แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 9435|ตอบ: 23
go

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรม ณ บ้านลานเสียงธรรม ซ.นาคนิวาส 40 ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯ  26 - 28 ก.พ. 59" [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ณ บ้านลานเสียงธรรม ซ.นาคนิวาส 40 ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯ  26 - 28 ก.พ. 59"
1. ผู้ให้กรรมฐานและสอบอารมณ์ : คุณแม่ชีเกณฑ์ นิลพันธ์ ปัจจุบันท่านเป็นผู้อบรมและสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าเจดีย์เทวธรรม อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ท่านมีประสบการณ์อบรมผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งจากวัดร่ำเปิง ตโปทาราม จ.เชียงใหม่ และสถานที่อื่นๆ มากว่า 42 ปี ท่านเปิดกว้างสอนได้ทุกแนวการปฏิบัติ ทั้งมีคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรม และผู้เริ่มต้นใหม่ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

2. การเดินทาง : บ้านลานเสียงธรรม ตั้งอยู่ เลขที่ 7/44 หมู่ 4 ซอย นาคนิวาส 40, ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯ  ดูแผนที่ บรรยากาศของสถานที่ และเงื่อนไขการเข้าร่วมปฏิบัติธรรม ได้ที่  http://pantip.com/topic/34688038

3.การเตรียมตัว : สามารถเข้าร่วมปฏิบัติธรรมได้ตามวันเวลาที่ตนเองสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมไป คือ ชุดขาวหรือเสื้อผ้าสีอ่อน ของใช้ส่วนตัว ยาทากันยุง  (ไม่มีค่าใช้จ่าย อาหารเป็นมังสวิรัติทั้งหมดทุกมื้อ) ***ยินดีต้อนรับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง สาวประเภทสอง และผู้พิการที่สามารถดูแลตัวเองได้***

4. อ่านแนวทางการสอนและการสอบอารมณ์ของคุณแม่ชีเกณฑ์ ได้ที่...
               - http://pantip.com/topic/34688038
               - เฟสบุค สวนปฏิบัติธรรมชมวิว  https://web.facebook.com/%E0%B8% ... 03876685810/?ref=hl

5. สอบถามรายละเอียดและแจ้งชื่อลงทะเบียน : เปิดรับผู้ปฏิบัติธรรม 30 คน ซึ่งขณะนี้มีผู้แจ้งชื่อแล้ว 13 คน แจ้งชื่อจริง นามสกุล ชื่อเล่น เบอร์โทร วันที่ไปและกลับ จำนวนคน ได้ที่ .....คุณอ้วน : 02-5783998 ,  02-9071535 ,  086-3787677  ID Line uan_panisa หรือ https://web.facebook.com/panisa.tourinthailand?__nodl  (สามารถส่งข้อความได้เลยโดยไม่ต้องสมัครเป็นเพื่อน)

6. สอบถามการปฏิบัติและแนวทางการสอนของคุณแม่ชีเกณฑ์ กับท่านโดยตรง ได้ที่ 062-1270465(12call) , 0868540049(dtac) 10.00-22.00 น.


Rank: 1

"การเดินจงกรมเพื่อการพักจิต"

เมื่อใจเบื่อคำบริกรรม ถามคุณแม่ชีเกณฑ์ว่าใช้ลมหายใจแทนคำบริกรรมได้ไหม ท่านบอกว่าได้ไม่ผิดอะไร วิธีกรรมของครูบาอาจารย์เป็นแนวทาง ผู้ที่รู้จักตัวเองดีแล้วก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองได้ ในวันนี้จึงขอเดินเงียบๆ ช้าๆ ไม่เร่งตัวเอง ไม่เร่งลมหายใจ ปล่อยใจให้สบาย ไม่ได้ทำเพื่อใครหรือเพื่ออะไร เป็นการเดินจงกรม 6 จังหวะ โดยใช้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแทนคำบริกรรม

จังหวะที่ 1. ยกส้น+หายใจเข้า.....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกส้นเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ จนลมเต็มปอดท้องพองจนสุด แล้วหยุดเท้าค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกจนลมหมดท้อง แล้วค่อยเปลี่ยนจังหวะ)

