รอยพระพุทธหัตถ์คู่ของพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑) ในภัทรกัป ประดิษฐานอยู่หน้าถ้ำเสือ ด้านล่างหลังถ้ำพระเจ้า พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า
รอยพระพุทธหัตถ์คู่ของพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑) ในภัทรกัป พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า
ประทับบนก้อนหินใหญ่ เป็นรอยพระพุทธหัตถ์คู่เบื้องขวาและเบื้องซ้าย มีลักษณะของพระหัตถ์ขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน โดยรอยพระหัตถ์ข้างขวาจะมีขนาดใหญ่กว่ารอยพระหัตถ์ข้างซ้ายเล็กน้อย ปรากฏเห็นรอยนิ้วมือชัดเจนทั้งสองข้าง ปัจจุบันเรียกชื่อว่า "พระพุทธหัตถ์เลิศหล้าสุธาไพร" มีขนาดกว้าง ๑ เมตรกว่า ยาว ๒ เมตรกว่า เป็นรอยประทับตามธรรมชาติแบบเดิมๆ ที่สมส่วน สวยงามมากรอยหนึ่ง
ค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ โดยพระประทีป อตฺถกโร พระธุดงค์ซึ่งได้เดินธุดงค์จากอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาปักกลดที่ถ้ำพระเจ้า และอยู่จำพรรษา ๑ พรรษา และพระธุดงค์ (ไม่ทราบนามฉายา) ที่เดินทางมาปักกลดที่ถ้ำพระเจ้าแห่งนี้เช่นกัน
รอยพระพุทธหัตถ์เบื้องขวาของพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑) ในภัทรกัป พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า
รอยพระพุทธหัตถ์เบื้องซ้ายของพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑) ในภัทรกัป พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า
ประวัติการค้นพบรอยพระพุทธหัตถ์คู่พระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า
(พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑)
พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า
อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
เรียบเรียงโดย พระประทีป อตฺถกโร
อาตมภาพ พระประทีป อตฺถกโร ได้เดินธุดงค์จากอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาที่อำเภอแม่สะเรียง เริ่มตั้งแต่วัดพระธาตุจอมมอญ อาตมาได้นิมิตว่า มีเมืองหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระผู้มีศีล และมีรอยพระพุทธบาทและรอยพระพุทธหัตถ์ปรากฏอยู่ด้วย อาตมภาพได้สอบถามกับพระภิกษุที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมมอญว่า มีสถานที่ศักดิสิทธิ์ที่มีชื่อว่า "ถ้ำพระเจ้า" อยู่แถวนี้รึเปล่า เมื่อได้คำตอบว่า มี จึงได้แสวงหาจนพบ และได้อยู่จำพรรษา ๑ พรรษา
หลังจากออกพรรษาจะเดินธุดงค์ต่อไปที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แต่ได้มีเทวดามานิมนต์ให้อยู่ เพื่อบูรณะให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จากเดิมที่ท่านพระอาจารย์สวัสดิ์ (อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดพระธาตุจอมมอญ) ได้มาบูรณะไว้แล้ว แต่ท่านมรณภาพไปเสียก่อน จึงขาดพระภิกษุมาอยู่จำพรรษาเป็นเวลานานถึง ๕ ปี
ต่อมาอาตมภาพพระประทีป ได้นิมิตเห็นรอยฝ่าพระพุทธหัตถ์คู่เพิ่มอีก ซึ่งตรงกันกับนิมิตของพระธุดงค์ที่ได้มาเจอกันที่ถ้ำแห่งนี้ ดังนั้นแล้วจึงได้พากันออกค้นหาจนพบ และได้สร้างศาลาครอบไว้รอบๆ พระพุทธบาท
และต่อมาได้นิมนต์ พระครูบาบุญศรี อภิปุณฺโณ วัดพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ให้มาดูวัดถ้ำพระเจ้า และท่านครูบาบุญศรีได้นิมิตเพิ่มขึ้นอีกว่า มีพระผู้มีศีลอยู่ด้วยกันห้าพระองค์อยู่ในถ้ำพระเจ้า มีรอยฝ่าพระหัตถ์และพระพุทธบาทอยู่ทั่วทั้งวัด ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอาจารย์ครูบาบุญศรีจึงได้มีศรัทธาตัดสร้างถนนทางเข้าไปถ้ำพระเจ้า เป็นระยะทาง ๔.๗ กิโลเมตร
