ช่วงเทศกาลปีใหม่พึ่งผ่านพ้นไป หลายคนเลือก ส่ง ความ สุข เป็นกระเช้าของขวัญ ของที่ผู้คนและร้านค้าต่างๆ นิยมนำมาจัดเป็นกระเช้าของขวัญถ้าไม่นับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักเป็นพวกอาหารบำรุงสุขภาพ เพราะถือว่าเป็นการมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้รับ
อาหารบำรุงสุขภาพหรืออาหารเสริมที่คนส่วนใหญ่ "เชื่อ" ว่าดีต่อสุขภาพนั้นมักเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามกระแสสังคม ตามการนำเสนอของสื่อ เมื่อมีกระแสว่าสารใดมีคุณสมบัติบำรุงร่างกาย ผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายมักจะนิยมนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ฝ่ายผู้บริโภคเองก็เต็มใจซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาบริโภค โดยลืมคิดถึง "คุณค่า" ที่แท้จริง
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา "คอลลาเจน" ได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะสารสกัดบำรุงสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ มีอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ที่ผสมคอลลาเจนเพื่อดึงดูดผู้บริโภค มีตั้งแต่คอลลาเจนชนิดเม็ด ชนิดผงเครื่องดื่มผสมคอลลาเจน กาแฟผงผสมคอลลาเจน รังนกผสมคอลลาเจน สบู่ผสมคอลลาเจน ครีมทาผิว-ทาหน้า ผสมคอลลาเจน มีแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นผสมคอลลาเจน!!! อะไรๆ ก็คอลลาเจนทั้งนั้น เคยคิดกันหรือไม่ว่าทำไมคอลลาเจนมันถึงได้เป็นสารมหัศจรรย์ที่มีคุณสมบัติดีครอบจักรวาลขนาดนี้?
ต่อไปสินค้าต่างๆ คงต้องผสมคอลลาเจนเพื่อให้ขายได้
ผู้ผลิตสินค้าคอลลาเจนให้ข้อมูล (และโฆษณา) โปรตีนแห่งความงามที่ว่านี้ ว่า
"คอลลาเจน เป็นโปรตีนสำคัญของผิวหนัง เพราะเป็นส่วนสปริงของผิวหนัง ในการสร้างความตึงให้กับผิวหนังชั้นหนังแท้"
"คอลลาเจนมีปริมาณมากถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนในร่างกาย คอลลาเจนใต้ผิวหนังของเรา จะอยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ คอลลาเจนทำหน้าที่เสริมความเรียบตึงของผิวหนัง ทำให้ผิวแข็งแรง และเรียบเนียน"
"น่าเสียดายที่ภายหลังอายุ 20 ปี คอลลาเจนโปรตีนจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ชั้นผิวหนังมีการยุบตัวลง ต้นเหตุของความเหี่ยวย่น ริ้วรอย และความชราของผิวพรรณ"
"มีการนำสารสกัดโปรตีนจากปลาทะเลบางประเภท ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับโครงสร้างของคอลลาเจนของผิวคน โดยวิธีการ (Enzymatic Hydrolysis) ,มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วพบว่าภายหลังการรับประทานไประยะหนึ่ง จะสามารถช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน"
สรุป คือ คอลลาเจนเป็นโปรตีนในผิวหนังที่ทำให้ผิวเต่งตึง เมื่ออายุมากคอลลาเจนจะเสื่อม ดังนั้นควรบริโภคคอลลาเจนเข้าไปทดแทน ข้อมูลนี้เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น
เป็นเรื่องจริงที่"คอลลาเจน"เป็นองค์ประกอบหลักของผิวหนัง เป็นโปรตีนที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะคอลลาเจนไม่เพียงเป็นองค์ประกอบของผิวหนังเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เชื่อมเซลล์ทุกๆ เซลล์ในร่างกายไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นเนื้อเยื่อ เป็นอวัยวะ และร่างกายที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ คอลลาเจนจึงมีปริมาณถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนในร่างกาย เพราะเป็นโครงสร้างในส่วนที่ยืดหยุ่นของร่างกาย
เป็นเรื่องจริงที่เมื่ออายุมากขึ้น คอลลาเจนในร่างกายและผิวหนังจะเสื่อมสภาพไป ร่างกายสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง จึงเป็นเหตุให้ผิวหนังเหี่ยวย่น แต่ข้อมูลเรื่องการบริโภคคอลลาเจนจากแหล่งอื่นจะเสริมสร้างคอลลาเจนในร่างกายได้นั้น เป็นข้อมูลที่หมกเม็ดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้ และเลือกใช้ถ้อยคำโฆษณาที่ฟังดูดีทำผู้ฟังคล้อยตาม
ข้อเท็จจริงประการแรกคือ การดูดซึมโปรตีนเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อยก่อน โปรตีนทุกชนิดจะถูกเอนไซม์หลายชนิดในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กย่อยสลาย จากโปรตีนที่เป็นสายยาวจะถูกเอนไซม์ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เหลือเพียงหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด คือ กรดอะมิโน แล้วร่างกายจึงดูดซึมกรดอะมิโนเพื่อนำไปประกอบกันขึ้นใหม่เป็นโปรตีนที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ คล้ายๆ กับการประกอบตัวต่อเป็นรูปร่างต่างๆ ภายในขวด ที่เราไม่สามารถประกอบเป็นรูปร่างจากภายนอกขวดแล้วใส่เข้าไปได้ แต่จะต้องแยกตัวต่อเป็นชิ้นๆ ใส่ทางปากขวดทีละชิ้นแล้วประกอบภายในขวดเท่านั้น
คอลลาเจนเองก็ต้องถูกย่อยจนกลายเป็นกรดอะมิโน ไม่เหลือสภาพความเป็นคอลลาเจน ไม่แตกต่างจากโปรตีนชนิดอื่นๆ คอลลาเจนไม่ได้ถูกดูดซึมไปทั้งเส้นแล้วตรงไปประกอบเข้าเป็นผิวหนังอย่างที่หลายคนจินตนาการจากคำโฆษณา คอลลาเจนชนิดที่ทาผิวก็ไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้เช่นกัน ด้วยตรรกะง่ายๆ ว่า ลำไส้ที่เป็นอวัยวะสำหรับดูดซึมสารต่างๆ จากภายนอกโดยเฉพาะยังไม่สามารถดูดซึมโปรตีนเล็กๆ สักโมเลกุล คอลลาเจน เป็นโปรตีนที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้น ผิวหนังย่อมไม่สามารถดูดซึมได้อย่างแน่นอน
ประการที่สอง คอลลาเจนไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวแต่ เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 29 ชนิด แต่ละชนิดก็เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อแบบต่างๆ คอลลาเจนที่อยู่ในชั้นผิวหนังคือคอลลาเจน 1 นอกจากนี้คอลลาเจนของสัตว์แต่ละชนิดล้วนแตกต่างกัน สังเกตได้ง่ายๆ จากเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา จะมีลักษณะและความยืดหยุ่นแตกต่างกัน ดังนั้นความแตกต่างของคอลลาเจนในสัตว์แต่ละชนิดจึงทำให้ ไม่สามารถนำคอลลาเจนจากสัตว์อื่นๆ มาทดแทน หรือรวมเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างผิวหนังของคน
