ต่อจากนั้น เดี๋ยวเราเดินตามหลวงพ่อประสิทธิ์ ไปสำรวจเส้นทางการศึกษาอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี) (Ordovician (443-488 Ma) Fossils Natural Park) ส่วนซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล กันต่อนะคะ
ความสำคัญอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี)
อุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี) เป็นแหล่งที่มีซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บ้านดงสงัด ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สถานที่นี้เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการด้านธรณีกายภาพของอำเภอแม่สะเรียง โดยที่ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมจะได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติอันงดงามของหินลักษณะต่างๆ ที่มีลักษณะคดโค้งโก่งงอเป็นแนวยาวและประสพภาวะกัดกร่อนเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น โขดหิน ถ้ำ หลุมยุบ รอยเลื่อน หน้าผา ตามธรรมชาติ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มีซากดึกดำบรรพ์อายุออร์โดวิเชียน ประกอบไปด้วย นอติลอยด์ หรือหอยหมึกโบราณ รูปแบบต่างๆ ถึงสิบสามวงศ์ สาหร่ายที่มีรูปร่างสวยงามโดดเด่นสองวงศ์ ฟองน้ำและปะการังรูปแบบต่างๆ ตลอดจน ไทรโลไบต์ หอยฝาเดียวและหอยสองฝา ปรากฏอยู่บนผิวหน้าของหินในอุทยาน มากกว่า ๕๐๐ ชิ้น
นอกจากรูปร่างที่น่าสนใจของโขดหินและซากดึกดำบรรพ์รูปแบบต่างๆ แล้ว ภายในอุทยานยังร่มรื่นไปด้วยพืชพรรณต้นไม้มากกว่าพันต้น ที่สามารถจะศึกษาหาความรู้ทางด้านชื่อ ชนิด และวงศ์ต่างๆ ชนิดของต้นไม้เหล่านี้ยังบ่งชี้สภาพของดินและหินที่รองรับอยู่ด้านล่างได้
ดังนั้น อุทยานหินแห่งนี้จึงเหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยา ธรรมชาติศึกษา สำหรับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปทุกระดับเป็นอย่างดี
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายความสำคัญอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี))
ลักษณะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่อุทยานหิน
ลักษณะพื้นดินตามทางที่ขึ้นไปยังสำนักสงฆ์จากด้านหลังสำนักฯ ระหว่างห้วยหินเหล็กไฟและห้วยโป่ง ช่วงแรกด้านล่าง มีลักษณะเป็นเทอเรซระดับสูง ที่ระดับความสูงเหนือน้ำทะเล ๒๖๐ เมตร รทก. จนถึงระดับ ๓๘๐ เมตร รทก. ก่อนถึงแนวเทือกเขา มีลักษณะเป็นดินลูกรังสีแดง
มีต้นไม้ประเภท ต้นพลวง (ตองตึง หรือเหียง) เต็ง รักใหญ่ แข้งกวาง และตูมกาขาว ที่ชอบขึ้นในลักษณะดินที่เป็นกรดอ่อนๆ ทางจะค่อยๆ ชันขึ้นไปสู่พื้นที่ที่พื้นดินได้เปลี่ยนเป็นมีโขดหิน และชนิดพืชได้เปลี่ยนไปเป็นป่าเบญจพรรณ ลักษณะต้นไม้ที่ชอบขึ้นในดินที่มีลักษณะเป็นด่าง เช่น สัก รกฟ้า รัง งิ้ว ป่าดอกแดง ตะคร้อ กุ๊ก ปอลาย ปอเลียงฝ้าย ยอป่า ขางหัวหมู แดง ประดู่ป่า และอื่นๆ
