"หนูเดินจงกรมแบบช้าๆ ได้ไหมค่ะ"
ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูเดินจงกรมแบบช้าๆ ได้ไหมค่ะ หนูรู้สึกว่าหากเดินเหมือนในชีวิตปกติ ยิ่งฟุ้งและร้อนที่ใจ พอมาเดินช้าๆ ใจมันกลับเย็น
คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเดินช้าๆ เป็นการขัดจิต ขัดกิเลส แต่บางคนยิ่งเดินช้า ยิ่งง่วง แม่ก็ให้เขาเดินให้เร็วขึ้น แล้วลูกเดินจงกรมแบบไหน แบบพุทโธหรือไม่มีอะไรเลย
ผู้ปฏิบัติธรรม : เดินไปเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธค่ะ
คุณแม่ชีเกณฑ์ : ให้ลูกสังเกตเวลาเดิน ยกเท้าขึ้น เอ่ยคำว่าพุท ให้การรับรู้เท้าที่กำลังยก กับคำว่าพุทที่เอ่ยออกมา ให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ก่อนเท้าจะลงให้หยุดค้างไว้ ลูกจะเห็นคำว่าโธ ผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อน แล้วค่อยเอาเท้าลง พร้อมกับเอ่ยคำว่าโธขึ้นมาใหม่ ให้การรับรู้ที่เท้า กับคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
.......ผ่านไป 1 วัน.....
ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูเดินอย่างที่คุณแม่บอก พอขายกขึ้น หนูหยุดค้างไว้ หนูเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ทั้งๆ ที่เท้ายังค้างไว้ พอคำว่าโธในใจดับ หนูก็เอ่ยขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับเอาเท้าลง หนูเห็นคำสั่งบอกให้ไปข้างหน้าด้วย หนูไม่ทำตาม แล้วหนูก็เห็นมันดับลง บางทีก็มีความคิดเข้ามาแทรก บางทีก็ปวดขาขึ้นมาค่ะ
คุณแม่ชีเกณฑ์ : ถ้าความคิดเกิดขึ้น ก็ให้หยุดขาค้างไว้ทันที ถ้าความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้เช่นกัน
....ผ่านไป 3 วัน....
ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ พอมันคิด หนูหยุดขาค้างไว้ทันที หนูเห็นความคิดดับลง พอมันดับหนูก็ไปต่อ มันมาอีก หนูก็หยุดอีก หยุดๆ ไปๆ อยู่อย่างนี้ ตอนนี้มันไม่ค่อยโผล่มาแล้วค่ะ พอความปวดเกิดขึ้น หนูก็หยุดค้างไว้ หนูเห็นความปวดมันดับลง หนูนึกว่ามันจะปวดตลอด มันก็มีช่องว่างเหมือนกัน
คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเห็นการเกิดดับในตัวเรานี่แหละ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราออกจากวัฏสงสาร ถ้าไม่มีคำบริกรรม ก็ให้สังเกตจุดเดียวกัน จะยกเท้าก็ให้มีสติรู้ ก้าวไปก็ให้มีสติรู้ เหยียบไปก็ให้มีสติรู้ ขณะรู้จิตอยู่กับขามั้ย มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันมั้ย ยกขาก็ให้รู้ว่าจิตออกไปมั้ย อยู่กับปัจจุบันกับขามั้ย ขาขวายก มันอยู่กับขาหรือวิ่งออกไปข้างนอก มันออกไปก็ให้ใช้สติปัญญาดึงมันกลับคืนมา
ถ้าหยุดขาค้างไว้มันไม่กลับมา ก็ให้กำหนดคิดหนอๆๆ หรือฟุ้งหนอๆๆ จนกว่ามันจะกลับมา ถ้าเกิดความรู้สึกขึ้น ก็ให้กำหนดตามความรู้สึกนั้น เพื่อหยุดไม่ให้มันปรุงแต่งต่อ ถ้าฟุ้งมากก็ให้เดินแค่ 5 - 10 นาที แล้วนั่ง นั่ง 5 - 10 นาที แล้วลุกขึ้นเดิน สลับไปมาอย่างนี้จนครบชม. หรือจะบริกรรมออกเสียงดังๆ ก็ได้