เขาพระสุเมรุ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุหริภุญชัย
ประวัติเขาพระสุเมรุ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
เขาพระสุเมรุ ไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างชัดเจน แต่พบหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าว่า ตั้งอยู่หน้าหอพระไตรปิฎก ของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ มาแต่โบราณ
รูปแบบสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานเขียงกลมซ้อนกัน ๓ ชั้น รองรับท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่และกรอบช่องกระจก เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงายขึ้นรับเขาพระสุเมรุ ซึ่งประกอบด้วยสัตตบริภัณฑ์คีรี และมหานทีสีทันดร จำลองด้วยแผ่นทองสำริดดุนนูน ศิลปะหริภุญไชย เป็นลวดลายต้นไม้ เทพยดา สัตว์ป่า และเหล่าอสูรซ้อนเหลื่อมกัน ๗ ชั้น ชั้นบนสุดประดับด้วยไพชยนต์มหาปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนที่ประทับของพระอินทร์
เขาพระสุเมรุนี้ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องแกนกลางของโลกและจักรวาล ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียในยุคพระเวทย์ ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นับถือพุทธศาสนาและเชื่อว่าน่าจะแผ่เข้ามายังอาณาจักรล้านนาพร้อมพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติเขาพระสุเมรุ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร)
หอธรรม (หอพระไตรปิฎก) วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุหริภุญชัย
ประวัติหอธรรม วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
หอธรรมหรือหอพระไตรปิฎกนี้ มีประวัติการก่อสร้างปรากฏตามหลักฐานศิลาจารึกพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร (ลพ. ๑๕) ว่าสร้างโดยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระราชมารดาในปี พ.ศ.๒๐๕๓ โดยในครั้งนั้นพระองค์ทรงได้โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกและพระพุทธรูปทองคำมาประดิษฐานในหอธรรมที่สร้างขึ้นด้วย
ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นอาคาร ๒ ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ ๒ ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อาคารชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีบันไดทางขึ้นทอดยาวขึ้นไปสู่อาคารชั้นบน ซึ่งเป็นเครื่องไม้ ตกแต่งไม้โครงสร้างด้วยการแกะสลักลายพันธุ์พฤกษาปิดทองล่องชาด ผนังอาคารตกแต่งด้วยลายฉลุไม้ปิดทองล่องชาดประดับกระจก หลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะ
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติหอธรรม วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร)
หอกลอง วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร