- สมัครสมาชิกเมื่อ
- 2009-1-23
- เข้าสู่ระบบล่าสุด
- 2021-3-25
- สิทธิ์ในการอ่าน
- 150
- เครดิต
- 0
- โพสต์
- 593
- สำคัญ
- 0
- UID
- 15
|
| | | |
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระนอนม่อนช้าง ประดิษฐานพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ เส้น
คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ (กล่าวนะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ
ตำนานวัดพระนอนม่อนช้าง
ตำนานกล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานรอยพระบาทตากผ้าแล้ว ก็เสด็จพุทธดำเนินไปทางบูรพาทิศลุถึง หัวดอยม่อนช้าง ก็ทรงหยุดประทับนอนสีหไสยาสน์ ณ ที่นั้น และทรงประทานพระเกศาธาตุแก่ตายายสองผัวเมีย ผู้เข้ามาอุปัฏฐากถวายภัตตาหารและน้ำ ต่อมาจึงได้สร้างเจดีย์ บรรจุพระเกศาธาตุไว้ และมีผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูปนอนสีหไสยาสน์ขึ้นไว้ ณ ที่นั้น จึงเรียกกันว่า "พระนอนม่อนช้าง" มาจนถึงบัดนี้
--------------------
(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๒๑๙.)
ประวัติวัดพระนอนม่อนช้าง
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมาในดินแดนแถบนี้ หลังจากเสด็จมาที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า ในเวลานั้นมีลัวะ ๒ ผัวเมียได้มาถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ แล้วได้ทูลขอพระเกศาจากพระพุทธองค์ ได้ทรงประทานแก่ลัวะ ๒ ผัวเมีย จึงได้นำมาบรรจุในพระเจดีย์บนดอยม่อนช้างในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้บูชาและสักการะของชาวพุทธศาสนิกชนในอนาคตต่อไป
การสร้างองค์พระนอน ไม่ทราบว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เพราะหาหลักฐานไม่ปรากฎ แต่มีปรากฎหลักฐานการบูรณะจารึกไว้ว่า เมื่อ จ.ศ.๑๑๕๖ มีพระมหาสาธุเจ้าพระวิสุทธวังโส วัดสะปุ๋ง และสาธุเจ้าปัญญา วัดเชียงราย (ร้างไปแล้ว) กับสาธุเจ้าเทพิน วัดบ้านกอง (เป็นวัดร้างแล้ว) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และประธานฝ่ายฆราวาส องค์สมเด็จพระเชษฐาเจ้า และพระยารัตนหัวเมืองแก้ว เป็นประธาน ได้มาเป็นประธานซ่อมแซมองค์พระนอนพุทธไสยาสน์ให้ดีขึ้น พร้อมกันนั้นได้สร้างพระอุโบสถไว้กับวัดอีกหลังหนึ่ง
พ.ศ.๒๔๗๐ พระครูบาอภิชัยขาวปี ได้มาเป็นประธานบูรณะพระวิหารและธรณีพระธาตุโดยรอบ แต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง ได้มาบูรณะและสร้างต่อจนเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓
พ.ศ.๒๔๙๐ พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมฺา พฺรหฺมจกฺโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้มาเป็นประธานสร้างกำแพงโดยรอบบริเวณ และได้สร้างเสริมธรณีรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์
พ.ศ.๒๕๐๖ ทางคณะสงฆ์อำเภอป่าซาง มีพระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซาง วัดป่าซางงาม ได้มาเป็นประธานซ่อมแซมพระอุโบสถ
พ.ศ.๒๕๑๕ พระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซาง และพระสุพรหมยานเถระ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้ร่วมกับคณะศรัทธาประชาชน บูรณะสิ่งก่อสร้างภายในวัดอีกวาระหนึ่ง เว้นกำแพงสิ่งเดียว และได้ทำการฉลองเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๖
ต่อมามหาธาตุพระนอนม่อนช้าง สภาพผุพังชำรุดทรุดโทรม หลวงปู่พระสุพรหมยานเถระ วัดพระพุทธบาทตากผ้า มีความดำริจะบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ต่อมาครอบครัวของ คุณประภาส อมาตยกุล ได้เป็นเจ้าภาพในการบูรณะ และได้ทำการบูรณะกันถึง ๓ ครั้ง คือ
บูรณะครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
บูรณะครั้งที่ ๒ โดยการนำของแม่ชีรัชดา อมาตยกุล และคณะ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๗ สิ้นงบประมาณ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท
บูรณะครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยการนำของแม่ชีรัชดา อมาตยกุล คุณพ่อประภาส คุณแม่อุไร อมาตยกุล คุณเดช-คุณเพ็ญศรี-คุณยาใจ บุนนาค คุณทิพย์-คุณโสรัส คุณสีวลี คุณพิพัฒน์ จารุโกศล และคณะญาติธรรมฯ
การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสวัดพระนอนม่อนช้าง เท่าที่ทราบนามคือ
• รูปที่ ๑ พระทิพย์
• รูปที่ ๒ พระคอม
• รูปที่ ๓ พระศรี
• รูปที่ ๔ พระมล
• รูปที่ ๕ พระกม
• รูปที่ ๖ พระเขื่อน
• รูปที่ ๗ พระแก้ว
• รูปที่ ๘ พระจันทร์
• รูปที่ ๙ พระฉลอง พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๔
• รูปที่ ๑๐ พระบุญทรวง พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๙
• รูปที่ ๑๑ พระสมพงษ์ พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๐
• รูปที่ ๑๒ พระทิพย์ พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๑
• รูปที่ ๑๓ พระสุวิทย์ สุจินโณ พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๓๒
• รูปที่ ๑๔ พระวิชัย ปริปุญโญ พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๓
• รูปที่ ๑๕ หลวงพ่อน้อย (พระครูมงคลพิพัฒน์) พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๔๗
• รูปที่ ๑๖ พระมหาอมร อมโร พ.ศ.๒๕๔๗-ปัจจุบัน (๒๕๕๐)
----------------------
(แหล่งที่มา : ป้ายประวัติวัดพระนอนม่อนช้าง, ป้ายการบูรณปฏิสังขรณ์พระเกศาธาตุเจดีย์ และนาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๒๑๙.)
| | | | |
|
|