แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: UMP
go

"ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรม ณ บ้านลานเสียงธรรม ซ.นาคนิวาส 40 ลาดพร้าว 71 กรุงเทพฯ  26 - 28 ก.พ. 59" [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

"ทำไมต้องสอบอารมณ์ทีละคน"

มีคนถามเราว่า...ทำไมคุณแม่ต้องสอบอารมณ์ทีละคน ให้รวมกลุ่มกันคุยไม่ได้หรือ และการสอบอารมณ์เป็นอย่างไรเหมือนคุยปกติไหม 

คุณแม่ท่านบอกเสมอ ผู้สอบอารมณ์นั้นจำเป็นมากสำหรับผู้ที่ยังเดินทางอยู่ เห็นชัดจากตัวเอง ตอนแรกไม่ได้คุยกับท่าน ตอนนั้นเริ่มไปปฏิบัติเองที่วัดใกล้บ้าน มีแต่ความตั้งใจแต่ยังไม่มีหนทาง พอเริ่มเดินแบบเอาจริง กลับพบปัญหาว่า เดินแบบเดิมที่ทำมานานแล้ว ไม่ทำให้เราสงบลงได้เลย ยิ่งเดินยิ่งคิด 

การเดินจงกรมแบบไหนหนอ ที่เหมาะกับเรา ใครจะให้คำตอบเราได้ พระที่วัดท่านก็บอกให้เดินแบบปกติ แต่ในใจเรารู้สึกว่าไม่ใช่ เมื่อมีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ ท่านจึงบอกลองแบบนี้สิ เมื่อลองแล้วเห็นผล เราจึงโทรหาท่านอีก คราวนี้ท่านจะมีคำถามให้เราไปสังเกตดู เช่น เสียงมาหาหู หรือ หูไปหาเสียง ท่านมีวิธีสอนให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้า ไม่ไปตามความคิดที่ฟุ้งซ่าน 

เมื่อได้เริ่มปฏิบัติจริง เราจะมีทั้งสิ่งที่จะเล่าให้ท่านฟังและสิ่งที่จะถามท่าน ล้วนแต่เรื่องที่เกิดบนทางจงกรมหรือนั่งสมาธิ  โดยเฉพาะเริ่มแรกที่นั่งสมาธิแล้วหายเงียบสงบ เรานึกว่าดี เป็นอย่างนั้นอยู่ 2 อาทิตย์ จนมีโอกาสถามท่านจึงหลุดมาได้ เมื่อมาเจออาการโงกง่วงก็ท่านอีกที่ให้คำแนะนำ 

ท่านบอกเสมอผู้สอบอารมณ์สำคัญที่สุด หากเจอผู้ที่ชี้นำได้ถูกทาง เราก็จะเดินทางพ้นจากทุกข์ได้เร็ว เป็นบุญของเราที่มีโอกาสได้คุยกับท่าน ในช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงปี ความทุกข์ใจที่มีมานานหลายปีมะลายหายไปสิ้น มองไปข้างในเราเห็นเพียงใจว่างเปล่า ไม่มีใครหรือสิ่งใดอยู่ในนั้นอีก                       

  

Rank: 1

"เวลาสอบอารมณ์คุณแม่ ถามอะไรบ้างค่ะ"


"แม่จะถามว่าเป็นยังไง กำหนดบริกรรมอะไร กำหนดแล้วรู้ยังไง รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกไหม ถ้าเขาบอกว่าหายใจเข้าพุท หายในออกโธ แล้วมันยาวหรือว่ามันหยุดอยู่อึดใจกว่ามันจะออก"

"แล้วหูได้ยินเสียง กำหนดได้ยินไหม รู้ไหม เวลามีร้อนอ่อนแข็งเข้ามาถูกกาย ร้อนเย็นรู้ไหม บางคนบอกรู้ บางคนบอกหนูไม่รู้ไม่สังเกต แม่ก็บอกให้ไปสังเกตนะ "

