แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 10331|ตอบ: 32
go

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร อ.หนองแค จ.สระบุรี [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร อ.หนองแค จ.สระบุรี 4 - 7 ธ.ค. 58"

1. ผู้ให้กรรมฐานและสอบอารมณ์ : คุณแม่ชีเกณฑ์ นิลพันธ์ ปัจจุบันท่านเป็นผู้อบรมและสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ท่านมีประสบการณ์อบรมผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งจากวัดร่ำเปิง ตโปทาราม จ.เชียงใหม่ และสถานที่อื่นๆ มากว่า 42 ปี ท่านเปิดกว้างสอนได้ทุกแนวการปฏิบัติ ทั้งมีคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรม และผู้เริ่มต้นใหม่ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

2. การเดินทาง : สวนปฏิบัติธรรมจิตต์ประภัสสร ตั้งอยู่เลขที่ 62 ม.1 ต.ห้วยทราย อ.หนองแค จ.สระบุรี คนละฝั่งกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยทราย ใกล้กับสำนักปฏิบัติแสงธรรมส่องชีวิต สาขา 4 มีเนื่อที่ 1 ไร่ 3 งาน สอบถามการเดินทางได้ที่ คุณแม่ชีสมทรง 0852989594   
ดูแผนที่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้ที่ http://pantip.com/topic/34419110

3.การเตรียมตัว : สามารถเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้ตามวันเวลาที่ตนเองสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมไป คือ เครื่องนอน เต้นท์หรือเต้นท์มุ้ง ชุดขาว หรือเสื้อผ้าสีอ่อน ของใช้ส่วนตัว ยาทากันยุง น้ำปานะชงต่างๆ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

4. อ่านแนวทางการสอนและการสอบอารมณ์ของคุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่... http://pantip.com/topic/34419110/comment29 หรือจาก https://web.facebook.com/%E0%B8% ... 03876685810/?ref=hl

5. สอบถามรายละเอียดและแจ้งชื่อลงทะเบียน : ***เปิดรับผู้ปฏิบัติธรรมเพียง 20 คนเท่านั้น***
แจ้งชื่อลงทะเบียนได้ที่ คุณแม่ชีเกณฑ์ 062-1270465(12call) , 0868540049(dtac) 10.00-22.00 น., หรือเฟสบุค แม่ชีเกณฑ์ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม https://web.facebook.com/profile.php?id=100006281232950&__nodl

Rank: 1

"หนูรู้เท่าทันอารมณ์ หนูเอาจิตตามรู้ หนูไม่กำหนดอะไร ได้ไหมค่ะ"

ได้ แต่ให้เธอรู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไปแล้วเราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าเราพยายามที่จะระงับมัน มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย

ถ้าคิดตาม อันนั้นมันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเป็นกุศลก็คิดเพลิน อยากมีรถให้มันสำเร็จ อยากมีบ้าน อย่างนั้น อย่างนี้ คิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่อกุศล มันก็เป็นกุศลอยู่ เพราะมันไม่ได้ไปอิจฉาใคร ทีนี้ถ้าเราไปหลงกับมัน แปลว่าตามใจกิเลสเรา ตามใจความอยาก แต่เราไม่มีสติคุม มันก็หลงอารมณ์ ก็เพลิดเพลิน อันนั้นก็ไม่ใช่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันคิดหลงไปกับอารมณ์

แต่ถ้าคิดมาก วกวนไปวกวนมา ไม่ได้ดั่งใจเรา มันก็ทุกข์ มันชอบอยากให้เป็นไปตามนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นมันก็ไม่ชอบ มันก็เลยน้อยอก น้อยใจ เสียใจ เศร้าโศกไปก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เลยไม่อยากให้คิดตาม ให้เอาปัจจุบันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ


Rank: 1

"คุณแม่ฝึกผู้ปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทันจิตอย่างไรค่ะ"

ก็ให้เขามีสติก่อนที่จิตจะทำงาน จะคิด จะพูด จะย่าง จะเหยียบ ก็ให้มีสติรู้เสียก่อน ให้สติกับจิตไปพร้อมกัน แม่ก็ให้กำหนดไปตามอาการทั้งที่กายและใจ จะหนอหรือพุทโธแล้วแต่เขา ให้กายที่เคลื่อนไหว จิตที่รับรู้ และคำบริกรรมตรงกัน

