แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 12119|ตอบ: 0
go

พระอนุรุทธเถระ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 1

พระอนุรุทธเถระ
            พระอนุรุทธเถระ เป็นพระสาวกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่า พระภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างทิพจักษุ พระอนุรุทธเถระนั้น ยกเสียแต่กาลที่ฉันจังหันแล้ว กาลอันเศษนอกนั้น ท่านย่อมพิจารณาแลดูซึ่งหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพจักษุแล้วและอยู่
            พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพจักษุนั้น เพราะได้ตั้งความปรารถนาไว้สิ้นแสนกัป ท่านได้บังเกิดเป็นกุลบุตร ในพระศาสนา แห่งพระปทุมุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกฎมพีอิสระ ในเวลาปัจฉาภัตร วันหนึ่ง ท่านไปสู่พระวิหารเพื่อจะฟังพระสัทธรรมเทศนากับด้วยมหาชนเป็นอันมาก พระบรมศาสดาได้เทศนาสืบต่อพระสัทธรรมเทศนาตามสมควรแก่อนุสนธิแล้ว จึงทรงตั้งพระภิกษุองค์หนึ่ง อันประกอบด้วย ทิพจักษุไว้ในที่เลิศกว่า พระภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างทิพจักษุ ท่านจึงมีความปริวิตกว่า ทำไฉนจะพึงได้ ซึ่งฐานันดรที่เป็นผู้เลิศกว่า พระภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างทิพจักษุในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะมาอุบัติบังเกิดในอนาคตกาลบ้าง
            เมื่อยังความดำริจิตให้บังเกิดขึ้นดังนี้แล้ว จึงไปในที่สุดแห่งบริษัทนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระภิกษุสงฆ์ เพื่อประโยชน์และถวายบิณฑบาต ทาน ณ เพลารุ่งเช้า ครั้นวันรุ่งเช้าจึงถวายบิณฑบาตทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนิมนต์ต่อไปในวันรุ่งขึ้นอีก ท่านได้ถวายมหาทานดังนี้ถ้วนถึงเจ็ดวัน เพราะเหตุมีความปรารถนา ซึ่งที่ฐานันดรอันใหญ่ แล้วได้ถวายผ้าจีวรสาวกเนื้อละเอียดทั้งหลาย แก่พระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระสงฆ์บริวาร จึงตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระบาทได้กระทำ ซึ่งสักการะบูชาอันนี้ ใช่จะมีประโยชน์ด้วยทิพยสมบัติ และมนุษยสมบัติก็หามิได้ ในที่สุดแห่งวัน เป็นคำรบเจ็ด นับแต่วันนี้ลงไปนั้น พระองค์ได้ทรงตั้งพระภิกษุองค์ใดไว้ในที่อันเลิศกว่า พระภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างทิพจักษุ แม้ข้าพระบาทนี้ ก็ขอให้พึงได้ฐานันดรที่เป็นผู้เลิศกว่า พระภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างทิพจักษุ ดุจพระภิกษุองค์นั้นในพระพทุธศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเบื้องหน้าเถิด
