แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 39100|ตอบ: 19
go

ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ และ ยอดพระคาถาชินปัญชร [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

DSC00434.2.jpg


ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ


035629s0tsx96vq25etq0m.png




ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ และ ยอดพระคาถาชินปัญชร


ข้าพเจ้าได้คัดลอกหนังสือธรรมะจากหนังสือ "ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ และ ยอดพระคาถาชินปัญชร" รวบรวมโดย เกหลง พานิช  ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้รวบรวมได้รวบรวมมาจากพระโอวาทของท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ที่ได้ทรงเสด็จมาโปรดสัตว์ในอดีตไว้ที่สำนักปู่สวรรค์


ท่านไม่ตรัสกับมนุษย์ เมื่อจะมีพระบัญชาก็ทรงเขียน ท่านไม่ได้เล่าพระประวัติของท่านแก่มนุษย์ แต่สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้ตรัสเรื่องเกี่ยวกับท้าวมหาพรหมองค์นี้


โดยผ่านร่างของมนุษย์ผู้เคยมีกรรมพัวพันและชาตินี้ครองชีวิตอย่างสะอาดดั่งผู้ทรงศีลที่ดี (อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ฉายาว่า "อริยวังโสภิกขุ" และบำเพ็ญอยู่อย่างสงบในป่า ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘) มีนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน


คุณเกหลง พานิช ผู้รวบรวมเห็นว่า ประวัติพระคาถาชินปัญชร พร้อมด้วยพระประวัติและพระโอวาทของท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ คำสอนเหล่านี้ไม่ควรเก็บไว้รับรู้เฉพาะกลุ่มสานุศิษย์เท่านั้น เห็นว่าเป็นธรรมะที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับโลกาภิวัตน์เช่นนี้ จึงได้รวบรวมให้โครงการธรรมไมตรีดำเนินการจัดพิมพ์ขึ้นมาเผยแพร่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ธรรมะสู่ประชาชนทั่วประเทศให้มีโอกาสศึกษาธรรม เพื่อยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้น ให้มีเมตตาต่อมนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของชาติ


ท่านเชื่อหรือไม่ เป็นสิทธิเสรีภาพของท่าน ผู้รวบรวมใคร่ขอร้องท่านผู้อ่าน จงอ่านอย่างใจเป็นกลางก่อนที่จะลงความเห็น เชื่อหรือไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักกาลามสูตรไว้ให้พิจารณา เราควรใช้หลักนั้นให้เป็นประโยชน์


ขอให้ทุกท่านที่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ จงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์ มีความสุขความเจริญ ขอให้ดวงตาเห็นธรรมด้วยเถิด


o5.png


  ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :

          • เกหลง พานิช. ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ และ ยอดพระคาถาชินปัญชร. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: บริษัท สามวิจิตรเพรส จำกัด, ๒๕๕๑.


(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 5 มิถุนายน 2566)

Rank: 8Rank: 8

สารบัญ


๑.   เขียนจากใจ…พระราชญาณดิลก เจ้าอาวาสวัดเขาเต่า
๒.   การสวดมนต์อธิษฐาน
๓.   กำเนิดพระคาถาชินปัญชร
๔.   การสวดพระคาถาชินปัญชร
๕.   บทสวดมนต์
๖.   อานุภาพของพระคาถาชินปัญชร
๗.   ความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถาชินปัญชร
๘.   บันทึกประวัติศาสตร์
๙.   พระประวัติท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ
๑๐.  คุณลักษณะท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ
๑๑.  พระโอวาทท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ
๑๒.  พระโองการท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ


IMG_5095.1.png



ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :


ตอนที่ 1 - 8

http://www.dannipparn.com/thread-359-1-1.html


ตอนที่ 9 - 12

http://www.dannipparn.com/thread-359-2-1.html


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑

เขียนจากใจ…พระราชญาณดิลก เจ้าอาวาสวัดเขาเต่า



s1.jpg


พระราชญาณดิลก

อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์


k3.1.png



เขียนจากใจ


เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๔ อาตมาได้ไปสำนักปู่สวรรค์เป็นครั้งแรก ในวันนั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งแสดงในวันนั้นรู้สึกจับใจมาก ต่อมาอาตมาได้ไปอีกหลายครั้ง การไปสำนักปู่สวรรค์ทำให้อาตมาได้ทราบและได้รับความสว่างในเรื่องราวต่างๆ ดีขึ้นทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งยังไม่เคยทราบมาก่อน


