ภายในอุโบสถ วัดพระนั่งดิน
ลูกนิมิต ภายในอุโบสถ วัดพระนั่งดิน
พระเจ้านั่งดิน ประดิษฐานภายในอุโบสถ วัดพระนั่งดิน
พระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานด้านหลังพระเจ้านั่งดิน ภายในอุโบสถ วัดพระนั่งดิน
พระเจ้านั่งดิน วัดพระนั่งดิน
เป็นองค์พระประธานของวัด ไม่มีฐานรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ เคยมีราษฎรสร้างฐานรองรับ เพื่ออัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานบนฐานรองรับ แต่ปรากฏว่าพยายามยกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้น จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า พระนั่งดิน
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธองค์ได้ทรงให้ปั้นด้วยดินจากลังกาทวีปขนาดเท่าองค์จริง ดังนั้น พระเจ้านั่งดินน่าจะมีอายุกว่า ๒,๕๐๐ ปี ในการสร้างพระพุทธรูปนี้ ใช้เวลา ๑ เดือน ๗ วัน จึงเสร็จ เมื่อสร้างเสร็จได้ประดิษฐานไว้บนพื้นราบ ไม่มีฐานชุกชีดังพระพุทธรูปอื่นๆ ทั่วไป
เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จนกระทั่งทุกวันนี้
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดพระนั่งดิน)
ตำนานพระเจ้านั่งดิน
วัดพระนั่งดิน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
จาก หนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง
ในสมัยหนึ่งมีพญาครองเมืองชะราว หรือเมืองพุทธรสะ ได้ค้นพบตำนานพระธาตุดอยคำและพระเจ้านั่งดิน เมื่อปี พ.ศ.๑๒๑๓ ว่า สมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ถึงเมืองพุทธรสะ (อำเภอเชียงคำปัจจุบัน) ซึ่งมี "พญาคำแดง" เป็นเจ้าเมือง
สมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่บนดอยสิงกุตตระนั้น (พระธาตุดอยคำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ในปัจจุบัน) ทรงตรัสสั่งพญาคำแดง ให้สร้างรูปเหมือนของพระองค์ไว้ยังเมือง พุทธรสะ ขณะนั้นปรากฏว่ามีพระอินทร์ พญานาค ฤาษี ๒ ตน พระอรหันต์ ๔ องค์ ไปเอาดินศักดิ์สิทธิ์จากเมืองลังกาทวีป ช่วยกันเนรมิตขึ้น รวมเวลา ๑ เดือน กับ ๗ วัน จึงแล้วเสร็จ
ครั้นเมื่อพระองค์ไปโปรดสัตว์ทั่วถึงแล้ว จึงเสด็จเข้าสู่เมืองพุทธรสะอีกครั้ง ทรงเห็นรูปเหมือนนั้นเล็กกว่าองค์ตถาคต จึงตรัสสั่งให้เอาดินมาเสริมให้ใหญ่เท่าพระองค์ แล้วพระสัพพัญญูเจ้าจึงได้แผ่รัศมีออกครอบจักรวาล รูปปั้นจำลองจึงเลื่อนลงจากฐานชุกชี (แท่น) มากราบไหว้พระสัพพัญญูเจ้า พระองค์ได้ตรัสเทศนากับรูปเหมือนที่ได้สร้างขึ้นนั้นว่า “ขอให้ท่านจงอยู่รักษาศาสนาของกูตถาคต ให้ครบ ๕,๐๐๐ พระวรรษา” พระรูปเหมือนจึงได้น้อมรับเอาแล้วประดิษฐานอยู่บนพื้นดินนั้น จึงเรียกกันว่า "พระเจ้านั่งดิน" มาจนกระทั่งทุกวันนี้
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาว่า เคยมีชาวบ้านพากันสร้างฐานชุกชี แล้วอัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ แต่มีเหตุปาฏิหาริย์เกิดอสุนีบาตฟ้าผ่าลงมาที่อุโบสถถึง ๓ ครั้ง บางกระแสยังบอกว่า ยกองค์พระไม่ขึ้น เหมือนถูกยึดติดพื้น พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนามาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมตราบเท่าปัจจุบันนี้
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์, หน้า ๒๓๐.)
ประวัติพระเจ้านั่งดิน
จาก ป้ายประวัติพระเจ้านั่งดิน วัดพระนั่งดิน
ตามตำนานกล่าวว่า พระยาผู้ครองเมืองพุทธรสะได้ค้นพบประวัติ ตำนาน เมื่อนมจตฺ จุลศักราช ๑๒๑๓ ปีระกา เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ วันจันทร์ พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกเมตตาสรรพสัตว์รอบโลกโดยทางอภินิหาร พอพระองค์เสด็จมาถึงเวียงพุทธรสะ (อำเภอเชียงคำในปัจจุบัน) พระองค์ได้เสด็จประทับอยู่บนยอดดอยสิงกุตตระ พระธาตุดอยคำปัจจุบัน ทรงแผ่เมตตาและประสาทพรตรัสสั่งพระยาคำแดงเจ้าเมืองพุทธรสะในขณะนั้น ให้สร้างรูปเหมือนของพระองค์ไว้ยังเมืองพุทธรสะนี้
พอสัพพัญญูเจ้าตรัสจบ ก็ปรากฏว่ามี พระยาอินทร์องค์หนึ่ง พระยานาคตนหนึ่ง พระฤาษี ๒ รูป และพระอรหันต์ ๔ องค์ ช่วยกันเนรมิตเอาดินศักดิ์สิทธิ์จากเมืองลังกาทวีป มาสร้างพระรูปเหมือนของพระพุทธองค์ โดยใช้เวลาสร้างหนึ่งเดือนเจ็ดวัน จึงแล้วเสร็จ
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จโปรดสัตว์ทั่วถึงแล้ว จึงเสด็จเข้าสู่เมืองพุทธรสะอีกครั้ง ทรงเห็นรูปเหมือนที่ให้ทรงสร้างนั้นเล็กกว่าองค์ตถาคต จึงตรัสให้เอาดินมาเสริมให้ใหญ่เท่าพระองค์ แล้วพระสัพพัญญูเจ้าได้แผ่รัศมีออกครอบจักรวาล รูปปั้นจำลองจึงเลื่อนลงจากฐานชุกชี (แท่น) มากราบไหว้พระสัพพัญญูเจ้า พระองค์ได้ตรัสเทศนากับรูปเหมือนที่ให้สร้างขึ้นนั้นว่า “ขอให้ท่านจงอยู่รักษาศาสนาของกูตถาคตให้ครบ ๕,๐๐๐ พระวรรษา” พระรูปเหมือนนั้นได้กราบน้อมรับเอาแล้วประดิษฐานอยู่บนผืนดินนั้น พระรูปเหมือนดังกล่าวคือ องค์พระเจ้านั่งดินในปัจจุบันนี้เอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้านั่งดินองค์นี้ ไม่ได้ประทับบนฐานชุกชีเหมือนกับพระพุทธรูปในอุโบสถวัดอื่นๆ มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เคยมีชาวบ้านพากันสร้างฐานชุกชี แล้วอัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ แต่มีเหตุปาฏิหาริย์เกิดฟ้าผ่าลงมาที่อุโบสถถึง ๓ ครั้ง พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาลงมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมตราบเท่าทุกวันนี้
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติพระเจ้านั่งดิน วัดพระนั่งดิน)