แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: UMP
go

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร อ.หนองแค จ.สระบุรี [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

"ทำให้การเกิดครั้งนี้...เป็นครั้งสุดท้ายนะลูก"

เล่าให้คุณแม่ฟังว่า ฝันเห็นจานบินมีสำแสงส่องมาและดูดคนที่โดนแสงนั้นขึ้นไป วิ่งกลับเข้าไปในบ้าน เอาคุณพ่อที่นอนป่วยอยู่ซ่อนไว้ใต้เตียง แล้วตัวเองวิ่งหนีแสงนั้นออกไปนอกบ้าน หนีไปซ่อนตัวตรงนั้นตรงนี้ แต่หนีไปซ่อนตรงไหนมันก็หาเจอ ไม่มีทางหนีมันได้เลย

ถามคุณแม่ว่าสิ่งที่เราหนีไม่ได้ก็คือความตายใช่ไหม ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้เราไม่มีทางหนีมันพ้น ในใจคิดจะมีวันใดหนอที่เราจะยืนรอรับมันอย่างสง่าผ่าเผย ไม่วิ่งหนีมันเช่นนี้

ถามท่านอีกว่า ทำอย่างไรถึงจะกล้าเผชิญหน้ากับความตายอย่างสง่าผ่าเผย ท่านบอกตั้งใจปฏิบัติไปนะ อย่าทิ้งความเพียร ทำให้สม่ำเสมอ เมื่อสติแก่กล้าและเข้าใจในความเป็นจริงของสรรพสิ่ง วันนั้นลูกจะกล้าเผชิญหน้ากับความตายอย่างสง่าผ่าเผย

หัดตายเสียตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ตาย ทุกข์ใจแค่นี้ยังทนไม่ได้ แล้วเมื่อถึงเวลานั้นที่ต้องจากทุกสิ่งไป จะทนได้หรือ เห็นแล้วใช่ไหมไม่ว่าเราจะไปซ่อนที่ไหนมันก็หาเจอ ไม่มีของวิเศษอันใดจะทำให้เราหนีมันได้ มีทางเดียวที่จะไม่ต้องหนีมันอีกไปตลอด ลูกก็ต้องไม่กลับมาเกิดอีก ทำให้การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะลูก


Rank: 1

"เราหรือกาแฟที่ทำความเพียร"

เมื่อก่อนก่อนที่จะได้มาปฏิบัติธรรมกับคุณแม่ชีเกณฑ์ ฉันมักดื่มกาแฟเป็นกิจวัตร เช้าก่อนทำงาน ๑ แก้ว ประมาณบ่าย ๒ โมงดื่มอีก ๑ แก้ว ครั้นเริ่มปฏิบัติธรรมกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เมื่อต้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๗ ทุกครั้งที่มีการเสวนาธรรม คุณแม่มักจะบอกผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกครั้งที่ร่วมกันปฏิบัติธรรมว่า ให้ละการดื่มกาแฟ...

ซึ่งตอนแรกฉันก็นึกสงสัยและเกิดคำถามว่าเพราะอะไร...และทำไมคุณแม่จึงให้หยุดดื่มกาแฟ เฉกเช่นเดียวกับบทความนี้ที่มีผู้ปฎิบัติธรรมท่านหนึ่งได้เสวนาธรรมเรื่องนี้กับคุณแม่ เมื่อได้คำตอบผู้ปฏิบัติธรรมผู้นี้ก็สามารถหยุดการดื่มกาแฟได้ แต่หาได้หยุดความเพียรของตนไม่

วันนี้...จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนที่สงสัยได้อ่านร่วมกัน ดังนี้

“…ตั้งแต่เริ่มต้นคุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เราบอกท่านว่าวันไหนดื่มกาแฟแล้วจะมีแรงปฏิบัติดีมาก ขยันเดินขยันนั่งไม่เบื่อหน่าย วันไหนไม่ได้ดื่มกาแฟ จะเกิดความรู้สึกตื้อๆ ไม่เห็นสภาวะอะไรเลย เราจึงถามตัวเองว่านี่เราทำความเพียรหรือให้กาแฟมันทำความเพียรกันแน่ 

คุณแม่จึงบอกให้เราหยุดดื่มกาแฟ และสอนให้อยู่ได้ด้วยสติของตัวเราเอง แรกๆ เราก็ยังไม่กล้าที่จะตัด ไม่ดื่มเลย มีดื่มบ้างไม่ดื่มบ้าง หลังๆ ก็เป็นโอเลี้ยง แต่มันจะต่างกันตรงไหนล่ะ จึงตัดสินใจที่จะหยุดดื่มกาแฟ... 

๓ วันแรกที่หยุดดื่ม รู้สึกปวดหัวมาก หงุดหงิดฉุนเฉียว ปฏิบัติไปมีแต่ความขี้เกียจ ไม่ตื่นตัว แต่ก็อดทนฝืนมันไว้ พอเข้าวันที่ ๕ เริ่มดีขึ้น พยายามเคลื่อนไหวตัวเองตลอดเพื่อกระตุ้นสติให้มีกำลัง ตอนนี้แหละที่เราเข้าใจคำพูดของคุณแม่แล้ว ทำไมให้เลิกดื่มกาแฟ เพราะมันไม่ดีต่อสุขภาพ มีผลต่อจิตใจ ทำให้เราอ่อนแอไม่ยอมพึ่งตัวเอง ตอนนี้เราเลิกแล้ว...ไม่ยอมตกเป็นทาสของกาแฟอีกแล้ว เพราะรู้แล้วว่าคิดไปเองที่ว่าอยู่ได้เพราะกาแฟ 

ตอนนี้ก็ผ่านไปเกือบปี เราไม่ดื่มกาแฟเลย ทั้งๆ ที่เคยดื่มกาแฟมาเกือบครึ่งชีวิต และพบว่าการมีสติอยู่กับตัวให้มากขึ้น ทำให้ตื่นยิ่งกว่าการดื่มกาแฟเสียอีก ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งตื่น ไม่ปวดท้อง ไม่ห่วงเรื่องน้ำตาล ไม่ง่วงแม้จะนอนน้อย และที่สำคัญไม่หงุดหงิดฉุนเฉียวเช่นเดิม

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียร บวกกับความตั้งใจจริง หากเราไม่ละแล้ว เราจะเห็นตัวจริงของใจได้อย่างไร เราต้องยืนได้ด้วยตัวเองหาใช่ยืนได้ด้วยกาแฟ”

หลายคนคงไม่สงสัยแล้วใช่ไหมว่า เหตุใดคุณแม่ชีเกณฑ์จึงมักบอกผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนให้หยุดดื่มกาแฟ


Rank: 1

"มัจจุราชมาเตือน"

เช้าหนึ่งเกิดความเบื่อ เบื่อที่จะกิน ไม่สนใจเรื่องตัวเอง เบื่องานบ้านที่ทำไม่จบสิ้น เบื่อแต่ไม่ขี้เกียจ ยังคงทำทุกอย่างตามปกติ แต่ใจทำแบบงั้นๆ พูดคุยงานตามปกติ ไม่สนใจมากนัก ตอนบ่ายไปซื้อของที่ตลาดริมน้ำ เห็นป้าคนหนึ่งอายุ 50 กว่าๆ ในมือถือของ เดินไปได้ไม่ถึง 5 ก้าว แกก็นั่งพักตามรถที่จอดแถวนั้น หน้าบ้านคนอื่นบ้าง 