"ถ้าเขาบอกว่าหูได้ยินเสียง  แม่ก็ถามว่าแล้วหูไปหาเสียงหรือเสียงมาหาหู เขาตอบ เอ้...หูไปหาเสีบง แม่ก็ตอบว่าลังเลไม่ได้ไปดูใหม่"

"สมมุติเขาเอาพุทโธ เวลาเขาเดินขวาพุทโธอะไรเป็นผู้พาก้าวล่ะ แม่ก็จะสอนให้เขามีสติปัญญาไหวพริบ บางคนบอกจิตมันพาก้าว แล้วถ้ากายไม่ก้าวมันจะไปไหม จิตมันสั่งถ้ากายไม่กระดุกกระดิก ไม่เคลื่อนไหว แค่จิตมันสั่งได้ไหม อันนี้กายเป็นผู้เคลื่อนไหวใช่ไหม จิตเป็นผู้รับรู้ว่ากายนี้เป็นผู้เคลื่อนไหวใช่ไหม ในร่างกายมีแต่กายกับจิตใช่ไหม อะไรก็ได้ เราก็จะมีวิธีบอกเขา แต่จะถามก่อน"

"ลมหายใจเข้ารู้ไหม หายใจเบา หายใจอ่อน เหมือนไม่มีลมหายใจ มันเงียบไป มีสติรู้ไหม บางคนบอกไม่รู้เลย อย่างนั้นสติไม่มีนะ"


Rank: 1

"คุณแม่ฝึกผู้ปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทันจิตอย่างไรค่ะ"

ก็ให้เขามีสติก่อนที่จิตจะทำงาน จะคิด จะพูด จะย่าง จะเหยียบ ก็ให้มีสติรู้เสียก่อน ให้สติกับจิตไปพร้อมกัน แม่ก็ให้กำหนดไปตามอาการทั้งที่กายและใจ จะหนอหรือพุทโธแล้วแต่เขา ให้กายที่เคลื่อนไหว จิตที่รับรู้ และคำบริกรรมตรงกัน

คนที่เอาพุทโธ แม่ก็บอกให้มีสติให้รู้เท่าทัน พอบริกรรมว่าพุท จิตจะทำงานก็ให้สติรู้ก่อน พุทโธก็ให้ตรงเหมือนกัน สัมผัสให้รู้เหมือนกัน แต่เขาบริกรรมว่าพุท มีสติรู้ว่าตัวเองยกขาขึ้น จิตรับรู้ว่าเท้ายกขึ้น หน่วงมั้ย หนักมั้ย เวลาเอาขาลง โธก็ให้ถึงพื้น จิตกับสติก็พร้อมกัน

คนที่ไม่มีคำบริกรรม ก็ให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบ ให้รู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไป เราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าพยายามที่จะระงับ มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย ถ้าคิดตาม มันก็ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย

จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล


Rank: 1

"หนูรู้เท่าทันอารมณ์ หนูเอาจิตตามรู้ หนูไม่กำหนดอะไร ได้ไหมค่ะ"

ได้ แต่ให้เธอรู้เท่าทันว่า จิตโกรธ จิตเกลียด นานกี่นาที มันวิ่งออกไปแล้วเราออกไปกับมันมั้ย หรือว่าเราพยายามที่จะระงับมัน มีสติยับยั้งหรือคิดตามไปเลย