            ครั้นตั้งปณิธานความปรารถนาฉะนี้แล้ว จึงหมอบลงแทบพระบาทมูลของพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพิจารณาดูอนาคตกาล ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ความปรารถนาของกฎมพีนั้นจะสำเร็จ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสพยากรณ์ทำนายว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญสืบไปในอนาคตกาล เบื้องหน้าในที่สุดแห่งแสนกัป นับแต่กัปนี้ไปพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระโคดม จะได้มาบังเกิดในโลกนี้ ท่านจะได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพจักษุ มีนามว่าอนุรุทธเถระ ในพระศาสนาของพระโคดม สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
            ฝ่ายอิสระกฎมพีนั้น เบื้องว่าพระพุทธเจ้ายังทรงธรมานมีพระชนม์อยู่ตราบใด ก็มิได้ละเสียซึ่งกัลยาณกรรมกองการกุศลตราบนั้น ครั้นเมื่อพระบรมศาสดา เสด็จดับขันธปรินิพพาน และเมื่อมหาชนชวนกันสถาปนาก่อพระมหาเจดีย์แล้วไปด้วยทอง สูงได้ ๖ โยชน์กับ ๒๐๐ เส้น เสร็จลงแล้ว กฎมพีผู้นั้นจึงเข้าไปยังสำนักพระภิกษุสงฆ์ ถามว่า สิ่งอันใดซึ่งจำเป็นที่บริกรรมอบรมแห่งทิพจักษุพระเจ้าข้า พระภิกษุทั้งหลายจึงบอกว่ากิริยาที่ให้ประทีปเป็นทาน และกระทำที่บูชานั่นแหละสมควรอยู่ กฎมพีผู้นั้นจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะกระทำประทีปทาน ณ กาลบัดนี้ จากนั้นได้ยังชนให้กระทำต้นไม้ประทับใหญ่พันต้น ให้ครบกับประทีปพันดวง แล้วให้กระทำต้นไม้ประทีปน้อย ๆ ทั้งหลายอีกมากกว่าพัน ประทีปทั้งหลายอันเศษนั้น จะนับประมาณมิได้ กฎมพีนั้นกระทำของการกุศลอยู่ในลำดับตราบเท่ากำหนดชีวิต
            เมื่อได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ล่วงแสนกัปมาแล้ว ครั้นมาในกาลพระพุทธศาสนาแห่งพระพุทธกัสสปพุทธเจ้า กฎมพีนั้นได้มาบังเกิด ในเรือนแห่งกฎมพีผู้มีสมบัติมากในนครพาราณสี เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้า เสด็จนดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว เบื้องว่าพระมหาเจดีย์มีประมาณได้โยชน์หนึ่ง อันบุคคลกระทำเพื่อบรรจุพระบรมธาตุสำเร็จแล้ว กฎมพีผู้นั้นนจึงยังช่างให้กระทำเป็นอ่างแล้วด้วยทองเหลืองเป็นอันมาก ใส่น้ำมันไว้เต็มแล้วตั้งไว้ท่ามกลาง กระทำให้ระยะห่างกันนิ้วหนึ่ง ๆ แล้วใส่เลียวไส้ ทำให้เกลียวเหล่านั้นติดเนื่องกัน แล้วจึงจุดเพลิงให้รุ่งเรืองแวดล้อมพระมหาเจดีย์โดยรอบ แล้วให้ช่างทำอ่างทองเหลืองใหญ่กว่าอ่างทั้งปวง แล้วจึงใส่น้ำมันให้เต็ม ยังเกลียวไส้มีประมาณพันหนึ่งโดยรอบปากอ่างนั้นให้รุ่งเรืองอร่ามไปด้วยเปลวเพลิง แล้วพันด้วยท่อนผ้าเก่า ๆ ให้เป็นจอมขึ้นกลางอ่าง จุดเพลิงให้รุ่งเรืองแล้วยกขึ้นทูลเหนือศีรษะของตน เดินเวียนไปจนรอบพระมหาเจดีย์สิ้นราตรียังรุ่ง
