- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-22
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2024-7-16
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 5082
- สำคัญ
- 4
- UID
- 13
|
| | | |
ประวัติวัดพระธาตุห้าดวง
ในสมัยก่อนพุทธกาล เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “พระสมณโคดม” ยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เป็นเวลา ๔ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป
พระองค์ได้เกิดมาเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง เพื่อสร้างสมบารมีและปรารถนาที่จะตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในพระชาติต่างๆ นั้น พระองค์ก็ใช้ความวิริยะ อุตสาหะ ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อให้เข้าถึงซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ครั้งหนึ่ง พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นวัวกระทิงป่า ทรงมีพระนามว่า “อุศุภราช” ก่อนที่พระโคอุศุภราชจะกำเนิดขึ้นนั้น (ขณะอยู่ในครรภ์ของพระโคมารดา) พระโคมารดากำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ ได้พาฝูงวัวกระทิงป่าอพยพจากอโยธยามุ่งหน้าออกหากินไปยังที่ต่างๆ
เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง มีหญ้าอ่อนที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยไหลผ่าน จึงได้พาฝูงพักอาศัยอยู่บริเวณนั้น (ปัจจุบันคือ บริเวณวัดพระธาตุจอมสวรรค์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งพระครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ไปสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย)
เมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร หญ้าอ่อนและอาหารใกล้จะหมดลง พิจารณาแล้วเห็นควรที่จะพาฝูงวัวกระทิงป่าทั้งหมดอพยพย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ และครรภ์ของพระโคมารดาเริ่มแก่ใกล้ที่จะให้กำเนิดแล้ว จึงได้พาฝูงออกเดินทาง
และได้ไปถึงยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เหมาะสมที่จะให้กำเนิดพระโคน้อย มีหมู่พฤกษาหอมตลบอบอวล ต้นไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น น้ำในลำห้วยใสสะอาด มีหญ้าอ่อนอุดมสมบูรณ์ จึงได้หยุดพักอาศัยในสถานที่แห่งนี้ (บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “ดอยอุศุภราช” หรือ วัดพระธาตุห้าดวงในปัจจุบัน) ซึ่งพระโคมารดาได้ให้กำเนิดพระโคอุศุภราช ณ บริเวณใต้ต้นดอกบุนนาค ภายในวัดพระธาตุห้าดวงแห่งนี้
จวบจนเข้าสู่สมัยพุทธกาล หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ได้เสด็จจาริกไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระสัจธรรมที่พระองค์ได้รู้ได้เห็นแล้วแก่เหล่าเวไนยสัตว์ คราวหนึ่ง พระองค์ได้เสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์และพระสาวกอีกเป็นจำนวนมาก พระองค์ได้ประทับนั่งที่ใต้ต้นดอกบุนนาคต้นเดิม (ต้นเดียวกันกับที่พระโคมารดาได้ให้กำเนิดพระโคน้อย)
ในสมัยนั้นดอยอุศุภราช เป็นสถานที่อาศัยของชาวลัวะ เมื่อพญาลัวะหรือเจ้าเมืองลัวะทราบว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา จึงได้พากันเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้นำภัตตาหารมาถวาย เมื่อพระองค์ได้ทำภัตกิจ กล่าวคือ ได้ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดพญาลัวะและชาวลัวะที่มาเข้าเฝ้า