เราเดินไปซื้อของ ขากลับยังคงเห็นป้าเดินบ้างพักบ้าง ที่ว่ามัจจุราชมาเตือนนั้นคือ ใช่วันใดวันหนึ่งเราอาจจะเดินได้แค่ 5 ก้าวอย่างป้าเขา ถ้าเราไม่รีบคงจะไม่ทันการณ์ ขาเรายังเดินได้อยู่ก็จงเดิน มือเรายังเขียนได้อยู่ก็จงเขียน ใครจะไปรู้ว่าวันข้างหน้า ตาเราอาจจะบอดหรือความจำเสื่อม หรืออาจจะเคลื่อนที่ไม่ได้ทั้งตัวก็เป็นได้ 

สิ่งใดที่ยังไม่ทำก็ทำเสียก่อนจะหมดโอกาส เวลาไม่คอยท่าใคร ใจเราพลิกกลับในทันที ความเบื่อโลกหายไป เรารีบทำในสิ่งที่ค้างอยู่ ตัดสินใจในเรื่องที่คาอยู่ ใจไม่ไปข้องแวะอยู่ที่ใดนานๆ ช่วงเวลาที่ยังมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่ชีเกณฑ์ เราไม่รีรอที่จะทำตามคำที่ท่านแนะนำ เพราะไม่รู้ว่าเวลาของเราจะหมดลงเมื่อใด


Rank: 1

"อสรพิษ"           

เล่าให้คุณแม่ชีเกณฑ์ท่านฟังว่าเวลาขับรถ มักจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เป็นเวลาที่มีสติมากที่สุด เจอรถจอดขวางทาง รถขับช้า รถผิดเลนส์ อารมณ์ขึ้นมาทันที บีบแตรใส่เขาด้วยความมีอารมณ์ ถามท่านว่าทำอย่างไรจึงจะบีบแตรไปแบบไม่มีอารมณ์ปนไปด้วย ท่านบอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะสติเราช้ากว่าใจ พอตาเห็นใจก็ถูกปรุงแต่งทันที ห้ามไม่ทันจนเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา           

ท่านบอกว่าถ้าตายขณะนั้น จะไปเกิดเป็นสัตว์ดุร้ายหรืออสรพิษ เช่น งูเห่า งูจงอาง หมาบ้า เสือ ตะขาบ แมงป่อง คงเคยเกิดเป็นงูเห่ามาก่อน จึงมีใจที่ร้ายเช่นนั้น พร้อมที่จะฉกกัดทุกคนที่ไม่พอใจ มันเกิดเพราะยังมีอัตตาตัวตนอยู่ข้างใน เห็นไหมของข้างนอกวางได้แต่ของข้างในมันยังไม่ขาด เราต้องเห็นโทษเห็นภัยมันอย่างแท้จริง จึงจะขาดจากมันได้                       

ถามท่านว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะห้ามมันทัน ท่านบอกว่าต้องให้สติถี่ยิบทันกับสิ่งที่มากระทบทางอายตนะทั้ง 6 ให้สติหนาแน่นประดุจกำแพงปูน แค่รูขุมขนไม่พอเพราะความมีตัวตนมันแทรกขึ้นมาได้ทุกรูขุมขน ท่านแนะวิธีดึงใจให้ช้าลงและให้มีสติมากขึ้น ด้วยการกำหนด เห็นหนอๆๆ ได้เย็นหนอๆๆ คิดหนอๆๆ กำหนดทุกอิริยาบถเท่าที่จะกำหนดได้ หากไม่ทันโกรธขึ้นมาแล้วก็ต้องกำหนด โกรธหนอๆๆเพื่อดึงขามันไว้            

การหนอเป็นการสะกัดกั้นความปรุงแต่งต่อ เช่นตาเห็นหากเรากำหนดทันมันก็จะไม่ไปต่อ ว่าเธอทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะหยุดอยู่แค่นั้น หรือหูได้ยิน เราก็กำหนดได้ยินหนอๆๆ ไม่อย่างนั้นมันจะคิดต่อว่าเขาว่าเราหรือเปล่า ท่านบอกว่าแค่รู้ทัน มันแค่ห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้น ถ้าวันใดสติอ่อนกำลัง มันก็จะโกรธขึ้นมาอีก ถามท่านว่าแล้วทำอย่างไรให้มันขาดไปเลย ท่านบอกว่าเราต้องเห็นโทษเห็นภัยของความมีอัตตาตัวตนอย่างแท้จริง มันจึงจะขาดไปได้ ปัญญาที่เกิดในขณะเดียวกันกับสติที่สมบูรณ์เท่านั้นที่จะตัดขาดได้      

ถามท่านอีกว่าแล้วจะทำอย่างไรให้สติถี่ยิบและเร็วขึ้นอย่างที่ท่านว่า ท่านบอกว่าความต่อเนื่องคือเรื่องใหญ่และสำคัญมาก หากต้องทำงานให้แบ่งเวลาปฏิบัติบ้างทุกวัน วันละเล็กน้อยเพื่อความต่อเนื่อง ไปทำงานก็ต้องเจริญสติต่อไม่ให้ขาด ต้องรู้ทุกขณะที่มีอารมณ์มากระทบใจ โดนตำหนิรู้สึกอย่างไร หิวเป็นยังไง เห็นผู้ชายผู้หญิงรู้สึกอย่างไร ขับรถไปรถติดเป็นยังไง นั่งนานเป็นยังไง ไม่กินกาแฟเป็นยังไง เห็นอาหารแล้วเป็นอย่างไร เห็นเงินในกระเป๋ารู้สึกยังไง ถึงบ้านแล้วเป็นยังไง ให้รู้ไปจนกระทั่งหลับ ตื่นขึ้นมาก็ให้รู้ต่อ ความต่อเนื่องจะทำให้สติมีกำลัง ในคนทำงานต้องใช้เวลา เดือนหรือ 3 เดือนจิตจึงจะมีกำลังขึ้นมา            

เราตั้งใจแล้วที่จะทำตามท่านบอก จะขยันกำหนดไม่ขี้เกียจไม่ขี้ลืม ไม่อิดออดอ้างโน่นอ้างนี่เพราะไม่อยากทำ เราทนกับนิสัยอันเลวร้ายของตัวเองไม่ได้แล้ว ตายไปไม่แคล้วเป็นงูเห่าแน่นอนหากปล่อยไว้เช่นนี้

Rank: 1

"สติไม่ทันกับใจ"

บอกกับท่านว่าเราใจร้อนเวลาขับรถ เป็นเหตุให้ไม่พอใจทุกครั้งที่ขับรถ ท่านบอกให้ใช้สติ ปัญญาเข้ามาดับมัน แต่ก็ยังไม่ทัน ปัญญาสอนตัวเองมักมาทีหลัง โกรธไปก่อนแล้ว ท่านบอกว่านั่นเพราะจิตมันไปเร็วกว่าสติ            

ท่านถามว่าเวลาเดินจงกรมเดินอย่างไร เราบอกเดินหยุด 3 จังหวะช้าๆ ท่านบอกให้เดิน ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ วันถัดมาท่านให้เดิน 4 จังหวะ คือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ  เราหายไป 2 วันหาจังหวะให้ลงตัว บอกท่านว่าพูดติดๆกันไม่ได้ ต้องพูด ยกส้น.....หยุดไปนิด.....แล้วพูดว่าหนอ ยกหยุดไปแล้วก็หนอ เดินจงกรม1 ชม.ได้แค่ 2 รอบ ไม่เหลือเวลาสำหรับนั่งสมาธิ             

เราบอกท่านว่าวันแรกเห็นจิตมันดิ้น มันถูกขัดใจไม่ได้ตามใจมัน วันที่ 2 ม้นเริ่มหยุดดิ้นแต่ก็ยังไม่เย็น เมื่อผ่านไป 3 วัน พบว่าการเดินมี 5 จังหวะ ท่านจึงบอกว่าจริงๆแล้วมี 6 จังหวะคือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ เหยียบหนอ  เมื่อเริ่มเดิน 6 จังหวะวันแรกเดินได้แค่ 1 รอบ วันที่ 2 ของการเดิน 6 จังหวะใจของเริ่มเย็นลงไม่ร้อนเหมือนวันแรก  เมื่อกลับบ้านเริ่มหนอมากขึ้น โดยไม่ต้องบังคับใจตัวเอง ซ้ายหนอ ขวาหนอ ยกหนอ ก้มหนอ เงยหนอ คิดหนอ เห็นหนอ            