จังหวะที่ 2. ยก+หายใจเข้า....หยุดค้าง+หายใจออก
(ยกเท้าขึ้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 3. ย่าง+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ก้าวขาออกไปพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 4. ลง+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เอาเท้าลงแต่ปลายเท้ายังไม่ถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 5. ถูก+ลมหายใจเข้า...หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(ปลายเท้าถูกพื้นพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

จังหวะที่ 6. เหยียบ+ลมหายใจเข้า....หยุดค้าง+ลมหายใจออก
(เหยียบพื้นเต็มเท้าพร้อมกับหายใจเข้ายาวๆ แล้วหยุดค้างไว้พร้อมกับปล่อยลมออกจนหมดท้อง)

ผลจากการเดินจงกรมแบบนี้ ในเวลาไม่กี่วัน ใจก็วางเรื่องที่คิดไปหลายสิบเรื่อง เป็นใจที่สงบ เย็น หนักแน่น ว่างและวาง 

การเดินจงกรมไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จุดนี่คือวิธีพักจิต คลายใจ ชำระจิต โดยที่ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องรอเวลา ไม่เสียเงิน แค่ห้องเล็กๆ ก็กว้างพอ แม้จะเดินได้แค่ก้าวเดียว ยืนกับที่ เดินไม่ได้ ยืนไม่ได้ เคลื่อนไหวได้แค่มือ หรือแค่ปลายนิ้ว ก็สามารถนำวิธีนี้ไปปรับให้เข้ากับตนเองได้ อยู่กับลมหายใจมาครึ่งค่อนชีวิตแล้ว เพิ่งจะใช้เขาให้เป็นประโยชน์สูงสุดก็วันนี้เอง


Rank: 1

"คุณแม่ทำยังไง หนูถึงจะเห็นอสุภะ เห็นกระโหลกเหมือนเขา"

ไปนั่งเพ่ง นั่งเห็นกระดูก ซี่โครง เห็นตับ เห็นไต มีแต่ของสกปรกโสโครก ถ้าใจมันยังวางไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เห็นกระดูกซี่โครงแล้วเวลาเขาด่า มันยังโกรธอยู่ มันก็ไม่ดี จะเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไรหรอก เห็นแล้วปลงได้มั้ยละ ถ้าปลงได้ใช้ได้ ถ้าปลงไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ แปลว่ายังเห็นไม่ถูก 

เห็นถูก เห็นชอบ เหมือนมรรคมีองค์ 8 เออ..กายนี้มันเป็นธรรมดา เดี๋ยวมันก็เสื่อม ผมมันดำเดี๋ยวก็หงอก มันแปรปรวนเนาะ เกิดมามันดำ กลางคนเข้ามามันหงอก แล้วใครจะยอมมั่งละ ถ้าเห็นมันเป็นธรรมชาติทำไมไม่ปล่อย เอาวัตถุนิยมมาย้อมทำไม หนังที่มันเหี่ยวก็เป็นธรรมดา ถ้ายังบำรุงกันอยู่มันก็วางไม่ได้ เห็นอสุภะแต่ยังห่วงสวย อยากให้ตัวเองดูดี มันก็วางไม่ได้ 

กิเลสหยาบละไม่ได้ แล้วจะละกิเลสละเอียดได้อย่างไร ผู้เข้าปฏิบัติ ถ้ารู้แจ้งเห็นจริง มันต้องเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติ ก็ปล่อยมัน เอาอะไรมาหยุดมันก็ไม่อยู่ ย้อมไปก็ชั่วขณะ เดี๋ยวก็คืนสู่สภาพเดิม บำรุงขนาดไหน แพงขนาดไหน ดีขนาดไหน ก็หยุดความแก่ความเหี่ยวไม่ได้ สู้เอาเงินไปทำบุญเป็นสเบียงให้แก่ตัวเองดีกว่า

ธรรมะมองแว่บเดียวแล้วพิจารณาให้แตกฉาน แค่หงอกเส้นเดียวก็บรรลุธรรมได้ อสุภะภายนอก ความสกปรกโสโครกมีให้เห็นกันทั้งวัน เห็นแล้วพิจารณาด้วยปัญญา เห็นตามความเป็นจริง เอออันนี้มันเสื่อมแล้วนะ ตามองแทบไม่เห็น มันฝ้ามันฟางแล้ว หูมันก็เริ่มตึง ไม่มีอะไรเลยที่จะเที่ยง นี่แหละท่านว่าให้เห็นทุกข์สัจจริงๆ เห็นทุกข์เห็นโทษของมัน 

