แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: webmaster
go

ภาพพระปฐมสมโพธิ์ พุทธประวัติ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๕
พญามารห้ามบรรพชา อีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรแต่ไม่ทรงฟัง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทรงม้าพระที่นั่งผ่านประตูเมืองออกมาในเวลาราตรีที่มีแสงจันทร์กระจ่าง ก็มีเสียงคล้ายเสียงดนตรีขึ้นที่ข้างประตูนอกเมือง เสียงนั้นร้องห้ามเจ้าชายมิให้เสด็จออกบวช

เจ้าชายสิทธัตถะ "ท่านนี้มีนามชื่อใด"

เจ้าของเสียง "เราชื่อวัสสวดีมาร"

พญามารแจ้งข่าวให้เจ้าชายทรงทราบว่า อีกเจ็ดวันในเบื้องหน้า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จักรแก้วจัดเกิดขึ้น ผู้จะได้เป็นเจ้าของจักรแก้วนั้นคือเจ้าชาย จักรแก้วตามความหมายของพญามารในที่นี้คือ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

เจ้าชาย "เรื่องนี้เราทราบแล้ว"
พญามาร "ถ้าเช่นนั้น ท่านจะเสด็จออกบวชเพื่อประโยชน์อันใด"

เจ้าชาย "เพื่อสัพพัญญุตญาณ"

สัพพัญญุตญาณตามความหมายในพระดำรัสของเจ้าชาย คือ ความได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ความที่บรรยายมาทั้งหมดนั้น บรรยายความในวรรณคดีที่กวีท่านแต่งไว้ในปฐมสมโพธิ และที่พระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ในอรรถกถาธรรมบท โดยท่านสาธกให้เห็นเป็นปุคคลาธิษฐาน

ปุคคลาธิษฐาน คือ การแปลสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา หรือสัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ที่เรียกว่า "นามธรรม" แปลออกมาให้เห็นเป็นฉาก เป็นบุคคลซึ่งเป็นตัวแสดงในเรื่อง เหมือนนักเขียนนวนิยายที่ถ่ายทอดความรู้ออกมาทางตัวละคร ถ้าไม่สาธกอย่างนี้คนก็จะไม่เข้าใจ และท้องเรื่องก็จะจืด ความในวรรณคดีที่เป็นปุคคลาธิษฐานดังกล่าวข้างต้นนั้นถ้าว่าถึงเนื้อแท้ก็คือ พอเสด็จออกพ้นประตูเมือง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งทรงอยู่ในภาวะปุถุชน แม้พระทัยหนึ่งจะปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าแต่อีกพระทัยหนึ่งก็ยังทรงห่วงบ้านเมือง

ความที่ทรงห่วงนี้ กวีท่านจำลองออกมาในรูปของพญามารผู้ขัดขวาง แต่แล้วเจ้าชายก็ทรงเอาชนะเสียได้ จะเรียกว่าชนะพญามาร หรือชนะความห่วงที่เป็นข้าศึกในพระทัยนั้นก็ได้ทั้งนั้น

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา

ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า "กัณฐกะ" เป็นสหชาติคือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสพโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศรีษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ(หน้า) ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"

ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรรณนาให้เขื่อง และให้เห็นเป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญถ้าถอดความเป็นอย่างธรรมดา ก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิหรือบุคคลผู้ทรงความเป็นเอกในเรื่อง

เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความยินดีก็เปล่งเสียงร้องกังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์(ประมาณ ๔๐๐ เส้น) โดยรอบถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า "เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตธานหายไป..."ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง"

ถ้าถอดความจากเรื่องของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้ามากทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้

จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ "พระยาบาลทวาร" โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัดนาดลประเทศ(ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๓
เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิท เป็นนิมิตอำลาผนวช

พอสิ้นพระดำรัสถามของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็มีเสียงทูลขานรับ เจ้าของเสียงระบุชื่อตัวเองว่า "ฉันนะ"นายฉันนะคือมหาดเล็กคนสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะและ เป็น"สหชาติ" คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชายด้วย


ถ้าจะอุปมาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเป็นดุจบทละคร นายฉันนะก็เป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในเรื่อง ความสำคัญนั้นคือ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกผนวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกบวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นายฉันนะได้โดยเสด็จออกบวชด้วย พระฉันนะกลายเป็นพระหัวแข็ง ใครว่ากล่าวไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว เพราะพระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า เขาใช้สรรพนามเรียกเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าติดปากจนกระทั่งบวชเป็นพระอยู่คำเดียวคือ "พระลูกเจ้า"


