พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุม่วงเนิ้ง ประดิษฐานพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่ะ
ตำนานพระธาตุม่วงเนิ้ง จากตำนานพระเจ้าเลียบโลก
กล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่งฉันภัตตาหารเพล ณ ที่สถานที่แห่งนี้ คำว่า “ม่วงเนิ้ง” มาจากพระพุทธเจ้าทรงนำบาตรไปแขวนกับต้นมะม่วง เนื่องจากบาตรหนักทำให้กิ่งมะม่วงโน้มลงมา ต้นมะม่วงดั้งเดิมสูงใหญ่มาก (มีต้นมะม่วงอยู่หน้าวิหารปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน) เมื่อพระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเพลเรียบร้อยแล้ว ได้เทข้าวที่เหลือกองไว้ แล้วพระพุทธองค์ทรงลูบพระเกศาวางไว้บนกองข้าว ต่อมาได้สร้างเจดีย์ครอบไว้
ประวัติพระธาตุม่วงเนิ้ง
(แหล่งที่มา : พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุงจ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๙ กรกฎาคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๒ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๑๗๒-๑๗๓.)
พระธาตุแห่งนี้ ถือว่าเป็นพระธาตุที่อยู่ทางใต้สุดของเมืองก็ว่าได้ โดยมี พระธาตุนางแล อยู่ทางเหนือสุดของพื้นที่ ตามหนังสือประวัติที่ท่านเจ้าคณะอำเภอเมืองพร้าวให้มามีเรื่องราวเล่าว่า
พระธาตุม่วงเนิ้งโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอพร้าว มีผู้คนนับถือกราบไหว้มานานหลายชั่วอายุคน เล่ากันว่าน่าจะมีอายุนานนับพันปีมาแล้ว เพราะฉะนั้น สถานที่นี้ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ หลังจาก ท่านครูบาศรีวิชัย มาทำการบูรณะซ่อมแซม วัดพระธาตุใจเมือง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนขากลับท่านพร้อมด้วยคณะศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ก็ได้เดินทางกลับสู่วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
แต่ในระหว่างทาง ท่านได้แวะขึ้นไปนมัสการองค์ พระธาตุม่วงเนิ้ง ในเวลาจวนบ่ายมากแล้ว หลังจากท่านไหว้แล้ว ได้ยืนทัศนารอบๆ บริเวณผืนแผ่นดินในตำนานโหล่งขอดแล้วพูดว่า
“มีของดีอยู่ในองค์พระธาตุม่วงเนิ้งไม่มาก ขนาดเท่าฝ่ามือนี้”
ว่าแล้วท่านก็ทำอุ้งมือเป็นรูปเรือให้ดู แล้วยังชี้นิ้วมือไปที่ภูเขาอีก ๒ ลูก พร้อมกับพูดว่า
“ยังมีพระธาตุอีก ๒ ดวงในเขตนี้ คือที่ ดอยเวียง (ชาวเวียงเรียก “ดอยคูเมือง”) และที่ ดอยสามเหลี่ยม วันเวลาใดที่พระธาตุ ๓ วงนี้ลุกเรื่อเรืองขึ้นมาเมื่อใด ชาวโหล่งขอดจะได้ยะนา (ทำนา) ข้าวสาร”
คำว่า “ทำนาข้าวสาร” หมายถึงอะไร ยังคงเป็นปริศนาของชาวบ้านมาจนถึงวันนี้ แต่ที่เป็นความจริงก็คือว่าท่านคิดจะบูรณะพระธาตุม่วงเนิ้งตามนิมนต์ของชาวบ้านนี้เหมือนกัน แต่อาชญาทางบ้านเมืองแจ้งให้ท่านรีบกลับวัดพระสิงห์โดยด่วนเพื่อแก้ข้อกล่าวหาอธิกรณ์กับทางคณะสงฆ์