            กฎมพีผู้นั้นทำกองการกุศลอยู่ในอัตภาพนี้ตราบเท่ากำหนดอายุแล้วได้ไปบังเกิดในเทวสถาน กาลเมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติบังเกิดในโลก กฎมพีผู้นั้นได้จุติมาเกิดปฏิสนธิในตระกูลคนทุคคตะในนครพาราณสีอีก เป็นคนหาบหญ้า อาศัยสุมนเศรษฐีเลี้ยงชีวิตอยู่ อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง พระนามว่า อุปริฎฐ ปัจเจกพระพุทธเจ้า พระองค์เข้าสู่นิโรธสมาบัติอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์ ครั้นถ้วนกำหนดเจ็ดวันก็ออกจากนิโรธสามบัติ จึงมาพิจารณาว่า วันนี้เราจะอนุเคราะห์แก่ผู้ใดหนอ แล้วมาดำริว่า วันนี้เราสมควรจะอนุเคราะห์แก่อันนภารบุรุษ พระองค์จึงได้ถือบาตร และจีวรออกจากภูเขาคันธมาทน์ เหาะขึ้นไปยังเวหาส เข้าไปยืนประดิษฐานอยู่ ณ ที่เฉพาะหน้าแห่งอันนภารบุรุษแทบประตูเคหสถาน
            อันนภารบุรุษ ครั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีบาตรเปล่าอยู่ในมือจึงอภิวาทแล้วถามว่า พระผู้เป็นเจ้าได้จังหันบิณฑบาตแล้ว หรือพระองค์จึงตอบว่า ท่านผู้มีบุญมาก เรายังไม่ได้ กฎมพีผู้นั้นจึงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้หยุดยั้งอยู่ก่อน แล้วตนเองรีบกลับไปถามผู้เป็นภรรยา ภัตตาหารอันเป็นส่วนที่ท่านตั้งไว้ให้ตนนั้นมีอยู่หรือไม่ ภรรยาตอบว่ามีอยู่ กฎมพีผู้นั้นจึงรีบไปรับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกลับมาบอกภรรยาว่า เรานี้มีแต่ตั้งหน้าแสวงการหาจ้างท่านผู้อื่นเลี้ยงชีวิต เพราะว่าในปุริมภพนั้นเราหาได้บำเพ็ญการกุศลไว้ไม่ จึงได้ความยากจนอนาถาดังนี้ กาลเมื่อเราทั้งสองปรารถนาจะให้ทานแล้วไทยธรรมก็ไม่มี กาลเมื่อไทยธรรมมีอยู่เราหาได้พบปะปฏิคาหกไม่ วันนี้ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ภัตตาหารส่วนที่เป็นของตนมีอยู่ เจ้าจงนำภัตตาหารซึ่งเป็นของข้านั้นมาใส่บาตรนี้เถิด ฝ่ายภรรยาจึงดำริว่า สามีของเราได้สละภัตตาหารซึ่งเป็นส่วนของตนให้ในกาลใดแล้ว เราก็ควรมีส่วนในทานนี้ในกาลนี้บ้าง คิดแล้วนางจึงนำเอาภัตตาหาร ซึ่งเป็นส่วนของสามี และส่วนของตนใส่ลงในบาตร ให้สามีนำไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากความที่หาเลี้ยงชีวิตโดยยากเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าววาจาว่า ดูกรท่านผู้มีบุญมาก ความปรารถนาจงสำเร็จแก่ท่านอย่างนั้นเถิด แล้วพระองค์ได้กระทำภัตตกิจ เสร็จภัตตกิจแล้ว พระองค์จึงกล่าวพระคาถาภัตตานุโมทนา แล้วดำเนินไปตามมรรคา
            ฝ่ายเทพดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ที่ภูฉัตรของสุมนเศรษฐีนั้นจึงออกวาจาให้สาธุการอนุโมทนา ฝ่ายสุมนเศรษฐีได้สดับแห่งเทพดา จึงถามเทพดานั้นว่า เมื่อข้าพเจ้าให้ทานอยู่ ท่านมิได้เห็นหรือประการใด เทพดาตอบว่าเราหาได้ให้สาธุการเพราะทานของท่าน เรามีความเลื่อมใสในบิณฑบาตทานที่อันนภารบุรุษได้ถวายแก่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า  สุมนเศรษฐีจึงมาดำริว่า เหตุนี้ดูก็น่าอัศจรรย์ คิดแล้วจึงให้เรียกอันนภารบุรุษมาแล้วถามว่า  วันนี้ท่านได้ให้ทานสิ่งใดแก่ใครหรือ อันนภารบุรุษจึงบอกว่า  ข้าพเจ้าได้ถวายภัตตาหาร อันเป็นส่วนของข้าพเจ้าแก่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า สุมนเศรษฐีได้ฟังแล้วจึงกล่าวว่า ถ้ากระไรท่านจงรับเอาซึ่งกหาปณะแล้ว จงให้บิณฑบาตทานนั้นแก่เราเถิด