แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 1713|ตอบ: 0
go

อานุภาพของศีล ๕ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

ท่านอาจารย์ อัจฉราวดี วงศ์สกล

อานุภาพของศีล ๕

ด้วยพระบารมีแห่งความเป็นผู้รู้แจ้งของพระพุทธองค์ ไม่น่าเชื่อเลยว่า พระองค์จะทรงบัญญัติหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้ลึกซึ้ง ด้วยหลักธรรมเพียง ๕ ข้อ
เป็น ๕ ข้อที่จำง่ายที่ให้ทั้งพลังและศิลปะในการดำเนินชีวิต ชาวพุทธล้วนท่องจำได้ขึ้นใจ ใครๆก็รู้แล้ว แต่ไม่ให้ความใส่ใจ เรามุ่งแสวงหาแต่บทธรรมที่เชื่อว่าจะเกื้อ--ลชีวิตได้ ศีล ๕ กลายเป็นเพียงธรรมให้เด็กท่องจำกันในโรงเรียน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ได้แต่รับรู้ แต่ไม่ปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบไว้ว่า
*“คนเรียนธรรมะเพียงเพื่อจะยกโทษผู้อื่น และเพื่อเปลื้องวาทะของผู้อื่น จึงไม่ได้ประโยชน์ของการเรียน ธรรมะที่เรียนไม่ดีจึงเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เปรียบเหมือนคนต้องการงูพิษ แต่จับไม่ดี ก็อาจถูกงูกัดตายหรือปางตาย ส่วนคนที่เรียนดี พิจารณาความหมาย ก็ได้รับประโยชน์จากการเรียนเหมือนคนต้องการงูพิษ จับงูพิษดีก็ไม่ถึงกับความตาย”
** ”..ผู้ที่มีศรัทธาน้อย เมื่อถูกสอนให้ละความประพฤติก็จะกล่าวว่า จะมาละอะไรกัน  กล่าวว่าสิ่งนั้นยากนักที่จะละ เหมือนนางนกไส้ ซึ่งถูกผูกไว้ด้วยเถาไม้ ก็ผูกไว้อยู่นั่นจนถึงแก่ความตาย แต่ผู้มีศรัทธามาก เมื่อพระพุทธองค์สอนให้ละ ก็ยินดีที่จะละ เปรียบเหมือนช้างสงครามของพระราชา ที่สามารถสละเครื่องผูกที่ทำด้วยหนังอย่างมั่นคง ให้ขาดเสียได้”
คนที่ตกอยู่ในอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ เมื่อถูกสั่งสอนให้อยู่ในธรรม ให้ละเว้นการเบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น ก็ไม่พึงพอใจกับการต้องละเว้น กลับยินดีกับการผูกมัดตนไว้ด้วยความเห็นผิดจนตายไป ต่างกับผู้ที่มีศรัทธาในความดี พยายามแก้ไขดึงตนเองจากความหลงผิดมาสู่หนทางที่ถูกต้อง เมื่อจะตายก็ตายเช่นผู้มีปัญญา

ความสมปรารถนา ที่ยากจะสำเร็จ
*** พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงสิ่งที่ยากจะสมหวัง ๔ ประการคือ
๑.   ขอให้มีทรัพย์
๒.   ขอให้มียศ
๓.   ขอให้อายุยืน
๔.   ขอให้ตายไปแล้วสู่สุคติโลก
และทรงแสดงข้อปฏิบัติที่จะทำให้สำเร็จสมประสงค์ ๔ ประการคือ
๑.   ถึงพร้อมด้วยความเชื่อ
๒.   ถึงพร้อมด้วยศีล
๓.   ถึงพร้อมด้วยการบริจาค
๔.   ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ความหวังอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งมวล จะมีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ก็ด้วยศรัทธาที่ถูกต้อง ศรัทธาทำให้จิตยึดมั่นในศีล เมื่อศีลมั่นคงก็ทำให้ความเห็นผิดคลาย จิตเปี่ยมด้วยความเมตตาเกิดเป็นความยินดี ในการบริจาค ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้เพิ่ม มีความเห็นว่าผิดคือผิด ถูกคือถูก จึงถึงพร้อมด้วยปัญญา
ผู่ที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นผู้ที่ศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย ผู้ที่ประพฤติอยู่ในศีล เป็นทางไหลมาของบุญกุศล
ดังคำสวดที่ว่า ศีเลนะ สุคติง ยันติ      ศีลนำมาซึ่งคสามสุข
         ศีเลนะ โภคะ สัมปทา      ศีลนำมาซึ่งโภคทรัพย์
         ศีเลนะ นิพพุติง ยันติ      ศีลนำมาซึ่งนิพพาน
ผู้มีศีล ย่อมมีแต่ความสุข สงบ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปสู่สุคติ คือ สวรรค์ พบภูมิที่มีแต่ความรื่นรมย์
ผู้มีศีล ทำสิ่งใดก้เกิดเป็นกุศล เพราะไม่มีแรงกรรมมาตัดรอน ศีลจึงนำมาซึ่งโภคทรัพย์และอริยะทรัพย์
ผู้มีศีล ก็คือผู้ที่มีปัญญาพาตัวเองไปสู่ความหลุดพ้น ศีลจึงเป็นขั้นต้นพาไปสู่นิพพาน

