แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง (รอยพระพุทธบาท , พระเกศาธาตุ ฯ ) [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:29 โดย pimnuttapa


DSC06516.jpg

พระพุทธรูป ประดิษฐานภายใน บุษบก วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ



Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:29 โดย pimnuttapa

  
DSC06399.jpg

พระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ประดิษฐานพระเกศาธาตุ ต่อมาพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วนาน ๒๑๘ ปี มีพระอรหันต์สององค์ชื่อพระกุมมาระกัสสปะนำเอาพระบรมธาตุส่วนไหล่ข้างขวา (พระนลาฏ) และพระเมฆิยะเถระนำเอาพระบรมธาตุส่วนลำคอข้างหน้าข้างหลัง และพระบรมส่วนพระศอ ๘๔๐๐ องค์ มาบรรจุไว้อีก ประดิษฐานด้านหลัง วิหารหลวงค่ะ



Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:30 โดย pimnuttapa

  
DSC06454.jpg

พระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ทรงกลมแบบล้านนาผสมทรงกลมลังกา โดยรับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย เพราะช่วงนั้นมีการติดต่อกับอาณาจักรสุโขทัยด้วย แต่รับมาปรับให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง คือองค์พระบรมธาตุเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาบด้วยแผ่นทองเหลืองทองแดงทั่วทั้งองค์ มีฐานกว้างด้านละ ๒๔ เมตร สูง ๔๕ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสูงมาก ย่อมุม ฐานชั้นล่างเป็นฐานเขียง, ถัดขึ้นมาเป็นฐานปัด, ฐานกลม แล้วจึงเป็นเรือนธาตุบุด้วยแผ่นทองแดงปิดทอง (ทางเหนือ เรียกว่า ทองจังโกฏิ)

แผ่นโลหะเหล่านี้มีลายสลักดุลเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ ไม่ซ้ำกันแม้แต่แผ่นเดียวนับเป็นแบบอย่างลวดลายศิลปะล้านนาไทยที่ประมวลกันอยู่มากที่สุด ณ ที่เดียวกัน มีกำแพงแก้ว ลูกกรงสำริด ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีกำแพงแก้วลูกกรงสัมฤทธิ์ยอดดอกบัวล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สลักลวดลายแบบต่างๆ กันไป ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์จนถึงยอดเป็นลายดุลรูปพันธุ์พฤกษา ซึ่งแต่ละแผ่นลายจะไม่ซ้ำกันเพราะทำด้วยมือทุกแผ่น ทั้ง 4 มุมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์มีฉัตรทองประดับอยู่เป็นศิลปะพม่า ด้านหน้าประตูมีสิงห์พม่าประดับอยู่ด้วย

องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากเจ้าผู้ครองนครลำปางมาหลายยุคหลายสมัย โดยครั้งหลังสุดบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๙ เจ้าหาญศรีธัตถะ เป็นผู้บูรณะตราบจนปัจจุบัน อนึ่ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานแสง สี เสียงขึ้น ณ ลานพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ โดยมีการเลี้ยงขันโตก จุดบอกไฟ และตีกลางฟ้อนรำต่างๆ เรียกว่า งานหลวงเวียงละกอน ในแง่คตินิยมของชาวล้านนาแล้ว พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในปีฉลูค่ะ




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:38 โดย pimnuttapa

  
DSC06402.jpg

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง

เรียงเรียงจากตำนานพื้นเมือง โดย เกษม เกาะปินะ

ยาปาตุภูตาอตุลานุภาวา จีรังปะฏิฐฐิาลัมภะกัปปะปุเร เทเวนคุตตา อุตตรา ภิทัยยา นมามิหันตัง วะระชินะธาตุง กุมมาระ กัสสปัง นราตะธาตุโย เมฆิยะ มหาเถโร กะนะธาตุฐะ เปติมหาถาเน เจติยังปูชิตา นะระเทเวหิ อะหังวันทามิธาตุโย

สาตราจริกะ อ้างว่า สมัยเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่เชตะวันอาราม คืนวันหนึ่งยามใกล้รุ่ง พระองค์ทรงรำพึงว่า ตั้งแต่เราตถาคตได้ตรัสรู้เป็นสัพพัญญูตญาณมาถึงวันนี้นับได้ ๒๕ พรรษาแล้ว ต่อเมื่อเราตถาคตมีอายุครบ ๘๐ พรรษาเมื่อใด เราตถาคตก็จะเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว ควรเราตถาคตจักอธิษฐานธาตุให้ย่อยเพื่อให้คนและพระอรหันต์ ได้นำไปบรรจุไว้เป็นที่ไหว้บูชาเสมอเหมือน ดังเราตถาคตยังทรมานอยู่ ทรงรำพึงดังนั้นแล้ว รุ่งขึ้นก็เป็นวันออกพรรษา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์สามองค์กับพระอานนท์เถระเจ้ารวมอยู่ด้วยเป็น ๔ พระองค์ นอกจากนี้ก็มีพระเจ้าปเสนทิฯ ตามเสด็จออกจากเชตะวันอารามมหาวิหาร ลำดับไปตามบ้านน้อยใหญ่ทั้งหลาย จึงได้เสด็จถึงบ้านอันมีชื่อว่า “ลัมภะการีวัน” (บ้านลำปางหลวง)

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จนั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย (เขาเตี้ย) ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อลั๊วะอ้ายกอน เห็นพระพุทธเจ้า มันเกิดมีความเลื่อมใสได้นำเอาน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง (ไม้ข้าวหลามไม้เปราะ) มะพร้าวและมะตูมอย่างละ ๔ ลูก มาน้อมถวายต่อพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับเอาแล้วจึงส่งมอบกระบอกน้ำผึ้งนั้นให้พระอานนท์เถระเจ้าไปกรองลงในบาตร แล้วพระองค์จึงฉันน้ำผึ้งนั้น เสร็จแล้วพระองค์จึงทิ้งกระบอกไม้นั้นไปตกทางทิศเหนือ พระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า สถานที่นี้ต่อไปจักมีผู้มาสร้างเป็นเมืองมีชื่อว่า “ลัมภะกัปปะนคร” และต่อนั้นพระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นลูบพระเศียร ได้เกศา ๑ เส้นติดพระหัตถ์มา แล้วพระองค์ทรงมอบให้แก่ลั๊วะอ้ายกอน ลั๊วะอ้ายกอนรับเอาพระเกศา โดยความโสมนัสเป็นล้นพ้นแล้วนำลงบรรจุในผอบทองคำใหญ่ ๘ กำ

ขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิฯ พร้อมด้วยพระอรหันต์เจ้าจึงได้ขุดหลุมอันหนึ่งกว้าง ๕ วา ลึก ๕ วา แล้วอัญเชิญผอบพระเกศาลงไปประดิษฐานท่ามกลางหลุมนั้น พระเจ้าปเสนทิฯ และลั๊วะอ้ายกอนก็ได้นำเอาแก้วแหวนเงินทองเป็นจำนวนมากมาถวายเป็นพุทธบูชาลงฝังในหลุมนั้น เสร็จแล้วก็ได้แต่งยันต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ จัดการถมดินดีแล้วก็ก่อเป็นเจดีย์ข้างบนหลุมอุโมงค์นั้นสูง ๗ ศอก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ต่อไปว่า เมื่อเราตถาคตเข้าสู่ปรินิพพานแล้วนาน ๒๑๘ ปี จักมีพระอรหันต์ลูกศิษย์เราตถาคต ๒ องค์ หนึ่งชื่อกุมาระกัสปะเถระจักได้นำเอาอัฐิพระนลาฏข้างขวา และเมฆิยะเถระจักได้นำเอาอัฐิลำคอข้างหน้าหลังของเราตถาคตมาบรรจุไว้ในที่นี้อีก เจดีย์นี้จักปรากฏเป็นพระเจดีย์ทองคำและได้ชื่อว่า “ลัมภะกัปปะ” แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จจาริกไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ต่อไป




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:38 โดย pimnuttapa

  
DSC06478.jpg

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง (ต่อ)

จากตำนานตอนพระยาพระยาศรีธรรมาโศกราชสร้างพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ และพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง

ตามตำนานนี้ยังมีการอ้างอิงต่อไปอีกว่า ครั้งกระนั้นมีมหาเถรชาวเชียงใหม่ ๒ รูป ได้จาริกลงไปสู่เมืองอโยธิยาฝ่ายใต้ เพื่อเที่ยวนมัสการพระบรมสารีริกธาตุในเมืองนั้นได้พบมหาเถรชาวอโยธิยาเข้า พระมหาเถรองค์นั้นจึงถามว่า อาวุโส ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าอยู่ประเทศใด ส่วนพระมหาเถรเจ้าชาวเชียงใหม่จึงตอบว่า ภันเต ข้าแต่เจ้ากู ตูข้ามาในประเทศบ้านเมืองอันนี้จักมีกิจอันใดนั้นหาไม่ ตูข้ามาเพื่อจักมาไหว้และบูชาพระบรมสารีริกธาตุ อันมีอยู่ในเมืองแห่งนี้ด้วย และตูนี้ก็ได้มาจากเมืองอันมีชื่อว่า ระมิงค์อันตั้งอยู่ภายหนเหนือน้ำด่าย เมื่อนั้นพระมหาเถรเจ้าชาวอโยธิยาจึงได้บอกว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้น ทางเมืองอันมีหนเหนือน้ำมีมากกว่า และบอกต่อไปว่าที่มีมากนั้น คือที่เมืองหริภุญชัยนั้นและลัมภะกัปปะนคร พระมหาเถรชาวเชียงใหม่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่มีในหริภุญชัยนั้น ข้าหากรู้แล้ว ส่วนที่มีลัมภะกัปปะนครนั้น ยังไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ครั้นแล้วมหาเถรเจ้าทั้ง ๒ จึงขอเขียนเอาตำนานดังกล่าวต่อมหาเถรเจ้านั้น ดังข้อความดังต่อไปนี้

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปนานแล้ว ๒๑๘ ปี วันนั้น มีพระยาองค์หนึ่งชื่อว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช ได้ชำนะข้าศึกทั้งหลายแล้ว ได้อาศัยเจ้านิโคธสามเณร ได้ทรงเลิกถอนความเลื่อมใสต่อพวกอยัติฐีทั้งหลายเสียแล้ว จึงบังเกิดปสาทะศรัทธาอันแก่กล้าต่อบวรพุทธศาสนา อยากจะสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ พระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการถวายเป็นการบูชาแด่พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ต่อมาพระองค์ก็ได้พบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์นครแล้วพระองค์ก็อัญเชิญมาสู่กรุงปาตลีบุตรมหานคร พระองค์จึงสั่งให้หัวเมืองทั้หลายในชมภูทวีป ให้ทำการก่อสร้างพระเจดีย์ พระวิหารรวมทั้งสิ้นอย่างละ ๘๔,๐๐๐ เสร็จแล้ว พระองค์จึงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมอบให้พระเถระเจ้าทั้งหลายให้อัญเชิญไปประดิษฐานในพระเจดีย์นั้นๆ ส่วนพระกุมาระกัสสะปะเถระเจ้ากับพระเมฆิยะเถระเจ้าต่างก็อัญเชิญเอาพระ บรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าตามดังกล่าวแล้วในหนหลังมาประดิษฐานไว้ที่พระเจดีย์ลัมภะกัปปะนคร (วัดพระธาตุลำปางหลวง) ตำนานตอนพระยาพระยาศรีธรรมาโศกราชสร้างพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ และพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ได้จบลงเพียงเท่านี้

ตำนานอ้างอิงกล่าวตามพงศาวดาร (พงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม  บุญนาค) หน้า 468) และตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวง

ต่อแต่นั้นมาเป็นเวลานาน (ศักราชไม่ปรากฏ) มีพระยาองค์หนึ่งได้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองสุวรรณภูมิ มีพระนามว่า พระยาจันทะเทวราช รู้ข่าวว่าพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่พระยาศรีธรรมาโศกราชได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดลัมภะกัปปะนครนั้น อค์เจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมลง พระยาจันทะเทวราชทรงเอมใสอยากได้มาไว้น้นเมืองของพระองค์ พระองค์จึงเสด็จมาโดยจตุรงค์เสนาถึงวัดลัมภะกัปปะนคร ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุแล้วพระองค์ก็ได้จัดการพักพลตั้งค่ายรายล้อมบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพะองค์ก็ได้จัดสมโภชเป็นมหกรรมครบ ๗ วันแว พรองค์ก็ได้ตั้งสัจะอธิษฐานขออัญเญพระรมสารีริกธาตุเด้จออกจากหลุมตั้งสามครั้งพระบรมสาริกธาตุหาได้เสด็จออกไม่ คานี้พระองค์จึงบญชาให้อำมาตย์ทั้งหลาย ของพระองค์ทำการขุดดินลงไปแล้ว อัญเชิญผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธุออกจากหลุมแล้วอัญเชิญขึ้หลังช้างทรงแล้วเลิกทัพกลับไปสู่เมืองสุวรรณภูมิ ถึงแล้วพระองค์ก็ให้จัดการสมโภชปาฏิหาริย์ลอยขึ้นสู่อากาศทั้งผอบทองคำที่บรรจุแล้วเสด็จกลับไปลัมภะกัปปะนครตามเดิม พระองค์มีความน้อยพระทัยเป็นล้นพ้น

