ประวัติวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
๑. ชื่อของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ
ชื่อของวัดพระธาตุหริภุญชัย มาจากชื่อของเมืองหริภุญชัย ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพระพุทธกาลและได้แวะรับและฉันลูกสมอที่ชาวลัวะนำมาถวาย โดยได้ทรงพยากรณ์ไว้ตอนนั้นว่า สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร”
และในกาลต่อมาก็มีฤาษี ๒ องค์ ชื่อว่า วาสุเทพและสุกกทันตะได้ร่วมกันสร้างเมือง ณ สถานที่แห่งนี้ และให้ชื่อเมืองว่า หริภุญชัยนคร ในปี พ.ศ.๑๒๐๔ สมจริงตามคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ทุกประการ
หริภุญชัยนคร แปลว่า เมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ (หริ แปลว่า สมอ, ภุญชัย แปลว่า เสวย, นคร แปลว่า เมือง) ส่วนพระบรมธาตุนั้น แต่เดิมเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้รวกและใส่ไว้ในโกศแก้วอีกชั้นหนึ่ง
ต่อมากษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนทุกพระองค์ก็ได้บูรณะและพัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยเปลี่ยนจากโกศแก้วเป็นโกศทองและเปลี่ยนเป็นมณฑป ในที่สุดเป็นเจดีย์ และมีการขยายขนาดเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสูงถึง ๒๕ วาครึ่ง กว้าง ๑๒ วาครึ่ง ดังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้และเรียกชื่อว่า “วัดพระธาตุหริภุญชัย”
๒. สมัยพระพุทธกาล
พระดำรัสพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาบิณฑบาตยังชัยภูมิแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวเม็งหรือมอญ เมื่อรับบิณฑบาตแล้ว ก็ได้เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นมาทางทิศเหนือจนถึงสถานที่แห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดพักประทับอยู่บนหินก้อนหนึ่งและทรงวางบาตรไว้ด้านข้าง
ขณะนั้นมีพญาชมพูนาคราชและพญากาเผือกได้มาปรนนิบัติและอุปัฏฐากพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด และได้มีชาวลัวะผู้หนึ่งได้นำเอาลูกสมอมาถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ได้เสวยลูกสมอนั้นแล้ว จึงทรงทิ้งขว้างเมล็ดลูกสมอเหล่านั้นลงบนพื้นดิน พร้อมกับตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
“สถานที่แห่งนี้ต่อไปภาคหน้า หลังจากเราตถาคตได้นิพพานไปแล้ว จะเป็นที่ตั้งของหริภุญชัยนคร และยังจะเป็นที่ประดิษฐานของพระสุวรรณเจดีย์อีกด้วย”
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว จะมีพระบรมสารีริกธาตุเป็นต้นว่า ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง มาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ด้วย หลังจากทรงมีพุทธพยากรณ์แล้ว พระอรหันต์ พระยาอโศก ชมพูนาคราช และพระยากาเผือก จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลขอพระเกศาธาตุจากพระพุทธองค์
พระองค์ทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระเศียรประทานให้เส้นหนึ่ง พระอรหันต์และพระยาทั้งสามได้นำเอาพระเกศาธาตุบรรจุไว้ในกระบอกไม้รวก แล้วนำไปบรรจุในโกศแก้วใหญ่ ๓ กำ นำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับนั้น
พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลายจึงเสด็จกลับพาราณสี ส่วนหินที่พระพุทธองค์ประทับนั้นก็จมลงไปในแผ่นดินดังเดิม โดยชมพูนาคราชและพระยากาเผือกได้ทำหน้าที่เฝ้าพระเกศาธาตุนั้น
พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ ๒๑๘ ปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้พบพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์ จึงเกิดศรัทธาเลื่อมใสอยากจะสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุเหล่านั้นให้ได้ ๘๔,๐๐๐ แห่ง จึงมอบให้พระเถระทั้งหลายอัญเชิญพระบรมธาตุไปบรรจุในเจดีย์ยังเมืองต่างๆ ทั่วแคว้นชมพูทวีป
สันนิษฐานว่าประเทศไทยเราก็คงได้รับส่วนแบ่งพระบรมธาตุในครั้งนั้นด้วย และตำนานท้องถิ่นบางแห่งยังบอกว่า พระกุมารกัสสปเถระ และพระเมฆิยเถระ เป็นผู้อัญเชิญพระบรมธาตุจากพระยาศรีธรรมาโศกราชมาไว้ที่ลัมภะกัปปะนครและหริภุญชัยนคร ซึ่งในกาลต่อมาพระเจ้าอาทิตยราชได้มาบูรณะพระธาตุหริภุญชัย และพระเจ้าจันทะเทวราชมาบูรณะพระธาตุลัมภะกัปปะนคร ปัจจุบันคือวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