อันนภารบุรุษตอบว่า ข้าพเจ้าหาให้ไม่ เศรษฐีจึงทวีทรัพย์มากขึ้นไปจนถึงพันกหาปณะ แต่อันนภารบุรุษก็ยืนคำอยู่ สุมนเศรษฐีจึงกล่าวว่า เมื่อท่านไม่ยอมให้บิณฑบาตของท่าน ก็ขอให้ถือเอาทรัพย์พันกหาปณะนี้แล้ว จงให้ส่วนบุญแก่เราบ้าง อันนภารบุรุษจึงตอบว่า กิริยาที่ให้ส่วนบุญนั้น จะควรหรือไม่ควรอย่างไรนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ จะไปขอถามพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านดูก่อน เมื่อเห็นว่าควรก็จะให้ข้าพเจ้าก็จะให้ เมื่อเห็นว่าไม่ควรจะให้ก็จะไม่ให้
            ครั้นแล้ว อันนภารบุรุษก็ติดตามพระปัจเจกพุทธเจ้าไปจนทันแล้วถามว่า สุมนเศรษฐีจะให้ทรัพย์แก่ตนพันกหาปณะแล้ว จะถือเอาส่วนบุญ ส่วนในบิณฑบาตทาน ที่ตนถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ตนจะให้ได้หรือ จะให้ไม่ได้ประการใด พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงตอบว่า เราจะทำข้ออุปมาให้ท่านฟัง ประทีปอันบุคคลตามไว้ให้รุ่งเรือง ณ เรือนแห่งหนึ่ง อันมีอยู่ในบ้าน อันประกอบด้วยตระกูลร้อยหนึ่งนั้น ชนทั้งหลายอันเศษยังไส้ประทีปให้เอิบอิ่มด้วยน้ำมันแห่งตนแล้ว และจุดให้โพลงขึ้น แต่ประทีปในเรือนเดิมนั้น และถือเอาไป แสงแห่งประทีปเดิมนั้นยังมีอยู่หรือจะหมดไป อันนภารบุรุษตอบว่า แสงสว่างนั้น จะรุ่งเรืองแพร่หลายหนักขึ้นไปเสียอีก พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวต่อไปว่า อันนี่แหละมีอุปมาฉันใด เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญ ในบิณฑบาตทานของตน แก่ชนทั้งหลายอื่นมีประมาณเท่าใด บุญก็ย่อมเจริญขึ้นไป ไม่มีประมาณเท่านั้น เมื่อท่านให้นั้นก็ได้บิณฑบาตทานแต่ครั้งเดียว ครั้นเมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีแล้ว บิณฑบาตทานก็เป็นสองแผนกออกไป แผนกหนึ่งก็คงเป็นของท่านอยู่ตามเดิม อีกแผนกหนึ่งก็จะเป็นของสุมนเศรษฐี มีอุปมัยดุจประทีปอันรุ่งเรืองอยู่แห่งหนึ่ง และมีผู้จุดต่อ ๆ ออกไปจากประทีปดวงเดิม  แสงประทีปดวงเดิมก็มิได้สิ้นสูญไป ยิ่งสว่างมากขึ้นไปอีก
            อันนภารบุรุษ ได้ฟังอุปมาฉะนั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกลับไปยังสำนักมหาเศรษฐีแล้วกล่าวว่า ท่านจงรับเอาส่วนบุญในบิณฑบาตทานนี้เถิด  เศรษฐีจึงตอบวาจาว่า ท่านจงรับทรัพย์พันกหาปณะนี้เถิด อันนภารบุรุษตอบว่า ข้าพเจ้าหาขายบิณฑบาตทานของข้าพเจ้าไม่ ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา  สุมนเศรษฐีจึงกล่าวว่า เราให้ทรัพย์แก่ท่านนั้น เพื่อบูชาคุณของท่าน แล้วกล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปกิจที่ท่านจะต้องทำการด้วยมือตนนั้นอย่ามีเลย  เมื่อท่านจะประโยชน์ด้วยวัตถุสิ่งใดแล้ว จงมานำเอาซึ่งวัตถุนั้นตามชอบใจของท่านเถิด
