- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-22
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2025-1-21
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 5079
- สำคัญ
- 4
- UID
- 13
|
| | | |
ประวัติวัดพระเจ้าโท้
วัดพระเจ้าโท้เมืองฮอด แต่เดิมชื่อว่า วัดพระธาตุเจดีย์สูง สร้างราว พ.ศ.๑๒๐๓ โดยพระแม่เจ้าจามเทวีได้ยาตราทัพจากละโว้ขึ้นมาทางชลมารคแม่น้ำปิง เมื่อบรรลุถึงที่แห่งนี้ได้รับสั่งให้หยุดสร้างวัดเจดีย์และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศส่วนกุศลแก่ไพร่พลที่เสียชีวิต ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเจ้าโท้”
พระเจ้าโท้ ซึ่งเป็นศัพท์ที่ชาวล้านนาเรียกขานกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า โท้ สันนิษฐานว่าเป็นพระอุทานแห่งพระนางเจ้าจามเทวีว่า พุทธโธ้ โท้หรือโต้ แปลว่า ใหญ่โต และขนาดองค์พระพร้อมฐาน มีความสูง ๑๕ เมตร กว้าง ๗ เมตร ลักษณะปางมารวิชัย ศิลปะร่วมสมัยประยุกต์ด้วยอิทธิพลของลพบุรีและเชียงแสน จึงเป็นที่เรียกขนานนามกันมาว่า พระเจ้าโท้
หลวงพ่อพระเจ้าโท้ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิศดาน (เมืองฮอด) มาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามตำนานจามเทวีวงค์ กล่าวไว้ว่า พระนางเจ้าจามเทวีทรงสร้างในปี พ.ศ.๑๒๐๐ ซึ่งในขณะนั้น พระนางเจ้าจามเทวีได้เสด็จมาทางชลมาศ (เรือ) พร้อมด้วยพระมหาเถระที่ทรงปิฎกจำนวน ๕๐๐ รูป, ชีปะขาวผู้ถือเบญจศีล ๕๐๐ คน, ช่างเงิน ๕๐๐ คน, ช่างทอง ๕๐๐ คน ซึ่งช่วงเวลานั้นการปกครอง โดยทั้งนั้น ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน และช่างหลวง, ช่างราชอย่างละ ๕๐๐ คน, พ่อเวียก ๕๐๐ คน พร้อมด้วยข้าราชบริพารตามเสด็จดังกล่าว เพื่อจักไปกินเมือง (ครองเมือง) หริภุญชัย (เมืองลำพูนในปัจจุบัน) เมืองหลวงแห่งอาณาจักรในระหว่างการเสด็จนั้น เหล่าข้าราชบริพารทั้งหลายได้ล้มตายเป็นอันมาก เป็นเหตุให้พระนางเจ้าจามเทวีทรงโทรมนัสเป็นอย่างยิ่ง
พระนางเจ้าจามเทวีทรงมีพระดำริให้บำเพ็ญพระราชกุศลแด่ข้าราชบริพารเหล่านั้น จึงได้มีพระราชเสาวนีย์ตรัสปรึกษากับพญาแขนเหล็ก พญาบ่เพ็ก, พญาแสนโท พร้อมกับเสนาอำมาตย์และราชครูทั้งหลาย ว่าเราควรจักหยั้งขบวนเสด็จนะที่นี้ เพื่อจักทำการกุศลเพื่อจักได้สร้างเมืองบริเวณนี้ (วัดพระเจ้าโท้เมืองฮอดในปัจจุบัน) เป็นเมืองหน้าด่านขึ้นทางทิศใต้แห่งอาณาจักรหริภุญชัย รวมทั้งได้ก่อสร้างพระธาตุเจ้าเจดีย์องค์สารูปต่างๆ รวมถึงองค์สารูปพระพุทธเจ้าโท้ประดิษฐ์สถาน ณ.เมืองหน้าด่าน ซึ่งพระนางเจ้าจามเทวีได้พระราชทานนามเมืองไว้ว่า “พิสดารนคร” (เมืองฮอดในปัจจุบัน)
พร้อมกันนั้นพระนางเจ้าจามเทวีได้ทรงเนกขัมปารมี เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่เหล่าข้าราชบริพาร โดยเสด็จมานะคราวนั้นถ้วนไตรมาส หลังจากนั้นพระนางเจ้าจามเทวีได้มีพระเสาวนีย์โปรดแต่งตั้งให้พญาแสนโทเสวกามาตย์, พญาแขนเหล็ก, พญาบ่เพ็ก ซึ่งเป็นนามแห่งพระเจ้าองค์หลวงสะหรีคู่เมืองพิศดารนครปกครองเมืองหน้าด่านพิศดารนครนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งอาณาจักรหริภุญชัยล้มสลายได้ตกเป็นเมืองขึ้นแห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นพิศดารนครนับได้ว่าเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในด้านการค้าขายทางน้ำในขณะนั้นและเป็นหัวเมือง ๑ ใน ๕ หัวเมืองใหญ่หน้าด่านแห่งอาณาจักรล้านนา
