แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 19877|ตอบ: 12
go

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ม.๖ ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

DSC00949.JPG



วัดพระบรมธาตุวรวิหาร  

ม.๖ ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท

[พระบรมธาตุเจดีย์]

----------------------


(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 27 กันยายน 2565)


Rank: 8Rank: 8

DSC00928.JPG



วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ หรือ วัดหัวเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง หมู่ที่ ๖ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เดิมมีเนื้อที่ ๔๕ ไร่ ได้ถูกเวนคืนเป็นที่ชลประทานไปบ้าง คงเหลือเนื้อที่ประมาณ ๓๑ ไร่ ๑ งาน ๒๔ วา มีใบสำคัญ น.ส. ๓ เลขที่ ๓๓๘

อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ติดเขตชลประทานและแม่น้ำน้อย ทิศตะวันออกติดชลประทานและประตูน้ำปิดเปิดเรือเข้าออก ทิศตะวันตกติดที่ชลประทาน ยกให้สร้างโรงเรียนเรียกว่า โรงเรียนพระบรมธาตุ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลัง เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ห่างจากตัวเมืองจังหวัด ๔ กิโลเมตร มีหมู่บ้านบำรุงวัดประมาณ ๑๐๐๐ หลังคาเรือนเศษ ห่างจากเขื่อนเจ้าพระยา ๕ กิโลเมตร

วัดได้ยกฐานะเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๘ และได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๙ จนถึงปัจจุบัน


S__28663823.jpg



แผนที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร โดยสังเขป


(แหล่งอ้างอิงรูปภาพ : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) ปกรองหลัง.)


DSC00986.JPG



ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้า วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00930.JPG



ซุ้มประตูทางเข้าทิศใต้ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


S__28663813.jpg



813.1.jpg



แผนผังวัดพระบรมธาตุวรวิหาร โดยสังเขป

๑. พระวิหารเก้าห้อง
๒. พระบรมธาตุเจดีย์
๓. พระอุโบสถ
. ศาลาดิน
๕. พิพิธภัณฑ์ของวัด
๖. กุฏิเจ้าอาวาส
๗. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
๘. ศาลาหลังเก่า
๙. ศาลาอเนกประสงค์
๑๐. เมรุ
๑๑. กุฏิสงฆ์
๑๒. บริเวณสระน้ำ
๑๓. โรงลิเก

(แหล่งอ้างอิงรูปภาพ : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) ปกรองหลัง.)


DSC00940.JPG


พระวิหารเก้าห้อง วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์ สันนิษฐานว่าเดิมคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมธาตุเจดีย์ แต่มีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในระยะหลังมาหลายครั้ง ปัจจุบันพระวิหารเก้าห้องเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ภายในมีบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์

(หมายเหตุ : ภาพพระวิหารเก้าห้อง พ.ศ.๒๕๕๐ กำลังบูรณปฏิสังขรณ์ อันเนื่องจากโครงการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดและศาสนสถานสำคัญ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีฯ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๗ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๐ ดำเนินการโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)


S__28672004.jpg



เปิดกรุในพระวิหารเก้าห้อง วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ปี ๒๕๑๘  



เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ อาตมา (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ได้รับคำสั่งจากเจ้าคณะสงฆ์ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร และอาตมาได้จำพรรษาที่นั่น พอออกพรรษาแล้ว อาตมาก็กลับไปอยู่วัดเดิม คือ วัดเขาท่าพระ เพื่อไปก่อสร้างที่ค้างอยู่ ต่อมาอาตมาได้กลับมาที่วัดพระบรมธาตุ

ต่อมาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ อาตมาได้รับนิมนต์จากวัดหางน้ำ อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ และต้อนรับสมเด็จพระวันรัตน์ (สมเด็จป๋า) เมื่อเสร็จกิจนิมนต์แล้ว อาตมาเดินทางกลับ โดยอาศัยรถยนต์ของพระราชยาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดชัยนาทกลับ ในระหว่างทางไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร อาตมาอยากจะไปวัดพระบรมธาตุ เพราะตั้งแต่ออกพรรษาไม่เคยกลับไปเลย พอรถมาถึงสามแยกจะไปเขื่อน จึงให้รถเจ้าคณะจังหวัดหยุด

อาตมาได้ลงจากรถเจ้าคณะจังหวัด แล้วขึ้นรถประจำทางไปถึงสะพานประตูระบายน้ำพระบรมธาตุ ก็มีชายคนหนึ่งทำงานประจำที่นั้นได้ถามอาตมาว่า หลวงพ่อครับ วันนี้เขาเปิดกรุวัดพระบรมธาตุกันหรือ เห็นมีคนเขาโจษกัน อาตมาได้ตอบทันควันว่า เอ..... ไม่ทราบนา อาตมากลับไปอยู่วัดเขาท่าพระเสียนาน เพิ่งจะมาวันนี้ ต่อจากนั้นอาตมาก็เดินต่อมาจนถึงวัด ได้พบภิกษุในวัดรูปหนึ่งอยู่กุฏิติดทางเข้าวัด อาตมาได้คุยและสอบถามเรื่องต่างๆ ในระหว่างที่อาตมาไม่อยู่ ในระหว่างที่คุยกันอยู่นั้น ภิกษุรูปนั้นบอกอาตมาว่า หลวงพ่อครับ วันนี้เขาขุดพระกันในวิหารเก้าห้อง พระประธานองค์ใหญ่หน้าตัก ๖ ศอก ถูกทุบไปหมดแล้ว และยังขุดตรงกลางแท่นพระประธานด้วย

อาตมาถามภิกษุองค์นั้นว่า เขาขุดได้อะไรบ้าง พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า เขาได้ของในองค์พระไปเยอะ และตรงกลางแท่นพระประธานที่ขุด ได้พระสัมฤทธิ์หน้าตักประมาณ ๖-๗ นิ้ว เอามาเรียงไว้ที่ปากบ่อประมาณ ๑๐ กว่าองค์ ผมได้ทราบจากคนๆ หนึ่ง เขาเข้าไปดูและเขาไล่ไม่ให้ดู นอกนั้นจะได้อะไรอีก ผมไม่ทราบ ที่ผมได้ทราบจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาเข้าไปดู แล้วมาเล่าให้ฟัง อาตมาถามว่า มีใครบ้างที่เข้าไปขุด ภิกษุองค์นั้นก็บอกชื่อคนขุดและยามคอยดูต้นทางทั้งหมดให้อาตมาฟังโดยตลอด อาตมาได้ฟังแล้วเกิดความสลดใจ ของเก่าของแก่ต้องมาถูกทำลายเพราะพวกเถรเทวทัต เพราะความโลภของพวกมนุษย์แท้ๆ อาตมาจึงบอกกับพระรูปนั้นว่า ใครมันเอาไปไว้ที่ไหน มันก็ฉิบหายที่นั้นแหละ ถือว่าเป็นกรรมของสัตว์

ต่อจากนั้นอาตมาก็ได้แยกกับพระรูปนั้น อาตมาสรงน้ำเรียบร้อยจนเวลาประมาณ ๒ ทุ่มเศษ อาตมาจึงได้ชวนพระภิกษุรูปนั้นไปแอบดูในวิหารในที่มืด เวลาล่วงไปชั่วโมงเศษ อาตมามองเห็นคนเดินลัดในวิหารไปในเงามืดแล้วหายไป อาจจะมาดูเหตุการณ์ก็ได้ อาตมารอดูอยู่จนเวลาประมาณ ๕ ทุ่มเศษ อาตมาจึงนำไฟฉายส่องในบ่อที่ขุดลึกประมาณ ๕ ศอก อาตมาจึงชวนพระกลับกุฏิ พอรุ่งเช้า อาตมาได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้สอบรู้ตัวทุกคน แล้วก็เงียบหายไป  

ต่อมาอาตมาไม่เก็บไม่ทำ ปล่อยให้อิฐทิ้งไว้ในวิหารระเกะระกะกระจัดกระจายเต็มวิหารไปหมด เมื่อมีนักทัศนาจรมาเที่ยวก็ชี้แจงบอกเขาไป พวกเหล่านั้นก็ด่าสาปแช่งกันต่างๆ นานา เวลางานประจำปีบ้าง เวลางานกฐินพระราชทานบ้าง ใครมาก็ด่าสาปแช่งกันทุกคน อาตมาได้ปล่อยทิ้งประจานให้คนทั่วๆ ไปสาปแช่งกันในแต่ละวัน อาตมามานึกอยู่ในใจว่า การทำลายของเก่าแก่เป็นส่วนรวม ที่ไม่มีใครว่าดีเลย มีแต่คนแช่งชักหักกระดูกกันทั้งนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๑๘ ทิ้งเข้าไว้เป็นเวลาถึง ๔ ปีเต็ม

อาตมาจึงได้ปรึกษากับญาติโยม เพื่อช่วยกันคิดซ่อมแซมแท่นพระในวิหารเสียใหม่ แล้วสร้างรูปพระพุทธเจ้าเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อเป็นที่ตกลงกันเรียบร้อย อาตมาให้ญาติโยมทานอาหารบนศาลา วันนั้นเป็นวันพระ ส่วนอาตมาได้เข้าไปในวิหาร จุดธูปเทียนบูชาและอธิษฐานว่า ข้าขอกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดแต่เก่าก่อนที่ได้สร้างวัดพระบรมธาตุนี้ และบรรพบุรุษผู้เป็นเจ้าของ บัดนี้ สิ่งที่ท่านได้ทำก่อสร้างไว้ ถูกพวกมนุษย์ขุดทุบชำรุดทรุดโทรมมามาก อาตมาพร้อมด้วยญาติโยมผู้มีศรัทธา ตั้งใจมั่นจะทำนุบำรุงให้ดีเหมือนเดิม มิได้มีเจตนาหวังทำลาย

ถ้าหากอาตมาได้พบวัตถุโบราณ ขอให้เป็นบุญกุศลของอาตมา จะไม่นำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ขอสิ่งที่อาตมาตั้งใจนี้ จงส่งผลสำเร็จ ขออย่าให้มีสิ่งร้ายและภยันตรายเกิดขึ้น ถ้าหากงานจะเป็นผลสำเร็จ ขอให้แสงเทียนที่อาตมาจุดนี้ จงมีอานุภาพ มีแสงสว่างโชติสว่าง อิเมสัง เทวตานัง อานุภาเวนะ อิเมสัง อินทรานัง อานุภาเวนะ อิเมสัง เทวตานัง อานุภาเวนะ อิเมสัง พุทธานัง อานุภาเวนะ อิเมสัง ธัมมนัง อานุภาเวนะ อิเมสัง สังฆานัง อานุภาเวนะ ชยมังคะลัง ภะวันตุโต พอจบคำอธิษฐาน ข้าพเจ้ากราบ ๓ ครั้ง ญาติโยมก็ทยอยกันทำงาน