แม้ไม่เห็นอสุภะ แต่เข้าใจธรรมชาติของกายนี้ เข้าใจที่มันแปรปรวน เข้าใจที่มันทุกข์ ไม่ไปหลงมัน ไม่ไปยึดมัน อยู่กันไปตามสภาพ ป่วยก็ไม่ทุกข์กับมัน อันนี้แม้ไม่เห็นก็ใช้ได้แล้ว กายนี้จะวางได้ไม่ใช่เห็นอสุภะภายใน แต่วางได้ด้วยปัญญา คนที่เห็นได้ก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา เห็นโทษเห็นภัยมันจึงจะวางได้ เห็นอย่างเดียว ละไม่ได้วางไม่ได้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด


Rank: 1

"การเดินจงกรม 6 จังหวะ สำหรับผู้ที่ทุกข์ใจและฟุ้งมาก"

1. ยกส้น...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
2. ยก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
3. ย่าง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
4.ลง...(หยุด)...หนอ...(หยุด)
5. ถูก...(หยุด)....หนอ...(หยุด)
6. เหยียบ...(หยุด)....หนอ...(หยุด)

นอกจากจะรับรู้ที่เท้า ปาก ใจ หูก็ยังคงได้ยินเสียง บางทีมันก็รู้ลมหายใจ ตาก็เห็นสัตว์ที่เดินบนพื้นดิน รู้อากาศร้อนเย็น จิตแว่บออกไปคิดก็รู้

ออกเสียงดังทุกจังหวะและคำว่าหนอ ให้การรับรู้ของเท้า ปากและใจตรงกัน หากความคิดเข้าแทรกหยุดค้างไว้ทันที ความคิดดับจึงไปต่อ หากมันไม่ยอมดับก็ค้างไว้เลย เมื่อขาเริ่มเกร็งมันจะทิ้งความคิดมารับรู้อาการที่ขา การเดินจงกรมเช่นนี้ เป็นวิธีที่ขัดใจมากสำหรับผู้ที่ใจร้อน อารมณ์รุนแรง มันจะดิ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ขณะที่หยุดค้างไว้ ให้เราดูใจที่มันดิ้น มันหยุดดิ้นเมื่อไหร่จึงจะไปต่อ อดทนฝืนจิตไม่ทำตามที่มันสั่งให้ได้ 1-2 อาทิตย์มันก็จะหยุดดิ้น ยกเว้นคนที่ไม่สม่ำเสมอและไม่เอาจริง เมื่อมันหยุดดิ้นความสงบเย็นจะเกิดขึ้น 4 วันแรกจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว เริ่มแรกตัวจะเอียงซ้ายเอียงขวาให้ทำความรู้สึกไปตามอาการเอียง ถ้ามันคิดติดกันเป็นลูกโซ่ ให้กำหนด คิดหนอๆเอาจนมันหยุด 

วิธีนี้เป็นวิธีหักดิบ ผู้ที่ความอดทนน้อยมักจะถอยไปเสียก่อน สิ่งที่จำเป็นมากคือความต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 1 ชม. เป็นเวลา 2 อาทิตย์จึงจะเริ่มเห็นผลชัดเจน หลังการปฏิบัติทุกครั้ง คุณแม่ท่านให้แผ่เมตตาเจาะจงให้เจ้ากรรมนายเวรเราก่อน เมื่อจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นจึงจะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ และหมั่นตักบาตรให้เขาด้วย 

เรื่องใดที่ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้พิจารณาไตร่ตรอง ทำไมใจเรายังคิดเรื่องนี้ ยังคาใจตรงไหน ตัดสินใจเด็ดขาดกับมันว่าจะทำยังไงแล้วก็วางมัน และคอยเตือนตัวเองหากตายขณะนี้ ต้องไปเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกเฝ้าอยู่บ้านเขาแน่นอน การรับรู้หลายจุดถี่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสติและให้สติเร็วขึ้น 

