พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานด้านหลังวิหาร วัดดอยก้อม 
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดดอยก้อม
ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการสร้างของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ท่านพระครูบาเจ้าได้เริ่มทำการก่อสร้างพระธาตุและวัดดอยก้อมนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ เดือน ๖ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖
โดยมีช่างและประชาชนประมาณ ๑,๐๐๐ คน ได้ทำการก่อสร้างพระธาตุ สร้างเสร็จเมื่อ เดือน ๗ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้ให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เป็นประจำทุกปี
คำนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์
(ว่านะโม ๓ จบ) วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเนสุ ปะติฏฐิตา สะรีระธาตุโย เกศาธาตุโย อะระหันตา ธาตุโย เจติยัง คันทะกุฏิง จะตุละสี ติสสะหัสเส ธัมมักขันเธ สัพเพสัง ปาทะเจติยัง อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทุระโส อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ สิระสาฯ
ประวัติวัดดอยก้อม
วัดดอยก้อม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗๗ หมู่ที่ ๖ บ้านดอยก้อม ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
วัดดอยก้อมก่อนหนึ่งพันปีมาแล้ว มีนักประวัติศาสตร์ชาวบ้านได้เล่าสืบๆ กันมาว่า มีพญาจั๋น (จันต๊ะราชา) ผู้ครองเวียงหวาย (ซึ่งตั้งอยู่แถววัดสะเลียมหวานในปัจจุบัน) ได้สละสมบัติมาบำเพ็ญรักษาศีลภาวนาอยู่บนดอยแห่งนี้ ท่านผู้นี้คือ พระเจ้าแปดเหลี่ยม
ดอยนี้ตั้งอยู่โดยเอกเทศมีพื้นที่ล้อมรอบเป็นบริเวณกว้าง ดอยนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ดอยอูปคำ” ต่อมาคนทั้งหลายเรียกชื่อว่า “ดอยก้อม” เพราะมีลักษณะสั้นๆ
เชิงดอยนี้ ทิศตะวันตกมีทางเกวียนถนนคนเดินจากลำพูนไปอำเภอลี้ตลอดเวลาจากทิศเหนือไปทิศใต้ จึงทำให้พระธุดงค์เดินผ่านไปมาเสมอ และได้พักแรมโปรดชาวบ้านเสมอ (ถนนปัจจุบันผ่านเชิงดอยนี้จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อถนนพหลโยธินสายเชียงใหม่-กรุงเทพฯ)
นอกจากนั้นบนดอยแห่งนี้ ยังเป็นที่พักของวัวควาย (ป๋างควาย) ของคนบ้านโฮ่ง ในระยะประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๓๐ มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนมาอาศัยอยู่รอบๆ ดอยแห่งนี้ และบนดอยแห่งนี้มีภิกษุมาบำเพ็ญสมณธรรมเป็นประจำ จึงได้ตั้งเป็นอารามมีพระภิกษุจำพรรษาทุกปี จนถึงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ มีภิกษุจากวัดห้วยห้า ชื่อ พระดวง มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
ณ วันหนึ่ง พระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย พร้อมกับคณะศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมากได้พักร้อน ณ อารามแห่งนั้นเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ดำริว่า ดอยแห่งนี้เป็นดอยสำคัญ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จึงสมควรที่จะจัดสร้างให้เป็นวัดถาวร เพื่อที่พุทธศาสนิกชนจะได้มาสักการบูชา เป็นวัดสำคัญเป็นที่ตั้งแห่งศาสนาต่อไป
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ เดือน ๖ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านพระครูบาเจ้าจึงได้เริ่มงานก่อสร้างวัดดอยก้อมนี้ มีช่างและประชาชนประมาณ ๑,๐๐๐ คน ได้ทำการก่อสร้างพระธาตุ สร้างเสร็จเมื่อเดือน ๗ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้ให้มีการสรงน้ำพระธาตุตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ต่อจากนั้นพระครูบาเจ้าก็ได้ทำการก่อสร้างวิหาร ศาลาบาตรรอบวัดทั้ง ๔ ด้าน และบันไดนาคทั้ง ๔ ด้าน ได้ทำการก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันพุธที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๗
วัดนี้เป็นวัดที่สมบูรณ์ มีภิกษุอยู่จำพรรษาทุกปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมา พระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้ทุกอย่าง และเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ คณะกรรมการวัดได้จัดสร้างอนุสาวรีย์รูปเหมือนครูบาศรีวิชัย อิริยาบถนั่งเก้าอี้ มือซ้ายถือไม้เท้าและพัด มือขวาให้พรแก่ผู้มาบูชา ประดิษฐานในวิหารหน้าวัดดอยก้อม เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
รายนามลำดับเจ้าอาวาสวัดดอยก้อม
๑. พระดวง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นเจ้าอาวาส รูปที่ ๑
๒. พระผัด พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๗
๓. พระอุ่น พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๕
- สร้างกุฏิ ๑ หลัง
๔. พระจันทร์ จนฺทสีโล พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๔
๕. พระมหาสุพรรณ ธีรธมฺโม พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๑๓
- สร้างกุฏิ
- สร้างศาลาการเปรียญ
- ซ่อมบันไดนาค ๒ ด้าน
๖. พระบุญฝ้าย ภททฺจารี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๓๔
- สร้างศาลาการเปรียญ
- ซ่อมบันไดนาค ๒ ด้าน
- สร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
๗. พระครูบรรพตพัฒนานุยุต พ.ศ.๒๕๓๕-ปัจจุบัน
- สร้างกุฏิ
- สร้างหอระฆัง
- สร้างศาลาอเนกประสงค์
- ซ่อมบันไดนาค ๒ ด้าน
ปัจจุบันมีศาลหรือหอโยง ตั้งอยู่ระหว่างบ้านโฮ่งและบ้านกลาง ดอยลูกนี้ในสมัยนั้นเป็นป่าไม้
ข้อมูล ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
----------------------
(แหล่งอ้างอิงข้อมูล : ระบบฐานข้อมูลวัด สนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น. วัดดอยก้อม. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก :
http://www.templethailand.org/ID51030103-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1.html. (วันที่ค้นข้อมูล : ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)