คนที่เอาพุทโธ แม่ก็บอกให้มีสติให้รู้เท่าทัน พอบริกรรมว่าพุท จิตจะทำงานก็ให้สติรู้ก่อน พุทโธก็ให้ตรงเหมือนกัน สัมผัสให้รู้เหมือนกัน แต่เขาบริกรรมว่าพุท มีสติรู้ว่าตัวเองยกขาขึ้น จิตรับรู้ว่าเท้ายกขึ้น หน่วงมั้ย หนักมั้ย เวลาเอาขาลง โธก็ให้ถึงพื้น จิตกับสติก็พร้อมกัน

คนที่ไม่มีคำบริกรรม ก็ให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบ ให้รู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไป เราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าพยายามที่จะระงับ มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย ถ้าคิดตาม มันก็ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย

จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล


Rank: 1

"รู้แล้วให้ดับ ให้วาง"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูก็รู้ทันทุกครั้งที่คิด รู้ทันทุกครั้งที่อยาก แต่ทำไมถึงยังหลงอยู่ ยังยึดอยู่ละค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : รู้เท่าทันว่าตัวเองกำลังหลงอะไรก็ต้องวางสิ ตัวเองกำลังยึดอะไรอยู่ แม้แต่ยึดความสุขที่เสพสุขที่ไปสัมผัสนั้นสัมผัสนี้ ก็ต้องวาง ถ้าไม่วางก็ไปเตลิดเปิดเปิง มันทันนะ แล้วปัญญามันทันรึเปล่า มันเห็นทางสว่าง มันเห็นทางนิพพานหรือมันไปหลงโลกีย์ คำว่ารู้เท่าทันจิตมันต่างจากคำว่าทัน

ครูบาอาจารย์ท่านให้รู้เท่าทันจิต ไม่ให้ปรุงแต่ง ให้วาง รู้ดับรู้วาง...รู้เท่าทันจิตแล้ว รู้ให้ดับ ให้เห็นอาการเกิดดับเสียก่อน ใหม่ๆ ก็ต้องฝึกสติให้ทันจิต ให้เห็นอาการเกิดดับ ไม่ใช่ไปต่อกับมัน ที่ยังหลงอยู่อันนั้นรู้แล้วไม่ดับ

เห็นเท่าทันจิตก็คือให้ดับ รู้เท่าทันจิตแล้วให้ดับ ให้วาง ไม่ให้ไปยึด ไม่ให้เอา ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่ให้เอา แล้วพากันไปเอาอยู่ใช่มั้ย เดี๋ยวก็เอาโสดาบัน เดี๋ยวก็เอาสกิทาคา เดี๋ยวก็เอานั้นเอานี้ ถ้ายังเอาอยู่แล้วจะไปได้อะไร นี่เราสอนให้ละให้วาง ถึงจะรู้ว่ามรรคมีองค์ 8 เป็นอย่างนี้เอง

เห็นชอบ เห็นว่าตัวเองกำลังหลงโลกีย์ ตัวเองก็ต้องวาง ถ้าเห็นอยู่ว่าตัวเองหลงอันนี้ แล้วไม่วาง อันนั้นตัวเองเห็นไม่ชอบ เป็นมิจฉาทิฎฐิไม่ใช่เห็นสัมมาทิฎฐิ

เห็นสัมมาทิฎฐิก็คือ เออ อันนี้เราหลงนี่ เราติดดีนี่นา เรามาติดสุขที่เราสัมผัสได้ แปลว่าเรายังพอใจอยู่ นิวรณ์ 5 ไง นิวรณ์ 5 เป็นทางขวางกั้นแก่ผู้ปฏิบัติ ไปหลงติด ชอบใจไม่ชอบใจใช่มั้ย คำว่า...ยินดีในทางดี มันก็ชอบใจทั้งนั้นใช่มั้ย


Rank: 1

"สติที่ดื่น"

การปฏิบัติทุกรูปแบบหรือแม้จะไม่มีรูปแบบ จะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดสติที่ระมัดระวังภัยให้กับเจ้าของ จงเดินจงนั่งในสถานที่ที่ใจระแวงภัย ปลุกสติให้ตื่นอยู่ตลอด พิจารณาทุกย่างก้าว พิจารณาทุกการกระทบ พิจารณาทุกการเคลื่อนไหว พิจารณาทุกเสียงที่ได้ยิน พิจารณาทุกสิ่งที่เข้ามาสัมผัสกาย พิจารณาทุกคำกลืน พิจารณาทุกความรู้สึกที่ใจ

