ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร
จากถ้อยคำที่บรรพบุรุษกล่าวสืบเนื่องกันต่อๆ มา หรือตามตำนานกล่าวว่า วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ หรือ วัดหัวเมือง ที่ประชาชนนิยมเรียกว่า วัดพระธาตุ ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ภายในวัดมีองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งไว้ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาสมัยใด ในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เมื่อถึงวันดีคืนดี พระบรมสารีริกธาตุจะแผ่ฉัพพรรณรังสี ฉายรัศมีพวยพุ่งออกจากซุ้มพระนาคปรกทั้งสี่ทิศ ฉายแสงสว่างไสวจับทั่วองค์พระเจดีย์เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
องค์พระเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ นับว่าแปลกกว่าพระเจดีย์ในที่อื่นๆ ที่ได้พบมา และยังเล่าว่ากษัตริย์กรุงสุโขทัยยังได้จัดการทำนุบำรุงและสมโภชพระบรมธาตุนี้ ตอนนี้เห็นจะตรงกับที่พระเจ้าลิไท รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงสุโขทัยมาสร้างเมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมืองชัยนาท เมืองชัยนาทในที่นี้หมายถึง เมืองชัยนาทโบราณ ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่หมายถึง เมืองชัยนาทปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก ตั้งขึ้นเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองชัยนาทโบราณดังกล่าว ตั้งอยู่หลังวัดพระบรมธาตุนี้ ตรงปากคลองแม่น้ำน้อย
วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ประชาชนจึงเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดหัวเมือง เพราะเมืองชัยนาทตั้งอยู่เขตติดต่อกับวัดนี้ อยู่มุมกำแพงเมืองทิศเหนือ บ้านที่อยู่ริมนี้ใต้เมือง ชาวบ้านเรียกว่า บ้านท้ายเมือง จนทุกวันนี้ และสมัยก่อนตำบลนี้เรียกว่า ตำบลท้ายเมือง เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นตำบลชัยนาทในปัจจุบัน
๑. สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้เข้มแข็งเป็นอาณาจักรใหญ่และกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง และได้รวมตั้งเป็นอาณาจักรเดียวกัน เมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๒๑ และเมืองชัยนาทบุรี ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาด้วย และได้รับสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวงในสมัยกษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๑๙๔๖) โดยพระองค์ได้ส่งพระโอรส ๓ พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพญาไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พญาครองเมืองสรรคบุรี และเจ้าสามพญาครองเมืองชัยนาทบุรี
เมื่อ พ.ศ.๑๙๖๑ สมเด็จพระศรีนครินทราธิบดี หรือ พระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้เสด็จสวรรคต เจ้าอ้ายพญาและเจ้ายี่พญาได้ยกทัพเข้ามาชิงราชสมบัติกัน โดยมาพบกัน ณ ตำบลป่าถ่าน แขวงกรุงเก่า เจ้าอ้ายพญาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลป่ามะพร้าว ส่วนเจ้ายี่พญา ตั้ง ณ วัดไชยภูมิ ทางเข้าตลาดเจ้าพรหม เมื่อสองทัพไปปะทะกัน ปรากฏว่าทั้งสองพระองค์ถูกพระแสงของ้าวต้องพระศอขาดคอช้างสิ้นพระชนม์พร้อมกัน เจ้าสามพญา ซึ่งครองเมืองชัยนาทน้อยใจ เนื่องจากถูกอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมืองชัยนาทจึงได้ถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่ครั้งนั้น คงมีแต่ผู้รักษาเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งเมืองพม่า ได้ยกกองทัพมาพักตั้งค่ายที่เมืองชัยนาท ได้กวาดต้อนประชาชนพลเมืองไปเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้ประสบชะตากรรมอย่างหนัก เกิดระส่ำระสาย ทุกคนหนีเอาตัวรอดเป็นเสมือนเมืองร้าง วัดวาอารามไม่มีใครที่จะคิดทำนุบำรุง