            ชื่อว่า บิณฑบาตทานอันบุคคลได้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมให้ซึ่งผลเป็นทิฎฐิธรรมเวทนีย์ เห็นประจักษ์ในวันนั้นแท้จริง  ในวันนั้นสุมนเศรษฐีบังเอิญให้พาอันนภารบุรุษไปสู่ราชตระกูล ส่วนบรมกษัตริย์จะได้ทอดพระเนตรดูเศรษฐีมิได้ ทรงทอดพระเนตรแลดูแต่อันนภารบุรุษผู้เดียว  ทั้งนี้ก็เพราะอาศัยด้วยบุญของอันนภารบุรุษ บรมกษัตริย์ได้ตรัสถามเรื่องราวจากสุมนเศรษฐีแล้ว จึงกล่าวว่าอันนภารบุรุษควรจะได้ทรัพย์ของเราบ้าง  เราจะกระทำสักการะบูชาแก่บุรุษผู้นี้บ้าง และมีบัญชาให้พวกข้าราชการไปจัดแจง เคหสถานบ้านเรือนแก่อันนภารบุรุษ เขาเหล่านั้นได้ไปชำระโก่นสร้างพื้นที่  ก็ได้เห็นขุมทรัพย์เป็นอันมาก อยู่ในที่ที่กำลังขุดอยู่นั้น จึงพากันมากราบทูลบรมกษัตริย์ พระองค์จึงให้ไปขุดขึ้นมาแต่ขุมทรัพย์นั้น ก็เคลื่อนลับไป จึงกลับมากราบทูลให้ทรงทราบอีก พระองค์จึงให้ไปขุดตามถ้อยคำที่อันนภารบุรุษสั่ง ก็ได้ขุมทรัพย์มาเป็นจำนวนมาก บรมกษัตริย์จึงตั้งอันนภารบุรุษเป็นเศรษฐีชื่อว่า  มหาเศรษฐี  ในพระนครนั้น
            นับแต่นั้นมา อันนภารบุรุษมหาเศรษฐี ก็อุตสาหกระทำกองการกุศลจนตราบสิ้นชีวิต ได้ไปบังเกิดในเทวโลกท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลกสิ้นการช้านานแล้ว ก็มาปฎิสนธิในพระราชนิเวศน์แห่ง พระเจ้าอมิตโตทนศากยราช ในกรุงกบิลพัสดุ์ พระนามว่า อนุรุทธกุมาร เป็นพระกนิฎฐอนุชาท้าวมหานามศากยราช  เป็นราชบุตรแห่งพระเจ้าอาของพระบรมครูเจ้า มีบุญญาภิสมภารมาก ภัตตาหารบังเกิดแก่เจ้าอนุรุทธกุมารในภาชนะทองคำนั้นเอง อยู่มาวันหนึ่งมารดาของเจ้าอนุรุทธ มีดำริว่า จะให้เจ้าอนุรุทธผู้เป็นบุตรให้รู้ถึงบทที่กล่าวว่าไม่มี นางจึงได้เอาถาดทองคำใบหนึ่ง ครอบถาดทองคำอีกใบหนึ่งไว้ แล้วส่งถาดเปล่านั้นไปให้เจ้าอนุรุทธกุมาร  ฝ่ายเทพดาทั้งหลายในระหว่างมรรคา จึงยังถาดเปล่านั้นให้เต็มไปด้วยขนมทิพย์
            เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำกราบทูลอารธนาของพระกาฬุทายีเถระ ที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งให้ไปเชิญเสด็จกลับพระนคร  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงราชคฤห์พร้อมพระขีณาสพสงฆ์ ทรงแสดงธรรมเทศนาอันพิจิตร ประกอบด้วยพระอิทธิปาฎิหารย์มีประการเป็นอันมาก ในที่ประชุมแห่งพระบรมญาติวงศาศากยราชทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอนุเคราะห์แก่พระญาติที่สมควรจะพึงกระทำ ในพระราชนิเวศน์นั้นเสร็จแล้ว จึงยังพระราหุลราชกุมารบรมชิโนรส ให้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ต่อมาไม่นาน พระพุทธองค์ก็ทรงพระพุทธดำเนินจาริกไปจากนครกบิลพัสดุ์ ไปในแว่นแคว้นมัลลราช เสด็จไปยับยั้งอยู่ในอนุปปิยอัมพวัน
            สมัยนั้นพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงประชุมหมู่พระวงศาศากยราชแล้วตรัสประกาศว่า พระอัครปิโยรสของเราได้ตรัสแก่ พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณ เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว กษัตริย์ทั้งหลายจงเป็นบริวารแวดล้อมพระราชโอรสของเราเถิด ท่านทั้งหลายจงให้ขัตติยทารกคนหนึ่ง ๆ บรรพชาเถิด  ครั้งนั้นขัตติยราชกุมารทั้งหลายพันพระองค์ก็ออกบรรพชาพร้อมกัน