สติคือเข็มทิศ ใจคือผู้พิจารณา สิ่งที่เข้ามาคืออะไร เป็นโทษเป็นภัยกับเจ้าของไหม ทิศที่จะไปปลอดภัยไหม ควรวางหรือควรปัดป้อง พิจารณาจากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งหนึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง หน้าที่ของสติที่ตื่นคือระวังภัยให้กับเจ้าของ ทั้งภัยจากภายนอกและภัยจากข้างใน ภัยจากความปรุงแต่ง ภัยจากความยินดียินร้าย

หัดสติให้ตื่นอยู่ตลอด ให้ระวังภัยอยู่ตลอด ใจที่มีสติที่ตื่นแล้วเป็นผู้นำทาง จักปลอดภัยทั้งภัยจากภายนอกและภัยจากภายใน หน้าที่นี้สำคัญไปจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เพราะเขาคือผู้เตือนภัยและผู้นำทางให้เรา คุณแม่ท่านบอกว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์ได้เมื่อศีลเราบริสุทธิ์หมดจดแล้วจริงๆ ทั้งที่กายและที่ใจ


Rank: 1

"ทำอย่างไรความไม่ชอบใจในตัวเขาจะลดลงได้ และอภัยให้เขาได้"

ฉุกคิดขึ้นมาในใจ ทำไมเราแผ่เมตตาไปให้เขาแล้วไม่ได้ผล ทำไมเขายังมาเป็นนิวรณ์ในใจเรา ทำไมเราวางพฤติกรรมของเขาไม่ได้ ทำไมเราไม่เมตตาเขา เลิกปล่อยให้ใจคิดฟุ้งซ่าน ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่ชอบใจเขาเรื่องนั้นเรื่องนี้

พาตัวเองเข้าทางจงกรม เดินไปเดินมาหกจังหวะช้าๆ ใจมันก็คิดได้ว่าเพราะเรามีความไม่ชอบเขาเป็นทุนเดิมอยู่ในใจ ใจมันจึงขุ่นมัวเมื่อคิดถึงสิ่งที่เขาทำ

ทำอย่างไรหนอเราถึงจะวางเขาได้ ผ่านไปหลายชม. ขณะเดินเก็บผักมาทำกับข้าว คำตอบผุดขึ้นในใจ...ทำไมเราไม่เห็นใจเขาบ้าง เขามีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งยังต้องเลี้ยงสามีและลูกที่ไม่ยอมไปทำมาหากิน ฝนก็ตกหนักเช่นนี้ เขาคงลำบากไม่น้อย เขาไม่ทุกข์ไม่ลำบากกว่าเราหรือ ใช่แล้ว...ความไม่ชอบใจในตัวเขาจะลดลงได้และอภัยเขาได้ เมื่อเราเกิดความเห็นอกเห็นใจเขา

แล้วทำอย่างไร...ความยินดียินร้ายจึงจะหายไปจากใจเราได้ ใช่คุณแม่บอกไว้เราต้องเห็นโทษเห็นภัยมันจริงๆ ใช่บางเรื่องมันขาดอย่างสนิทใจแต่บางเรื่องมันไม่ขาด ความยินร้าย ความไม่ชอบใจ มันยังมีอำนาจเหนือใจเราอยู่ ความเพียรเท่านั้น เราต้องทำสติให้มีกำลังกว่านี้ ให้มันทันกับการปรุงแต่ง และต้องลับปัญญาให้มันกล้าแกร่งและคมกว่านี้ จะได้ตัดมันให้ขาดในทันที


