แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๙   

ประวัติพระภัทราวุธเถระ

3.png



ท่านพระภัทราวุธะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่ศิษย์ ภัทราวุธมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ติดตามออกบวชด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกทรงบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจ ใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ได้ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

ภัทราวุธมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นได้พุทธานุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาทีละคนๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหาของชตุกัณณีมาณพจบลงแล้ว ภัทราวุธมาณพจึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๒ ว่า
            

ภัทราวุธมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าทูลขออาราธนาพระองค์แล้ว ผู้ทรงละอาลัยตัดตัณหาเสียได้ไม่หวั่นไหว (เพราะโลกธรรม) ละความเพลิดเพลินเสียได้ ข้ามห้วงกิเลสพ้นไปได้แล้ว ละความเป็นเครื่องให้ดำริ (ไปต่างๆ) คือ ตัณหาและทิฏฐิได้แล้ว มีพระปรีชาญาณอันดี ชนที่อยู่ในชนบทต่างๆ อยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ พร้อมกันมาแล้วจากชนบทนั้นๆ ได้ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วจะกลับไปจากที่นี้ ขอพระองค์จงทรงแก้ปัญหาเพื่อชนเหล่านั้น เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบแล้ว ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า หมู่ชนนั้นควรจะนำตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่น ในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวา คือท่ามกลางออกทั้งหมดให้สิ้นเชิง เพราะเขาถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามเขาได้โดยสิ่งนั้นๆ เหตุนั้นภิกษุเมื่อรู้อยู่ เห็นหมู่สัตว์ผู้ติดอยู่ในวัฏฏะ เป็นที่ตั้งแห่งมารนี้ว่าติดอยู่ เพราะความถือมั่นดังนี้ พึงเป็นคนมีสติ ไม่ถือมั่นกังวลในโลกทั้งปวง ฯ
            
ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ภัทราวุธมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว ภัทราวุธมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระภัทราวุธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๐   

ประวัติพระอุทยเถระ

3.png


ท่านพระอุทยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ อุทยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

วันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของศากยราชเสด็จออกทรงบรรพชา แล้วปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีใคร่อยากทราบความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ให้ไปกราบทูลถามดู

อุทยมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว พาบริวารไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๓ ว่า

อุทยมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงนั่งบำเพ็ญฌาน มีสันดานปราศจากกิเลสธุลี หาอาสวะมิได้ ได้ทรงทำกิจที่จำจะต้องทำเสร็จแล้ว บรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา ความเขลา ไม่รู้แจ้งเสีย ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสเสียทั้ง ๒ อย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงาเป็นเครื่องห้ามความรำคาญ มีอุเบกขากับสติเป็นธรรมบริสุทธิ์ มีความตรึกกอปรด้วยธรรมเป็นเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเป็นเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้ทั่วถึง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชาความเขลาไม่รู้แจ้งเสีย

อ. โลกมีอะไรผูกพันไว้ อะไรเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าวว่านิพพานๆ ดังนี้ เพราะละอะไรได้ ?

พ. โลกมีความเพลิดเพลินผูกพันไว้ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าวว่านิพพานๆ ดังนี้ เพราะละตัณหาเสียได้ ฯ

อ. เมื่อบุคคลมีระลึกอย่างไรอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ฯ ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าแล้ว เพื่อจะทูลถามพระองค์ ขอให้ได้ฟังพระวาจาของพระองค์เถิด ?

พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในภายนอก มีสติระลึกอย่างนี้ วิญญาณจึงจะดับ ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหาที่อุทยมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งเทศนาปัญหาพยากรณ์ อุทยมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์ อุทยมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระอุทยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๑   

ประวัติพระโปสาลเถระ

3.png



ท่านพระโปสาละ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่ศิษย์ โปสาลมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

โปสาลมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาทีละคนๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่อุทยมาณพถามจบลงแล้ว โปสาลมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๔ ว่า

โปสาลมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะทูลถามปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงสำแดงพระปรีชาญาณในกาลเป็นอดีต ไม่ทรงหวั่นไหว (เหตุสุขทุกข์มีความสงสัยอันตัดเสียได้แล้ว บรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง)