ลักษณะของหินปูนที่พบ เป็นหินปูนสกปรก คือ จะมีเลนส์และชั้นของหินดินดานแทรกอยู่ในเนื้อ ในส่วนล่างปริมาณของหินดินดานสีน้ำตาลจะมากจนเรียงเป็นชั้นบางๆ สลับกับหินปูนสีเทา มีลักษณะเนื้อหินคล้ายกับหินปูนอายุออร์โดวิเชียน ที่รู้จักกันในชื่อ หินปูนชุดทุ่งสง (Thung Song Group)
หินที่โผล่พ้นดินมีรูปร่างต่างๆ ด้านบนของหินโผล่ทุกก้อนจะพบลักษณะผิวขรุขระ เป็นหลุมตื้นๆ ที่เกิดจากการฝนตก เม็ดฝนเจาะลงไปในเนื้อหินที่เรียกว่า Rain Pits บางตอนเห็นร่องรอยน้ำฝนชะลงมาแล้วหินปูนตกผลึกใหม่คล้ายกับเกล็ดปลาหรือสัตว์เลื้อยคลาน ในเนื้อหินที่แตก มีลักษณะแร่ส่วนใหญ่เป็นแคลไซต์มีโดโลไมต์และแร่ที่มีเหล็กปนอยู่บ้าง ในพื้นที่พบลักษณะเป็นแอ่ง ที่เรียกว่า กุมภลักษณ์ (Pot Hole)
และแนวแยกของหิน เป็นร่องกว้างประมาณ ๑ เมตร ลึกประมาณ ๕-๘ เมตร มีก้อนหินขนาดใหญ่ คาดว่ากลิ้งลงมาตามลาดเขามาปิดทับร่องนี้หลายส่วน หินปูนที่เรียงตัวเป็นชั้นหรือเลนส์บางๆ สลับกับหินดินดาน ถูกดันให้โค้งโก่งงอเป็นรูปทรงโค้งมนยาวขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายเปลือกไม้ที่หุ้มต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ คล้ายกับไม้กลายเป็นหิน เมื่อมีแนวแตกมาตัดขวางแนวคล้ายลำต้น ทำให้มีลักษณะคล้ายไม้กลายเป็นหิน
บนผิวของหินโผล่บางบริเวณ มีร่องรอยของซากดึกดำบรรพ์หลายรูปแบบปรากฏชัดเจนบนหน้าหิน สามารถจะติดตามดูเปรียบเทียบได้จากเอกสารอ้างอิงทางด้านใต้ของพื้นที่มีรอยแผ่นดินแยกและโพรงถ้ำ และถ้ำถล่มหรือหลุมยุบ ต่อเนื่องกับหน้าผาสูงชัน นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติสรรสร้างออกมา เหมาะสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เบ็ญจวรรณ รัตนเสถียร, กมลไชย คชชา และเสริมพงศ์ นวลงาม. เอกสารแนะนำอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี) บ้านดงสงัด อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.ใน ลักษณะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่อุทยาน. (หน้า ๑๑))
ลักษณะทั่วไปของโขดหิน และต้นไม้โดยรอบบริเวณพื้นที่ สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินฯ
โขดหิน (Hillock) คือ หินก้อนใหญ่ที่โผล่มาจากพื้นสูงเด่นกว่าหินอื่นในพื้นที่ ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากหินก้อนนั้นมีหินที่มีความแข็งแรงปกป้องด้านบนอยู่ หรือเป็นก้อนหินที่แตกเป็นก้อนใหญ่มาก ผุพังทำลายช้า หรือเป็นหินที่มีส่วนประกอบทางแร่ที่มีความแข็งคงทน แตกต่างไปจากหินที่อยู่ใกล้เคียง