รุ่งขึ้น พระองค์สั่งให้เตรียมกองทัพสร็จแล้วเสด็จออกติดตามพระบรมสารีริกธาตุ จนบรรลุถึงลัมภะกัปปะนคร ก็ทรงเห็นผอบพร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุตั้งอยู่ที่เดิมเป็นปกติ ดังนั้นพระองค์จึงกราบไหว้พระบรมสารีริกุ โดยความเคารพและเลื่อใสเป็นล้นพ้น พระองค์จึงได้สั่งให้จัดการพักพลเรียบร้อย พระองค์ก็จัดการตบแต่งหลุมที่จักประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้กว้างด้านละ ๑๐ วา ลึก ๒๐ วา ปราบพื้นก้นหลุมให้ราบเรียบดีงาม แล้วจึงก่อด้วยอิฐเงิน อิฐทอง สูงจากก้นหลุมขึ้นมา ๔ ศอก ตกแต่งผอบเงินอีกอันหนึ่งเพื่อบรรจุผอบทองคำเดิม ประดิษฐานไว้เหนือหลังสิงห์อันหล่อด้วยทองคำ แล้วก็นำเอาสิงห์คำนี้ลงไปตั้งไว้เหนืออิฐทองคำท่ามกลางหลุม เสร็จแล้วพระองค์ก็ให้ช่างก่อเจดีย์อันหนึ่ง หุ้มสิงห์ทองคำนั้น เจดีย์มีรูปสัณฐานเหมือนฟองน้ำ แล้วพระองค์ก็ตั้งเครื่องบูชาคือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองคำ ประทีปเน ประทีปทองคำ ล้อมรอบไว้ทุกๆ ด้าน นอกจากนั้น แล้วพระองค์ก็สร้างหุ่นยนต์มีมือถืออาวุธไว้ทั้ง ๔ ด้าน ทั้งนี้เพื่อจักได้รักษาพระบรมสารีริกธาตุให้มั่นคงต่อไป ต่อนั้นพระองค์ก็ได้ก่ออุโมงค์หุ้มหุ่นยนต์นั้นไว้อีก ถัดนั้นก็ให้ก่อกลบด้วยแผ่นเงิน แล้วถมด้วยหินศิลาแลงให้เสมอด้วยดิน โบกด้วยปูนให้แน่นหนาแข็งแรง เสร็จแล้ว

เมื่อนั้นพระองค์จึงตรัสแก่เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายว่ากิจการทั้งหลายเราก็ได้กระทำสำเร็จแล้วบดนี้ยังมีทองคำเหือเศษจากการนี้อีก ๔ โกฏิ์ ยังไม่รู้ว่าจักเก็บไว้นที่แห่งใด พระอค์และอำมาตย์ได้ปรึกษาตกลงกันแว จึงได้นำเอาทองจำนวน ๒ โกฏิ์ ให้นำไปฝังไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้วัดท่าผา 2 โกฎิ์ ห่างจากวัดท่าผาประมาณ ๑๐๐ วา (วัดท่านี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้วัดพระธาตุลำปางหลวง ๓ ก.ม. ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ว่าการอำเภอเกาะคาประมาณ ๒๕ เส้น เป็นวัดเก่าแก่มีพระพุทธรูปโบราณมาก และทางทิศตันตกเฉียงใต้วัดท่าผาไกลประมาณ ๑๐๐ วานั้น มีหลุมเก่าหลุมแก่นี้ชาวบ้านเรียก่า “ขุมคำ” (ยังปรากฏอยู่)  และทองคำที่เหลืออีก ๒ โกฏิ์ ก็ให้นำไปฝังไว้ที่ดอย “พี่น้อง” ทางทิศเหนือเมืองเตริน (เห็นจะเป็นเมืองเถินหรือห้วยยแม่เตินเหนืออำเภอเถิน) เมื่อฝังเสร็จแล้วพระเจ้าจันทะเทวราชก็ตั้งสัจจอธิษฐานว่านับแต่นี้ไปเมื่อหน้า ขอให้ท้าวพระยาและบุคคลที่มีบุญญาธิการมีใจเลื่อมใสในพุทธศาสนา และพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในมืองลัมภะกัปปะนครนี้จงมาขุดเอาทองคำ ๔ โกฏิ์ ไปกระทำการก่อสร้างองค์พระเจดีย์ ให้รุ่งเรืองถาวรตลอด ๕,๐๐๐ พรรษา พระองค์กระทำสัจจอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็กราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุโดยอาการคบยำ (เคารพนับถือ) เพื่อขมาโทษและอำลาเสด็จแล้วเสด้จกลับสู่เมืองสุวรรณภูมิอันเป็นเมืองแห่งพระองค์ จบตอนพระยาจันทะเทราช

ต่อจากนั้นมาเป็นเวลานาน (ไม่ปรากฏศักราช) มีพระยาสามัญตราองค์หนึ่งชื่อว่า พระยาพละ (เจ้าเมืองแพร่) เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองอันตั้งอยู่ใกล้เมืองลัมภะกัปปะนครนี้ รู้ประวัติว่า พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามีอยูในเมืองลัมภะกัปปะนคร พระองค์อยากจะได้จึงเสด็จมาโดยเหล่าเสนาทั้ง ๔ เมื่อมาถึงแล้ว พระองค์ทรงให้ขัดราชวัตรรอบบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ให้คนทำการขุดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก็พบแผ่นเงินที่กลบหลังหุ่นยนต์ ก็ให้ยกเอาแผ่นเงินนั้นออกเสีย แล้วขุดต่อลงไปจนถึงอุโมงค์ของหุ่นยนต์ คราวนี้ทำการขุดล่วงล้ำลงไปไม่ได้ เพราะหุ่นยนต์ได้ป้องกันรักษา พระองค์จึงให้หาก้อนหิน ทราย ดินและท่อนไม้ใหญ่ๆ มากองรอบบริเวณปากหลุมเป็นอันมากแล้วจึงให้คนพร้อมกันทิ้งวัตถุเหล่านั้นลงไปในหลุม แต่วัตถุเหล่านั้นย่อยเป็นผงพุ่งกลับขึ้นมา หาอาจทำลายหุ่นยนต์นั้นได้ไม่

พระองค์ให้กระทำเช่นนี้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ก็ไม่บังเกิดผล พระองค์จนปัญญา จึงให้คนทั้งหลายถมดินแต่ข้างหลังหุ่นยนต์นั้นขึ้นมาจึงหุ้มอุโมงค์นั้นแล้ว พระองค์จึงให้หาคนผู้กระทำความผิด ๔ คน มาฆ่าแล้วเอาหัวสุมกันให้เท้าชี้ไปคนละทิศ ทั้งนี้เพื่อให้ ๔ คน ทำการรักษาพระบรมสารีริกธาตุต่อไป แล้วถ่มดินนั้นขึ้นมาจนเสมอพื้นดังกล่าว แล้วจึงให้หาไม้ขะจาวมาปลูกไว้ตรงกลางหลุมนั้น ๑ ต้น นอกจากนี้ก็ให้ปลูกไม้ขะจาวไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องหมายไว้ว่า วันหนึ่งข้างหน้าหุ่นยนต์ต้องชำรุดหักพังลง แล้วพระองค์จะได้มาขุดเอาพระบรมสารีริกธาตุต่อไป เสร็จแล้วพระองค์พร้อมด้วยจตุรงค์เสนาได้เสด็จกลับบ้านเมืองแห่งพระองค์ ตำนานตอนพระยาพละก็จบเพียงเท่านี้ (พละคือกำลัง)