๓. สมัยนครหริภุญชัย
จากเขตพระราชฐานเป็นเขตพุทธาวาส กาลเวลาล่วงมาจนถึงปีจุลศักราช ๒๓๘ พระพุทธศาสนาล่วงไปได้ ๑,๔๒๐ ปี ณ อาณาบริเวณที่เป็นวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ในปัจจุบันนี้
เมื่อครั้งนั้นเป็นเขตพระราชฐานแห่ง พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย ในสมัยนั้นพระองค์โปรดให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรเป็นที่ประทับ ครั้นเสร็จแล้วพระองค์ก็เข้าประทับอยู่ภายในปราสาทราชมณเฑียรแห่งนั้น
วันหนึ่งพระองค์จะเสด็จไปสู่วสัญชนฐาน (ห้องน้ำ) ปรากฏมีกาตัวหนึ่งได้บินโฉบลงมาเป็นทำนองกันไม่ให้พระองค์เข้าไปถึงฐานนั้นได้ ด้วยความกริ้วพระองค์จึงต้องย้ายไปใช้ฐานอื่น และทรงมีกระแสรับสั่งให้จับกาตัวการนั้นมาฆ่าเสีย แต่เทวดาได้ดลใจให้อำมาตย์ผู้หนึ่งทัดทานไว้ เพราะสงสัยในพฤติการณ์ของกานั่นเอง
คืนนั้นยามใกล้รุ่ง เทวดาผู้รักษาพระเกศาธาตุได้สำแดงฤทธิ์มาในพระสุบินถวายคำแนะนำให้พระองค์นำทารกมาอยู่กับกา ๗ วัน และอยู่กับคน ๗ วัน เป็นเวลา ๗ ปี
เมื่อถึงเวลานั้นเด็กก็จะสามารถแปลภาษากาให้คนได้รับทราบเหตุการณ์อันเป็นปริศนานั้นได้โดยชัดแจ้ง พระเจ้าอาทิตยราชจึงทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระเกศาธาตุโดยละเอียด
พระเจ้าอาทิตยราชจึงโปรดให้เชิญพระยากาเผือกมาสู่ปราสาทแห่งพระองค์ โดยพระองค์โปรดให้จัดสถานที่สำหรับต้อนรับพระยากาเผือกอย่างสมฐานะพระยาแห่งกาทั้งปวง พระยากาเผือกจึงเล่าความเป็นมาถวายทุกประการ
พระเจ้าอาทิตยราชทรงมีพระราชหฤทัยอภิรมย์ยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้รื้อราชมณเฑียรทั้งปวงออกไปจากสถานที่แห่งนั้นจนหมดสิ้น แล้วโปรดให้ปรับพื้นที่อันเป็นมงคลนั้นให้เรียบงามตา พระองค์โปรดให้พระสงฆ์สวดพระปริตรมงคล เพื่ออาราธนาพระบรมธาตุให้ออกมาปรากฏ
พระธาตุเจ้าจึงสำแดงฤทธาภินิหารโผล่ขึ้นมาพ้นแผ่นดิน ทั้งโกศแก้วลอยขึ้นไปในอากาศสูงเท่าต้นตาล พระบรมธาตุได้เปล่งฉัพพรรณรังสีเจิดจ้าไปทั่วนครหริภุญชัยเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงลอยลงมาประดิษฐานบนแผ่นดินดังเดิม
พระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้ขุดเอาโกศบรรจุพระธาตุขึ้นมา แต่ทว่ายิ่งขุดโกศนั้นก็ยิ่งจมลงไป พระองค์จึงต้องบูชาอาราธนาพระธาตุ จึงได้ยอมลอยขึ้นมาสูงจากพื้นดินถึง ๓ ศอก พระองค์จึงให้สั่งรื้อถอนปราสาทราชมณเฑียรทั้งหมดออกไปตั้งราชสำนัก ณ ที่อื่น
ดังนั้น พระบรมธาตุหริภุญชัย จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.๑๔๔๐ โดยพระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้สร้างโกศทองคำหนัก ๓,๐๐๐ คำ สูง ๓ ศอก ประดับประดาไปด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ ครอบโกศพระธาตุของพระพุทธเจ้านั้น แล้วโปรดให้สร้างมณฑปปราสาทสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้า ดังข้อความที่กล่าวไว้ในตำนานมูลศาสนา ดังนี้
“...พระยาอาทิตยราชก็ให้เอาหินมาเพื่อจักก่อให้เป็นเจดีย์ ครั้นได้หินมาบริบูรณ์แล้วจึงให้หานักปราชญ์มาพิจารณาดูวันยาม ฉายาฤกษ์อันเป็นมงคล ครั้นได้ฤกษ์แล้วพระยาก็แบกหินอันเป็นมงคลนั้นมาก่อในท่ามกลาง เพื่อจักให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รอง โกศธาตุพระพุทธเจ้า ทั้งหลายนั้นแล
ครั้นพระยาหยิบหินก้อนนั้นยอขึ้น ก็ให้ประโคมดุริยดนตรีเป็นมงคลเสียงอึงมี่นัก เป็นดังเมฆอันพัดกันในท้องฟ้าฉะนั้น ก็เป็นอันดังกึกก้องทั่วเมืองหริภุญไชยทั้งมวลนั้น พระยาก็ให้ก่อในที่หนึ่งแล้วก็ให้ก่อเป็น ๔ เสาดังปราสาทสูงได้ ๑๒ ศอก ให้เป็นประตู โค้งทั้ง ๔ ด้าน อยู่ภายนอกโกศธาตุเจดีย์นั้นแล ในเมื่อธาตุเจดีย์เสร็จพร้อมทุกอันแล้ว พระยาก็ให้ฉลองเจดีย์มีเครื่องพร้อมทุกอัน กระทำบูชาอยู่ถ้วย ๗ วัน ๗ คืน...”
สมัยพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ ๓๒ แห่งจามเทวีวงศ์ จึงได้สร้างวัดพระธาตุหริภุญชัยขึ้นเป็นศูนย์ศาสนสถานอันยิ่งใหญ่แห่งล้านนาไทยอีกครั้งหนึ่ง