พระเจ้าสะเลียมหวาน องค์ที่ ๒ ประดิษฐานภายใน วิหาร วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
คำไหว้พระเจ้าสะเลียมหวาน
(กล่าวนะโม ๓ จบ) มธุระ นิมพะพุทโธ โย เทวตา นระปูชิโต อัมหากัง กุสลัตถายะ อหัง วันทามิ ตัง สะทา
ตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน
มีความเชื่อเกิดขึ้น ๒ เรื่องด้วยกัน คือ
๑. เรื่องแรก เป็นตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานของชาวบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นตำนานลายลักษณ์อักษรที่เขียนขึ้นจากตำนานมุขปาฐะ โดยพระมหาศิลป์ สิกขาสโภ ตามคำบอกเล่าของพระครูสังวรญาณ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๐ กล่าวว่า
“เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสด็จมาถึงตำบลหนึ่งซึ่งมีต้นสะเลียม (ต้นสะเดา) ขึ้นอยู่หนาแน่น พระพุทธองค์เมื่อทรงบิณฑบาตแล้ว ก็แวะพักเสวยภัตตาหารใต้ต้นสะเลียมใหญ่ต้นหนึ่ง เมื่อพระองค์เสร็จจากภัตตกิจแล้ว พระองค์จึงทรงเข้าสมาธิ จนกระทั่งเวลาบ่ายเกิดความอัศจรรย์ เมื่อเงาของไม้สะเลียมยังคงอยู่กับที่ เพื่อถวายให้ร่มเงาแด่พระพุทธเจ้า
พระอานนท์จึงเกิดความสงสัยจึงทูลถาม พระพุทธองค์จึงทรงมีดำริว่า ต่อไปเบื้องหน้าจะมีบุคคลผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนานำไม้สะเลียมต้นนี้ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไว้บูชา กระทั่งกาลต่อมา ได้มีผู้คนนำต้นไม้สะเลียมดังกล่าวมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไว้สักการบูชาประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมาดินแดนบ้านโฮ่งก็เกิดความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล”
ตำนานนี้จึงถือเป็นต้นแบบของตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป
๒. เรื่องที่สอง เป็นตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่ประดิษฐานในวิหารหลวง วัดพระธาตุศรีจอมทอง กล่าวว่า
“สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้มาโปรดพวกลัวะในถิ่นนี้ พวกลัวะจึงได้จัดอาสนะให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งภายใต้ต้นสะเลียม จากนั้นพระพุทธองค์จึงทำนายไว้ว่า ต่อไปคนจะตัดต้นสะเลียมไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป มีนามว่า พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน”
----------------------
(แหล่งที่มา : วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. (๒๕๓๙). "กรณีพิพาทพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน" ศิลปวัฒนธรรม.)
ประวัติพระเจ้าสะเลียมหวาน
พระเจ้าสะเลียมหวาน เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร สูง ๒.๔๐ เมตร แกะด้วยไม้สะเลียม (สะเดา) หวาน ปัจจุบันนี้ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีอดีตประวัติเล่าต่อกันมาแต่โบราณดังนี้
๑. ความเดิม
ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในปัจจันตชนบท เพื่อโปรดประชาสัตว์เพื่อความสงบอันเป็นผาสุกวิหารธรรม โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ลุถึงตำบลหนึ่งซึ่งมีต้นไม้สะเดา (สะเลียม) ขึ้นอยู่หนาแน่น มีธารน้ำไหลผ่านและตั้งอยู่ห่างจากย่านชุมชนเป็นที่สงัดสมควร เป็นที่พักของผู้ต้องการวิเวกธรรม หลังจากพระพุทธองค์ทรงบิณฑบาตในละแวกบ้านได้ภัตตาหารสมควรแล้ว แวะพักเสวยภัตตาหารภายใต้สะเดาต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งร่มรื่นด้วยกิ่งใบอันหนาพองาม เสร็จภัตตกิจแล้ว พระองค์ทรงเข้าสมาธิสุขสมบัติ จนกระทั่งตะวันบ่ายคล้อยลงไป เงาต้นไม้สะเดา (สะเลียม) ก็ยังตรึงอยู่ที่มิได้บ่ายตามตะวัน เป็นความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงดำรัสว่า
ต่อไปเมื่อหน้าจะมีบุคคลผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจะนำไม้สะเดา (สะเลียม) ไปแกะเป็นพุทธรูปบูชา กาลต่อมาต้นไม้สะเดา (สะเลียม) ที่เคยมีรสขม ก็กลับมามีรสหวานปานชะเอม ด้วยเดชะพุทธานุภาพประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป ปัจจุบันก็ยังมีต้นสะเดา (สะเลียม) ที่มีรสหวานอยู่ที่หน้าหอสรงพระเจ้าสะเลียมหวาน ๒ ต้น ในวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน
๒. ความคิดเห็น
มีข้อความปรากฏในพระสูตรเรื่องหนึ่งว่า “เตน สมเยน พุทโธ ภควา เวรัญชา ชายัง วิหรติ นเฬนุปุจิมน หมูเลมหตา ภิกขุสังเฆนสุทธี ปัญจมัตเตหิ"
ในพรรษาที่ ๑๒ จากการตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจาริกพรรษา ณ โคนต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์รักษา ซึ่งตั้งอยู่เมืองเวรัญชา พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นพุทธนิวาสสถานมาแล้ว และคงเป็นที่ประทับพอพระหฤทัยของพระพุทธองค์ เหตุผลทั้งหลายประกอบกัน ทำให้พุทธศาสนิกชนเชื่อกันว่า พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับ ณ โคนไม้สะเลียม ที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ตามจริงตามเล่าสืบกันมา
๓. ความเป็นไป
พระเจ้าสะเลียมหวานประดิษฐานอยู่ที่อำเภอบ้านโฮ่งจนถึง ๗๐๐ ปีเศษ เชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า ประชาชนเชื่อกันว่าพระพุทธรูปสะเลียมหวานมีอิทธิปาฏิหาริย์ ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บันดาลข้าวกล้าอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันพระเจ้าสะเลียมหวานประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นพระพุทธรูปที่อยู่กับอำเภอบ้านโฮ่งหรือเวียงหวาย
