แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 13605|ตอบ: 9
go

วัดมหาธาตุ ม.๘ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

DSC01093.JPG



วัดมหาธาตุ  

ม.๘ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

[องค์พระมหาธาตุเจดีย์]

----------------------


(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 29 กันยายน 2565)


Rank: 8Rank: 8

DSC01119.JPG



การเดินทางไปวัดมหาธาตุ


จากหน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ไปตามถนนสายสรรคบุรี-สรรพยา ระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นถนนคอนกรีต วัดมหาธาตุอยู่ซ้ายมือ หรือจะผ่านเข้าทางในตลาด ระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร ถึงหน้าอุโบสถ เลยไปอีกประมาณ ๑๐๐ เมตร ถึงพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่หน้าวัด และที่บริเวณใกล้ๆ กันนี้ ตรงข้างริมแม่น้ำน้อย เคยเป็นสถานที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จประพาสวัดมหาธาตุ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔



DSC01043.JPG



วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ เลขที่ ๙๙ หมู่ที่ ๘ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ที่ดินที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๒ งาน ๔๗ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๗๔๖๕

อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือยาว ๑๒๐ เมตร ติดทางสาธารณะ ทิศใต้ยาว ๑๑๐ เมตร ติดทางสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว ๖๓ เมตร ติดทางสาธารณะและแม่น้ำน้อย ทิศตะวันตกยาว ๗๕ เมตร ติดทางสาธารณะ


DSC01034.JPG



ซุ้มประตูทางเข้าด้านหลัง วัดมหาธาตุ


DSC01067.JPG



ประวัติวัดมหาธาตุ



วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ เลขที่ ๙๙ หมู่ที่ ๘ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นศาสนสถานสำคัญของเมืองโบราณแพรกศรีราชา ซึ่งเป็นเมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำน้อย ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เจริญสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และคงอยู่ต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

วัดมหาธาตุ เดิมเรียกว่า วัดหัวเมือง หรือ ศีรษะเมือง มีบริเวณพื้นที่ด้านหน้าเรียกว่า “หน้าพระลาน” เช่นเดียวกับบริเวณศูนย์กลางของเมืองใหญ่ทั้งอยุธยา และกรุงเทพมหานคร จึงน่าจะเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองแพรกศรีราชามาแต่โบราณ

วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนา ก่อสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๘๙๗ รัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท หรือพระยาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย แต่มาเจริญรุ่งเรืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) เป็นอย่างน้อย

ประกอบด้วย พระอุโบสถรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพระเจดีย์ ซึ่งปรากฏเหลือเพียงส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยมสูงซ้อนกันหลายชั้นเป็นประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งมีร่องรอยการก่อสร้างขยายออกไปล้อมพระวิหารทางด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นอาคารขนาดเก้าห้อง เหลือเพียงฐานเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังบางส่วน ภายในโดยรอบระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูป

ที่กึ่งกลางระเบียงคดด้านทิศตะวันตกประดิษฐานหลวงพ่อหมอ หรือหลวงพ่อหลักเมือง เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองสรรค์ที่สมบูรณ์องค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเจดีย์รายรูปทรงต่างๆ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือนอกระเบียงคด ที่สำคัญคือ เจดีย์กลีบมะเฟืองประดับรูปเทพพนม มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ รูปแบบอิทธิพลปรางค์กลีบมะเฟืองที่เมืองลพบุรี


กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ป้ายประวัติวัดมหาธาตุ และหนังสือศิลปกรรมสำคัญเมืองชัยนาท และประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กรมการศาสนา หน้า ๖๔๖.)


DSC01107.JPG



ลักษณะการวางภูมิสถานของวัดมหาธาตุ



พระราชวินิจฉัยวัดมหาธาตุ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีลายพระหัตถ์บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) มีใจความตอนหนึ่งว่า

วัดพระมหาธาตุ อยู่ในตำบลบ้านซึ่งเรียกว่า บ้านหน้าพระลาน อันเป็นที่ตั้งวังเจ้าผู้ครองเมือง อยู่ในกลางย่านระหว่างคูเมืองทั้งสองด้าน เชิงเทินยังมีปรากฏอยู่ เป็นเนินดินยื่นเข้าไปจากแม่น้ำฟากตะวันตก ๒๐ เส้น แต่เมืองนี้เป็นเมืองทำ ๒ ฟากน้ำเช่นทั้งปวง แต่ฟากตะวันออกจะยื่นเข้าไปมากน้อยเท่าใด เค้าเงื่อนหายไปเสียแล้ว บางทีจะคงอยู่แต่ฟากเดียวในชั้นหลัง