ขณะที่ญาติโยมกำลังทำงานอยู่นั้น มีโยมวัดคนหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่กว่าเขาชื่อ คุณโยมผวน ธระสวัสดิ์ ยืนอยู่ห่างๆ มองไปที่แท่นพระประธาน เห็นมองแล้วมองอีก เพ่งอยู่นานคล้ายกับมีความสนใจอะไรสักสิ่ง อาตมาได้สังเกตเห็นได้ชัด สักครู่โยมผวนก็เดินมาถามอาตมาอีก เอ...ทำไมคนมากจัง อาตมาตอบโยมผวนว่า ไม่มากหรอก ประมาณ ๓๐ คนเท่านั้น โยมผวนถามอีกว่า ไม่ใช่แล้ว ผมว่ามันมากกว่านั้น แล้วแสงอะไรเหมือนกับใครเอาไฟฉายไปส่องประดุจแสงสปอร์ตไลท์ ส่องขึ้นไปจับอกไก่วิหารแลดูแสงสว่างเป็นลำเหมือนกับใครเอาไฟฉายไปส่อง อาตมาจึงบอกว่า ไม่มีอะไรหรอกคุณโยม เพียงแต่แสงเทียนอาตมาไปจุดไว้เอง สังเกตดูโยมผวนเหมือนกับแกจะไม่เชื่อในคำพูดของอาตมา แกพยายามพูดยืนยันว่า มันสว่างผิดธรรมดา ก็กลางวันแสกๆ ไม่น่าจะมีสิ่งแปลกๆ ที่แกจะอดสงสัยมิได้ ทุกวันนี้แกยังมีชีวิตอยู่ ยังยืนยันคำพูดเดิมอยู่อย่างนั้นทุกประการที่เป็นความเห็นของโยมผวน

ต่อจากนั้น เมื่อญาติโยมได้ช่วยกันขนอิฐเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มทุบฐานพระ (ชุกชี) ที่แท่นพระประธานที่ขโมยลักขุด ยังเหลืออยู่ริมนอก ญาติโยมใช้ชะแลงงัดอิฐตรงพระเพลา(ขา, ตัก)ข้างขวา ลึกลงไปประมาณศอกเศษ สิ่งที่เห็นอันดับแรก คือ พระพุทธรูปหินพระนาคปรก ๑ องค์ หน้าตักประมาณ ๓๐ นิ้วเศษ อาตมาจึงให้ญาติโยมช่วยกันนำพระพุทธรูปออกมาล้าง แล้วช่วยกันขัด แล้วญาติโยมช่วยกันขุดใต้เข่าด้านซ้าย พบพระพุทธรูปอีกองค์หน้าตักเท่ากัน แล้วช่วยกันยกขึ้นมา เอาน้ำล้างขัดถูกันอย่างสะอาด ญาติโยมต่างดีอกดีใจกันมากที่ได้พบของเก่าและสวยงามไม่ชำรุด และขุดลึกลงไปอีกตรงกลาง พบพระพุทธรูปนาคปรกอีกองค์ แต่ขนาดย่อมกว่า ๒ องค์ก่อน หน้าตักประมาณ ๑๓ นิ้วเศษ เป็นเนื้อหินเขียว จึงช่วยกันยกขึ้นมาล้างน้ำ เอามาตั้งเรียงกันไว้ ผู้คนแตกตื่นพากันมาดูมากมาย

ยิ่งขุดลึกลงไปก็ได้พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยเชียงแสน มีสังฆาฏิพับและบางองค์ก็ไม่พับ และได้พระบูชาสัมฤทธิ์หน้าตักตั้งแต่ ๕ นิ้วขึ้นไป ๑๑ องค์ พระพุทธรูปต่างๆ เรียงสลับซับซ้อนกันเป็นจำนวนมากประมาณ ๒๐๐ กว่าองค์ แต่ญาติโยมไม่เข้าใจขุด จึงทำให้พระพุทธรูปต่างๆ ที่เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ฝังอยู่นานนับร้อยปีชำรุดหมด เหลือพอดูได้ประมาณ ๔๐ กว่าองค์ ขุดลึกลงไปอีกพบกรุพระเครื่องเป็นไหๆ ทั้งหมด ๑๕ ไห มีหลายชนิดตั้งเรียงรายกันอยู่ เนื้อดินบ้าง เนื้อชินบ้าง เนื้อเงินบ้าง มีพระเครื่องหลายแบบ แบบสามพี่น้องบ้าง แบบพระร่วงบ้าง ยอดขุนพลบ้าง แบบพระนารายณ์ทรงปืนบ้าง แต่ชำรุดหมด ส่วนเนื้อชินเนื้อเงินละเมิดหมด เพราะเหตุอยู่ในที่ชื้น

พอขุดลึกลงไปเลยพระเครื่องประมาณ ๓ วาเศษ ในขณะขุดอยู่นั้นพบแสงประหลาดเท่าก้นบุหรี่ เป็นแสงสว่างวาบๆ แล้วหายไปในดิน คล้ายๆ กับจะชอนไปทางพระธาตุอยู่ติดกับเจดีย์พระธาตุ ญาติโยมช่วยกันขุดก็ไม่มีอะไร มีแต่แสงวาบๆ แล้วก็หายไป แล้วดินก็เริ่มแข็ง ญาติโยมก็หมดกำลังใจไม่อยากจะขุด เข้าใจว่าหมดแล้ว คงไม่มีอะไรอีกแล้ว เขาจะเลิกกันละ อาตมาก็ได้ไปยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง อาตมาจึงบอกให้ญาติโยมหยุดพักผ่อนให้หายเหนื่อยกันก่อน เพราะขุดกันมาเป็นวันๆ แล้ว อาตมาจึงบอกให้พระ-เณรช่วยกันขุดลงไปอีกครึ่งเมตร ก็จะพบของ บางคนได้ฟังอาตมาพูดแล้วไม่เชื่อว่าจะมีอะไรอีก แต่พระ-เณรช่วยกันขุดลึกลงไปอีกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จึงพบทราย คือตามธรรมดาแล้ว ถ้าจะมีของอยู่ข้างล่างแน่

เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ต้องใช้ไฟสปอร์ตไลท์ ๕๐๐ แรงส่อง เมื่อขุดทรายขึ้นหมด จึงพบศิลาแลงก้อนใหญ่ คนต่างแห่กันมาดูรอบบ่อ คนเป็นจำนวนนับร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลอยู่แล้วก็จริง แต่ห้ามไม่ไหว เพราะคนดูอยู่ริมบ่อ เดี๋ยวคนโน้นเหยียบก้อนอิฐร่วงลงไปในบ่อถูกหัวคนขุดอยู่ข้างล่าง เดี๋ยวคนนี้เหยียบก้อนดินตกลงไปถูกคนข้างล่าง ดูแล้วน่ารำคาญว่าใครไม่ถึงใคร มีแต่คนอยากดูกันทั้งนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ ๓ ทุ่มเศษ จึงใช้ชะแลงงัดศิลาที่ปิดอยู่ออกมาได้ ปรากฏว่าภายในมีบ่อน้ำเป็นอ่างหิน ภายในมีน้ำมนต์เต็มเปี่ยม น้ำสะอาดใสแจ๋ว ภายในอ่างนั้นมีน้ำใสบริสุทธิ์ แล้วปรากฏว่ายังมีดอกเทียนลอยอยู่ในอ่างน้ำมนต์ด้วย มีดอกเทียนที่ลอยอยู่บนน้ำสีคล้ำๆ

คนที่ขุดอยู่ในบ่อ ขอแก้วสักใบเพื่อตักน้ำมนต์ลองดื่มดู คนข้างบนส่งแก้วให้ คนในบ่อจึงตักน้ำมนต์ดื่ม แล้วบอกคนข้างบนว่า เป็นน้ำมนต์ยังมีดอกเทียนลอยอยู่ในอ่างน้ำมนต์ เมื่อคนขุดอยู่ในบ่อดื่มน้ำมนต์หมดทุกคนแล้ว คนข้างบนปากบ่อก็อยากกินบ้าง คนในบ่อจึงตักน้ำมนต์ขึ้นมาให้พวกที่อยู่ปากบ่อกิน เมื่อดอกเทียนติดขึ้นมากับน้ำมนต์ ๓ ดอก คนในบ่อต้องการให้คนเห็นดอกเทียน เพื่อจะได้รู้ได้เห็นเป็นพยานกันด้วยว่า มีดอกเทียนอยู่ในอ่างน้ำมนต์จริงๆ

ฝ่ายนักเล่นหวยฉวยโอกาสคิดเอาไปซื้อหวย เพื่อหวังรวยเอาขึ้นมาอีก คิดแก้วก็เก้า ดอกเทียน ๓ ดอก ก็ว่า ๓ รวมแล้วคิดว่าเป็นเก้าสาม หรือสามเก้า ไปซื้อหวยรัฐบาลกัน เหลือสองวันหวยจะออก จะเป็นเหตุบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ หวยงวดนั้นดันออก ๙๓ เข้าจริงๆ คราวนี้จะไปกันใหญ่ บางคนก็อยากได้หวย บางคนก็อยากได้น้ำมนต์ แต่ละวันไม่ทราบว่าคนมาจากไหน ลานวัดแทบไม่มีที่ให้จอดรถ

ส่วนในอ่างน้ำมนต์นั้น มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางประทับยืนสูง ๙ นิ้ว พระหัตถ์ห้ามญาติทั้งสอง ด้านหน้าพระพุทธรูปยืนอยู่ในอ่างน้ำมนต์ มีแหวนทองคำ ๒ วง เป็นแบบแหวนโบราณวงใหญ่หัวสีทับทิม ๑ วง หัวสีหยก ๑ วง และมีพลอยสีทับทิมเล็กๆ เป็นจำนวนมาก และมีทองคำเปลวและทองปิดพระก็อยู่ในน้ำมนต์ด้วย และมีมุขเป็นอันเล็กๆ อยู่ในน้ำมนต์ นำพระพุทธรูปและแหวนทองคำขึ้นจากอ่างน้ำมนต์เวลา ๓ ทุ่ม ๒๐ นาที อ่างน้ำมนต์ยังเอาขึ้นไม่ได้