----------------------
(แหล่งที่มา : แผ่นพับประวัติพระเจ้าสะเลียมหวาน วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน)
ประวัติการสร้างพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน
พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ที่พบในล้านนา มีอยู่ด้วยกัน ๓ องค์ คือ องค์แรก ประดิษฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ด้านทิศใต้ของพระสถูปในวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ สร้างเมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๒ ส่วนองค์ที่ ๒ ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุข วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ เช่นเดียวกับองค์ที่ ๓ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลาปฏิบัติธรรม วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลาร่วมแรงร่วมใจ วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน)
ชื่อของพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนา โดยเฉพาะระหว่างชาวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ กับชาวอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เพราะเคยเกิดกรณีพิพาทในการเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์ในพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้สะเลียมหวานถึง ๔ ครั้ง ในช่วงเวลากว่า ๓๓ ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๒-๒๕๐๕
ว่ากันว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้สะเดาหวาน (คนเมืองล้านนาเรียกไม้ชนิดนี้ว่า "ต้นสะเลียม") เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรประทับบนฐานไม้สี่เหลี่ยม มีห่วงเหล็กสองห่วงซ้ายขวาสำหรับยกองค์พระ พระเจ้าไม้องค์นี้มีพุทธลักษณะงดงามได้สัดส่วน
ความน่าสนใจของพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน อยู่ที่องค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง พระพุทธรูปไม้องค์นี้นั้น แต่เดิมเป็นสมบัติของวัดพระแท่นสะเลียมหวาน ปัจจุบันคือ วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน สมัยก่อนวัดแห่งนี้เคยเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีชาวบ้านศรัทธาเป็นจำนวนมาก ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ร้างไป ชาวบ้านจึงนำเอาวัตถุโบราณของมีค่าต่างๆ ของวัดนี้ไปฝากที่วัดแห่งอื่นๆ ได้แก่ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้ว ฝากไว้ที่วัดสันเจดีย์ อำเภอบ้านโฮ่ง และอีกองค์หนึ่งซึ่งมีขนาดเดียวกัน นำไปฝากไว้ที่วัดบ้านล้อง
ส่วนพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง โดยทุกๆ ปี เมื่อถึงวันงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ ชาวบ้านโฮ่งก็ได้มีการนำดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนจัดสำรับกับข้าวเพื่อมาถวายพระพุทธรูปไม้องค์นี้ จนถือเป็นประเพณีที่ต้องกระทำทุกปี ด้วยเป็นที่ทราบกันว่า พระพุทธรูปไม้สะเลียมที่ประดิษฐานในวิหารหลวงวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นของชาวบ้านโฮ่ง
กระทั่งเกิดกรณีการเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์ระหว่างชาวบ้าน ๒ อำเภอ โดยการเรียกร้องครั้งแรกนั้น มีขุนโห้ง หาญผจญ พร้อมกับครูบามหาวงศ์ นำชาวบ้านโฮ่งกลุ่มหนึ่งเดินไปเข้าพบกับเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ขณะนั้น เพื่อขออนุญาตให้นำพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับคืนสู่วัดเดิม กระทั่งเจ้าแก้วนวรัฐได้พิจารณาให้เป็นการตัดสินใจของคณะศรัทธาวัดพระธาตุศรีจอมทองเอง และยังมีการเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมาอีก ๒-๓ ครั้ง
กระทั่งครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านพระครูสังวรญาณได้พยายามทวงคืนพระเจ้าไม้สะเลียมหวานอีกครั้ง มีคณะกรรมการระดับอำเภอเข้าร่วมด้วย การทำหนังสือขออัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับคืนสู่อำเภอบ้านโฮ่ง ซึ่งการเรียกร้องในครั้งนั้น ทางเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ได้โอนการตัดสินใจให้กับคณะศรัทธาวัดพระธาตุศรีจอมทอง ผลก็คือ เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาไม่ยินยอม
เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านโฮ่งจึงได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ และต่างก็เชื่อว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่นี้ก็มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับองค์เดิมทุกประการ กระทั่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา ก็ไม่มีการเรียกร้องกรรมสิทธิ์อีก เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน จึงกลายเป็นเรื่องเล่าสำหรับคนรุ่นหลังไป
----------------------
(แหล่งที่มา : วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. (๒๕๓๙). "กรณีพิพาทพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน" ศิลปวัฒนธรรม.)