(๓๓๘) โพธิปักขิยธรรม ๓๗
(ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้, ธรรมเกื้อหนุนแก่อริยมรรค — virtues partaking of enlightenment; qualities contributing to or constituting enlightenment; enlightenment states)
๑. สติปัฏฐาน ๔ ดู (๑๗๙)
(๑๗๙) สติปัฏฐาน ๔
(ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน
(การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ๑ อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหว้ทุกอย่าง ๑ ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ๑ ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ๑ นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน ๙ ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น ๑
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน
(การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน
(การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน
(การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.
D.II.290.315. ที.ม.๑๐/๒๗๓-๓๐๐/๓๒๕-๓๕๑.
๒. สัมมัปปธาน ๔ ดู (๑๕๕)
(๑๕๕) ปธาน ๔
(ความเพียร - effort; exertion)
๑. สังวรปธาน
(เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น - the effort to prevent; effort to avoid)
๒. ปหานปธาน
(เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - the effort to abandon; effort to overcome)
๓. ภาวนาปธาน
(เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี - the effort to develop)
๔. อนุรักขนาปธาน
(เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ - the effort to maintain)
ปธาน ๔ นี้ เรียกอีกอย่างว่า
สัมมัปธาน ๔ (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ - right exertions; great or perfect efforts.)
A.II.74,16,15. องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๙/๙๖; ๑๔/๒๐; ๑๓/๑๙.
๓. อิทธิบาท ๔ ดู (๒๐๕)
(๒๐๕) อิทธิบาท ๔
(คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย - path of accomplishment; basis for success)
๑. ฉันทะ
(ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป - will; aspiration)
๒. วิริยะ
(ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย - energy; effort; exertion)
๓. จิตตะ
(ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป - thoughtfulness; active thought)
๔. วิมังสา
(ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น - investigation; examination; reasoning; testing)
D.III.221.Vbh.216. ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓; อภิ.วิ.๓๕/๕๐๕/๒๙๒.
๔. อินทรีย์ ๕ ดู (๒๔๖)
(๒๔๖) อินทรีย์ ๕ ดู (๒๒๐) พละ ๕
[size=130%]
๕. พละ ๕ ดู (๒๒๐)
(๒๒๐) พละ ๕ (ธรรมอันเป็นกำลัง — power)
๑. สัทธา
(ความเชื่อ — confidence)
๒. วิริยะ
(ความเพียร — energy; effort)
๓. สติ
(ความระลึกได้ — mindfulness)
๔. สมาธิ
(ความตั้งจิตมั่น — concentration)
๕. ปัญญา
(ความรู้ทั่วชัด — wisdom; understanding)
ธรรม ๕ อย่างนี้ [size=130%]
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ ๕
(ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน — controlling faculty)
ที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างๆ ของตน คือเป็นเจ้าการ ในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงตามลำดับ
ที่เรียกว่า พละ เพราะความหมายว่า เป็นพลังทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น แต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้
พละหมวดนี้เป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ ให้ถึงความหลุดพ้นโดยตรง
D.III.239; A.III.10; Vbh.342. ที.ปา.๑๑/๓๐๐/๒๕๒: องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๓/๑๑; อภิ.วิ.๓๕/๘๔๔/๔๖๒
๖. โพชฌงค์ ๗ ดู (๒๖๖)
(๒๖๖) โพชฌงค์ ๗
(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — enlightenment factors)
๑. สติ
(ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง — mindfulness)
๒. ธัมมวิจยะ
(ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม — truth-investigation)
๓. วิริยะ
(ความเพียร — effort; energy)
๔. ปีติ
(ความอิ่มใจ — zest)
๕. ปัสสัทธิ
(ความสงบกายสงบใจ — tranquillity; calmness)
๖. สมาธิ
(ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ — concentration)
๗. อุเบกขา
(ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง — equanimity)
แต่ละข้อเรียกเต็มมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเป็น สติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น.
D.III.251, 282; Vbh.277 ที.ปา.๑๑/๓๒๗/๒๖๔; ๔๖๔/๓๑๐; อภิ.วิ.๓๕/๕๔๒/๓๐๖
๗. มรรคมีองค์ ๘ ดู (๒๗๘)
(๒๗๘) มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏฐังคิกมรรค
(เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ — the noble Eightfold Path); องค์ ๘ ของมรรค (มัคคังคะ — factors or constituents of the Path) มีดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ
(เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท — Right View; Right Understanding)
๒. สัมมาสังกัปปะ
(ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป — Right Thought) ดู (๖๘) กุศลวิตก ๓
๓. สัมมาวาจา
(เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔ — Right Speech)
๔. สัมมากัมมันตะ
(กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓ — Right Action)
๕. สัมมาอาชีวะ
(เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ — Right Livelihood)
๖. สัมมาวายามะ
(พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน ๔ — Right Effort)
๗. สัมมาสติ
(ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ — Right Mindfulness)
๘. สัมมาสมาธิ
(ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔ — Right Concentration)
องค์ ๘ ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์ ๓ ข้อต้น คือ ข้อ ๓-๔-๕ เป็น ศีล ข้อ ๖-๗-๘ เป็น สมาธิ ข้อ ๑-๒ เป็น ปัญญา ดู (๑๒๓) สิกขา ๓; (๑๙๗) อริยสัจ ๔; และหมวดธรรมที่อ้างถึงทั้งหมด
มรรคมีองค์ ๘ นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง
เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ดู (๑๕) ที่สุด ๒
D.II.321; M.I.61; M,III.251; Vbh.235.
ที.ม.๑๐/๒๙๙/๓๔๘; ม.มู.๑๒/๑๔๙/๑๒๓; ม.อุ.๑๔/๗๐๔/๔๕๓; อภิ.วิ.๓๕/๕๖๙/๓๐๗.
Resource:
www.dhammathai.org/dhamma/group11.php?#338