แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: webmaster
go

ภาพพระปฐมสมโพธิ์ พุทธประวัติ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๑
ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณขณะเสด็จขึ้นสู่ปราสาท

เป็นภาพตอนต่อเนื่องมาจากตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน แต่ตอนนี้เป็นตอนเสด็จกลับเข้าเมืองพร้อมด้วยราชบริพารที่ตามเสด็จ สตรีที่ยืนเยี่ยมมองทางสิงหบัญชร หรือ หน้าต่างพระตำหนักที่เห็นอยู่นั้น ปฐมสมโพธิบอกว่าเป็น "นางขัตติราชกัญญาองค์หนึ่งแห่งเมืองกบิลพัสดุ์"ทรงพระนามว่า "กีสาโคตมี" เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะในทางพระญาติวงศ์อย่างไร ไม่ได้บอกไว้

แต่ในอรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียรจนาไว้บอกว่าเธอเป็นธิดาของพระเจ้าอา(หญิง) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงพระนางปมิตา และพระนางอมิตา ทั้งสองพระนางนี้เป็นพระกนิษฐาหรือน้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะแต่เป็นธิดาของพระเจ้าอาพระองค์พระองค์ไหนแน่ ท่านก็ไม่ได้บอกไว้

พระนางกีสาโคตมีได้ทรงเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับจากสรงสนานในสระโบกขรณีในพระราชอุทยานผ่านมา และทรงเห็นเจ้าชายงามบริบูรณ์ด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ก็ทรงปีติโสมนัส จึงตรัสพระคาถาชมเจ้าชายสิทธัตถะบทหนึ่ง พระคาถาคือคำกลอนหรือโศลกที่กวีแต่งร้อยกรอง ความเดิมเป็นภาษาบาลีว่า

"นิพพุตา นูน สา มาตา
นิพพุโต นูน โส ปิตา
นิพพุตา นูน สา นารี
ยัสสายัง อีทิ โส ปติ"


ถอดเป็นร้อยแก้วในภาษาไทยว่า "ผู้ใดได้เป็นพระราชมารดา และพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะผู้นั้นจะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายา สตรีนั้นก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ"

เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้ยินก็ชอบพระทัย ที่ทรงชอบที่สุดคือคำว่า "ดับ" ซึ่งพระองค์ทรงหมายพระทัยถึง "นิพพุต" หรือนิพพาน จึงทรงเปลื้อง "แก้วมุกดาหาร" เครื่องประดับพระศอราคาแสนกหาปณะ มอบให้ราชบุรุษนำไปมอบให้แก่นางกีสาโคตมี พระนางสำคัญหมายในพระทัยว่าเจ้าชายทรงมีพระทัยปฏิพันธ์เสน่หาในพระนาง ก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีเป็นอันมาก

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๒
ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะระอาพระทัย ใคร่ผนวช

ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง


ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.... " มุหุตหนึ่งคือ ครู่หนึ่ง


ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..." บรรดานางบำเรอฟ้องรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี


มุหุตหนึ่งหรือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ(น้ำลาย) อันหลั่งไหลนางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อเฝ้อจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่าบางนางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถาสำแดงที่สัมพาฐานให้ปรากฏ..."


เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับ แม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวม คือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระทวารว่า "ใครอยู่ที่นั่น"

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๓
เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิท เป็นนิมิตอำลาผนวช

พอสิ้นพระดำรัสถามของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็มีเสียงทูลขานรับ เจ้าของเสียงระบุชื่อตัวเองว่า "ฉันนะ"นายฉันนะคือมหาดเล็กคนสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะและ เป็น"สหชาติ" คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชายด้วย


ถ้าจะอุปมาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเป็นดุจบทละคร นายฉันนะก็เป็นตัวละครที่สำคัญคนหนึ่งในเรื่อง ความสำคัญนั้นคือ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกผนวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ เมื่อภายหลังเจ้าชายได้เสด็จออกบวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นายฉันนะได้โดยเสด็จออกบวชด้วย พระฉันนะกลายเป็นพระหัวแข็ง ใครว่ากล่าวไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว เพราะพระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า เขาใช้สรรพนามเรียกเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าติดปากจนกระทั่งบวชเป็นพระอยู่คำเดียวคือ "พระลูกเจ้า"