ต่อมาท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จะจัดพิมพ์พระคาถาชินปัญชรพร้อมด้วยเบื้องหลัง จะให้อาตมาเขียนคำนำและวิจารณ์นั้น อาตมามิกล้าบังอาจจะเขียนวิจารณ์ เพราะเมื่อได้สนทนากับท่านแล้ว จึงได้ทราบถึงสำนวนและโวหารในพระคาถานี้ว่า ท่านมีการซ่อนเร้นไว้หลายตอน


เช่น คำว่า “สีเล” หมายความว่า ศีลที่ต้องดูแล แต่อรรถกถาจารย์รุ่นหลังเปลี่ยนเป็น “สีเส” และมีอีกบางคำ เช่น “มัชฌัมหิ” หรือ “มัชฌิมหิ” ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็น “มัชเฌนหิ” และบางตอนท่านบอกว่า ยกสำนวนจากภาษาสิงหลมาล้วนๆ แต่เขียนเป็นภาษาสยามเท่านั้น


เพราะฉะนั้น อรรถกถาจารย์ยุคต่อมา ก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แปลตรงตัวเพื่อให้ได้ความตามที่คนเข้าใจ และโบราณกาลของเรามีหลักว่า ถ้าคาถาใดท่องบ่นแล้วแปลไม่ออกก็จะยิ่งขลัง


เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็อาจจะมีอารมณ์อันนี้แฝงไว้ในพระคาถานี้ด้วยก็ได้ ซึ่งท่านอ่านพระคาถาชินปัญชรที่พิมพ์จากสำนักปู่สวรรค์แล้ว อาจจะไม่เข้าใจ เพราะสำนวนบางตอนไม่เหมือนฉบับอื่น แต่ขอให้ท่านอ่านเรื่องเบื้องหลังให้ละเอียด ท่านก็อาจจะกระจ่าง

ถ้าท่านไม่กระจ่าง ก็ขอเชิญท่านไปที่สำนักปู่สวรรค์ ไต่ถามจากท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็อาจจะเข้าใจได้ หวังว่าทุกคนคงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เพราะการเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ย่อมไม่ด่วนลงความเห็นและวิจารณ์สิ่งใดๆ โดยการคาดคะเน



จากใจจริง


พระราชญาณดิลก

เจ้าอาวาสวัดเขาเต่า

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒

การสวดมนต์อธิษฐาน



การสวดมนต์อธิษฐานนั้น เป็นเรื่องราวแปลกมหัศจรรย์ และพลังแห่งการอธิษฐานนั้น จะทำให้เกิดสันติสุขได้ ยิ่งถ้าได้มีการสวดมนต์อธิษฐานร่วมกันหลายๆ คน พร้อมๆ กันด้วย ก็จะยิ่งมีพลังแห่งการอธิษฐานมากกว่าที่จะทำไปโดยลำพังคนเดียว หรือทำคนละที


เปรียบเหมือนการออกแรงกายทำอะไรสักอย่าง ถ้าได้ช่วยกันออกแรงหลายคนพร้อมๆ กัน ก็จะมีพลังมากกว่าออกแรงเพียงคนเดียวหรือออกแรงคนละทีไม่พร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตาม การสวดมนต์อธิษฐานจิตย่อมส่งผลไปไกลกว่านั้นออกไปอีก

กล่าวคือ นอกจากจะได้จิตที่มีพลังแล้ว ในการร่วมอธิษฐานจิตนั้นเอง ยังส่งผลให้ผู้ร่วมอธิษฐานมีความผูกพันทางจิตใจเข้าด้วยกันและ
ส่งกระแสจิตไปผูกพันอยู่กับสิ่งที่ดีงาม อันกระแสจิตนั้น ย่อมแผ่ออกไปได้ไม่มีเขตกำจัด

