ตอนที่ ๔๕ ปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙ (วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ทรงตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตว์จะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่า อย่าฉิบหายเลยดังนี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้เป็นได้
เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ”
แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เกิด แก่ เจ็บ และมีความตายเป็นที่สุดเพียงเท่านี้ มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ
เมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลาย จึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวาย สะสมสิ่งในที่สุดก็จะต้องทิ้งจะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเรา ซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่า โดยหาสารประโยชน์อันใดมิได้ เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมี ที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า
แม้หากสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้มีจริง ดังที่ปรากฏในอดีตกาลยอมรับแล้ว เราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายมิขาดทุนหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องโมฆะเสียเปล่า ก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น “โมฆบุรุษ” โดยแท้
ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
• วิธีสร้างบุญบารมี: กองทุน ธรรมวิหาร ธรรมสถานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๘. หน้า ๒๘-๓๗.
|