พระองค์ได้ทรงเล่าถึงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ ตั้งแต่สมัยที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพระโคอุศุภราช และได้ไปละสังขารลง ณ หนองวัวเฒ่า (ปัจจุบันคือ สถานที่ตั้งของพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) เมื่อพระองค์ทรงเล่าจบ พญาลัวะได้ทูลขอสิ่งสักการบูชา เพื่อเป็นเครื่องระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ และเอาไว้ให้ผู้คนที่เดินทางมา ณ สถานที่นี้ได้กราบไหว้บูชา
พระองค์จึงมีรับสั่งให้พญาลัวะยกขันน้ำทองขึ้นล้างพระหัตถ์ เมื่อพระองค์ยกพระหัตถ์ขึ้นเหนือขันน้ำ น้ำที่ไหลผ่านลงมาถึงปลายนิ้วมือทั้งห้าของพระองค์ ได้ปรากฏเป็นดวงแก้วห้าดวง ส่องแสงสว่างไปทั่วบริเวณนั้น ดวงแก้วทั้งห้าก็คือ “พระเมโตธาตุ” หรือ “พระธาตุน้ำไคลมือ” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประทานไว้ให้กับพญาลัวะและชาวลัวะในสมัยนั้น
ดวงแก้วทั้งห้าลอยให้เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ พระอินทร์จึงเนรมิตโกศทองคำมารองรับไว้ และนำไปฝังไว้ในดินลึก ๖๐ ศอก แต่งยนต์ฟันไว้ทั้ง ๔ ทิศ (คำว่า “ยนต์ฟัน” หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบอกว่าหมายถึง ค่ายกลที่ทำขึ้นเพื่อรักษาพระธาตุ) พญาลัวะจึงได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นกองสูงขึ้นเหนือพื้นดิน เพื่อให้รู้ว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฝังอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และได้นำพาชาวลัวะทำการสักการะด้วยดอกไม้อยู่เป็นนิจ
เมื่อมาถึงสมัยของพระนางจามเทวี กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย ได้ทราบข่าวจากราษฎรเมืองลี้หรือเมืองลับลี้ในสมัยนั้นว่า มีดวงแก้วห้าดวงปรากฏลอยให้ราษฎรเห็นอยู่บ่อยครั้ง พระนางจามเทวีจึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จมาถึงยังดอยอุศุภราช ในเวลาค่ำหลังจากที่สวดมนต์เจริญภาวนาเสร็จ พระนางก็ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้งห้าลอยปรากฏขึ้น
พอรุ่งเช้า จึงได้เสด็จไปดูสถานที่ดวงแก้วปรากฏด้วยพระองค์เอง ก็จึงพบกองดินทั้งห้ากอง ทราบว่าเป็นพระเมโตธาตุของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนางจึงเกิดความศรัทธา ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้งห้ากองเอาไว้ เมื่อสร้างเสร็จได้ทรงทำการสมโภช เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน และได้เสด็จมาสักการบูชาเป็นประจำทุกปี
เมื่อเวลาผ่านพ้นไป พระธาตุเจดีย์ทั้งห้าองค์ก็ได้ทรุดโทรมลงไป เพราะขาดคนดูแลรักษา ถูกปล่อยให้รกร้าง ในระหว่างปีพุทธศักราช ๕๐๐-๗๐๐ ราษฎรในแคว้นโยนกถูกชาวจีนฮ่อกดขี่ข่มเหงทำสงคราม พระนางจามรีเทวี ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง ถูกพวกจีนฮ่อตีเมืองแตก จึงได้ล่าถอยออกมาหลบภัย โดยเสี่ยงสัจจะอธิษฐานให้ช้าง “พลายสุวรรณหัตถี” นำทางมาหาสถานที่สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่
พญาช้างจึงนำพาพระนางจามรีเทวี ผ่านเมืองฝาง “จัมปีระนคร” (ปัจจุบันคือ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) ไปทางอำเภอจอมทอง ล่องไปทางอำเภอดอยหล่อ ข้ามแม่น้ำลี้มาทางอำเภอทุ่งหัวช้าง จนกระทั่งพญาช้างได้นำพาพระนางจามรีเทวีมาถึงดอยอุศุภราช บริเวณนั้นมีจอมปลวกใหญ่จอมหนึ่ง (บางตำนานว่า ก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว) พญาช้างได้แสดงกิริยา ๕ อย่าง คือ