ผ่านไปเกือบอาทิตย์บอกท่านว่าการหนอนี้เหมือนทางลัด จะก้มเงยหยิบจับบิดหมุนก้าวเดิน รู้สึกตัวได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนพยายามแทบตายแต่ยังไม่รู้ทั่วตัว ใครๆก็คิดว่าการหนอช้า ในชีวิตปกติจะไปทันการณ์ได้อย่างไร มัวแต่หนอมันก็ดับไปแล้ว ท่านบอกว่าหากเรามีสติที่ช้าการหนอจะทำให้จิตเราช้าลง เมื่อสติกับจิตทันกันก็จะมีการหยุดยั้งคิดก่อนที่จะทำอะไรลงไป ก่อนจะโกรธเราก็จะมีสติตามทันหยุดยั้งอารมณ์ไว้ได้             

เราเห็นคุณค่าของการหนอแล้วในวันนี้ ท่านไม่ได้บังคับให้ทำแต่เราเต็มใจทำเพราะเห็นว่านี่คือวิธีที่จะแก้นิสัยใจร้อนลงได้ อาจต้องทนกับไฟที่เผาตัวเองหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ท่านบอกว่าการหนอเป็นการฝึกให้เราทนกับไฟที่เผาลนจิตใจเราให้ได้ ผลจากการเดิน 6 จังหวะและหนอช้าๆ ปวดขามาก ปวดไปทั้งตัว นั่นเพียงแค่ชม.เดียว แต่ตอนนี้เราผ่านมาได้แล้ว ทุกอย่างเป็นเครื่องทดสอบความตั้งใจจริงๆ


Rank: 1

"ของวิเศษอยู่ที่ใจ"              

วันหนึ่งได้ยินคนคุยกันเรื่องศาสนากำลังเสื่อม เรากลับรู้สึกตรงข้าม เรากำลังรู้สึกว่าศาสนาเจริญขึ้นต่างหาก เจริญขึ้นที่ใจของเรา สว่างกระจ่างจ้าอยู่ข้างในนี้ ไม่รู้เลยว่าศาสนาพุทธเข้าไปอยู่ข้างในเสียตั้งแต่ตอนไหน แต่ก่อนนั้นเรารู้สึกว่าศาสนาพุทธอยู่ที่หนังสือ ที่พระ ที่วัด ที่ครูบาอาจารย์ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าศาสนาพุทธได้เกิดขึ้นที่ใจเสียแล้ว เราไม่ต้องการหนังสือและ CD ธรรมะอันใดอีกเพราะทุกอย่างมีครบแล้วที่ใจดวงนี้     

และมีอีกวันที่เห็นความกล้าหาญของตัวเอง วันที่ถอดสิ่งที่ห้อยคอมาตลอด บอกกับแม่ชีเกณฑ์ท่านว่า เราไม่ต้องการสิ่งวิเศษหรือของขลังอันใดอีก เพราะของวิเศษที่สุดที่จะคุ้มครองเราได้อยู่ที่ใจดวงนี้แล้ว ท่านบอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ รวมลงคือใจดวงนี้ดวงเดียว ไม่มีอันใดวิเศษเท่าใจดวงนี้แล้วหากเราทำให้เขาปกป้องเราได้              

สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้เพียงแค่ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ท่านเป็นเพียงผู้ตอบ แนะแนวทางและเตือนเมื่อผิด ท่านมักจะให้การบ้านให้ไปดูเอง เช่น ท่านถามว่าเวลาได้ยินเสียงคิดว่าเสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง นี่เป็นเพียงบางส่วนของเรื่องที่ผ่านมา ท่านให้ความกระจ่างในอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องในใจและนอกใจ ท่านย้ำเสมอให้มีสติอยู่กับตัว อย่าประมาทเพราะความตายมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ ท่านจะสอดแทรกให้เห็นถึงความไม่เที่ยงในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งความทุกข์และความบังคับมันไม่ได้ดั่งใจในชีวิตประจำวัน ท่านชึ้ให้เห็นถึงโทษของมันที่เกิดขึ้นกับใจ 
     
สุดท้ายท่านเน้นย้ำให้เห็นถึงความยินดียินร้าย ท่านบอกว่าตราบใดยังมีความยินดียินร้ายอยู่ไม่มีวันที่จะหมดภพหมดชาติได้ เวลาโกรธ ท่านกลับสอนว่าหากมีปัญญาพอ เราจะมองเหตุการณ์นั้นหรือผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างพิจารณาให้ละเอียดขึ้น ให้เห็นถึงความแตกต่างของเขาและเรา ให้เห็นความเสมอภาค ให้เห็นข้อด้อยของตัวเอง ให้เตือนตนเองด้วยตัวเอง

เราไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนมีปัญญา เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ท่านเมตตาอบรมสั่งสอน ขณะนี้ใจของเราอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้ไปอยู่ที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นอีกแล้ว


Rank: 1

"สิ่งแรกที่เปลี่ยนตัวเอง"           

เริ่มแรกที่ปฏิบัติกับแม่ชีเกณฑ์ ท่านจะมีคำถามให้เราไปหาคำตอบ จากคำถามของท่านเราเห็นอย่างหนึ่งที่ท่านไม่ได้บอก คำถามของท่านทำให้พฤติกรรมเราเปลี่ยนไป เราจึงรู้ว่าที่ผ่านมาทำไมเราอยากโน่นอยากนี่ โกรธง่าย อะไรกระทบก็ไปตามนั้น เพราะเราส่งใจออกไปข้างนอกและตามไปโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลา หาเหตุมานานแล้วทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมห้ามไม่ได้                             

ท่านถามเรื่องเสียงทำให้เราเห็นว่าเวลาได้ยินเสียงก็ส่งใจไปไว้ที่คนพูด เห็นภาพก็ส่งใจไปไวัที่ของ ได้กลิ่นก็ส่งใจไปไว้ที่กับข้าว เราพยายามฝืนสิ่งที่เคยทำมาตลอดชีวิต เวลาได้ยินเสียงเราเอาใจไว้ที่หูตัวเอง เห็นภาพก็เอาใจไว้แค่ตา ได้กลิ่นก็เอาไว้แค่จมูก ผ่านไปทำเช่นนี้จนชิน เวลาได้ยินคนคุยกันใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เห็นรถบนถนนใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เกิดอะไรขึ้นใจเราก็ยังอยู่ข้างใน   นี่คือจุดแรกที่เราเปลี่ยนตัวเองคือการไม่ส่งใจออกไปข้างนอก ท่านบอกว่าเคล็ดลับอยู่ตรงนี้นี่เอง เข้าใจตัวเองเห็นจุดของตัวเอง เอาใจออกไปเกาะทำไม ทำไมไม่ไว้กับตัวเองล่ะ  ทุกข์ก็เพราะอย่างนี้แหละ


Rank: 1

"รู้ตัวทั่วพร้อม"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ ทำอย่างไรหนูถึงจะรู้ตัวทั่วพร้อม ปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้ว หนังสือก็อ่านมามาก ฟังก็เยอะ แต่ทำยังไงก็รู้ได้เป็นขณะเท่านั้นเอง เดี๋ยวก็เผลอไปอีก ลองมาหลายวิธีแล้ว รู้ตัวทั่วพร้อมเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ลูกต้องกำหนดทุกอิริยาบถย่อยๆ ถี่ยิบ ใจรู้สึกอย่างไรก็ให้รู้ด้วย ไม่ใช่แค่อิริยาบถใหญ่ ๆ ไม่ใช่แค่ทางจงกรม ชม.เดียวมันไม่พอ ขาก้าวไปก็ซ้ายหนอ ขวาหนอ มือหยิบจับก็ หยิบหนอ จับหนอ ปล่อยหนอ ตาเห็นก็เห็นหนอ มันคิดขึ้นมาก็คิดหนอ มันปวดหลังก็ปวดหนอ