ดังนั้นเมื่อคอลลาเจนไม่สามารถรับจากภายนอกได้ ไม่สามารถรับจากสัตว์อื่นๆ ได้ หากต้องการให้ร่างกายมีคอลลาเจนอย่างเพียงพอ มีเพียงการบำรุงรักษากลไกของร่างกายที่ทำหน้าที่สร้างคอลลาจนเท่านั้น การบำรุงรักษานั้นเพียงแค่รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้นเอง วัตถุ ดิบที่จำเป็นในการสังเคราะห์คอลลาเจนเราได้รับอย่างเพียงพอจากอาหารอยู่แล้ว การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้กลไกทำงาน และการพักผ่อนช่วยให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายสึกหรอช้าลง
แม้จะเป็นวิธีการง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ชอบเท่าใดนัก มักอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่สะดวก และไม่อยากทำอย่างต่อเนื่อง อยากได้ทางลัด ทางสบาย หรือวิธีการสำเร็จรูป จึงเป็นจุดอ่อนให้ผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพทั้งหลายเอามาใช้
หน้าที่ 2 - ความจริงที่ถูกบิดเบือน
โฆษณามักใช้คำว่า "ช่วยเสริมสร้าง" คอลลาเจนในผิวหนัง ซึ่งไม่ใช่การโกหกแต่อย่างใด เพราะการกินคอลลาเจนร่างกายจะได้รับกรดอะมิโนซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรตีนทุกชนิด รวมทั้งคอลลาเจนด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากรดอะมิโนที่ได้รับจะถูกนำไปสร้างเป็นคอลลาเจน ในผู้สูงอายุร่างกายมีการสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนังน้อยลง ไม่ได้เป็นเพราะขาดกรดอะมิโนที่เป็นวัตถุดิบในการสร้าง แต่เป็นเพราะกลไกต่างๆ ในการสร้างคอลลาเจนเสื่อมไปตามอายุ การกินกรดอะมิโนเพิ่มขึ้นจึง แทบจะไม่ "ช่วยเสริมสร้าง" คอลลาเจนในผิวหนังเลย
เมื่อสินค้าหลายๆ ชนิดต่างผสมของคอลลาเจนกันจนเกร่อ ผู้ผลิตแต่ละรายก็พยายามหาความ "ต่าง" เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตน เช่น
คอลาเจน (จากหมู วัว) กรัมละ 10 บาท
คอลาเจนจากปลา กรัมละ 12 บาท
คอลาเจนจากปลาทะเล กรัมละ 15 บาท
คอลาเจนจากปลาทะเลน้ำลึก กรัมละ 17 บาท
คอลลาเจนจากหอยเป๋าฮื้อน้ำลึก กรัมละ 20 บาท
คอลลาเจน 3 สาย จากหอยเป๋าฮื้อสกัดเย็น กรัมละ 22 บาท
คอลลาเจน 3 สาย จากหอยเป๋าฮื้อสกัดเย็น ผสมอีลาสติน กรัมละ 25 บาท
คอลลาเจน 3 สาย จากหอยเป๋าฮื้อสกัดเย็น ผสมอีลาสตินเกรด A จากประเทศเกาหลี กรัมละ 30 บาท
คอลลาเจน 3 สาย จากหอยเป๋าฮื้อสกัดเย็น ผสมอีลาสตินเกรด A ผสมทองคำนาโน กรัมละ 50 บาท
สุดแท้แต่ผู้ผลิตแต่ละรายจะสรรค์หาถ้อยคำมาอวดอ้างสรรพคุณได้ แค่เพิ่มคำยากๆ ที่ผู้บริโภคอ่านแล้วไม่เข้าใจต่อท้ายสามารถทำให้ขายได้ราคาหลักพันต่อ 1 กระปุก (40 กรัม)
