเอาครัวทานถวาย แต่ฤาษีตายเสียก่อน ฤาษีตนนั้น เล่ากันว่าคือฤาษีส่างทุมมา เมื่อท่านฤาษีตายแล้ว ก็อยู่รักษารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า

หมายเหตุ : สาเหตุที่ฤาษียอมตาย เพราะฤาษีได้เห็นถึงจิตอันบริสุทธิ์ ของชาวละว้าคนนั้นที่จะเอาครัวทานมาถวาย แต่ด้วยวิบากกรรมที่เคยทำกรรมต่อชาวละว้าคนนั้นในชาติปางก่อน ฤาษีเลยยอมตายด้วยอาการที่สงบ

-------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติปู่ฤาษีส่างทุมมา (บุญมา)
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม)


IMG_4340.JPG



IMG_4323.JPG



DSC01324.JPG



DSC01322.JPG



เสื้อวัด (ศาลเจ้าวัดคุ้มบ้านคุ้มเมือง) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_4474.JPG



DSC01327.JPG



มณฑปพระบาทกบ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



IMG_4520.JPG



IMG_4331.JPG



IMG_4503.JPG



IMG_4518.JPG



ซุ้มพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ มณฑปพระบาทกบ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


DSC01338.JPG



IMG_4473.JPG



ศาลาพระบาทกบ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


IMG_4328.JPG



IMG_4325.JPG



เจดีย์องค์เล็ก ประดิษฐานบนศาลาพระบาทกบ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-1 23:02 , Processed in 0.065884 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.