แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

DSC01208.jpg


การฟื้นฟูชุมชนเวียงกุมกาม ต่อมาระยะหลังในสมัยธนบุรี เมื่อลำน้ำแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนเส้นทางมาไหลผ่านทางด้านตะวันตกของเวียงกุมกามแล้ว ก็ปรากฏหลักฐานชื่อชุมชนในพื้นที่เขตนี้ใหม่ว่า ท่าวังตาล อันหมายถึงชุมชนที่ตั้งบ้านเรือน และทำมาหากินในเขตฝั่งตะวันออกใกล้แม่น้ำปิง ขณะเดียวกันพื้นที่เขตเวียงกุมกามเดิมได้ใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่นาปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการทำสวนลำไยกันมาก หรือปลูกไว้ตามเขตบ้านพักอาศัยแทบทุกหลังคาเรือน การเริ่มมีชุมชนบ้านเรือนขยายตัวออกไปอยู่อาศัยกันมากขึ้นในปัจจุบันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตขยายตัวของเมืองและชุมชน จากการใช้วิเทโศบาย เก็บผักใส่ซ้า-เก็บข้าใส่เมือง ของเจ้าหลวงกาวิละ (พ.ศ.๒๓๒๔ - ๒๓๕๘) ประมาณระยะเวลาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา


DSC01215.jpg



เวียงกุมกาม อาจจะยังเป็นชื่อที่ยังไม่แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๒๗ ที่ผ่านมานั้น ได้มีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณเวียงกุมกาม ปรากฏว่าได้พบหลักฐานที่สำคัญและน่าสนใจเป็นอันมาก ซึ่งหลักฐานดังกล่าวเหล่านั้นจะช่วยคลี่คลายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางตอน โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างแคว้นหริภุญชัยมาสู่แคว้นล้านนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลาจารึกที่ขุดค้นพบที่บริเวณแหล่งขุดค้นเวียงกุมกามนี้นั้น เป็นหลักฐานชิ้นที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอักษรไทย ซึ่งยังไม่ปรากฏพบที่แห่งใดมาก่อน ด้วยเหตุนี้บทความดังกล่าวจึงมุ่งเน้นที่จะแสดงเรื่องราวของเวียงกุมกามให้รู้จัก และแสดงหลักฐานที่สำคัญที่ค้นพบดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งต่อไป

สภาพปัจจุบันของเวียงกุมกาม เวียงกุมกามถูกทำลายลงไปมาก จากรายงานของหน่วยศิลปากรที่ ๔ กองโบราณคดี กรมศิลปากรได้สำรวจไว้ ปรากฏพบร่องรอยแนวกำแพงเมือง ซากโบราณสถานและวัตถุและเศษเครื่องปั้นดินเผามากมาย ดังนั้นจึงได้บูรณะในส่วนที่เป็นซากโบราณสถานขึ้น วัดต่างๆ ในเวียงกุมกาม (โบราณสถานที่ขุดแต่งบูรณะแล้ว) วัดร้าง ๒๔ แห่ง และวัดที่มีพระสงฆ์ ๖ แห่ง รวมพิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามอีก ๑ แห่ง


DSC01209.jpg



การย้อนรอยประวัติศาสตร์ ณ เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้ เราจะไปทั้งหมด ๓๐ แห่ง ดังนี้


๑.  วัดเสาหิน  

๒.  วัดศรีบุญเรือง  
๓.  วัดพันเลา  
๔.  วัดหัวหนอง  
๕.  วัดกู่ต้นโพธิ์  
๖.  วัดกู่มะเกลือ
๗.  วัดกู่อ้ายหลาน

๘.  วัดกุมกามหมายเลข ๑  
๙.  วัดกุมกาม    
๑๐.  วัดธาตุน้อย
๑๑.  วัดอีค่าง  

๑๒.  วัดหนานช้าง  
๑๓.  วัดปู่เปี้ย  
๑๔.  วัดกู่ป้าด้อม  
๑๕.  พิพิธภัณฑ์และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม
๑๖.  วัดกู่ขาว  

๑๗.  วัดกุมกามทีปราม  
๑๘.  วัดกุมกามทีปราม หมายเลข ๑ (วัดข่อยสามต้น)  
๑๙.  วัดกู่ไม้ซ้ง   
๒๐.  วัดกู่ริดไม้  
๒๑.  วัดกู่อ้ายสี
๒๒.  วัดกอมะม่วงเขียว  