            สมัยนั้นพระมหานามศากยราชได้มีวาจาแก่เจ้าอนุรุทธกุมาร ถ้ากระไรตัวเจ้าก็ดี หรือตัวเราก็ดี จำจะออกบรรพชาสักหนึ่งเถิด เจ้าอนุรุทธกุมาร ได้สดับวาจาของพระเชษฐาแล้ว มีจิตชื่นชมโสมนัสในการที่จะออกจากฆราวาสแล้ว บรรพชาในพระพุทธศาสนา และในลำดับแห่งกาลบรรพชาแห่งกษัตริย์ ๖ องค์ คือ เจ้าภัททิยกุมาร เจ้ากิมิลกุมาร เจ้าภัคคุกุมาร เจ้าอนุรุทธกุมาร เจ้าอานนท์กุมาร เจ้าเทวทัตกุมาร เมื่อบรรพชาแล้ว ได้พากันไปยังอนุปปิยอัมพวันวิหาร ในภายในพระวัสสานั้น พระภัททิยเถระก็ได้สำเร็จพระอรหัต พระอนุรุทธเถระได้สำเร็จทิพจักษุญาณ พระเทวทัพได้สำเร็จสมาบัติ ๘ ประการ พระอานนท์ได้สำเร็จ พระโสดาปัตติผล  แต่พระภัคคุเถระกับพระกิมิลเถระทั้งสององค์ได้สำเร็จพระอรหัตเมื่อภายหลัง
            พระอนุรุทธเถระ ได้เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระสารีบุตร แล้วจึงไปสู่ป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ ท่านได้มาตรึกตรอง ซึ่งมหาปุริสวิตก ๗ ประการ เมื่อตรึกตรองไปในมหาปุริสลักษณะที่คำรบ ๘ ก็ถึงซึ่งความคับแคบในอารมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบจึงมีพระดำริว่า จำตถาคตจะยังความดำริตรึกตรอง ของอนุรุทธภิกษุให้สำเร็จบริบูรณ์ แล้วจึงเสด็จไปในสถานที่นั้น แล้วทรงกระทำ ซึ่งมหาปุริสวิตกที่คำรบ ๘ ให้สำเร็จบริบูรณ์ แล้วจึงทรงแสดงซึ่งมหาอริ ยวงสปฏืบัติ อันประดับด้วยความสันโดษยินดีพร้อมในจตุปัจจัย ๔ และความยินดีในภาวนาแล้ว ก็เสด็จเหาะขึ้นไปในเวหาส เสด็จไปยังป่าเภสกลาวัน ส่วนพระอนุรุทธเถระนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้ว ก็ได้สำเร็จวิชชาเป็นพระขีณาสพ จึงมาดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบวาระน้ำจิตของเรา เสด็จมากระทำมหาปุริสวิตกคำรบที่ ๘ ให้สำเร็จบริบูรณ์ ทรงพระราชทานให้แก่เรา ความปรารถนาในใจแห่งเราก็ถึง ซึ่งสำเร็จแล้วแท้จริง ท่านดำริดังนี้แล้ว ก็มาปรารถรำพึงถึงพระธรรมเทศนาอันไพเราะของพระพุทธเจ้าทั้งปวง แล้วก็ปรากฎซึ่งธรรมวิเศษที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้นั้น ก็ยังเกิดความชื่นชมโสมนัส จึงเปล่งอุทานคาถาทั้งหลาย อันเป็นไปด้วยโสมนัสญาณว่า
            "องค์พระบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า ผู้เป็นบรมครูหาผู้เสมอมิได้ในไตรโลกมณฑลทั้งสามนี้ พระองค์ทรงทราบวาระดำริจิตของเรา เสด็จมาสู่สำนักแห่งเรา ด้วยพระอิทธานุภาพ มีพระบวรกายอันแล้วด้วยมโนมยิทธิ สำเร็จความปรารถนาดังพระทัยนึก ความดำริจิตมาถึงแล้วแก่เราในกาลใด พระพิชิตมารสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตื่นแล้วบานแล้วจากกิเลสธรรม และยินดีในกิริยาที่หาปปัญจธรรมคือกิเลสเครื่องทำให้เนินช้าอยู่ในวัฎฎสงสารมิได้ พระองค์ก็ได้ทรงเทศนา ซึ่งปัญจธรรม คือ ความที่หากิเลสเครื่องกระทำให้เนิน่นช้ามิได้แก่เรา เราก็ได้ตรัสรู้ ซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น และเราก็ได้เป็นผู้ยินดีแล้วในพระพุทธศาสนา ไตรวิชาก็ถึงแก่เราแล้ว พระพุทธศาสนธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราก็ได้กระทำให้บริบูรณ์ในสันดานแล้ว"
