แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๙   

ประวัติพระจูฬปันถกเถระ

3.png


ท่านพระจูฬปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ด้วยเหตุที่เป็นน้องชายมหาปันถกะ จึงเติมเครื่องหมาย “จูฬ” เข้าข้างหน้าว่า จูฬปันถกะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องราวของพระมหาปันถกะนั้น ฯ ประวัติของท่านในตอนต้น ก็พึงทราบความตามนัยที่กล่าวแล้วในประวัติของพระมหาปันถกะนั้นเถิด


ในที่นี้จักกล่าวแต่ตอนที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาไป ซึ่งมีความว่า เมื่อพระมหาปันถกะผู้เป็นพี่ชายได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว และเสวยวิมุตติสุข ใคร่จะให้ความสุขเช่นนั้นแก่จูฬปันถกะผู้เป็นน้องชายบ้าง จึงไปขออนุญาตจากตา เพื่อขอให้จูฬปันถกะบวช เศรษฐีผู้เป็นตาก็อนุญาตให้ตามประสงค์ พระมหาปันถกะจึงให้จูฬปันถกะบวช  


ครั้นจูฬปันถกะบวชแล้ว ปรากฏว่าเป็นคนทึบมาก พี่ชายสอนให้เรียนคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียงคาถาเดียว เรียนอยู่ถึง ๔ เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นว่า


   
“  ปทฺทมํ  ยถา  โกกนุทํ  สุคนฺธํ
     ปาโต  สิยา  ผุลฺลมวีตคนฺธํ
     องฺคีรสํ  ปสฺส  วิโรจมานํ
     ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข ”

        

แปลว่า “เธอจงดูพระศากยมุนีอังคีรสผู้มีพระรัศมีแผ่ซ่าน ออกจากพระวรกาย มีพระบวรพักตร์อันเบิกบาน ปานหนึ่งว่าดอกปทุมชาติชื่อว่าโกกนุท มีกลิ่นหอมย่อมขยายกลีบแย้มบานในกาลเช้า มีกลิ่นเรณูมิได้หายระเหยหอม ท่านย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ดุจดวงทิวากรอันส่องแสงแผดแสงอยู่บนอากาศฉะนั้น”


ท่านพระมหาปันถกะทราบว่า จูฬปันถกะน้องชายโง่เขลามาก จึงประณามขับไล่ออกเสียจากสำนักของท่าน ทั้งในเวลานั้น ท่านเป็นภัตตุเทศก์


หมอชีวกโกมารภัจจ์มานิมนต์ภิกษุฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่นับจูฬปันถกะเข้าด้วย พระจูฬปันถกะเกิดความน้อยใจคิดจะสึกเสีย จึงออกไปแต่เช้าตรู่ ได้พบพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตู พระองค์จึงตรัสถามว่า จูฬปันถกะ เธอจะไปไหน ในเวลาเช่นนี้


พระจูฬปันถกะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปสึก เพราะพี่ชายขับไล่ข้าพระพุทธเจ้า จูฬปันถกะเธอบวชเฉพาะพี่ชายของเธอเมื่อไร บวชเฉพาะฉันต่างหาก ก็เมื่อพี่ชายขับไล่แล้ว ทำไมไม่มาหาฉัน มานี่ เป็นฆราวาสจะได้ประโยชน์อะไร มาอยู่กับฉันดีกว่า


จูฬปันถกะเข้าไปเฝ้าที่ใกล้แล้ว พระองค์ทรงลูบศีรษะด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วพาไปนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงประทานผ้าขาวอันบริสุทธิ์ ตรัสสั่งให้ลูบคลำทำบริกรรมไป ไม่นานผ้านั้นก็เศร้าหมองเหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดว่าผ้านี้เป็นของขาวบริสุทธิ์อย่างเหลือเกิน แต่อาศัยได้มาถูกต้องอัตภาพนี้ จึงละภาวะเดิมเสีย กลายเป็นผ้าที่เศร้าหมองไปอย่างนี้


สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอดังนี้แล้ว เจริญวิปัสสนา พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงตรัสสอนด้วยพระคาถา ๓ พระคาถา ในเวลาจบพระคาถา ท่านพระจูฬปันถกะได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ฯ