๒๓.  วัดบ่อน้ำทิพย์  
๒๔.  วัดโบสถ์ (อุโบสถ)  
๒๕.  วัดป่าเปอะ  
๒๖.  วัดพญามังราย  
๒๗.  วัดพระเจ้าองค์ดำ
๒๘.  วัดธาตุขาว
๒๙.  วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)  (พระเกศาธาตุ , พระบรมธาตุคางเบื้องขวา)           
๓๐.  วัดช้างค้ำ (วัดกานโถม) (พระบรมธาตุเจดีย์)
        

tumblr_mpjrgjDVov1r0sn0fo1_500.png



DSC00187.jpg


ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอเชิญชวนสมาชิกทุกท่านร่วมเดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปด้วยกันในครั้งนี้  ด้วยความเคารพความกล้าหาญของบรรพชนในอดีตกาล...

โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การศึกษาเรื่องราวประวัติพัฒนาการและโบราณสถานของเวียงกุมกามครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่บรรพชนล้านนาได้สร้างสรรค์ไว้ และเพื่อการเผยแผ่และสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบต่อไป อันจะน้อมนำมาสู่การมุ่งมั่นสร้างคุณงามความดีของคนในสังคมปัจจุบัน

ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช ว่า


“.....การสร้างอาคารสมัยนี้เป็นเกียรติของคนสร้างผู้เดียว

แต่โบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ

      อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรรักษาไว้

        ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว

            ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…..”





Rank: 8Rank: 8

DSC01219.jpg



ข้าพเจ้าขอนำสมาชิกทุกท่านร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ ณ เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพญามังรายทรงสร้างเวียงกุมกามขึ้นด้วยพระราชหฤทัยรักในดินแดนแห่งนี้มาก ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่ตรัสก่อนที่จะเคลื่อนพลย้ายจากเวียงกุมกามไปยังนครเชียงใหม่ว่า

“ ก่อได้เวลาจากเวียงกุมกาม เพื่อย้ายไปสู่นครแห่งใหม่ "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" จึงขึ้นสู่ตี้ประทับ แห่แหนกลับสู่เมืองใหม่ พอจะพ้นเขต เวียงกุมกาม ก่อหื้อหยุดขบวน และหันหลังกลับมาผ่อ “เวียงกุมกาม” แล้วตรัสออกมาเป๋นครั้งสุดท้ายพร้อมน้ำต๋าตี้คลอต๋า “ลาแล้วหนอ เวียงแห่งนี้ ตี้กูได้สร้างมา ไปคราวนี้จะบ่อได้ปิกคืนมาสู่เวียงแล้วหนา เวียงของกู เวียงกุมกาม” จากนั้นก่อนเสด็จไปยังเวียงใหม่ จากนั้นแหมบ่อเมิน เวียงกุมกามก่อได้ถูกม่าน (พม่า) เข้ายึด “เวียงกุมกาม” จึงได้ร่ำไห้ออกมาเป๋นน้ำต๋า ฟ้าห่าใหญ่ คราวนั้น น้ำปิง ”




DSC01211.jpg



เวียงกุมกาม ชื่อ กุมกาม ปรากฏในหลักฐานชัดเจนเป็นครั้งแรก ในหลักฐานเอกชั้นที่ ๑ คือศิลาจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน จารึกขึ้นใน พ.ศ.๑๙๑๓ เป็นอักษรสุโขทัย คำว่ากุมกามอยู่ในด้านที่ ๑ บันทึกที่ ๓๑ ว่า “…ฝูงชนอันอยู่ภาย กูมกามเชียงใหม่ พ้น…” เขียนกูมกาม คำอ่านปัจจุบันคือ กุมกาม

เวียงกุมกาม คือชื่อของเวียงโบราณแห่งหนึ่ง บริเวณพื้นที่ระหว่างแนวสายน้ำแม่ปิงปัจจุบัน ในเขตตอนใต้ตัวเมืองเชียงใหม่ลงมาราว ๕ กิโลเมตร คือท้องที่ส่วนใหญ่ของตำบลท่าวังตาล บางส่วนของตำบลหนองผึ้ง เขตอำเภอสารภี รวมถึงตำบลป่าแดด และตำบลหนองหอย เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่เฉลี่ยกว่า ๓ ตารางกิโลเมตร บนแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน  