วัดพระมหาธาตุนั้นตามฝีมือที่ทำมีเป็น ๒ คราว หรือ ๓ คราว ชั้นเดิมทีเดียวเป็นอย่างเมืองละโว้ ชั้นที่ ๒ เป็นอย่างเมืองลพบุรี เป็นการทำเพิ่มเติมซ้ำๆ กันลงไป เช่นตัวอย่างที่เห็นชัดคือ พระระเบียง เดิมเป็นพระศิลานั่งเว้นห้องหนึ่งมีห้องหนึ่ง ครั้นภายหลังทำแทรกลงในห้องว่างทุกๆ ห้อง เป็นพระก่ออิฐ และขยายระเบียงออกไป เอามุมเป็นกลางอย่างเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างวิหารใหญ่ขึ้นใหม่ เห็นจะเป็นครั้งเจ้ายี่พระยา แต่ทีจะไม่แล้ว ตัวพระมหาธาตุนั้นก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่จะเป็นยอดเล็กยอดน้อยไม่ใช่ปรางค์

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ อ้างอิงจากพระราชวินิจฉัย รัชกาลที่ ๕ หนังสือประวัติศาสตร์ประพาสต้น ๒๔๔๔)


DSC01080.JPG



อุโบสถ วัดมหาธาตุ



DSC01074.JPG



DSC01078.JPG



ด้านหน้าอุโบสถ วัดมหาธาตุ



DSC01082.JPG



ด้านหลังอุโบสถ วัดมหาธาตุ


DSC01076.JPG



ประวัติอุโบสถ วัดมหาธาตุ


อุโบสถ วัดมหาธาตุ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๙๗ ได้รับการบูรณะใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นอุโบสถรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างจากฐาน ๑๓.๐๐ เมตร ยาว ๓๑.๕๐ เมตร เขตสีมากว้าง ๑๕.๕๐ เมตร ยาว ๓๕.๕๐ เมตร แบ่งออกเป็น ๗ ห้อง มีพะไลด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาเป็นแบบซ้อนสองชั้น

พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ สร้างด้วยอิฐถือปูน ขนาดพระเพลา ๔.๐๐ เมตร สูงจากฐานถึงพระเกตุมาลา ๖.๐๐ เมตร และมีพระพุทธรูปนั่ง ๒ องค์ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ แล้วสันนิษฐานว่าคงจะมีการซ่อมแซมในยุคหลัง

จากรูปลักษณะทั่วไป เช่น ฐานทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่รองรับพะไล มีหลังคาเป็นเพิงคลุมลงมาเฉยๆ นั้น คงจะถูกซ่อมแซมเปลี่ยนรูปใหม่ ท่านผู้รู้หลายท่านได้สันนิษฐานว่า มุขหน้าของเดิม น่าจะเป็นมุขมีผนังและหลังคาลดชั้นหนึ่ง มีหน้าต่างด้านหน้า คล้ายมุขเด็จดังเช่น พระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี มุขของอุโบสถวัดมหาธาตุ อาจจะใช้เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองในสมัยนั้นก็ได้ เพราะบริเวณข้างวัดด้านทิศใต้ ชาวบ้านยังเรียกว่า บ้านหน้าพระลาน

ผลที่ได้รับจากการบูรณะ ทำให้ผิดลักษณะเดิมที่แท้จริงในบางส่วน เช่น ฐานของอุโบสถ ซึ่งเดิมที มีลักษณะคล้ายเรือสำเภาโบราณได้หายไป ก่ออิฐเป็นแนวตรงทั้ง ๓ ด้านมาแทนที่ ยังเห็นลักษณะเดิมได้ชัดเจนด้านหน้าอุโบสถ และการอุดหุ้มกลองตรงเหนือชื่อพระประธานด้านหน้า คงรักษาประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ข้างพะไลไว้ตามเดิม สภาพของอุโบสถในปัจจุบันนี้ จึงมีลักษณะไม่เหมือนเดิม

มีผู้สูงอายุท่านหนึ่ง เคยเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จวัดมหาธาตุ ทรงตำหนิว่า ทำให้เสียรูปทรงของเดิมหมด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จในครั้งนั้น นอกจากทรงตรวจเยี่ยมวัดมหาธาตุแล้ว ยังมีพระประสงค์หาพระพุทธรูป เพื่อประดิษฐานในวิหารคด วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เพราะที่วิหารคดนั้นมีพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองเนื้อสัมฤทธิ์ พระเพลาประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร สูงจากพระเพลาถึงพระเกตุมาลา ๑๓๐ เซนติเมตร หนึ่งองค์ สภาพสมบูรณ์และสวยงามมาก มีตัวหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่แผ่นป้ายบนฐานด้านหน้าว่า ได้จากวัดมหาธาตุ เมืองสรรค์

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ และหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กรมการศาสนา หน้า ๖๔๖.)