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:39 โดย pimnuttapa


DSC06460.jpg

ตำนานพระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง (ต่อ)   

ตำนานพระแม่เจ้าจามเทวี

เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษ เจ้าแม่มหาเทวี (พระนางจามเทวี) ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญชัย มีอานุภาพมาก ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จไปทัพแม่สลิตเสร็จแล้ว เสด็จกลับได้ผ่านมาตั้งค่ายพักที่สบยาว (ปากห้วยแม่ยาวไหลมาบรรจบแม่น้ำวังทางทิศใต้ของวัดพระธาตุลำปางหลวง ห่าง ๒ กม.) ขณะที่พระนางประทับอยู่ในค่ายด้วยความสำราญนั้น เวลานั้นเป็นเวลาปัจฉิมยาม ก็ได้เห็นแสดงปาฏิหาริย์มาจากลัมภะกัปปะนครตกลงกลางค่ายพักของพระนาง ครั้งนี้ทำให้พระนางเข้าพระทัยว่า ชาวบ้านแถบนั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระนาง โดยแกล้งจุดไฟโตนดให้มาตก รุ่งขึ้นพระนางจึงได้เรียกเสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้า เล่าเหตุการณ์ที่พระนางได้เห็นเมื่อกลางคืนให้ฟัง เสนาบดีได้รับทราบเหตุ จึงได้ถามคนอื่นๆ ว่ามีคนใดได้เห็นไฟโตนดมาตกลงกลางค่ายพักนี้บ้าง คนทั้งหลายเหล่านั้นก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้เห็นเลย ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อล่ามพันทองอยู่ในที่นั้นด้วย จึงกราบทูลว่า ที่พระแม่เจ้าอยู่หัวได้เห็นไฟโตนดตกนั้นหาใช่ไฟโตนดไม่ ที่แท้คือพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าอันตั้งอยู่วัดลัมภะกัปปะนคร หากเสด็จแสดงปาฎิหาริย์ให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ทราบ ทั้งนี้โดยบุญญาธิการของพระแม่เจ้าอยู่หัวต่างหาก

เมื่อชายคนนั้นกราบทูลให้พระนางทรงทราบดังนั้นแล้ว พระนางก็ทรงเข้าพระทัยโดยปัญญาของพระนาง แล้วพระนางก็สั่งให้เตรียมพลยกไปถึงลัมภะกัปปะนครสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระนางเสด็จลงจากหลังช้างทรงแล้ว ก็เสด็จเข้าไปกราบไหว้ตรงที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุโดยอาการอันเคารพยิ่ง ฝ่ายชาวบ้านชาวเมืองเมื่อทราบข่าวว่า พระแม่เจ้าจามเทวีเสด็จมาถึง ต่างก็ชักชวนกันมาเพื่อเฝ้าชมพระบารมีของพระแม่เจ้า ส่วนพระแม่เจ้าก็ทรงปราศรัยด้วยชาวบ้านชาวเมืองเหล่านั้นโดยทรงถามถึงทุกข์สุขหรือได้รับความเดือดร้อนโดยประการใดบ้าง ชาวบ้านชาวเมืองเหล่านั้นก็กราบทูลให้พระแม่เจ้าทรงทราบว่า ความเดือดร้อนอันอื่นใดจักได้เกิดแก่พวกข้าพเจ้าทั้งหลายหามิได้ นอกจากความเดือดร้อนอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำบริโภคเท่านั้น และกราบทูลต่อไปว่า น้ำที่ใช้บริโภคที่ต้องใช้อยู่ทุกวันนี้ต้องนำเอาเกวียนไปบรรทุกเอามาจากแม่น้ำวังและห้วยแม่น้ำยาวอันเป็นระยะไกลมาก เมื่อจักขุดบ่อน้ำในบริเวณนี้ก็หาสายน้ำมิได้  จึงอันจนใจของพวกข้าพเจ้าเป็นอันมาก

เมื่อพระแม่เจ้าได้ยินชาวบ้านชาวเมืองกราบทูลดังนั้น พระองค์ก็ทรงสงสารชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนโดยขาดน้ำบริโภคเป็นอันมาก ก่อนที่พระแม่เจ้าจะเสด็จจากสถานที่นั้น พระองค์ก็ทรงกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุโดยความเคารพ แล้วทรงกล่าวสัจจอธิฐานว่า ถ้าหากว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่พระอรหันต์และพระยาศรีธรรมาโศกราชนำมาประดิษฐานไว้จริงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอให้สายน้ำจงแตกออกตรงใจกลางเมืองอันนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่อาศัยแก่หมู่คนทั้งหลายอันได้รับความเดือดร้อนนั้น เมื่อพระแม่เจ้ากระทำสัจจอธิษฐานเสร็จแล้วก็กราบไหว้ด้วยความเคารพอีกครั้ง แล้วพระองค์ก็ดำเนินมาขึ้นหลังช้างทรงที่เตรียมไว้แล้วเสด็จยาตรากองทัพไปสู่เมืองตาลเมืองรมณีย์อันเป็นที่ทรงพระสำราญของพระองค์ (เมืองตาลหรือเมืองรมณีย์นี้เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร)




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:39 โดย pimnuttapa

  
DSC06586.jpg

ตำนานพระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง (ต่อ)  

วันนี้เวลาเย็นเมื่อขบวนเสด็จของพระแม่เจ้าเสด็จไปแล้วก็มีหญิงแก่ผู้หนึ่งชื่อ “ย่าลอน”  ได้เข้าไปพบเห็นที่บริเวณแห่งหนึ่งมีรอยน้ำซึมออกมาบนผิวดิน นางก็คุ้นเขี่ยดูก็พบสายน้ำพุ่งออกมา เมื่อเป็นเช่นนั้นนางก็ไปบอกกล่าวชาวบ้านทั้งหลายมาดู และชาวบ้านเหล่านั้นก็หาเสียมมาขุดดินให้เป็นบ่อก็พบสายน้ำพุ่งขึ้นมาแรงนัก คนเหล่านั้นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่หากเกิดด้วยบุญญาธิการแห่งพระแม่เจ้าอันกระทำสัจจอธิฐานเป็นมั่นคง น้ำในบ่อน้ำนี้ผิดกับน้ำที่มีในบ่อน้ำแห่งอื่นๆ คือ ใสเย็น มีรสกินกลิ่นอร่อย (บ่อน้ำนี้ก็ยังมีอยู่กระทั้งทุกวันนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า “น้ำบ่อเลี้ยง” ในบ้านนี้ไม่มีน้ำบ่อที่ไหนเลย ทุกครัวต้องอาศัยบ่อน้ำนี้แห่งเดียว)