ขอทูลถามถึงญาณของบุคคล ผู้มีความกำหนัดหมายในรูปแจ้งชัด (คือได้บรรลุรูปฌานแล้ว) ละรูปารมณ์ทั้งหมดได้แล้ว คือล่วงรูปฌานขึ้นไปแล้ว เห็นอยู่ทั้งภายในภายนอกว่า ไม่มีอะไรสักหน่อยหนึ่ง (คือบรรลุรูปฌานที่เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ) บุคคลเช่นนั้นจะควรแนะนำสั่งสอนให้ทำอย่างไรต่อไป ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า พระตถาคตเจ้าทราบภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งหมด จึงทราบบุคคลผู้เช่นนั้น แม้ยังตั้งอยู่ในโลกนี้ว่า มีอัธยาศัยน้อมไปในอากิญจัญญายตนภพ มีอากิญจัญญายตนภพ เป็นที่ไปเบื้องหน้า บุคคลเช่นนั้นรู้ว่ากรรมอันเป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลิดเพลินยินดีเป็นเครื่องประกอบดังนี้แล้ว


ลำดับนั้นย่อมพิจารณาเห็นสหชาตธรรมในอากิญจัญญายตนฌาน (คือธรรมที่เกิดพร้อมกันกับฌานนั้น) แจ้งชัดโดยลักษณะ ๓ (คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว) ข้อนี้เป็นฌานอันถ่องแท้ของพราหมณ์เช่นนั้น ผู้มีพรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว ฯ

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา โปสาลมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว โปสาลมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระโปสาละดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๒   

ประวัติพระโมฆราชเถระ

3.png


ท่านพระโมฆราช เป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ ฯ


ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งแว่นแคว้นทั้ง ๒ คือแว่นแคว้นอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โมฆราชมาณพพร้อมกับมาณพอีก ๑๕ คน ผู้เป็นศิษย์ได้พาบริวารออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ประกอบด้วยพระมหากรุณา เสด็จเที่ยวเทศนาสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีมีความสนเท่ห์ใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงได้ผูกปัญหาแก่มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ให้ไปกราบทูลถามดู   


โมฆราชมาณพคนหนึ่งอยู่ในจำนวนนั้น พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ พาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว อชิตมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนแรก ครั้นพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๒ เพราะถือว่าเป็นคนมีปัญญาดีกว่ามาณพทั้ง ๑๕ คน คิดจะทูลถามปัญหาก่อน แต่เห็นว่าอชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่าและเป็นหัวหน้า จึงยอมให้ทูลถามก่อน

พระบรมศาสดาจึงตรัสห้ามว่า โมฆราช ท่านรอให้มาณพอื่นถามก่อนเถิด ฯ โมฆราชก็หยุดอยู่ ต่อแต่นั้นมาณพคนอื่นได้ทูลถามปัญหาเป็นลำดับๆ กัน ถึง ๘ คนแล้ว โมฆราชมาณพปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๙ อีก พระบรมศาสดาก็ทรงห้ามไว้ดุจนัยหนหลัง โมฆราชก็ยับยั้งนิ่งอยู่ รอให้มาณพอื่นทูลถามถึง ๑๔ คนแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕ ว่า

โมฆราชมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลถามปัญหาถึง ๒ ครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึง ๓ ครั้งแล้ว พระองค์ทรงแก้ ครั้นว่าอย่างนี้แล้ว ทูลถามปัญหาเป็นคำรบ ๑๕ ว่า

โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้ทรงปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามไม่ทัน ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจะไม่แลเห็น ฯ

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา โมฆราชมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหา ที่มาณพทั้ง ๑๖ คน ทูลถามจบลงแล้ว โมฆราชมาณพพร้อมมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ

ท่านพระโมฆราช เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านยินดีในจีวรที่เศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๓   

ประวัติพระปิงคิยเถระ

3.png



ท่านพระปิงคิยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย จึงกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ปิงคิยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ติดตามออกบวชด้วย ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชุมชน มีคนเชื่อถือเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่จะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

ปิงคิยมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำพวกนั้น ได้พร้อมกันลาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาทีละคนๆ ส่วนปิงคิยมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๖ ว่า

ปิงคิยมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณสิ้นไปแล้ว ดวงตาของข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นกระจ่าง หูก็ฟังไม่สะดวก ขอข้าพระพุทธเจ้าอย่าเป็นผู้หลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระพุทธเจ้าควรรู้ เป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้เสีย ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านเห็นชนทั้งหลายผู้ประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก ฯ

ปิ. ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ เป็น ๑๐ ทิศทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำที่พระองค์ไม่ได้เห็นแล้ว ไม่ได้ฟังแล้ว ไม่ได้ทราบแล้ว ไม่ได้รู้แล้ว แม้น้อยหนึ่ง มิได้มีในโลก ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระพุทธเจ้าควรรู้ เป็นเครื่องละชาติชราในโลกนี้เสีย ฯ
            
พ. เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ อันตัณหาครอบงำแล้ว มีความเดือดร้อนเกิดแล้ว อันชราถึงรอบข้างแล้ว เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก ฯ
            

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปิงคิยมาณพได้ญาณแห่งธรรม คือ ได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะเวลาฟังพยากรณ์ปัญหา มีจิตฟุ้งซ่านคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ว่า ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่จิตฟุ้งซ่านเพราะความรักใคร่ในอาจารย์ จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นจากอาสวะได้ ฯ

ในลำดับนั้น ปิงคิยมาณพพร้อมกับมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ครั้นท่านพระปิงคิยะได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระบรมศาสดากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาปัญหา ๑๖ ข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ได้บรรลุพระอรหัตผล*๑

ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ได้บรรลุธรรมาภิสมัยแต่เพียงชั้นเสขภูมิ (อนาคามิผล) ท่านพระปิงคิยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ในโสฬสปัญหา ฉบับหอสมุด ท่านอ้างอรรถกถาว่า ท่านพระปิงคิยะบรรลุธรรม คือ เป็นพระอนาคามี

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๔   

ประวัติพระราธเถระ

3.png


ท่านพระราธะ*๑ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อ ราธะ สกุลของพราหมณ์เป็นสกุลที่มั่งคั่งสกุลหนึ่ง เมื่อราธพราหมณ์แก่เฒ่าชราบุตรภรรยาไม่เลี้ยงดู เป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่กับพระภิกษุในพระเวฬุวันมหาวิหาร ต่อมาราธพราหมณ์มีความประสงค์อยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เมื่อไม่ได้บวชสมประสงค์ จึงมีร่างกายอันซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมองไม่ผ่องใส ฯ

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นราธพราหมณ์ จึงตรัสถาม ทราบความแล้วรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง ฯ


พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้อยู่ วันหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ให้อาหารแก่ข้าพเจ้าทัพพีหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ดีละๆ สารีบุตร สัตบุรุษเป็นคนกตัญญูกตเวที

ถ้าอย่างนั้น สารีบุตรให้พราหมณ์นั้นบวชเถิด ครั้นพระองค์ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชราธพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เลิกการอุปสมบทด้วยสรณคมน์ ๓ ที่ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วแต่เดิม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ฯ

ท่านพระราธะ เป็นองค์แรกในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้ เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลว่า ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยย่อๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังแล้ว จักหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นคนไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปในภาวนา

พระบรมศาสดา ตรัสสอนว่า ราธะสิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย   

พระราธะรับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว เที่ยวจาริกไปกับพระสารีบุตรไม่นาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นเมื่อพระราธะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ท่านพระสารีบุตรพามาเฝ้าพระบรมศาสดา ทรงปราศรัยตรัสถามว่า สัทธิวิหาริกของท่านนี้เป็นอย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า เป็นคนว่านอนสอนง่าย เมื่อแนะนำสั่งสอนว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรทำ ท่านจงทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนั้นดังนี้ ไม่เคยโกรธ ฯ


พระบรมศาสดาตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายถือเป็นตัวอย่างว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นคนว่าง่ายอย่างราธะเถิด เมื่ออาจารย์ชี้โทษสั่งสอน อย่าถือโกรธ ควรคบแต่บัณฑิตที่ตนเห็นว่าเป็นคนแสดงโทษ กล่าวข่ม ให้เป็นดุจคนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะคบบัณฑิตเช่นนั้น มีคุณประเสริฐ ไม่มีโทษเลย ฯ

และทรงยกย่องสรรเสริญพระราธะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านที่มีปฏิภาณ คือ ญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา ท่านพระราธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ในธรรมบทภาค ๔ ว่า เมื่อเป็นคฤหัสถ์อยู่ในนครสาวัตถี พระศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ขณะประทับอยู่ในพระเชตวัน ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๕   

ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ

3.png



ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “ปุณณะ” เรียกนามตามที่เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณีว่า ปุณณมันตานีบุตร ฯ

ปุณณมาณพเป็นหลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งนางมันตานีพราหมณีเป็นน้องสาวของท่าน การที่ปุณณมาณพจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นลุงเป็นผู้ชักนำให้มาบวช

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ได้ให้ปุณณมาณพผู้เป็นหลานชายบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นพระปุณณะบวชแล้ว ไปอยู่ในประเทศชื่อชาติภูมิ ไม่ช้านัก บำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จพระอรหัต ฯ

ท่านพระปุณณะตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ อย่าง คือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความรู้เห็นในวิมุตติ แม้เมื่อมีบริษัท ท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้น และสั่งสอนให้บริษัทตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้นด้วย

ในเวลานั้นที่ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินภิกษุเหล่านั้น ทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ มีความประสงค์อยากจะรู้จักและสนทนาด้วย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปสนทนาปราศรัยกัน แล้วไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ

ท่านพระปุณณะก็วิสัชนาแก้ไข ชักอุปมาอุปมัยเปรียบด้วยรถ ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น พระเถระทั้ง ๒ ต่างอนุโมทนาภาษิตของกันและกัน ฯ

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้นอาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณเช่นไรแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๖   

ประวัติพระกาฬุทายีเถระ

3.png



ท่านพระกาฬุทายี เป็นบุตรมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสหชาติ*๑ คือ เกิดพร้อมกับมหาบุรุษ เดิมชื่อว่า อุทายี ท่านกล่าวว่าอุทายีกุมารนั้น เป็นคนมีผิวพรรณค่อนข้างดำ เพราะฉะนั้นชนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี เมื่อ
กาฬุทายีเจริญวัยแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระมหาบุรุษเจ้า เป็นผู้สนิทสนมและคุ้นเคยกับพระมหาบุรุษมาก ฯ

ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จเทศนาสั่งสอนแก่เวไนยสรรพสัตว์ เมื่อเวลาพระองค์ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์มหานคร พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดาทรงทราบ มีพระราชประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรพระราชโอรส จึงมีพระราชโองการดำรัสใช้อำมาตย์คนหนึ่ง พร้อมทั้งบริวาร ๑ พัน ให้ไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดา ฯ


อำมาตย์รับพระราชโองการแล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ไม่ได้ทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดา และทั้งไม่ได้ส่งข่าวให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ฯ

ส่วนสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา เมื่อไม่เห็นพระราชโอรสเสด็จมา และทั้งไม่ได้ทราบข่าวด้วย จึงใช้อำมาตย์พร้อมทั้งบริวาร ๑ พัน ไปอีก อำมาตย์ก็ไปบวชเสีย ไม่กลับมาส่งข่าวให้ทราบ โดยนัยนี้ถึง ๙ คนแล้ว ครั้นวาระที่ ๑๐ จึงตรัสสั่งให้กาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นคนคุ้นเคย และเป็นคนที่โปรดปรานของพระบรมศาสดาให้ไปทูลเชิญเสด็จ


กาฬุทายีอำมาตย์ทูลลาบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พาบริวาร ๑ พัน ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารก็ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา  

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ได้อุปสมบทแล้ว เมื่อถึงเหมันตฤดู ท่านเห็นเป็นกาลอันสมควรที่จะทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดาให้เสด็จคืนนครด้วยคาถา ๖๐ แล้ว ทูลเชิญเสด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบริวาร ไปกรุงกบิลพัสดุ์ ฯ


เมื่อท่านกาฬุทายีทราบว่า พระบรมศาสดาเสด็จกลับคืนพระนครกบิลพัสดุ์ จึงล่วงหน้าไปก่อน และแจ้งข้อความนั้นให้แก่พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ พระมหากษัตริย์พร้อมด้วยพระประยูรญาติและประชาชนเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านทุกๆ วัน ที่มาแจ้งข่าว

ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่น เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ตามมรรคาวันละโยชน์ ในเมื่อเสด็จตามมรรคา ท่านกาฬุทายีได้มาสู่สำนักของพระเจ้าสุทโธทนะแจ้งระยะทางให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านแล้ว จะให้นำไปถวายแด่สมเด็จพระบรมศาสดาทุกๆ วัน


ท่านได้เทศนาสั่งสอนให้มหาชนเกิดความเลื่อมใส ด้วยความสามารถของท่านในเรื่องนี้ ท่านพระกาฬุทายีจึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยังสกุลที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ผู้ที่บังเกิดพร้อมในวันเดียวกันกับพระมหาบุรุษ เรียกว่า สหชาติ มี ๗ คือ ไม้มหาโพธิ ๑ พระนางยโสธรา (พิมพา) มารดาของราหุล ๑ ขุมทองทั้งสี่ ๑ ช้างพระที่นั่ง ๑ ม้ากัณฐกะอัศวราช ๑ นายฉันนะอำมาตย์ ๑ กาฬุทายีอำมาตย์ ๑ ฯ ทั้ง ๗ นี้บังเกิดพร้อมกันกับมหาบุรุษเจ้า ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๗   

ประวัติพระนันทเถระศากยะ

3.png



ท่านพระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดาทำให้บรรดาประยูรญาติทั้งหลายมีความยินดีร่าเริงใจใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้นเมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติทั้งหลาย ได้ถือเอานิมิตนั้นถวายพระนามว่า นันทกุมาร ฯ
            

เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง ประกาศสุจริตธรรมให้ได้ความเชื่อความเลื่อมใส

ในวันหนึ่งมีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทกุมารและพระนางชนปทกัลยาณี พระองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนักของนันทกุมารเสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสอวยชัยให้พรเพื่อเป็นมงคลแล้ว แล้วเสด็จกลับ

ส่วนนันทกุมารถือบาตรตามเสด็จไป นึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใดก็จะรีบกลับมา แต่ไม่สามารถจะทูลเตือนได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนนางชนปทกัลยาณีที่จะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้นจึงร้องสั่งว่า “ขอพระลูกเจ้าจงรีบเสด็จกลับมา”

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า “นันทะ เธอจักบวชหรือ” นันทกุมารแม้มีใจไม่สมัครจะบวชแต่ไม่อาจขัด เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับด้วยความไม่พอใจว่า จะบวช

ครั้นบวชแล้วหวนระลึกถึงแต่คำพูดที่นางชนปทกัลยาณีที่ร้องสั่งไว้เมื่อมาอยู่เสมอ มีความเบื่อหน่ายไม่ผาสุกในอันจะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา ฯ

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงได้พาเที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆ ให้ได้เห็นหญิงที่มีรูปร่างสวยงามกว่านางชนปทกัลยาณี ให้พระนันทะละความรักรูปนางชนปทกัลยาณีเสีย มุ่งหมายอยากได้รูปหญิงสาวสวยๆ งามๆ ยิ่งไปกว่านั้นต่อไป ความจริงก็ได้เป็นเช่นนั้น

จนผลที่สุดพระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงสาวที่สวยๆ งามๆ ให้ ต่อแต่นั้น พระนันทะก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์เพื่อจะได้หญิงสาวที่รูปสวยๆ งามๆ จนข้อความรู้กันทั่วไปในหมู่ภิกษุพากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง

ท่านพระนันทะเกิดความละอายหลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว เกิดความดำริขึ้นในใจว่า ความรักไม่มีที่สิ้นสุด เกิดความสลดใจบรรเทาความรักเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้ที่สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายด้วยอำนาจของโลกธรรม และเป็นผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๘

ประวัติพระราหุลเถระ

3.png



ท่านพระราหุล เป็นพุทธโอรสกับพระนางยโสธรา (พิมพา) พระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม

วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระราชเทวีได้ส่งราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ตนควรจะได้ ราหุลกุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่างๆ

ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติและเสด็จตามไปด้วย พระบรมศาสดาทรงดำริว่า ก็บรรดาทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่จะถาวรมั่นคง และประเสริฐกว่าอริยทรัพย์มิได้มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า ถ้าอย่างนั้นพระสารีบุตรจงบวชให้ราหุลเถิด ครั้งนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่ มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นอุบัติเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตร ที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณรด้วยให้สรณคมน์ ๓ ฯ

เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้วตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌายะของตนไป ครั้นเมื่อมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ วันหนึ่งท่านพระราหุลอยู่ที่สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่นทรงแสดงเทศนาราหุโลวาทสูตรเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้น แล้วเสด็จกลับไป ฯ

วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนเทศนามหาราหุโลวาทสูตร*๑ ซึ่งว่าด้วยรูปกรรมฐาน ยกธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๑ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ๑ เตโชธาตุ ธาตุไฟ ๑ วาโยธาตุ ธาตุลม ๑ อากาศธาตุ ช่องว่าง ๑ ขึ้นแสดง ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างไรว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของเราเป็นต้น ฯ

ในที่สุดตรัสสอนในกรรมฐานอื่นให้เจริญภาวนา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้ว พระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา

ภายหลังพระราหุลได้ฟังพระโอวาทที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เป็นแต่ที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕ ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

ท่านพระราหุลเป็นผู้ใคร่ศึกษาธรรมวินัย ตามตำนานท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพระราหุลนั้นครั้นลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว จึงไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระบรมศาสดา หรือแต่สำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้ ฯ

ด้วยเหตุนั้น ท่านพระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ร.ศ.๑๑๒ หน้า ๑๒๗-๑๒๘ ฯ ๒-หน้า ๑๓๕-๑๔๑ ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 03:51 , Processed in 0.100004 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.