ในตอนที่กล่าวนี้ นายฉันนะนอนอยู่ภายนอกห้องพระบรรทมของเจ้าชาย ศีรษะหนุนกับธรณีพระทวาร เมื่อเจ้าชายรับสั่งให้ไปเตรียมผูกม้า นายฉันนะก็รับพระบัญชารีบลงไปที่โรงม้า


ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วว่าจะเสด็จออกบวช เสด็จไปยังห้องพระบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายาและพระโอรส ที่เพิ่งได้ทอดเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก


ทรงหมายพระทัยว่า "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส..." "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส..." ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสีย ได้ว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า "จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง"


แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา

ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า "กัณฐกะ" เป็นสหชาติคือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสพโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศรีษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ(หน้า) ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"

ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรรณนาให้เขื่อง และให้เห็นเป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญถ้าถอดความเป็นอย่างธรรมดา ก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิหรือบุคคลผู้ทรงความเป็นเอกในเรื่อง

เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความยินดีก็เปล่งเสียงร้องกังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์(ประมาณ ๔๐๐ เส้น) โดยรอบถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า "เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตธานหายไป..."ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง"

ถ้าถอดความจากเรื่องของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้ามากทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้

จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ "พระยาบาลทวาร" โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัดนาดลประเทศ(ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๕
พญามารห้ามบรรพชา อีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรแต่ไม่ทรงฟัง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทรงม้าพระที่นั่งผ่านประตูเมืองออกมาในเวลาราตรีที่มีแสงจันทร์กระจ่าง ก็มีเสียงคล้ายเสียงดนตรีขึ้นที่ข้างประตูนอกเมือง เสียงนั้นร้องห้ามเจ้าชายมิให้เสด็จออกบวช

เจ้าชายสิทธัตถะ "ท่านนี้มีนามชื่อใด"

เจ้าของเสียง "เราชื่อวัสสวดีมาร"

พญามารแจ้งข่าวให้เจ้าชายทรงทราบว่า อีกเจ็ดวันในเบื้องหน้า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จักรแก้วจัดเกิดขึ้น ผู้จะได้เป็นเจ้าของจักรแก้วนั้นคือเจ้าชาย จักรแก้วตามความหมายของพญามารในที่นี้คือ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

เจ้าชาย "เรื่องนี้เราทราบแล้ว"
พญามาร "ถ้าเช่นนั้น ท่านจะเสด็จออกบวชเพื่อประโยชน์อันใด"

เจ้าชาย "เพื่อสัพพัญญุตญาณ"

สัพพัญญุตญาณตามความหมายในพระดำรัสของเจ้าชาย คือ ความได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ความที่บรรยายมาทั้งหมดนั้น บรรยายความในวรรณคดีที่กวีท่านแต่งไว้ในปฐมสมโพธิ และที่พระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ในอรรถกถาธรรมบท โดยท่านสาธกให้เห็นเป็นปุคคลาธิษฐาน

ปุคคลาธิษฐาน คือ การแปลสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา หรือสัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ที่เรียกว่า "นามธรรม" แปลออกมาให้เห็นเป็นฉาก เป็นบุคคลซึ่งเป็นตัวแสดงในเรื่อง เหมือนนักเขียนนวนิยายที่ถ่ายทอดความรู้ออกมาทางตัวละคร ถ้าไม่สาธกอย่างนี้คนก็จะไม่เข้าใจ และท้องเรื่องก็จะจืด ความในวรรณคดีที่เป็นปุคคลาธิษฐานดังกล่าวข้างต้นนั้นถ้าว่าถึงเนื้อแท้ก็คือ พอเสด็จออกพ้นประตูเมือง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งทรงอยู่ในภาวะปุถุชน แม้พระทัยหนึ่งจะปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าแต่อีกพระทัยหนึ่งก็ยังทรงห่วงบ้านเมือง

ความที่ทรงห่วงนี้ กวีท่านจำลองออกมาในรูปของพญามารผู้ขัดขวาง แต่แล้วเจ้าชายก็ทรงเอาชนะเสียได้ จะเรียกว่าชนะพญามาร หรือชนะความห่วงที่เป็นข้าศึกในพระทัยนั้นก็ได้ทั้งนั้น

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๖
ทรงตัดพระโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมาฆฏิการพรหมถวายอัฐบริขาร

เจ้าชายสิธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไปสว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถามนามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า "พระลูกเจ้า! แม่น้ำนี้ชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า"

ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อันขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระจรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลายพระเกศากับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่นุ่มเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบเหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา

เสด็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอย่างอื่นของนักบวช แล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั่นเอง

ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไปแต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา

เจ้าชายหรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า "พระมหาบุรษ" ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ

ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคนเดียว

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๗
เสด็จจาริกผ่านกรุงราชคฤห์ มหาชนเห็นแล้วก็โจษจันกันทั่วเมือง

เมื่อนายฉันนะ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์กลับคืนไปแจ้งข่าวทางเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว พระมหาบุรุษ หรือก่อนแต่นี้คือเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จจากหาดทรายชายฝั่งแม่น้ำอโนมาไปยังตำบลที่มีป่ามะม่วงมากแห่งหนึ่งที่เรียกโดยชื่อว่า "อนุปิยอัมพวัน" ตำบลนี้อยู่ในเขตแขวงมัลลชนบท ประทับอยู่ที่นี่หนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ ๘ จึงเสด็จจาริกเข้าแคว้นมคธไปโดยลำดับจนถึงกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นในสมัยนั้น

แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่ มั่งคั่ง มากด้วยพลเมืองและมีอำนาจเท่าเทียมกับอีกแคว้นหนึ่งในสมัยเดียวกันนี้คือ แคว้นโกศล ซึ่งมีกรุงสาวัตถีเป็นเมืองหลวง

กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ของกรุงราชคฤห์แห่งแห่งแคว้นมคธ ในสมัยที่กล่าวนี้ทรงพระนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระมหาบุรุษ ขณะที่กล่าวนี้จึงทรงเป็นกษัตริย์หนุ่ม

เวลาเช้า พระมหาบุรุษเสด็จเข้าเมือง ชาวเมืองเกิดอาการที่ปฐมสมโพธิรายงานไว้ว่า "ตื่นเอิกเกริกโกลาหลทั่วทั้งพระนคร" เพราะได้เห็นนักบวชที่ทรงรูปสิริลักษณะเลิศบุรุษ จะว่าเป็นเทวดาหรือนาค สุบรรณ (ครุฑ) คนธรรพ์ ทานพ (อสูรจำพวกหนึ่งในนิยาย) ประการใดก็มิได้รู้ เข้ามาสู่พระนคร เที่ยวโคจรบิณฑบาตประหลาดนัก ต่างก็โจษจันกันทั่วเมือง

เจ้าชายสิทธัตถะ หรือขณะนี้คือพระมหาบุรุษ และต่อมาคือพระพุทธเจ้า ทรงเกิด ในขัตติยสกุลคือสกุลกษัตริย์ ทรงป็นอุภโตสุชาต คือ ทรงมีพระชาติกำเนิดเป็นกษัตริย์บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา ทรงมีผิวพรรณที่ภาษาบาลี เรียกว่า "กาญจนาวัณโณ" แปลตามตัวว่าผิวทอง ความหมายก็คือผิวเหลืองขาว ทรงมีพระรูปโฉมสง่างาม ถึงแม้จะทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ และทรงนุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์อย่างนักบวชผู้สละทิ้งความงามทางฆราวาสวิสัยแล้วก็ตาม แต่พระอาการกิริยาเวลาเสด็จดำเนินก็ยังคงลีลาของกษัตริย์ชัดเจน คือสง่างามผิดแผกสามัญชนแห่งกรุงราชคฤห์

เพราะเหตุนี้ เมื่อชาวเมืองราชคฤห์ได้เห็น จึงแตกตื่นกัน จนความทราบไปถึงพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชาธิบดีแห่งกรุงราชคฤห

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๘
พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้า ทูลขอปฏิญาณว่าถ้าตรัสรู้แล้ว ขอให้มาโปรดก่อน

พระเจ้าพิมพิสารได้ทราบความที่ชาวเมืองต่างโจษจันกันถึงเรื่องนักบวชหนุ่ม ผู้ทรงความสง่างามผิดจากนักบวชอื่นๆ เข้ามาในเมือง จึงทรงสั่งเจ้าพนักงานไปสืบความดู หนังสือปฐมสมโพธิเรียบเรียงพระดำรับสั่ง ของพระเจ้าพิมพิสารตอนนี้ไว้ว่า

"ท่านจงสะกดตามบทจรไปดู ให้รู้ตระหนักแน่ แม้ว่าเป็นเทพยดาก็จะเหาะไปในอากาศ ผิวะเป็นพญานาคก็ชำแรกปฐพีไปเป็นแท้ แม้ว่าเป็นมนุษย์ก็จะไปนั่งบริโภคภัตตาหารโดยควรประมาณแก่ตนได้ จงไปพิจารณาดูให้รู้เหตุประจักษ์"