เมื่อมีสติ ก็จะเกิดสมาธิ และปัญญาในการแก้ไขปัญหาก็จะตามมา ส่วนการหยุดนั้น เพื่อให้เห็นการเกิดดับของการรับรู้และความคิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดแล้วดับในทันที เมื่อเข้าใจในความเป็นจริง มันก็จะค่อยๆ ยอมรับว่าทุกสิ่งมันจบไปแล้ว และเลิกที่จะไปขุดคุ้ยขึ้นมาอีก เมื่อถึงเวลาที่จิตเขาก้าวเดินเองได้ คำบริกรรมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป 


Rank: 1

"เมื่อเบื่อหน่ายกายนี้ พลิกให้เกิดปัญญา อย่าให้ถลำลึกลงไปจนเกิดความทุกข์"

ยิ่งปฏิบัติธรรมไป ยิ่งเห็นความจริงในร่างกายนี้ ยิ่งเห็นภาระหนักที่ต้องแบกไว้ ยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย จนไม่อยากจะมีร่างกายนี้แล้ว มันเป็นภาระอย่างแสนสาหัส เราทำทุกอย่างเพื่อร่างกายที่มันไม่จีรังยั่งยืน ร่างกายที่นำมาแต่ความทุกข์ อยู่กับมันซ้ำแล้วซ้ำอีก นับชาติไม่ถ้วน

เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายนี้เกาะกินใจ คุณแม่ท่านว่าเราต้องพลิกความเบื่อหน่ายให้เกิดปัญญา อย่าให้มันปรุงแต่งจนทุกข์หนักเข้าไปอีก มองให้เห็นโทษของมัน มองให้เห็นความไร้สาระของมัน แล้วอย่าไปยึดมัน เบื่อมันให้จริงๆ ไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว

กายเรามันไร้สาระเช่นนี้ เราก็ต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดสิ พามันปฏิบัติ เอาความเพียรชนะกิเลส จนไม่ต้องเกิดมามีกายนี้อีก พามันทำความดี ทำกุศลให้ถึงพร้อม ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ศาสนา พามันทำสิ่งที่ควรทำที่สุด พามันปฏิบัติจนออกจากวังวนแห่งทุกข์นี้ให้ได้

เราไปจากโลกนี้ ร่างกายที่มันเน่าๆ ก็ถูกทิ้งไว้ ตามไปได้คือบุญบาปที่เราสร้างมา ถ้าเบื่อมันจริงๆ จนไม่อยากมาเจอมันอีก ทำให้ถึงที่สุดสิ ย้อนกลับมามองตัวเอง สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ จะกิน จะพูด จะคิด จะซื้อ เราเบื่อมัน แล้วเราทำไปแต่ละอย่างเพื่อกลับมามีมันอีกมั้ย แม้แต่คิดจะโกรธ จะเกลียด จะรัก จะชอบ จะอาฆาตใคร เราทำไปเพื่อกลับมาอีกมั้ย ถ้าไม่อยากกลับมาอีก ก็ละมันเสียเถิด


Rank: 1

"ผมพยายามศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วก็ศึกษาไปไกลโพ้นพอสมควร เพื่อหวังเข้าให้ถึงแก่น แต่ก็เข้าไม่ถึงสักที แก่นพระพุทธศาสนา... อยู่ตรงไหนหนอ? "

แก่นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่ใจคุณต่างหาก คุณทำใจให้ผ่องแผ้ว ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่ง ทำใจให้สะอาดหมดจด ให้ขาวรอบอยู่ทุกขณะ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พยาบาท ให้ลดละปล่อยวาง ว่างอยู่ตลอด ไม่อุปาทาน ไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู ทำแต่จิตตัวเองให้ขาวสะอาด หมดจดผ่องแผ้วอยู่ทุกขณะลมหายใจ

แล้วก็ให้เห็นตามความเป็นจริง กับทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง มีแต่ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทำจิตให้ขาวรอบผ่องแผ้วหมดจด ทุกลมหายใจเข้าออก ลดละปล่อยวางตัวกู อัตตาตัวตน นี่คือแก่นแท้ของพระพุทธศานา.