๑. คู้แข้งทำท่าไหว้
๒. ชูงวงเสมือนโปรยข้าวตอก
๓. แผดเสียงสีหนาท ประหนึ่งว่าแสดงความยินดี
๔. ก้มหัวน้อมลงดินแสดงอาการสักการะ
๕. ลุกขึ้นเดินเวียนรอบๆ ๓ รอบ เสมือนเป็นการประทักษิณ
หลังจากที่พญาช้างได้แสดงกิริยาทั้ง ๕ อย่างแล้ว จึงได้เดินออกไปรอบๆ บริเวณนั้น พระนางจามรีเทวีจึงสั่งให้เสนาอำมาตย์ รวมทั้งข้าราชบริพารตามพญาช้างไป เพื่อกำหนดเขตการสร้างบ้านเมืองจนเสร็จ
พญาช้างได้วิ่งเตลิดแผดเสียงสีหนาทมาทางพระธาตุเจดีย์ทั้งห้าองค์ และได้ขาดใจตาย ณ บริเวณด้านข้างวิหารด้านทิศใต้ของวัดพระธาตุห้าดวงในปัจจุบัน พระนางจามรีจึงได้ทำพิธีปลงศพพญาช้าง และได้เริ่มก่อสร้างบ้านเมือง แผ้วถางบริเวณที่ได้กำหนดเขตไว้ให้สะอาด ขุดดินทำคูน้ำ ทำกำแพงดิน ทำกำแพงไม้ไผ่กั้นรอบๆ เมืองอย่างแน่นหนา
พระนางจามรีเทวีได้สร้างองค์พระธาตุดวงเดียวครอบจอมปลวกใหญ่ พร้อมกับสร้างวิหารไว้ในเวียงวังของพระนาง (ด้วยเหตุนี้ วัดพระธาตุดวงเดียวจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพระธาตุกลางเวียง ซึ่งเป็นวัดแรกของอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) และพระนางได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุเจดีย์ห้าดวงขึ้นอีกครั้ง (ด้วยเหตุนี้ วัดพระธาตุห้าดวงจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เวียงเจดีย์ห้าหลัง)
ในยุคสมัยของพระนางจามรีเทวี บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ประชาชนได้ทำการค้าขายภายในเมือง ราษฎรชาวเมืองมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุข มีความสุขดี พระนางจามรีเทวีได้เอาใจใส่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และทรงสร้างวัดวาอารามหลายวัดด้วยกัน จนกระทั่งยุคสมัยของพระนางได้สิ้นสุดลง
ต่อมาถึงยุคสมัยพระเจ้านิ้วมืองาม เป็นเจ้าเมืองลี้ ได้เสียเมืองให้กับเจ้าเมืองสุโขทัย เมืองลี้หรือเมืองลับลี้จึงถูกทำลายด้วยภัยสงคราม ผู้คนถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองบางส่วนถูกจับไปเป็นเชลยศึก บางส่วนก็ย้ายหนีออกไปอยู่ที่อื่น จึงทำให้เมืองลี้ถูกทิ้งร้างอีกครั้ง รวมทั้งวัดพระธาตุห้าดวงด้วย
เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานพอสมควร ได้มีผู้คนเริ่มอพยพกลับเข้ามาอยู่ในเมืองลี้อีกครั้ง จึงเป็นความหวังที่วัดพระธาตุห้าดวงจะได้รับการดูแลบูรณปฏิสังขรณ์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ พระครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้บูรณะองค์พระธาตุเจดีย์ห้าดวงขึ้น เป็นศิลปะมอญผสมไทยล้านนา
และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ นายสนิท จิตต์วงค์พันธ์ ได้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จึงนิมนต์ พระครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี และพระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา พร้อมทั้งชาวบ้านและชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ มาทำการบูรณะซ่อมแซมและทำความสะอาดบริเวณวัดพระธาตุห้าดวงและวัดพระธาตุดวงเดียวอีกครั้ง และได้ก่อตั้งหมู่บ้านให้ประชาชนเข้ามาอาศัย หลังจากนั้นจึงมีพระภิกษุ สามเณร เข้ามาจำพรรษาที่วัดพระธาตุห้าดวง