ตามตำนานเล่าขานของล้านนา

พญามังราย ทรงสร้างเวียงกุมกามเพื่อเป็นศูนย์กลางของล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.๑๘๒๙ มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรหริภุญชัยในฐานะชุมชนโบราณแห่งหนึ่งที่ขยายตัวเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนา ในเวลาต่อมา เวียงกุมกามมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ก่อนที่พญามังรายจะทรงสร้างนครเชียงใหม่ เวียงกุมกามยังคงมีความสำคัญและเป็นเมืองหน้าด่านต่อมาอีกหลายร้อยปี จนกระทั่งยุคเสื่อมของล้านนา พม่าเข้ายึดครองเวียงกุมกาม และถูกน้ำท่วมใหญ่จนถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างในเวลาต่อมา และเงียบหายไปจากความทรงจำ ปัจจุบันยังคงปรากฎหลักฐานซากวัดร้างทางด้านสถาปัตยกรรม และโบราณคดีจำนวนมากมาย ในระดับต่ำกว่าพื้นดินปัจจุบันเฉลี่ย ๑.๒ เมตร


DSC01214.jpg



พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานของเวียงกุมกาม

มูลเหตุกำเนิดเวียงกุมกาม เวียงกุมกามกำเนิดขึ้นเพราะพญามังรายทรงประสงค์จะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่แทนที่เมืองหริภุญชัย หลังจากที่พญามังรายยึดครองเมืองหริภุญชัยสำเร็จ พระองค์ประทับที่หริภุญชัยเพียง ๒ ปี ก็แสดงความไม่พอใจจะใช้เมืองหริภุญชัยเป็นเมืองหลวงอีกต่อไป แม้ว่าเมืองหริภุญชัยจะเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การค้า ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นเวลาช้านาน ความไม่พอใจในเมืองหริภุญชัย คงเป็นเพราะข้อบกพร่องของตัวเวียงที่สร้างมาประมาณ ๕๐๐ ปี เวียงมีขนาดเล็กและคับแคบ ไม่สามารถขยายตัวเวียงได้ เป็นไปได้ว่าคงเต็มไปด้วยวัสดุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อความเหมาะสมกับรัฐที่อาณาเขตกว้างขวางขึ้น

พญามังรายจึงหาสถานที่สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ โดยให้เมืองหริภุญชัยมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางพุทธศาสนา ขณะที่เมืองหลวงแห่งใหม่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเมือง ซึ่งเขตแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูนเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีที่ราบติดต่อกันไปเป็นผืนใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ จะสามารถปลูกข้าวได้อย่างกว้างขวาง และยังสามารถทำการค้ากับเมืองทางตอนใต้ได้อย่างสะดวก



DSC01216.jpg



ความรุ่งเรืองของเวียงกุมกาม ในรัชสมัยพญามังราย เวียงกุมกามมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนกระทั่งถึงสิ้นสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๑๘๓๙ - ๒๑๐๑) ในช่วงระยะเวลาสองร้อยกว่าปีที่เวียงกุมกามมีความเจริญรุ่งเรืองนั้น เป็นผลจากที่ตั้งของเวียงกุมกามซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง (ปิงห่าง) ซึ่งในอดีตแม่น้ำปิง เป็นเส้นทางการคมนาคมสายสำคัญ จะไหลผ่านเวียงเชียงใหม่ เวียงกุมกามและเวียงลำพูน และไหลไปสู่เมืองทางตอนใต้ เมืองที่แม่น้ำปิงไหลผ่านสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก ทำให้เวียงกุมกามซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมและเป็นเส้นทางผ่านของสินค้า จึงมีฐานะเป็นศูนย์การค้า และส่งผลให้แม่น้ำปิง (ปิงห่าง) เปรียบเสมือนเส้นชีวิตของเวียงกุมกามที่ทำให้เวียงกุมกามกำเนิดและเจริญรุ่งเรือง


DSC01217.jpg



ลักษณะทางกายภาพเวียงกุมกาม ลักษณะที่ตั้งและรูปร่างของเวียงกุมกามนั้น จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและจากการสำรวจร่องรอยของคูน้ำคันดินที่เป็นกำแพงเวียงโบราณที่เหลืออยู่พบว่า เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและกว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร แล้วไขแม่น้ำปิงเข้าใส่ไว้ในคูเมือง

