แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 17775|ตอบ: 23
go

ภาพพระปฐมสมโพธิ์ พุทธประวัติ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

ภาพพระปฐมสมโพธิ์ พุทธประวัติ




ภาพพระพุทธประวัตินี้ เป็นผลงานของครูเหม เวชกร จิตรกรฝีมือเอกของไทย ซึ่งเขียนภาพพระพุทธประวัติขึ้นตามพระราชดำริของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยาวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม และได้มอบลิขสิทธิ์ให้แก่ศึกษานิธิ วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์จำหน่าย ทั้งชุดมีทั้งหมด ๘๐ ภาพ โดยคัดเลือกเอาเหตุการณ์สำคัญๆ ของพระพุทธประวัติ จากหนังสือปฐมสมโพธิกถาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๗ ผู้เป็นรัตนกวีของชาติ

สมุดภาพพระพุทธประวัตินี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เคยตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของผู้จัดทำ ที่มุ่งหวังจะให้สมุดภาพชุดนี้เป็นประโยชน์ในการศึกษาพระพุทธประวัติเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจ


ที่มา http://www.soonphra.com/topic/bhudda/001.html

เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันติสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุมปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่างก็เล็งว่าพระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมา โปรดสัตวโลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติ อันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า


ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมอันเป็นองค์สมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการอันได้แก่


๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือ ความอดทนสูงสุด
๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยะบารมี คือ ความพากเพียรสูงสุด
๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี คือ ความเมตตาสูงสุด
๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์
๕. พระมโหสถ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี คือ ความมีปัญญาสูงสุด
๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด
๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี คือ ความอดกลั้นสูงสุด
๘. พระนารทพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือ การมีอุเบกขาสูงสุด
๙. พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจาบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด
๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี คือ การรู้จักให้ทานสูงสุด




ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๒
ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมาถือกำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์


ภาพนี้เป็นภาพตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อเสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา กับพระนางสิริมหามายา พระมารดาได้อภิเษกสมรสไม่นานคือวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในพระแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่าพระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูงเข้ามาหาพระนางปฐมสมโพธิพรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า


..."มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง....ชูงวงอันจันบุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี..."

ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่าเป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณนาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดาว่า


"...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใดก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างพื้นพระอุทรแห่งพระมารดาดุจสุวรรณปฏิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่พระโพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี..."


วันที่พระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์นั้น กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณนาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้นเช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับได้ยิน ตอนนั้น ถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่ากลองทิพย์บันลือลั่นนั้น คือ "นิมิต"หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอดหูหนวก คือ คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้วจะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้งมองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๓
พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว

ภาพนี้เป็นตอนประสูติ คนที่เคยอ่านพระพุทธประวัติหรือปฐมสมโพธิ และเคยเห็นภาพตามผนังโบสถ์ในวัดมาแล้ว คงพอเข้าใจ และดูออกว่าคืออะไร

ทารกที่เห็นนั่นคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวา และเปล่งพระวาจาเบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลี แปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า

"เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว"

กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายาส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้นคือพระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ้งไม้ ต้นไม่ใหญ่นี้คือต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่าไม้รังหรือเต็งรังอย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นไม้พันธุ์หนึ่งในตระกูลยางซึ่งมีอยู่ในอินเดีย ที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย

สถานที่ประสูตินี้เรียกว่า "ลุมพินี" อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล
แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อยกล่าวคือเมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือ กบิลพัสดุ์และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเทวทหะเป็นเมืองแม่พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวทหะ กษัตริย์และเจ้านายจากสองเมืองนี้ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส

เมื่อพระนางมายาจวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาพระสามี คือพระเจ้าสุทโธทนะ เพื่อประสูติพระโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหรณ์ที่ว่า สตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะทรงประชวรเสียก่อน เลยจึงประสูติที่นั่น

วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นคือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๔
อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นพระกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม

ภาพนี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้าประสูติแล้วใหม่ๆ คือภายหลังพระพุทธบิดาทราบข่าวพระนางมายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุพินี แล้วรับสั่งให้เสด็จกลับเข้าเมืองแล้ว

ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ "อสิตดาบส" หรือบางแห่งเรียกว่า "กาฬเทวินดาบส" ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย

เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรสใหม่จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม ก็ทรงดีพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะ แล้วทรงอุ้มพระราชโอรสมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส

พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธธัตถะ ก็ทำกิริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้ม หรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ

ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรามหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่าคนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้บวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่า เจ้าชายราชกุมารนี้จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้วเลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้

ฝ่ายเจ้านายในราชตะกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๕
พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมารถวายพระนามว่าพระสิทธัตถะ

ภายหลังเจ้าชายราชกุฎมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ ทั้งฝ่ายพระบิดา และฝ่ายพระมารดา มุขอำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท เพื่อทำพิธีมงคลแก่พระราชกุมารสองอย่าง คือ ขนานพระนาม และพยากรณ์พระลักษณะ ผู้ทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหรณ์ มีทั้งหมด ๑๐๘ แต่พราหรณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริงๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหรณ์ทั้ง ๘ มีรายนามดังนี้ คือ

๑. รามพราหมณ์
๕. โภชพราหมณ์
๒. ลักษณพราหมณ์

๖. สุทัตตพราหมณ์
๓. ยัญญพราหมณ์

๗. สุยามพราหมณ์
๔. ธุชพราหมณ์

๘. โกณฑัญญพราหมณ์

ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า "เจ้าชายสิทธัตถะ" ซึ่งเป็นมงคลนาม มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัยหนึ่งหมายความว่า พระโอรสพระองค์แรกสมดังที่พระบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวนไทยในภาษาสามัญก็ว่า ได้ลูกชายคนแรกสมตามที่ต้องการ

พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน "พระโคตร"ตรงกับภาษาไทยทุกวันนี้ว่า "นามสกุล" คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า "เจ้าชายโคตมะ" หรือ "โคดม"

พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณะ คำพยากรณ์แตกความเห็นเป็น ๒ กลุ่ม พรากรณ์ ๗ คน ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๗ ตามรายนามที่ระบุไว้แล้ว มีความเห็นเป็นเงื่อนไขในคำพยากรณ์ว่าถ้าเจ้าชายนี้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ จักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก

มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พรากรณ์เป็นมติเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขว่า พระราชกุมารนี้จัดเสด็จออกทรงผนวช และได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่า "พระอัญญาโกณฑัญญะ" นั่นเอง ที่เหลืออีก ๗ ไม่ได้ตามเสด็จออกบวช เพราะชรามาก อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๖
ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ

ภาพนี้เป็นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชมมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอกบัวประดับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงพระพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น

ตอนที่เห็นภาพในนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ใต้ร่มไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า "ชมพูพฤกษ์" ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว้านั่นเอง เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ก็เพราะ พระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณี พระราชบิดา ซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนาเสียเองก็ได้ ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย
ภาพที่เห็นนี้อีกเหมือนกันจะเห็นเจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์เดียว ไม่เห็นพระสหายพระพี่เลี้ยงและมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรรณนาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ" อันมีพรรณอันเขียวประหนึ่งอิทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน...." พระทัยอันบริสุทธิ์ และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็นสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน"

แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตามดวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปฏิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้อนบนชฏาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติวันทนาการคำรบสอง"

พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก เมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๗
ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง

พอเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักครูที่มีชื่อว่า "วิศวามิตร" เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธยิงธนู และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์


ภาพที่เห็นนี้ เป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีแล้ว และทรงศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู เป็นจำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สองสำหรับฤดูร้อน ทั้งสองหลังนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมอุณหภูมิไม่ทราบได้ และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน


หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพระราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัดพระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช

แต่พระญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่พระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑล ที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมืองเพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า "สหัสถามธนู" แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า "ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย" บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้วต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครื้นครางไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมืองที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายทรงยิงธนูต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร

เป้าที่เจ้าชายยิงธนูวันนั้นคือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่า เจ้าชายทรงยิงถูก ขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า "ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน พระญาติวงศ์ทั้งปวง จึงยอมถวายพระราชธิดา ซึ่งมีพระนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วยเพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๘
พระบิดาทรงอภิเษกสมรส พระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา

ดังได้เคยบรรยายไว้ ณ ที่นี้มาแล้วว่าพระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดา และฝ่ายพระบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแน่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ ฝ่ายพระมารดามีชื่อว่า "โกลิยวงศ์" ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ "ศากยวงศ์" ครองเมืองกบิลพัสดุ์


ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือน้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีพระโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์พระโอรส คือ เทวทัต พระธิดา คือพระนางพิมพายโสธรา


ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติ คือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ

๑. พระนางพิมพายโสธรา
๒. พระอานนท์
๓. กาฬุทายีอำมาตย์
๔. นายฉันนะ มหาดเล็ก
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุนทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี)



พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้องด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชายและ
เจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๙
เสด็จประพาสอุทยาน ทรงเห็นเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต

พระเจ้าสุทโธทนะผู้พระราชบิดา และพระญาติวงศ์ทั้งปวงทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชิต อย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่างแต่เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นานพอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวทูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประสาทพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน

ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก และสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้อหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกาย ควรจะสังเวช.."

ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สามเมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้ว มีสว่าง มีร้อน แล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี

ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."

เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่งทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๐
ทรงสรงสนานน้ำในสระ ราชบุรุษไปทูลว่า พระนางพิมพาประสูติพระโอรสแล้ว

ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นเทวทูตที่ ๔ คือ นักบวช จนตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จออกบวชแน่นอนแล้ว ก็เสด็จด้วยรถพระที่นั่ง ที่ปฐมสมโพธิว่า "เทียมด้วย มงคลวรสิทธพทั้ง ๔ มีสีดังดอกโกกนุทปทุมบุปผาชาติ (ดอกบัวสีแดง) เสด็จไปถึงพระราชอุทยาน


เมื่อเสด็จไปถึง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งแวดล้อมไปด้วยคณานางอเนกนิกรสุรางคศักยราชกัญญา ก็เสด็จลงสรงสนานในสระโบกขรณี ที่เรียงรายระดาดาดด้วยเบญจปทุมชาติ

เสด็จอยู่ที่พระราชอุทยานเกือบทั้งวัน จนเกือบเย็นจึงมีเจ้าพนักงานจากราชสำนักผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้นำข่าวมาทูลให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงทราบ เจ้าพนักงานกราบทูลว่าพระนางพิมพายโสธราประสูติประโอรสแล้ว


พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาาธรรมบทได้พรรณนาความตอนนี้ไว้ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงทราบข่าวว่า พระชายาของพระองค์ประสูติพระโอรสแล้ว ทรงเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเกิดกับพระองค์มาก่อนเลย คือ ความรักลูกยิ่งนัก


ความรักนั้นเกิดขึ้นแล้ว หนักหน่วงในพระทัย ผูกมัดรัดรึงพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก จนทรงอุทานออกมาว่า "พันธนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง"


แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว" คำที่แปลว่า "ห่วง" ในพระอุทานของเจ้าชายสิทธัตถะคือ ราหุลัง หรือ ราหุล ต่อมาคำนี้ได้ถวายเป็นพระนามของราหุลกุมาร


ที่เจ้าชายสิทธัตถะเปล่งอุทานขึ้นว่า "ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว"นั้น หมายถึงว่า พระองค์กำลังติดสินพระทัยจะเสด็จออกบวช กำลังจะตัดห่วงหาอาลัยในฆราวาสอย่างอื่น ก็เกิดมีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดอีกเสียแล้ว

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 22:38 , Processed in 0.039745 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.