รุ่งขึ้นผู้เป็นเฒ่าบ้าน (พ่อเมือง) ก็ให้หาไหอันใหม่อันดีงามมาตักเอาน้ำบ่อนั้นใส่หุ้มปากไหด้วยผ้าอันใหม่ แล้วใช้คนหามขึ้นไปถวายพระแม่เจ้าจามเทวีในเมืองตาลหรือเมืองรมณีย์ เมื่อพระแม่เจ้าทอดพระเนตรเห็นมีผู้นำเอาไหน้ำมาถวาย จึงตรัสถามว่า ไหอันนี้เป็นสิ่งใด คนเหล่านั้นก็กราบทูลตามเหตุการณ์อันบังเกิดขึ้นหลังจากพระแม่เจ้าได้เสด็จจากลัมภะกัปปะนครแล้ว ให้พระแม่เจ้าทรงทราบทุกประการ เมื่อพระแม่เจ้าได้ทรงทราบดังนั้นแล้ว ก็บังเกิดมีความปีติเป็นอันมาก แล้วพระแม่เจ้าก็ทรงรับสั่งให้นางเฒ่าแก่ซึ่งเฝ้าอยู่ในที่นั้นชิมน้ำนั้นดู นางเฒ่าแก่ชิมน้ำแล้วก็กราบทูลว่า น้ำอันนี้มีรสดีกว่าน้ำ ๗ ริน อันอยู่ในเมืองหริภุญชัยของพระองค์ ต่อนี้พระนางจึงรับสั่งให้อำมาตย์จัดคนให้ติดตามชาวบ้านลัมภะกัปปะนครไปเลือกหาชัยภูมิที่จะปลูกพลับพลาที่ประทับของพระองค์ เมื่ออำมาตย์เลือกหาชัยภูมิอันดีได้แล้ว ก็จัดการให้คนช่วยกันปลูกสร้างพลับพลา เสร็จเรียบร้อยแล้วอำมาตย์ก็กลับไปกราบทูลให้พระแม่เจ้าทรงทราบ แล้วพระแม่เจ้าก็ให้เตรียมกระบวนยาตราออกจากเมืองตาลเมืองรมณีย์ถึงพลับพลาในลัมภะกัปปะนครแล้วเสด็จพักผ่อนพระอิริยาบถเพื่อให้หายเหน็ดเหนื่อย แล้ว พระแม่เจ้าก็จัดแจงชำระสระทรงพระวรกายให้หมดจดแต่งพระองค์เสร็จแล้ว พระแม่เจ้าเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุโดยเครื่องสักการะเป็นจำนวนมากแล้วพระแม่เจ้าก็มีการสั่งให้ฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุตลอด ๗ วัน ๗ คืน

เสร็จแล้วพระแม่เจ้าจึงมีการจัดถวายนาราคาล้านเบี้ยให้เป็นนาของพระบรมสารีริกธาตุ และถวายล่ามพันทองกับนางดอกไม้ที่เป็นทาสาและทาสีของพระแม่เจ้าให้อยู่เป็นผู้ปฏิบัติรักษาพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้พระแม่เจ้ายังได้ถวายข้าทาสชายหญิงของพระแม่เจ้าอีก ๘ ครัว ให้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบรมสารีริกธาตุ กับไว้ข้าทาสชายหญิง ๒ ครัว เพื่อให้ปฏิบัติรักษาบ่อน้ำอันที่เกิดจากการตั้งสัจจอธิฐานของพระองค์ พระแม่เจ้าทรงเสด็จสำราญพระอิริยาบถพักผ่อนตามสมควร แล้ววันหนึ่งจึงตรัสสั่งให้อำมาตย์เตรียมพลจัดยกกลับไปสู่เมืองตาลหรือเมืองรมณีย์อันเป็นที่สำราญของพระองค์ ตามตำนานของพระแม่เจ้าจามเทวีก็จบเพียงเท่านี้ค่ะ




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:40 โดย pimnuttapa

  
DSC06453.jpg

ตามตำนานจากหลักศิลาจารึก

ข้อความต่อจากนี้เป็นข้อความที่ได้คัดเอาจากศิลาจารึก (เรียงตามอายุแก่ที่สุดไปจนถึงอ่อนดังต่อไปนี้)

หลักศิลาจารึกที่ ๑
ปีกัดใส้ (ปีมะเส็ง) จุลศักราช ๘๑๑ พ.ศ. ๑๙๙๒ เจ้าเมืองหาญแต่ท้องมาครองเมืองนครแล้ว (เจ้าหาญแต่ท้องเป็นราชบุตรหมื่นด้งนคร) อาศัยเซิ่งมหาเถรเจ้าอัตฐทัคศรีเป็นประธานขออาณาเขตแต่พระยาติโลกรัตนะบพิตรเจ้าองค์เสวยราชสมบัติในบุรีนพราชธานีเชียงใหม่ เพื่อจักประดิษฐานพระเจดีย์ไว้เหนือที่สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ลัมภะกัปปะนคร ได้รับราชอาณาเขตแล้ว ก็ให้ชำระประเทศอันจักประดิษฐานเจติยะ ตัดไม้ขจาวต้นอันพระยาพละปลูกไว้เป็นที่สังเกตนั้นเสียแล้ว ก็ให้ขุดลงไปภายต่ำได้กระดูกคนทั้ง ๔ ที่พระยาพละราชฝังไว้นั้น พระองค์ก็ให้ประดิษฐานเจติยะหลังหนึ่งกว้าง ๙ วา ลวงสูง ๑๕ วา อันสำเร็จด้วยอิฐและสะตาย (โบกปูน)อันบริสุทธิ์ทุกสิ่ง แล้วพระยาก็ให้ก่อปาทะลักขณะแล้ว (พระพุทธบาท) ให้เสร็จบริบูรณ์ตอนเจ้าเมืองหาญแต่ท้องก็จบลงเพียงเท่านี้

