แก้ไขครั้งสุดท้าย: 2011-7-30 21:04 โดย putthapaun
อาทิตตวรรคที่ ๕, ชราวรรคที่ ๖, อันธวรรคที่ ๗ (บทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับเทวดา)
อาทิตตวรรคที่ ๕
อาทิตตสูตรที่ ๑
[๑๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอานาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
[๑๓๖] เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถา เหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด ฯ
โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ฯ
ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อมไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้ ฯ
อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน ฯ
เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึง สถานที่อันเป็นสวรรค์ ฯ
กินททสูตรที่ ๒
[๑๓๗] เทวดาทูลถามว่า
บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุและบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ
[๑๓๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุและผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม ฯ
อันนสูตรที่ ๓
[๑๓๙] เทวดากราบทูลว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้ ฯ
[๑๔๐] พ. ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้นแลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้นบุคคลพึงนำความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความ ตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียให้ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ
เอกมูลสูตรที่ ๔
[๑๔๑] เทวดากราบทูลว่า
บาดาล มีรากอันเดียว มีความวนสอง มีมลทินสาม มี เครื่องลาดห้า เป็นทะเล หมุนไปได้สิบสองด้าน ฤาษีข้ามพ้นแล้ว ฯ
อโนมิยสูตรที่ ๕
[๑๔๒] เทวดากราบทูลว่า
ท่านทั้งหลายเชิญดูพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระนามไม่ทราม ผู้ทรงเห็นประโยชน์อันละเอียด ผู้ให้ซึ่งปัญญาไม่ทรงข้องอยู่ในอาลัยคือกาม ตรัสรู้ธรรมทุกอย่าง มีพระปรีชาดี ทรงก้าวไปในทางอันประเสริฐ ผู้ทรงแสวงคุณอันใหญ่ ฯ
อัจฉราสูตรที่ ๖
[๑๔๓] เทวดาทูลถามว่า
ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ
[๑๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้นสติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพาน ด้วยยานนี้แหละ ฯ
วนโรปสูตรที่ ๗
[๑๔๕] เทวดาทูลถามว่า
ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
[๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้(ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
เชตวนสูตรที่ ๘
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า
ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชา ๑ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอย่างสูง ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ ฯเพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตนควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น ฯ
พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น (เป็นผู้ประเสริฐ) ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นเยี่ยม ฯ
มัจฉริสูตรที่ ๙
[๑๔๘] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขาทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ
วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ฯ
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึง จะรู้ความข้อนั้น ฯ
[๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขาทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ
คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก ฯ
คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้น สมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย ฯ
[๑๕๐] เทวดาทูลถามว่า
ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่นกะพระโคดม ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้วรู้ถ้อยคำ ปราศจากความ ตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบากของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ
[๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความร่าเริง และความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ ฯ
ฆฏิกรสูตรที่ ๑๐
[๑๕๒] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า
ภิกษุ ๗ รูปผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ โทสะสิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงของมารที่ข้ามได้ แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้วก้าวล่วงซึ่งทิพยโยคะ ฯ
ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า
คือท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวมเป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพหุทันตี ๑ ท่านสิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้นล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วง
ทิพยโยคะได้แล้ว ฯ
[๑๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของใครเล่า จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ
[๑๕๔] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า
ท่านเหล่านั้น ตรัสรู้ธรรมของผู้ใดจึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้นไม่มีอื่นไปจากคำสั่งสอนของพระองค์ ฯ
นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้นในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ
[๑๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านกล่าววาจาลึกรู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรม ของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้ ฯ
[๑๕๖] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า
เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะและโทสะสิ้นแล้วผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว ฯ
[๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
แน่ะนายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใด เรื่องนั้นได้เป็นจริงแล้วอย่างนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรมเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปางก่อน ฯ
พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า
สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
จบ อาทิตตวรรค ที่ ๕
___________________________
สูตรที่กล่าวในอาทิตตวรรคนั้น คือ
อาทิตตสูตร กินททสูตร อันนสูตร เอกมูลสูตร อโนมิยสูตร อัจฉราสูตร วนโรปสูตร เชตวนสูตร มัจฉริสูตร ฆฏิกรสูตร ฉะนี้แล ฯ
________________________________
ชราวรรคที่ ๖
ชราสูตรที่ ๑
[๑๕๘] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังประโยชน์ให้สำเร็จ จนกระทั่งชรา อะไรหนอ ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย อะไรหนอโจรลักไปได้ยาก ฯ