ถ้าเป็นกระแสจิตที่ดีที่สะอาดก็จะไปสู่กระแสจิตที่มีลักษณะเดียวกัน นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนดีมักพบกับแต่คนดีด้วยกัน หรือคนที่มีนิสัยใจคออย่างไร มักชอบคบค้ากับคนที่มีนิสัยใจคอเช่นเดียวกัน อย่างนั้นนั่นเอง

Rank: 8Rank: 8

T.jpg


ตอนที่ ๓

กำเนิดพระคาถาชินปัญชร



กำเนิดชินปัญชรคาถา


โดย...ปัญญา คัดลอกจากนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ ปักษ์แรก พฤษภาคม ๒๕๒๖


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) มีผู้เขียนถึงประวัติท่านไว้มากมาย รวมทั้งคาถา “ชินปัญชร” ของท่านไว้ด้วย แต่ว่าเบื้องหลังอันเป็นที่มาของพระคาถาชินปัญชร มิค่อยจะมีคนเล่าถึงที่มานัก ดังนั้นนิตยสารศักดิ์สิทธิ์จึงได้นำเอาที่มาของชินปัญชรคาถามากล่าวถึงให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ รวมถึงคุณวิเศษของพระคาถานี้ ในแต่ละบทมาแจกแจงด้วย

เมื่อครั้งนั้น สมเด็จ (โต) ได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดกำแพงเพชร ท่านได้เดินทางไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งซึ่งมีกรุโบราณ ที่นั่นท่านได้พบคัมภีร์โบราณผูกหนึ่งฝังอยู่ในเจดีย์หัก สมเด็จจึงนำคัมภีร์ผูกนั้นมาเก็บไว้ที่กุฏิ ขณะนั้นสมเด็จ (โต) ท่านมีจิตดำริที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อมอบให้แก่เจ้าปิยะ (ร.๕) หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นสมบัติในยุคสมัยครองราชย์ ระหว่างครุ่นคิดสมเด็จ (โต) ท่านก็ได้จำวัดหลับไป

ในคืนนั้นราวๆ ประมาณตี ๓ สมเด็จ (โต) ได้นิมิตว่าท่านได้ตื่นขึ้นเห็นชายหนุ่มรูปงามรูปหนึ่งมายืนอยู่ที่หัวนอนในชุดนุ่งขาวห่มขาว มีรูปลักษณ์งดงามหาที่ติมิได้เลย สมเด็จ (โต) ท่านก็มองขึ้นตามกำหนดของจิต ทราบว่าหนุ่มรูปงามนี้คงจะไม่ใช่มนุษย์แน่นอน

สมเด็จ (โต) จึงถามว่า “ท่านผู้เจริญ การที่อาตมาได้มีโอกาสชมท่านนับว่าเป็นขวัญตาเหลือเกิน ท่านมาในสถานที่แห่งนี้ มีสิ่งใดที่อาตมาปฏิบัติผิดพลาดในหลักพระพุทธศาสนาเล่า? ขอให้ท่านจงประสาทประทานการสอนให้อาตมาแจ่มแจ้งในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด”

ชายหนุ่มผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นด้วยคำพูดที่เย็นกังวาน

“ท่านโต วิธีการที่ท่านดำเนินงานอยู่นี้คล้ายกับองค์สมณโคดมอยู่ แต่การที่ท่านคิดจะสร้างพระให้เป็นสิ่งที่ระลึกของมนุษย์นั้น สร้างแล้วสิ่งนั้นต้องดี ท่านโตเชื่อในเรื่องวิญญาณ เพราะฉะนั้นควรจะปฏิบัติตามกฎของโลกวิญญาณ คือวิธีการตั้งให้ถูกหลักการในการปลุกเสก”

สมเด็จ (โต) ท่านจึงกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ ขรัวโตนี้รับฟังความคิดเห็นของทุกคน หากแม้นท่านโปรดข้านี้ ขอได้โปรดบอกมาเถิด จะด่าว่าตักเตือนเราก็ไม่ว่า”