หลักศิลาจารึกที่ ๒
จุลศักราช ๘๓๘ พ.ศ. ๒๐๑๙ ตัวปีรวายสัน (ปีวอก) เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ วันพุธ ไทยเปิกสง้าได้ฤกษ์ ๗ ตัว ชื่อปุนนัพพะสุ เจ้าหมื่นคำเป๊กเป็นเชื้อขุน อยู่เมืองใต้มาอยู่ในอำนาจอาญาแห่งพระยาธรรมราชาติโลกะ (คือพระยาลกคำ อันเสวยเมืองปิงเชียงใหม่) ก็ใส่หมื่นคำเป๊กมากินเมืองนคร แล้วก็ได้เลิก (เลิก – ฟื้นฟู) ศาสนาพระมหาธาตุเจ้าลำปาง ให้แป๋งกำแพงแป๋งวิหารก็แล้ว (แป๋งคือการสร้าง) ก็ให้หล่อพระพุทธรูปเจ้าองค์หนึ่ง ประมาณแสนสิบหมื่นทองแสนสองหมื่น ให้ฉลองก็แล้วทุกประการไว้ในวิหารแล้วไว้ข้า ๔ ครัวให้รักษาให้แป๋งศาลาและบ่อน้ำ เผี้ยวถาง (ตัดถนน) มาต่อหน้าพระมหาธาตุเจติยะศรีรัตนะธาตุเจ้าก็บริบูรณ์ทั้งมวลเท่านั้น ท่านก็ตั้งคำปรารถนา เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง อันจักมาภายหน้าแล้วไว้นากับพระพุทธเจ้า ๒๐ เข้า (ยี่สิบพันธ์ข้าวปลูก) สัปปุริสะเจ้าจงอนุโมทนาทุกคนเต๊อะ ตำนานตอนเจ้าหมื่นคำเป๊กก็จบเพียงนี้



DSC06480.jpg

หลักศิลาจารึกที่ ๓
จุลศักราช ๘๕๘ พ.ศ.๒๐๓๖ ตัวปีรวายสี (มะโรง) เดือน ๖ ออก ๑๐ ค่ำ วันอาทิตย์ ไทยร้วงใส้ ฤกษ์ ๖ ตัว ชื่ออทรายยามตูดแล้ว ๒ นาที เจ้าเมืองหาญศรีธัตถมหาสุรมนตรีมากินเมืองนี้ได้ ๖ เดือน จึงชักชวนชาวเจ้าสังฆะกับเจ้าหมื่นเจ้าพันกับนักบุญุทั้งหลายมาร่วมก่อตีนธรณีพระมหาธาตุเจ้า กว้าง ๑๒ วาก่อนแล ถัดนั้นมาปีเปิกสง้า (ปีมะเมีย) เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ วันพุธไทย ร้วงเหม้า ฤกษ์ ๒๖ ยาม พาดรุ่ง ๒ นาที จึงจักซ้ำก่อเล่า ก็แล้วบริมวลในปีกัดเม็ด (ปีมะแม) เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ วันพฤหัสบดีไทย เบีกสัน ฤกษ์ ๑๕ ตัว ยามตูดจว้ายแลมหาธาตุกว้าง ๑๒ วา เสี้ยงดินและอิฐล้านสามแสนสามพันแปดร้อยเจ็ดสิบสี่ก้อน เสี้ยงปูนติ้วตื้อ ๗ ล้าน ๙ แสนหมื่น ค่าปูน ๓ พัน ๘ ร้อย ๖ บาท เฟื้องเสี้ยว เงินค่าดินจี่ (อิฐเผา) หมื่น ๓ พัน ๔ บาท เงินซื้อน้ำอ้อยเลี้ยง ๕ พัน ๓ ร้อย ๓ บาท บาท เงินซื้อหนัง ๕ ร้อย ๙ บาท  เงินจ้างก่อเสี้ยงพันเงิน เป็นค่าทุกอันกับทั้งจ้างก่อและคำเสี้ยงท๕ หมื่น ๗ พัน ๔ ร้อย ๓๒ บาทเสี้ยงเงิน

เมื่อเจ้าเมืองอ้ายอ่ำเป็นลูกอ้ายเจ้าเมืองหาญแต่ท้องมากินเมืองนคร ได้เอาคำขึ้นมาใส่มหาธาตุเจ้า พัน ๔ ร้อยบาทซีกคำ คำเกือกเสี้ยว ๓ ร้อย ๓ บาทซีกคำ แลเมื่อเจ้าอ้ายอ่ำจักตายสั่งไว้ให้เอาเสนาหาญผู้ดีแห่งท่านผู้หนึ่งชื่อว่า หาญศรีทัตให้มากินเมืองแทน วันนั้นมหาราช เจ้าแผ่นดินชียงใหม่หลานพระยาลกคำ เจ้ายอดเชียงรายชื่อแก้วพันตา (พระยาเมืองแก้ว) ก็จึงให้นำเอาเจ้าเมืองหาญศรีทัตแขนเหล็กอันสับนางกายแขนทั้งลายกั้งอันยังอยู่กินเมืองนครลำปางแทนเจ้าเมืองอ้ายอ่ำแล้วก็ได้เอาคำขึ้นใส่มหาธาตุเจ้า ๗ พัน ร้อยบาทซีกเสี้ยว เสี้ยงคำเกือก ๗ พันร้อย ๕ บาทเฟื้อง รวมคำทั้งมวลได้หมื่น ๓ พัน ๒ ร้อย ๖ บาท ซีกเสี้ยวคำ เมื่อเจ้าอ้ายอ่ำเอาคำขึ้นใส่มหาธาตุเจ้าหลังก่อนนั้น พัน ๔ ร้อยบาทซีกคำ ยามนั้นเจ้าเมืองหาญศรีทัตบ่ได้กินเมืองนคร เทื่อท่านก็ได้เอาคำมาใส่มหาธาตุเจ้า พัน ๙ ร้อยบาทเฟื้องทองคำ วันนั้นแลเมื่อก่อมหาธาตุแล้ว เจ้าเมืองหาญศรีทัตก็เอาคำขึ้นใส่ ๕ พัน ๘ ร้อย ปลายเสี้ยวคำเล่าแล

ถัดปีนั้นล้วงเล้า (ปีระกา) เดือน ๓ ออก ๙ ค่ำ วันศุกร์ไทยเบีกสง้า ฤกษ์ ๑๗ ตัว หล่อพระล้านทองยามกันรุ่งและคำพอกพระล้านทองเจ้า ๓ สิบ ๒ คำ ร้อย ๖ สิบ ๒ เงินไถ่ข้าไว้กับ ๖ ครัว ค่า ๒ ร้อย ๖ สิบ ๗ เงิน ไว้นากับพระเจ้าล้านทอง ๒๐ ข้าว และคำปรารถนาเมืองนครให้ได้เถิงสุขในเมืองฟ้าเมืองคน แล้วให้ได้เป็นพระอรหันต์องค์วิเศษในสำนักพระอริยะเมตไตยเจ้าอนาคตจักมาภายหน้าแล สัปปุริสะเจ้าจงอนุโมทนาด้วยทุกผู้ทุกคน