คำโฆษณาของคอลลาเจนหลากหลายรูปแบบเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่ไม่มีแก่นสาร เป็นการใช้ถ้อยคำที่ฟังเข้าใจยากมาประกอบคำโฆษณาให้ดูหรูหราเพื่อเพิ่มมูลค่าเท่านั้น หากย้อนกลับไปที่ความรู้พื้นฐานข้างต้นจะเห็นว่าคอลลาเจนจากสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ว่าจะมาจากน้ำลึกหรือไม่ ล้วนไม่สามารถใช้แทนคอลลาเจนในร่างกายเราเอง คอลลาเจนที่ถูกอ้างว่าผ่านกระบวนการสกัดเย็นทำให้มีโปรตีน 3 สาย หรือที่เรียกว่าคอลลาเจนสดเอง ก็ไม่ได้มีคุณค่าใดมากไปกว่าคอลลาเจนจากเนื้อหมู เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นโปรตีนชนิดใด เป็นคอลลาเจนกี่สายก็ตาม ล้วนแต่ถูกย่อยจนเหลือเพียงกรดอะมิโนก่อนจะดูดซึมทั้งนั้น
ซ้าย: โมเลกุลของคอลลาเจนประกอบด้วยโปรตีนหน่วยย่อย (โปรคอลลาเจน) 3 สาย พันกันเป็นเกลียวในทิศทางเวียนซ้าย การม้วนพันกันในลักษณะนี้ทำให้โมเลกุลคอลลาเจนมีความยืดหยุ่นและทนทานมาก คอลลาเจนจึงไม่เสียสภาพง่ายๆ แม้การสกัดคอลลาเจนจะไม่ใช้กระบวนการสกัดเย็น (การสกัดที่อุณหภูมิต่ำ 0-4 องศาเซลเซียส) โมเลกุลของคอลลาเจนส่วนใหญ่ก็ยังคงสภาพธรรมชาติที่มี 3 สาย การสกัดคอลลาเจนแยกออกเป็นสายเดี่ยวๆ อย่างสมบูรณ์อาจต้องใช้ความพยายาม ใช้พลังงานและต้นทุนมากกว่า การสกัดคอลลาเจนออกมา 3 สายด้วยซ้ำ
ขวา: ประติมากรรมคอลลาเจน มีชื่อว่า Unravelling Collagen สร้างโดย Julian Voss-Andreae ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสความนิยมคอลลาเจน จึงสร้างประติมากรรมสูง 3.4 เมตร จากสเตนเลสและไม้ไผ่ โดยเลียนแบบโครงสร้างโมเลกุลของคอลลาเจน
คุณค่าที่ได้จากการบริโภคคอลลาเจนจึงไม่ได้มากมายเหมือนกับคำโฆษณา หากเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ได้จากการบริโภคโปรตีนชนิดอื่นๆ คอลลาเจนอาจมีคุณค่าน้อยกว่าด้วยซ้ำ คุณค่าหรือคุณภาพของโปรตีนนั้นพิจารณาจากชนิดและปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายที่มีอยู่ในโปรตีนนั้น
กรดอะมิโนในสิ่งมีชีวิตมีชีวิตมี 20 ชนิด ในจำนวนนี้มี 8 ชนิด ที่เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ หรือสังเคราะห์ได้แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องรับเอาจากการกินอาหาร เรียกกรดอะมิโนในกลุ่มนี้ว่ากรดอะมิโนจำเป็น ซึ่งได้แก่ ไอโซลูซีน (isoleucine) ลูซีน (leucine) ไลซีน (lysine) เมทไธโอนีน (methionine) เฟนนิลอลานีน (phenylalanine) ทริโอนีน (threonine) ทริปโตเฟน (tryptophan) และวาลีน (valine)
องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้กำหนดค่า Protein Digestibility Corrected Amino Acid Score (PDCAAS) เพื่อใช้ระบุถึงคุณค่าของโปรตีนต่อร่างกย โดยประเมินจากสัดส่วนและปริมาณกรดอะมิโนที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้
ตัวอย่างเช่น โปรตีนในนม (เคซีน) โปรตีนไข่ขาว และโปรตีนถั่ว มีค่า PDCAAS 1.0 ซึ่งเป็นค่าสูงสุด แสดงว่าร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เนื้อวัวมีค่า 0.92 เนื้อไก่ 0.71 ประโยชน์ที่ได้ก็ลดหลั่นลงไป เป็นต้น