จึงได้ทรุดโทรมเป็นลำดับมาเป็นเวลานาน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๖๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในรัชกาลที่ ๓ มีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งนามว่า พระครูเมืองชัยนาท อยู่วัดป่าข้าวเปลือก คิดจัดการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ ได้เป็นหัวหน้าชักชวนเมืองต่างๆ ร่วมกันปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ เพราะเหตุที่องค์พระเจดีย์พระบรมธาตุได้ชำรุดผุกร่อน มองเห็นศิลาแลงห่อหุ้มด้วยโลหะทองขาว ปรากฏแผ่นโลหะผุกร่อนชำรุดเป็นอันมาก จึงได้จัดการเรี่ยไรตามหัวเมืองต่างๆ ซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๒๖๐ และได้รับการอุปถัมภ์จากสมเด็จพระทิพมล ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงส่งช่างฝีมือประณีตในการนำดีบุกหุ้มพระเจดีย์พระบรมธาตุ รวมตลอดทั้งองค์ สิ้นดีบุก ๒๕ หาบ แล้วเสร็จในปีเดียวนั้นเอง
เมื่อถึงเวลาอันสมควรหลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระทิพมลได้ชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ และพระครูเมืองชัยนาท ได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนทั่วไป จัดงานฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ มีงานสามวันสามคืน มีประชาชนมานมัสการสักการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม ปิดทอง เต็มองค์พระเจดีย์เหลืองอร่ามสวยงามมากทั้งองค์พระเจดีย์ จัดให้มีงานสามวันสามคืน ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ มีแจงสังคายนาวันหนึ่ง มีพระไตรปิฎกวันหนึ่ง และจัดประดับธงทิว ลายฉัตรราชวัตร มหรสพต่างๆ โขน หนัง ละคร พอถึงปีกุน เดือน ๖ ในวันวิสาขบูชา ในปีต่อมาจึงจัดการปิดทองอีก จนเป็นธรรมเนียมและประเพณีมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในตอนนี้จะได้นำข้อความในแผ่นศิลาจารึกที่ยังปรากฏชัดอยู่ ข้อความมีดังนี้ พระพุทธสอระอยู่วัดป่าข้าวเปลือก ตำบลท้ายเมืองชัยนาทบุรี ได้เข้าไปนมัสการพระทิพมล และคิดอ่านปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระบรมธาตุหัวเมืองชัยนาท ร่วมด้วยพระครูเมืองชัยนาท ตลอดจนสัปบุรุษทั้งหลายได้ช่วยกันปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ ได้ก่อกำแพงล้อมพระเจดีย์พระบรมธาตุนั้นสำเร็จ แล้วจึงออกหนังสือเข้าไปถึงสมเด็จพระทิพมล ให้ช่างดีบุก และพระสงฆ์ขึ้นมาหุ้มพระบรมธาตุหัวเมืองชัยนาท เป็นดีบุก ๒๕ หาบ หุ้มลงมาเชิงบัลลังก์ชั้นยี่สำเร็จแล้ว จึงให้ช่างดีบุกและพระสงฆ์ล่องลงไปบอกพระทิพมล
พระทิพมลจึงขึ้นมาปิดทองพระบรมธาตุ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีระกา สก พระพุทธศักราชได้ ๒๒๖๐ พระพรรษาเศษ สังคายนาได้เดือน ๗ แลปิดทองแต่ฉัตรลงมาถึงบัวกลุ่มเป็นทอง ๕,๓๓๐ กลีบ จำปา ปิดทอง ๒๗๐ ปิดเป็นทอง ๒,๔๓๕ ปิดองค์ระฆังเป็นทอง ๔,๓๙๐ หน้ากุฎน้อยเป็นทอง ๒,๒๖๙ แรมวัน ๑ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๙,๖๕๐ วัน ๔ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๑๕,๘๘๖ วัน ๓ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๓,๑๐๐ วัน ๔ฯ๗ ค่ำ ปิดทอง ๙,๙๐๐ ประฐมเจดีย์หลังกุฎทั้งหลังคาเป็นทอง ๓๐ พระปรางค์หลังกุฎทั้งหลังคาเป็นทอง ๗๕ ประ เจดีย์เล็กกลายเป็นทอง ๑๒๐
หน้ากุฎพระเจดีย์ลายเป็นทอง ๖๕ ทองปิดประตูลายเป็นทอง ๖๐๐ ประ ใบกุฎพระเจดีย์ลายเป็นทอง ๓๓ ประ ใบหน้าบนเป็นทอง ๖๐ ประ ใบกุฎหน้าบน ๒๐๐ ประ ใบกุฎเป็นทอง ๓๐๐ ประ ใบกุฎ ๒ องค์ ยืนองค์หนึ่งเป็นทอง ๑๐๕ นั่งองค์หนึ่งเป็นทอง ๙๑ ประ นาคเป็นทอง ๑๙๐ หน้ากุฎเป็นทอง ๒๔๐ ประ เช็ดหน้าประตูเป็นทอง ๑๔๐ กุฎ เป็นทอง ๑,๑๐๐ ประ กุฎกลาง ๑๒ ประ หน้าทวารชั้นบนเป็นทอง ๗๐๐ ประ หน้าทวารชั้นกลางเป็นทอง ๑๒๐ ประ เสาหน้ามุขเป็นทอง ๓๐๐ ประ และปิดทองพระบรมธาตุเป็นทอง ๑๒,๔๙๐ และพระมหาพุทธสอระ วัดป่าข้าวเปลือก เมืองชัยนาทบุรี แลชักชวนพระสงฆ์เจ้าทั้งปวง และสัปบุรุษทั้งปวง ช่วยกันปฏิสังขรณ์ บำเพ็ญกุศลปิดทองเจดีย์พระธาตุ เรี่ยไรกันตามหัวเมืองชัยนาทบุรี ได้เงินทั้งหมด ๑๐๓ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง
๒. การก่อตั้งพระบรมธาตุเจดีย์
ตอนนี้ขอกล่าวถึงการก่อตั้งพระบรมธาตุเจดีย์ไว้ ๒ นัย
๑. นัยที่ ๑
ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งเมืองอินเดีย โดยเฉพาะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้ทรงพระปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกสารทิศทั่วทุกหัวเมือง ได้เป็นศาสนูปถัมภก ได้มีศรัทธาสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วโลก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเคารพกราบไหว้บูชา มีจำนวนตามที่ปรากฏถึง ๘๔ องค์ ยังได้เป็นอัครศาสนูปถัมภกทรงหยิบยกพระธรรมวินัยในการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยให้มั่นคง โดยเจตนาเพื่อจะจรรโลงพระพุทธศาสนาไม่ให้เสื่อมโทรม ให้ยืนยงไปชั่วกาลนาน
เมื่อเสร็จจากการทำสังคายนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์คิดที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปตามนานาประเทศที่เลื่อมใสพระองค์ จึงได้อาราธนาพระเถระหลายรูป เพื่อให้แยกย้ายกันออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามประเทศต่างๆ ที่เลื่อมใส โดยมีพระเถระรูปหนึ่งพร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยมุ่งหน้าสู่สุวรรณภูมิ ได้ประกาศพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนถึงสถานที่แห่งนี้ เห็นว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญ ต่อไปภายหน้าจะมีความเจริญ จึงได้สร้างเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้เคารพบูชาทั้งมนุษย์และเทวดา
ศิลปะของเจดีย์จึงละม้ายคล้ายศิลปะของอินเดีย และยังได้สร้างรูปพระเจ้าอโศกมหาราชไว้เป็นสัญลักษณ์ ไว้ในซุ้มพระด้านทิศใต้อยู่หลังพระนาคปรก เป็นรูปยืน พระหัตถ์ขวายกเพียงพระอุระ สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เป็นรูปของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้ให้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลผู้สร้างในสมัยนั้น และเคยมีชื่อปรากฏเป็นหนังสือขอมว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แต่มาในปัจจุบันนี้ ได้ชำรุดกะเทาะหายไป เพราะถูกคนร้ายลักพระพุทธรูปนาคปรกในซุ้มนั้นไป ตัวหนังสือขอมที่จารึกก็กะเทาะหายไปด้วย คงเหลือเป็นรูปยืนเพียงเข่าขึ้นไป จึงหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ มีซุ้มเดียวเท่านั้น
ตามที่กล่าวมานี้ จึงนับได้ว่าเป็นพุทธเจดีย์ที่เก่าแก่ และพุทธศาสนาได้เริ่มต้นเข้ามาเผยแพร่เข้ามาในส่วนกลางของเมืองไทยในส่วนหนึ่ง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพกราบไหว้บูชาสืบต่ออายุกาลพระพุทธศาสนามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ สันนิษฐานว่าพระพุทธศาสนาอาจเข้ามาในประเทศไทยนี้ก่อน จนคนไทยมีความเลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว การเผยแพร่พระพุทธศาสนาครั้งใหญ่นี้จึงได้เข้ามา ภายหลังการก่อสร้างเจดีย์พระธาตุโดยมากไม่ใหญ่ไม่สูงนัก คือสร้างสูงแค่นกเขาเหินเท่านั้น คนแก่สมัยนี้ ถือหลักนี้เป็นเกณฑ์
๒. นัยที่ ๒
ตามตำนานกล่าวว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้ลงไปสรงน้ำที่หน้าวัดเวลาใกล้ค่ำ ก่อนขึ้นจากน้ำได้เห็นแสงประหลาด มีแสงสว่างพวยพุ่งมาที่พระภิกษุรูปนั้น และได้ยินเสียงวัตถุกระทบภายในขันน้ำที่ถือมา จึงได้นำขึ้นมาดูในที่สว่าง พร้อมด้วยพระภิกษุหลายรูป ข่าวได้แพร่สะพัดไปไกลจนกระทั่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตได้พิเคราะห์พิจารณาแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้ให้ข้อสันนิษฐานและลงความเห็นพร้อมกันว่า วัตถุนี้มีความบริสุทธิ์ปราศจากมลทินใดๆ ทั้งสิ้น