พระบรมธาตุเจดีย์ วัดข้าวแท่นหลวง บรรจุพระบรมสารีิริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะ
ตำนานวัดข้าวแท่นหลวง
(แหล่งที่มา: พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๙ กรกฎาคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๒ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๒๒๒-๒๒๔.)
"ในสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา ขณะทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ในป่าอิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี พระองค์ทรงรำพึงถึงการเสด็จไปในประจันตคาม เพื่อจักได้อธิษฐานไว้ธาตุและศาสนา ด้วยเหตุว่าอายุแห่งเราใกล้จะนิพพานแล้ว
ครั้นแล้วพระพุทธองค์ด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป อันมี พระอานนท์ เป็นต้น พร้อมกับพระยาอโศก (เจ้าเมืองกุสินาราย) ก็ได้เสด็จมาตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย จนกระทั่งเสด็จเลียบขึ้นมาตามฝั่งแม่ระมิงค์ (แม่ปิง) ถึง ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
หลังจากเสด็จไปบนดอยสุเทพแล้ว จึงทรงประทานพระเกศา ๘ เส้น ประดิษฐานไว้ใน มหาอาราม ๘ แห่ง รอบเมืองเชียงใหม่ จากนั้นจึงเสด็จไปบรรทมเหนือ ดอยขอนไม้ม่วง (เป็นที่ พระนอนขอนม่วง อ.แม่ริม)
แล้วจึงเสด็จสู่ทิศตะวันออกทรงสรงน้ำที่แม่ระมิงค์ แล้วก็ไปนอนในป่าแพร่งและได้มาสู่ทิศเหนือเพื่อมาบิณฑบาตในยามเช้านั้น หมอกก็ตกลงมามากนัก พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า สถานที่นี้จักปรากฏว่า บ้านยางหมอก
ในขณะนั้น ยังมีพ่อนาผู้หนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาบิณฑบาต จึงเกี่ยวเอาต้นข้าว คือฟางมาปูเป็นอาสนะ แล้วอาราธนาให้พระพุทธเจ้าประทับนั่ง แล้วถวายข้าวน้ำโภชนาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
.ในขณะนั้น ยังมีเทพบุตรองค์หนึ่งได้เข้ามาไหว้พระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้ตรัสว่า สถานที่นี้จักเป็นที่ตั้งพระศาสนาแห่งตถาคต ขอให้ช่วยรักษากับทั้งบ้านเมืองนี้ด้วย อันว่าท่านได้อุปัฏฐากรักษาศาสนา ก็เป็นดั่งได้รักษาอุปัฏฐากตถาคต ทรงมีพระบัญชาดังนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์ต่อไปว่า
“ตถาคตมาถึงที่นี้ พ่อนาเอาต้นข้าว (ฟาง มาปูให้ตถาคตนั่ง ภายหน้าบ้านยางหมอกที่นี้ เขาจักเรียกว่า บ้านข้าวแท่น ภายหน้าบ้านนี้จักสัมฤทธิ์ด้วยข้าวมากนักแล...”
จาก พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก
“เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจาก ดอยสุเทพ แล้ว พระองค์ก็เสด็จไปบรรทมที่ดอยลูกหนึ่ง ณ ที่นั้น ยังมีต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ข้างทางทิศตะวันตกที่พระพุทธไสยาสน์นั้น (น่าจะเป็นพระนอนขอนม่วง) กิ่งไม้ได้หักตกลงมาในที่นั้น
พระสารีบุตรเห็นเช่นนั้นจึงทูลว่า ภันเต ภควา ข้าแด่พระพุทธเจ้า กิ่งไม้ที่หักลงมานั้น เพราะเหตุอันใดหนอพระเจ้าข้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อน สารีบุตร หลังจากตถาคตนิพพานไปแล้ว พระธาตุตถาคตจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ จักเจริญรุ่งเรืองเป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย จักปรากฏชื่อว่า “ดอยพระนอน”
เมื่อตรัสพยากรณ์เช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปถึงแม่น้ำระมิงค์ แล้วเสด็จลงสรงในแม่น้ำนั้น เมื่อชำระพระวรกายแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้าประทับยืนอยู่ ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร สถานที่นี้ต่อไปจักได้ชื่อว่าท่าพระเจ้าอาบน้ำ ต่อไปภายหน้าจักแปรเปลี่ยนเป็น ท่ากาบกว้าง (ใกล้วัดบ้านเด่น ครูบาเทือง)
จากนั้นก็เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นไปถึงที่แห่งหนึ่ง ในที่นั้นมีนก ๒ ตัว ตัวหนึ่งบินมาจากทิศใต้ ตัวหนึ่งบินมาจากทิศเหนือ นกทั้งสองตัวบินมาประสบกัน ณ ที่นั้น และพอดีกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่นั้นเช่นกัน
นกทั้งสองตัวมีความยินดีเป็นอันมากจึงส่งเสียงร้องว่า “สาสา” ตามภาษาแห่งนก พระพุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์ว่า ที่ตรงนี้ต่อไปภายหน้าจักได้ชื่อว่า “สบสา” (ปัจจุบันนี้ คือที่ “ปากแม่น้ำสา” เขตอำเภอแม่ริม)