ถ้าคิดตาม อันนั้นมันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะเราไปปรุงแต่งด้วย จะเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อรู้ว่าตัวเองปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน คิดตามอารมณ์ตัวเองแล้ว อันนั้นมีสติยับยั้งตัวเอง...โอ อันนี้ไม่ใช่ มันจะทำให้ตัวเองฟุ้งซ่าน มันจะทำให้ตัวเองจิตเป็นอกุศล...อย่างนี้ถือว่า รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามันเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเป็นเรื่องไม่ใช่อกุศลก็คิดเพลิน อยากมีรถให้มันสำเร็จ อยากมีบ้านอย่างนั้นอย่างนี้ คิดปรุงแต่ง มันไม่ใช่อกุศลเพราะไม่ได้ไปอิจฉาใคร ทีนี้ถ้าเราไปหลงกับมัน แปลว่าตามใจกิเลสเรา ตามใจความอยาก แต่เราไม่มีสติคุม มันก็หลงอารมณ์ ก็เพลิดเพลิน อันนั้นก็ไม่ใช่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันคิดหลงไปกับอารมณ์

แต่ถ้าคิดมาก วกวนไปวกวนมา ไม่ได้ดั่งใจเรา มันก็ทุกข์ มันชอบอยากให้เป็นไปตามนั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นมันก็ไม่ชอบ มันก็เลยน้อยอก น้อยใจ เสียใจ เศร้าโศกไปก็เป็นทุกข์ นี่มันเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เลยไม่อยากให้คิดตาม ให้เอาปัจจุบันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ


Rank: 1

"เวลานั่งสมาธิ ควรกำหนดอย่างไรค่ะ"

ผู้ที่บริกรรมพุทโธ หายใจเข้าก็จับดูพุท หายใจออกก็โธ 
ผู้ที่พอง หายใจเข้าก็ดูอาการท้องพอง หายใจออกก็ดูอาการท้องยุบ 
ผู้ที่ไม่ปรากฏพองยุบ เห็นแต่อาการลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็ดูแต่อาการและให้มีสติระลึกรู้ประคองตั้งจิตไว้

คำว่าประคองคือ มีสติให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าขณะนี้ ที่เรากำลังบริกรรมพองหรือยุบ จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์อื่นมั้ย มีอารมณ์พอใจ และอารมณ์ยินร้าย เข้ามาแทรกในจิตเรามั้ย

ถ้าเข้ามาแทรกก็พิจารณาว่า รู้หนอ ๆ หรือกำหนดไปตามอาการที่มันคิด ที่มันมีความรู้สึก คิดถึงอะไรก็คิดหนอ ๆ อย่างเดียวก็ได้

ถ้าหงุดหงิด ก็หงุดหงิดหนอ ๆ ทุกข์ก็ทุกข์หนอ ๆ มีความทุกข์ มีความคับแค้นใจ นิวรณ์ 5 ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือนิมิต ให้กำหนดอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วให้กลับมาดูพอง ดูยุบ พอหูได้ยินเสียง ก็ได้ยินหนอ ๆ แต่ให้หยุดพอง หยุดยุบ ให้ไปกำหนดแต่อาการที่มันแทรกเข้ามา แล้วก็กลับมาดูพองยุบ

สงบก็รู้ว่าสงบ ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ รู้สึกเห็นอาการทุกอย่างในกาย เวทนาเกิดขึ้น เจ็บปวดก็รู้ มีสติรู้ว่า เออ มันเป็นธรรมดาของมัน พระพุทธองค์ท่านชี้แนวโลกุตตระ รู้อะไรละอย่างเดียว ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ เพราะการยึด การติด เป็นภพเป็นชาติ

ผู้ใดที่เข้าฌานเพื่อระงับจากนิวรณ์ทั้งหลายได้ง่าย มันก็ยังเป็นณานที่ไม่ใช่ทางหลุดพ้น เป็นณานโลกีย์ที่ยังยึด ยังติดอยู่ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ออกมาถึงรู้ ถ้าตายจะไปอยู่ในอรูปพรหม ไม่มีหู ไม่มีตา จมูกก็ไม่มี มีช่องเล็กๆ เหมือนน้ำเต้า มีรูให้ลมออกจากตรงนั้น มีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ตั้งอยู่เหมือนก้อนหิน ไม่กระดุกกระดิกหลายหมื่นปี ออกจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีก

ทำไมไม่มีแข้งไม่มีขา เพราะตอนนั่งเข้าณาน รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความรู้สึกลมหายใจเข้าลมหายใจออก อะไรมาต้องกายก็ไม่รับรู้ หูได้ยินเสียงไม่รับรู้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีกายหยาบอยู่ จำเป็นต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เราถึงจะทำลายขันธ์ได้ พระพุทธองค์ท่านไม่สรรเสริญ เพราะทำให้เราไปยึด ไปเกาะไปติดอยู่ เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นไปเองจากสมาธิที่มีสติ และจะเป็นณานที่เป็นสัมมา มีสติครบถ้วนบริบูรณ์


Rank: 1

"หนูเดินจงกรมแบบช้าๆ ได้ไหมค่ะ"

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูเดินจงกรมแบบช้าๆ ได้ไหมค่ะ หนูรู้สึกว่าหากเดินเหมือนในชีวิตปกติ ยิ่งฟุ้งและร้อนที่ใจ พอมาเดินช้าๆ ใจมันกลับเย็น

คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเดินช้าๆ เป็นการขัดจิต ขัดกิเลส แต่บางคนยิ่งเดินช้า ยิ่งง่วง แม่ก็ให้เขาเดินให้เร็วขึ้น แล้วลูกเดินจงกรมแบบไหน แบบพุทโธหรือไม่มีอะไรเลย 
ผู้ปฏิบัติธรรม : เดินไปเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ให้ลูกสังเกตเวลาเดิน ยกเท้าขึ้น เอ่ยคำว่าพุท ให้การรับรู้เท้าที่กำลังยก กับคำว่าพุทที่เอ่ยออกมา ให้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ก่อนเท้าจะลงให้หยุดค้างไว้ ลูกจะเห็นคำว่าโธ ผุดขึ้นในใจ ให้มันดับไปก่อน แล้วค่อยเอาเท้าลง พร้อมกับเอ่ยคำว่าโธขึ้นมาใหม่ ให้การรับรู้ที่เท้า กับคำว่าโธเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

.......ผ่านไป 1 วัน.....

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ หนูเดินอย่างที่คุณแม่บอก พอขายกขึ้น หนูหยุดค้างไว้ หนูเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ทั้งๆ ที่เท้ายังค้างไว้ พอคำว่าโธในใจดับ หนูก็เอ่ยขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับเอาเท้าลง หนูเห็นคำสั่งบอกให้ไปข้างหน้าด้วย หนูไม่ทำตาม แล้วหนูก็เห็นมันดับลง บางทีก็มีความคิดเข้ามาแทรก บางทีก็ปวดขาขึ้นมาค่ะ

คุณแม่ชีเกณฑ์ : ถ้าความคิดเกิดขึ้น ก็ให้หยุดขาค้างไว้ทันที ถ้าความปวดเกิดขึ้นก็ให้หยุดค้างไว้เช่นกัน

....ผ่านไป 3 วัน....

ผู้ปฏิบัติธรรม : คุณแม่ค่ะ พอมันคิด หนูหยุดขาค้างไว้ทันที หนูเห็นความคิดดับลง พอมันดับหนูก็ไปต่อ มันมาอีก หนูก็หยุดอีก หยุดๆ ไปๆ อยู่อย่างนี้ ตอนนี้มันไม่ค่อยโผล่มาแล้วค่ะ พอความปวดเกิดขึ้น หนูก็หยุดค้างไว้ หนูเห็นความปวดมันดับลง หนูนึกว่ามันจะปวดตลอด มันก็มีช่องว่างเหมือนกัน

คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเห็นการเกิดดับในตัวเรานี่แหละ เป็นต้นทางของการวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นแรกที่จะพาเราออกจากวัฏสงสาร ถ้าไม่มีคำบริกรรม ก็ให้สังเกตจุดเดียวกัน จะยกเท้าก็ให้มีสติรู้ ก้าวไปก็ให้มีสติรู้ เหยียบไปก็ให้มีสติรู้ ขณะรู้จิตอยู่กับขามั้ย มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันมั้ย ยกขาก็ให้รู้ว่าจิตออกไปมั้ย อยู่กับปัจจุบันกับขามั้ย ขาขวายก มันอยู่กับขาหรือวิ่งออกไปข้างนอก มันออกไปก็ให้ใช้สติปัญญาดึงมันกลับคืนมา

ถ้าหยุดขาค้างไว้มันไม่กลับมา ก็ให้กำหนดคิดหนอๆๆ หรือฟุ้งหนอๆๆ จนกว่ามันจะกลับมา ถ้าเกิดความรู้สึกขึ้น ก็ให้กำหนดตามความรู้สึกนั้น เพื่อหยุดไม่ให้มันปรุงแต่งต่อ ถ้าฟุ้งมากก็ให้เดินแค่ 5 - 10 นาที แล้วนั่ง นั่ง 5 - 10 นาที แล้วลุกขึ้นเดิน สลับไปมาอย่างนี้จนครบชม. หรือจะบริกรรมออกเสียงดังๆ ก็ได้


Rank: 1

"วิธีแก้อาการโงกง่วงโยกไปโยกมา"

เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ คุณแม่ชีเกณฑ์ให้แก้ด้วยการให้ตั้งเวลาให้นั่งสมาธิ 5 นาที เดินจงกรม 5 นาที สลับไปมาจนครบชม. ถ้านั่ง 5 นาทียังเป็นอยู่ให้หดเวลาลงมาอีกเหลือนั่ง 3 นาที เดิน 3 นาที ถ้านั่งลงไปแล้วยังเป็นอยู่ก็หดเวลาลงมาอีก หรือให้เดินอย่างเดียว ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ถ้ายังเป็นอีกก็ให้ทำแบบเดิม ต่อเมื่อหายจากอาการนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้นมาให้เหมาะสม แต่อย่ากลับไปนั่งนานๆ อีก มันจะไหลลงไปที่เดิม

คุณแม่ท่านว่าอาการเช่นนี้อาจด้วยวิบากกรรมของเรา และสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน ให้เราดูปรับเวลาให้ร่างกายได้พักบ้าง มันโยกตัวลงไปเพราะสติมันน้อย ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของร่างกายได้ และท่านให้แผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเราเองทุกครั้งที่ไปปฏิบัติ และให้ทำบุญตักบาตรกับข้าวอาหารให้เขาด้วย

ถามคุณแม่ว่าทำแบบนี้แล้วทำไมจึงหาย ท่านว่าขนาดเราให้ลุกนั่งอย่างนั้น ใจมันยังหงุดหงิดจนแทบทนไม่ได้เลยใช่ไหม แต่ต้องทนเพราะอยากหาย แล้วคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้มีอาการแบบนั้น เขาจะทนอยู่ได้หรือ เขาก็ร้อนเหมือนกันที่เราผุดลุกผุดนั่งอยู่อย่างนั้น แต่เราอย่าไปปฏิบัติไล่เขาอย่างเดียว เราต้องแผ่เมตตาและทำบุญให้เขาได้อิ่มอาหารอิ่มใจด้วย จะได้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน การทำอย่างนี้ทำให้มีเราความรู้สึกตัวต่อเนื่องไม่ขาดระยะนับชม. จะทำให้สติเราตั้งมั่นและบริบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น การลุกนั่งเสมอกันช่วยปรับธาตุดินน้ำลมไฟในร่างกายให้สมดุล โรคที่เป็นอยู่ก็จะถูกขับออก เลือดลมไหลเวียนสะดวก หายง่วง หายซึม กระปรี้กระเปล่า ไม่ขี้เกียจ นั่งแล้วไม่ฟุ้งไม่จม ตื่นตัวรู้สึกอยู่ตลอด