แต่ปัจจุบันตื้นเขินลงมากกลายเป็นลำเมืองสาธารณะเล็กๆ โดยมีขอบเขตเป็นวงคล้ายรูปสี่เหลี่ยมและตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ดังนั้นในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำดังกล่าวคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๓



DSC01220.jpg


การล่มสลายของเวียงกุมกาม พญามังรายประทับอยู่ที่เวียงกุมกามได้เพียง ๕ ปี เนื่องจากเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่ม ปรากฏว่าในฤดูฝนเกิดน้ำท่วมเมืองทุกปี ผู้คนและสัตว์เลี้ยงได้รับความเดือดร้อนมาหลายครั้ง  และน้ำป่าท่วมอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไม่เหมาะจะเป็นเมืองหลวงถาวรได้ จึงทรงแสวงหาสถานที่ที่มีชัยภูมิอันเหมาะแก่การตั้งเมืองใหม่ เพื่อจะให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรล้านนามั่นคงถาวร และหลังจากที่พญามังรายย้ายมาอยู่ในนครเชียงใหม่แล้ว ในที่สุดแม่น้ำปิงก็ท่วมท้นทำลายเวียงกุมกาม

น้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่ ทำให้แม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางจากเดิมซึ่งเคยไหลในแนวปิงห่าง คือไหลไปทางด้านตะวันออกของเวียงกุมกาม เปลี่ยนมาไหลทางด้านตะวันตกของเวียงกุมกาม ซึ่งกลายเป็นแนวแม่น้ำปิงในปัจจุบัน อุทกภัยครั้งใหญ่นี้ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมอยู่ใต้ดินตะกอนที่พัดมา จนยากที่จะฟื้นฟูให้เหมือนเดิม สภาพวัดต่างๆ เหลือเพียงแต่ซากวิหารและเจดีย์ร้าง ถูกทิ้งร้างอยู่ใต้ดินตะกอนนับร้อยปี ชื่อของ เวียงกุมกาม จึงเป็นเพียงเมืองในตำนานเหมือนกับชื่อเมืองอีกหลายๆ เมือง

สาเหตุที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้าง ไปนานหลายร้อยปี ในช่วง พ.ศ.๒๑๐๑ เป็นต้นมา จากประวัติศาสตร์สันนิษฐานสาเหตุว่า เวียงกุมกามร้างลงไปก่อนหน้าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่โดยตรง แต่เป็นเพราะผลพวงจากสงครามเวียงกุมกามเป็นพันนาที่อยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ เพียง ๕ กิโลเมตร เท่านั้น คราวใดที่ผู้รุกรานยกกองทัพตีเมืองเชียงใหม่ ก็มักจะยึดเอาเวียงกุมกามเป็นที่ตั้งทัพและกวาดครัวเป็นกำลังในกองทัพ ต่อมาเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (๒๑๐๑) เวียงกุมกามจึงได้ระสำระส่าย ผู้คนหลบหนีไปบ้าง จนกระทั่งเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดวาอารามและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด

แล้วต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่ง (ที่เป็นเวลานานมากพอที่วัสดุสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดจะเสื่อมโทรมลง และได้พังทลายตกลงมากองอยู่รอบๆ ส่วนฐานบนพื้นดินใช้งานเดิมของวัด) จึงเกิดเหตุการณ์น้ำแม่ปิงท่วมใหญ่ไหลหลากล้นฝั่งพุ่งตรงลงมาผ่านทับพื้นที่เวียงกุมกาม จากการที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแนวโค้งแม่น้ำปิงดังกล่าว ขณะเดียวกันสายน้ำที่ได้พัดพาเอาตะกอนดินและกรวดทรายมาทับถมใหญ่ในคราวเดียว เป็นปริมาตรของตะกอนดินกรวดทรายที่มากมายมหาศาล โดยตลอดทั่วทั้งบริเวณเวียงกุมกาม ซึ่งจมอยู่ใต้ดินในระดับความลึกจากพื้นดินปัจจุบันลงไปเฉลี่ยประมาณ ๑.๕๐ - ๒.๐๐ เมตร จนทำให้เวียงกุมกามล่มสลายและกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 07:43 , Processed in 0.047268 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.