แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: UMP
go

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรม ณ บ้านลานเสียงธรรม ซ.นาคนิวาส 40 ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯ  26 - 28 ก.พ. 59" [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

"เวลานั่งสมาธิ ควรกำหนดอย่างไรค่ะ"

ผู้ที่บริกรรมพุทโธ หายใจเข้าก็จับดูพุท หายใจออกก็โธ 
ผู้ที่พอง หายใจเข้าก็ดูอาการท้องพอง หายใจออกก็ดูอาการท้องยุบ 
ผู้ที่ไม่ปรากฏพองยุบ เห็นแต่อาการลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ดูแต่อาการและให้มีสติระลึกรู้ประคองตั้งจิตไว้

คำว่าประคองคือ มีสติให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าขณะนี้ ที่เรากำลังบริกรรมพองหรือยุบ จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์อื่นมั้ย มีอารมณ์พอใจ และอารมณ์ยินร้าย เข้ามาแทรกในจิตเรามั้ย

ถ้าเข้ามาแทรกก็พิจารณาว่า รู้หนอ ๆ หรือกำหนดไปตามอาการที่มันคิด ที่มันมีความรู้สึก คิดถึงอะไรก็คิดหนอ ๆ อย่างเดียวก็ได้

ถ้าหงุดหงิด ก็หงุดหงิดหนอ ๆ ทุกข์ก็ทุกข์หนอ ๆ มีความทุกข์ มีความคับแค้นใจ นิวรณ์ 5 ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือนิมิต ให้กำหนดอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วให้กลับมาดูพอง ดูยุบ พอหูได้ยินเสียง ก็ได้ยินหนอ ๆ แต่ให้หยุดพอง หยุดยุบ ให้ไปกำหนดแต่อาการที่มันแทรกเข้ามา แล้วก็กลับมาดูพองยุบ

สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้สึกเห็นอาการทุกอย่างในกาย เวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดก็รู้ มีสติรู้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาของมัน พระพุทธองค์ท่านชี้แนวโลกุตตระ รู้อะไรละอย่างเดียว ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ เพราะการยึด การติด เป็นภพเป็นชาติ

ผู้ใดที่เข้าฌานเพื่อระงับจากนิวรณ์ทั้งหลายได้ง่าย มันก็ยังเป็นณานที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เป็นณานโลกีย์ที่ยังยึด ยังติดอยู่ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ออกมาถึงรู้ ถ้าตายจะไปอยู่ในอรูปพรหม ไม่มีหู ไม่มีตา จมูกก็ไม่มี มีช่องเล็กๆ เหมือนน้ำเต้า มีรูให้ลมออกจากตรงนั้น มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ตั้งอยู่เหมือนก้อนหิน ไม่กระดุกกระดิกหลายหมื่นปี ออกจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีก

ทำไมไม่มีแข้งไม่มีขา เพราะตอนนั่งเข้าณาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความรู้สึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก อะไรมาต้องกายก็ไม่รับรู้ หูได้ยินเสียงไม่รับรู้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีกายหยาบอยู่ จำเป็นต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เราถึงจะทำลายขันธ์ได้ พระพุทธองค์ท่านไม่สรรเสริญ เพราะทำให้เราไปยึด ไปเกาะไปติดอยู่ เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นไปเองจากสมาธิที่มีสติ และจะเป็นณานที่เป็นสัมมา มีสติครบถ้วนบริบูรณ์


Rank: 1

"หนูรู้เท่าทันอารมณ์ หนูเอาจิตตามรู้ หนูไม่กำหนดอะไร ได้ไหมค่ะ"

ได้ แต่ให้เธอรู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไปแล้วเราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าเราพยายามที่จะระงับมัน มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย

ถ้าคิดตาม อันนั้นมันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเป็นเรื่องไม่ใช่อกุศลก็คิดเพลิน อยากมีรถให้มันสำเร็จ อยากมีบ้านอย่างนั้นอย่างนี้ คิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่อกุศลเพราะไม่ได้ไปอิจฉาใคร ทีนี้ถ้าเราไปหลงกับมัน แปลว่าตามใจกิเลสเรา ตามใจความอยาก แต่เราไม่มีสติคุม มันก็หลงอารมณ์ ก็เพลิดเพลิน อันนั้นก็ไม่ใช่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันคิดหลงไปกับอารมณ์

แต่ถ้าคิดมาก วกวนไปวกวนมา ไม่ได้ดั่งใจเรา มันก็ทุกข์ มันชอบอยากให้เป็นไปตามนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นมันก็ไม่ชอบ มันก็เลยน้อยอก น้อยใจ เสียใจ เศร้าโศกไปก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เลยไม่อยากให้คิดตาม ให้เอาปัจจุบันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ


Rank: 1

"คุณแม่ฝึกผู้ปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทันจิตอย่างไรค่ะ"

ก็ให้เขามีสติก่อนที่จิตจะทำงาน จะคิด จะพูด จะย่าง จะเหยียบ ก็ให้มีสติรู้เสียก่อน ให้สติกับจิตไปพร้อมกัน แม่ก็ให้กำหนดไปตามอาการทั้งที่กายและใจ จะหนอหรือพุทโธแล้วแต่เขา ให้กายที่เคลื่อนไหว จิตที่รับรู้ และคำบริกรรมตรงกัน

คนที่เอาพุทโธ แม่ก็บอกให้มีสติให้รู้เท่าทัน พอบริกรรมว่าพุท จิตจะทำงานก็ให้สติรู้ก่อน พุทโธก็ให้ตรงเหมือนกัน สัมผัสให้รู้เหมือนกัน แต่เขาบริกรรมว่าพุท มีสติรู้ว่าตัวเองยกขาขึ้น จิตรับรู้ว่าเท้ายกขึ้น หน่วงมั้ย หนักมั้ย เวลาเอาขาลง โธก็ให้ถึงพื้น จิตกับสติก็พร้อมกัน

คนที่ไม่มีคำบริกรรม ก็ให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบ ให้รู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไป เราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าพยายามที่จะระงับ มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย ถ้าคิดตาม มันก็ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย

จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล


Rank: 1

"เวลาสอบอารมณ์คุณแม่ ถามอะไรบ้างค่ะ"


"แม่จะถามว่าเป็นยังไง กำหนดบริกรรมอะไร กำหนดแล้วรู้ยังไง รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกไหม ถ้าเขาบอกว่าหายใจเข้าพุท หายในออกโธ แล้วมันยาวหรือว่ามันหยุดอยู่อึดใจกว่ามันจะออก"

"แล้วหูได้ยินเสียง กำหนดได้ยินไหม รู้ไหม เวลามีร้อนอ่อนแข็งเข้ามาถูกกาย ร้อนเย็นรู้ไหม บางคนบอกรู้ บางคนบอกหนูไม่รู้ไม่สังเกต แม่ก็บอกให้ไปสังเกตนะ "

"ถ้าเขาบอกว่าหูได้ยินเสียง  แม่ก็ถามว่าแล้วหูไปหาเสียงหรือเสียงมาหาหู เขาตอบ เอ้...หูไปหาเสีบง แม่ก็ตอบว่าลังเลไม่ได้ไปดูใหม่"

"สมมุติเขาเอาพุทโธ เวลาเขาเดินขวาพุทโธอะไรเป็นผู้พาก้าวล่ะ แม่ก็จะสอนให้เขามีสติปัญญาไหวพริบ บางคนบอกจิตมันพาก้าว แล้วถ้ากายไม่ก้าวมันจะไปไหม จิตมันสั่งถ้ากายไม่กระดุกกระดิก ไม่เคลื่อนไหว แค่จิตมันสั่งได้ไหม อันนี้กายเป็นผู้เคลื่อนไหวใช่ไหม จิตเป็นผู้รับรู้ว่ากายนี้เป็นผู้เคลื่อนไหวใช่ไหม ในร่างกายมีแต่กายกับจิตใช่ไหม อะไรก็ได้ เราก็จะมีวิธีบอกเขา แต่จะถามก่อน"

"ลมหายใจเข้ารู้ไหม หายใจเบา หายใจอ่อน เหมือนไม่มีลมหายใจ มันเงียบไป มีสติรู้ไหม บางคนบอกไม่รู้เลย อย่างนั้นสติไม่มีนะ"


Rank: 1

"ทำไมต้องสอบอารมณ์ทีละคน"