            ในสมัยต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตุวันมหาวิหาร พระองค์ได้ทรงตั้งพระอนุรุทธเถระ ในอัครฐานที่อันเลิศฝ่ายทิพจักษุว่า สำแดงอนุรุทธนี้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย บรรดาที่ได้ทิพจักษุในพระพุทธศาสนาของตถาคตนี้
            พระอนุรุทธเถระ เมื่อท่านระลึกถึงบุพพกรรมการกุศลที่ตนได้กระทำไว้แล้ว เมื่อประกาศซึ่งบุพพจริตของท่านในกาลก่อน จึงเปล่งอุทานคาถา อันเป็นไปด้วยโสมนัสญาณว่า "อันว่าพระปัญญา อันเป็นเครื่องทรงไว้ทั้งหลายคืออุปัฎฐานปัญญา มัคคปัญญา ผลปัญญา วิปัสสนาปัญญา และจตุสัมภิทาญาณ เป็นอาทิ และพระเมธาคือปัญญาอันดีงามนั้นมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เราก็ได้เข้าไปใกล้ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปรีชาอันงาม ผู้ประเสริฐกว่าโลก เป็นใหญ่กว่าโลก เป็นประธานแก่โลก ผู้หลีกจากวัฎฎสงสารได้ก่อน เป็นผู้ยินดีในที่วิเวก และเป็นผู้หลีกจากกิริยาที่อยู่ในหมู่ และคณะพระองค์นั้น ครั้นเราเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประกอบด้วยปรีชาอันดีงามแล้ว เราก็ได้ประคองหัตถ์ประนม ตั้งเหนืออุตตบางค์กระทำสักการะบูชาด้วยองค์สี่ทั้ง ๑๐ แล้ว และกระทำสักการะบูชาพระมหาธาตุเจดีย์ ด้วยประทีปทานเป็นอันมาก ในกาลครั้งนั้นด้วยอำนาจผลานิสงส์ประทีปทานนั้น ติดตามอำนวยผลในกาลเมื่อเราบังเกิดในเทวโลกก็ดี เราย่อมแลเห็นสรรพรูปทั้งปวง ในที่ไกลได้โยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ด้วยมังสจักษุแลเห็นสิ้นทั้งกลางวัน และกลางคืน มากาลบัดนี้ เราได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า พระโคดมบรมครูเจ้า เราก็ได้สำเร็จซึ่งทิพจักษุญาณ ยังทิพจักษุให้บังเกิดแล้ว และเราจะแลดู ซึ่งห้องจักรวาฬประมาณพันหนึ่ง ด้วยปัญญาจักษุก็แลเห็นสำเร็จดังปรารถนา ด้วยอำนาจแห่งผลานิสงส์ประทีปทาน ที่เราได้กระทำสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ในกาลครั้งนั้น ติดตามอำนวยผล
            พระอนุรุทธเถระ เมื่อดำรงชนม์ชีพอยู่ครบจำนวนถ้วนกาลบริเฉทแล้ว ท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่นิเวศน์วังศิวโมกข์ มารวิมุตติวิสุทธิบวรสถาน กล่าวคือพระอมตนิพพาน อันเป็นที่เกษมสานต์เอกันตบรมสุขดับกรรมชรูปและวิบาก ขันธ์สิ้นเสร็จเป็นอนุปัตตินิโรธดับสิ้นเชิง หาเชื้อคือตัณหาและอุปทานเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดในภพใหม่มิได้

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 20:37 , Processed in 0.035935 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.