ในเวลาที่พระจูฬปันถกะลูบคลำทำบริกรรมอยู่นั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ หย่อนอยู่องค์หนึ่ง เสด็จไปสู่เรือนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นท่านได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ก็พอมาถึงเวลาฉัน หมอชีวกโกมารภัจจ์น้อมภัตเข้าไปถวาย


พระองค์ทรงปิดบาตรเสียตรัสว่า ภิกษุยังมาไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่วิหารอีกองค์หนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงใช้ให้คนไปตาม ในครั้งนั้นพระจูฬปันถกะนิรมิตพระภิกษุให้เต็มวิหารพันรูป เมื่อคนใช้ไปถึงเห็นพระมีมากตั้งพันรูป จึงกลับไปบอกหมอชีวกโกมารภัจจ์


ครั้งนั้นพระบรมศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า เจ้าจงไปแล้วบอกว่า “พระบรมศาสดาตรัสเรียกพระจูฬปันถกะ” บุรุษนั้นก็กลับไปบอกเหมือนอย่างนั้น ภิกษุตั้งพันพูดว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ บุรุษนั้นกลับมาอีก กราบทูลว่า ภิกษุเหล่านั้นชื่อจูฬปันถกะทั้งนั้นพระเจ้าข้า


พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุรูปใดพูดขึ้นก่อน จงจับมือภิกษุรูปนั้นไว้ ภิกษุที่เหลือนอกนั้น จักอันตรธานหายไป บุรุษนั้นทำเหมือนอย่างพระบรมศาสดาตรัสนั้น จึงได้พาพระจูฬปันถกะไปในที่นิมนต์ ในที่สุดแห่งภัตกิจ ท่านพระจูฬปันถกะได้ทำภัตตานุโมทนา ฯ


อาศัยที่ท่านประกอบด้วยมโนมยิทธิเช่นนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ ฯ ครั้นเมื่อท่านพระจูฬปันถกะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๐   

ประวัติพระโสณกุฏิกัณณเถระ*

3.png


ท่านพระโสณกุฏิกัณณะ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า กาฬีผู้โสดาบัน ในกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อว่า โสณะ เพราะเหตุว่าท่านประดับเครื่องประดับที่หูควรค่าถึงโกฏิหนึ่ง จึงได้คำว่า “กุฏิกัณณะ” ตามหลังชื่อของท่านว่า “โสณกุฏิกัณณะ” ฯ  

เมื่อพระมหากัจจายนะอาศัยอยู่ที่ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรรฆระ ในอวันตีชนบท ฯ มารดาของโสณกุฏิกัณณะได้เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน เมื่อโสณกุฏิกัณณะเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกและเป็นผู้อุปัฏฐากท่านด้วย

ครั้นต่อมาโสณกุฏิกัณณะมีความปรารถนาจะบวช จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะ บอกความประสงค์ของตนให้ท่านทราบ ท่านได้ชี้แจงแก่โสณอุบาสกถึงการประพฤติพรหมจรรย์ว่า ลำบากอย่างไร แนะนำให้บำเพ็ญศาสนปฏิบัติในทางฆราวาส แต่โสณอุบาสกมีศรัทธาแก่กล้า ถึงแม้จะได้รับความลำบากอย่างไร ก็ยังปรารถนาเพื่อจะบวชอยู่ จึงได้อ้อนวอนขอให้ท่านสงเคราะห์อยู่เนืองๆ

ในที่สุดพระมหากัจจายนะก็ให้บวชเป็นสามเณรเท่านั้น เพราะในอวันตีชนบท มีภิกษุน้อย จะหาพระสงฆ์มีจำนวน ๑๐ รูป ที่เรียกว่าทสวรรค ให้อุปสมบทได้ยาก ฯ โดยล่วงไป ๓ ปี โสณสามเณรนั้น จึงได้อุปสมบท แล้วก็ศึกษาเล่าเรียนกรรมฐานอยู่ในสำนักอุปัชฌาย์

ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เมื่อออกพรรษาแล้ว มีความประสงค์อยากจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพราะยังไม่เคยเห็นพระบรมศาสดาเลย จึงได้ลาพระมหากัจจายนเถระ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ไปถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำของท่าน และให้กราบทูลถึงการปฏิบัติพระวินัยบางอย่างอันไม่สะดวกแก่ภิกษุผู้อยู่ในชนบทนั้น มีการอุปสมบทเป็นต้น เพื่อได้รับพระพุทธดำริแห่งพระบรมศาสดา ฯ

ครั้นลาพระอุปัชฌาย์แล้ว* จัดแจงเก็บเสนาสนะ ถือเอาบาตรและจีวรออกจากอวันตีชนบทไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ครั้นถึงที่ประทับแล้วเข้าเฝ้า กราบถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์ตรัสปฏิสันถารตามสมควร แล้วตรัสสั่งพระอานนท์จัดแจงที่พักให้ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์

ในเพลาราตรีจวนจะสว่าง พระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้ท่านถวายเทศนา ท่านได้แสดงพระสูตรอันแสดงวัตถุ ๘ ประการ ด้วยเสียงอันไพเราะ พระองค์ทรงสดับแล้วตรัสสาธุการชมเชยว่า ดีละๆ ภิกษุ แล้วตรัสถามถึงอายุพรรษาของท่านต่อไป ท่านได้กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณกุฏิกัณณะได้โอกาสอันดีแล้ว จึงกราบทูลข้อความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมา พระองค์ทรงทราบแล้วได้ทรงอนุญาตผ่อนผันให้ตามความประสงค์ (เรื่องนี้มีพิสดารในประวัติของพระมหากัจจายนะ) เมื่อท่านอยู่ในที่ประทับของพระบรมศาสดาพอสมควรแก่กาลแล้ว ได้กราบถวายบังคมลากลับมายังสำนักพระมหากัจจายนะตามเดิม

ครั้นกลับมาแล้ว ได้แสดงธรรมเทศนาที่ได้ถวายแก่พระบรมศาสดาให้มารดาของท่านฟังโดยทำนองนั้นๆ อีก ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๓ จัมมขันธกะ หน้า ๒๙-๓๐ ฯ อุทาน หน้า ๑๒๑-๑๒๕ ฯ


* ในอสีติมหาสาวกนิพพานกล่าวว่า เมื่อท่านลาพระมหากัจจายนะแล้ว และไปลามารดาอีก มารดาจึงได้ฝากผ้ากัมพลผืนหนึ่งให้เอาไปปูลาดพระคันธกุฎี ที่ประทับพระบรมศาสดา ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๑   

ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ

3.png


ท่านพระลกุณฏกภัททิยะ* เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพร้อมด้วยอุบาสกชาวนครนั้นเป็นอันมากไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้บวชสมความประสงค์แล้ว อุตส่าห์เล่าเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดา บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่

ครั้นกาลต่อมา ท่านเข้าไปหาพระสารีบุตรได้นั่งสนทนาธรรมิกถากับท่านโดยอเนกปริยาย เมื่อสนทนาอยู่ จิตท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ฯ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้นปรากฏว่าเป็นคนมีรูปร่างเล็กและต่ำเตี้ย ถ้าใครไม่เคยรู้จักและเคยเห็นท่านเลย หารู้ไม่ว่าเป็นพระ สำคัญเป็นสามเณรไป ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านมาเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วหลีกไป ในเวลานั้นภิกษุผู้อยู่ในป่าประมาณ ๓๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้เห็นท่านหลีกไปเหมือนกัน

พระบรมศาสดา ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอเห็นพระเถระรูปหนึ่งเดินไปจากที่นี่บ้างไหม