คอลลาเจนมีค่า PDCAAS ต่ำมาก จนใกล้กับ 0 ทั้งนี้เพราะกรดอะมิโนส่วนใหญ่ในคอลลาเจนเป็นกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น เช่น ไกลซีน อะลานีน และโพรลีน ร่างกายสามารถสร้างได้เอง เพียง 3 ชนิดนี้รวมกันก็มากว่า 50% ขององค์ประกอบคอลลาเจนแล้ว และยังไม่มีกรดอะมิโนทริปโตแฟนซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญ
ตารางแสดงปริมาณกรดอะมิโนที่พบในคอลลาเจน
คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่เกิดจากกรดอะมิโนเพียงไม่กี่ชนิดเรียงตัวซ้ำไปซ้ำมา โครงสร้างส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอนคือ [Gly-Pro-X] หรือ [Gly-X-Hyp] ซึ่งเรียงตัวกันซ้ำๆ โดย Gly คือ ไกลซีน (glycine) Pro คือ โพรลีน (proline) Hyp คือ ไฮดรอกซีโพรลีน (hydroxyproline) และ X คือ กรดอะมิโนใดก็ได้ จะเห็นว่า 1 ใน 3 ของ กรดอะมิโนที่ประกอบเป็นคอลลาเจน คือ ไกลซีน อีก 1 ใน 3 เป็นโพรลีนและไฮดรอกซีโพรลีนรวมกัน ซึ่งกรดอะมิโนทั้งสามนี้ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรับจากภายนอกอีก ที่เหลือ (X) คือตำแหน่งที่มีโอกาสเป็นกรดอะมิโนใดๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นเพียง 8 ใน 20 หรือประมาณครึ่งหนึง ดังนั้นเมื่อคำนวณออกมาจะเห็นว่าชนิดและปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นมีสัดส่วนน้อยมากในคอลลาเจน แต่กลับอุดมไปด้วกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นซึ่งเมื่อร่างกายได้รับมากขึ้นก็เพียงขับถ่ายออกไปเท่านั้น แล้วจะยอมจ่ายเงินแพงๆ เพื่อบริโภคกันไปทำไม
อย่างไรก็ตามคอลลาเจนไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ในทางการแพทย์แผ่นคอลลาเจนเป็นวัสดุที่เหนียว ยืดหยุ่น และอุ้มน้ำได้ดี เป็นคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับใช้ปิดปากแผล ใช้เป็นลิ้นหัวใจเทียม หรือใช้ในการศัลกรรมอวัยวะต่างๆ รวมทั้งเพื่อเสริมความงาม ในอุตสาหกรรมอาหารใช้คอลลาเจนในการเพิ่มเนื้อสัมผัสให้อาหาร โดยใช้คอลลาเจนที่ผ่านความร้อนเป็นเวลานานจนโปรตีนเสียสภาพ หรือที่เรียกว่า เจลลาติน ซึ่งเราเองก็บริโภคกันมานานในฐานะขนมชนิดหนึ่ง
คอลลาเจนมีคุณค่าเท่าที่มันจะมีได้ เราใช้ประโยชน์และบริโภคมันมานานแล้ว ก่อนที่จะมีผู้นำไปกล่าวอ้าง เสริมเติมแต่งสรรพคุณต่างๆ เข้าไป เมื่อเกิดกระแสความนิยมขึ้นแล้ว การเปลี่ยนความเชื่อของคนเป็นเรื่องยากยิ่ง แม้จะนำข้อเท็จจริงข้างต้นมาหักล้าง แต่หากตัวผู้บริโภคเชื่ออย่างฝังหัวไปแล้วย่อมมีข้อแก้ต่าง มีเหตุผลให้ตนเองเสมอ อย่างกรณี เครือง GT200 แม้จะแกะตัวเครื่องให้เห็นด้านในกลวงๆ แต่เหล่าทหารที่เชื่อสุดใจไปแล้ว ก็ยังโต้แย้งว่าเครื่อง GT200 ใช้การได้ และขออนุมัติให้ซื้อมาใช้เพื่อความสบายใจ (ด้วยราคาหลักล้าน)
เรื่องของคอลลาเจนก็เช่นกัน แม้จะมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดๆ มายืนยัน แต่สำหรับคนที่เชื่อว่า กินคอลลาเจนแล้วดี ก็คงจะมีข้อโต้แย้งเสมอ เป็นต้นว่า "เค้าใส่มาแล้วก็น่าจะมีประโยชน์บ้าง ดีกว่าไม่ใส่" หรือ "มีงานวิจัยว่ากินแล้วรู้สึกดีขึ้น ริ้วรอยลดลง" ข้ออ้างเหล่านี้แม้จะมาจากงานวิจัยแต่ก็มักเป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อหาข้อมูลสนับสนุนด้านดีของผลิตภัณฑ์ เช่น งานวิจัยที่สรุปว่าทาครีมที่ผสมคอลลาเจนแล้วกลุ่มตัวอย่างรู้สึกผิวนุ่มมากขึ้น
