พระพุทธรูปอุ่นเมือง หรือ หลวงพ่ออุ่นเมือง ประดิษฐานภายในวิหาร วัดน้ำฮู
พระพุทธรูปอุ่นเมือง หรือ หลวงพ่ออุ่นเมือง วัดน้ำฮู
เป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม ปางมารวิชัย ประทับนั่งแบบขัดสมาธิราบบนฐาน ศิลปะเชียงแสน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว สูง ๓๐ นิ้ว ไม่มีประวัติบันทึกการสร้างอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
มีพุทธลักษณะไม่เหมือนพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไปคือ ส่วนพระเศียรกลวง ที่พระเศียรขององค์พระมีพระเกศโมลีครอบ จะทำพระเกศโมลีเป็นฝาเปิดออกได้ โดยการยกพระเกศโมลีออกจะเห็นภายในพระเศียรเป็นช่องกว้างประมาณ ๓ นิ้ว และมีน้ำซึมออกมาตลอด เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองปาย
พระนามหลวงพ่ออุ่นเมือง ตั้งชื่อโดย นายอาณัติ บัวขาว นายอำเภอปาย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ความหมายคือ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นมิ่งขวัญให้ประชาชนอำเภอปายอุ่นอกอุ่นใจ
คำบูชาหลวงพ่ออุ่นเมือง
(ตั้งนะโม ๓ จบ) อะหัง วันทามิ พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิ สัพพะโส อะหัง วันทามิ สัพพะทา ตัสเสวานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เมฯ
ประวัติหลวงพ่ออุ่นเมือง วัดน้ำฮู
จาก เอกสารบรรยายสรุปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หลวงพ่ออุ่นเมือง เป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว สูง ๓๐ นิ้ว ส่วนพระเศียรกลวง มีพระเกศโมลีครอบ ไม่มีประวัติบันทึกการสร้างอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกับสถูปเจดีย์ซึ่งอยู่หลังวิหาร ได้รกร้างอยู่เป็นเวลานาน
ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ผู้ใหญ่ทอน และนายเห็งพงษ์ พงษ์คำเต็ม พร้อมด้วยชาวบ้านน้ำฮู ได้สร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งอยู่โคนต้นไม้ พร้อมด้วยซากปรักหักพังของเจดีย์
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ พระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้นำคณะศิษยานุศิษย์เดินธุดงค์มายังอำเภอปาย ได้มาเห็นสภาพทรุดโทรมของวัดและได้พบพระพุทธรูปดังกล่าว จึงได้สร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังวิหาร ๑ องค์
ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มีพระธุดงค์จากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาพักที่วัด ได้สังเกตเห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นโพรง พระโมลีถอดได้ และในโพรงนั้นมีน้ำขังอยู่เต็ม จึงสอบถามชาวบ้านและเจ้าอาวาสก็ไม่มีใครทราบมาก่อน เป็นที่เล่าลือกันอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่มีใครกล้าพิสูจน์ความจริง
ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ร.อ.ประเสริฐ เรียมศรี นายอำเภอปาย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการอำเภอปาย ได้ร่วมทำการอธิษฐานขอพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยความร่วมมือจากเจ้าอาวาสและศรัทธาได้ตักน้ำออกจากพระเศียรทั้งหมด ใช้สำลีเช็ดจนแห้งสนิท ทำการปิดพระเศียร ผูกเชือกประทับตราครั่ง ปิดหน้าต่างประตูทุกบาน ห้ามคนเข้าออก กำหนดเวลา ๕ วัน เมื่อครบกำหนด ได้ทำการเปิดต่อหน้าคณะกรรมการทำการพิสูจน์ชุดเดิม ผลปรากฏว่ามีน้ำขังในเศียรของพระพุทธรูปจริง นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ตั้งแต่นั้นมาก็มีประชาชนทั่วทุกสารทิศได้เข้ามากราบไหว้มิได้ขาด
ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ นายอาณัติ บัวขาว นายอำเภอปาย ได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่ออุ่นเมือง” เป็นมิ่งขวัญให้ประชาชนอำเภอปายอุ่นอกอุ่นใจ
ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ คนร้ายไม่ทราบจำนวน ได้ลักลอบขุดเจาะผนังวิหารทางด้านทิศใต้ เข้าไปขโมยสิ่งของเงินทองในวิหาร ทางวัดและศรัทธาจึงได้นำหลวงพ่ออุ่นเมืองขึ้นไปประดิษฐานไว้บนศาลาการเปรียญ เพราะเกรงขโมยจะลักเอาพระพุทธรูป อีกทั้งวิหารก็ชำรุดทรุดโทรม การย้ายมาอยู่ในที่ใหม่ ทำให้น้ำในพระเศียรของพระพุทธรูปลดน้อยลง บางครั้งเหือดแห้งหายไป ประชาชนที่เคารพกราบไหว้ก็น้อยลง