ความวิบัติ ๓ ประการ
พระพุทธองค์ทรงแสดงวิบัติ ๓ ประการคือ ความวิบัติแห่งศีล วิบัติแห่งจิต วิบัติแห่งทิฏฐิ (ความเห็น)   
วิบัติแห่งศีล คือ ผู้ที่ประพฤติกายทุจริต ๓ คือ ฆ่า การแย่งชิงทรัพย์ที่เขาไม่ให้ การละเมิด คบชู้
วจีทุจริต ๔ คือ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเบียดเบียน เพ้อเจ้อหยาบคาย
วิบัติแห่งจิต คือ การมีความโลภ การคิดปองร้าย
วิบัติแห่งทิฏฐิ คือ การเห็นผิดทำนองคลองธรรม เช่น ผลบุญผลบาปไม่มี
วิบัติ ๓ ประการนี้เป็นเหตุให้ไปสู่ อบาย ทุคคติ วินิบาต นรก
•   อบาย คือ ความเป็นอยู่ที่ปราศจากความเจริญ แบ่งออกเป็น ๔ คือ นรก กำเนิดเดรัจจฉาน เปรต และอสุรกาย
•   ทุคคติ คือ คติไปในทางชั่ว
•   วินิบาต คือ พวกที่ตกต่ำ ได้แก่ เปรตชั้นสูง คือได้รับความสุขสลับกับความทุกข์
•   นรก คือ ถพภูมิที่มีการลงโทษ ได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน

หลวงปู่จันทา ถาวโร ได้เล่าถึงครั้งที่ได้สนทนากับนายนิรยบาลในนรก ท่านถามว่านรกนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ประการใด ก็ได้รับคำตอบว่า มีแต่ทุกข์ หาสุขไม่มี ที่ทุกข์ก็เพราะถูกต้มด้วยน้ำร้อน ถูกสังหารด้วยหอกด้ามกล้า พร้าด้ามคม หลวงปู่ท่านถามต่อว่า ในเมืองไทยนี่คงจะตกนรกด้วยกันทุกคนใช่มั้ย ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และศีลธรรมนั้นไม่ได้ไปลงนรก

หลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวันท่านเทศน์ไว้ว่า ผู้ที่ประกอบกรรมผิดศีลมาเกิดมากกว่า ๖๐ เปอร์เซนต์ ก็จะได้รับผลของกรรม ดังนี้
ศีลข้อ ๑ ฆ่าและเบียดเบียน เกิดมาถูกฆ่า ง่อยเปลี้ยเสียขา
ศีลข้อ ๒ ถูกจี้ ปล้น ไฟไหม้บ้าน
ศีลข้อ ๓ มีภรรยา มีสามี สามีหรือภรรยาก้มีชู้ หรือตกเป็นของผู้อื่น
ศีลข้อ ๔ ถูกโกหก หลอกลวง
ศีลข้อ ๕ ปัญญาอ่อน หรือวิกลจริต

ศีล คือหลักชัย
ศีล เป็นเบื้องต้นของหลักธรรมแห่งการเรียนรู้ คือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล คือเส้นทาง อริยมรรค เพื่อการหลุดพ้นอันประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
ผู้ใดมีศีล ผู้นั้นคือผู้ที่มีรากแก้วชีวิตที่แข็งแรง เป็นเครื่องส่งให้ต้นไม้เติบโตแตกกิ่งก้านสาขา และแม้คราใดจะโดนพายุฝนพัดกระหน่ำบ้าง ก็ไม่ถึงกับโค่นล้มลง
ต้นไม้จะงามได้ ผู้ปลูกต้องรดน้ำที่โคนต้นไม้
ดอกไม้จะงามได้ ผู้ปลูกต้องรดน้ำที่โคนต้นเช่นกัน
ในการสงคราม ก่อนจะมุ่งหน้าสู่สนามรบ ฐานที่ตั้งต้องมั่นคงก่อน หากแพ้กลับมา ก็ยังมีฐานรองรับให้กลับมาทำศึกใหม่
คนไม่มีศีล ก็คือคนไม่มีฐาน แพ้แล้วแพ้เลย ล้มแล้วก็จมเลย คนมีศีล ล้มสิบครั้งชนะได้ร้อยครั้ง เพราะมีศีลเป็นกำลังส่ง มีศีลเป็นหลักชัย มีศีลก่อนจะสาย ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ทำก็ได้แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก่อนจะสายเกินกาล
คนมีศีล ไปที่ไหนก็สูงสง่า หมู่ชนย่อมสรรเสริญ คนมีศีลและพัฒนาปัญญาด้วย เปรียบได้ดั่งปราสาทที่มีรากฐานแน่นและมียอดปราสาทที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ชนใดได้เห็นก็กล่าวสรรเสริญ ดุจคำตรัสของพระพุทธองค์ที่ว่า...
ผู้บริบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ

เนื้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ “มีศีล...ก่อนจะสาย”
โดยอาจารย์ อัจฉราวดี วงศ์สกล

*ที่มา : อลคัททูปมสูตร คัดจาก พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๓๘๕
**ที่มา : ลฑุกิโกปมสูตร สรุปความจาก พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๔๒๙
*** ที่มา : ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ คัดจากพระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๕๒๕

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 03:39 , Processed in 0.074294 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.