หนุ่มรูปงามผู้มีความสงบแลดูเป็นที่น่าเลื่อมใสจึงได้แนะวิธีการต่างๆ ในเรื่องทิศทางว่า ทิศใดเป็นทิศมงคล ในการวางเทียน ธูป ดอกไม้ เทียนชัย ให้ตรงตามหลักของกฎระเบียบแห่งโลกวิญญาณ เรียกว่า เทวบัญญัติ หรือพรหมบัญญัติ ระหว่างสมเด็จ (โต) ยังคุมสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเมื่อ จึงได้ถามหนุ่มรูปงามนั้นว่า

“ท่านผู้รูปงามท่านนี้มีนามว่ากระไรหนอ?”

“หม่อมฉันนี้คือ ลูกศิษย์องค์พระโมคคัลลานะ หม่อมฉันสำเร็จเป็นอรหันต์เมื่ออายุ ๗ ขวบ แต่ด้วยทิ้งสังขารก่อนอายุขัยจึงมิได้สู่แดนอรหันต์ คงยังอยู่ในแดนพรหมโลก เพราะหม่อมฉันไม่อยากติดสตรี หม่อมฉันจึงทิ้งสังขารก่อนอายุขัย ทางโลกวิญญาณถือว่าสิ้นก่อนอายุขัยจึงอยู่ในรูปพรหม ถ้าท่านโตต้องการปรึกษาจากหม่อมฉันก็จงระลึกถึง ชินนะปัญจะระ”

มานพหนุ่มรูปงามกล่าวต่อสมเด็จ (โต) อย่างสำรวม

ต่อมาไม่ว่าสมเด็จ (โต) จะทำงานสิ่งใด จึงมักระลึกถึงท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ระลึกถึงทีไร ท่านก็ปรากฏร่างทันที ช่วยเหลือสมเด็จ (โต) ประกอบพิธีต่างๆ จึงทำให้เครื่องรางของขลังของสมเด็จ (โต) มีความศักดิ์สิทธิ์มาก

สมเด็จ (โต) ท่านปลุกเสกพระสมเด็จรุ่นสุดท้าย ๘๔,๐๐๐ องค์ เรียกว่า สมเด็จอิทธิเจ ท่านได้แปลคาถาจากคัมภีร์ ซึ่งท่านพบจากกรุวัดที่กำแพงเพชร ซึ่งคัมภีร์นั้นเขียนขึ้นด้วยภาษาสิงหล ได้ความบ้าง มิได้ความบ้าง จับใจความได้ว่าเป็นชื่ออรหันต์แปดสิบองค์ จึงได้ตัดต่อแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อง่ายต่อการสวด จึงแปลใหม่ได้ความว่า “คาถาชินปัญชร” ซึ่งตรงกับชื่อท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ


พระสมเด็จ (โต) ท่านจึงถือคาถาบทนี้ เป็นการเทิดทูนท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ที่ได้ช่วยเหลือท่านตลอดมา และพระคาถาบทนี้เป็นบทสวดในการนั่งปลุกเสกพระอิทธิเจรุ่นสุดท้าย ซึ่งสมเด็จ (โต) ท่านนั่งปลุกเสกอยู่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น ชินปัญชรคาถา หากท่านได้ภาวนาเป็นประจำสม่ำเสมอ จักก่อให้เกิดผลดียิ่งแก่ผู้ภาวนา เพราะท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระจะทรงแผ่อำนาจลงมาช่วยท่านตลอดเวลา คิดหวังอะไรย่อมสมหวังยิ่ง

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔

การสวดพระคาถาชินปัญชร



สำหรับผู้เริ่มสวดพระคาถาชินปัญชร ควรปฏิบัติดังนี้

๑. เริ่มสวดวันพฤหัสบดี เวลาไหนก็ได้ตามแต่สะดวก


๒. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ถ้ามีชุดขาวก็ให้แต่งกายชุดขาวด้วย