ขณะที่มีอาการเช่นนี้ในใจคิด เราคงไปปฏิบัติให้ใครเห็นไม่ได้แล้ว โยกไปโยกมาน่าอายมาก รู้ตัวแต่ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ กว่าจะหลุดออกมาได้ก็ช่างแสนยาก ตอนผลุบเข้าไปก็ไม่รู้ตัว นั่งได้แค่อึดใจก็ไปติดกับเสียแล้ว 3 อาทิตย์ที่ต้องลุกนั่งอยู่อย่างนั้น ใจก็ไม่หงุดหงิด เป็นปกติเพราะมันชินแล้ว อาการง่วง ฟุ้งซ่าน ตัวโยกหายไป สติตื่นจนไม่ยอมหลับทั้งกลางวันกลางคืน นอนก็เหมือนไม่นอน เป็นอย่างนั้นเกือบเดือนกว่าจะเป็นปกติ

ต้องกราบขอบพระคุณ คุณแม่มากๆที่ทำให้หายจากอาการเช่นนี้ การปฏิบัติเองคนเดียว จำเป็นมากๆ ที่จะต้องมีผู้สอบอารมณ์ ไม่อย่างนั้นเราคงติดอยู่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่


Rank: 1

"เวลาที่เหมาะแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ"

คุณแม่ท่านถามว่า...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ไม่ไหวค่ะ ผ่านไปอีกอาทิตย์ท่านก็ถามอีก...ตื่นมาเดินจงกรมตีสามไหวมั้ย ก็ยังคงตอบว่าไม่ไหวค่ะ ถ้าตีห้าก็พอไหว

ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ คุณแม่ท่านเล่าว่า...ตอนเช้าแม่ไม่ได้อาบน้ำ มันเสียเวลา ท่านพูดแค่นี้แล้วหยุดไม่บอกว่าเสียเวลายังไง ผ่านไปอีกสองวันท่านก็เล่าว่า...เวลาตีหนึ่งถึงตีสามเป็นเวลาที่เหมาะแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เป็นเวลาที่โลกสงบเงียบไม่วุ่นวาย เป็นช่วงเวลาที่จิตว่างจากการถูกปรุงแต่ง เราจะเห็นจิตของเราได้ชัด

ผ่านไปอีกอาทิตย์เริ่มถามคุณแม่ว่า การเดินจงกรมกับการสวดมนต์ อันไหนอานิสงส์มากกว่ากัน ท่านบอกว่า...การเดินจงกรมลูกจะได้ทั้งสุขภาพที่ดี และได้สติได้ปัญญาที่จะพาให้เราหมดภพหมดชาติ

เราพยายามตื่นตีสาม ไม่ไหวก็ต้องทน ยอมรับว่าวันแรกเป็นการเดินจงกรมและนั่งสมาธิที่ทรมานที่สุด ช่วงแรกนั่งสมาธิแล้วง่วงมาก จึงเลือกที่จะเดินจงกรมอย่างเดียว ที่เคยคิดว่าเดินจงกรมตอนตีสามคงไม่ไหว ผิดคาดยิ่งเดินจิตยิ่งตื่น วันไหนที่เริ่มต้นชีวิตด้วยการเดินจงกรมแต่เช้า วันนั้นทำงานอย่างไม่รู้จักเหนื่อย ไม่ง่วงหาวนอน ไม่ต้องกินกาแฟ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตเบิกบาน ไม่หงุดหงิดง่าย และใจเย็น

บอกคุณแม่ว่าเดินจงกรมตอนเช้าไม่เห็นอะไรวิเศษ เห็นแต่ใจตัวเอง ท่านบอกว่าของวิเศษที่สุดคือได้เห็นจิตเห็นใจตัวเองนี่แหละ เห็นใจตัวเอง เราจะเข้าใจตัวเอง เตือนตัวเองสอนตัวเองได้ ไม่หลงตัวเอง เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น ลูกว่าจะมีอะไรที่วิเศษไปกว่านี้อีกไหม