คล้ายกับพระบรมสารีริกธาตุที่เขียนลักษณะไว้ในตำราที่ได้ถ่ายทอดร่ำเรียนกันมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ดังนั้นแล้ว จึงได้พร้อมใจกันนำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ จะเกิดปาฏิหาริย์มาจากที่ใด หรือจะเป็นบุญญาธิการของพระพุทธศาสนา หรือด้วยบารมีของวัดก็ยากต่อการสันนิษฐานได้ จึงได้ปรากฏองค์เจดีย์เป็นที่เคารพกราบไหว้มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ตามตำนานที่ ๒ นี้ เข้าใจว่า องค์เจดีย์ได้ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว จึงนำพระธาตุมาบรรจุภายหลัง ทั้งนี้เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า เป็นตามตำนานเล่าสืบต่อๆ กันมา แต่จะหาหลักฐานยืนยันยังไม่ได้ ทั้งนี้ก็ให้ข้อสันนิษฐานไว้หลายประการ เนื่องจากชาติไทยสมัยก่อนนี้ได้เป็นชาตินักรบ กู้อิสรภาพของความเป็นไทย ต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันมาหลายคราว บางครั้งต้องเสียความเป็นอิสระ จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะกล่าวให้ติดต่อเนื่องเกี่ยวพันให้เห็นจริงกันได้ จึงเป็นเพียงสันนิษฐานตามคำบอกเล่าเท่านั้น
แม้แต่แผ่นศิลาจารึกที่ได้พบและเก็บรักษาไว้ เป็นหลักฐานทั้ง ๒ แผ่น แต่ในข้อความที่จารึกไว้ ก็เพียงแต่กล่าวถึงการซ่อมแซมเท่านั้น ผู้ที่ซ่อมแซมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าได้ถูกซ่อมแซมมากี่หนกี่ครั้ง จึงเพียงสันนิษฐานเท่านั้น เช่น
ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งเสด็จประพาสนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ได้มีพระราชวินิจฉัยสอดคล้องต้องกันว่า
วัดพระบรมธาตุนี้ เป็นวัดที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีองค์พยานเป็นหลักฐานปรากฏอยู่ในองค์พระธาตุ คิดเทียบฝีมือและการแกะสลักศิลาจารึกรูปตามซุ้ม เป็นฝีมือช่างโบราณสมัยขอม เข้าใจว่าคงจะเอาแบบอย่างมาจากอินเดีย หรือได้นำช่างอินเดียมาทำ จึงมีส่วนละหม้ายคล้ายศิลปะอินเดีย แต่ยังมีศิลปะของขอมติดอยู่ด้วย ส่วนองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุก่อด้วยศิลาแลง จับเป็นก้อนเดียวกันทั้งองค์แปลกกว่าที่อื่นๆ
ท่านผู้เฒ่าเล่าว่า บรรพบุรุษได้เล่าสืบต่อกันมาว่า พระเจดีย์พระธาตุองค์นี้ ได้มีพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าให้จัดการทำนุบำรุงเรื่อยมา หลักฐานการก่อสร้างไม่มีปรากฏ ตามทางสันนิษฐานยืนยันว่า สร้างสมัยขอมเรืองอำนาจ จัดเป็นพุทธเจดีย์ที่สำคัญยิ่งในจังหวัดชัยนาท ซึ่งไม่มีสิ่งสำคัญอะไรเท่าเทียม การก่อสร้างนับอายุเป็นพันปีขึ้นไป สถานที่นี้จัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีพุทธาภิเษกของกษัตริย์ทุกพระองค์เป็นลำดับมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
อนึ่ง ในหนังสือ อ.ส.ท.ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑๐ เรื่องการสัมมนาโบราณคดีที่เมืองชัยนาท ซึ่งใช้สถานที่วัดพระบรมธาตุเป็นสถานที่สัมมนา ได้กล่าวไว้ว่า วัดพระบรมธาตุนี้ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองชัยนาท มีพุทธโบราณสถานเหลืออยู่เป็นหลักสำคัญของวัด คือ องค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นๆ กล่าวคือ ตั้งอยู่บนฐานสามชั้น หน้าบันชั้นสิงห์ เป็นปรางค์ไม่มีมุขหน้า มีแต่เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยม ต่อจากเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังรูปน้ำเต้าเรือนธาตุ และชั้นบัวปลาย เรือนธาตุหรือชั้นครุฑเป็นย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ แต่ละเหลี่ยมซับยอดเป็นเจดีย์ประดับโดยตลอด องค์เจดีย์เป็นศิลาแลงทั้งองค์ แลดูสวยงามดีและแปลกกว่าที่อื่นๆ ฐานพุทธเจดีย์ ๔ เหลี่ยมย่อ กว้างด้านละ ๙.๒๐ เมตร ส่วนสูงจากฐานถึงยอดสุดประมาณ ๑๔ เมตรเศษ สูงถึงยอดฉัตร ๑๙ เมตร ๙ นิ้ว สมัยก่อนเจดีย์จะสร้างสูงเพียงนกเขาเหิน
๓. การบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์