ในตอนที่กล่าวนี้ นายฉันนะนอนอยู่ภายนอกห้องพระบรรทมของเจ้าชาย ศีรษะหนุนกับธรณีพระทวาร เมื่อเจ้าชายรับสั่งให้ไปเตรียมผูกม้า นายฉันนะก็รับพระบัญชารีบลงไปที่โรงม้า


ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วว่าจะเสด็จออกบวช เสด็จไปยังห้องพระบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายาและพระโอรส ที่เพิ่งได้ทอดเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก


ทรงหมายพระทัยว่า "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส..." "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส..." ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสีย ได้ว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า "จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง"


แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๒
ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะระอาพระทัย ใคร่ผนวช

ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง


ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.... " มุหุตหนึ่งคือ ครู่หนึ่ง


ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..." บรรดานางบำเรอฟ้องรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี


มุหุตหนึ่งหรือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ(น้ำลาย) อันหลั่งไหลนางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อเฝ้อจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่าบางนางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถาสำแดงที่สัมพาฐานให้ปรากฏ..."


เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับ แม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวม คือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระทวารว่า "ใครอยู่ที่นั่น"

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๑
ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณขณะเสด็จขึ้นสู่ปราสาท

เป็นภาพตอนต่อเนื่องมาจากตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน แต่ตอนนี้เป็นตอนเสด็จกลับเข้าเมืองพร้อมด้วยราชบริพารที่ตามเสด็จ สตรีที่ยืนเยี่ยมมองทางสิงหบัญชร หรือ หน้าต่างพระตำหนักที่เห็นอยู่นั้น ปฐมสมโพธิบอกว่าเป็น "นางขัตติราชกัญญาองค์หนึ่งแห่งเมืองกบิลพัสดุ์"ทรงพระนามว่า "กีสาโคตมี" เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะในทางพระญาติวงศ์อย่างไร ไม่ได้บอกไว้

แต่ในอรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียรจนาไว้บอกว่าเธอเป็นธิดาของพระเจ้าอา(หญิง) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงพระนางปมิตา และพระนางอมิตา ทั้งสองพระนางนี้เป็นพระกนิษฐาหรือน้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะแต่เป็นธิดาของพระเจ้าอาพระองค์พระองค์ไหนแน่ ท่านก็ไม่ได้บอกไว้

พระนางกีสาโคตมีได้ทรงเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับจากสรงสนานในสระโบกขรณีในพระราชอุทยานผ่านมา และทรงเห็นเจ้าชายงามบริบูรณ์ด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ก็ทรงปีติโสมนัส จึงตรัสพระคาถาชมเจ้าชายสิทธัตถะบทหนึ่ง พระคาถาคือคำกลอนหรือโศลกที่กวีแต่งร้อยกรอง ความเดิมเป็นภาษาบาลีว่า

"นิพพุตา นูน สา มาตา
นิพพุโต นูน โส ปิตา
นิพพุตา นูน สา นารี
ยัสสายัง อีทิ โส ปติ"


ถอดเป็นร้อยแก้วในภาษาไทยว่า "ผู้ใดได้เป็นพระราชมารดา และพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะผู้นั้นจะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายา สตรีนั้นก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ"

เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้ยินก็ชอบพระทัย ที่ทรงชอบที่สุดคือคำว่า "ดับ" ซึ่งพระองค์ทรงหมายพระทัยถึง "นิพพุต" หรือนิพพาน จึงทรงเปลื้อง "แก้วมุกดาหาร" เครื่องประดับพระศอราคาแสนกหาปณะ มอบให้ราชบุรุษนำไปมอบให้แก่นางกีสาโคตมี พระนางสำคัญหมายในพระทัยว่าเจ้าชายทรงมีพระทัยปฏิพันธ์เสน่หาในพระนาง ก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีเป็นอันมาก

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๐
ทรงสรงสนานน้ำในสระ ราชบุรุษไปทูลว่า พระนางพิมพาประสูติพระโอรสแล้ว

ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นเทวทูตที่ ๔ คือ นักบวช จนตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จออกบวชแน่นอนแล้ว ก็เสด็จด้วยรถพระที่นั่ง ที่ปฐมสมโพธิว่า "เทียมด้วย มงคลวรสิทธพทั้ง ๔ มีสีดังดอกโกกนุทปทุมบุปผาชาติ (ดอกบัวสีแดง) เสด็จไปถึงพระราชอุทยาน