ก้มหนอ คู้หนอ เหยียดหนอ เงยหนอ ยืดหนอ หดหนอ งอหนอ ไม่ชอบหนอ ชอบหนอ ดีใจหนอ ง่วงหนอ หิวหนอ บิดหนอ เกาหนอ ถูหนอ ได้ยินหนอ โกรธหนอ กดหนอ อยากหนอ เบื่อหนอ ยกหนอ วางหนอ กำหนดทุกอิริยบถเท่าที่จะกำหนดได้ ถ้าเรียกไม่ถูกก็รู้เฉยๆ หรือ หนอเฉยๆก็ได้

การกำหนดทุกอิริยาบถถี่ยิบทั้งที่กายและใจ เพื่อให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่จะเข้ามาปรุงแต่งจิต กิเลสมันเข้ามาได้ทุกรูขุมขนเลยใช่ไหม สติต้องหนาแน่นถี่ยิบประดุจำกำแพงปูน มันจึงยากที่จะถูกปรุงแต่ง

บางคนบอกว่ามันช้า อาการที่เกิดมันรู้และจบไปตั้งนานแล้ว กำหนดไม่ทัน นั่นเพราะสติเราช้ามันจึงกำหนดไม่ทัน เริ่มแรกก็เป็นอย่างนั้น พอเราชินและชำนาญ ทั้งคำที่กำหนด การรับรู้และอาการจะเป็นปัจจุบันทันกัน

กำหนดทุกอิริยาบถทั้งที่กายและใจ ตั้งแต่เริ่มลืมตาตื่นไปจนถึงเข้านอน แม้หลับฝันไปมันก็รู้ว่ากำลังฝัน มีนิมิตเข้ามาในฝัน มันก็กำหนดรู้หนอๆ ไม่ไหลไม่เผลอไปกับนิมิตนั้น กำหนดให้ชินจนติดเป็นนิสัย ทั้งทางจงกรมและในชีวิตประจำวัน เมื่อชำนาญมันจะทิ้งคำบริกรรมเอง เหลือแค่กาารตามรู้เฉยๆ แต่เป็นการตามรู้อย่างละเอียด

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียร บางคนทำได้แค่อาทิตย์เดียวก็เบื่อก็เลิก บางคนกำหนดอยู่อย่างนั้นตั้ง 7 เดือน มันลืมไปก็ตั้งใหม่ ลืมมากก็กลายเป็นลืมน้อย จนเป็นไม่เคยเผลอและไม่เคยลืม เมื่อสติถี่รอบ สมาธิตั้งมั่น ก็ต้องพร้อมไปด้วยปัญญาจึงจะตัดกิเลสได้ขาด ไม่ใช่จะเอาแต่สติ อย่าทิ้งการทำสมาธิ และฝึกเจริญปัญญาไปด้วย

....คุณแม่ท่านยินดีสอบอารมณ์และให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน สนทนาธรรมกับท่านได้ที่ 0861009373(12call) 0868540049( dtac) 4.00-5.30 น., 20.00-22.00 น.