ในพื้นที่มีโขดหินที่สำคัญ เช่น หินก้อนที่มีชื่อ หินรอยพระพุทธหัตถ์พระพุทธเจ้า หินยอดปะการังใหญ่ ซึ่งมีถึงสองก้อน และโขดหินที่เป็นส่วนของหินที่คดโค้งโก่งงอ เป็นต้น
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เบ็ญจวรรณ รัตนเสถียร, กมลไชย คชชา และเสริมพงศ์ นวลงาม. เอกสารแนะนำอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี) บ้านดงสงัด อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ใน โขดหิน. (หน้า ๑๙-๒๐))
ลักษณะเนื้อหินปูนอายุออร์โดวิเชียน (Ordovician Limestone Texture) สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินฯ
ลักษณะเด่นคือ เป็นหินปูนเนื้อละเอียดที่สกปรก มีดินเหนียวหรือหินดินดานแทรกเป็นระยะ ในลักษณะเป็นเลนส์หรือเป็นแถบ ขนานไปกับแนวชั้นหิน บางส่วนมีร่องรอยเกิดการถล่มขณะที่ยังไม่แข็งตัวมาก หรือร่องรอยแตกหักเป็นก้อนเล็กๆ ที่เป็นผลเนื่องจากถูกบดอัดด้วยการเลื่อนตัว ทำให้หินแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วประสานตัวเป็นชั้นหินใหม่
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เบ็ญจวรรณ รัตนเสถียร, กมลไชย คชชา และเสริมพงศ์ นวลงาม. เอกสารแนะนำอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี) บ้านดงสงัด อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.ใน ลักษณะเนื้อ (Texture) หินปูนอายุออร์โดวิเชียน. (หน้า ๑๖))
สังคมพืชในพื้นที่อุทยานหิน
๑. พืชพันธุ์ไม้ในพื้นที่ศึกษา
พืชพันธุ์ไม้ในพื้นที่ศึกษา สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตามลักษณะดังนี้ คือ
๑.๑ ไม้ต้น
๑.๒ ไม้ต้นขนาดเล็ก (Shrubby Tree)
๑.๓ ไม้พุ่ม (Shrub)
๑.๔ ไม้พุ่มขนาดเล็ก (Undershrub)
๑.๕ ไม้เถา (Climber)
๑.๖ ไม้ไผ่ (Bamboo)
๑.๗ เฟิร์น (Fern)
๑.๘ ไม้ล้มลุก (Herb)
๑.๙ ไม้ล้มลุกที่ลำต้นทอดไปตามพื้นดิน (Creeping Herb)
๑.๑๐ หญ้า (Grass)
๑.๑๑ ไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำ (Aquatic Herb)
๑.๑๒ ไม้มาจากต่างประเทศ (Exotic Plant)
๒. ความสัมพันธ์ของต้นไม้กับชั้นหินรองรับ
๒.๑ ต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่หินและดินที่มีความสัมพันธ์กับหินปูน
ไม้ยืนต้นที่มีความชอบในดินที่เป็นด่าง เนื่องจากลักษณะดินเป็นดินที่เกิดจากการผุพังของหินปูนที่มีแร่ดินปน เนื้อดินมีน้อยหรือไม่มี ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศเป็นไหล่เขาสูง เมื่อมีฝนตกลงมาก็มักจะพัดพาเอาดินและเศษหินไปตามกระแสน้ำไหล ทำให้หน้าดินเหลือน้อยและหยั่งรากได้ไม่ลึก โค่นล้มได้ง่าย
ต้นไม้ที่พบในพื้นที่จะมีลำต้นสูงต่ำตามโปรไฟล์ พืชที่สำรวจพบในพื้นที่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จำนวน ๑๖๔ ชนิด และมี ๑๕๙ ชนิด ที่สามารถจำแนกได้ และ ๕ ชนิด ที่ยังจำแนกไม่ได้ ในจำนวนนี้ เป็นจำนวนต้นไม้ต้นที่สำรวจในพื้นที่ที่มีขนาดเส้นรอบวงต้นไม้มากกว่าสิบห้าเซนติเมตร มากกว่าสามพันต้น
สิบห้าลำดับแรกของไม้ที่มีความสำคัญในพื้นที่ ซึ่งแสดงถึง ความหนาแน่นสัมพัทธ์ (RD) ค่าความถี่สัมพัทธ์ (RF) ความเด่นสัมพัทธ์ (RDo) และดัชนีความสำคัญ (IVI) มีถึง ๗๒๘ ต้น ได้แก่ สัก รกฟ้า รัง งิ้วป่าดอกแดง ตะคร้อ กุ๊ก ปอลาย ปอเลียงฝ้าย ยอป่า ขางหัวหมู แดง ประดู่ป่า สมอไทย ทองเดือนห้า และมะม่วงหัวแมงวัน
๒.๒ ต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่หินและดินที่มีความสัมพันธ์กับหินดินดาน บริเวณทางเข้าสู่พื้นที่อุทยานหิน
พื้นดินรองรับป่าชุดนี้เป็นดินที่ผุพังมาจากหินดินดานและหินเชิร์ต อายุไทรแอสซิก ต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่ชนิดนี้ เป็นพืชที่ชอบขึ้นในดินที่มีลักษณะเป็นกรดและหินแข็ง หินทราย
ต้นไม้ที่พบในหินประเภทนี้ เช่น พลวง ๔๐% เต็ง ๓๐% รักใหญ่ ๕% แข้งกวาง ๕% ตูมกาขาว ๕% และที่เหลืออีก ๕% เป็นมะม่วงหัวแมงวัน มะส้าน ตะคร้อ มะคังแดง เก็ดดำ ตะขบป่า อินทนิลบก กำลังช้างเผือก กระโดน กาสามปีก ซึ่งจะแตกต่างกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่อุทยานหินที่เป็นหินปูนอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ความหลากหลายและชนิดของพืชพรรณไม้
๒.๓ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ระหว่างดินผสมสองประเภท
จะมีลักษณะของต้นไม้ที่ขึ้นคละกันอยู่ ทั้งนี้เพราะลูกไม้ที่ถูกพัดพาโดยลม โดยกระแสน้ำ และนำไปโดยสัตว์นำเอาเมล็ดพันธ์ุไปตกในดินที่อยู่ใกล้ๆ งอกมาเป็นต้นไม้ในพื้นที่นี้ โดยที่ด้านบนจะมีส่วนของไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่ที่เป็นด่างมากกว่า แต่ในส่วนเชิงเขาจะมีต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่ที่เป็นกรดมากกว่า
๒.๔ ไม้พื้นล่าง
ส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุก ประเภทที่มีเหง้า หรือหัวอยู่ใต้ดิน เมื่อฝนลงก็จะแตกหน่อ ออกใบ ออกดอก โผล่ขึ้นมาบนพื้นดิน ไม้เหล่านี้ เช่น นมสวรรค์ ดาดตะกั่วเถา ว่านพญากาสัก กะตังใบแดง ว่านพระฉิม กลอย โสมชบา เอื้องหมายนา ข่าลิง ดอกดิน ดอกกระเจียว ดอกเข้าพรรษา เทียนดอย บุกชนิดต่างๆ เป็นต้น
๓. โครงสร้างป่าหรือโปรไฟล์ของพรรณไม้ในพื้นที่อุทยานหิน
โปรไฟล์ของไม้ในพื้นที่ สามารถเขียนออกมาเป็นโปรไฟล์สองทิศทาง ดังนี้
๓.๑ โปรไฟล์แรก
แสดงพรรณไม้โครงสร้างป่าด้านตั้งและด้านแนวราบของป่าในแนวด้านล่างของเชิงเขาขึ้นไปบนสันเขา แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงพรรณไม้ในโครงสร้างจากที่ชอบดินที่เป็นกรดขึ้นไปจนถึงดินที่เป็นเบสของหินปูนผุ
๓.๒ โปรไฟล์ที่สอง