๑. การบูรณะครั้งแรกที่ปรากฏจากแผ่นศิลาจารึกแผ่นที่ ๑
“ศิลาจารึกหลักที่ ๙๗ เป็นจารึกหินฉนวนสีเขียว ขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร สูง ๒๐๘ เซนติเมตร หนา ๓๗ เซนติเมตร อักษรขอม เขียนภาษาไทยมี ๕๔ บรรทัด” สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยอยุธยา พ.ศ.๒๒๖๐ โดยการนำของพระเถระสมเด็จพระทิพมล และพระครูเมืองชัยนาทบุรี คือ พระพุทธสอระ ได้ซ่อมแซมหุ้มองค์พระธาตุด้วยดีบุก ๒๕ หาบ ปิดทองเต็มองค์เจดีย์พระธาตุมาแล้ว สร้างกำแพงรอบเจดีย์ และกลบดินกำแพงในสมัยอยุธยาดังกล่าวมา
๒. จากข้อความในแผ่นศิลาจารึกแผ่นที่ ๒
ติดอยู่หลังพระวิหารด้านขวามือ มีข้อความดังนี้ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๗ อาตมภาพพระคำ ฉายา ติสสเถระ อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๒๘ วัดพระบรมธาตุ บ้านเกิดตำบลท้ายเมือง อำเภอบ้านกล้วย จังหวัดชัยนาท เป็นพระอธิการประธาน เรี่ยไรชาวบ้านช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงพระบรมธาตุ เมื่อได้ทุนทรัพย์พอที่จะทำได้ แล้วจึงไปหานายต้ายเบ้ง แซ่ฟู่ อยู่ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา เป็นนายช่าง ตกลงเป็นราคาค่าจ้าง ๑,๖๗๘ บาท และได้ทำหนังสือสัญญากับนายช่างเป็นสำคัญไว้ฉบับหนึ่ง
การปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมคราวนี้หมายให้เหมือนรูปเดิม ใช้ปูนซีเมนต์ผสมปูนขาวโบกหนา ๑ นิ้ว และให้ช่างแก้ที่ยอดฉัตรเอนเอียงให้ตรงด้วย ช่างลงมือทำ ณ วัน ตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๗ ทำแล้วเสร็จวัน ตรงกับวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๘ พอถึง ณ วัน ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘ อาตมาเป็นพระอธิการชักชวนเรี่ยไรกัน กระทำการฉลองสมโภชพระบรมธาตุ ๓ วัน ๓ คืน เป็นการเสร็จการสมโภช
ต่อมาเมื่อ ณ วัน ๒ฯ๕ ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ อาตมาเป็นพระอธิการ ได้ว่าจ้างนายต้ายเบ้ง แซ่ฟู่ ช่างคนเก่ามาเทพื้นพระบรมธาตุด้วยปูนซีเมนต์อีก เป็นเงิน ๔๐๐ บาท ทำเสร็จ ณ วัน ๖ฯ๓ ตรงกับวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ ปฏิสังขรณ์ ๒ ครั้ง รวมเป็นเงิน ๒,๐๗๘ บาท ขออานิสงส์อันนี้จงช่วยอาตมาให้สำเร็จประโยชน์ในการบุญกุศลทั่วทุกคนเทอญ
พระอธิการคำ หรือ พระวินัยธรคำ ติสสเถระ ได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง ๒ ครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ ให้ช่างโบกปูนซีเมนต์องค์พระธาตุหนา ๑ นิ้ว ให้ยกยอดฉัตรให้ตรงมิให้เปลี่ยนแปลง ทำตามรูปเดิม ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๖๙ ใช้ปูนซีเมนต์เทพื้นพระบรมธาตุ รวม ๒ ครั้ง สิ้นเงิน ๒,๐๗๘ บาท จบข้อความแผ่นศิลาจารึกแผ่นที่ ๒
อนึ่ง เจดีย์พระบรมธาตุองค์นี้ ไม่ทราบว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งไหน หลักฐานจากแผ่นศิลาจารึกก็ไม่ได้บ่งบอกถึงการก่อสร้าง มีแต่การบูรณะ
๔. เกิดปาฏิหาริย์ สิ่งมหัศจรรย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
ตามตำนานที่ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อๆ มาว่า เมื่อถึงวันดีคืนดี พระพุทธเจดีย์จะฉายรัศมีแผ่รังสีสวยงามพวยพุ่งออกจากซุ้มพระนาคปรกทั้งสี่ทิศ มีแสงสว่างไสวสีต่างๆ อย่างสวยงามจับทั้งองค์เจดีย์ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์แก่ผู้ที่ได้พบเห็น หรือจะกล่าวได้ว่า เป็นบุญตาของผู้ได้พบเห็นก็ได้ และได้เคยปรากฏเสมอมา มักจะปรากฏในวันสำคัญในทางพุทธศาสนา เช่น วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา หรือวันมาฆบูชา เป็นบางปี มิใช่ทุกๆ ปี