เมื่อท่านกลับไป ๒ เดือน ต่อมาท่านได้จัดส่ง พระหน่อคำ มาเป็นตัวแทนของท่านเพื่อทำการซ่อมแซมพระธาตุม่วงเนิ้งจนแล้วเสร็จ สถานที่นี้จึงเป็นที่มาของประวัติเมืองพร้าว โดยพ่อเฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านเล่าว่า
“ในสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดสัตว์ที่เรียกกันว่า “พระเจ้าเลียบโลก” เข้ามาสู่เขตล้านนาไทย พระองค์ได้เสด็จบิณฑบาตมาถึงหมู่บ้านเขตนี้ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีผู้คนทำบุญใส่บาตรกันมากจนข้าวล้นบาตรหนักอึ้ง จนต้อง “ปาวบาตร” (คำว่า “ปาวบาตร” คือที่มาของ คำว่า “เมืองปาว” หรือ “เมืองป๊าว” หรือ “เมืองพร้าว” ในกาลต่อมา)
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปาวบาตรมายั้งพักที่ป๋างแห่งหนึ่ง (คำว่า “ป๋าง” คือ ที่พักชั่วคราวของคนเดินทาง “ปาง” ก็เรียก) ต่อมาสถานที่นั้นก็มีผู้คนเรียกว่า “แม่ป๋าง” แล้วเพี้ยนมาเป็น “แม่ปั๋ง” จนทุกวันนี้…”
ต่อมาพระพุทธองค์เสด็จมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีทิวเขาเป็นเสมือนกำแพงล้อมรอบ สายสนุกบาตรเกิดขาด เพราะทนทานต่อน้ำหนักของข้าวในบาตรไม่ได้ จึงใช้ให้พุทธอุปัฏฐากคือ พระอานนท์ ไปหาด้ายมาเย็บสายสนุกบาตร พระอานนท์จึงได้เดินย้อนกลับไปหาด้ายจากที่พักริมทางเดินที่ผ่านมาแล้วนั้น เป็นด้ายสีม่วง ภาษาล้านนาเรียกสีม่วงว่า “สีปั๋ง” นี่คือเป็นที่มาของคำว่า “แม่ปั๋ง” อีกเช่นกัน
ขณะที่สายบาตรของพระพุทธองค์ขาดและยังหาด้ายมาเย็บต่อไม่ได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงทำการ “ขอดสายบาตร” (หมายถึงขมวดสายบาตร) นี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “โหล่งขอด” (คำว่า “โหล่ง” หมายถึง แผ่นดินที่เป็นที่ราบและมีภูเขาล้อมรอบ”
พระพุทธองค์ได้นำบาตรไปคล้องไว้กับมะม่วงต้นหนึ่งบนภูเขา มะม่วงต้นนั้นไม่สามารถจะทานน้ำหนักของบาตรที่มีข้าวเต็มอยู่ได้ก็โน้มยอดลงมา (คำว่า “โน้ม” เรียกตามภาษาชาวเหนือว่า “เนิ้ง”)
หลังจากเสร็จภัตกิจแล้ว ข้าวในบาตรของพระพุทธเจ้าและของพระอานนท์ยังเหลืออยู่มากมาย พระพุทธองค์จึงทรงบัญชาให้พระอานนท์เทข้าวออกจากบาตร แล้วก่อเป็นเจดีย์ข้าวสุกไว้ที่ริมต้นมะม่วงที่โน้มกิ่งนั้นไว้ คนทั้งหลายก็พากันเรียกว่า พระธาตุม่วงเนิ้ง จนตราบเท่าทุกวันนี้
ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อไปอีกว่า เดิมทีนั้นมะม่วงคำ (ทอง) ต้นนั้นมีปลายโน้มเอียงปกคลุมหลังคาวิหารอยู่คล้ายจะล้มทับองค์พระธาตุ แต่ต่อมาก็มีลมพัดอย่างแรง จึงทำให้มะม่วงต้นนั้นล้มลงไปทางภูเขา ไม่เป็นอันตรายกับองค์พระธาตุเลย จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจมาก
มะม่วงต้นนั้นไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นอีกแล้ว แต่มีต้นมะม่วงอีกต้นหนึ่ง ที่มีลักษณะลำต้นใหญ่โตมาก มีอายุนับ ๑๐๐ ปี ขึ้นอยู่หน้าวิหารทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แผ่สาขาร่มเงาเป็นที่ร่มเย็นแก่ผู้ที่ขึ้นไปนมัสการพระธาตุตราบเท่าทุกวันนี้”