Rank: 1



"สมาธิต่างจากวิปัสสนายังไงค่ะ คุณแม่"

ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียว คือนิ่ง ไม่รู้ตัวเอง เสียงเข้ามาก็ไม่รู้ เสียงเข้ามาทางหู เย็นร้อนอ่อนแข็งมาสัมผัสกายก็ไม่รู้ นั่งนิ่งอยู่อย่างเดียว

ถ้าเป็นวิปัสสนา วิแปลว่าตัวปัญญา รู้แจ้งในอารมณ์ ที่นิ่งก็รู้ว่านิ่ง วิปัสสนามีสติและปัญญาคุมกับสมาธิ

มีสติรับรู้อารมณ์ ที่เป็นสมาธิก็รู้ว่ามันเป็นสมาธิ สงบก็รู้ว่ามันสงบ ถ้าลืมตา ตาไปกระทบรูปก็รับรู้ หรือหลับตาอยู่ในองค์สมาธิ หูได้ยินเสียงก็รับรู้ มีลมผ่านมา กายเย็นก็รับรู้ว่ากายเย็น กายร้อนก็รับรู้ว่ากายร้อน มีมดมีอะไรมาแตะต้องตัวก็รับรู้ รับรู้หมดพร้อมกับปัญญาที่คอยพิจารณาในสิ่งนั้น รู้แล้วก็วาง ๆ

วิ แปลว่าตัวปัญญา รู้เท่าทันอารมณ์นิ่ง อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ นิ่งในสมาธิ เสพอารมณ์เบิกบานในอารมณ์สมาธิก็รู้ พอรู้เขาก็จะถอนออก ไม่ยินดียินร้าย ความพอใจในองค์สมาธิที่สงบนิ่ง ก็เป็นอารมณ์พอใจ เป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 มารขวางกั้นผู้ปฏิบัติธรรม ชอบใจไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย 6 คือ นิมิต

ถ้ามีปัญญาควบคู่กับสมาธิ เมื่อเห็นตัวเองเกิดความพอใจ เขาก็จะเตือนตัวเอง เรากำลังเกิดความยินดีหนอ นี่เป็นนิวรณ์ ทำให้เราไปไม่ถึงไหน ไม่เห็นแจ้งในสัจธรรม หากตายในขณะนี้ เรายังต้องมีภพมีชาติอีกแน่นอน เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นโทษแล้วก็วาง สักแต่ว่ามันเกิด สักแต่ว่ามันเป็น รับรู้แต่ไม่ยินดียินร้าย

Rank: 1

"ผมพยายามศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วก็ศึกษาไปไกลโพ้นพอสมควร เพื่อหวังเข้าให้ถึงแก่น แต่ก็เข้าไม่ถึงสักที แก่นพระพุทธศาสนา... อยู่ตรงไหนหนอ? "

แก่นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่ใจคุณต่างหาก คุณทำใจให้ผ่องแผ้ว ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่ง ทำใจให้สะอาดหมดจด ให้ขาวรอบอยู่ทุกขณะ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พยาบาท ให้ลดละปล่อยวาง ว่างอยู่ตลอด ไม่อุปาทาน ไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู ทำแต่จิตตัวเองให้ขาวสะอาด หมดจดผ่องแผ้วอยู่ทุกขณะลมหายใจ

แล้วก็ให้เห็นตามความเป็นจริง กับทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สรรพสัตว์ทั้งหลาย สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง มีแต่ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทำจิตให้ขาวรอบผ่องแผ้วหมดจด ทุกลมหายใจเข้าออก ลดละปล่อยวางตัวกู อัตตาตัวตน นี่คือแก่นแท้ของพระพุทธศานา.


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-23 04:00 , Processed in 0.051743 second(s), 13 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.