พวกภิกษุ กราบทูลว่า ไม่เห็นพระพุทธเจ้าข้า

พ. เห็นมิใช่หรือ  

ภ. เห็นแต่สามเณรองค์หนึ่งพระพุทธเจ้าข้า

พ. นั่นแหละพระเถระ ไม่ใช่สามเณร

ภ. เล็กเหลือเกินพระพุทธเจ้าข้า ดังนี้ ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นต้น ที่เป็นปุถุชนเห็นท่านแล้วจับศีรษะท่านบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง แล้วพูดว่า “อา ! ยังไม่อยากสึกบ้างหรือ ยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาหรือ” ดังนี้ แต่ท่านหาได้โกรธเคืองในภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นไม่ เพราะท่านเป็นขีณาสพ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้พูดไพเราะเสนาะโสดแก่ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างมีเสียงไพเราะ ฯ เมื่อท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ลกุณฏกภัททิยเถระ ในธรรมบทแปลว่า พระเถระที่อยู่ในนครภัททิยะ ชื่อว่าลกุณฏกะ โดยนัยนี้ ได้ความว่า เดิมท่านชื่อว่า ลกุณฏกะ แต่อาศัยท่านอยู่ ภัททิยนคร ฯ มหาชนจึงเรียกชื่อท่านประสมกับชื่อนครเข้าด้วยกัน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๒   

ประวัติพระสุภูติเถระ

3.png


ท่านพระสุภูติ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ในวันหนึ่งเมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีทำการฉลองพระเชตวันมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีได้ไปสู่พระเชตวันมหาวิหารพร้อมกับด้วยท่านมหาเศรษฐี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบวชในพระธรรมวินัย จึงทูลขออุปสมบทในสำนักของสมเด็จพระบรมศาสดา

ครั้นได้อุปสมบทสมความประสงค์แล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จนชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอยู่ในป่า ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

ท่านพระสุภูติประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ อรณวิหาร ชำนาญด้วยโลกุตตรธรรม สำราญอยู่ด้วยหากิเลสมิได้ ๑ และเป็นทักขิเณยยบุคคล ผู้ควรรับซึ่งทักษิณาทาน ๑

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางอรณวิหารแลทักขิเณยยบุคคล ฯ ท่านพระสุภูติเถรนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๓   

ประวัติพระกังขาเรวตเถระ

3.png



ท่านพระกังขาเรวตะ บังเกิดในตระกูลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ในพระนครสาวัตถี เป็นคนมีศรัทธา วันหนึ่งเป็นเวลาปัจฉาภัต
มหาชนชักชวนกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อจะสดับพระธรรมเทศนา

เรวตะนั้นก็ได้ไปกับมหาชน ครั้นถึงที่พระเชตวันมหาวิหารแล้ว นั่งอยู่ในที่สุดบริษัท พระบรมศาสดาตรัสเทศนา เรวตะเกิดความศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุสมดังปรารถนาแล้ว ท่านอุตส่าห์เรียนเอาซึ่งพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาจารย์ ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จโลกิยฌาน กระทำฌานที่ตนได้แล้วนั้นให้เป็นที่ตั้ง เจริญวิปัสสนากรรมฐานสืบไป ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ท่านพระเรวตะนั้นมักเกิดความสงสัยในกัปปิยวัตถุ คือสิ่งของที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เป็นของควรแก่บรรพชิตจะพึงบริโภคใช้สอย เมื่อท่านได้กัปปิยวัตถุอันใดมาแล้ว ก็ให้คิดสงสัยอยู่ ต่อเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นกัปปิยวัตถุโดยถ่องแท้แล้ว จึงบริโภคใช้สอยกัปปิยวัตถุนั้น


ด้วยเหตุนี้คำว่า “กังขา” ซึ่งแปลว่า “ความสงสัย” จึงได้นำหน้าชื่อของท่านว่า “กังขาเรวตะ”

พระกังขาเรวตะนี้ เป็นผู้ชำนาญในฌานสมาบัติอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระเข้าสู่ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยได้โดยมาก ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยนั้น ท่านละเว้นโดยกำหนดมีน้อยยิ่งนัก


ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌานสมาบัติ ฯ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๔   

ประวัติพระวักกลิเถระ

3.png



ท่านพระวักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า วักกลิมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท


ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวไปในนครสาวัตถี วักกลิมาณพได้ทัศนาการเห็นพระองค์ ก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระรูปพระโฉมของพระองค์ไม่อิ่มไม่เบื่อหน่ายในการดู อยากจะดูอยู่ทุกเมื่อ จึงคิดว่า ถ้าเราบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว จักได้เห็นพระองค์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงออกบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นบวชแล้วแทนที่จะท่องบ่นสาธยายธรรม และบำเพ็ญเพียรกัมมัฏฐาน แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ มัวเมาแต่เที่ยวดูพระรูปโฉมของพระบรมศาสดาอยู่เท่านั้น พระองค์ก็มิได้ตรัสว่าอะไรๆ กะท่าน ท่านก็เที่ยวตามชมเชยอยู่เช่นนั้น


ครั้นต่อมาพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า ดูก่อนวักกลิ เธอต้องการดูกายที่เปื่อยเน่านี้เพื่อประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม แม้พระองค์ทรงตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ท่านพระวักกลิก็ยังไม่ละซึ่งการดูพระองค์แล้วหลีกหนีไปที่อื่น พระบรมศาสดาจึงทรงดำริว่าภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้ความสลดใจเสียบ้างแล้ว ก็จักไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร

ครั้นทรงดำริในพระทัยอย่างนี้แล้ว เมื่อจวนจะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์นครในวันเข้าพรรษา พระองค์จึงมีพระพุทธฎีกาประณามขับไล่พระวักกลิเสียจากสำนักของพระองค์ว่า “อเปหิ วกฺกลิ” ดูก่อนวักกลิภิกษุ เธอจงหลีกไปให้พ้นจากสำนักของเราเถิด ฯ


ท่านพระวักกลิเกิดความน้อยใจว่า พระบรมศาสดาจะไม่ทักทายปราศรัยกะเราอีกแล้ว เราก็ไม่อาจจะอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ตลอดไตรมาส มีความเสียใจที่จะไม่ได้เห็นพระองค์ จึงหลีกออกจากพุทธสำนัก แล้วคิดว่าเรามีชีวิตอยู่จะมีประโยชน์อะไร เราจักกระโดดภูเขาตายเสีย ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงลุกขึ้นไปยอดเขาคิชฌกูฏ ฯ

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงความลำบากของท่าน จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฏในที่เฉพาะหน้า และตรัสปลอบด้วยธรรมีกถา มีประการต่างๆ ท่านเกิดปีติและปราโมทย์อย่างแรงกล้า มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ นึกถึงพระโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ข่มปีติบนอากาศเสียได้แล้ว ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดาที่เฉพาะพระพักตร์ ฯ  

ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงตั้งพระวักกลิไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสัทธาวิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ท่านพระวักกลิดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๕   

ประวัติพระกุณฑธานเถระ

3.png



ท่านพระกุณฑธานะ
เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า ธานมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาของพราหมณ์จบไตรเพท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

ตั้งแต่วันที่ได้อุปสมบทปรากฏว่า มีรูปหญิงรูปหนึ่งเที่ยวติดตามไปข้างหลังของท่าน แต่ท่านไม่เห็นรูปนั้น เห็นแต่พวกมหาชนเท่านั้น ครั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน พวกมนุษย์ได้ถวายภิกษาแก่ท่าน ๒ ส่วน แล้วพูดว่า นี้ส่วนของท่าน นี้ส่วนของหญิงสหายของท่าน ฯ ตั้งแต่นั้นมา พวกมนุษย์จึงพากันเรียกท่านว่า กุณฑธานะ ฯ

ส่วนภิกษุผู้ไม่รู้ความจริง เห็นอาการเช่นนั้นเกิดความรังเกียจกลัวว่าจะเกิดโทษกับพวกตนด้วย จึงบอกให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีขับไล่ท่านออกเสียจากวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ไม่ขับ จึงบอกแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขาก็ไม่ขับไล่เหมือนกัน


พวกภิกษุเหล่านั้นจึงถวายพระพรทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่พระวิหารด้วยพระองค์เอง ทรงพิสูจน์ให้ได้ความจริงแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส รับสั่งให้เข้าไปบิณฑบาตในพระราชวัง และบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พวกภิกษุเห็นดังนั้นก็กลับซ้ำติเตียนว่า เป็นคนชั่วช้า ทั้งพระราชาทั้งพระกุณฑธานะ