ข้าพเจ้า (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ได้สอบถามจากปากคำของท่านที่ได้มีประสบการณ์หลายท่านด้วยกัน ได้รับการยืนยันกับข้าพเจ้าว่า เป็นความจริงเสียงเดียวกันหมด เช่น ปีกึ่งพุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ เหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาประมาณ ๔๐ กว่าปี ในปีนั้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันมาฆบูชา สิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น.เศษ
ได้ปรากฏแสงประหลาดเป็นดวงโตประมาณเท่าบาตร และมีดวงเล็กๆ ติดตามมาด้วยเป็นแถวยาวเหยียด มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแสงสว่างไสวฉายรัศมีสวยงามลอยมากลางอากาศอย่างช้าๆ ลอยเข้าสู่องค์เจดีย์ พอพระบรมสารีริกธาตุดวงใหญ่ดวงหน้าลอยมาถึงยอดฉัตร ดวงใหญ่นั้นได้แตกประดุจพวงมาลัยสวมยอดองค์เจดีย์ และดวงเล็กๆ ก็ได้กระจายล้อมองค์เจดีย์เช่นเดียวกัน แสงที่ส่องเป็นรัศมีไปไกล มีรัศมีต่างๆ หลายสีทั่วองค์พระธาตุทั้ง ๔ ทิศ แล้วค่อยๆ จางหายเข้าไปสู่องค์เจดีย์ ยังเป็นเงาสว่าง เวลานานประมาณ ๑๕ นาที เงาจึงหายไป
ขณะนั้นกำลังค่ำ คนยังไม่ได้หลับนอนกัน พวกชาวเรือชาวแพ ที่มาจอดพักแรมอยู่ที่หน้าวัดต่างได้เห็นเหตุการณ์อันนี้ตลอด กระทั่งชาวบ้านใกล้เคียงกับวัด ต่างได้เห็นเหตุการณ์กันเป็นจำนวนมาก บางคนได้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดถึงกับตกอกตกใจ ขนลุกขนชันไปตามๆ กัน บางคนก็กล่าวขานโจษจันกันต่างๆ นานา บางคนว่าเทวดามาบูชาพระธาตุ บางคนว่าพระธาตุเสด็จมาประชุมกัน บางคนว่าผีพุ่งไต้ แล้วแต่ความคิดเห็นของตน ในปีนั้น พระชัยนาทมุนี (นวม) ซึ่งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตลอดกระทั่งพระเณรในวัดได้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดอัศจรรย์ทั้งนั้น
พระชัยนาทมุนีจึงสั่งให้พระเณรตีกลองตีระฆังประชุมพระภิกษุสามเณรโดยด่วน ให้ไปรวมกันที่ลานพระธาตุ เมื่อพร้อมกันแล้ว จึงสวดชัยมงคลคาถา ๓ จบ ต่อจากนั้นจึงได้เจริญพระพุทธมนต์ต่อไป พอเช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งชาวเรือ ชาวแพ ชาวบ้าน ได้มาทำบุญกันที่วัดอย่างมากมาย โดยโจษขานกันต่างๆ นานา ทำบุญติดต่อกันถึง ๓ วัน เหตุการณ์ปาฏิหาริย์อัศจรรย์ได้เกิดขึ้นกึ่งพุทธกาล ในปี ๒๕๐๐ ท่านที่ได้อ่านทราบสิ่งมหัศจรรย์ ถ้ายังมีความลังเลสงสัย เวลานี้จะสืบถามได้ เพราะผู้ที่ประสบเหตุการณ์ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องที่เกิดประมาณ ๔๐ ปีเศษ เรื่องที่กล่าวมานี้ตามคำบอกเล่าของผู้ที่ได้พบเห็นเหตุการณ์อันแปลกประหลาดด้วยตาของตนเองมาแล้ว ขอรับรองว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้น จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้
วัดจะดีมีสถาน เพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยก็เพราะวัด ดัดนิสัย
บ้านกับวัดพลัดกันช่วย คงอวยชัย
ถ้าบ้านกับวัดขัดกัน ก็บรรลัยทั้งสองทาง
๕. เรื่องแปลกของพระพุทธเจดีย์
เรื่องความแปลกของพุทธเจดีย์ ไม่ได้หมายถึงลักษณะภายนอกขององค์พุทธเจดีย์ สิ่งที่แปลกนั่นคือ พระพุทธเจดีย์เป็นศิลาแลงก้อนเดียวกันทั้งองค์ ยังมีความเร้นลับอยู่ภายใต้คอระฆังลงไป ภายในองค์เจดีย์มีช่องว่าง หรือภายในเจดีย์กลวง
ข้าพเจ้า (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ผู้เขียนเองก็ไม่เคยเปิดดูว่าภายในพุทธเจดีย์องค์นี้จะกลวงหรือตัน และข้าพเจ้าก็มิได้มีตาทิพย์พอที่จะเห็นภายในเจดีย์ได้ตลอด แต่ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับว่า พุทธเจดีย์องค์นี้กลวงจริงๆ เนื่องจากข้าพเจ้าได้ทราบจากการบอกเล่าของท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟัง และข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าเป็นความจริง
เนื่องจากประมาณ ๔๐ ปี มานี้ มีประชาชนได้มานมัสการเจดีย์พระธาตุในงานประจำปี โดยการปิดทองสมโภชองค์พระธาตุ เป็นงานประจำปีในงานวันเพ็ญเดือน ๖ และกลางเดือน ๑๒ เนื่องจากประชาชนได้เล่าว่า เมื่อถึงปีการนมัสการสมโภชพระธาตุจะได้นำเงินทำบุญฝากไว้กับองค์พระเจดีย์พระธาตุ ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าแล้ว ชักสงสัยว่าที่นำเงินไปฝากพระธาตุนั้นเขาฝากกันอย่างไร หรือมีเจ้าหน้าที่กรรมการรับฝากเงินกันกระมัง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น หรือถ้ามิฉะนั้นก็นำเงินไปวางไว้ที่องค์พระธาตุตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ แต่หาเป็นดังที่ข้าพเจ้าเข้าใจไม่
โดยท่านผู้เฒ่ากล่าวว่า เขามีที่ฝากกันที่องค์เจดีย์ ไม่มีเจ้าหน้าที่กรรมการคนใดทั้งนั้นที่จะรับฝากเงิน ท่านผู้เฒ่ากล่าวว่า ต้องรู้ที่ฝาก เพราะมีที่ฝากที่ทำบุญกับพระธาตุ มีแห่งเดียว และมีการเป็นมาอย่างนี้ ไม่ทราบว่าเขาทำกันตั้งแต่ครั้งใด เพียงแต่รู้ที่ฝากจากคำบอกเล่ากันต่อๆ มานั่นเอง ถ้าท่านได้อ่านแล้ว ท่านลองนึกดูซิว่า จะเป็นไปได้ไหม และเขาฝากกันตรงไหน โดยที่ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปพิสูจน์ดูบนเจดีย์ว่าจะมีจริงหรือไม่ และอยู่ตรงไหน ต้องให้เห็นด้วยตาข้าพเจ้าเอง
ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่า จึงขึ้นไปตรวจดูพบว่า ตรงซุ้มพระนาคปรกหลังวิหาร มีอยู่ซุ้มเดียวหลังพระนาคปรกทิศตะวันออก ถ้าท่านอยากทราบ ให้ท่านหันหลังให้วิหารหันหน้าไปทางเจดีย์ มีซุ้มเดียว มีช่องพอมือของเราล้วงเข้าไปได้ นั้นแหละช่องฝากเงินทำบุญกับพระธาตุ โดยข้าพเจ้าต้องขึ้นไปดูด้วยตาของข้าพเจ้าเอง ช่องฝากเงินทำบุญกับพระธาตุ พอถึงปีจะมีประชาชนนำเงินไปฝาก สิ่งของที่นำไปฝาก คือ สตางค์ เช่น แหวน สายสร้อย และของมีค่า ได้นำใส่ลงไปในช่อง ความเจตนาของคนสมัยก่อนนั้นมิได้คิดเป็นอย่างอื่น คิดเพียงว่านำเงินบูชาพระธาตุ บางคนมากบ้างน้อยบ้างตามสมควร
แต่สิ่งที่ลี้ลับมีความสงสัยก็คือ เวลานำของใส่ในช่องทำบุญ แล้วเอาหูฟัง เราจะได้ยินเสียงวัตถุที่ทิ้งลงไปนั้นไปกระทบข้างๆ เจดีย์ จะได้ยินเสียงดังก๊อกแก๊กๆ นานเล็กน้อย แล้วจะได้ยินเสียงวัตถุที่เราทิ้งลงไปตกถึงน้ำดังจุ๋ม สันนิษฐานว่า ใต้องค์เจดีย์พระธาตุมีสระน้ำรองรับอยู่ด้านล่าง สิ่งนี้แหละที่ข้าพเจ้าว่าแปลกกว่าพุทธเจดีย์องค์อื่นๆ จึงเป็นเรื่องแปลก
ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงว่าพระพุทธเจดีย์นี้แปลก และต่อมาทางวัดได้พิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากคนสมัยก่อนเขานำวัตถุเงินทองสิ่งของอันมีค่าทิ้งลงไป เพื่อเป็นการบูชาและทำบุญฝากเงินไว้ แต่ต่อมาคนรุ่นหลัง ได้เห็นเป็นของเล่นที่แปลกๆ ได้นำเอาก้อนกรวดก้อนอิฐทิ้งลงไป เพื่อจะฟังเล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น ทางวัดเห็นว่าไม่สมควร จึงทำการปิดช่องฝากเงินนั้น ปิดมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเสียหายกับสิ่งที่เราต้องเคารพบูชากราบไหว้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
๖. รายนามเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร
การลำดับเจ้าอาวาสและผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จะให้ละเอียดถี่ถ้วนเป็นของยาก เพราะเป็นวัดที่เกิดขึ้นเก่าแก่มานานปี อาตมา (พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง)) ได้พยายามรวบรวมสืบหาจากการบอกเล่าต่อๆ กันมา ค้นหาจากการบันทึกบ้าง จากผู้รู้ทั้งหลายบ้าง เป็นเวลาประมาณ ๓๐ กว่าปี พอจะสรุปได้ว่า มีหลักฐานยังไม่ละเอียดถี่ถ้วนนัก ถ้าขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ขออภัยต่อท่านผู้รู้ ดังมีรายนามดังต่อไปนี้
๑. พระพุทธสอระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๒๖๐-๒๓๐๕ มีผลงาน ได้บูรณะองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุ หุ้มด้วยดีบุก ๒๕ หาบ และปิดทองเต็มองค์พระเจดีย์พระบรมธาตุในสมัยกรุงศรีอยุธยา
๒. พระอาจารย์ปั้น พระอาจารย์โป๋ พระอาจารย์คำ พระสมุท์เปรม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๐๕ สืบทอดต่อจากพระพุทธสอระ จะมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมากี่องค์ไม่ปรากฏ
๓. พระครูเมธังกร เป็นเจ้าอาวาส และเป็นพระอุปัชฌาย์ ประมาณ พ.ศ.๒๓๗๑