และความพิสดารอยู่ในถ้ำยังมีอีกมากมาย ต่อมามีลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านแถวนั้น ได้เข้าไปที่ถ้ำและได้เจอรอยพระพุทธบาทอยู่ในถ้ำและกระดูกชิ้นใหญ่อยู่ในถ้ำ อีกทั้งยังเจอซากเรือลำใหญ่อยู่ในถ้ำด้วย จากนั้นลุงได้ออกจากถ้ำกลับมาบ้าน เพื่อเล่าให้กับชาวบ้านฟังเกี่ยวกับสิ่งแปลกประหลาดมากมายที่ตนเองได้พบเจอในถ้ำ อีกเรื่องหนึ่ง มีชาวบ้านไปพบเห็นรอยพระพุทธบาท แต่นึกไม่ถึงคิดว่าเป็นรอยหินธรรมดา ด้วยความไม่รู้ จึงได้ปัสสาวะใส่รอยหินนั้น พอกลับมาถึงบ้าน ชาวบ้านคนนั้นก็ได้เสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ด้วยเหตุนี้ อาตมภาพพระประทีป จึงอยากจะขอเรียนเชิญเจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ได้ช่วยกันร่วมบูรณะรอยพระพุทธบาทของถ้ำพระเจ้า เพื่อให้เป็นมรดกของอำเภอแม่สะเรียงและเพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้สักการบูชา เพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าต่อไป
อาตมภาพพระประทีป อตฺถกโร ยังมีความเห็นอีกว่า สถานที่ถ้ำพระเจ้าแห่งนี้ เป็นป่าอุดมสมบูรณ์และมีต้นน้ำลำธารที่สะอาด ในภายภาคหน้าจะได้ขอโครงการหลวงเข้ามาเพื่อพัฒนารอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้าในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา อาตมภาพได้มีโอกาสเดินทางธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เช่น พม่า, จีน, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, อินเดีย, ทิเบต, และประเทศจีน เขตสิบสองปันนา ได้พบเห็นรอยพระพุทธบาทและพระพุทธหัตถ์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรอยพระพุทธบาทที่ถ้ำพระเจ้าแห่งนี้
อาตมภาพคิดว่า รอยพระพุทธบาทที่อาตมาได้พบเห็นในหลายๆ ประเทศ น่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มากกว่านี้ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ในเขตประเทศไทย บังเอิญอาตมาได้มาพบอีกที่ประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ต๊อบเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่ถ้ำพระเจ้า ว่าเป็นปูชนียวัตถุที่มีคุณค่ามากแค่ไหน ถ้าอยู่ในเขตสิบสองปันนาและทิเบต เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
อย่ากล่าวถึงต่างประเทศเลย ยกตัวอย่างเช่นในเมืองไทย เช่น รอยพระพุทธบาทสระบุรี, รอยพระพุทธบาทสี่รอยที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และในอีกหลายๆ ที่ในเมืองไทย ที่ได้รับการบูรณะพัฒนาอย่างสมเกียรติในเขตที่มีรอยพระพุทธบาท แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย รอยพระพุทธบาทที่ถ้ำพระเจ้าถือเป็น "พระพุทธบาทคู่บ้านคู่เมือง" แม่สะเรียง ที่อยู่คู่กับชาวเมืองแม่สะเรียงเป็นร้อยปีพันปี แต่ไม่ได้รับการบูรณะพัฒนา อาตมภาพได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหลายที่หลายแห่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้ อาตมภาพจึงอยากจะขอเรียนเชิญพระครูบาอาจารย์ทุกท่าน พร้อมทั้งญาติโยมสาธุชนทุกท่านที่มีจิตศรัทธา ได้ช่วยกันสร้างและร่วมบูรณปฏิสังขรณ์รอยพระพุทธบาทที่ถ้ำพระเจ้า ในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และยังจะเป็นการพัฒนาวัฒนธรรมและประเพณีของชาวบ้านในเขตชุมชนอำเภอแม่สะเรียง เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดของชนชาวไทยในด้านวัฒนธรรมและประเพณี ศีลธรรม จริยธรรม และประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเริ่มต้นบูรณะพัฒนาที่รอยพระพุทธบาทถ้ำพระเจ้าเป็นอันดับแรก
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระประทีป อตฺถกโร. ถ้ำพระเจ้า รอยพระพุทธบาท. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.bankad-sao.go.th/main ... n_lang=120612100236. (วันที่ค้นข้อมูล : ๕ มิถุนายน ๒๕๕๖))
พระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานด้านข้างรอยพระพุทธหัตถ์คู่ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑) พุทธอุทยานพระบาทสี่รอยถ้ำพระเจ้า
พระครูบาบุญศรี อภิปุณฺโณ (วัดพระมหาบรมธาตุเจ้าดอยเกิ้ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่) สร้างถวาย “พระพุทธหัตถ์เลิศหล้าสุธาไพร” เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