DSC01077.JPG



พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ๓ องค์ ประดิษฐานบนฐานพระ พะไลด้านหน้าอุโบสถ วัดมหาธาตุ


DSC01083.JPG



พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ๑ องค์ สภาพชำรุด และชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานบนฐานพระ พะไลด้านหลังอุโบสถ วัดมหาธาตุ


Rank: 8Rank: 8

DSC01085.JPG



DSC01084.JPG



องค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ


เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ซึ่งปรากฏเหลือเพียงส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยมสูงซ้อนกันหลายชั้นเป็นประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งมีร่องรอยการก่อสร้างขยายออกไปล้อมพระวิหารทางด้านทิศเหนือ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘


จากพระราชวินิจฉัยวัดมหาธาตุ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีลายพระหัตถ์บันทึกไว้ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) มีใจความตอนหนึ่งว่า องค์พระมหาธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ที่จะเป็นยอดเล็กยอดน้อย ไม่ใช่ปรางค์



DSC01081.JPG



ประวัติองค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ


องค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในกำแพงสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันออก ด้านหลังอุโบสถ พระเจดีย์ส่วนใหญ่พังทลายลงไปมาก จนไม่สามารถมองเห็นสภาพอันแท้จริงว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร มีแบบอย่างที่ไหนบ้าง

ระเบียงคดรอบองค์พระธาตุนั้น ทิศตะวันตกยาว ๖๖ เมตร ทิศเหนือยาว ๔๑ เมตร ทิศตะวันออกยาว ๖๖ เมตร ทิศใต้ยาว ๔๑ เมตร ระเบียงคดทั้งสี่ทิศ ตรงมุมจะมีพระพุทธรูปปูนปั้น ๒ องค์ ขนาดพระเพลา ๑.๘๐ เมตร ทั้งสี่มุม ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มุมด้านทิศใต้ ๑ องค์ สภาพชำรุด มุมด้านทิศเหนือ ๑ องค์ มุมด้านทิศตะวันออก ๒ องค์ บูรณะเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ตามแนวระเบียงคด มีพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดพระเพลา ๑.๑๕ เมตร เรียงเป็นแถว พระชานุแทบจะติดกันตลอดแนวระเบียงคดทั้งสี่ด้าน

องค์พระมหาธาตุในสมัยก่อน คงเป็นบุญสถานศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองสรรค์ เปิดให้ประชาชนขึ้นนมัสการพระพุทธรูปบนองค์พระมหาธาตุ เวลามีงานเทศกาล จะมีการปิดทองพระ บูชาองค์พระมหาธาตุ จากหลักฐานการขุดพบราวเทียน หรือราวปักเทียน ขนาดยาว ๒.๓๐ เมตร ใกล้ฐานองค์พระมหาธาตุด้านทิศเหนือ (ราวปักเทียนปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อพระปลัดฉ่อง)

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ)


DSC01088.JPG



DSC01089.JPG



พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ๑ องค์ และชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานอยู่ระเบียงคดมุมด้านทิศเหนือ องค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ


DSC01091.JPG



DSC01092.JPG



พระพุทธรูปปูนปั้น ๑ องค์ สภาพชำรุด ประดิษฐานอยู่ระเบียงคดมุมด้านทิศใต้ องค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ


DSC01087.JPG



พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ๓ องค์ และชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานอยู่ระเบียงคดมุมด้านทิศตะวันออก องค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ


DSC01086.JPG


ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น สภาพชำรุด เดิมเป็น
พระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดพระเพลา ๑.๑๕ เมตร ประดิษฐานเรียงเป็นแถว พระชานุแทบจะติดกันตลอดแนวระเบียงคดทั้งสี่ด้าน องค์พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ


Rank: 8Rank: 8

DSC01047.JPG



DSC01046.JPG



วิหารพระพุทธสรรค์สิทธิ วัดมหาธาตุ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖



DSC01042.JPG



เจดีย์รายรูปทรงต่างๆ วัดมหาธาตุ


ตั้งอยู่ทางทิศเหนือนอกระเบียงคด เป็นเจดีย์ของเก่ามาแต่เดิม ๖ องค์ และพระปรางค์ ๑ องค์ ได้รับการบูรณะใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐-๒๔๗๑



DSC01049.JPG



DSC01051.JPG



DSC01050.JPG



DSC01052.JPG



DSC01054.JPG



DSC01055.JPG



DSC01063.JPG



DSC01058.JPG



เจดีย์รายรูปทรงต่างๆ ๖ องค์ และพระปรางค์ ๑ องค์ วัดมหาธาตุ


Rank: 8Rank: 8

DSC01060.JPG



DSC01057.JPG



พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง วัดมหาธาตุ

ลักษณะของพระปรางค์ รูปแบบอิทธิพลปรางค์กลีบมะเฟืองที่เมืองลพบุรี ดังเช่น วัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี แต่ลักษณะกลีบมะเฟืองของพระปรางค์วัดมหาธาตุเมืองสรรคบุรีนั้น มีรูปทรงที่สูงชะลูดกว่า ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้ง ๔ ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งสี่ทิศ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยา


DSC01059.JPG



ประวัติพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง วัดมหาธาตุ


พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง วัดมหาธาตุ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้รับการบูรณะใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ ใกล้แม่น้ำน้อย สร้างด้วยอิฐถือปูน นักโบราณคดีหลายท่านกล่าวว่า คงได้รับอิทธิพลจากพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองในศิลปะลพบุรี

น. ณ ปากน้ำ ได้เขียนไว้ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ (กันยายน ๒๕๑๗) เรื่องสรรคบุรีนครแห่งความฝัน ตอนหนึ่งว่า

พระปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือหน้าวัด ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมถนนหัวเลี้ยวพอดี มีลักษณะงามสง่าจับใจมาก แม้ว่าขนาดจะเล็กกะทัดรัดก็งามเป็นพิเศษ พระปรางค์แบบนี้ยังมีอยู่อีกองค์หนึ่งกลางเมืองสรรค์ อยู่ใกล้กับวัดสองพี่น้อง แต่ขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย เทคนิคการก่ออิฐเป็นแบบอู่ทองโดยแท้ คือ สอดินกับยางไม้ก่ออิฐแนบสนิท พระในซุ้มปรางค์เป็นพระยืนปางรำพึงแบบเดียวกับวัดพระแก้ว เชิงของยอดกลีบมะเฟืองปั้นปูนรูปเทพพนมติดที่สันกลีบทุกกลีบ ใต้ลงมาเป็นบัวหงาย และลวดลายซึ่งมีลักษณะคล้ายกับลาย ณ ฐานเจดีย์สุพรรณบุรีมาก ฯ

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ)


DSC01062.JPG


ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ ระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง วัดมหาธาตุ


DSC01056.JPG



DSC01053.JPG



พระปรางค์ ๒ องค์ ที่ยังไม่ได้บูรณะ วัดมหาธาตุ อยู่บริเวณที่ตั้งขององค์ระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง ด้านทิศตะวันตก


DSC01106.JPG



ภาพปาฏิหาริย์ของพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองและพระปรางค์สององค์ ที่ยังไม่ได้บูรณะ วัดมหาธาตุ

ได้ปรากฏเกิดแสงประหลาด เป็นดวงกลมโตเท่าบาตร มีแสงสว่างไสวฉายรัศมีสวยงามเปล่งออกจากพระปรางค์ เสด็จลอยออกจากฐานองค์พระปรางค์ มีแสงสีขาว-เหลือง-ส้ม ลอยไปมาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วค่อยๆ จางหายเข้าไปสู่องค์พระปรางค์


DSC01065.JPG



พระพุทธรูปศิลาทราย วัดมหาธาตุ ศิลปะสมัยอยุธยา ขนาดพระเพลา ๒.๘๐ เมตร สูงจากฐานถึงพระเกตุมาลา ๔.๒๗ เมตร


DSC01064.JPG



ประวัติพระพุทธรูปศิลาทราย วัดมหาธาตุ


ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปศิลาทรายองค์นี้ เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ พระอาจารย์ไป๋ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ในขณะนั้น ได้ชักชวนชาวบ้านไปนำพระพุทธรูปศิลาทรายมาจากวัดร้างแห่งหนึ่ง มาไว้ที่วัดมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปศิลาที่มีพุทธลักษณะงดงาม มีสภาพสมบูรณ์และใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยพบเห็นในเขตอำเภอสรรคบุรี