พระกุณฑธานะโกรธ กล่าวโต้เหมือนอย่างนั้นบ้าง ครั้นพระบรมศาสดาทราบ กลับติเตียนแล้วทรงห้าม และทรงแสดงเรื่องรูปหญิงสาวนั้นให้พวกภิกษุทราบความจริง แล้วได้แสดงธรรมเทศนาด้วยพระคาถา ๒ คาถา

ในเวลาจบเทศนา ท่านพระกุณฑธานะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ภายหลัง พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากเป็นปฐม เมื่อท่านพระกุณฑธานะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๖   

ประวัติพระวังคีสเถระ

3.png


ท่านพระวังคีสะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนตามคัมภีร์ในลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท และได้เรียนมนต์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฉวสีสมนต์ เป็นมนต์เครื่องพิสูจน์ซึ่งศีรษะแห่งซากศพแม้ตายแล้วตั้งสามปี ให้รู้ว่าไปเกิดเป็นอะไร ณ ที่ไหน

และวังคีสพราหมณ์ได้อาศัยมนต์นั่นเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ คือในขั้นต้นได้แสดงศิลปะนั้น ให้ปรากฏโดยความจริงแก่พวกชนในพระนครนั้นก่อน พวกพราหมณ์นี้เลี้ยงชีพได้ จึงได้พาเที่ยวไปสู่ชนบทน้อยใหญ่ประกาศแก่มนุษย์ทั้งเหล่าว่า วังคีสพราหมณ์นี้รู้มนต์วิเศษ ร่ายมนต์แล้วเอาเล็บเคาะที่ศีรษะแห่งสัตว์ผู้ตายแล้ว ย่อมรู้ได้ว่าผู้นี้ไปบังเกิดในนรก ผู้นี้ไปบังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ผู้นี้ไปเกิดในเปรตวิสัย ผู้นี้ไปบังเกิดในมนุษยโลก ผู้นี้ไปเกิดในเทวโลกดังนี้ ฯ

พวกมนุษย์ทั้งหลายได้ยินประกาศดังนั้น ก็มีความประสงค์อยากจะถามถึงพวกญาติของตนๆ บ้าง จึงให้ทรัพย์ตามกำลังของตนมากบ้างน้อยบ้าง แล้วถามถึงที่เกิดของพวกญาติของตนๆ พวกพราหมณ์เหล่านั้น พาวังคีสพราหมณ์เที่ยวไปในนิคมชนบทอย่างนี้แล้ว กลับมายังพระนครสาวัตถีพักอยู่ใกล้พระเชตวันมหาวิหาร

วันหนึ่งในเวลาเช้า พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้เห็นพวกมนุษย์เป็นอันมาก ถือดอกไม้ธูปเทียนเพื่อจะไปฟังพระเทศน์ในพระเชตวันมหาวิหาร จึงว่าพวกท่านจะไปที่นั่นทำไม ก็คนที่จะดีวิเศษเช่นกับวังคีสพราหมณ์ของพวกเราไม่มี เธอรู้มาก พวกมนุษย์เถียงว่า วังคีสพราหมณ์จะรู้อะไร คนที่จะเหมือนกับด้วยพระบรมศาสดาของพวกเราไม่มี เมื่อต่างพวกต่างเถียงกันไม่ตกลง จึงได้พร้อมกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร

พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พวกวังคีสพราหมณ์มาสู่ที่เฝ้า พระองค์จึงรับสั่งให้นำศีรษะคนตายมาแล้ว ๕ ศีรษะ คือศีรษะของสัตว์ที่เกิดในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน มนุษยโลก เทวโลก ๔ ศีรษะ ศีรษะพระขีณาสพศีรษะ ๑ ตั้งไว้ลำดับกัน เมื่อวังคีสพราหมณ์เข้าเฝ้าแล้ว

พระองค์ตรัสถามว่า ฉันได้ทราบว่า ท่านร่ายมนต์แล้วเคาะศีรษะมนุษย์ที่ตายแล้ว ย่อมรู้ที่เกิดของเขาหรือ ?

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามศีรษะของสัตว์ ๔ ศีรษะ ที่เกิดในที่ทั้ง ๔ วังคีสพราหมณ์ก็ทายถูกต้องหมด

พระองค์จึงตรัส สาธุการว่า ดีละๆ ถูกต้องแล้ว ลำดับนั้นพระองค์จึงตรัสถามศีรษะที่ ๕ ว่า ผู้นี้ไปเกิดที่ไหน ?