๓. ถ้ามีห้องพระที่บ้านก็ให้เข้าไปนั่งที่ห้องพระ


๔. ถ้าในห้องพระมีรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ก็ยิ่งดี


๕. ให้จุดธูปเทียนและใช้ดอกบัว ๓ ดอก


๖. สวดชุมนุมเทวดา ตั้งสัจจาธิษฐานระลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ด้วยพระคาถา
“นะโม โพธิสัตว์โต พรหมรังษี” ขอบารมีท่านแผ่รังสี เพื่อช่วยให้ท่องบ่นพระคาถาชินปัญชรจำได้แม่นยำและสวดได้โดยเร็ว

๗. ถ้าไม่มีทั้งห้องพระและรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ให้จุดธูปกลางแจ้ง และปฏิบัติตามข้อ ๖

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕

บทสวดมนต์



ชุมนุมเทวดา

สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ,


ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา


ปุพพะภาคะนะมะการะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ


ไตรสรณาคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ


พระคาถาชินปัญชร (ฉบับสำนักปู่สวรรค์)


ชะยาสะรากะตา พุทธา        เชตตะวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง           เย ปิวิงสุ นะราสะภา
ตัณหังกะราทะโย พุทธา       อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง        มัตถะเก เต มุนิสสะรา

สีเล ปะติฏฐิโต มัยหัง          พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง        อุเร สัพพะคุณากะโร
หะทะเย เม อะนุรุทโธ           สาริปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณทัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง    โมคคัลลาโน จะ วามะเก

ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง         อาสุง อานันทะราหุโล
กัสสะโป จะ มหานาโม        อุภาสุง วามะโสตะเก
เกเลนเต ปิฏฐิภาคัสมิง        สุริโยวะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน            โสภีโต มุนิปุงคะโว

กุมาระกัสสะโป เถโร           มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง      ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ        อุปาลีนันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา        นะลาเฏ ติละถา มะมะ

เสสาสีติ มะหาเถรา            วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา             ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะวันตา สีละเตเชนะ           อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
ระตะนัง ปุระโต อาสิ           ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ        วาเม อังคุลิมาละกัง
ขันธะโมระปะริตตัญจะ         อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ          เสสา ปาการะสัณฐิตา
ชินา นานา วะระสังยุตตา      สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา         พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
อะเสสา วินะยัง ยันตุ           อนันตะชินะเตชะสา
วะทะโต เม สะกิจเจนะ         สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
ชินะปัญชะระมัชเฌนหิ         วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ      เต มะหาปุริสาสะภา

อิจเจวะมันโต                     สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ                     ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ                   ชิตาริสังโค
สังฆานุภาเวนะ                   ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต       ชะจะรามิ ชินะปัญชะเรติ


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖

อานุภาพของพระคาถาชินปัญชร



ผู้ใดสวดภาวนาพระคาถาชินปัญชรทุกค่ำเช้าแล้ว ผู้นั้นอาจจะไม่ได้ตกอบายภูมิ แม้ได้คาถานี้บูชาไว้กับบ้านเรือนก็อาจป้องกันอันตรายต่างๆ จะภาวนาคาถาอื่นๆ สักร้อยปี อานิสงส์ก็ไม่เท่ากับภาวนาพระคาถานี้


เมื่อสมัยอาตมภาพมีสังขารชีพอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ฟังอาตมาท่องบ่นพระคาถานี้ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าจอมหม่อมห้ามภายในราชสำนักท่องบ่นให้ขึ้นใจพระคาถานี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ท่องบ่นพระคาถานี้


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถาชินปัญชร



คัดตอนและเก็บความจากคำให้สัมภาษณ์ ของอาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ทูตสันติภาพแห่งโลกขององค์การสภาธรรมนูญโลก ในรายการพาใจสบาย ทางสถานีวิทยุยานเกราะ ความถี่ ๗๙๒ กิโลเฮิรตซ์ วันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๙

พระคาถาชินปัญชร เป็นพระคาถาที่สรรเสริญ กล่าวถึงคุณความดีของพระอรหันต์ต่างๆ ในยุคสมัยสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้มาจากกรุที่เจดีย์เก่าแห่งหนึ่งในเมืองกำแพงเพชรในสมัยท่านมีสังขารอยู่ ไปเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร ไปเจอผูกใบลานผูกหนึ่งเขียนด้วยภาษาสิงหล คือ ภาษาลังกา

ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านต้องการจะสร้างพระเพื่อตอบแทนฆราวาสที่อุตส่าห์มาช่วยซ่อมแซมโบสถ์วัดระฆังบ้าง เพราะชาวบ้านเหล่านั้นไม่คิดค่าแรงงานเลย ท่านคิดจะสร้างสมเด็จชุดกรุเพดาน ในระหว่างก่อนที่ทำงานจะนอน ท่านได้นิมิตเห็นท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ผู้เป็นหัวหน้ารูปพรหม ๑๖ ชั้น
ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ได้มาแนะนำท่านว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้ถูกต้องตามเทวบัญญัติ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เชื่อเรื่องว่าตายแล้วไม่สูญ ท่านเชื่อว่าตายแล้วจะต้องเดินทางไปปรภพอีกครั้งหนึ่ง คือเชื่อเรื่องโลกวิญญาณนั่นเอง ท่านได้รับการแนะนำช่วยเหลือจากดวงพระวิญญาณของท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เลยดัดแปลงพระคาถานี้ แล้วตั้งเป็นพระคาถาชินปัญจะระขึ้นหน้า เพื่อเป็นการสรรเสริญพระคุณของท่าน

พระคาถาชินปัญชรนี้ เป็นบทสรรเสริญพระอรหันต์ ๘๐ พระองค์ เพื่อให้ท่านมาสิงสถิตอยู่ที่ตัวเรา ที่หูเรา ที่จมูกเรา ที่ลิ้นเรา ที่ผมเรา เป็นต้น คือเป็นพระคาถาเรียกว่า กำแพง ๗ ชั้น คุ้มครองเรา แต่ต้องไม่เหนือกฎแห่งกรรมในโลกนี้

อิทธิพลแพ้อิทธิฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์แพ้บุญฤทธิ์ บุญฤทธิ์แพ้กรรมวิบากฤทธิ์ กรรมลิขิต กฎแห่งกรรม ถ้าเราทำชั่วมามาก สมมติว่าฆ่าคนมาก เกิดในปัจจุบันชาติท่านจะต้องถูกเขาฆ่าตาย ในเรื่องวิบากกรรม อดีตชาติ แต่ถ้าอดีตชาติ ท่านไม่ได้สร้างกรรมหนัก เช่น อดีตชาติ ท่านไม่เคยฆ่าคน ไม่เคยทำลายคน สร้างแต่ศีล สร้างแต่สมาธิ ทำแต่บุญกุศล หรือทำแต่ความดี ท่านสวดพระคาถาชินปัญชรทุกวันเช้าเย็น กล้าพูดว่า ท่านจะเจริญยิ่งขึ้นและท่านจะไม่ตายโหง

พระคาถานี้แปลกพิสดารท่านจะเชื่อหรือไม่?


มีอยู่ ๒ อย่าง เราห้ามเขาไม่ได้ คือความคิด คนเขาจะคิดอะไร? เราบังคับเขาไม่ได้ ถ้าบังคับเขาได้ โลกนี้จะไม่เกิดศาสนาถึง ๑๐ กว่าศาสนา ไม่เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิเสรีประชาธิปไตย ลัทธิเผด็จการ นั่นคือ ความคิดห้ามกันไม่ได้


อีกสิ่งหนึ่ง เราจะบังคับเขาให้เขาพูดแต่ความดีไม่ได้ ๒ สิ่งนี้ที่ทำให้โลกวุ่น คือ ความคิดกับปาก ใครจะพูดอะไร เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้

สวดพระคาถาชินปัญชรแล้ว ทำให้สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็จะเกิด ทำไมเป็นอย่างนั้น ถ้าท่านเชื่อเรื่องตายแล้วไม่สูญ ก็ขอบอกว่า พระคาถานี้ ถ้าท่านสวดทุกวันเช้าเย็นแล้ว จะร่นภพร่นชาติ สมมติท่านจะต้องเกิดอีก ๑๐ ชาติ เอากรรมวิบากของท่าน ๑๐ ชาติ มารวมกันในชาตินี้ ให้ท่านใช้กรรมไปเลย ตายแล้วท่านจะได้ขึ้นสวรรค์ อยู่พรหมโลกหรือเทวโลกแล้วแต่กรรมวิบากหนักหรือเบา

อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นกำแพงแก้วป้องกัน ถ้าคนในประเทศไทยทั้งหมดสวดพระคาถาชินปัญชร ก็เท่ากับช่วยป้องกันประเทศชาติด้วย

พระคาถานี้จะคุ้มครองครอบครัวเรา บารมีจากที่เราสวดจะแผ่ออกไปคุ้มครองประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เราอธิษฐานให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นจุดศูนย์รวมของประเทศ ขอให้บารมีไปคุ้มครองพระมหากษัตริย์ก่อน แล้วถึงจะย้อนมาประเทศชาติและครอบครัวทีหลัง นั่นคือ เราตั้งสัจบารมีของเรา

สำหรับท่านที่มีจิตแน่วแน่สวดพระคาถาชินปัญชร สมมติว่าท่านป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ หรือถูกผีเข้า ผีโป่ง ผีกระสืออะไรพวกนี้ พระคาถานี้รักษาได้ทันที ท่านสวดโดยตั้งทำน้ำมนต์อยู่ข้างหน้า กินเข้าไปรักษาได้ นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถาชินปัญชร

เวลาสวดพระคาถาชินปัญชรควรจะสวดอย่าเร็วนักหรือช้านัก เพราะว่าสวดพระคาถานี้เมื่อไร ผีเรือน ผีบ้าน รุกขเทวดา จะมาฟัง มาฟังเพื่อรับบารมีพระคาถานี้ นี่คือความพิสดารของพระคาถานี้

ท่านเดินทางไปที่ไหน เข้าป่าหรือขับรถ จะป้องกันอุบัติเหตุได้ด้วย และพระคาถาชินปัญชรทนต่อการพิสูจน์ด้วย ถ้าท่านไม่ใช่มีกรรมวิบากฤทธิ์อย่างหนัก ท่านสวดพระคาถาชินปัญชร ท่านจะค้าขายทำมาหากินในทางสุจริต ขอให้ตอนเช้าใส่บาตรพระ ๑ รูปด้วย เรากล้ารับรองว่า กิจการของท่านจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ถ้าวิบากกรรมของท่านไม่หนัก

แสดงความคิดเห็น

สติ  ขออนุโมทนาที่กรุณาเผยแพร่ต่อค่ะ  โพสต์เมื่อ 2011-11-5 11:31

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘

บันทึกประวัติศาสตร์



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี
ได้กล่าวถึงอานุภาพของพระคาถาชินปัญชรว่า

“ผู้ใดท่องบ่นภาวนาชินปัญชรคาถาเป็นเนืองนิตย์ พุทธานุภาพจักคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายจากสิงสาราสัตว์และภูตผีปีศาจที่มารังควานได้ สมัยที่อาตมาธุดงค์อยู่ในป่าดงพญาไฟ (ดงพญาเย็น จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน) เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายชุกชุมเป็นป่าทึบ ไม่มีมนุษย์กล้าเหยียบย่ำเข้าไป อาตมาบำเพ็ญจิตอยู่ในป่าลำพังคนเดียวถึง ๑๕ ปีเต็ม โดยอาศัยเจริญภาวนาพระคาถาชินปัญชรนี้ จนสามารถเรียนรู้ภาษาสัตว์ เป็นเพื่อนกับสัตว์ และให้พวกสัตว์เหล่านั้นเก็บผลไม้มาให้กินได้”

จากบันทึกอีกตอน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตบอกกับเจ้าจอมหม่อมห้ามและเจ้านายผู้ใหญ่ในวังว่า


“ผู้ใดหมั่นภาวนาพระคาถาชินปัญชรเป็นประจำ ผู้นั้นเมื่อทิ้งสังขารจากโลกมนุษย์ จะไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิเลย”

นี่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่น้อยคนจะล่วงรู้

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-9 00:51 , Processed in 0.043868 second(s), 17 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.