ถัดนั้นมา ส่วนเจ้าเมืองหาญศรีทัตก็ให้หล่อพระทองเจ้าองค์หนึ่งน้ำหนักได้ ๓ หมื่นทอง แล้วก็นำแต่เวียงลำปางมาไว้วัดลำปางในวิหารด้านเหนือแล วิหารด้านตะวันตกไว้พระศิลาเจ้าอันพระยาละโว้พ่อนางจามเทวีให้มาไว้เป็นที่ไหว้แก่อนันตยผู้เป็นหลานตน อันอยู่กินเมืองนั้นแล พระพุทธเจ้าองค์หลวงอันอยู่ในวิหารด้านใต้ก็หากมีแต่ก่อนมาแล เจ้าเมืองหาญศรีทัตก่อมหาธาตุเจ้ากว้าง ๑๒ วา สูง ๒๑ วา และเมื่อลูนมานี้ ภายหลังพระราชครูเจ้าทำเอาฉัตรคำมาใส่ยอดมหาธาตุเสียในปีเบีกเสด (ปีจอ) นั้นยือแกนเหล็ก (ยืดแกนเหล็ก) ขึ้นแถม ๑ แล เมื่อลูนมานี้แผ่นดินไหวยอดมหาธาตุเจ้าในปีกดสัน (ปีวอก) มหาสังฆราชเจ้าอภัยะทิฐะเมธังคละเจ้า และมหาสังฆราชวิจิตรญาณเมตตาเจ้ายังบาระกาเป็นประธาน จึงจักยื้อแกนเหล็กขึ้นแถมอีก ๑ เล่า ที่นั้นพระมหาธาตุเจ้าสูง ๒๒ วา กับ ๑ อกแล

จุลศักราช ๙๖๔ พ.ศ. ๒๑๔๕ ตัว ปีขาลกัมโพชชะศรัยไทยภาษาว่าปีเต่ายี ในเหมันตฤดู มิคคะสิลมาสปุณณะมี ไทยภาษว่าเดือน ๓ เป็นเมงวัน ๕ ไทยก่าเหน้า จันทรเสด็จเข้าใกล้ นักขัตฤกษ์ ๒ ตัว ในเมษรวายษีอตีตะศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๑๔๕ วรรษา และปลาย ๗ เดือนในวันนี้ อนาคตะวรศาสนาอันจักมาภายหน้าบ่น้อย ๒๘๔๕ วรรษา ปลาย ๕ เดือน แต่วันนี้ไปแล มหาอุปราชพระยาหลวงนครชัยบุรี มีราชศรัทธาในพระมหาธาตุเจ้าชักชวนพระสังฆะเจ้าและเสนาอำมาตย์ เจ้าขุน นักบุญทั้งหลาย มีคำแสนกำมาบูชาพระมหาธาตุเจ้ากับได้สร้างฉัตรมาใส่ยอดพระมหาธาตุเจ้า มีพระมหาสมเด็จวรัตนมังคละลัมภะกัปปะรามาธิปติกับพระมหาสังฆราชาวัดหลวง และมหาสังฆะโมคคลีเชียงยืน เป็นประธานให้แล้วบริบรูณ์ ภายนอกมีมหาอุปปาสกแสนมหาธาตุเป็นอุปถัมภ์ให้แล้วสหบุญญะการีทั้งหลายมวลจงอนุโมทนาเต๊อะ ในเมื่อลูนมานี้เล่าบ้านเมืองเป็นโกลาหละ ข้าศึกทั้งหลายได้มาม้างเทลำเวียงทองพระมหาธาตุเจ้าเสียเสี้ยง มีมหาาราชครูศรีกลางนคร สมเด็จรัตนะมังคละเจ้าลำปาง พร้อมกับพระสังฆะเจ้าและสหบุญญะการีจึงสร้างแปงตั้งใหม่แลลำเวียงทั้งมวล ๔ ร้อยสิบ ๒ เล่ม  

จุลศักราชได้ ๑๐๘๒ พ.ศ. ๒๒๖๓ ตัว ปีกุล ไทยภาษาว่าปีกัดไก๊เข้ามาในเหมันตา กิตติกามาศฤกษณะปักษะสัตตะมิคุลุทินนะวาระ ไถงไทยภาษาว่าเดือนยี่แรม ๗ ค่ำ พ่ำว่าได้วัน ๕ (วันพฤหัสบดี) ไทยกดยียามเตี่ยงวัน ภายในมีมหาวนะวาสีอรัญญศีลา (วัดไหล่หิน) และพระมหาพละปัญโยลำปางกับปาทิปติและพระหลวงเจ้าป่าตัน และสังฆะเจ้าทั้งมวล ภายนอกมีแสนหนังสือหลวงนคร พ่อเมืองทั้งมวลและขุนวัดทั้งมวลผู้เฒ่าผู้แก่ทุกใหญ่น้อยนารีหญิงชายได้พร้อมกันให้ชาวบ้านป่าตันทั้งมวลมีหมื่นมโนและนายบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ได้พร้อมกันหล่อลำตองขึ้นใส่ยอดพระมหาธาตุเจ้านั้น จันทรจรณะเที่ยวเทียมเสมียงม่อสับเพราะหน้าล่อนักขัตฤกษ์ ตัวถ้วน ๑๕ ชื่อมิคคะสิระ ปรากฏในเมถุนราษ์ อตีตะศาสนากาลล่วงหน้าแล้วได้ ๒๒๖๓ พระวรรษา ปลาย ๗ เดือน ยิ่ง ๒๕ วัน อนาคตะวรศาสนายังภายหน้าบ่น้อย ๒๗๓๗ พระวรรษา ปลาย ๔ เดือน อีก ๗ วัน ตั้งแต่วันผูก ก็ถูกโบราณาจารย์ตราว่าไว้ได้ ๕๐๐๐ พระวรรษา เสร็จแล้วศรัทธาทายกะทั้งหลายทุกใหญ่น้อยหญิงชาย จงโมทนาทุกคนแด่

นะมะสัตถะ ศรีสวัสดีกรรมกรณะมหาชินาธาตุงสุวรรณะสัตตานุสัตตะ ปริมารตนะเสตะอุปปะลิฏิฐิตาปัญจะปมานา ปฏิมังขารณะลังคละวุฒฑิกา จุลศักราชได้ ๑๑๙๔ ตัว มะโรงฉนำกัมโพชะขอมภิศรัยเสด็จเข้ามาในฤดูเหมันตะมาสศุกรปักขะสุสยะสัตฐมีคุรุวารไถงไทยภาษาว่า ปีเต่าสีเดือน ๔ ออก ๖ ค่ำ พร่ำว่าได้พฤหัสบดี ไทยเบีกยี นาฑีติถี ๔๘ ตัว นาฑีฤกษ์ ๓๕ พระจันทรวรณะยุโยกโศรกเสด็จขอเข้าใกล้เทียมเสมียงม่อเฉพาะอว่ายหน้าล่อพระนักขัตฤกษ์ตัวถ้วน ๒๒ ชื่อว่าศราวรรณะเทวดาสถิตอยู่ในมกรปัตถวีราษี อะตีตะวรชินะศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๓๗๕ พระวรรษา ปลาย ๘ เดือน ปลาย ๒๐ วัน นับแต่วันนี้คืนหลังอนาคตะวรพุทธศาสนา อันจักต่อมาภายหน้าบ่น้อยมี ๒๖๒๓ พระวรรษา ปลาย ๔ เดือน ปลาย ๑๐ วัน ทั้งวันพูกก็ถูกโบราณะศาสนะฎีกาบาลีสังเณฐะเหตุนั้น ปัฐมะมหามูละศรัทธาภายในและภายนอก ภายในหมายมีมหาสวาธุเจ้าสังฆะราชาเป็นเค้าแล พระอริยะสังฆะเจ้าทุกวัดวาอาราม