๔. หลวงพ่อช้าง ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมในพระครูเมธังกร นามว่า พระใบฎีกาช้าง
๔.๑ พ.ศ.๒๔๑๑ ต่อมาพระครูเมธังกร ได้มรณภาพลง พระใบฎีกาช้าง ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อกันมา ไม่ทราบว่าแต่งตั้งเมื่อไร ไม่มีหลักฐานปรากฏ
๔.๒ พ.ศ.๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร มีพระราชทินนามว่า พระครูอินทโมลี พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
๔.๓ พ.ศ.๒๔๔๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท
๔.๔ พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอินทโมลีศรีบรมธาตุบริหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๕ รวมสิริอายุ ๘๑ ปี
๕. พระวินัยธรคำ ติสสเถระ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อกันมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๗๑
๖. พระชัยนาทมุนี (หรุ่น) เกิดที่อำเภอสรรคบุรี ย้ายมาจากวัดเหยง จังหวัดชัยนาท เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๘๕ ได้มรณภาพไปแล้ว
๗. พระปลัดล่ำ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๙๕
๘. พระครูบริรักษ์บรมธาตุ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชัยนาทมุนี (นวม) และเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา จนถึง พ.ศ.๒๕๐๙
๙. พระครูวุฒิชัยโสภณ (บุญส่ง) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ทางคณะสงฆ์ได้ย้ายจากวัดเขาท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๔๕ มีผลงาน ได้ก่อสร้างกุฏิ ถมดิน นำกระเบื้องปูพื้นเจดีย์พระธาตุ สร้างบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างศาลาอเนกประสงค์ สร้างกำแพงรอบบริเวณวัด ส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรมและบาลี
๗. พระเจ้าแผ่นดินเสด็จวัดพระบรมธาตุวรวิหาร
องค์พระประมุขของชาติหลายรัชกาลเสด็จวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เพื่อทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ และได้ทรงพระราชทานวัตถุสิ่งของไว้ในพระบรมธาตุ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ตามที่ได้ไว้ของวัด มีดังจะกล่าวต่อไปนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐
๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไว้ดังต่อไปนี้
๑.๑ พระบรมรูปหล่อด้วยทองแดงของพระองค์ ประทับยืน ๑ องค์
๑.๒ ตู้พระไตรปิฎก แกะสลักลายไทย ๑ ตู้
๑.๓ พระธรรมาสน์หลวง ๑ หลัง
๑.๔ พระราชทานผ้ากราบพระและผ้ารองย่ามแด่พระสงฆ์
๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไว้ดังต่อไปนี้
๒.๑ พระบรมฉายาลักษณ์ ๑ ภาพ
๒.๒ ตู้พระไตรปิฎก แกะลายรดน้ำ ๑ ตู้
๒.๓ ธรรมาสน์หลวง แกะลายไทย ๑ หลัง
๒.๔ เงิน ๖ ชั่ง ให้วัดพระบรมธาตุ
๓. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของไว้ดังต่อไปนี้
๓.๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานให้ยกวัดพระบรมธาตุ วัดราชให้ยกฐานะเป็น วัดพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
๓.๒ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ บาท ถวายวัด
๓.๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จวัดพระบรมธาตุ เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐
๓.๔ เจ้าชายญี่ปุ่นอากิชิโน เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕
๓.๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย เสด็จมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕
๓.๖ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร พร้อมทั้งคณะ ประมาณ ๘๐ คน
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เจ้าคุณวิชัยโสภณ (บุญส่ง สุบินมิตร). (๒๕๔๕, ๗ พฤศจิกายน). ประวัติวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ ๑-๔ รวมในเล่มเดียวกัน (พิมพ์ครั้งที่ ๔) หน้า ๑-๑๐, ๒๙-๓๑.)