วังคีสพราหมณ์ ร่ายมนต์แล้วเคาะศีรษะ ก็ไม่รู้จักที่เกิด เพราะเป็นศีรษะพระอรหันต์ จึงนิ่งเฉยอยู่

พระบรมศาสดา ตรัสถามว่า เธอไม่รู้หรือวังคีสะ ฯ

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้

พ. ฉันรู้

ว. พระองค์ รู้ด้วยอะไร ?

พ. รู้ด้วยกำลังมนต์ของฉัน ฯ

ครั้งนั้นวังคีสพราหมณ์จึงกราบทูลขอเรียนมนต์นั้น พระองค์ตรัสว่า คนที่ไม่บวชฉันให้ไม่ได้ วังคีสพราหมณ์นั้นจึงคิดว่า ถ้าเราเรียนมนต์นี้ได้แล้ว เราก็จักเป็นใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงส่งพราหมณ์นั้นไป และสั่งว่าพวกท่านจงรอเราอยู่นั่นแหละสัก ๒-๓ วัน เราจักบวชในสำนักของพระบรมศาสดา

ครั้นวังคีสะได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาจึงประทานกรรมฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ ตรัสสั่งให้ท่องบ่นบริกรรมซึ่งมนต์นั้น ครั้นท่านสาธยายมนต์นั้นอยู่อย่างนี้ พวกพราหมณ์ก็คอยมาถามอยู่ว่า เรียนมนต์ได้แล้วหรือยัง ? ท่านตอบว่า รอก่อนกำลังเรียน โดยร่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น พระวังคีสะก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ครั้นท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่ใดๆ ณ กาลใดๆ ย่อมกล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระองค์บทหนึ่งก่อนเสมอ ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างปัญญาปฏิภาณในการผูกบทบาทคาถา ครั้นท่านพระวังคีสะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๗   

ประวัติพระปิลินทวัจฉเถระ

3.png


ท่านพระปิลินทวัจฉะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์วัจฉโคตร ชื่อว่า “ปิลินทะ” เรียกชื่อรวมกับโคตรด้วยว่า ปิลินทวัจฉะ เมื่อเจริญวัยวัฒนาการแล้ว บังเกิดศรัทธาแก่กล้า ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา


ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถานในกรุงราชคฤห์ ฯ ครั้งนั้นท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า “วสละ” ซึ่งแปลว่า “เป็นคนถ่อย” อันเป็นคำหยาบคาย พวกภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก จึงเข้าไปกราบทูลเนื้อความนั้นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่งไปเรียกตัวเข้ามาเฝ้า

ครั้นท่านพระปิลินทวัจฉะเข้ามาเฝ้าแล้ว ทรงรับสั่งถามว่า ดูกรปิลินทวัจฉะ ฉันได้ทราบว่า เธอร้องเรียกพวกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า “วสละ” จริงหรือ ? จึงกราบทูลว่า จริงอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ฯ


ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึกถึงบุพกรรมของท่านพระปิลินทวัจฉะได้ พระองค์จึงทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวลงโทษปิลินทวัจฉภิกษุเลย เธอมิได้ถือโทษโกรธแค้นร้องเรียกพวกเธอด้วยวาทะว่า “วสละ” ดอก

ปิลินทวัจฉภิกษุเคยถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์มาแล้ว ๕ ร้อยชาติ เธอเคยมีวาทะว่า “วสละ” มาแล้วสิ้นกาลช้านาน เพราะเหตุนั้น เธอจึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะเช่นนั้น ฯ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะนั้น ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักใคร่เจริญใจของเทพยดา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๘   

ประวัติพระกุมารกัสสปเถระ

3.png


ท่านพระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า กัสสปะ ภายหลังชนทั้งหลายเรียกว่า กุมารกัสสปะ เพราะเจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ฯ