พอรุ่งเช้า ชาวบ้านได้รํ่าลือกันไปต่างๆ นานา หลั่งไหลกันมาขอน้ำมนต์ไปรักษาโรคภัยต่างๆ บ้างหยอดหู บ้างหยอดตา บ้างก็ทาหายบ้างก็ทุเลา ข่าวการขุดบ่อน้ำมนต์ในกรุใต้วิหารลึกลับได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนบ้านไกลได้เหมารถกันมาขอน้ำมนต์เป็นจำนวนพันๆ คน ตักน้ำมนต์เท่าไรก็ไม่แห้ง อ่างน้ำมนต์ก็ไม่ใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งตักเท่าไรก็ยังเหมือนเดิมไม่รู้จักหมด ได้สร้างความแปลกประหลาดให้กับผู้ที่ได้พบเป็นมิใช่น้อย ไม่ทราบว่าท่านผู้ใดได้สร้างและฝังอ่างน้ำมนต์ไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เข้าใจว่ามีอายุนานนับเป็นพันปีขึ้นไป

ต่อมารุ่งอรุณของวันใหม่ ตั้งใจว่าจะช่วยกันเอาอ่างน้ำมนต์ขึ้น แต่ก็เอาขึ้นไม่ได้ ประชาชนแห่กันมาขอน้ำมนต์กันเป็นจำนวนมาก จึงต้องปล่อยไว้ประมาณ ๑๕ วัน จึงได้ไปยืมรอกของชลประทาน เพื่อจะมาดึงอ่างน้ำมนต์ขึ้น รอกที่ยืมมาสามารถยกน้ำหนักได้ถึง ๑๐ ตันขึ้นไป เจ้าหน้าที่ของชลประทานมาจัดการเกี่ยวกับอ่างน้ำมนต์อย่างเรียบร้อย จัดการชักรอกจะดึงเท่าไร อ่างน้ำมนต์ไม่มีทีท่าจะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ได้เลย บางคนว่ารอกเสีย แต่เจ้าของบอกว่าจะเสียได้อย่างไรใช้อยู่ทุกวัน ต่างถกเถียงกันนาน พนักงานจึงไปเอารอกใหม่อีกตัวมาดึง แต่ก็ไม่ขึ้นอีกทำนองเดียวกัน จะดึงอย่างไรอ่างน้ำมนต์ก็เฉย

อาตมาจึงบอกประชาชนและญาติโยมเป็นจำนวนมากให้อยู่ในความสงบกันเฉยๆ ก่อน อาตมานึกอยู่ในใจว่า เมื่อของก็ต้องมีเจ้าของแน่นอน อาตมาจึงรีบไปที่วิหารพระนอน แล้วจุดธูปเทียนบอกเล่าเจ้าของตลอดเทพารักษ์ที่รักษาของนั้นอยู่ พร้อมกับตั้งใจอธิษฐานว่า ขอให้ดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษที่ได้สร้างอ่างน้ำมนต์นี้ไว้ และเทพารักษ์ที่รักษาของอันมีค่านี้ โปรดได้ประทานอ่างน้ำมนต์และของอันมีค่าเก่าแก่นี้ เพื่อให้ลูกหลานและอนุชนรุ่นหลังได้ชมบารมีด้วยเถิด ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ อนุชนรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลย จะปิดอยู่อย่างนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

เมื่ออาตมานำอ่างน้ำมนต์ขึ้นมาแล้ว จะทำที่เก็บรักษาไว้อย่างดีที่สุด น้ำมนต์ที่อยู่ในอ่างนั้นคงเป็นน้ำทิพย์มนต์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าหากผู้ใดเป็นโรคพยาธิใดๆ ปรารถนาจะนำไปรักษา ขอให้หายด้วยเถิด พอจบคำอธิษฐาน อาตมาก็ก้มลงกราบ ๓ ครั้ง ยังไม่ทันเรียบร้อย ก็มีคนวิ่งมาบอก หลวงพ่ออ่างน้ำมนต์ขยับขึ้นมาแล้วเหมือนกับปาฏิหาริย์ อาตมาอยากรู้จึงเดินไปที่บ่อดังกล่าว เห็นอ่างน้ำมนต์เคลื่อนขึ้นมาจนถึงปากบ่อ จนกระทั่งช่วยกันแล้วดึงเลื่อนไปตามไม้กระดานที่คอยรองรับไว้

เมื่ออ่างน้ำมนต์ขึ้นมาแล้ว อาตมาได้นำไปเก็บไว้ในวิหารและทำพิธีมหาพุทธาภิเษก ๑๙ อาจารย์ มีประชาชนไปขอน้ำมนต์กันไม่เว้นแต่ละวัน หลายคนนำไปเพื่อรักษาโรคภัยที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ปรากฏว่าหายไปหลายคน บางคนก็ทุเลา ตลอดกระทั่งน้ำมนต์ ใครนำไปใช้เคยได้เห็นผลศักดิ์สิทธิ์มาแล้ว ส่วนบ่อน้ำมนต์เก่าได้ใช้รองบ่อเข้าไว้และต่อแป๊บ ถ้าหากต้องการน้ำมนต์ก็ใช้เครื่องมอเตอร์ดูดขึ้นมาใช้ อยู่ในวิหารติดกับเจดีย์พระธาตุ

พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ๙ นิ้ว ที่อยู่ในอ่างน้ำมนต์ ทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดี เป็นของมีค่ามากหาได้ยาก ส่วนแหวนทองคำหัวหยกได้ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร คราวเสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๐ หนึ่งวง ยังเหลือแหวนทองคำหัวทับทิมอีก ๑ วง ในพระวิหารได้สร้างพระพุทธรูปยืนจำลองแบบจากพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่อยู่ในอ่างน้ำมนต์ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ๙ องค์ และได้ทำพิธีมหาพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๐ โดยอาจารย์ชื่อดัง ๑๙ รูป

ส่วนพระพุทธรูปประทับยืนในเรือนแก้ว พระเดชพระคุณพระอริยกวี วัดสามปลื้ม กรุงเทพฯ ได้สร้างถวายวัดไว้ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๐ ได้บรรจุพระบูชาและพระเครื่องมีทั้งเนื้อดินและเนื้อผง จำนวน ๑๖๐,๐๐๐ องค์ อยู่ในวิหารด้านตะวันออก เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ เวลา ๒๔.๐๙ น. โดยมีนายช่างเอนก วิชญกุล นายช่างโครงการสร้างที่ ๗  เป็นประธานฆราวาส และนายช่างพยุง นำทวี เป็นรองประธานบรรจุครั้งนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และเพื่อเป็นประโยชน์ในการก่อสร้างภายหน้าสำหรับจำหน่ายเพื่อกุศลในการก่อสร้างต่อไป

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) หน้า ๑๑-๑๖.)


DSC00938.JPG



DSC00939.JPG



พระอุโบสถ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมธาตุเจดีย์ ติดกับพระวิหารเก้าห้อง เชื่อว่าคงสร้างพร้อมกับพระวิหารเก้าห้อง แต่ปัจจุบันมีร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมในสมัยหลังหลายครั้ง ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๔ เมตร มีพระประธานอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ลักษณะพุทธศิลป์ เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรีโดยเฉพาะ รอบนอกอุโบสถ มีใบเสมาสลับด้วยหินทราย เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาปรากฏอยู่

(หมายเหตุ : ภาพพระอุโบสถ พ.ศ.๒๕๕๐ บูรณะพระอุโบสถ อันเนื่องจากโครงการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดและศาสนสถานสำคัญ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี งบประมาณ ๗,๖๐๐๐,๐๐๐ บาท ดำเนินการโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เริ่มงานบูรณะวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ แล้วเสร็จตามสัญญาวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐)

Rank: 8Rank: 8

DSC00948.JPG


พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


เป็นพระเจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งต่อมุมขึ้นไปรองรับใต้องค์ระฆัง มีซุ้มจระนำทั้ง ๔ ทิศ ลักษณะซุ้มจระนำนั้นแคบและเตี้ย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทั้ง ๔ ทิศ หน้าบันของซุ้มจระนำ มีสองชั้นซ้อนกัน ปั้นปูนเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ลักษณะนั่งสมาธิเหนือฐานกลีบบัวหงาย ๔ กลีบ อยู่ตรงกลาง มีผู้ที่กำลังประนมมืออยู่ ๒ ข้าง


พระพุทธรูปในซุ้มกลางหน้าทิศตะวันออกของพระเจดีย์ อาจยังคงเป็นของเดิมยังไม่ได้แก้ไข หน้าตักกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระเศียร ๓๑ เซนติเมตร ลักษณะพระเศียรและพระพักตร์ ศิลปะลพบุรี หรือศิลปะอู่ทองรุ่นแรก



DSC00952.JPG



พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


ผนังะหว่างซุ้มจระนำ ทำเป็นมุมสี่เหลี่ยมขึ้นไปรองรับองค์ระฆัง และะหว่างซุ้มจระนำ ยังทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีซุ้มพระพุทธรูปขนาดเล็กเหนือมุมหน้าบันซุ้มจระนำ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็กหลายองค์เรียงรายอยู่โดยรอบองค์ระฆัง


จากนั้นถึงองค์ระฆังทรงกลมรองรับ ปลียอดส่วนบนสุดมีลักษณะเป็นโลกประดับ มีฉัตรประดับอีกต่อหนึ่ง ลักษณะเป็นเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบอู่ทอง



DSC00956.JPG



คำขวัญของวัดพระบรมธาตุวรวิหาร


เจดีย์พระบรมธาตุ     ที่พึงพัก

หลวงพ่อธรรมจักร     ป้องทุกข์

หลวงปู่ศุข               ลือชา

เขื่อนเจ้าพระยา        ลือชื่อ

นามระบือ                สวนนก

ส้มโอดก                 ขาวแตงกวา


แต่งเสริมโดยสามเณร ๒๓ รูป บวชเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๙ พระครูวุฒิชัยโสภณ อุปัชฌาย์


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) หน้า ๑๑.)


DSC00955.JPG


ซุ้มพระนาคปรกทั้ง ๔ ทิศ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร



DSC00951.JPG



พระพุทธรูปนาคปรก ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำทั้ง ๔ ทิศ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00953.JPG


ซุ้มพระพุทธรูปเจดีย์ขนาดเล็ก เหนือมุมหน้าบันซุ้มจระนำ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00946.JPG



รูปพระเจ้าอโศกมหาราช ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำทิศใต้ด้านหลังพระนาคปรก พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหา

เป็นรูปยืน พระหัตถ์ขวายกเพียงพระอุระ สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ปัจจุบันนี้ได้ชำรุดกะเทาะหายไป เพราะถูกคนร้ายลักพระพุทธรูปนาคปรกในซุ้มนั้นไป ตัวหนังสือขอมที่จารึกก็กะเทาะหายไปด้วย คงเหลือเป็นรูปยืนเพียงเข่าขึ้นไป มีซุ้มเดียวเท่านั้น


Rank: 8Rank: 8

S__28704780.jpg



ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร



จากถ้อยคำที่บรรพบุรุษกล่าวสืบเนื่องกันต่อๆ มา หรือตามตำนานกล่าวว่า วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ หรือ วัดหัวเมือง ที่ประชาชนนิยมเรียกว่า วัดพระธาตุ ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ภายในวัดมีองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งไว้ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาสมัยใด ในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เมื่อถึงวันดีคืนดี พระบรมสารีริกธาตุจะแผ่ฉัพพรรณรังสี ฉายรัศมีพวยพุ่งออกจากซุ้มพระนาคปรกทั้งสี่ทิศ ฉายแสงสว่างไสวจับทั่วองค์พระเจดีย์เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

องค์พระเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ นับว่าแปลกกว่าพระเจดีย์ในที่อื่นๆ ที่ได้พบมา และยังเล่าว่ากษัตริย์กรุงสุโขทัยยังได้จัดการทำนุบำรุงและสมโภชพระบรมธาตุนี้ ตอนนี้เห็นจะตรงกับที่พระเจ้าลิไท รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงสุโขทัยมาสร้างเมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมืองชัยนาท เมืองชัยนาทในที่นี้หมายถึง เมืองชัยนาทโบราณ ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่หมายถึง เมืองชัยนาทปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก ตั้งขึ้นเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองชัยนาทโบราณดังกล่าว ตั้งอยู่หลังวัดพระบรมธาตุนี้ ตรงปากคลองแม่น้ำน้อย

วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ประชาชนจึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดหัวเมือง เพราะเมืองชัยนาทตั้งอยู่เขตติดต่อกับวัดนี้ อยู่มุมกำแพงเมืองทิศเหนือ บ้านที่อยู่ริมนี้ใต้เมือง ชาวบ้านเรียกว่า บ้านท้ายเมือง จนทุกวันนี้ และสมัยก่อนตำบลนี้เรียกว่า ตำบลท้ายเมือง เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นตำบลชัยนาทในปัจจุบัน


DSC00932.JPG



๑. สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้เข้มแข็งเป็นอาณาจักรใหญ่และกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง และได้รวมตั้งเป็นอาณาจักรเดียวกัน เมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๒๑ และเมืองชัยนาทบุรี ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาด้วย และได้รับสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวงในสมัยกษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๑๙๔๖) โดยพระองค์ได้ส่งพระโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพญาไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พญาครองเมืองสรรคบุรี และเจ้าสามพญาครองเมืองชัยนาทบุรี

เมื่อ พ.ศ.๑๙๖๑ สมเด็จพระศรีนครินทราธิบดี หรือ พระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้เสด็จสวรรคต เจ้าอ้ายพญาและเจ้ายี่พญาได้ยกทัพเข้ามาชิงราชสมบัติกัน โดยมาพบกัน ณ ตำบลป่าถ่าน แขวงกรุงเก่า เจ้าอ้ายพญาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลป่ามะพร้าว ส่วนเจ้ายี่พญา ตั้ง ณ วัดไชยภูมิ ทางเข้าตลาดเจ้าพรหม เมื่อสองทัพไปปะทะกัน ปรากฏว่าทั้งสองพระองค์ถูกพระแสงของ้าวต้องพระศอขาดคอช้างสิ้นพระชนม์พร้อมกัน เจ้าสามพญา ซึ่งครองเมืองชัยนาทน้อยใจ เนื่องจากถูกอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมืองชัยนาทจึงได้ถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่ครั้งนั้น คงมีแต่ผู้รักษาเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งเมืองพม่า ได้ยกกองทัพมาพักตั้งค่ายที่เมืองชัยนาท ได้กวาดต้อนประชาชนพลเมืองไปเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้ประสบชะตากรรมอย่างหนัก เกิดระส่ำระสาย ทุกคนหนีเอาตัวรอดเป็นเสมือนเมืองร้าง วัดวาอารามไม่มีใครที่จะคิดทำนุบำรุง จึงได้ทรุดโทรมเป็นลำดับมาเป็นเวลานาน

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๖๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในรัชกาลที่ ๓ มีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งนามว่า พระครูเมืองชัยนาท อยู่วัดป่าข้าวเปลือก คิดจัดการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ ได้เป็นหัวหน้าชักชวนเมืองต่างๆ ร่วมกันปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ เพราะเหตุที่องค์พระเจดีย์พระบรมธาตุได้ชำรุดผุกร่อน มองเห็นศิลาแลงห่อหุ้มด้วยโลหะทองขาว ปรากฏแผ่นโลหะผุกร่อนชำรุดเป็นอันมาก จึงได้จัดการเรี่ยไรตามหัวเมืองต่างๆ ซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๒๖๐ และได้รับการอุปถัมภ์จากสมเด็จพระทิพมล ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงส่งช่างฝีมือประณีตในการนำดีบุกหุ้มพระเจดีย์พระบรมธาตุ รวมตลอดทั้งองค์ สิ้นดีบุก ๒๕ หาบ แล้วเสร็จในปีเดียวนั้นเอง

เมื่อถึงเวลาอันสมควรหลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระทิพมลได้ชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ และพระครูเมืองชัยนาท ได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนทั่วไป จัดงานฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ มีงานสามวันสามคืน มีประชาชนมานมัสการสักการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม ปิดทอง เต็มองค์พระเจดีย์เหลืองอร่ามสวยงามมากทั้งองค์พระเจดีย์ จัดให้มีงานสามวันสามคืน ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ มีแจงสังคายนาวันหนึ่ง มีพระไตรปิฎกวันหนึ่ง และจัดประดับธงทิว ลายฉัตรราชวัตร มหรสพต่างๆ โขน หนัง ละคร พอถึงปีกุน เดือน ๖ ในวันวิสาขบูชา ในปีต่อมาจึงจัดการปิดทองอีก จนเป็นธรรมเนียมและประเพณีมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในตอนนี้จะได้นำข้อความในแผ่นศิลาจารึกที่ยังปรากฏชัดอยู่ ข้อความมีดังนี้ พระพุทธสอระอยู่วัดป่าข้าวเปลือก ตำบลท้ายเมืองชัยนาทบุรี ได้เข้าไปนมัสการพระทิพมล และคิดอ่านปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระบรมธาตุหัวเมืองชัยนาท ร่วมด้วยพระครูเมืองชัยนาท ตลอดจนสัปบุรุษทั้งหลายได้ช่วยกันปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ ได้ก่อกำแพงล้อมพระเจดีย์พระบรมธาตุนั้นสำเร็จ แล้วจึงออกหนังสือเข้าไปถึงสมเด็จพระทิพมล ให้ช่างดีบุก และพระสงฆ์ขึ้นมาหุ้มพระบรมธาตุหัวเมืองชัยนาท เป็นดีบุก ๒๕ หาบ หุ้มลงมาเชิงบัลลังก์ชั้นยี่สำเร็จแล้ว จึงให้ช่างดีบุกและพระสงฆ์ล่องลงไปบอกพระทิพมล

พระทิพมลจึงขึ้นมาปิดทองพระบรมธาตุ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีระกา สก พระพุทธศักราชได้ ๒๒๖๐ พระพรรษาเศษ สังคายนาได้เดือน ๗ แลปิดทองแต่ฉัตรลงมาถึงบัวกลุ่มเป็นทอง ๕,๓๓๐ กลีบ จำปา ปิดทอง ๒๗๐ ปิดเป็นทอง ๒,๔๓๕ ปิดองค์ระฆังเป็นทอง ๔,๓๙๐ หน้ากุฎน้อยเป็นทอง ๒,๒๖๙ แรมวัน ๑ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๙,๖๕๐ วัน ๔ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๑๕,๘๘๖ วัน ๓ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๓,๑๐๐ วัน ๔ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๙,๙๐๐ ประฐมเจดีย์หลังกุฎทั้งหลังคาเป็นทอง ๓๐ พระปรางค์หลังกุฎทั้งหลังคาเป็นทอง ๗๕ ประ เจดีย์เล็กกลายเป็นทอง ๑๒๐

หน้ากุฎพระเจดีย์ลายเป็นทอง ๖๕ ทองปิดประตูลายเป็นทอง ๖๐๐ ประ ใบกุฎพระเจดีย์ลายเป็นทอง ๓๓ ประ ใบหน้าบนเป็นทอง ๖๐ ประ ใบกุฎหน้าบน ๒๐๐ ประ ใบกุฎเป็นทอง ๓๐๐ ประ ใบกุฎ ๒ องค์ ยืนองค์หนึ่งเป็นทอง ๑๐๕ นั่งองค์หนึ่งเป็นทอง ๙๑ ประ นาคเป็นทอง ๑๙๐ หน้ากุฎเป็นทอง ๒๔๐ ประ เช็ดหน้าประตูเป็นทอง ๑๔๐ กุฎ เป็นทอง ๑,๑๐๐ ประ กุฎกลาง ๑๒ ประ หน้าทวารชั้นบนเป็นทอง ๗๐๐ ประ หน้าทวารชั้นกลางเป็นทอง ๑๒๐ ประ เสาหน้ามุขเป็นทอง ๓๐๐ ประ และปิดทองพระบรมธาตุเป็นทอง ๑๒,๔๙๐ และพระมหาพุทธสอระ วัดป่าข้าวเปลือก เมืองชัยนาทบุรี แลชักชวนพระสงฆ์เจ้าทั้งปวง และสัปบุรุษทั้งปวง ช่วยกันปฏิสังขรณ์ บำเพ็ญกุศลปิดทองเจดีย์พระธาตุ เรี่ยไรกันตามหัวเมืองชัยนาทบุรี ได้เงินทั้งหมด ๑๐๓ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง


DSC00949.JPG



๒. การก่อตั้งพระบรมธาตุเจดีย์

ตอนนี้ขอกล่าวถึงการก่อตั้งพระบรมธาตุเจดีย์ไว้ ๒ นัย

๑. นัยที่ ๑


ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งเมืองอินเดีย โดยเฉพาะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ทรงพระปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกสารทิศทั่วทุกหัวเมือง ได้เป็นศาสนูปถัมภก ได้มีศรัทธาสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วโลก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเคารพกราบไหว้บูชา มีจำนวนตามที่ปรากฏถึง ๘๔ องค์ ยังได้เป็นอัครศาสนูปถัมภกทรงหยิบยกพระธรรมวินัยในการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยให้มั่นคง โดยเจตนาเพื่อจะจรรโลงพระพุทธศาสนาไม่ให้เสื่อมโทรม ให้ยืนยงไปชั่วกาลนาน

เมื่อเสร็จจากการทำสังคายนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์คิดที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปตามนานาประเทศที่เลื่อมใสพระองค์ จึงได้อาราธนาพระเถระหลายรูป เพื่อให้แยกย้ายกันออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามประเทศต่างๆ ที่เลื่อมใส โดยมีพระเถระรูปหนึ่งพร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยมุ่งหน้าสู่สุวรรณภูมิ ได้ประกาศพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนถึงสถานที่แห่งนี้ เห็นว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญ ต่อไปภายหน้าจะมีความเจริญ จึงได้สร้างเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้เคารพบูชาทั้งมนุษย์และเทวดา

ศิลปะของเจดีย์จึงละม้ายคล้ายศิลปะของอินเดีย และยังได้สร้างรูปพระเจ้าอโศกมหาราชไว้เป็นสัญลักษณ์ ไว้ในซุ้มพระด้านทิศใต้อยู่หลังพระนาคปรก เป็นรูปยืน พระหัตถ์ขวายกเพียงพระอุระ สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เป็นรูปของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้ให้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลผู้สร้างในสมัยนั้น และเคยมีชื่อปรากฏเป็นหนังสือขอมว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แต่มาในปัจจุบันนี้ ได้ชำรุดกะเทาะหายไป เพราะถูกคนร้ายลักพระพุทธรูปนาคปรกในซุ้มนั้นไป ตัวหนังสือขอมที่จารึกก็กะเทาะหายไปด้วย คงเหลือเป็นรูปยืนเพียงเข่าขึ้นไป จึงหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ มีซุ้มเดียวเท่านั้น

ตามที่กล่าวมานี้ จึงนับได้ว่าเป็นพุทธเจดีย์ที่เก่าแก่ และพุทธศาสนาได้เริ่มต้นเข้ามาเผยแพร่เข้ามาในส่วนกลางของเมืองไทยในส่วนหนึ่ง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพกราบไหว้บูชาสืบต่ออายุกาลพระพุทธศาสนามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ สันนิษฐานว่าพระพุทธศาสนาอาจเข้ามาในประเทศไทยนี้ก่อน จนคนไทยมีความเลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว การเผยแพร่พระพุทธศาสนาครั้งใหญ่นี้จึงได้เข้ามา ภายหลังการก่อสร้างเจดีย์พระธาตุโดยมากไม่ใหญ่ไม่สูงนัก คือสร้างสูงแค่นกเขาเหินเท่านั้น คนแก่สมัยนี้ ถือหลักนี้เป็นเกณฑ์

๒. นัยที่ ๒

ตามตำนานกล่าวว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้ลงไปสรงน้ำที่หน้าวัดเวลาใกล้ค่ำ ก่อนขึ้นจากน้ำได้เห็นแสงประหลาด มีแสงสว่างพวยพุ่งมาที่พระภิกษุรูปนั้น และได้ยินเสียงวัตถุกระทบภายในขันน้ำที่ถือมา จึงได้นำขึ้นมาดูในที่สว่าง พร้อมด้วยพระภิกษุหลายรูป ข่าวได้แพร่สะพัดไปไกลจนกระทั่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตได้พิเคราะห์พิจารณาแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้ให้ข้อสันนิษฐานและลงความเห็นพร้อมกันว่า วัตถุนี้มีความบริสุทธิ์ปราศจากมลทินใดๆ ทั้งสิ้น คล้ายกับพระบรมสารีริกธาตุที่เขียนลักษณะไว้ในตำราที่ได้ถ่ายทอดร่ำเรียนกันมาหลายชั่วอายุคน

เมื่อมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ดังนั้นแล้ว จึงได้พร้อมใจกันนำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ จะเกิดปาฏิหาริย์มาจากที่ใด หรือจะเป็นบุญญาธิการของพระพุทธศาสนา หรือด้วยบารมีของวัดก็ยากต่อการสันนิษฐานได้ จึงได้ปรากฏองค์เจดีย์เป็นที่เคารพกราบไหว้มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ตามตำนานที่ ๒ นี้ เข้าใจว่า องค์เจดีย์ได้ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว จึงนำพระธาตุมาบรรจุภายหลัง ทั้งนี้เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า เป็นตามตำนานเล่าสืบต่อๆ กันมา แต่จะหาหลักฐานยืนยันยังไม่ได้ ทั้งนี้ก็ให้ข้อสันนิษฐานไว้หลายประการ เนื่องจากชาติไทยสมัยก่อนนี้ได้เป็นชาตินักรบ กู้อิสรภาพของความเป็นไทย ต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันมาหลายคราว บางครั้งต้องเสียความเป็นอิสระ จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะกล่าวให้ติดต่อเนื่องเกี่ยวพันให้เห็นจริงกันได้ จึงเป็นเพียงสันนิษฐานตามคำบอกเล่าเท่านั้น

แม้แต่แผ่นศิลาจารึกที่ได้พบและเก็บรักษาไว้ เป็นหลักฐานทั้ง ๒ แผ่น แต่ในข้อความที่จารึกไว้ ก็เพียงแต่กล่าวถึงการซ่อมแซมเท่านั้น ผู้ที่ซ่อมแซมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าได้ถูกซ่อมแซมมากี่หนกี่ครั้ง จึงเพียงสันนิษฐานเท่านั้น เช่น


ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเสด็จประพาสนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ได้มีพระราชวินิจฉัยสอดคล้องต้องกันว่า

วัดพระบรมธาตุนี้ เป็นวัดที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีองค์พยานเป็นหลักฐานปรากฏอยู่ในองค์พระธาตุ คิดเทียบฝีมือและการแกะสลักศิลาจารึกรูปตามซุ้ม เป็นฝีมือช่างโบราณสมัยขอม เข้าใจว่าคงจะเอาแบบอย่างมาจากอินเดีย หรือได้นำช่างอินเดียมาทำ จึงมีส่วนละหม้ายคล้ายศิลปะอินเดีย แต่ยังมีศิลปะของขอมติดอยู่ด้วย ส่วนองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุก่อด้วยศิลาแลง จับเป็นก้อนเดียวกันทั้งองค์แปลกกว่าที่อื่นๆ

ท่านผู้เฒ่าเล่าว่า บรรพบุรุษได้เล่าสืบต่อกันมาว่า พระเจดีย์พระธาตุองค์นี้ ได้มีพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าให้จัดการทำนุบำรุงเรื่อยมา หลักฐานการก่อสร้างไม่มีปรากฏ ตามทางสันนิษฐานยืนยันว่า สร้างสมัยขอมเรืองอำนาจ จัดเป็นพุทธเจดีย์ที่สำคัญยิ่งในจังหวัดชัยนาท ซึ่งไม่มีสิ่งสำคัญอะไรเท่าเทียม การก่อสร้างนับอายุเป็นพันปีขึ้นไป สถานที่นี้จัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีพุทธาภิเษกของกษัตริย์ทุกพระองค์เป็นลำดับมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

อนึ่ง ในหนังสือ อ.ส.ท.ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑๐ เรื่องการสัมมนาโบราณคดีที่เมืองชัยนาท ซึ่งใช้สถานที่วัดพระบรมธาตุเป็นสถานที่สัมมนา ได้กล่าวไว้ว่า วัดพระบรมธาตุนี้ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองชัยนาท มีพุทธโบราณสถานเหลืออยู่เป็นหลักสำคัญของวัด คือ องค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นๆ กล่าวคือ ตั้งอยู่บนฐานสามชั้น หน้าบันชั้นสิงห์ เป็นปรางค์ไม่มีมุขหน้า มีแต่เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยม ต่อจากเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังรูปน้ำเต้าเรือนธาตุ และชั้นบัวปลาย เรือนธาตุหรือชั้นครุฑเป็นย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ แต่ละเหลี่ยมซับยอดเป็นเจดีย์ประดับโดยตลอด องค์เจดีย์เป็นศิลาแลงทั้งองค์ แลดูสวยงามดีและแปลกกว่าที่อื่นๆ ฐานพุทธเจดีย์ ๔ เหลี่ยมย่อ กว้างด้านละ ๙.๒๐ เมตร ส่วนสูงจากฐานถึงยอดสุดประมาณ ๑๔ เมตรเศษ สูงถึงยอดฉัตร ๑๙ เมตร ๙ นิ้ว สมัยก่อนเจดีย์จะสร้างสูงเพียงนกเขาเหิน


DSC00941.JPG



๓. การบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์


๑. การบูรณะครั้งแรกที่ปรากฏจากแผ่นศิลาจารึกแผ่นที่ ๑

“ศิลาจารึกหลักที่ ๙๗ เป็นจารึกหินฉนวนสีเขียว ขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร สูง ๒๐๘ เซนติเมตร หนา ๓๗ เซนติเมตร อักษรขอม เขียนภาษาไทยมี ๕๔ บรรทัด” สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยอยุธยา พ.ศ.๒๒๖๐ โดยการนำของพระเถระสมเด็จพระทิพมล และพระครูเมืองชัยนาทบุรี คือ พระพุทธสอระ ได้ซ่อมแซมหุ้มองค์พระธาตุด้วยดีบุก ๒๕ หาบ ปิดทองเต็มองค์เจดีย์พระธาตุมาแล้ว สร้างกำแพงรอบเจดีย์ และกลบดินกำแพงในสมัยอยุธยาดังกล่าวมา