เดิมทีประดิษฐานอยู่ตรงหน้าวิหารเก่า หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันตก ปัจจุบันย้ายจากที่เดิมมาประดิษฐานไว้ที่ข้างวิหารเก่า ด้านข้างแถวเจดีย์รายขนานกับวิหารเก่า หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ)


Rank: 8Rank: 8

DSC01066.JPG



วิหาร วัดมหาธาตุ



DSC01072.JPG



ประวัติวิหาร วัดมหาธาตุ


วิหาร วัดมหาธาตุ สร้างคู่ขนานกับอุโบสถ มีระยะห่างจากฐานอุโบสถ ๑๓.๐๐ เมตร ตัววิหาร ขนาดกว้าง ๑๒.๔๐ เมตร ยาว ๔๕.๖๐ เมตร เป็นอาคารขนาดเก้าห้อง มุขด้านหลังยื่นลึกเข้าไปในระเบียงคดขององค์พระมหาธาตุ ๓.๕๐ เมตร

ลักษณะทั่วไป ชำรุดทรุดโทรมมาก ที่ยังเห็นได้ชัดในขณะนี้คือ ฐาน เหลือเพียงฐานเสาแปดเหลี่ยมยอดบัวจงกล และผนังกำแพงบางส่วน เสาประธานแปดเหลี่ยม เหลือจำนวน ๑๓ ต้น ส่วนเสาด้านหน้า เป็นเสาสี่เหลี่ยม ยังเหลืออยู่ จำนวน ๓ ต้น มีบัวหัวเสาเป็นแบบบัวจงกล มีทางขึ้นด้านหน้าวิหารทางทิศตะวันออกทางเดียว ด้านหลังวิหารมีทางเดินเชื่อมกับระเบียงคดออกไปสู่องค์พระมหาธาตุได้ ลักษณะเป็นวิหารสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น

มีพระประธานวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย องค์ใหญ่ ๑ องค์ องค์เล็ก ๑ องค์ บูรณะใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ)


DSC01071.JPG



พระประธานองค์ใหญ่ ประดิษฐานภายในวิหาร วัดมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ประทับนั่งแบบขัดสมาธิราบ สกุลช่างเมืองสรรค์


DSC01073.JPG



พระประธานองค์เล็ก ประดิษฐานภายในวิหาร วัดมหาธาตุ


Rank: 8Rank: 8

DSC01118.JPG



วิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ

ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางระเบียงคดด้านทิศตะวันตกขององค์พระมหาธาตุ แนวเดียวกับวิหารเก่า ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๙ เมตร ตัววิหารยื่นลึกเข้าไปในระเบียงคด ๖ เมตร ภายในประดิษฐานหลวงพ่อหลักเมือง หรือหลวงพ่อหมอ


DSC01094.JPG



DSC01095.JPG



หลวงพ่อหลักเมือง หรือหลวงพ่อหมอ วัดมหาธาตุ

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งแบบขัดสมาธิราบบนฐาน ลงรักปิดทอง ศิลปกรรมสกุลช่างเมืองสรรค์ที่สมบูรณ์องค์หนึ่ง และเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด


DSC01096.JPG



ประวัติหลวงพ่อหลักเมือง (หลวงพ่อหมอ) วัดมหาธาตุ


หลวงพ่อหลักเมือง หรือ หลวงพ่อหมอ วัดมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูป ซึ่งมีมาแต่โบราณ ได้รับการบูรณะ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ ขนาดพระเพลา ๒.๒๐ เมตร จากพระเพลาถึงพระเกตุมาลา ๒.๓๐ เมตร หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันตก

ที่เรียกหลวงพ่อหลักเมือง หรือหลวงพ่อหมอ นั้นเป็นเนมิตกนาม คือพระนามที่เกิดขึ้นตามเหตุที่ประชาชนเรียกกันมาแต่โบราณ

พระนามหลวงพ่อหลักเมือง เพราะด้านพระปฤษฎางค์ (ด้านหลัง) มีแท่งศิลา ๒ แท่ง จำหลักเทวรูป ปักอยู่คู่กัน แท่งใหญ่สูง ๑.๔๐ เมตร แท่งเล็กสูง ๐.๖๐ เมตร ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่า หลักเมือง