ฝ่ายพระมหาบุรุษเมื่อทรงรับอาหารบิณฑบาตพอควรจากชาวเมืองแล้ว ก็เสด็จออกจากเมืองไปที่เงื้อมภูเขานอกเมืองแห่งหนึ่ง แล้วทรงตั้งสติพิจารณาปรารภที่จะเสวยอาหารที่ทรงได้มาจากการเสด็จบิณฑบาต อาหารที่ว่านี้เป็นจำพวกที่เรียกว่า "มิสกภัตร" คือ อาหารที่คละระคนปนกันทุกชนิด ทั้งดีและเลวทั้งน้ำและแห้ง ทั้งคาวและหวาน

พระมหาบุรุษทรงเห็นทรงเกิดพระอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งปฐมโพธิพรรณาไว้ว่า "ปานประหนึ่งลำไส้ใหญ่จะกลับออกมาทางพระโอษฐ์ เหตุพระองค์เคยเสวยประณีตโภชนาหารปานประอุจทิพย์สุธาโภชน์..." แต่ทรงข่มพระทัยด้วยคุณธรรมของนักบวชเสียได้ จึงเสวยอาหารนั้นอย่างปกติ

พระเจ้าพิมพิสารกับพระมหาบุรุษทรงเป็น "อทิฎญสหาย" กัน แปลว่า ทรงเป็นพระสหายที่เคยแต่ได้ยินพระนามกันมาก่อน แต่ไม่เคยเห็นกันและกันเลย เมื่อทรงทราบเรื่องจากเจ้าพนักงานกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้าพระมหาบุรุษ พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธ และทรงแจ้งถึงความแน่วแน่ในพระทัยที่จะแสวงหาความตรัสรู้

พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสขอปฏิญาณว่า ถ้าได้ตรัสรู้แล้วให้เสด็จมาโปรด พระมหาบุรุษทรงรับปฏิญาณนั้น


ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๑๙
เสด็จไปศึกษาลักธิฤาษีชีป่ากับอาฬารดาบสเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ก็ทรงหลีกไป

ในสมัยที่กล่าวนี้ แคว้นมคธมีนักบวชที่ตั้งตนเป็นคณาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงมากคณะด้วยกัน แต่ละคณะต่างก็มีศิษย์สาวก และมีคนนับถือมาก กรุงราชคฤห์ก็เป็นที่สัญจรจาริกผ่านไปมาของเจ้าลัทธิต่างๆเพื่อเผยแพร่ลัทธิของตนให้คนเลื่อมใส

คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช ซึ่งอยู่ในแคว้นนี้มีสองคณะด้วยกันคือ คณะอาฬารดาบสกาลามโคตร และคณะอุทกดาบสรามบุตร ทั้งสองคณะนี้ตั้งอาศรมสอนศิษย์อยู่ป่านอกเมือง

พระมหาบุรุษจึงเสด็จไปยังที่นี่ เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนและทดลองดูว่าจะเป็นทางตรัสรู้หรือไม่ เสด็จไปทรงศึกษาที่สำนักแรกก่อนทรงศึกษาจนสิ้นความรู้ของท่านคณาจารย์เจ้าสำนักแล้วทรงเห็นว่า ยังมิใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จไปทรงศึกษาในสำนักคณาจารย์ที่สอง ทรงได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นนิดหน่อยแต่ก็ได้เพียงสมาบัติแปด

"สมาบัติ" หมายถึง ฌาน คือวิธีทำจิตใจให้เป็นสมาธิ มีตั้งแต่อย่างหยาบขึ้นไปจนถึงละเอียดที่สุดทั้งหมดมีแปดชั้นด้วยกัน ทรงเห็นว่า จิตใจระดับนี้ก็ยังอยู่ในชั้นของโลกีย์ ปุถุชนสามารถมีได้แต่มีแล้วยังเสื่อมได้ ยังไม่ใช่โลกุตตระคือทางหลุดพ้น

ท่านคณาจารย์ทั้งสองสำนักชวนพระมหาบุรุษให้อยู่ด้วยกัน เพื่อช่วยสั่งสอนศิษย์สาวกต่อไปทั้งสองท่านสรรเสริญพระมหาบุรุษว่า ทรงมีความรู้ยอดเยี่ยมเทียมกันตน แต่พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธคำเชิญชวนนั้นเสีย