Rank: 1



"สมาธิต่างจากวิปัสสนายังไงค่ะ คุณแม่"

ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียว คือนิ่ง ไม่รู้ตัวเอง เสียงเข้ามาก็ไม่รู้ เสียงเข้ามาทางหู เย็นร้อนอ่อนแข็งมาสัมผัสกายก็ไม่รู้ นั่งนิ่งอยู่อย่างเดียว

ถ้าเป็นวิปัสสนา วิแปลว่าตัวปัญญา รู้แจ้งในอารมณ์ ที่นิ่งก็รู้ว่านิ่ง วิปัสสนามีสติและปัญญาคุมกับสมาธิ

มีสติรับรู้อารมณ์ ที่เป็นสมาธิก็รู้ว่ามันเป็นสมาธิ สงบก็รู้ว่ามันสงบ ถ้าลืมตา ตาไปกระทบรูปก็รับรู้ หรือหลับตาอยู่ในองค์สมาธิ หูได้ยินเสียงก็รับรู้ มีลมผ่านมา กายเย็นก็รับรู้ว่ากายเย็น กายร้อนก็รับรู้ว่ากายร้อน มีมดมีอะไรมาแตะต้องตัวก็รับรู้ รับรู้หมดพร้อมกับปัญญาที่คอยพิจารณาในสิ่งนั้น รู้แล้วก็วาง ๆ

วิ แปลว่าตัวปัญญา รู้เท่าทันอารมณ์นิ่ง อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ นิ่งในสมาธิ เสพอารมณ์เบิกบานในอารมณ์สมาธิก็รู้ พอรู้เขาก็จะถอนออก ไม่ยินดียินร้าย ความพอใจในองค์สมาธิที่สงบนิ่ง ก็เป็นอารมณ์พอใจ เป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 มารขวางกั้นผู้ปฏิบัติธรรม ชอบใจไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือ นิมิต

ถ้ามีปัญญาควบคู่กับสมาธิ เมื่อเห็นตัวเองเกิดความพอใจ เขาก็จะเตือนตัวเอง เรากำลังเกิดความยินดีหนอ นี่เป็นนิวรณ์ ทำให้เราไปไม่ถึงไหน ไม่เห็นแจ้งในสัจธรรม หากตายในขณะนี้ เรายังต้องมีภพมีชาติอีกแน่นอน เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นโทษแล้วก็วาง สักแต่ว่ามันเกิด สักแต่ว่ามันเป็น รับรู้แต่ไม่ยินดียินร้าย

Rank: 1

"เวลาที่เหมาะแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ"

คุณแม่ท่านถามว่า...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ไม่ไหวค่ะ ผ่านไปอีกอาทิตย์ท่านก็ถามอีก...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ก็ยังคงตอบว่าไม่ไหวค่ะ ถ้าตีห้าก็พอไหว

ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ คุณแม่ท่านเล่าว่า...ตอนเช้าแม่ไม่ได้อาบน้ำ มันเสียเวลา ท่านพูดแค่นี้แล้วหยุดไม่บอกว่าเสียเวลายังไง ผ่านไปอีกสองวันท่านก็เล่าว่า...เวลาตีหนึ่งถึงตีสามเป็นเวลาที่เหมาะแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เป็นเวลาที่โลกสงบเงียบไม่วุ่นวาย เป็นช่วงเวลาที่จิตว่างจากการถูกปรุงแต่ง เราจะเห็นจิตของเราได้ชัด

ผ่านไปอีกอาทิตย์เริ่มถามคุณแม่ว่า การเดินจงกรมกับการสวดมนต์ อันไหนอานิสงส์มากกว่ากัน ท่านบอกว่า...การเดินจงกรมลูกจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี และได้สติได้ปัญญาที่จะพาให้เราหมดภพหมดชาติ

เราพยายามตื่นตีสาม ไม่ไหวก็ต้องทน ยอมรับว่าวันแรกเป็นการเดินจงกรมและนั่งสมาธิที่ทรมานที่สุด ช่วงแรกนั่งสมาธิแล้วง่วงมาก จึงเลือกที่จะเดินจงกรมอย่างเดียว ที่เคยคิดว่าเดินจงกรมตอนตีสามคงไม่ไหว ผิดคาดยิ่งเดินจิตยิ่งตื่น วันไหนที่เริ่มต้นชีวิตด้วยการเดินจงกรมแต่เช้า วันนั้นทำงานอย่างไม่รู้จักเหนื่อย ไม่ง่วงหาวนอน ไม่ต้องกินกาแฟ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตเบิกบาน ไม่หงุดหงิดง่าย และใจเย็น

บอกคุณแม่ว่าเดินจงกรมตอนเช้าไม่เห็นอะไรวิเศษ เห็นแต่ใจตัวเอง ท่านบอกว่าของวิเศษที่สุดคือได้เห็นจิตเห็นใจตัวเองนี่แหละ เห็นใจตัวเอง เราจะเข้าใจตัวเอง เตือนตัวเองสอนตัวเองได้ ไม่หลงตัวเอง เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น ลูกว่าจะมีอะไรที่วิเศษไปกว่านี้อีกไหม

Rank: 1

"วิธีแก้อาการโงกง่วงโยกไปโยกมา"

เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ คุณแม่ชีเกณฑ์ให้แก้ด้วยการให้ตั้งเวลาให้นั่งสมาธิ 5 นาที เดินจงกรม 5 นาที สลับไปมาจนครบชม. ถ้านั่ง 5 นาทียังเป็นอยู่ให้หดเวลาลงมาอีกเหลือนั่ง 3 นาที เดิน 3 นาที ถ้านั่งลงไปแล้วยังเป็นอยู่ก็หดเวลาลงมาอีก หรือให้เดินอย่างเดียว ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ถ้ายังเป็นอีกก็ให้ทำแบบเดิม ต่อเมื่อหายจากอาการนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้นมาให้เหมาะสม แต่อย่ากลับไปนั่งนานๆ อีก มันจะไหลลงไปที่เดิม

คุณแม่ท่านว่าอาการเช่นนี้อาจด้วยวิบากกรรมของเรา และสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน ให้เราดูปรับเวลาให้ร่างกายได้พักบ้าง มันโยกตัวลงไปเพราะสติมันน้อย ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของร่างกายได้ และท่านให้แผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเราเองทุกครั้งที่ไปปฏิบัติ และให้ทำบุญตักบาตรกับข้าวอาหารให้เขาด้วย

ถามคุณแม่ว่าทำแบบนี้แล้วทำไมจึงหาย ท่านว่าขนาดเราให้ลุกนั่งอย่างนั้น ใจมันยังหงุดหงิดจนแทบทนไม่ได้เลยใช่ไหม แต่ต้องทนเพราะอยากหาย แล้วคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้มีอาการแบบนั้น เขาจะทนอยู่ได้หรือ เขาก็ร้อนเหมือนกันที่เราผุดลุกผุดนั่งอยู่อย่างนั้น แต่เราอย่าไปปฏิบัติไล่เขาอย่างเดียว เราต้องแผ่เมตตาและทำบุญให้เขาได้อิ่มอาหารอิ่มใจด้วย จะได้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน การทำอย่างนี้ทำให้มีเราความรู้สึกตัวต่อเนื่องไม่ขาดระยะนับชม. จะทำให้สติเราตั้งมั่นและบริบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น การลุกนั่งเสมอกันช่วยปรับธาตุดินน้ำลมไฟในร่างกายให้สมดุล โรคที่เป็นอยู่ก็จะถูกขับออก เลือดลมไหลเวียนสะดวก หายง่วง หายซึม กระปรี้กระเปล่า ไม่ขี้เกียจ นั่งแล้วไม่ฟุ้งไม่จม ตื่นตัวรู้สึกอยู่ตลอด

ขณะที่มีอาการเช่นนี้ในใจคิด เราคงไปปฏิบัติให้ใครเห็นไม่ได้แล้ว โยกไปโยกมาน่าอายมาก รู้ตัวแต่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ กว่าจะหลุดออกมาได้ก็ช่างแสนยาก ตอนผลุบเข้าไปก็ไม่รู้ตัว นั่งได้แค่อึดใจก็ไปติดกับเสียแล้ว 3 อาทิตย์ที่ต้องลุกนั่งอยู่อย่างนั้น ใจก็ไม่หงุดหงิด เป็นปกติเพราะมันชินแล้ว อาการง่วง ฟุ้งซ่าน ตัวโยกหายไป สติตื่นจนไม่ยอมหลับทั้งกลางวันกลางคืน นอนก็เหมือนไม่นอน เป็นอย่างนั้นเกือบเดือนกว่าจะเป็นปกติ

ต้องกราบขอบพระคุณ คุณแม่มากๆที่ทำให้หายจากอาการเช่นนี้ การปฏิบัติเองคนเดียว จำเป็นมากๆ ที่จะต้องมีผู้สอบอารมณ์ ไม่อย่างนั้นเราคงติดอยู่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่


Rank: 1

"หนูเดินจงกรมแบบช้าๆ ได้ไหมค่ะ"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูเดินจงกรมแบบช้าๆ ได้ไหมค่ะ หนูรู้สึกว่าหากเดินเหมือนในชีวิตปกติ ยิ่งฟุ้งและร้อนที่ใจ พอมาเดินช้าๆ ใจมันกลับเย็น

คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเดินช้าๆ เป็นการขัดจิต ขัดกิเลส แต่บางคนยิ่งเดินช้า ยิ่งง่วง แม่ก็ให้เขาเดินให้เร็วขึ้น แล้วลูกเดินจงกรมแบบไหน แบบพุทโธหรือไม่มีอะไรเลย 
ผู้ปฏิบัติธรรม : เดินไปเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ให้ลูกสังเกตเวลาเดิน ยกเท้าขึ้น เอ่ยคำว่าพุท ให้การรับรู้เท้าที่กำลังยก กับคำว่าพุทที่เอ่ยออกมา ให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ก่อนเท้าจะลงให้หยุดค้างไว้ ลูกจะเห็นคำว่าโธ ผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อน แล้วค่อยเอาเท้าลง พร้อมกับเอ่ยคำว่าโธขึ้นมาใหม่ ให้การรับรู้ที่เท้า กับคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

.......ผ่านไป 1 วัน.....

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูเดินอย่างที่คุณแม่บอก พอขายกขึ้น หนูหยุดค้างไว้ หนูเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ทั้งๆ ที่เท้ายังค้างไว้ พอคำว่าโธในใจดับ หนูก็เอ่ยขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับเอาเท้าลง หนูเห็นคำสั่งบอกให้ไปข้างหน้าด้วย หนูไม่ทำตาม แล้วหนูก็เห็นมันดับลง บางทีก็มีความคิดเข้ามาแทรก บางทีก็ปวดขาขึ้นมาค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ถ้าความคิดเกิดขึ้น ก็ให้หยุดขาค้างไว้ทันที ถ้าความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้เช่นกัน

....ผ่านไป 3 วัน....

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ พอมันคิด หนูหยุดขาค้างไว้ทันที หนูเห็นความคิดดับลง พอมันดับหนูก็ไปต่อ มันมาอีก หนูก็หยุดอีก หยุดๆ ไปๆ อยู่อย่างนี้ ตอนนี้มันไม่ค่อยโผล่มาแล้วค่ะ พอความปวดเกิดขึ้น หนูก็หยุดค้างไว้ หนูเห็นความปวดมันดับลง หนูนึกว่ามันจะปวดตลอด มันก็มีช่องว่างเหมือนกัน

คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเห็นการเกิดดับในตัวเรานี่แหละ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราออกจากวัฏสงสาร ถ้าไม่มีคำบริกรรม ก็ให้สังเกตจุดเดียวกัน จะยกเท้าก็ให้มีสติรู้ ก้าวไปก็ให้มีสติรู้ เหยียบไปก็ให้มีสติรู้ ขณะรู้จิตอยู่กับขามั้ย มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันมั้ย ยกขาก็ให้รู้ว่าจิตออกไปมั้ย อยู่กับปัจจุบันกับขามั้ย ขาขวายก มันอยู่กับขาหรือวิ่งออกไปข้างนอก มันออกไปก็ให้ใช้สติปัญญาดึงมันกลับคืนมา

ถ้าหยุดขาค้างไว้มันไม่กลับมา ก็ให้กำหนดคิดหนอๆๆ หรือฟุ้งหนอๆๆ จนกว่ามันจะกลับมา ถ้าเกิดความรู้สึกขึ้น ก็ให้กำหนดตามความรู้สึกนั้น เพื่อหยุดไม่ให้มันปรุงแต่งต่อ ถ้าฟุ้งมากก็ให้เดินแค่ 5 - 10 นาที แล้วนั่ง นั่ง 5 - 10 นาที แล้วลุกขึ้นเดิน สลับไปมาอย่างนี้จนครบชม. หรือจะบริกรรมออกเสียงดังๆ ก็ได้


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-23 04:02 , Processed in 0.039412 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.