[๑๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญอันโจรลักไปได้ยาก ฯ
อชรสาสูตรที่ ๒
[๑๖๐] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอ เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอดำรงมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะของชนทั้งหลาย อะไรหนอบุคคลพึงนำให้พ้นจากพวกโจรได้ ฯ
[๑๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศีล เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ ศรัทธา ดำรงมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญา เป็นรัตนะของคนทั้งหลายบุญ อันบุคคลพึงนำไปให้พ้นจากพวกโจรได้ ฯ
มิตตสูตรที่ ๓
[๑๖๒] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรหนอเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ฯ
[๑๖๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ฯ
วัตถุสูตรที่ ๔
[๑๖๔] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย อะไรหนอเป็นสหายอย่างยิ่งในโลกนี้ เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีพ ฯ
[๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุตรเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีพอยู่ ฯ
ปฐมชนสูตรที่ ๕
[๑๖๖] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ของเขา ฯ
[๑๖๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา ฯ
ทุติยชนสูตรที่ ๖
[๑๖๘] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากอะไร ฯ
[๑๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ฯ
ตติยชนสูตรที่ ๗
[๑๗๐] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น ฯ
[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น ฯ
อุปปถสูตรที่ ๘
[๑๗๒] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอบัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด อะไรหนอสิ้นไปตามคืนและวัน อะไรหนอเป็นมลทินของพรหมจรรย์ อะไรหนอมิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ฯ
[๑๗๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ราคะบัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมติดอยู่ในหญิงนี้ ตบะและพรหมจรรย์นั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ฯ
ทุติยสูตรที่ ๙
[๑๗๔] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นเพื่อนของคน อะไรหนอย่อมปกครองคนนั้น และสัตว์ยินดีในอะไรจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
[๑๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นเพื่อนของคน ปัญญาย่อมปกครองคนนั้น สัตว์ยินดีในพระนิพพานจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
กวิสูตรที่ ๑๐
[๑๗๖] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นต้นเหตุของคาถา อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏ(พยัญชนะ) ของคาถาเหล่านั้น คาถาอาศัยอะไรหนอ อะไรหนอเป็นที่อาศัยของคาถา ฯ
[๑๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ฉันท์เป็นต้นเหตุของคาถา อักขระเป็นเครื่องปรากฏ (พยัญชนะ) ของคาถา คาถาอาศัยแล้วซึ่งชื่อ กวีเป็นที่อาศัยของคาถา ฯ
จบ ชราวรรค ที่ ๖
______________________
สูตรที่กล่าวในชราวรรคนั้น คือ
ชราสูตร อชรสาสูตร มิตตสูตร วัตถุสูตร ชนสูตร ๓ สูตร อุปปถสูตร ทุติยสูตร
กับกวิสูตร เต็มวรรคพอดี ฯ
_________________________
อันธวรรคที่ ๗
นามสูตรที่ ๑
[๑๗๘] เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไรย่อมไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ
[๑๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือชื่อ ฯ
จิตตสูตรที่ ๒
[๑๘๐] เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ
[๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตาม อำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต ฯ
ตัณหาสูตรที่ ๓
[๑๘๒] เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมด เป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ
[๑๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไป ตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือตัณหา ฯ
สัญโญชนสูตรที่ ๔
[๑๘๔] เทวดาทูลถามว่า
โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของ โลกนั้น เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่านิพพาน ฯ
[๑๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไป ของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน ฯ
พันธนสูตรที่ ๕
[๑๘๖] เทวดาทูลถามว่า
โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละเสียได้ซึ่งอะไร จึงตัดเครื่องผูกได้หมด ฯ
[๑๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้หมด ฯ
อัพภาหตสูตรที่ ๖
[๑๘๘] เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรหนอกำจัดแล้ว อันอะไรหนอล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคืออะไรเสียบแล้ว อันอะไรเผาแล้วในกาลทุกเมื่อ ฯ
[๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันมฤตยูกำจัดแล้ว อันชราล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคือ ตัณหาเสียบแล้ว อันความอยากเผาให้ร้อนแล้วในกาลทุกเมื่อ ฯ
อุฑฑิตสูตรที่ ๗
[๑๙๐] เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรหนอดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ โลกอันอะไรหนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร ฯ
[๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันตัณหาดักไว้ อันชราล้อมไว้ โลกอันมฤตยูปิดไว้โลกตั้งอยู่แล้ว ในทุกข์ ฯ
ปิหิตสูตรที่ ๘
[๑๙๒] เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรหนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร โลกอันอะไรหนอ ดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ ฯ
[๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ โลกอันตัณหาดักไว้ อันชราล้อมไว้ ฯ
อิจฉาสูตรที่ ๙
[๑๙๔] เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรผูกไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียจึงจะหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง ฯ
[๑๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด ฯ
โลกสูตรที่ ๑๐
[๑๙๖] เทวดาทูลถามว่า
เมื่ออะไรเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมชมเชยในอะไรโลกยึดถือซึ่งอะไร โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอะไร ฯ
[๑๙๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะ ๖ โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละโลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖ ฯ
จบ อันธวรรค ที่ ๗
_________________________
สูตรที่กล่าวในอันธวรรคนั้น คือ
นามสูตร จิตตสูตร ตัณหาสูตร สัญโญชนสูตร พันธนสูตร อัพภาหตสูตร อุฑฑิตสูตร ปิหิตสูตร อิจฉาสูตร กับโลกสูตร รวมเป็น ๑๐ ฯ
______________________________
ที่มา : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
http://www.learntripitaka.com/