เมื่อทรงทดลองลัทธิคณาจารย์ที่มหาชนยกย่องนับถือว่ามีความรู้สูงสุด แต่ทรงเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ได้ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์แล้ว พระมหาบุรุษจึงทรงดำริจะลองทดลองสิ่งที่นักบวชนักพรตจำวนมากสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน ว่าจะเป็นทางตรัสรู้หรือไม่ ทางนั้นก็คือทุกกรกิริยา ที่หมายถึงการบำเพ็ญเพียรที่เข้มงวด เกินที่วิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้ ที่คนทั่วไปเรียกว่าทรมานตนให้ได้รับความลำบากนั่นเอง

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก

Rank: 9Rank: 9Rank: 9



ภาพที่ ๒๐
เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมอันสงัดเงียบทรงพอพระทัยประทับบำเพ็ญเพียรที่นั่น

พระมหาบุรุษทรงอำลาท่านคณาจารย์ทั้งสองแล้วออกจากที่นั่น แล้วเสด็จจาริกแสวงหาที่สำหรับทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อทดลองทุกกรกิริยาที่คนสมัยนั้นนิยมทำกันดังกล่าว แล้วเสด็จไปถึงตำบลแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตแขวงมคธเหมือนกัน มีนามว่า "อุรุเวลาเสนานิคม" อุรุเวลา แปลว่า กองทราย เสนานิคม แปลว่า ตำบล หมู่บ้าน

พื้นที่ตำบลแห่งนี้เป็นที่ราบรื่น มีแนวป่าเขียวสด เป็นที่น่าเบิกบานใจ มีแน่น้ำเนรัญชรา น้ำไหลใสสะอาด มีท่าสำหรับลงอาบ มีหมู่บ้านตั้งอยู่โดยรอบ ไม่ใกล้เกินไป และไม่ไกลเกินไป เหมาะสำหรับเป็นที่อาศัยเที่ยวบิณฑบาตของนักบวชบำเพ็ญพรต

อุรุเวลาเสนานิคม ถ้าจะเรียกอย่างไทยเราก็คงจะเรียกได้ว่าหมู่บ้านกองทราย หรือหมู่บ้านทรายงามอะไรอย่างนั้น

คัมภีร์อรรถกถาชื่อ "สมัตปสาทิกา" เล่ม ๓ ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย สมัยหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เป็นผู้แต่งได้เล่าประวัติของกองทรายที่ตำบลนี้ไว้ว่า ในอดีตสมัย ที่นี่เคยเป็นที่บำเพ็ญเพียร ของพวกนักพรตจำนวนมาก

นักพรตที่มาตั้งอยู่ที่นี่ตั้งระเบียบข้อบังคับปกครองกันเองไว้ว่า ความผิดของคนที่แสดงออกทางกายวาจานั้นพอมองเห็นได้ ส่วนทางใจไม่มีใครมองเห็นเลย ใครจะคิดผิดชั่วอย่างไรก็มองไม่เห็น ลงโทษว่ากล่าวกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดคิดชั่ว เช่น เกิดอารมณ์ความใคร่ขึ้นมาเมื่อใดละก็ ขอให้ผู้นั้นลงโทษตัวเอง โดยวิธีนำบาตรไปตักเอาทรายมาเทกองไว้หนึ่งคนหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งบาตร เป็นการประจานตัวเองให้คนอื่นรู้ ด้วยเหตุนี้ ภูเขากองทรายหรืออุรุเวลา ซึ่งเสมือนหนึ่งอนุสรณ์แห่งกองกิเลสของพระฤาษีเก่าก่อนจึงเกิดขึ้น

สมัยพระพุทธเจ้า บริเวณตำบลบ้านแห่งนี้เรียกกันว่า "อุรุเวลาเสนานิคม" แต่มาสมัยหลังกระทั่งทุกวันนี้เรียกบริเวณตำบลแห่งนี้ว่า "พุทธคยา" ซึ่งปัจจุบันวัดไทยพุทธคยาก็ตั้งอยู่ที่นั่น

พระมหาบุรุษทรงเลือกตำบลนี้เป็นที่บำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นบททดลองอีกบทหนึ่งว่าจะเป็นทางตรัสรู้หรือไม่

ไฟล์แนบ: คุณจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถดูและดาวน์โหลดไฟล์แนบได้ หากยังไม่มีแอคเคานต์หรือยังไม่ได้เป็นสมาชิก กรุณาสมัครสมาชิก
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-14 14:15 , Processed in 0.131778 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.