ราวปี พ.ศ.๒๑๑๐ พม่าได้ยกทัพผ่านมาและได้เจาะหลังพระเจ้าโท้และเอาหัวใจพระซึ่งคาดว่าเป็นทองคำไปด้วย ภายหลังพิศดารนครถึงการล้มสลายด้วยการโจมตีของพม่าเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ต้องประสบความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก สาเหตุอันเนื่องมาจากอิทธิพลในการโจมตีของพม่าในขณะนั้น พิศดารนครที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่ก่อน จึงได้ถูกเปลี่ยนขนานนามว่า ‘เมืองหอด’ ซึ่งแปลว่า แห้งแล้ง, โหย, อ่อนล้า, อับจน เพราะในขณะนั้นหลังเสร็จสิ้นจากการโจมตีของพม่า ทำให้ประชาชนอดอยากและประสบภาวะโรคภัยต่างๆ จึงเกิดล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่พื้นที่ภูมิลำเนาของชาวบ้านในเมืองหอด ให้มีความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์และมีความโดนเด่นทางด้านการเกษตร เพราะสภาพภูมิลำเนาติดกับลำน้ำแม่ปิงจึงมีความสะดวกทางด้านกสิกรรม เมื่อมีความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์แล้ว "เมืองหอด" แต่เดิมที่ชาวบ้านเรียกขาน ได้ถูกเปลี่ยนแปลงและขนานนามเรียกว่า “เมืองฮอด” ซึ่งแปลว่าความสำเร็จ, ลุล่วง ถึงจุดหมายปลายทาง เป็นที่ขนานนามเรียกว่า “เมืองฮอด” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๕๐๕ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ (ระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๐-๒๕๐๕ ที่ว่าการอำเภอฮอดตั้งอยู่บริเวณนี้)
ครั้นลุล่วงมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทางราชการได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองฮอด (เมืองพิศดารนครในอดีต) อพยพออกไปอยู่ที่ทางราชการจัดไว้ให้ ณ อำเภอจอมทอง ซึ่งสภาพภูมิลำเนาในเขตพื้นที่เมืองฮอดในขณะนั้นจัดเป็นเขตพื้นที่น้ำท่วม ตามที่ทางราชการมีหนังสือแจ้งมาให้ทราบโดยทั่วกัน สาเหตุอันเนื่องมาจากโครงการก่อสร้างเขื่อนยันฮี (เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก) ขึ้นในสมัยนั้นจึงทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ ประมาณ ๕ เดือน จึงทำให้วัดทุกวัดรวมถึงวัดพระเจ้าโท้เมืองฮอดที่ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองพิศดารนครกลายเป็นวัดร้าง
จนมาถึงในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยการนำของท่านดร.อำนวย ยศสุข ร่วมกับกำนันสงบ กันทะแก้ว พร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวบ้านในอำเภอฮอด ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาบูรณะปฎิสังขรณ์วัดพระเจ้าโท้เมืองฮอดที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างมานาน พร้อมกันนั้นได้ร่วมใจกันสร้างวิหารครอบองค์หลวงพ่อพระเจ้าโท้ และสร้างอนุสาวรีย์องค์พระนางเจ้าจามเทวี ไว้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๐ พณฯ ท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้บริจาคทุนทรัพย์ในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๑ หลัง เพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์และได้อาราธนานิมนต์พระครูจันทสารวิมล เจ้าคณะตำบลหางดงมารักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นรูปที่ ๑
จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๓๕ พระบุญรัตน์ ธมฺมทินโน ได้รับอาราธนานิมนต์มารักษาการแทนเจ้าอาวาสต่อเป็นรูปที่ ๒
มาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์ศุภกิตติ์ สุทฺธิญาโน (ครูบาเจ้าบุญต้อม ชัยลังกา) มารักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นรูปที่ ๓
จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับอาราธนานิมนต์ พระคงศักดิ์ สุภทฺโท (ชัยลังกา) มารักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นรูปที่ ๔ จนมาถึงปัจจุบัน
| | | | |
|
|