Rank: 1

"ทำอย่างไรความไม่ชอบใจในตัวเขาจะลดลงได้ และอภัยให้เขาได้"

ฉุกคิดขึ้นมาในใจ ทำไมเราแผ่เมตตาไปให้เขาแล้วไม่ได้ผล ทำไมเขายังมาเป็นนิวรณ์ในใจเรา ทำไมเราวางพฤติกรรมของเขาไม่ได้ ทำไมเราไม่เมตตาเขา เลิกปล่อยให้ใจคิดฟุ้งซ่าน ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่ชอบใจเขาเรื่องนั้นเรื่องนี้

พาตัวเองเข้าทางจงกรม เดินไปเดินมาหกจังหวะช้าๆ ใจมันก็คิดได้ว่าเพราะเรามีความไม่ชอบเขาเป็นทุนเดิมอยู่ในใจ ใจมันจึงขุ่นมัวเมื่อคิดถึงสิ่งที่เขาทำ

ทำอย่างไรหนอเราถึงจะวางเขาได้ ผ่านไปหลายชม. ขณะเดินเก็บผักมาทำกับข้าว คำตอบผุดขึ้นในใจ...ทำไมเราไม่เห็นใจเขาบ้าง เขามีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งยังต้องเลี้ยงสามีและลูกที่ไม่ยอมไปทำมาหากิน ฝนก็ตกหนักเช่นนี้ เขาคงลำบากไม่น้อย เขาไม่ทุกข์ไม่ลำบากกว่าเราหรือ ใช่แล้ว...ความไม่ชอบใจในตัวเขาจะลดลงได้และอภัยเขาได้ เมื่อเราเกิดความเห็นอกเห็นใจเขา

แล้วทำอย่างไร...ความยินดียินร้ายจึงจะหายไปจากใจเราได้ ใช่คุณแม่บอกไว้เราต้องเห็นโทษเห็นภัยมันจริงๆ ใช่บางเรื่องมันขาดอย่างสนิทใจแต่บางเรื่องมันไม่ขาด ความยินร้าย ความไม่ชอบใจ มันยังมีอำนาจเหนือใจเราอยู่ ความเพียรเท่านั้น เราต้องทำสติให้มีกำลังกว่านี้ ให้มันทันกับการปรุงแต่ง และต้องลับปัญญาให้มันกล้าแกร่งและคมกว่านี้ จะได้ตัดมันให้ขาดในทันที


Rank: 1

"สติที่ดื่น"

การปฏิบัติทุกรูปแบบหรือแม้จะไม่มีรูปแบบ จะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดสติที่ระมัดระวังภัยให้กับเจ้าของ จงเดินจงนั่งในสถานที่ที่ใจระแวงภัย ปลุกสติให้ตื่นอยู่ตลอด พิจารณาทุกย่างก้าว พิจารณาทุกการกระทบ พิจารณาทุกการเคลื่อนไหว พิจารณาทุกเสียงที่ได้ยิน พิจารณาทุกสิ่งที่เข้ามาสัมผัสกาย พิจารณาทุกคำกลืน พิจารณาทุกความรู้สึกที่ใจ

สติคือเข็มทิศ ใจคือผู้พิจารณา สิ่งที่เข้ามาคืออะไร เป็นโทษเป็นภัยกับเจ้าของไหม ทิศที่จะไปปลอดภัยไหม ควรวางหรือควรปัดป้อง พิจารณาจากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งหนึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง หน้าที่ของสติที่ตื่นคือระวังภัยให้กับเจ้าของ ทั้งภัยจากภายนอกและภัยจากข้างใน ภัยจากความปรุงแต่ง ภัยจากความยินดียินร้าย

หัดสติให้ตื่นอยู่ตลอด ให้ระวังภัยอยู่ตลอด ใจที่มีสติที่ตื่นแล้วเป็นผู้นำทาง จักปลอดภัยทั้งภัยจากภายนอกและภัยจากภายใน หน้าที่นี้สำคัญไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เพราะเขาคือผู้เตือนภัยและผู้นำทางให้เรา คุณแม่ท่านบอกว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์ได้เมื่อศีลเราบริสุทธิ์หมดจดแล้วจริงๆ ทั้งที่กายและที่ใจ


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 02:46 , Processed in 0.035505 second(s), 13 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.