ได้ยินว่ามารดาของท่านมีความปรารถนาอยากจะบวชตั้งแต่ยังแรกรุ่นสาว ได้อ้อนวอนขออนุญาตจากมารดาอยู่บ่อยๆ มารดาบิดาไม่ยอมอนุญาต ครั้นต่อมานางมีสามี ตั้งครรภ์ขึ้นยังมิทันรู้ตัว นางอุตส่าห์ปฏิบัติสามีให้มีความยินดีแล้ว ก็อ้อนวอนขอบรรพชา

ครั้นเมื่อสามีอนุญาตแล้ว ได้ไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณีซึ่งเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ภายหลังนางมีครรภ์แก่ปรากฏขึ้น พวกนางภิกษุณีเห็นแล้วเกิดความรังเกียจ จึงได้นำตัวไปให้พระเทวทัตตัดสินชำระอธิกรณ์


พระเทวทัตตัดสินว่า ภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะให้สึกเสีย เมื่อนางได้ฟังคำของพระเทวทัตแล้วเกิดความเสียใจ จึงพูดว่าพวกท่านอย่าให้ฉันฉิบหายเลย ดิฉันไม่ได้บวชเฉพาะพระเทวทัต ขอพวกท่านจงพาดิฉันไปส่งสำนักพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหารเถิด

พวกนางภิกษุณีจึงได้พานางไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา และกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์แต่เมื่อยังไม่บวช แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของชนเหล่าอื่น จึงรับสั่งให้พระอุบาลีชำระอธิกรณ์ในเรื่องนั้นและให้ไปเชิญตระกูลใหญ่ๆ ในพระนครสาวัตถี มีนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น มาพร้อมกัน

แล้วพากันพิสูจน์ก็รู้ชัดว่า นางมีครรภ์ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช จึงได้ตัดสินในท่ามกล่างแห่งบริษัท ๔ ว่า นางภิกษุณีนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า อุบาลีตัดสินอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว

ครั้นกาลต่อมา เมื่อนางภิกษุณีนั้นมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ ได้ทรงรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และให้นามสามัญว่า “กัสสปะ” ทารกนั้นเจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ชนทั้งหลายจึงได้ชื่อว่า “กุมารกัสสปะ”


วันหนึ่งกุมารกัสสปะลงไปเล่นกับเพื่อนเด็กๆ ด้วยกันที่สนาม ได้ตีเด็กที่เล่นด้วยกันถูกเขาด่าเอาว่า เด็กไม่มีแม่มีพ่อตีเอาพวกเราเข้าแล้ว กุมารกัสสปะได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปกราบทูลพระราชา

ชั้นแรกพระองค์ตรัสบอกว่า แม่นมเป็นมารดา กุมารกัสสปะไม่เชื่อ อ้อนวอนถามอยู่บ่อยๆ พระองค์จึงตรัสบอกความจริง กุมารกัสสปะเกิดความสลดใจ จึงขอพระบรมราชานุญาตออกผนวช พระองค์ก็ทรงอนุญาต ได้พาไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา ฯ

ครั้นเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา อุตส่าห์เรียนเอาพระกรรมฐานในสำนักของพระบรมศาสดา เข้าไปสู่ป่า เพียรพยายามอยู่ก็ยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ จึงกลับมาเรียนพระกรรมฐานให้วิเศษขึ้นอีก แล้วไปอยู่ที่อันธวัน ฯ


ครั้งนั้นสหายท่านซึ่งเป็นภิกษุเคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกัน ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอนาคามิผลไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาหาท่าน แล้วผูกปัญหาให้ ๑๕ ข้อ สั่งว่า คนอื่นนอกจากพระบรมศาสดา ชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้เถิด ดังนี้แล้วส่งไป

ท่านพระกุมารกัสสปะก็ไปทำเหมือนอย่างนั้น ครั้นท่านได้ฟังปัญหาพยากรณ์ ๑๕ ข้อแล้ว ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา


ท่านมีความสามารถแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ได้อย่างวิจิตรพิสดาร มีข้ออุปไมยพร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ฉลาดในอุบายสั่งสอนบริษัท

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในจิตรกถา คือแสดงธรรมเทศนาได้อย่างวิจิตร ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 03:38 , Processed in 0.052205 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.