หนภายนอกเล่าหมายมีพระองค์เจ้าสุวรรณะหอคำเขลางค์ลัมภะกะบุรีราชธานีหัวเมืองแก้ว เจ้าพระยาชัยสงคราม เจ้าพระยาราชบุตรวราชกัณณิตฐาทุกตน และเจ้าพระยาศรีสุริยะวงษาจางวาง อันป็นวรราชปิตุฉาติดกับด้วยราชเทวีผู้เค้า ลำดับต่อเท้าผู้เป็นปลาย ราชบุตรา บุตรีทุกตน และท้าวพญาเสนาอำมาตย์ไพร่ราษฏร์ประชาทุกผู้ทุกคน มาล่ำเปิวเล็งหันยังพระมหาชินะธาตุเจ้า อันมหาวาตะลมใหญ่มาพัดตียังฉัตรและยอดแล้วตกลง เหตุนั้นจึงจักได้สมัคคะพร้อมเพรียงกับด้วยกัน แต่งยังราชะทูตตาคนใช้ล่องลงไปกราทูลฉลองไหว้สาถึงสมเด็จเอกะราชะพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีอยุทธิยาทวาราวดีฝ่ายใต้ แผ่พระกุศลตามนัยยะเหตุทั้งมวล

สมเด็จเอกะราชะพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีอยุทธิยาฝ่ายใต้มีพระหฤทัยยินดีปีติมากนัก จึงพระราชทานแก้วและทองดี คำปลิวโชตะกะถัมภะกะขึ้นมา จึงมาฉันทะพร้อมเพรียงกันริร่างสร้างแปง เลิกยังฉัตรใบปะฐะมะขึ้นแถมใหม่ ใหญ่รอบ ๙ กำ ๔ นิ้ว ใหญ่กว่าของเก่า ๔ นิ้ว ใบชั้นถ้วนทุติยะใหญ่รอบ ๗ กำ ๔ นิ้ว ใหญ่กว่าของเก่า ๔ นิ้ว ฉัตรอันเป็นของเก่าแต่โบราณมี ๕ ชั้น ซ้ำได้สร้างแปงฉัตรอันแล้วด้วยรัชชฏะขาขาอิฐดีใบ ๑ ได้น้ำหนัก ๗๕๓ ใหญ่รอบ ๒  กำ  ๒ นิ้ว ใบ ๑ แล้วด้วยสุวรรณะทองดีหนัก ๒๕๐ ใหญ่รอบ ๓ กำ ๒ นิ้ว ต่อปลายแกนเหล็กขึ้นแถมใหม่ ๒ ศอก ๑ คืบ ลูกหมากชมภูถ่ายให้แล้วด้วยรัชชะฏะหนัก ๔๕๐ ใหญ่ ๒ กำ ๓ นิ้ว สุวรรณทองดีห่อหุ้มปลายบนหนัก ๔๑ กรอง สุวรรณทองดีกาบบัวตุ้มแก้วยอด แก้วยอดฉัตรหนัก ๔๐๓ นับเข้าทั้งใบไรและยอดรวมสุวรรณะได้น้ำหนักสรรพทั้งมวล ๘๐๐ รัชชฏะหนัก ๑๑๐๐ เข้าด้วยกัน ฉัตร ๒ ใบ และรวมคำปลิวเสี้ยง ๑๘๙๑๒ แผ่น พระองค์เจ้าหอคำขึ้นเสวยราชย์บ้านเมืองนานได้ ๖ ปี แล้วตำนานเถิงหล้างจักได้สร้างแถมใหม่ให้ศาสนาก้านกุ้ง (เจริญ) รุ่งเรืองประเทืองบานงาม ให้เป็นถาวระวิบูละไว้ให้เป็นที่ไหว้และบูชาแก่คนและเทวดาตราบ ๕๐๐๐ พระวรษาแท้ดีหลี ด้วยนสันทะผละนาบุญทั้งหลายอันได้เลิกยกยอต่อพระมหาชินาธาตุเจ้าแกนฉัตรและยอดฉัตรขึ้นแถมอีก ๒ ชั้น ฝูงนี้คนข้าอันเป็นอิศราธิปฏิบ้านเมือง ขอตั้งคำปณิธานปรารถนาเป็นพระอรหันตาคนหนึ่ง ในสำนักพระอริยะเมตไตยเจ้าจะเกิดมาภายหน้านั้นแท้ อย่าคลาดอย่าคลาเที่ยงแท้ดีหลีเต๊อะ ผู้ข้านามะบัญญัติชื่อว่า พระภิกขัยภิกขุลิขิตตะอุตส่าห์แต้มเขียน เพื่อให้แล้วคำบุพพเจตนาแห่งมหาราชะหลวงเจ้าดีหลี นิพานะปัจจโยโหตุ โวนิจจังธุวังธุวัง

งานประเพณี
มีงานประเพณีประจำปีๆ ละ ๒ ครั้ง คือ เดือนยี่เป็ง เป็นประเพณีนมัสการพระบรมธาตุ วันปากปี ๑๖ เมษายน เป็นประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ พระแก้วมรกต เดือน ๖ เหนือเป็ง เป็นประเพณีนมัสการพระพุทธบาท ประเพณีของวัดพระธาตุลำปางหลวงนี้ เจ้าผู้คองนครตั้งครั้งโบราณกาล




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:40 โดย pimnuttapa


DSC06602.jpg

เดี๋ยวเรามากราบนมัสการพระบรมธาตุ วัดพระธาตุลำปางหลวง พร้อมกันเลยนะคะ

  (กล่าวนะโม ๓ จบ) ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จีรัง ปติฏฐา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิธัยยา นะมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระ กัสสะปะ นะลาตะ ธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร กะนะ ธาตุง ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง นะระเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อม บูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม  และพระอริยสงฆ์ ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพานแม้ต้องเกิดในทิพย์จุติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร ห่างไกลจากพาล มีโอกาสฟังธรรมประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ ตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ กรรมใดๆที่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายในอดีตชาติก็ตามปัจจุบันชาติก็ตาม กราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ขออุทิศกุศลผลบุญให้แต่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ  พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้นจงมีแต่ความสุขฯ ทั่วกันทุกท่านเทอญ




Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2010-12-23 06:41 โดย pimnuttapa

  
DSC06491.jpg
DSC06499.jpg
DSC06461.jpg

หอยอ ประดิษฐานพระพุทธรูป อยู่รอบ สัตติบัญชร (รั้วหอก) พระบรมธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ค่ะ



‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-6 17:57 , Processed in 0.083865 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.