มีคนถามเราว่า...ทำไมคุณแม่ต้องสอบอารมณ์ทีละคน ให้รวมกลุ่มกันคุยไม่ได้หรือ และการสอบอารมณ์เป็นอย่างไรเหมือนคุยปกติไหม 

คุณแม่ท่านบอกเสมอ ผู้สอบอารมณ์นั้นจำเป็นมากสำหรับผู้ที่ยังเดินทางอยู่ เห็นชัดจากตัวเอง ตอนแรกไม่ได้คุยกับท่าน ตอนนั้นเริ่มไปปฏิบัติเองที่วัดใกล้บ้าน มีแต่ความตั้งใจแต่ยังไม่มีหนทาง พอเริ่มเดินแบบเอาจริง กลับพบปัญหาว่า เดินแบบเดิมที่ทำมานานแล้ว ไม่ทำให้เราสงบลงได้เลย ยิ่งเดินยิ่งคิด 

การเดินจงกรมแบบไหนหนอ ที่เหมาะกับเรา ใครจะให้คำตอบเราได้ พระที่วัดท่านก็บอกให้เดินแบบปกติ แต่ในใจเรารู้สึกว่าไม่ใช่ เมื่อมีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ ท่านจึงบอกลองแบบนี้สิ เมื่อลองแล้วเห็นผล เราจึงโทรหาท่านอีก คราวนี้ท่านจะมีคำถามให้เราไปสังเกตดู เช่น เสียงมาหาหู หรือ หูไปหาเสียง ท่านมีวิธีสอนให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้า ไม่ไปตามความคิดที่ฟุ้งซ่าน 

เมื่อได้เริ่มปฏิบัติจริง เราจะมีทั้งสิ่งที่จะเล่าให้ท่านฟังและสิ่งที่จะถามท่าน ล้วนแต่เรื่องที่เกิดบนทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ  โดยเฉพาะเริ่มแรกที่นั่งสมาธิแล้วหายเงียบสงบ เรานึกว่าดี เป็นอย่างนั้นอยู่ 2 อาทิตย์ จนมีโอกาสถามท่านจึงหลุดมาได้ เมื่อมาเจออาการโงกง่วงก็ท่านอีกที่ให้คำแนะนำ 

ท่านบอกเสมอผู้สอบอารมณ์สำคัญที่สุด หากเจอผู้ที่ชี้นำได้ถูกทาง เราก็จะเดินทางพ้นจากทุกข์ได้เร็ว เป็นบุญของเราที่มีโอกาสได้คุยกับท่าน ในช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงปี ความทุกข์ใจที่มีมานานหลายปีมะลายหายไปสิ้น มองไปข้างในเราเห็นเพียงใจว่างเปล่า ไม่มีใครหรือสิ่งใดอยู่ในนั้นอีก                       

  

Rank: 1

"คุณแม่สอนปฏิบัติแนวไหนค่ะ"

แม่สอนวิปัสสนาในสติปัฏฐาน 4 มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ดับอารมณ์ได้ทันปัจจุบัน ถามว่าแนวไหนก็แนวมรรคมีองค์ 8 คุณจะเอาแนวไหนก็ได้ แต่ให้คุณเอาแนวเจริญสติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่เฉพาะหนอ แม่เปิดกว้าง อะไรก็ได้ จะมีคำบริกรรมหรือไม่มีก็ได้ 

มีผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เขาเล่นสมถะ จิตนิ่งเข้าฌานอยู่เป็นสิบปี แต่เขาไม่เจริญสติเลยทำให้เขาติดอยู่ตรงนั้น มีแต่ความสงบแต่ไม่มีปัญญาที่จะดับทุกข์ในใจตน เขาบริกรรมพุทโธ แม่ก็เลยบอกว่าเพราะเธอขาดสติและปัญญา เธอจงเจริญสติโดยเอาพุทโธนั่นแหละเป็นกรรมฐาน

สติปัฏฐาน 4 กว้าง จะเอาวิธีกรรมใดก็ได้ จะเอา 84,000 พระธรรมขันธ์มากำหนด จะเพ่งอะไรก็ได้ แต่เมื่อจิตสงบแล้วคุณต้องเจริญสติ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบทางตาหูลิ้นจมูกกายใจ ในผู้ที่ไม่มีคำบริกรรมอะไรเลย ก็ให้รู้เท่าทันอารมณ์เช่นกัน ให้มีสติรู้เท่าทันว่าโกรธ ว่าเกลียด มีโทสะมีโมโหมั้ย ให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่คิด ที่ปรุงแต่ง 