๒. จากข้อความในแผ่นศิลาจารึกแผ่นที่ ๒

ติดอยู่หลังพระวิหารด้านขวามือ มีข้อความดังนี้ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๗ อาตมภาพพระคำ ฉายา ติสสเถระ อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๒๘ วัดพระบรมธาตุ บ้านเกิดตำบลท้ายเมือง อำเภอบ้านกล้วย จังหวัดชัยนาท เป็นพระอธิการประธาน เรี่ยไรชาวบ้านช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงพระบรมธาตุ เมื่อได้ทุนทรัพย์พอที่จะทำได้ แล้วจึงไปหานายต้ายเบ้ง แซ่ฟู่ อยู่ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา เป็นนายช่าง ตกลงเป็นราคาค่าจ้าง ๑,๖๗๘ บาท และได้ทำหนังสือสัญญากับนายช่างเป็นสำคัญไว้ฉบับหนึ่ง

การปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมคราวนี้หมายให้เหมือนรูปเดิม ใช้ปูนซีเมนต์ผสมปูนขาวโบกหนา ๑ นิ้ว และให้ช่างแก้ที่ยอดฉัตรเอนเอียงให้ตรงด้วย ช่างลงมือทำ ณ วัน ตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๗ ทำแล้วเสร็จวัน ตรงกับวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๘ พอถึง ณ วัน ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘ อาตมาเป็นพระอธิการชักชวนเรี่ยไรกัน กระทำการฉลองสมโภชพระบรมธาตุ ๓ วัน ๓ คืน เป็นการเสร็จการสมโภช

ต่อมาเมื่อ ณ วัน ๒ฯ๕ ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ อาตมาเป็นพระอธิการ ได้ว่าจ้างนายต้ายเบ้ง แซ่ฟู่ ช่างคนเก่ามาเทพื้นพระบรมธาตุด้วยปูนซีเมนต์อีก เป็นเงิน ๔๐๐ บาท ทำเสร็จ ณ วัน ๖ฯ๓ ตรงกับวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ ปฏิสังขรณ์ ๒ ครั้ง รวมเป็นเงิน ๒,๐๗๘ บาท ขออานิสงส์อันนี้จงช่วยอาตมาให้สำเร็จประโยชน์ในการบุญกุศลทั่วทุกคนเทอญ

พระอธิการคำ หรือ พระวินัยธรคำ ติสสเถระ ได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง ๒ ครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ให้ช่างโบกปูนซีเมนต์องค์พระธาตุหนา ๑ นิ้ว ให้ยกยอดฉัตรให้ตรงมิให้เปลี่ยนแปลง ทำตามรูปเดิม ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๖๙ ใช้ปูนซีเมนต์เทพื้นพระบรมธาตุ รวม ๒ ครั้ง สิ้นเงิน ๒,๐๗๘ บาท จบข้อความแผ่นศิลาจารึกแผ่นที่ ๒

อนึ่ง เจดีย์พระบรมธาตุองค์นี้ ไม่ทราบว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งไหน หลักฐานจากแผ่นศิลาจารึกก็ไม่ได้บ่งบอกถึงการก่อสร้าง มีแต่การบูรณะ


DSC00950.JPG



๔. เกิดปาฏิหาริย์ สิ่งมหัศจรรย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐

ตามตำนานที่ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อๆ มาว่า เมื่อถึงวันดีคืนดี พระพุทธเจดีย์จะฉายรัศมีแผ่รังสีสวยงามพวยพุ่งออกจากซุ้มพระนาคปรกทั้งสี่ทิศ มีแสงสว่างไสวสีต่างๆ อย่างสวยงามจับทั้งองค์เจดีย์ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์แก่ผู้ที่ได้พบเห็น หรือจะกล่าวได้ว่า เป็นบุญตาของผู้ได้พบเห็นก็ได้ และได้เคยปรากฏเสมอมา มักจะปรากฏในวันสำคัญในทางพุทธศาสนา เช่น วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา หรือวันมาฆบูชา เป็นบางปี มิใช่ทุกๆ ปี

ข้าพเจ้า (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ได้สอบถามจากปากคำของท่านที่ได้มีประสบการณ์หลายท่านด้วยกัน ได้รับการยืนยันกับข้าพเจ้าว่า เป็นความจริงเสียงเดียวกันหมด เช่น ปีกึ่งพุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ เหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาประมาณ ๔๐ กว่าปี ในปีนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันมาฆบูชา สิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น.เศษ

ได้ปรากฏแสงประหลาดเป็นดวงโตประมาณเท่าบาตร และมีดวงเล็กๆ ติดตามมาด้วยเป็นแถวยาวเหยียด มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแสงสว่างไสวฉายรัศมีสวยงามลอยมากลางอากาศอย่างช้าๆ ลอยเข้าสู่องค์เจดีย์ พอพระบรมสารีริกธาตุดวงใหญ่ดวงหน้าลอยมาถึงยอดฉัตร ดวงใหญ่นั้นได้แตกประดุจพวงมาลัยสวมยอดองค์เจดีย์ และดวงเล็กๆ ก็ได้กระจายล้อมองค์เจดีย์เช่นเดียวกัน แสงที่ส่องเป็นรัศมีไปไกล มีรัศมีต่างๆ หลายสีทั่วองค์พระธาตุทั้ง ๔ ทิศ แล้วค่อยๆ จางหายเข้าไปสู่องค์เจดีย์ ยังเป็นเงาสว่าง เวลานานประมาณ ๑๕ นาที เงาจึงหายไป

ขณะนั้นกำลังค่ำ คนยังไม่ได้หลับนอนกัน พวกชาวเรือชาวแพ ที่มาจอดพักแรมอยู่ที่หน้าวัดต่างได้เห็นเหตุการณ์อันนี้ตลอด กระทั่งชาวบ้านใกล้เคียงกับวัด ต่างได้เห็นเหตุการณ์กันเป็นจำนวนมาก บางคนได้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดถึงกับตกอกตกใจ ขนลุกขนชันไปตามๆ กัน บางคนก็กล่าวขานโจษจันกันต่างๆ นานา บางคนว่าเทวดามาบูชาพระธาตุ บางคนว่าพระธาตุเสด็จมาประชุมกัน บางคนว่าผีพุ่งไต้ แล้วแต่ความคิดเห็นของตน ในปีนั้น พระชัยนาทมุนี (นวม) ซึ่งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตลอดกระทั่งพระเณรในวัดได้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดอัศจรรย์ทั้งนั้น

พระชัยนาทมุนีจึงสั่งให้พระเณรตีกลองตีระฆังประชุมพระภิกษุสามเณรโดยด่วน ให้ไปรวมกันที่ลานพระธาตุ เมื่อพร้อมกันแล้ว จึงสวดชัยมงคลคาถา ๓ จบ ต่อจากนั้นจึงได้เจริญพระพุทธมนต์ต่อไป พอเช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งชาวเรือ ชาวแพ ชาวบ้าน ได้มาทำบุญกันที่วัดอย่างมากมาย โดยโจษขานกันต่างๆ นานา ทำบุญติดต่อกันถึง ๓ วัน เหตุการณ์ปาฏิหาริย์อัศจรรย์ได้เกิดขึ้นกึ่งพุทธกาล ในปี ๒๕๐๐ ท่านที่ได้อ่านทราบสิ่งมหัศจรรย์ ถ้ายังมีความลังเลสงสัย เวลานี้จะสืบถามได้ เพราะผู้ที่ประสบเหตุการณ์ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องที่เกิดประมาณ ๔๐ ปีเศษ เรื่องที่กล่าวมานี้ตามคำบอกเล่าของผู้ที่ได้พบเห็นเหตุการณ์อันแปลกประหลาดด้วยตาของตนเองมาแล้ว ขอรับรองว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้น จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้

วัดจะดีมีสถาน                  เพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยก็เพราะวัด         ดัดนิสัย
บ้านกับวัดพลัดกันช่วย        คงอวยชัย
ถ้าบ้านกับวัดขัดกัน            ก็บรรลัยทั้งสองทาง


DSC00947.JPG



๕. เรื่องแปลกของพระพุทธเจดีย์

เรื่องความแปลกของพุทธเจดีย์ ไม่ได้หมายถึงลักษณะภายนอกขององค์พุทธเจดีย์ สิ่งที่แปลกนั่นคือ พระพุทธเจดีย์เป็นศิลาแลงก้อนเดียวกันทั้งองค์ ยังมีความเร้นลับอยู่ภายใต้คอระฆังลงไป ภายในองค์เจดีย์มีช่องว่าง หรือภายในเจดีย์กลวง

ข้าพเจ้า (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ผู้เขียนเองก็ไม่เคยเปิดดูว่าภายในพุทธเจดีย์องค์นี้จะกลวงหรือตัน และข้าพเจ้าก็มิได้มีตาทิพย์พอที่จะเห็นภายในเจดีย์ได้ตลอด แต่ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับว่า พุทธเจดีย์องค์นี้กลวงจริงๆ เนื่องจากข้าพเจ้าได้ทราบจากการบอกเล่าของท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟัง และข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าเป็นความจริง

เนื่องจากประมาณ ๔๐ ปี มานี้ มีประชาชนได้มานมัสการเจดีย์พระธาตุในงานประจำปี โดยการปิดทองสมโภชองค์พระธาตุ เป็นงานประจำปีในงานวันเพ็ญเดือน ๖ และกลางเดือน ๑๒ เนื่องจากประชาชนได้เล่าว่า เมื่อถึงปีการนมัสการสมโภชพระธาตุจะได้นำเงินทำบุญฝากไว้กับองค์พระเจดีย์พระธาตุ ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าแล้ว ชักสงสัยว่าที่นำเงินไปฝากพระธาตุนั้นเขาฝากกันอย่างไร หรือมีเจ้าหน้าที่กรรมการรับฝากเงินกันกระมัง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น หรือถ้ามิฉะนั้นก็นำเงินไปวางไว้ที่องค์พระธาตุตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ แต่หาเป็นดังที่ข้าพเจ้าเข้าใจไม่

โดยท่านผู้เฒ่ากล่าวว่า เขามีที่ฝากกันที่องค์เจดีย์ ไม่มีเจ้าหน้าที่กรรมการคนใดทั้งนั้นที่จะรับฝากเงิน ท่านผู้เฒ่ากล่าวว่า ต้องรู้ที่ฝาก เพราะมีที่ฝากที่ทำบุญกับพระธาตุ มีแห่งเดียว และมีการเป็นมาอย่างนี้ ไม่ทราบว่าเขาทำกันตั้งแต่ครั้งใด เพียงแต่รู้ที่ฝากจากคำบอกเล่ากันต่อๆ มานั่นเอง ถ้าท่านได้อ่านแล้ว ท่านลองนึกดูซิว่า จะเป็นไปได้ไหม และเขาฝากกันตรงไหน โดยที่ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปพิสูจน์ดูบนเจดีย์ว่าจะมีจริงหรือไม่ และอยู่ตรงไหน ต้องให้เห็นด้วยตาข้าพเจ้าเอง

ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่า จึงขึ้นไปตรวจดูพบว่า ตรงซุ้มพระนาคปรกหลังวิหาร มีอยู่ซุ้มเดียวหลังพระนาคปรกทิศตะวันออก ถ้าท่านอยากทราบ ให้ท่านหันหลังให้วิหารหันหน้าไปทางเจดีย์ มีซุ้มเดียว มีช่องพอมือของเราล้วงเข้าไปได้ นั้นแหละช่องฝากเงินทำบุญกับพระธาตุ โดยข้าพเจ้าต้องขึ้นไปดูด้วยตาของข้าพเจ้าเอง ช่องฝากเงินทำบุญกับพระธาตุ พอถึงปีจะมีประชาชนนำเงินไปฝาก สิ่งของที่นำไปฝาก คือ สตางค์ เช่น แหวน สายสร้อย และของมีค่า ได้นำใส่ลงไปในช่อง ความเจตนาของคนสมัยก่อนนั้นมิได้คิดเป็นอย่างอื่น คิดเพียงว่านำเงินบูชาพระธาตุ บางคนมากบ้างน้อยบ้างตามสมควร

แต่สิ่งที่ลี้ลับมีความสงสัยก็คือ เวลานำของใส่ในช่องทำบุญ แล้วเอาหูฟัง เราจะได้ยินเสียงวัตถุที่ทิ้งลงไปนั้นไปกระทบข้างๆ เจดีย์ จะได้ยินเสียงดังก๊อกแก๊กๆ นานเล็กน้อย แล้วจะได้ยินเสียงวัตถุที่เราทิ้งลงไปตกถึงน้ำดังจุ๋ม สันนิษฐานว่า ใต้องค์เจดีย์พระธาตุมีสระน้ำรองรับอยู่ด้านล่าง สิ่งนี้แหละที่ข้าพเจ้าว่าแปลกกว่าพุทธเจดีย์องค์อื่นๆ จึงเป็นเรื่องแปลก

ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงว่าพระพุทธเจดีย์นี้แปลก และต่อมาทางวัดได้พิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากคนสมัยก่อนเขานำวัตถุเงินทองสิ่งของอันมีค่าทิ้งลงไป เพื่อเป็นการบูชาและทำบุญฝากเงินไว้ แต่ต่อมาคนรุ่นหลัง ได้เห็นเป็นของเล่นที่แปลกๆ ได้นำเอาก้อนกรวดก้อนอิฐทิ้งลงไป เพื่อจะฟังเล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น ทางวัดเห็นว่าไม่สมควร จึงทำการปิดช่องฝากเงินนั้น ปิดมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเสียหายกับสิ่งที่เราต้องเคารพบูชากราบไหว้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน


S__28655620.jpg



๖. รายนามเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร

การลำดับเจ้าอาวาสและผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จะให้ละเอียดถี่ถ้วนเป็นของยาก เพราะเป็นวัดที่เกิดขึ้นเก่าแก่มานานปี อาตมา (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ได้พยายามรวบรวมสืบหาจากการบอกเล่าต่อๆ กันมา ค้นหาจากการบันทึกบ้าง จากผู้รู้ทั้งหลายบ้าง เป็นเวลาประมาณ ๓๐ กว่าปี พอจะสรุปได้ว่า มีหลักฐานยังไม่ละเอียดถี่ถ้วนนัก ถ้าขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ขออภัยต่อท่านผู้รู้ ดังมีรายนามดังต่อไปนี้

๑. พระพุทธสอระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๒๖๐-๒๓๐๕ มีผลงาน ได้บูรณะองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ หุ้มด้วยดีบุก ๒๕ หาบ และปิดทองเต็มองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุในสมัยกรุงศรีอยุธยา


๒. พระอาจารย์ปั้น พระอาจารย์โป๋ พระอาจารย์คำ พระสมุท์เปรม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๐๕ สืบทอดต่อจากพระพุทธสอระ จะมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมากี่องค์ไม่ปรากฏ


๓. พระครูเมธังกร เป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระอุปัชฌาย์ ประมาณ พ.ศ.๒๓๗๑


๔. หลวงพ่อช้าง ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมในพระครูเมธังกร นามว่า พระใบฎีกาช้าง

     ๔.๑ พ.ศ.๒๔๑๑ ต่อมาพระครูเมธังกร ได้มรณภาพลง พระใบฎีกาช้าง ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อกันมา ไม่ทราบว่าแต่งตั้งเมื่อไร ไม่มีหลักฐานปรากฏ

     ๔.๒ พ.ศ.๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร มีพระราชทินนามว่า พระครูอินทโมลี พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย

     ๔.๓ พ.ศ.๒๔๔๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท

     ๔.๔ พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๕ รวมสิริอายุ ๘๑ ปี

๕. พระวินัยธรคำ ติสสเถระ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อกันมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๗๑


๖. พระชัยนาทมุนี (หรุ่น) เกิดที่อำเภอสรรคบุรี ย้ายมาจากวัดเหยง จังหวัดชัยนาท เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๘๕ ได้มรณภาพไปแล้ว


๗. พระปลัดล่ำ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๙๕


๘. พระครูบริรักษ์บรมธาตุ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชัยนาทมุนี (นวม)
และเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา จนถึง พ.ศ.๒๕๐๙

๙. พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ทางคณะสงฆ์ได้ย้ายจากวัดเขาท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ และ
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๔๕ มีผลงาน ได้ก่อสร้างกุฏิ ถมดิน นำกระเบื้องปูพื้นเจดีย์พระธาตุ สร้างบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างศาลาอเนกประสงค์ สร้างกำแพงรอบบริเวณวัด ส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรมและบาลี


S__28622854.jpg



๗. พระเจ้าแผ่นดินเสด็จวัดพระบรมธาตุวรวิหาร


องค์พระประมุขของชาติหลายรัชกาลเสด็จวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ และได้ทรงพระราชทานวัตถุสิ่งของไว้ในพระบรมธาตุ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ตามที่ได้ไว้ของวัด มีดังจะกล่าวต่อไปนี้


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐


๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไว้ดังต่อไปนี้


     ๑.๑ พระบรมรูปหล่อด้วยทองแดงของพระองค์ ประทับยืน ๑ องค์


     ๑.๒ ตู้พระไตรปิฎก แกะสลักลายไทย ๑ ตู้


     ๑.๓ พระธรรมาสน์หลวง ๑ หลัง


     ๑.๔ พระราชทานผ้ากราบพระและผ้ารองย่ามแด่พระสงฆ์


๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จ
มานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไว้ดังต่อไปนี้


     ๒.๑ พระบรมฉายาลักษณ์ ๑ ภาพ


     ๒.๒ ตู้พระไตรปิฎก แกะลายรดน้ำ ๑ ตู้


     ๒.๓ ธรรมาสน์หลวง แกะลายไทย ๑ หลัง


     ๒.๔ เงิน ๖ ชั่ง ให้วัดพระบรมธาตุ

๓. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ
มานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไว้ดังต่อไปนี้


     ๓.๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานให้ยกวัดพระบรมธาตุ วัดราชให้ยกฐานะเป็น วัดพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร


     ๓.๒ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ บาท ถวายวัด


     ๓.๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จวัดพระบรมธาตุ เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐


     ๓.๔ เจ้าชายญี่ปุ่นอากิชิโน เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕


     ๓.๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕


     ๓.๖ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร พร้อมทั้งคณะ ประมาณ ๘๐ คน


----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) หน้า ๑-๑๐, ๒๙-๓๑.)

Rank: 8Rank: 8

DSC00957.JPG



พิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00978.JPG



พระพุทธรูปนาคปรก และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร



DSC00967.JPG



พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00980.JPG



DSC00973.JPG



รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕


DSC00966.JPG


รูปพระสังกัจจายน์ ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00960.JPG



รูปเหมือนพระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อช้าง) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร (พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๖๕) ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00971.JPG



รูปเหมือนพระชัยนาทมุนี (หรุ่น) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร (พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๘๕) และรูปเหมือนพระชัยนาทมุนี (นวม) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร (พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๐๙) (เรียงจากซ้าย-ขวา) ประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00972.JPG


เครื่องใช้โบราณต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC00979.JPG



พุทธศาสนิกชนสามารถร่วมทำบุญบูชาวัตถุมงคลบำรุงวัดได้ ภายในพิพิธภัณฑ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


Rank: 8Rank: 8

DSC00985.JPG



DSC00984.JPG



รูปพระนารายณ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร



DSC00935.JPG



DSC00937.JPG



กุฏิเจ้าอาวาส วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ปัจจุบันมี พระมหาเจติยารักษ์ (บุญส่ง ภทฺทาจาโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖-ปัจจุบัน ๒๕๕๐

(หมายเหตุ : ภาพกุฏิเจ้าอาวาส ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐)


DSC00988.JPG



เมรุ และศาลาหลังเก่า วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


Rank: 8Rank: 8

DSC00987.JPG



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี วัดพระบรมธาตุวรวิหาร


DSC01033.JPG



ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ก่อตั้งขึ้นด้วยความสนใจของพระชัยนาทมุนี (นวม สุทตฺโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทและอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร (พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๐๙) ซึ่งได้รวบรวมโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียง มาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานของวัดเป็นจำนวนมาก

ต่อมาพระชัยนาทมุนีได้ยินดีมอบโบราณวัตถุศิลปวัตถุดังกล่าวให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยในปี พ.ศ.๒๕๐๙ กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นในบริเวณใกล้กับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระชัยนาทมุนี เปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นต้นมา

การจัดแสดง แบ่งการจัดแสดงตามพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. ชั้นล่าง
จัดแสดงเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของจังหวัดชัยนาท โบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องใช้ เครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดี พระพุทธรูปสมัยต่างๆ อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ตู้พระธรรม เครื่องบริขารถมปัด ประติมากรรมและเครื่องถ้วยในศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะจีน

๒. ชั้นบน
จัดแสดงพระพิมพ์ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในประเทศไทย ตั้งแต่พระพิมพ์ในศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ แม่พิมพ์พระพิมพ์ แผงพระพิมพ์ไม้ และพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก



DSC00990.JPG



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี

ที่อยู่ : ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ๑๗๐๐๐

โทรศัพท์ / โทรสาร : ๐-๕๖๔๐-๕๖๒๑

เวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.

ปิด : วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์


4.JPG


ข้าพเจ้าในนามคณะตามรอยพระพุทธบาท เว็บแดนนิพพาน ดอทคอม กราบขอบพระคุณเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ๒ ท่าน ที่อนุญาตข้าพเจ้าให้เข้าไปถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี และเป็นวิทยากรพาชมและบรรยายเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้


Rank: 8Rank: 8

DSC00994.JPG



ชั้นล่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี

จัดแสดงเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของจังหวัดชัยนาท จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์

โบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องใช้ เครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดี พระพุทธรูปสมัยต่างๆ อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ตู้พระธรรม เครื่องบริขารถมปัด ประติมากรรมและเครื่องถ้วยในศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะจีน



DSC01007.JPG



ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เมืองชัยนาท


จังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย บริเวณที่ราบลุ่มมีแม่น้ำสายสำคัญอันได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย ที่ยังความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นแก่ผืนดิน ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล จากหลักฐานทางโบราณคดีที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดชัยนาทปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว สืบเนื่องต่อมาถึงสมัยประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหินขัด ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด ลูกปัด รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรมตามรูปแบบของสังคมดั้งเดิม

ล่วงมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เมื่ออารยธรรมอินเดียส่งผ่านเข้ามายังภูมิภาคแห่งนี้ ชุมชนดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ได้พัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษร สร้างรูปเคารพ และก่อสร้างศาสนสถาน มีระบบสังคมการดำรงชีวิตซับซ้อนมากขึ้น ได้ปรากฏร่องรอยของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น เมืองอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ เมืองดงคอน อำเภอสรรคบุรี เป็นต้น โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เนื่องในพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปศิลา พระพิมพ์ และชิ้นส่วนธรรมจักร ตลอดจนแผ่นหินเจาะรูมีเสียงกังวานอย่างที่เรียกกันว่า “ระฆังหิน” และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ

บริเวณจังหวัดชัยนาทในปัจจุบันเคยมีเมืองสำคัญ คือ เมืองสรรค์ และเมืองชัยนาท ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเมืองทั้ง ๒ ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ได้ตั้งโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยาให้ครองเมืองสุพรรณ เจ้ายี่พระยาให้ครองเมืองสรรค์ และเจ้าสามพระยาให้ครองเมืองชัยนาท

เมืองสรรค์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย อยู่ในเขตพื้นที่ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมืองสรรค์อยู่ในฐานะเป็นเมืองชั้นลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง โบราณสถานที่ปรากฏทั้งภายในเมือง เช่น วัดพระยาแพรก วัดสองพี่น้อง และที่วัดพระแก้วนอกเมือง ล้วนแต่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ที่วัดโตนดหลายมีรูปแบบแสดงถึงความสัมพันธ์กับราชธานีสุโขทัยในช่วงเวลานั้นด้วย ศิลปกรรมที่เมืองสรรค์มีลักษณะและรูปแบบที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองพบที่เมืองสรรค์ เป็นแบบศิลปะที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเล็กน้อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น

ส่วนเมืองชัยนาทที่เจ้าสามพระยาได้มาครองนั้น อยู่ที่ฟากตะวันตกของแม่น้ำน่านในจังหวัดพิษณุโลก ไม่ใช่เมืองชัยนาทในเขตจังหวัดชัยนาทปัจจุบัน เมืองชัยนาทที่จังหวัดชัยนาทคงเกิดขึ้นและเรียกชื่อเช่นนี้

ภายหลังจากที่ได้มีการรวมเมืองชัยนาททางฟากตะวันตกของแม่น้ำน่านเข้ากับเมืองสรลวงสองแควฝั่งตรงกันข้าม เรียกชื่อใหม่เป็นเมืองพิษณุโลกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว โดยเมืองชัยนาทที่จังหวัดชัยนาทนี้ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำน้อยริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก มีวัดพระบรมธาตุวรวิหารเป็นศูนย์กลางการปกครองท้องที่แห่งใหม่ ภายหลังจึงได้มีการย้ายเมืองชัยนาทมาตั้งใหม่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติศาสตร์ โบราณคดี เมืองชัยนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี)


DSC01004.JPG


เครื่องบริขารถมปัด จัดแสดงภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC01005.JPG


ตู้พระธรรม ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ประติมากรรม และเครื่องถ้วย ในศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะจีน

จัดแสดงภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


Rank: 8Rank: 8

DSC01008.JPG



หลวงพ่อเพชร (หลวงพ่อเชียงแสน) ประดิษฐานภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี

เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ พบที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท


DSC01011.JPG



ประวัติหลวงพ่อเพชร (หลวงพ่อเชียงแสน)


หลวงพ่อเพชร ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เดิมทีพระพุทธรูปองค์นี้สถิตอยู่บนศาลาการเปรียญวัดพระบรมธาตุวรวิหาร องค์พระพอกด้วยปูนหน้าตาหน้าเกลียด ไม่มีคนสนใจ ต่อมาปูนที่หุ้มพระพุทธรูปอยู่ได้กะเทาะออก จึงรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนยุคต้น มีพุทธลักษณะสวยงามมาก พระครูอินทโมลี (หลวงพ่อช้าง) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร (พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๖๕) พร้อมด้วยประชาชน จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปเชียงแสนไปประดิษฐานไว้บนกุฏิ ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา เป็นที่บูชาพระ และเป็นที่รับแขก

ตามจดหมายเหตุ เสด็จประพาสต้น พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นทางเหนือ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองชัยนาท ว่าเวลา ๒ โมงเช้า ถึงวัดพระบรมธาตุ เวลา ๔ โมงเศษ พระครูอินทโมลี ต้อนรับเสด็จแข็งขัน ถึงทำปะรำ ฉนวนผูกฉัตรและต้นกล้วยอย่างสมเกียรติ แต่ที่ว่าเก่งนั้น พระครูเองเดินออกไปร้องบอกวันทยหัตถ์ ให้กับผู้ใหญ่บ้าน และนักเรียนคำนับ ตรงนี้เราจะมองเห็นความสามารถเฉพาะตัว ในที่นั้นมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูโรงเรียนไปยืนรอรับเสด็จควรจะเป็นหัวหน้าไปบอกให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน ทำความเคารพสักคน กลับไม่มีใครเป็นหัวหน้าบอกทำวันทยหัตถ์ ทำความเคารพ

พระครูอินทโมลีเอง ต้องออกไปบอกให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนักเรียนทำความเคารพเสียเอง ทั้งๆ ที่เป็นพระสงฆ์ มีความสามารถถึงเพียงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชมว่าเก่ง นับว่าเป็นพระสงฆ์ที่เก่งองค์หนึ่ง ถ้าอย่างสมัยนี้ เชยตายแล้ว นับว่าท่านมีความสามารถในตัวของท่านในสมัยนั้น ท่านเป็นพระครูเถระยุคเก่าที่เก่ง ต่อจากนั้นได้ถวายพระพรเชิญเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขึ้นที่ประทับรับรอง ส่วนพระครูอินทโมลี ก็ได้เชิญไปเจริญพระพุทธมนต์ร่วมกับพระภิกษุสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรัสชมเชยว่า เสียงดัง ฟังชัด แม่นยำ ชัดเจน และได้รับพระราชทานผ้ากราบผ้ารองย่ามเป็นที่ระลึกก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จกลับ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปตั้งบนโต๊ะหมู่บูชา มีพุทธลักษณะสวยงามมาก เป็นที่พอพระทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงตรัสว่า จะขออะไรสักอย่างจะได้ไหม พระครูอินทโมลีจึงถวายพระพรตอบว่า ขอถวายพระพรอนุญาตให้ตามความประสงค์ของมหาบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสว่า พระพุทธรูปองค์นี้พุทธลักษณะสวยงามมาก ขอพระพุทธรูปองค์นี้ได้ไหม พระครูอินทโมลีจึงขอถวายพระพรขออนุญาตให้ตามพระประสงค์ แต่อาตมาจะขอมหาบพิตรสักอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงตรัสว่า ท่านต้องการอะไรล่ะ พระครูอินทโมลีจึงขอถวายพระพรว่า ขณะนี้อาตมายังไม่ขอทูลก่อน ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จกลับ พร้อมนำพระพุทธรูปเชียงแสนไปยังพระราชวังด้วย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคต พระครูอินทโมลีทราบ จึงได้เดินทางไปขอพระพุทธรูปคืนมาไว้ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เดี๋ยวนี้ได้มอบให้กรมศิลปากรดูแลรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี อยู่ในบริเวณวัดพระบรมธาตุวรวิหารตราบเท่าทุกวันนี้ นับว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของเมืองชัยนาท

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) หน้า ๒๕-๒๖.)


DSC00999.JPG


พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ พบที่จังหวัดชัยนาท ประดิษฐานภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC00996.JPG


พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ พบที่วัดมหาธาตุ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ประดิษฐานภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC01002.JPG


DSC01003.JPG



DSC00997.JPG



พระพุทธรูปสมัยต่างๆ ประดิษฐานภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC00998.JPG



ตู้เก็บพระพุทธรูป แผ่นศิลาจำหลักพระพุทธรูป ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔

ชื้นส่วนใบหน้าบุคคลดินเผา ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

และเครื่องใช้โบราณต่างๆ

จัดแสดงภายในชั้นล่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


Rank: 8Rank: 8

DSC01013.JPG



ชั้นบนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี

จัดแสดงพระพิมพ์ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในประเทศไทย ตั้งแต่พระพิมพ์ในศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ แม่พิมพ์พระพิมพ์ แผงพระพิมพ์ไม้ และพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก


DSC01030.JPG


พระพุทธรูปสำริด ประดิษฐานภายในชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC01026.JPG



DSC01015.JPG



DSC01018.JPG



DSC01016.JPG



พระพิมพ์สมัยต่างๆ ประดิษฐานภายในชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เช่น พระพิมพ์ปรกโพธิ์ พบที่จังหวัดชัยนาท ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้น



DSC01020.JPG



DSC01021.JPG



แม่พิมพ์พระพิมพ์ จัดแสดงภายในชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC01025.JPG


แผงพระพิมพ์ไม้ จัดแสดงภายในชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC01028.JPG


แผงพระพิมพ์ไม้ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ จัดแสดงภายในชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


DSC01027.JPG



งาช้าง จัดแสดงภายในชั้นบน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 04:51 , Processed in 0.077496 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.