พระนามหลวงพ่อหมอ เพราะเหตุประชาชนในถิ่นนั้น เวลาเจ็บป่วยขึ้นมาด้วยเหตุใดก็ตาม จะพากันมาขอน้ำมนต์ไปรักษาทั้งคนและสัตว์ หรือบางทีก็บนบานศาลกล่าว เมื่อมีเหตุขัดข้องนานาประการ ตามความเชื่อถือ

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ศึกษาประวัติศาสตร์ที่วัดมหาธาตุ พระองค์ได้ทรงพระราชทานเงินบำรุงวัดจำนวนหนึ่ง

เจ้าอาวาสคือ พระครูชัยกิจโสภณ ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง จึงได้ปรึกษาและชักชวนประชาชน ให้ร่วมกันบริจาคสมทบตั้งเป็นกองทุนบำรุงวัดและสาธารณสงเคราะห์ รวมกับเงินกองทุนหลวงพ่อหมอ ขณะนี้มียอดเงินฝากรวม ๒,๙๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านเก้าแสนบาท) ได้นำเงินดอกเบี้ยแจกทุนการศึกษาในวันแม่แห่งชาติจำนวนหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ บาท (หกหมื่นบาท)

----------------------


(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : เอกสารประวัติวัดมหาธาตุ ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐)


DSC01113.JPG


เสาหินหลักเมือง อยู่ด้านหลังหลวงพ่อหลักเมือง (หลวงพ่อหมอ) ภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ

ประกอบด้วย แท่งศิลา ๒ แท่ง จำหลักเทวรูป ปักอยู่คู่กัน แท่งใหญ่สูง ๑.๔๐ เมตร แท่งเล็กสูง ๐.๖๐ เมตร


DSC01117.JPG


ใบเสมาโบราณ จำนวน ๓ ใบ ภายในวิหาร
หลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ


Rank: 8Rank: 8

DSC01115.JPG



DSC01116.JPG



พระพุทธรูปปางต่างๆ และรูปพระสังกัจจายน์ ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ


DSC01097.JPG



รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) , หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงพ่อปลัดฉ่อง พุทฺธรกฺขิโต (เรียงจากซ้าย-ขวา) ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ


DSC01098.JPG



รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ


DSC01101.JPG



รูปเหมือนหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ


DSC01099.JPG



รูปเหมือนหลวงพ่อปลัดฉ่อง พุทฺธรกฺขิโต อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ชาตะ พ.ศ.๒๔๕๓ มรณภาพ พ.ศ.๒๕๑๐ ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อหลักเมือง วัดมหาธาตุ


Rank: 8Rank: 8

DSC01038.JPG



DSC01037.JPG



ศาลาการเปรียญ วัดมหาธาตุ


DSC01039.JPG



DSC01040.JPG



พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อพระปลัดฉ่อง วัดมหาธาตุ


DSC01036.JPG



DSC01045.JPG



อาคารเสนาสนะต่างๆ วัดมหาธาตุ



DSC01035.JPG



DSC01041.JPG



DSC01061.JPG



DSC01090.JPG



การเดินทางมาวัดมหาธาตุ ขอจบการเดินทางด้วยภาพบรรยากาศภายในวัด สวัสดีค่ะ

----------------------



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
        • วัดมหาธาตุ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
        •
หน่วยอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่น ศิลปกรรมเมืองชัยนาท. (๒๕๓๒). หนังสือศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดชัยนาท (พิมพ์ครั้งที่ ๑). สระบุรี: โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง ๒, หน้า ๑๙-๒๑.
        • หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กรมการศาสนา.


**หมายเหตุ :


ท่านใดประสงค์จะนำรูปภาพหรือเนื้อหาบทความไปใช้ประโยชน์ที่อื่น สามารถนำไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากข้าพเจ้าก่อน


และได้โปรดกรุณาให้เครดิตอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่มา : เว็บแดนนิพพาน และกรุณาอย่าลบหรือครอบตัดเครดิตแหล่งที่มาบนรูปภาพ “Photo by Dannipparn.com”


(ป.ล. หากว่ากระทู้บทความนี้ มีข้อผิดพลาดประการใด ข้าพเจ้าต้องขออภัยในความผิดพลาดต่างๆ ในฐานะปุถุชนที่ย่อมทำผิดและถูกสลับกันไปไว้ ณ ที่นี้ด้วย และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไป)


Rank: 1

สาธุ สาธุ สาธุ

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-4 16:43 , Processed in 0.064048 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.