ทางคณะสงฆ์ โดยมีเจ้าคณะอำเภอลี้ร่วมกับนายอำเภอลี้ พร้อมทั้งศรัทธาประชาชน จึงได้ทำเรื่องขออนุญาตยกวัดร้างขึ้น โดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๑๘ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๔๙
เมื่อวันที่ ๑-๑๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ พระครูอินทวุฒิคุณ เจ้าคณะอำเภอลี้ พร้อมด้วยคณะสงฆ์อำเภอลี้ และนายอุดม จันตาใหม่ นายอำเภอลี้ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ศรัทธาประชาชนอำเภอลี้ และพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ ร่วมทำบุญบูรณะปิดทององค์พระธาตุห้าดวงจนแล้วเสร็จ
และได้มีเจ้าอาวาสเข้ามารับภาระธุระสืบต่องานทางพระพุทธศาสนาดูแลวัดพระธาตุห้าดวงอีกหลายรูป มาช่วยกันพัฒนาวัดพระธาตุห้าดวง โดยอุปถัมภ์งานด้านการศึกษา งานก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุ งานเผยแผ่ งานสาธารณสงเคราะห์ งานอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และงานอื่นๆ จึงทำให้วัดพระธาตุห้าดวงกลับมามีความเจริญรุ่งเรือง งดงาม มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันวัดพระธาตุห้าดวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านพระธาตุห้าดวง หมู่ที่ ๑๕ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลลี้-ดงดำ เขต ๑ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน คณะสงฆ์ภาค ๗ (เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน) โดยได้รับการกำกับดูแลจากมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บริเวณวัดพระธาตุห้าดวงมีเนื้อที่ ๙๒ ไร่ ๕๑ ตารางวา
หน่วยงาน/องค์กรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัด คือ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุห้าดวง , สถานีวิทยุชุมชนคนเมืองลี้ , สภาวัฒนธรรมอำเภอลี้
ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๗) วัดพระธาตุห้าดวงมี พระมหาโจ กตโจโจ ป.ธ.๗, น.ธ.เอก เป็นเจ้าอาวาส
------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระธาตุห้าดวง ภายในวัดพระธาตุห้าดวง และจิตรกรรมฝาผนังภาพประวัติวัดพระธาตุดวงเดียว ภายในศาลาบาตร วัดพระธาตุดวงเดียว)
วัดพระธาตุห้าดวงมีกิจกรรมและงานบุญประเพณีประจำปี ดังนี้
๑. งานปริวาสกรรม
: ช่วงเวลา วันที่ ๑๐-๒๐ เดือนมกราคม ของทุกปี
๒. งานบรรพชา-อุปสมบท ภาคฤดูร้อน
: ช่วงเวลา เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน ของทุกปี
๓. ประเพณีสรงน้ำองค์พระธาตุห้าดวง
: ช่วงเวลา วันที่ ๒๐ เดือนเมษายน ของทุกปี
๔. งานบุญถวายผ้ากฐิน
: ช่วงเวลา เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
๕. งานอบรม/ปฏิบัติธรรม
: ช่วงเวลา (ไม่กำหนดแน่นอน) อิงตามกำหนดการของหน่วยงานและองค์กรที่ติดต่อมา
๖. วันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา
: ช่วงเวลา ตลอดทั้งปี
------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระธาตุห้าดวง ภายในวัดพระธาตุห้าดวง)
ช่องทางการติดต่อหรือร่วมทำบุญกับวัดพระธาตุห้าดวง ดังนี้
๑. สำนักงาน โทร. ๐๕๓-๕๗๐๒๔๔
๒. พระมหาโจ กตโจโจ (เจ้าอาวาส) โทร. ๐๙๑-๒๔๘๓๗๙๒
๓. Facebook : www.facebook.com/Watfivedoung
------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระธาตุห้าดวง ภายในวัดพระธาตุห้าดวง)
ห้ามผู้หญิงเข้าเขตรอบในพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุห้าดวง
| | | | |
|
|