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่สมบัติ คุเณสโก วัดก้ำก่อ และนายประมวล รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มาเยี่ยมอำเภอปายและได้มานมัสการหลวงพ่ออุ่นเมืองที่วัดนี้ เจ้าอาวาสและศรัทธาวัดได้แจ้งให้ทราบ หลวงพ่อสมบัติ จึงได้ตรวจสอบทางสมาธิ ทราบว่าการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปออกจากวิหารเดิมผิดเจตนารมณ์ของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่วิหารเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้มีมติให้รื้อถอนทำการปลูกสร้างวิหารใหม่ โดยคงรูปแบบวิหารของพระครูบาเจ้าศรีวิชัยเดิม ได้รับจัดหาทุนดำเนินการก่อสร้าง ครั้งแรกมีผู้ร่วมบริจาคเป็นเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท
ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ พลโทวิเชียร วิชัยวัฒนะ พร้อมด้วยครอบครัวและคณะ รับเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างวิหาร โดยการนำกฐินมาทอดเพื่อเป็นทุนดำเนินการก่อสร้างวิหารใหม่จนสำเร็จ และได้หลวงพ่ออุ่นเมืองไปประจำในวิหาร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองปายต่อไป น้ำที่มีอยู่ในพระเศียรก็ยังคงมีอยู่เป็นที่น่าอัศจรรย์ถึงปัจจุบัน
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารบรรยายสรุปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับความอนุเคราะห์เอกสารจาก ปลัดอำเภอจักรพันธ์ุ ทองอ่ำ (ปลัดอำเภอปาย พ.ศ.๒๕๔๗))
ประวัติวัดน้ำฮู (รู)
เรียบเรียงโดย พระชัยวัฒน์ อชิโต
หนังสือตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๑
วัดน้ำฮู ซึ่ง ครูบาศรีวิชัย ได้มาสร้างพระวิหารและพระเจดีย์เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง มีนามว่า "พระอุ่นเมือง" ซึ่งชาวเมืองปายมีความเคารพเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปายมานานแล้ว
และมีพระพุทธลักษณะไม่เหมือนพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป คือที่พระเศียรขององค์พระ จะทำพระเกศเป็นฝาเปิดออกได้ โดยการยกพระเกศออก จะเห็นภายในพระเศียรเป็นช่องกว้างประมาณ ๓ นิ้ว และมีน้ำซึมออกมาตลอด เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้
เจ้าอาวาสได้เล่าว่า มีนายทหารผู้หนึ่งมียศเป็นพลโท ได้มาอธิษฐานดื่มน้ำในพระเศียรแล้วหายจากโรคอัมพฤกษ์ ต่อมาจึงได้จัดผ้าป่ามาช่วยบูรณะพระวิหารจนแล้วเสร็จ นี่คงเป็นผลจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระอุ่นเมือง
ท่านได้เล่าต่อไปว่า พระพุทธรูปองค์นี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเพื่ออุทิศถวายให้แก่ พระพี่นางสุพรรณกัลยา ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีพม่า เพื่อเป็นการแก้แค้นที่พระพี่นางถูกปลงพระชนม์ ขณะที่ยกพลมาถึงเมืองปาย พระพี่นางได้มาเข้าฝันพระองค์ว่า อย่าไปทำสงครามเลย จะเกิดความเสียหายทั้งสองฝ่าย ขอให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ดีกว่า ต่อมาจึงได้นำพระอัฐิและเส้นพระเกศาของพระพี่นางมาจากพม่า แล้วได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์หลังพระวิหารนี้
เจ้าอาวาสท่านเล่าเสริมว่า แต่ก่อนนี้มีการพิสูจน์กันว่า พระพุทธรูปองค์นี้จะศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ หรือว่าใครเป็นผู้เอาน้ำมาเติมไว้อยู่เสมอ จึงได้แต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่งเป็นสักขีพยาน จากนั้นก็ตักน้ำในพระเศียรออกจนหมด แล้วทำการปิดพระเศียร ผูกเชือกประทับตราครั่ง ทั้งที่ประตูหน้าต่างวิหารทุกบาน ถ้าใครเปิดผ่านเข้าไปก็จะรู้ได้ทันที แล้วรอไปจนครบ ๕ วัน
คณะกรรมการจึงได้ตรวจสอบประตูหน้าต่างเสียก่อน ว่ามีใครเปิดเข้าไปหรือไม่ แล้วถึงจะเปิดพระเศียรขององค์พระ ปรากฏว่าทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยการเปิดเข้าไปอย่างแน่นอน เมื่อเปิดดูภายในพระเศียร ปรากฏว่ามีน้ำขังเต็มเหมือนเดิม ทุกคนจึงเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์จริง ใครจะนำไปไว้ที่ไหนก็ไม่ได้ จะต้องมีเหตุต้องนำกลับวัดน้ำฮูไปในที่สุด
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พระชัยวัฒน์ อชิโต สำนักงานธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี. (๒๕๔๙, ๑ มกราคม). ตามรอยพระพุทธบาท ฉบับรวมเล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์, ๓๐๘-๓๑๐.)
ภาพถ่ายวิดีโอตอนยกพระเกศโมลีหลวงพ่ออุ่นเมืองออก ภายในวิหาร วัดน้ำฮู
คือ พระเศียรเป็นโพรงกลวง เป็นช่องกว้างประมาณ ๓ นิ้ว มีพระเกศโมลีเป็นฝาเปิดออกได้ และมีน้ำซึมออกมาตลอด ทำให้มีน้ำเต็มโพรงพระเศียรอยู่เสมอ
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพระพุทธรูปอุ่นเมือง (หลวงพ่ออุ่นเมือง) วัดน้ำฮู
ทางวัดจะตักน้ำในพระเศียรของหลวงพ่ออุ่นเมืองออกมาผสมกับน้ำธรรมดาเก็บไว้ในวิหาร ให้ศรัทธาญาติโยมผู้มาเยือนได้ตักมาดื่มและประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล และทางวัดจะมีขวดพลาสติกเปล่าไว้บริการ เพื่อใส่น้ำมนต์กลับบ้านด้วย