แสดงพรรณไม้โครงสร้างป่าด้านตั้งและด้านแนวราบของป่าในแนวสันเขาจากทิศเหนือ (ด้านซ้าย) ไปด้านใต้ (ด้านขวา) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงพรรณไม้ในโครงสร้างที่ชอบดินที่เป็นเบสของหินปูนผุ ต้นใหญ่จะอยู่ด้านในของเขา ในขณะที่ด้านหน้าผาจะไม่ค่อยมีไม้หนาแน่นและต้นใหญ่ๆ ด้านนอกจะเป็นประดู่ ในขณะที่ต้นสักกระจายเต็มพื้นที่ แต่มีต้นขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เบ็ญจวรรณ รัตนเสถียร, กมลไชย คชชา และเสริมพงศ์ นวลงาม. เอกสารแนะนำอุทยานหินยุคออร์โดวิเชียน (๔๔๓-๔๘๘ ล้านปี) บ้านดงสงัด อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ใน สังคมพืชในพื้นที่อุทยานหิน. (หน้า ๔๕-๔๗))
โปรไฟล์ของไม้ต้นตามแนวของพื้นที่จากเชิงเขาถึงสันเขา และตามแนวของสันเขาในพื้นที่ สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินฯ
แสดงการเปลี่ยนแปลงของชนิดต้นไม้ตามสภาพดินที่เปลี่ยนแปลงจากเชิงเขา มายังสันเขาที่เปลี่ยนจากสภาพป่าเต็งรังมาเป็นป่าเบญจพรรณ
โปรไฟล์ของไม้ต้นตามแนวของพื้นที่จากเชิงเขาไปยังพื้นที่กลางเขาจากทิศตะวันตกไปตะวันออก สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินฯ
ตัวเลขแสดงชนิดต้นไม้ ดังนี้
๑. พลวง
๒. เต็ง
๓. รักใหญ่
๔. แข้งกวาง
๕. ตูมกาขาว
๖. มะม่วงหัวแมงวัน
๗. มะส้าน
๘. ตะคร้อ
๙. มะคังแดง
๑๐. เก็ดดำ
๑๑. ตะขบป่า
๑๒. อินทนิลบก
๑๓. กำลังช้างเผือก
๑๔. กระโดน
๑๕. กางขี้มอด
๑๖. กาสามปีก
๑๗. รกฟ้า
๑๘. สมอไทย
๑๙. หว้าขี้กวาง
๒๐. มะม่วงนก
๒๑. ยอป่า
๒๒. กุ๊ก
๒๓. ติ้วขน
๒๔. ปอลาย
๒๕. เต็งหนาม
๒๖. กระมอบ
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายโปรไฟล์ของไม้ต้นตามแนวของพื้นที่จากเชิงเขาถึงสันเขา และตามแนวของสันเขาในพื้นที่)
โปรไฟล์ของไม้ต้นตามแนวของสันเขาในพื้นที่จากทิศเหนือไปทิศใต้ สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินฯ
ตัวเลขแสดงชนิดต้นไม้ ดังนี้
๑. ตะคร้อ
๒. พลวง
๓. อินทนิลบก
๔. รกฟ้า
๕. กาสามปีก
๖. ปอต๊อก
๗. ยอป่า
๘. ปอเลียงฝ้าย
๙. สะแกแสง
๑๐. เลียงฝ้าย
๑๑. สัก
๑๒. งิ้วป่าดอกแดง
๑๓. สมอไทย
๑๔. หว้าขี้กวาง
๑๕. เก็ดดำ
๑๖. ขางหัวหมู
๑๗. กุ๊ก
๑๘. รัง
๑๙. กางขี้มอด
๒๐. ทองเดือนห้า
๒๑. มะหนามนึ้ง
๒๒. กำลังช้างเผือก
๒๓. ยมหิน
๒๔. มะกอกป่า
๒๕. ตะแบกเลือด
๒๖. กระพี้จั่น
๒๗. แดง
๒๘. ไม่ได้ระบุชนิดต้นไม้
๒๙. ผ่าเสี้ยน
๓๐. ปอลาย
๓๑. ประดู่ป่า
๓๒. แหนนา
---------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายโปรไฟล์ของไม้ต้นตามแนวของพื้นที่จากเชิงเขาถึงสันเขา และตามแนวของสันเขาในพื้นที่)
สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ อุทยานหินฯ มีการปลูกหญ้าแฝกและตะไคร้หอม ภายในสำนักสงฆ์
เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงดินและป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่