เมื่อเสด็จไปถึง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งแวดล้อมไปด้วยคณานางอเนกนิกรสุรางคศักยราชกัญญา ก็เสด็จลงสรงสนานในสระโบกขรณี ที่เรียงรายระดาดาดด้วยเบญจปทุมชาติ

เสด็จอยู่ที่พระราชอุทยานเกือบทั้งวัน จนเกือบเย็นจึงมีเจ้าพนักงานจากราชสำนักผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้นำข่าวมาทูลให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงทราบ เจ้าพนักงานกราบทูลว่าพระนางพิมพายโสธราประสูติประโอรสแล้ว


พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาาธรรมบทได้พรรณนาความตอนนี้ไว้ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงทราบข่าวว่า พระชายาของพระองค์ประสูติพระโอรสแล้ว ทรงเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดกับพระองค์มาก่อนเลย คือ ความรักลูกยิ่งนัก


ความรักนั้นเกิดขึ้นแล้ว หนักหน่วงในพระทัย ผูกมัดรัดรึงพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก จนทรงอุทานออกมาว่า "พันธนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง"


แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว" คำที่แปลว่า "ห่วง" ในพระอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะคือ ราหุลัง หรือ ราหุล ต่อมาคำนี้ได้ถวายเป็นพระนามของราหุลกุมาร


ที่เจ้าชายสิทธัตถะเปล่งอุทานขึ้นว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว"นั้น หมายถึงว่า พระองค์กำลังติดสินพระทัยจะเสด็จออกบวช กำลังจะตัดห่วงหาอาลัยในฆราวาสอย่างอื่น ก็เกิดมีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดอีกเสียแล้ว

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๙
เสด็จประพาสอุทยาน ทรงเห็นเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต

พระเจ้าสุทโธทนะผู้พระราชบิดา และพระญาติวงศ์ทั้งปวงทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชิต อย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่างแต่เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นานพอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวทูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประสาทพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน

ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก และสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้อหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกาย ควรจะสังเวช.."

ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สามเมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้ว มีสว่าง มีร้อน แล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี

ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."

เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่งทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๘
พระบิดาทรงอภิเษกสมรส พระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา

ดังได้เคยบรรยายไว้ ณ ที่นี้มาแล้วว่าพระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดา และฝ่ายพระบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแน่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ ฝ่ายพระมารดามีชื่อว่า "โกลิยวงศ์" ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ "ศากยวงศ์" ครองเมืองกบิลพัสดุ์


ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือน้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีพระโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์พระโอรส คือ เทวทัต พระธิดา คือพระนางพิมพายโสธรา


ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติ คือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ

๑. พระนางพิมพายโสธรา
๒. พระอานนท์
๓. กาฬุทายีอำมาตย์
๔. นายฉันนะ มหาดเล็ก
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุนทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี)



พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้องด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชายและ
เจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๗
ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง

พอเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักครูที่มีชื่อว่า "วิศวามิตร" เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธยิงธนู และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์


ภาพที่เห็นนี้ เป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีแล้ว และทรงศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู เป็นจำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สองสำหรับฤดูร้อน ทั้งสองหลังนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมอุณหภูมิไม่ทราบได้ และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน


หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพระราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัดพระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช

แต่พระญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่พระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑล ที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมืองเพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า "สหัสถามธนู" แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า "ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย" บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้วต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครื้นครางไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมืองที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายทรงยิงธนูต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร

เป้าที่เจ้าชายยิงธนูวันนั้นคือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่า เจ้าชายทรงยิงถูก ขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า "ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน พระญาติวงศ์ทั้งปวง จึงยอมถวายพระราชธิดา ซึ่งมีพระนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วยเพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๖
ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ

ภาพนี้เป็นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชมมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอกบัวประดับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงพระพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น

ตอนที่เห็นภาพในนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ใต้ร่มไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า "ชมพูพฤกษ์" ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว้านั่นเอง เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ก็เพราะ พระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณี พระราชบิดา ซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนาเสียเองก็ได้ ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย
ภาพที่เห็นนี้อีกเหมือนกันจะเห็นเจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์เดียว ไม่เห็นพระสหายพระพี่เลี้ยงและมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรรณนาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ" อันมีพรรณอันเขียวประหนึ่งอิทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน...." พระทัยอันบริสุทธิ์ และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็นสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน"

แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตามดวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปฏิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้อนบนชฏาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติวันทนาการคำรบสอง"

พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก เมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 02:39 , Processed in 0.067401 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.