แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 5106|ตอบ: 2
go

นันทนวรรคที่ ๒ (บทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับเทวดา) พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2011-7-30 21:10 โดย putthapaun


นันทนวรรคที่ ๒   
     




                       นันทนสูตรที่ ๑       

         [๒๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของ  พระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ  
         [๒๔] พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่อง เคยมีมาแล้ว พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร อิ่มเอิบ พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ พวกนางอัปสรบำเรออยู่ในสวนนันทวัน ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า เทวดาเหล่าใดไม่เห็นนันทวัน อันเป็นที่อยู่ของหมู่นรเทพสามสิบ ผู้มียศ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข ฯ
         [๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกะเทวดานั้นด้วยคาถาว่า ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข ฯ

                       นันทิสูตรที่ ๒        

         [๒๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล
ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า   
         คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย
คนมีโค ย่อมยินดีเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น
เพราะอุปธิเป็นความดีของคน
บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่มียินดีเลย ฯ     
[๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   
บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย
บุคคลมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น
เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน
บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย ฯ

                     นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓   

         [๒๘] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล
ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า   
ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี
ทรัพย์เสมอด้วยโคย่อมไม่มี
แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี
สระทั้งหลายมีทะเลเป็นอย่างยิ่ง ฯ
         [๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   
ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี
ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี
ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม ฯ

                      ขัตติยสูตรที่ ๔      

         [๓๐] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล
ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า   
กษัตริย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า
โคประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า
ภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย
บุตรใดเป็นผู้เกิดก่อน บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ฯ
         [๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   
พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า
สัตว์อาชาไนยประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า
ภรรยาที่ปรนนิบัติดี ประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย
บุตรใดเป็นผู้เชื่อฟัง บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ฯ

                      สกมานสูตรที่ ๕         

         [๓๒] (เทวดากล่าวว่า)         
เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่
ประหนึ่งว่าครวญคราง ความครวญครางของป่านั้นเป็นภัยปรากฏแก่ข้าพเจ้า ฯ
         [๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่
ประหนึ่งว่าครวญครางนั้นเป็นความยินดีปรากฏแก่เรา ฯ

                     นิททาตันทิสูตรที่ ๖     

         [๓๔] (เทวดากล่าวว่า)         
อริยมรรคไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะความหลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกาย ความไม่ยินดี และความมึนเมาเพราะภัต ฯ
         [๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะขับไล่ความหลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกายความไม่ยินดีและความมึนเมาเพราะภัต
ด้วยความเพียรอริยมรรคย่อมบริสุทธิ์ได้ ฯ

                       ทุกกรสูตรที่ ๗        

         [๓๖] (เทวดากล่าวว่า)         
ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก   
เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ  คนพาล ฯ      
         [๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะสิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้ามจิต
เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติดขัดอยู่ทุกๆ อารมณ์
ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน
อันตัณหานิสัยและทิฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น
ปรินิพพานแล้ว ไม่พึงติเตียนใคร ฯ  

                        หิริสูตรที่ ๘        

[๓๘] บุรุษที่เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ ได้มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดบรรเทาความหลับเหมือนม้าดีหลบแซ่ ภิกษุนั้นมีอยู่น้อยรูปในโลก ฯ
[๓๙] ขีณาสวภิกษุพวกใด เป็นผู้เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริมีสติประพฤติอยู่ในกาลทั้งปวง
ขีณาสวภิกษุพวกนั้นมีน้อย  ขีณาสวภิกษุทั้งหลาย บรรลุนิพพานเป็นส่วนสุดแห่งทุกข์แล้ว
เมื่อสัตตนิกายประพฤติไม่เรียบร้อย ย่อมประพฤติเรียบร้อย ฯ

                       กุฏิกาสูตรที่ ๙      

         [๔๐] (เทวดากล่าวว่า)         
กระท่อมของท่านไม่มีหรือ
รังของท่านไม่มีหรือ
เครื่องสืบต่อของท่านไม่มีหรือ
ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหรือ ฯ
[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี
แน่ละ รังของเราไม่มี
แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี
แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ
[๔๒] ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า
อะไรเป็นกระท่อม
ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง
ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ
ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ
[๔๓] ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม
ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรัง   
ท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ
ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องผูกแก่เรา ฯ       
         ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี
ดีจริง รังของท่านไม่มี
ดีจริง เครื่องสืบต่อของท่านไม่มี
ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจาก      เครื่องผูก ฯ  



ที่มา : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
http://www.learntripitaka.com/






Rank: 1

อนุโมทนา สาธุ ครับ

Rank: 1

สาธุ อนุโมทามิ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 20:50 , Processed in 0.058662 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.