ตำนานรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทตากผ้า
เรียบเรียงโดย วัดพระพุทธบาทตากผ้า (ออนไลน์)
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ตามที่ต่างๆ ใกล้รุ่งเช้าวันหนึ่ง พระองค์ได้แผ่ข่ายคือพระญาณตรวจดูสัตว์ผู้ควรแก่การบรรลุธรรม ก็ทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไปในอนาคตกาล สมควรที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์และประดิษฐานพระพุทธศาสนา ครั้นแล้วจึงได้เสด็จมายังสุวรรณภูมิ พร้อมด้วยพระอานนท์ เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ และแต่ละที่พระองค์เสด็จไป ได้ทรงประทานพระเกศาธาตุบ้าง ทรงอธิษฐานเหยียบรอยพระบาทบ้าง
ครั้งทรงเสด็จผ่านดินแดนล้านนา ขณะที่เสด็จผ่านลำน้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำใสสะอาด เป็นที่บรรจบของแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง รับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรไปซัก บริเวณนี้จึงมีชื่อว่า “วังซักครัว” และได้เสด็จมาจนถึงบริเวณผาลาด แล้วทรงหยุดรับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรไปตาก ณ ผาลาดแห่งนี้ พระองค์ได้ทรงอธิษฐานตั้งพระทัยประทับรอยพระบาทเป็นปาทเจดีย์ จำนวน ๒ รอย เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก
แล้วทรงพยากรณ์ว่า “ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฏชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่ตถาคตมาหยุดพักตากผ้าจีวรนี้ จะเป็นปูชนียสถานที่สักการะของมหาชน ผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์แก่ปวงชนตลอด ๕,๐๐๐ พรรษา” ด้วยเหตุนี้ สถานที่แห่งนี้จึงปรากฏนามว่า “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” จนถึงปัจจุบันนี้
--------------------
(แหล่งที่มา : วัดพระพุทธบาทตากผ้า. ประวัติวัดพระพุทธบาทตากผ้า. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.phrabat.net/wat_history/. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖))
ตำนานพระพุทธบาทตากผ้า
เรียบเรียงโดย นาคฤทธิ์ พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง
หลวงปู่พระครูบาพรหมา (พระสุพรหมยานเถร) ได้คัดลอกจากตำนานที่ท่านเจ้าคุณพระศรีศิลป์สุนทรวาที ได้เรียบเรียงไว้ กล่าวโดยย่อพอสังเขปดังนี้
ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแผ่ข่ายพระญาณ เพื่อตรวจดูสัตว์โลกผู้ควรแก่ธรรมาภิสมัย (การบรรลุธรรม) ก็ทรงทราบว่า สุวรรณภูมิคือ ประเทศไทย จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนามั่นคงต่อไปในอนาคต สมควรที่พระองค์จะเสด็จไปฐาปนาตั้งพระศาสนาไว้
ครั้นทรงมีพระดำริดังนั้นแล้ว พระองค์จึงทรงเสด็จมาสู่สุวรรณภูมิโดยพุทธนิมิตร มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ พร้อมด้วยพระอินทร์และพระเจ้าอโศกราช ได้เสด็จจาริกมาตามคามนิคมชนบทต่างๆ จนกระทั่งถึง ถ้ำตับเตา ถ้ำเชียงดาว พระนอนขอนม่วง พระบาทยั้งหวีด และพระธาตุทุ่งตูม ตามลำดับ ได้ทรงเหยียบรอยพระบาทและประทานเกศาธาตุประดิษฐานไว้ในที่นั้นๆ
แล้วเสด็จเลียบลงมาตามฝั่งแม่น้ำปิง พอเสด็จมาถึงวัง (แอ่งน้ำ) แห่งหนึ่ง ทรงหยุดพักเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ (จีวร) ให้พระอานนท์นำไปซัก สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า “วังซักครัว” มาตราบเท่าทุกวันนี้ อยู่ใต้สบกวง (ปากแม่น้ำกวง)
จากนั้นพระองค์เสด็จต่อถึงบ้านระหว่างทางไม่ไกลจากดอยม่อนช้างเท่าใดนัก พระองค์ทรงหยุดยืนนิ่งผินพระพักตร์หว่ายไป (บ่ายไป) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านหว่าย” เดี๋ยวนี้เรียกว่า “บ้านหวาย” แล้วก็เสด็จมาถึงบนลานผาลาด (คือบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้าปัจจุบัน) พระองค์จึงมีพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ให้นำเอาจีวรไปตากบนผาลาดใกล้ๆ ที่ประทับนั้น ซึ่งยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายๆ ตาผ้าจีวรของพระมาจนบัดนี้
ในกาลครั้งนั้น พระองค์จึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนผาลาดนี้ แล้วทรงพยากรณ์ว่า “ดูราอานนท์ สถานที่นี้จะปรากฏชื่อว่า “พระพุทธบาทตากผ้า” โดยนิมิตที่เราตถาคตมาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการบูชาของมหาชน จะอำนวยประโยชน์อย่างสูงแก่ปวงชนตลอด ๕,๐๐๐ พรรษา”
--------------------
(แหล่งที่มา : นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง (๒๕๔๐-๒๕๔๕). (๒๕๔๕, ตุลาคม). พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (พิมพ์ครั้งที่ ๑). เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, หน้า ๒๑๗-๒๑๙.)