ถ้าให้เอาหนอเข้าไป เขาฝืน เขาเคือง เขาอึดอัด ก็เอาอะไรก็ได้ แม่จะบอกจุดให้เขาไปสังเกตเพื่อให้เกิดสติและปัญญา ทำไมต้องให้รู้เท่าทันอารมณ์เพราะจะได้รู้จักตัวเองเห็นตัวเอง ว่ากำลังเกาะกำลังยึดอะไรอยู่ ทุกข์กับมันมากมั้ย เมื่อเห็นตัวเองจะได้เห็นโทษเห็นภัยอารมณ์ที่เราไปเกาะไปยึดอยู่ 

เมื่อรู้จักตัวเอง เห็นว่ามันทันมั่งไม่ทันมั่ง เอาอยู่มั่งเอาไม่อยู่มั่ง ถ้าอยากออกจากทุกข์ อยากแก้ตัวเอง แม่ก็จะสอนให้เขาเกิดสติเกิดปัญญา ที่จะสอนตัวเองเตือนตัวเองได้ หัวใจของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ให้เรารู้เท่าทันอารมณ์และดับอารมณ์ปัจจุบันได้ทัน ดับทันมันก็ไม่ทุกข์ ดับไม่ทันมันก็เป็นภพเป็นชาติ


Rank: 1

"แม่ค่ะ หนูจะเขียนคำเรียกแม่อย่างไรดีค่ะ"

เมื่อแรกเริ่มที่ต้องเขียนเล่าการปฏิบัติธรรรมกับคุณแม่ เกิดปัญหาขึ้นว่าจะเขียนคำเรียกคุณแม่ว่าอย่างไรดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายเดือน เรียกท่านอย่างเดียวว่า "แม่" จะเขียนว่า "แม่ชีเกณฑ์" มันก็ดูห้วนและกระด้างไปในการเขียนเล่าเรื่อง จะใช้คำว่า "แม่" เฉยๆ อันนั้นก็เป็นภาษาพูด 

ถามคุณแม่ว่าจะใช้คำไหนดี "แม่" หรือ "แม่ชีเกณฑ์" ท่านจึงเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง....ครั้งหนึ่งท่านไปเยี่ยมคุณแม่ของผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง คุณแม่ของเขา อายุเกือบ 90 ปี คุณยายยังแข็งแรงดี พูดจาฉะฉานและยิ้มร่าเริง ขณะที่คุณแม่นั่งสนทนากับคุณยาย ลูกของเขาเดินเข้ามา และเรียกคุณแม่ว่า "แม่ชีเกณฑ์" 

คุณยายหันมาดุลูกสาวของเขาว่า เรียกท่านอย่างนี้ได้อย่างไร คุณแม่ท่านบวชมาเกิน 10 ปีแล้ว เราจะต้องเรียกท่านว่า "คุณแม่ชีเกณฑ์" อย่างนี้ถึงจะเหมาะสม
จึงได้ข้อสรุปจากคุณแม่ว่า ในงานเขียนและเมื่อคุยกับคนอื่น จะเรียกท่านว่า "คุณแม่ชีเกณฑ์" คุณแม่ท่านยังบอกอีกว่า หรือจะเรียกท่านว่า "คุณแม่" หรือ "แม่" เฉยๆ ก็ได้ หลายๆ ท่านก็คงจะเกิดคำถามนี้ในใจว่าจะเรียกท่านอย่างไรดีจึงจะเหมาะสม 

Rank: 1

"ประวัติของคุณแม่ชีเกณฑ์ นิลพันธ์ ตอนที่ 1"

ตั้งแต่จำความได้แม่ไม่ชอบของหอมของทาเลยตั้งแต่เด็ก พอได้กลิ่นจะง่วงนอน อายุได้ 13 ปี มีโอกาสตามป้าซึ่งบ้านอยู่ใกล้กันไปฟังธรรมจากหลวงปู่ศรี มหาวีโร แห่งวัดบ้านป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำทุกวันพระ

ครั้งแรกที่ไปฟัง หลวงปู่ศรีท่านบอกว่า...มนุษย์เกิดมามีแต่ความอยาก มีแล้วก็อยากมีอีก ต้นไม้ที่มีรากก็จะสามารถออกดอก ออกผล มีลูก ต่อยอดไปไม่มีวันจบสิ้น เปรียบกับมนุษย์ที่มีครอบครัว ก็มีทั้งลูก หลาน ญาติ พี่น้อง ถ้ามีสามีดีก็ดีไป ถ้ามีไม่ดีก็เหมือนตกนรก ถ้ามีลูกดีก็ดีไป ถ้ามีลูกไม่ดีก็เหมือนตกนรก มีหลายคนถ้าไม่ดีหลายคนก็เหมือนตกนรกหลายหลุม หากใครต้องการหลุดพ้น ต้องออกจากการมีครอบครัว ด้วยการตัดช่องน้อยแต่พอตัว คนฟังธรรม 100 คน ฟังแล้วหลุดพ้นได้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

แม่เห็นด้วยตามที่หลวงปู่ท่านเทศน์ หลังจากวันนั้นทุกคืนวันพระ แม่จะตามป้าไปนอนที่วัด เพื่อไปปฏิบัติธรรมและฟังเทศน์จากหลวงปู่ศรี หลวงปู่ศรีสอนให้บริกรรมพุทโธ หลังจากนั้นก่อนที่แม่จะบวช มีอาจารย์ผู้หนึ่งนำไปวัดโมกขวนาราม จ.ขอนแก่น ใกล้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งปฏิบัติตามแบบสายหลวงปู่เทียน ที่นี่มียารักษาโรคต่างๆ เป็นยาแผนโบราณ เขาพาแม่ไปเพื่อปฏิบัติและรักษาโรคด้วย แม่มีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเวียนหัว ปวดหัว ปวดท้อง และเจ็บหน้าอก

ด้วยใจที่ไม่ฝักใฝ่ในทางโลกเลย แม่ขอพ่อกับแม่บวชตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พ่อไม่อนุญาติ บอกกับแม่ว่าขอดูให้แน่ใจก่อน ถ้าบวชออกไปแล้วเกิดเปลี่ยนใจอยากมีเรือนขึ้นมาจะเป็นบาป เวลาผ่านไปจนอายุย่าง18 ปี ทางผู้ใหญ่เห็นแล้วว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จิตใจของแม่ไม่ได้หวั่นไหว คลอนแคลนโอนเอนไปตามกระแสโลกแม้แต่น้อย จึงตัดสินใจอนุญาติให้แม่ออกบวช นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม่ได้อยู่ในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา ครองเพศแม่ชีมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านประวัติของคุณแม่ชีเกณฑ์ ตอนต่อไปได้ที่ http://pantip.com/topic/32013264

Rank: 1

"วัดป่าเจดีย์เทวธรรม บ.โคกสูง ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด"

ในช่วงเวลาปกติที่คุณแม่ไม่ไปไหน ท่านจะอยู่ที่ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม  จ.ร้อยเอ็ด สามารถไปปฏิบัติกับท่านได้ที่วัดทุกวัน แต่ต้องแจ้งท่านล่วงหน้า

Rank: 1

"การเตรียมตัว"

ทางบ้านลานเสียงธรรม มีทุกอย่างบริการผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน มีห้องนอนรวมมุ้งลวด แยกหญิงชาย หมอน ผ้าห่ม เสื่อครบ มีน้ำปานะ อาหาร 2 มื้อ ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านเตรียมเพียงแค่ของใช้ส่วนตัว ยาประจำตัว ยาทากันยุง ไฟฉายด้วยก็ดี เผื่อไว้เดินจงกรมนอกศาลาในตอนกลางคืน ชุดขาว หากท่านใดไม่มี คุณแม่ท่านไม่ให้ไปซื้อ ใช้เสื้อผ้าสีอ่อน เช่น เสื้อขาว กางเกงดำ กางเกงเทาก็ได้ สำหรับผู้หญิงขอขายาว ไม่เอาสามส่วน สี่ส่วน และที่สำคัญที่สุด คือเตรียมตัวและใจมาให้พร้อม โดยเฉพาะท่านที่ติดกาแฟ คุณแม่ท่านห้ามแอบเอามา ให้อมลูกอมธรรมดาแทนได้


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-6 21:57 , Processed in 0.045819 second(s), 13 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.