Rank: 1

"รู้ตัวทั่วพร้อม"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ ทำอย่างไรหนูถึงจะรู้ตัวทั่วพร้อม ปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้ว หนังสือก็อ่านมามาก ฟังก็เยอะ แต่ทำยังไงก็รู้ได้เป็นขณะเท่านั้นเอง เดี๋ยวก็เผลอไปอีก ลองมาหลายวิธีแล้ว รู้ตัวทั่วพร้อมเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ลูกต้องกำหนดทุกอิริยาบถย่อยๆ ถี่ยิบ ใจรู้สึกอย่างไรก็ให้รู้ด้วย ไม่ใช่แค่อิริยาบถใหญ่ ๆ ไม่ใช่แค่ทางจงกรม ชม.เดียวมันไม่พอ ขาก้าวไปก็ซ้ายหนอ ขวาหนอ มือหยิบจับก็ หยิบหนอ จับหนอ ปล่อยหนอ ตาเห็นก็เห็นหนอ มันคิดขึ้นมาก็คิดหนอ มันปวดหลังก็ปวดหนอ

ก้มหนอ คู้หนอ เหยียดหนอ เงยหนอ ยืดหนอ หดหนอ งอหนอ ไม่ชอบหนอ ชอบหนอ ดีใจหนอ ง่วงหนอ หิวหนอ บิดหนอ เกาหนอ ถูหนอ ได้ยินหนอ โกรธหนอ กดหนอ อยากหนอ เบื่อหนอ ยกหนอ วางหนอ กำหนดทุกอิริยบถเท่าที่จะกำหนดได้ ถ้าเรียกไม่ถูกก็รู้เฉยๆ หรือ หนอเฉยๆก็ได้

การกำหนดทุกอิริยาบถถี่ยิบทั้งที่กายและใจ เพื่อให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่จะเข้ามาปรุงแต่งจิต กิเลสมันเข้ามาได้ทุกรูขุมขนเลยใช่ไหม สติต้องหนาแน่นถี่ยิบประดุจำกำแพงปูน มันจึงยากที่จะถูกปรุงแต่ง

บางคนบอกว่ามันช้า อาการที่เกิดมันรู้และจบไปตั้งนานแล้ว กำหนดไม่ทัน นั่นเพราะสติเราช้ามันจึงกำหนดไม่ทัน เริ่มแรกก็เป็นอย่างนั้น พอเราชินและชำนาญ ทั้งคำที่กำหนด การรับรู้และอาการจะเป็นปัจจุบันทันกัน

กำหนดทุกอิริยาบถทั้งที่กายและใจ ตั้งแต่เริ่มลืมตาตื่นไปจนถึงเข้านอน แม้หลับฝันไปมันก็รู้ว่ากำลังฝัน มีนิมิตเข้ามาในฝัน มันก็กำหนดรู้หนอๆ ไม่ไหลไม่เผลอไปกับนิมิตนั้น กำหนดให้ชินจนติดเป็นนิสัย ทั้งทางจงกรมและในชีวิตประจำวัน เมื่อชำนาญมันจะทิ้งคำบริกรรมเอง เหลือแค่กาารตามรู้เฉยๆ แต่เป็นการตามรู้อย่างละเอียด

ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียร บางคนทำได้แค่อาทิตย์เดียวก็เบื่อก็เลิก บางคนกำหนดอยู่อย่างนั้นตั้ง 7 เดือน มันลืมไปก็ตั้งใหม่ ลืมมากก็กลายเป็นลืมน้อย จนเป็นไม่เคยเผลอและไม่เคยลืม เมื่อสติถี่รอบ สมาธิตั้งมั่น ก็ต้องพร้อมไปด้วยปัญญาจึงจะตัดกิเลสได้ขาด ไม่ใช่จะเอาแต่สติ อย่าทิ้งการทำสมาธิ และฝึกเจริญปัญญาไปด้วย

....คุณแม่ท่านยินดีสอบอารมณ์และให้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน สนทนาธรรมกับท่านได้ที่ 0861009373(12call) 0868540049( dtac) 4.00-5.30 น., 20.00-22.00 น.


Rank: 1

"สิ่งแรกที่เปลี่ยนตัวเอง"           

เริ่มแรกที่ปฏิบัติกับแม่ชีเกณฑ์ ท่านจะมีคำถามให้เราไปหาคำตอบ จากคำถามของท่านเราเห็นอย่างหนึ่งที่ท่านไม่ได้บอก คำถามของท่านทำให้พฤติกรรมเราเปลี่ยนไป เราจึงรู้ว่าที่ผ่านมาทำไมเราอยากโน่นอยากนี่ โกรธง่าย อะไรกระทบก็ไปตามนั้น เพราะเราส่งใจออกไปข้างนอกและตามไปโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลา หาเหตุมานานแล้วทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมห้ามไม่ได้                             

ท่านถามเรื่องเสียงทำให้เราเห็นว่าเวลาได้ยินเสียงก็ส่งใจไปไว้ที่คนพูด เห็นภาพก็ส่งใจไปไวัที่ของ ได้กลิ่นก็ส่งใจไปไว้ที่กับข้าว เราพยายามฝืนสิ่งที่เคยทำมาตลอดชีวิต เวลาได้ยินเสียงเราเอาใจไว้ที่หูตัวเอง เห็นภาพก็เอาใจไว้แค่ตา ได้กลิ่นก็เอาไว้แค่จมูก ผ่านไปทำเช่นนี้จนชิน เวลาได้ยินคนคุยกันใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เห็นรถบนถนนใจเราก็ยังอยู่ข้างใน เกิดอะไรขึ้นใจเราก็ยังอยู่ข้างใน   นี่คือจุดแรกที่เราเปลี่ยนตัวเองคือการไม่ส่งใจออกไปข้างนอก ท่านบอกว่าเคล็ดลับอยู่ตรงนี้นี่เอง เข้าใจตัวเองเห็นจุดของตัวเอง เอาใจออกไปเกาะทำไม ทำไมไม่ไว้กับตัวเองล่ะ  ทุกข์ก็เพราะอย่างนี้แหละ


Rank: 1

"ของวิเศษอยู่ที่ใจ"              

วันหนึ่งได้ยินคนคุยกันเรื่องศาสนากำลังเสื่อม เรากลับรู้สึกตรงข้าม เรากำลังรู้สึกว่าศาสนาเจริญขึ้นต่างหาก เจริญขึ้นที่ใจของเรา สว่างกระจ่างจ้าอยู่ข้างในนี้ ไม่รู้เลยว่าศาสนาพุทธเข้าไปอยู่ข้างในเสียตั้งแต่ตอนไหน แต่ก่อนนั้นเรารู้สึกว่าศาสนาพุทธอยู่ที่หนังสือ ที่พระ ที่วัด ที่ครูบาอาจารย์ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าศาสนาพุทธได้เกิดขึ้นที่ใจเสียแล้ว เราไม่ต้องการหนังสือและ CD ธรรมะอันใดอีกเพราะทุกอย่างมีครบแล้วที่ใจดวงนี้     

และมีอีกวันที่เห็นความกล้าหาญของตัวเอง วันที่ถอดสิ่งที่ห้อยคอมาตลอด บอกกับแม่ชีเกณฑ์ท่านว่า เราไม่ต้องการสิ่งวิเศษหรือของขลังอันใดอีก เพราะของวิเศษที่สุดที่จะคุ้มครองเราได้อยู่ที่ใจดวงนี้แล้ว ท่านบอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ รวมลงคือใจดวงนี้ดวงเดียว ไม่มีอันใดวิเศษเท่าใจดวงนี้แล้วหากเราทำให้เขาปกป้องเราได้              

สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้เพียงแค่ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ท่านเป็นเพียงผู้ตอบ แนะแนวทางและเตือนเมื่อผิด ท่านมักจะให้การบ้านให้ไปดูเอง เช่น ท่านถามว่าเวลาได้ยินเสียงคิดว่าเสียงมาหาหูหรือหูไปหาเสียง นี่เป็นเพียงบางส่วนของเรื่องที่ผ่านมา ท่านให้ความกระจ่างในอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องในใจและนอกใจ ท่านย้ำเสมอให้มีสติอยู่กับตัว อย่าประมาทเพราะความตายมาถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ ท่านจะสอดแทรกให้เห็นถึงความไม่เที่ยงในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งความทุกข์และความบังคับมันไม่ได้ดั่งใจในชีวิตประจำวัน ท่านชึ้ให้เห็นถึงโทษของมันที่เกิดขึ้นกับใจ 
     
สุดท้ายท่านเน้นย้ำให้เห็นถึงความยินดียินร้าย ท่านบอกว่าตราบใดยังมีความยินดียินร้ายอยู่ไม่มีวันที่จะหมดภพหมดชาติได้ เวลาโกรธ ท่านกลับสอนว่าหากมีปัญญาพอ เราจะมองเหตุการณ์นั้นหรือผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างพิจารณาให้ละเอียดขึ้น ให้เห็นถึงความแตกต่างของเขาและเรา ให้เห็นความเสมอภาค ให้เห็นข้อด้อยของตัวเอง ให้เตือนตนเองด้วยตัวเอง

เราไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนมีปัญญา เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ท่านเมตตาอบรมสั่งสอน ขณะนี้ใจของเราอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้ไปอยู่ที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นอีกแล้ว


Rank: 1

"สติไม่ทันกับใจ"

บอกกับท่านว่าเราใจร้อนเวลาขับรถ เป็นเหตุให้ไม่พอใจทุกครั้งที่ขับรถ ท่านบอกให้ใช้สติ ปัญญาเข้ามาดับมัน แต่ก็ยังไม่ทัน ปัญญาสอนตัวเองมักมาทีหลัง โกรธไปก่อนแล้ว ท่านบอกว่านั่นเพราะจิตมันไปเร็วกว่าสติ            

ท่านถามว่าเวลาเดินจงกรมเดินอย่างไร เราบอกเดินหยุด 3 จังหวะช้าๆ ท่านบอกให้เดิน ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ วันถัดมาท่านให้เดิน 4 จังหวะ คือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ  เราหายไป 2 วันหาจังหวะให้ลงตัว บอกท่านว่าพูดติดๆกันไม่ได้ ต้องพูด ยกส้น.....หยุดไปนิด.....แล้วพูดว่าหนอ ยกหยุดไปแล้วก็หนอ เดินจงกรม1 ชม.ได้แค่ 2 รอบ ไม่เหลือเวลาสำหรับนั่งสมาธิ             

เราบอกท่านว่าวันแรกเห็นจิตมันดิ้น มันถูกขัดใจไม่ได้ตามใจมัน วันที่ 2 ม้นเริ่มหยุดดิ้นแต่ก็ยังไม่เย็น เมื่อผ่านไป 3 วัน พบว่าการเดินมี 5 จังหวะ ท่านจึงบอกว่าจริงๆแล้วมี 6 จังหวะคือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ เหยียบหนอ  เมื่อเริ่มเดิน 6 จังหวะวันแรกเดินได้แค่ 1 รอบ วันที่ 2 ของการเดิน 6 จังหวะใจของเริ่มเย็นลงไม่ร้อนเหมือนวันแรก  เมื่อกลับบ้านเริ่มหนอมากขึ้น โดยไม่ต้องบังคับใจตัวเอง ซ้ายหนอ ขวาหนอ ยกหนอ ก้มหนอ เงยหนอ คิดหนอ เห็นหนอ            

ผ่านไปเกือบอาทิตย์บอกท่านว่าการหนอนี้เหมือนทางลัด จะก้มเงยหยิบจับบิดหมุนก้าวเดิน รู้สึกตัวได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนพยายามแทบตายแต่ยังไม่รู้ทั่วตัว ใครๆก็คิดว่าการหนอช้า ในชีวิตปกติจะไปทันการณ์ได้อย่างไร มัวแต่หนอมันก็ดับไปแล้ว ท่านบอกว่าหากเรามีสติที่ช้าการหนอจะทำให้จิตเราช้าลง เมื่อสติกับจิตทันกันก็จะมีการหยุดยั้งคิดก่อนที่จะทำอะไรลงไป ก่อนจะโกรธเราก็จะมีสติตามทันหยุดยั้งอารมณ์ไว้ได้             

เราเห็นคุณค่าของการหนอแล้วในวันนี้ ท่านไม่ได้บังคับให้ทำแต่เราเต็มใจทำเพราะเห็นว่านี่คือวิธีที่จะแก้นิสัยใจร้อนลงได้ อาจต้องทนกับไฟที่เผาตัวเองหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ท่านบอกว่าการหนอเป็นการฝึกให้เราทนกับไฟที่เผาลนจิตใจเราให้ได้ ผลจากการเดิน 6 จังหวะและหนอช้าๆ ปวดขามาก ปวดไปทั้งตัว นั่นเพียงแค่ชม.เดียว แต่ตอนนี้เราผ่านมาได้แล้ว ทุกอย่างเป็นเครื่องทดสอบความตั้งใจจริงๆ


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-15 00:23 , Processed in 0.036658 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.