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปถึงต้นไม้ยางต้นหนึ่ง ในสถานที่นั้นยังมีน้ำค้างและหมอกตกลงมาจนครึ้มมืดไปหมด พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้ประทับหยุดอยู่ที่นี้ก่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงเสด็จเข้าไปสู่ร่มไม้ยาง แล้วตรัสแก่พระสารีบุตรว่า
“ดูก่อนสารีบุตร หลังจากตถาคตนิพพานไปแล้ว ธาตุของตถาคตจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ จักเป็นจำเริญรุ่งเรืองยิ่งนัก ต่อไปภายหน้าเมื่อต้นยางต้นนี้ตายไปแล้ว ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งจักปรากฏขึ้นแทน สถานที่นี้จักได้ชื่อว่า “ยางหมอก”
ประวัติวัดข้าวแท่นหลวง
(แหล่งที่มา : ป้ายประวัติข้าวแท่นหลวง วัดข้าวแท่นหลวง)
วัดข้าวแท่นหลวง มีประวัติที่ยาวนานเล่ากันว่า วัดนี้แต่เดิมชื่อ วัดยางหมอก ที่ตั้งวัดนี้ชื่อบ้านยางหมอก พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตในหมู่บ้านยางหมอกแห่งนี้ ขณะนั้นพ่อนาซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ในนา เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาจึงวางธุระในการเก็บเกี่ยวข้าวของตนเอง ตรงเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าพร้อมกับนำฟ่อนข้าวถือติดมือไปปูเพื่อให้พระพุทธองค์ประทับนั่งและถวายบิณฑบาต
พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพ่อนาว่า “ที่บ้านยางหมอกแห่งนี้ต่อไปภายภาคหน้าจะได้ชื่อว่าบ้านข้าวแท่น” เพราะว่าพ่อนานำฟ่อนข้าวมาทำเป็นบัลลังก์ให้พระพุทธองค์ประทับนั่ง ที่เรียกว่า วัดเข้าแท่นหลวง เพราะในหมู่บ้านแห่งนี้มีอยู่ ๒ วัด คือ วัดข้าวแท่นหลวง และวัดข้าวแท่นน้อย
ลำดับเจ้าอาวาส วัดข้าวแท่นหลวง ดังนี้
- ก่อนหน้านี้ไม่ทราบเพราะไม่มีหลักฐาน
๑. พระอธิการหน้อย มหาวัณโณ
๒. พระอธิการแก้ว จันทธัมโม
๓. พระอธิการบุญมา สิริธัมโม
๔. พระอธิการอภิวงศ์ อภิวโส
๕. พระอธิการแก้ว สุรตโน
๖. พระปลัดบุญปั๋น สุวัณณธัมโม
๗. พระครูสันติยานุสาสน์ (อิ่นคำ อินทนันโท) พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๕๔๖
๘. พระครูโกศลธรรมวิจัย (สุวรรณ ธัมมวิจาโร) พ.ศ. ๒๕๔๗ – ปัจจุบัน
ประวัติวัดข้าวแท่นหลวง
(แหล่งที่มา : พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๙ กรกฎาคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๒ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, หน้า ๒๒๕.)
กล่าวว่า "พระเจดีย์ได้สร้างครอบฟ่อนข้าวและเม็ดข้าวที่ “พ่อนา” นำมาปูเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้าประทับนั่ง และได้บรรจุของมีค่าไว้มากมาย ได้บูรณะกันมาถึง ๔ ครั้งแล้ว
นอกจากนี้ภายในวิหารก็ยังมีพระประธานองค์หนึ่ง สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๔๑ มีชื่อเรียกกันว่า พระพุทธมหาวัณโณ ตามฉายาของพระผู้สร้างคือ พระอธิการน้อย มหาวัณโณ โดยท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐานตัดปลายนิ้วชี้มือขวา บรรจุอยู่ในหัวใจพระพุทธรูปองค์นี้ ก่อนที่ท่านจะออกไปหาทุนมาติดกระจกองค์พระให้เสร็จ แต่ท่านก็ไปเสียชีวิตที่เชียงแสนก่อน วัดนี้ก็เจริญรุ่งเรืองตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้"
เดี๋ยวเรามากราบนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ วัดข้าวแท่นหลวง พร้อมกันเลยนะคะ
นะโม ตัสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหิสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย วันทามิทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา ฯ
ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่งข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อมบูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม และพระอริยสงฆ์ ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพาน แม้ต้องเกิดในทิพย์จุติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร ห่างไกลจากพาล มีโอกาสฟังธรรมประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ กรรมใดๆ ที่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายในอดีตชาติก็ตามปัจจุบันชาติก็ตามกราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ขออุทิศกุศลผลบุญให้แด่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้นจงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์และมีความสุขฯ ทั่วกันทุกท่านเทอญ