คำว่า "รู้สึกผิวนุ่มมากขึ้น" หมายความว่าอย่างไร? ผิวนุ่มในงานวิจัยแบบนี้ เป็นความรู้สึกส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ที่อาจถูกถามนำด้วยคำถามในแบบสอบถามว่า "หลังจากใช้ครีมแล้ว รู้สึกผิวนุ่มชุ่มชื้นมากขึ้นหรือไม่" แล้วมีตัวเลือกเช่น นุ่มมาก นุ่มเล็กน้อย เท่าเดิม นุ่มน้อยลง ให้เลือก การถามนำลักษณะนี้ย่อมได้คำตอบที่เอนเอียงไปในแนวทางที่ผู้วิจัยต้องการ นอกจากนี้ "ที่บอกว่านุ่มมากขึ้น" นั้น "มากขึ้น" เมื่อเทียบกับอะไร? ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการทดลองเทียบระหว่างการทาครีมผสมคอลลาเจนกับการไม่ทาครีมใดๆ ซึ่งไม่แปลกที่สารให้ความชุ่มชื้นที่ใช้ในครีมทั่วไป รวมทั้งส่วนประกอบอีกนับ 10 ชนิด ที่อยู่ในเนื้อครีมจะทำให้ให้รู้สึกว่าผิวนุ่มมากขึ้น แต่งานวิจัยกลับสรุปเหมารวมว่าเป็นเพราะผลของคอลลาเจนล้วนๆ
งานวิจัยลักษณะนี้แค่กลุ่มตัวอย่าง 6 คน จาก 10 คน ตอบแบบสอบถามว่า "นุ่มเล็กน้อย" ก็สามารถเขียนโฆษณาได้แล้วว่า "จากการวิจัยผู้ใช้มากกว่าครึ่งใช้ครีมผสมคอลลาเจนเพียงครั้งเดียว ก็รู้สึก ผิวนุ่มชุ่มชื้น กระชับเต่งตึง หน้าเด้ง มีเลือดฝาด" งานวิจัยเหล่านี้ลำเอียงตั้งแต่เริ่มต้นทำ แล้วผลการทดลองจะเชื่อถือได้อย่างไร?
ทางเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นคงไม่ได้คิดจะให้ข้อมูลครบทุกแง่มุมอยู่แล้ว เห็นได้จากการเลือกใช้ถ้อยคำในโฆษณาที่จงใจคัดสรรค์ถ้อยคำที่ทำให้ผู้ชมโฆษณาอนุมาน หรือคิดไปเองว่าผลิตภัณฑ์นี้ดีเลิศ รวมทั้งจงใจไม่นำเสนอข้อมูลบางอย่างที่เป็นผลเสียต่อยอดขาย ข้อมูลจากผู้ผลิตจึงเป็นความจริงเฉพาะที่เขาอยากบอกเท่านั้น อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าคอลลาเจนเป็นโปรตีนที่พบมากถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนในสัตว์ จึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก หาได้ง่าย ด้วยต้นทุนราคาถูก หากสามารถทำให้เกิดกระแสนิยมบริโภคคอลลาเจนจนทำให้คอลลเจนขายได้ราคาสูงขึ้นอีกหลายเท่า คิดเป็นกำไรมูลค่ามหาศาล แล้วมีหรือที่ผู้ผลิตอาหารจะสนใจว่าประโยชน์ที่แท้จริงของคอลลาเจนมีมากแค่ไหน?
ถ้าจะมีหนทางใดที่ทำให้กระแสเรื่องคอลลาเจนจางหายไป น่าจะเป็นเพราะเจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเอง เมื่อความนิยมคอลลาเจนมาถึงจุดอิ่มตัว ไม่รู้จะขายสินค้าคอลลาเจนในรูปแบบใดแล้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องสร้างกระแสใหม่และค่านิยมใหม่ขึ้นมา ประโคมโฆษณา ให้ข้อมูลที่บิดเบือนแก่ผู้บริโภค เป็นไปตามวงจรเดิมๆ เมื่อมีแหล่งรายได้ใหม่แล้ว เมื่อนั้นเรื่องที่ว่า "กินคอลลาเจนแล้วมีประโยชน์หรือไม่?" ก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป