คำแปลปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง ๓. ลักษณะที่น่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท
แสดงในงานฉัฏฐสังคายนา ที่ประเทศพม่า พ.ศ.๒๔๙๗
โดย
พุทธทาส อินฺทปัญโญ
เพื่อนร่วมการเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย !
ข้าพเจ้าขอโอกาสเพื่อแสดงธรรมกถานี้ ในฐานะเป็นเครื่องหมายแห่งการแสดงความเคารพสักการะของประชาชนชาวไทยทั้งปวง ต่อความยิ่งใหญ่และสง่างามของการทำฉัฏฐสังคายนาในความอำนวยการของสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ภายใต้ความอุปถัมภ์ของ พณฯ ท่านอัคคมหาถิริถุธัมมะดร.บาอู และคณะรัฐบาลของพณฯ ท่าน
สิ่งแรก ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายในบัดนี้ ก็คือ ความรู้สึกปิติยินดีของผองพุทธบริษัทชาวไทย ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ในการที่ปวงชนชาวพม่าได้พากันทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ กำลังทรัพย์ และอื่นๆ ในการประกอบการทำฉัฏฐสังคายนาอันประเสริฐครั้งนี้ เพื่อสักการบูชาความยิ่งใหญ่และสูงส่งของพุทธศาสนา ที่ล่วงกาลมาถึงวาระที่จะครบ ๒๕๐๐ ปี การทำเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และความยั่งยืนมั่นคงของหลักธรรมแห่งเถรวาทเช่นนี้ อย่าว่าแต่มนุษย์ทั่วไปเลย แม้แต่ทวยเทพในแดนสวรรค์ ซึ่งกำลังเพลิดเพลินอยู่ในกามสุขก็จักต้องหยุดการทำเช่นนั้นชั่วคราว เพื่อมาทำอนุโมทนาสาธุการต่อกิจการของเราด้วยโดยไม่ต้องสงสัยเลย
สิ่งถัดมา ที่เป็นคุณประโยชน์ในการกล่าว ก็คือ ความภาคภูมิใจในการที่ประเทศทั้งสองของเรานี้ ยังคงเป็นเหมือนป้อมค่าอันมั่นคงของลัทธิเถรวาทแต่ต้นมาจนบัดนี้ แท้จริงลัทธิเถรวาทในผืนแผ่นดินไทย ตามภูมิศาสตร์ในปัจจุบันนั้น ได้เคยประสพวิกฤติการณ์ในการปะทะกับลัทธิอาจาริยวาทหรือมหายานถึงสองสมัย กล่าวคือ ในสมัยศรีวิชัยทางตอนใต้สุดของประเทศครั้งหนึ่ง และในยุคสมัยที่กษัตริย์ผู้นับถือลัทธิมหายานจากต่างประเทศเข้ามายึดครองในบางส่วนทางภาคกลางของประเทศ อันเรียกกันว่าสมัยลพบุรีนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในระยะเวลาอันไล่เลี่ยกัน คือในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่อย่างไรก็ตาม ลัทธิเถรวาทของประเทศไทยก็ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องมั่นคงสืบมา ทั้งนี้ เป็นเพราะอำนาจความจริงแท้ในตัวลัทธิ ซึ่งเป็นความคงกระพันชาตรีอยู่ในตัวลัทธินั่นเอง ลัทธิเถรวาทในประเทศพม่า ข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงไม่เคยประสพโชคชะตาอันขลุกขลักเช่นนี้ หวังว่าเพื่อนพุทธบริษัทชาวพม่าจักมีความเห็นใจพุทธบริษัทในประเทศไทยในข้อนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องถัดไปอีก ก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์อย่างน่าอัศจรรย์แห่งสัมพันธไมตรีในระหว่างประเทศของเราทั้งสอง มีคนกล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศพม่านั้น ในสมัยบรรพบุรุษเคยวิวาทกันตลอดเวลา แล้วจักมีไมตรีอันปราศจากความระแวงต่อกันได้อย่างไร ข้าพเจ้าต้องขอโอกาสหยุดสักนิดหนึ่ง เพื่ออดกลั้นการยิ้มหัวในคำกล่าวข้อนี้ จงคิดดูเถิด ! โดยแท้จริงแล้ว กิเลสต่างหากที่ทำการวิวาทกัน หาใช่เราไม่ ! คนเรา เมื่อถูกกิเลสครอบงำเสียแล้วนั้น ก็ยังวิวาทกันถึงกับฆ่ากันตาย คู่สามีภรรยาที่รักเลือกกันอย่างยิ่ง ก็ยังวิวาทกันถึงกับเสียเลือดเนื้อ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีทายาทสืบมาจากสามีภรรยาคู่นั้นได้อีกตั้งหลายคน ! ข้อนี้เป็นเพราะปัจจัยสำคัญอันเดียว คือความรักหรือไมตรี อันมีรากฐานตั้งอยู่บนความเคารพในธรรมเป็นสื่อ จึงไม่รู้จักสลาย
ในระหว่างประเทศของเราทั้งสองนั้น มีสัมพันธปัจจัยอันประเสริฐของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือตัวหลักธรรมอันบริสุทธิ์แห่งเถรวาทนั่นเอง เป็นเครื่องยึดหน่วงความรักฉันพี่น้อง และสามารถทำลายความระแวงทั้งปวงแต่หนหลังให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจสำหรับเรายิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ในโลกนี้ ! ไม่มีอะไรในพิภพนี้ ที่น่าบูชายิ่งไปกว่าหลักธรรมแห่งเถรวาทแล้ว สำหรับเรา ! ตลอดเวลาที่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ยังควบคุมหัวใจเราทั้งหลายอยู่ พายุอันร้ายกาจแห่งความอาฆาตจองเวรจากทุกทิศทางนั้น จักไม่ก่อรูปขึ้นได้อีกเลย ขอให้เราจงพากันยึดมั่นหลักธรรมแห่งเถรวาทนี้ เป็นเครื่องคุ้มครองอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ทดลองกันอีกแต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เราทั้งสองฝ่ายแล้วว่า การเสียสละทุกอย่างที่เราร่วมมือกันทำเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนทุกคนในประเทศทั้งสองของเรานั่นแหละ คือชีวิตของเรา ! ผิดไปจากนี้แล้ว เราจักต้องตาย ไม่ว่าในทางกายหรือทางวิญญาณ หรืออย่างน้อยก็จะได้รับทุกข์เจียนตาย โดยไม่ต้องสงสัยเลย
ลัทธิพุทธศาสนาของบางนิกาย ซึ่งเจือปนด้วยลัทธิพราหมณ์เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เหมาะสำหรับเราโดยแท้จริง ข้าพเจ้าจึงได้ย้ำมากเป็นพิเศษ ถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของพุทธศาสนาชนิดอย่างเถรวาท ฉะนั้นการร่วมแรงร่วมใจกันในการทำฉัฏฐสังคายนา ซึ่งโดยเนื้อแท้ย่อมเป็นการรักษารากฐานอันมั่นคงของหลักเถรวาทเรา จึงเป็นเสมือนหนึ่งการมีคลังแห่งปัจจัยอันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงดวงวิญญาณแห่งประเทศของเราทั้งสองโดยตรงและของเพื่อนบ้านอื่นๆ ของเราทั้งโลกโดยปริยาย
ข้าพเจ้าได้กล่าวอารัมภกถา ถึงเรื่องอันเกี่ยวกับชีวิตและความตายของประเทศทั้งสองของเรา ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย มาพอสมควรแก่เวลา ที่จำกัดไว้ทั้งหมดเพียง ๑ ชั่วโมงแล้ว ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงเนื้อหาของเรื่องที่จะกล่าวในวันนี้ กล่าวคือ เรื่อง “ลักษณะอันน่าอัศจรรย์บางประการของเถรวาทเรา” ต่อไปเท่าที่เวลาจะอำนวย
โปรดสังเกตว่าข้าพเจ้าจะกล่าวแต่เพียง “บางประการ” เท่านั้น ข้อนี้เพราะว่า นอกจากเวลาจำกัดแล้ว ความน่าอัศจรรย์ของลัทธิเถรวาทเรา ยังมีมาก และลึกซึ้งยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร จึงเหลือวิสัยที่ข้าพเจ้าจะมีนำมากล่าวให้หมดสิ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใดที่จะเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรของมนุษยชาติโดยตรงแล้ว ข้าพเจ้าจะได้พยายามกล่าวถึงส่วนนั้นก่อนส่วนอื่น
หากข้อความตอนใด ได้ทำให้เกิดความรำคาญหรือยิ่งไปกว่านั้นแก่ท่านผู้ใดแล้ว โปรดยกโทษให้ เพราะว่าเจตนาอันแท้จริงของข้าพเจ้าผู้กล่าว ก็คือ “เจตนาเพื่อเสริมสร้างสิ่งสวัสดีร่วมกัน” กล่าวคือ มุ่งหมายจะนำไปสู่ความเข้าใจตามหลักเกณฑ์ของเถรวาทเรา อันถูกต้องแท้จริงเท่านั้น
บัดนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงความน่าอัศจรรย์ของความเป็นเถรวาทบางอย่าง บางประการสืบไป ดังต่อไปนี้ :-
(ก) พุทธศาสนาอย่างเถรวาท เป็นลัทธินิกายที่โลกยอมรับว่า ประสบความสำเร็จในการรักษาหลักอันบริสุทธิ์ผุดผ่องดั้งเดิมไว้ได้ โดยมีหลักการที่ยอมให้มีแต่การเพิ่มเข้า เพียงเพื่อรักษาความเคร่งครัดของหลักเดิม ไปตามเดิม รังเกียจ เกลียดกลัวการถอดถอน เปลี่ยนแปลงแก้ไขของเดิม แม้ในเรื่องเล็กน้อยที่สุด
ในการกล่าวถึงความน่าอัศจรรย์ประการแรกของเถรวาทเรานั้น ก่อนอื่นทั้งหมด ควรจะได้ทราบกันเสียก่อนว่า ในปัจจุบันนี้ เป็นที่เชื่อถือกันอย่างแน่นอนแล้วว่า ไม่ว่าพุทธศาสนาลัทธินิกายไหน ล้วนแต่มีพระไตรปิฎกเป็นของตัวเอง และล้วนแต่มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่เรื่อยๆ ตลอดเวลายุคแรกๆ และยุคถัดมาด้วยกันทั้งนั้น ข้อนี้ เป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่อย่างชัดแจ้งโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์กันอีก
สำหรับฝ่ายเถรวาทเรา มีความแปลกประหลาดเป็นพิเศษ ในข้อที่เราไม่มีหลักการที่ให้สิทธิอันถูกต้อง เพื่อการแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่พระศาสนาทรงบัญญัติไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อที่เล็กน้อยเพียงไร หรือเพื่อประโยชน์อะไร ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์เองได้ทรงอนุญาตไว้ ให้แก้ไขสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ในวันที่จะเสด็จปรินิพพาน(๑) ความเป็นเถรวาทอันเคร่งครัดเช่นนี้ ได้มีมาตั้งแต่ครั้งที่สงฆ์มีพระมหากัสสปะเป็นประธานได้ประกาศตั้งเป็นสถาบันขึ้นไว้ ในฐานะเป็นความสำเร็จชิ้นสุดท้าย แห่งการปฐมสังคายนามาทีเดียว(๒) เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันการเพิกถอนแก้ไขทุกๆ อย่าง แม้จะเล็กน้อยเพียงไร
สำหรับการเพิ่มเข้านั้น หากเราจะมีบ้าง ตามที่เชื่อกันเป็นส่วนมาก ก็มีแต่การเพิ่ม เพื่อคุ้มครองหรือสนับสนุนของเก่า ให้ยังคงเคร่งครัดหรืออธิบายหลักของเดิม ไปตามแนวเดิมให้กว้างขวางออกไปเท่านั้น ของเดิมกับของเพิ่มเติมยังคงอยู่ในร่องรอยอันเดียวกันเสมอ ข้อนี้ ผิดจากหลักการของลัทธินิกายฝ่ายอื่นจากเถรวาท ซึ่งมีการกระทำที่เป็นการแก้ไขของเดิมออกไปจากหลักเดิมตามมากตามน้อยเอาทีเดียว
***หมายเหตุ:
(๑) มหาปรินิพพานสูตร. มหา. ที. (๑๐/๑๗๘/๑๔๑)
(๒) บาลี ปัญจสติกขันธ์ จุลวรรค วินัยปิฎก. (๗/๓๘๕/๖๒๐)
เถรวาทเรา ไม่มีการเพิ่มในลักษณะที่เป็นการงอกเงยเรื่อยเปื่อยไปตามอำนาจของกาลเทศะหรือสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นจนกระทั่งสูญเสียหลักเดิม เช่น กลายกลับไปเป็นลัทธิที่มีพระเป็นเจ้า หรืออาตมัน โดยปริยายหรือโดยตรง หรือยิ่งกว่านั้นถึงกับกลายกลับไปเป็นไสยศาสตร์ โบรมโบราณต่างๆ อีก เรายอมรับว่ามีความขลาดต่อการกระทำเช่นนั้น เรายินดีที่จะรับคำกล่าวหาว่าขี้ขลาดตาขาวต่อการกระทำเช่นนั้นอย่างชื่นตา
แต่ก็เพราะความขลาดนี้เอง ที่ได้เป็นและกำลังเป็นเครื่องช่วยรักษาความเป็นเถรวาทของเราไว้ได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งแต่ต้นมา ขอให้เรายังคงขลาดโดยทำนองนี้กันสืบไปเถิด การเพิ่มของเรา แม้หากจะมีมากเพียงไรก็ตาม ต้องเป็นเพียงการเพิ่มเพื่อเป็นบริวารแวดล้อมหรือสนับสนุนของเดิม ให้เด่นชัดเคร่งครัดยิ่งขึ้นถึงที่สุดเท่านั้น
ถ้าเผอิญมีของผิดของปลอม ปนติดเข้ามาบ้าง เพราะอำนาจเหตุการณ์บางอย่างบังคับ ก็จะมาปรากฏอยู่ในลักษณะที่เข้ากับเนื้อแท้ของลัทธิเดิมไม่ได้ โดยตัวมันเองเป็นเครื่องแสดงเอง พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลัก ซึ่งเรียกว่า “มหาปเทสสี่” ไว้อย่างเฉียบขาดสองหมวด หมวดหนึ่ง สำหรับทางฝ่ายธรรม(๑) และอีกหมวดหนึ่ง สำหรับฝ่ายวินัย(๒) เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยความผิดถูกของสิ่งซึ่งเกิดเป็นปัญหาขั้นทุกๆ ประการ
ในที่สุดสิ่งที่ปนปลอมเข้ามาเหล่านั้น เมื่อถูกพิสูจน์โดยหลักมหาปเทสนั้นแล้ว ก็ตกอยู่ในสภาพที่ใครๆ อาจเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นของแปลกปลอมเข้ามา และจะร่วงหล่นไปเองในที่สุด แม้จะยังหลงเหลืออยู่ในคัมภีร์ใดบ้าง ก็จะยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่มีใครสนใจ เพราะลักษณะแห่งความขัดต่อหลักเดิมของมันนั่นเอง
นี้แล นับว่าเป็นความน่าอัศจรรย์ประการแรกของเถรวาท และมีรากฐานอันมั่นคง ตั้งอยู่บนพระพุทธวจนะในมหาปรินิพพานสูตร(๓) ที่ว่า “ยาวกีวญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขู อปญฺญตฺตํ น ปญฺญเปสสนฺติ, ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ, ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺติสฺสนฺติ, วุฑฺฒิเยว ภิกฺขเว ภิกฺขูนํ ปาฏิกงฺขา โน ปริหานิ” ดังนี้
ซึ่งมีใจความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ ไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว คงสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใดก็เป็นที่หวังความเจริญได้ ไม่มีความเสื่อมอยู่เพียงนั้น” ดังนี้.
(ข) พุทธศาสนาอย่างเถรวาท มีอริยอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลักสำคัญ และเห็นกันได้ชัดอยู่แล้วว่า เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับชีวิตมนุษย์โดยตรง ซึ่งถ้าปราศจากหลักธรรมหมวดนี้เสียแล้ว ไม่มีใครในโลกไหนๆ ก็ตามสามารถมีชีวิตอยู่เป็นปกติสุขได้ หรือสามารถดำเนินไปจนลุถึงความรอดพ้นหรือนิพพานของตนได้ ดังนั้น จึงใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ ทั้งเพื่อผลทางฝ่ายโลกิยะและโลกุตตระ
***หมายเหตุ:
(๑) มหาปรินิพพานสูตร. มหา. ที. (๑๐/๑๔๔/๑๑๒)
(๒) มหา. วิ. (๕/๑๓๑/๙๒)
(๓) มหาปรินิพพานสูตร. มหา. ที. (๑๐/๙๑/๗๐)
ขอให้ทุกคนถือเอาอริยอัฏฐังคิกมรรค ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของฝ่ายเถรวาท โดยปราศจากความลังเลจากทุกคนเถิด พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “อยเมวาริโย อฏฐงฺคิโก มคฺโค ฯลฯ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยํ(๑) ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวอริยมรรคมีองค์แปดนี้ว่า เป็นตัวพรหมจรรย์” ดังนี้ ซึ่งหมายถึง เป็นตัวพุทธศาสนา
***หมายเหตุ:
(๑) มหาวารวรรค. สํ. (ไทย. ๑๙/๓๑/๑๑๒)
อริยมรรค มีองค์แปดดังนี้ มิใช่อะไรอื่น นอกไปจากการทำถูก หรือพยายามทำให้ถูกในองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ ในความขัดแย้ง, ความมุ่งหมาย, การพูดจา, การทำงาน, การเลี้ยงชีวิต, การพากเพียร, การมีเครื่องระลึกประจำใจ, และการตั้งใจแน่วแน่เป็นอันเดียว อันบุคคลจะต้องทำกันในทุกๆ แบบของการดำรงชีพ ในฐานะเป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตนั่นเอง สิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น ที่พอจะเรียกได้ว่า พุทธศิลปะอย่างถูกต้องตรงตามความหมายของคำๆ นี้
เพราะเหตุที่หลักธรรมหมวดนี้ อยู่ในวิสัยที่วิญญูชนตามปรกติ จะเข้าถึงได้(๑) นี่เอง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า อัฏฐังคิกมรรคนี้ เป็นเอหิปสฺสิโก คือเปิดเผยให้แก่ทุกคน หรือทุกคนต้องมาดูและปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงยกย่องธรรมหมวดนี้โดยเกียรตินามว่าเป็น “หนทาง” หรือ “กระแส”(๒) ซึ่งพื้นฐานของมันมีความลาดเอียงเทไปทางนิพพานอยู่ตามธรรมชาติ(๓) สามารถทำบุคคลผู้ก้าวลงสู่ให้ไหลเลื่อนตรงยังพระนิพพาน โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จึงจัดว่าเป็นทางแห่งนิพพานสำหรับคนทุกคนโดยแท้ !
องค์ประกอบประการแรก กล่าวคือ การปฏิบัติถูกต้องในทางความคิดเห็น หรือเรียกได้สั้นๆ ว่า ความเข้าใจอันถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) นั้น ย่อมประมวลเอาปัญญา หรือความเข้าใจอันถูกต้องทุกชนิดเข้าไว้ทั้งหมด เช่น โลกุตตรปัญญา ในเรื่องอริยสัจสี่ประการ(๔) อันเกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์โดยตรง
***หมายเหตุ:
(๑) มหาโควินทสูตร, มหา. ที. (ไทย. ๑๐/๒๘๕/๒๓๔), และมหาวาร. สํ. (๑๙/๒๓/๖๙), และ จตุก. อํ. (๒๑/๓๒๙/๒๔๕)
(๒) มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/๔๓๔/๑๔๓๐)
(๓) มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/๔๙/๑๘๙ และ ฯลฯ)
(๔) บาลีมหาสติปัฏฐานสูตร. มหา. ที. (ไทย. ๑๐/๓๔๘/๒๙๙)
เรื่องกฎแห่งการปรุงแต่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ ของสิ่งทั้งปวง ซึ่งเรียกว่า กฎแห่งปฏิจจสมุปบาท(๑) เรื่องลักษณะอันเด็ดขาดตายตัวของสิ่งทั้งปวง ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ-ทุกขํ-อนตฺตา และเรื่องกฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งเหตุและผล ซึ่งทุกๆ เรื่อง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จะนำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เกิดนิพพิทา ความหน่ายต่อโลกียธรรมทั้งปวง
***หมายเหตุ:
(๑) นิทาน สํ. (ไทย ๑๖/๒๑/๔๔), และ ติก. อํ. (ไทย. ๒๐/๒๒๗/๕๐๑)
ยิ่งกว่านั้น คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” นี้ ยังครอบคลุมตลอดลงไปถึงปัญญาอย่างโลกิยะ ที่เป็นกุศล ที่สามารถนำบุคคลเข้าถึงประโยชน์สุขอย่างโลกทุกชนิดอีกด้วย
พระพุทธองค์ได้ตรัสเรียก ความเข้าใจอันถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ไว้อย่างเร้าใจคนทุกคนว่า “รุ่งอรุณแห่งกุศลธรรมทั้งมวล” และอีกอย่างหนึ่งว่า “รุ่งอรุณแห่งการแทงตลอดจตุราริยสัจ”(๒) ซึ่งเป็นนิมิตอันแสดงล่วงหน้าว่า นิพพาน หรือความดับสนิทของปวงทุกข์ จักต้องมีมาโดยแน่แท้ดุจเดียวกับรุ่งอรุณในเวลารุ่งสาง เป็นนิมิตของเวลาเที่ยงวัน อันจักตามมาอย่างแน่นอน ฉันใดก็ฉันนั้น
ทุกคนอาจมองเห็นความจริงในข้อที่ว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิหรือความเข้าใจอันถูกต้องอย่างสมบูรณ์แล้ว ความมุ่งหมายอันถูกต้อง การพูดจา การทำการงาน การเลี้ยงชีวิต การพยายาม การมีสติครองตัว และการปักใจแน่วแน่อย่างถูกต้อง ย่อมเกิดตามขึ้นมาโดยลำดับ และต่อนั้นไปก็จะลุถึงความพ้นทุกข์ทุกประการได้ในเวลาอันควร
***หมายเหตุ:
(๒) ทสก. อํ. (ไทย ๒๔/๒๕๔/๑๒๑), และ มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/๕๕๒/๑๗๒๐)
ความจริงข้อนี้ มีกล่าวไว้ในบาลีอังคุตตรนิกาย(๑) ว่า “สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพํ ทุกฺขํ อุปจฺจคา คนล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยการสมาทานสัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงยกย่องสัมมาทิฏฐินี้ว่าเป็น “รุ่งอรุณของความรอดพ้น” ผลจึงเท่ากับว่าพระองค์ได้ทรงประทานความหวังอันใหญ่หลวงไว้กับพวกเราอย่างน่าอัศจรรย์ เราควรพยายามรีบบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์ประกอบองค์แรกของอริยมรรคนั้น ด้วยความขยันขันแข็ง และซึมทราบในพระกรุณาคุณจริงๆ
ความหวังอันใหญ่หลวงนั้นคือ ความจริงที่ว่า เมื่อใดเราเพ่งพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้ง ที่เรียกให้ถูกต้องในที่นี้ว่า สัมมาทิฏฐิชนิดที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น เมื่อนั้นเราจะได้สมาธิประเภทเดียวกันกับที่เรียกว่า อนันตริยสมาธิ ไม่มากก็น้อยพร้อมกันในขณะนั้น โดยไม่ต้องเจตนาและในลักษณะที่มีสัดส่วนกับการเห็นแจ้งนั้นทุกคราวไป
ตามกฎธรรมชาติแล้ว ไม่มีผู้ใดสามารถเพ่งพิจารณาสิ่งใด โดยปราศจากจากสมาธิที่เกิดขึ้นเอง ถ้าเป็นการเพ่งของสัตว์ตามธรรมชาติธรรมดา สมาธิที่พลอยเกิดนั้น ก็เป็นอย่างธรรมดา ถ้าเป็นการเพ่งพิจารณาอย่างมีระเบียบและตามหลักวิชาสมาธิที่พลอยเกิดนั้น ก็ต้องเป็นอย่างมีระเบียบและเป็นหลักวิชาไปตามกัน เมื่อใดเพ่งพิจารณาเพื่อสัมมาทิฏฐิให้ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อนั้นสมาธิก็เบ่งตัวสูงขึ้นไปตาม จนเป็นบาทฐานที่เพียงพอแก่การเกิดของสัมมาทิฏฐิอย่างเป็นอัตโนมัติ
***หมายเหตุ:
(๑) จตุก. อํ. (ไทย ๒๑/๖๘/๔๙)
ถ้าปราศจากสัมมาทิฏฐิเสียแล้ว เราก็ไม่ทราบว่าจะเพ่งพิจารณาได้อย่างไรกัน กำลังของสัมมาทิฏฐิที่มีอยู่ก่อนนั่นแหละ จะส่งเสริมกำลังของสมาธิที่กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วสมาธิที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะย้อนกลับไปส่งเสริมกำลังของสัมมาทิฏฐิกำลังจะเกิดใหม่ โดยส่วนสัดของกำลังที่เหมาะสมกันอีก
เกี่ยวกับความจริงเรื่องนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส, นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานํ จ ปญฺญา จ, ส เวนิพฺพานสนฺติเก. กล่าวคือ ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา, ปัญญาไม่มีแก่คนที่ไม่มีฌาน, ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นอยู่ใกล้ต่อนิพพาน”(๑) ดังนี้ ของสองอย่างนี้ เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อกัน ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถมีสมาธิโดยไม่มีปัญญา หรือมีปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ของสองสิ่งนี้ส่งเสริมกันและกันอยู่อย่างอัตโนมัติ คือเป็นไปเอง
***หมายเหตุ:
(๑) บาลีภิกขุวรรค, ธ. ขุ. (ไทย ๒๕/๖๕/๓๕)
ความเป็นอัตโนมัติหรือเป็นไปเองในเรื่องนี้ จะเห็นตัวอย่างได้จากการยิงศร เมื่อคนจับคันศรและลูกศรขึ้น เล็งตรงไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เขาไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งเจตนาเพื่อให้เกิดสมาธิ เจตนาเพื่อให้เกิดสมาธินั้น ย่อมเป็นไปเองตามธรรมชาติและพร้อมกันกับเล็ง ถ้าความรู้ในวิธีที่จะยิงให้ถูกมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น สมาธิในการเล็งก็แน่นแฟ้นเอง ความรู้ หรือความแน่ใจ ย่อมเพิ่มกำลังให้แก่สมาธินั้นตลอดเวลา
โดยทำนองเดียวกันนี้ ความเข้าใจอันถูกต้องในคุณค่าของความหลุดพ้นที่ตนมุ่งหมาย ย่อมก่อให้เกิดกำลังแก่สมาธิโดยไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นได้ และตรงตามคำที่ตรัสว่า “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส” ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้น จงพยายามระดมกำลังเพ่งพิจารณา เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด มันจะดึงดูดให้เกิดสมาธิที่เพียงพอ และเหมาะสมแก่การที่จะใช้เพื่อพิจารณานั้น อยู่ในตัวเองและพร้อมกันนั่นเอง โดยปรกติผู้ที่มีอนามัยดี มีสติปัญญา ย่อมทำเช่นนั้นได้อย่างน่าพอใจ
สำหรับเรื่องเกี่ยวกับสมาธิทั่วไป พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในบาลีอังคุตตรนิกาย(๑) ว่า มีอยู่ ๔ ประเภทด้วยกัน คือ ๑) สมาธิเพื่อการชิมความสุขอย่างสูงในปัจจุบันทันตาเห็นในชาตินี้ ได้แก่ การเจริญรูปฌานสี่ มีปฐมฌานเป็นต้น ๒) สมาธิเพื่อให้เกิดญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นตาทิพย์ชนิดหนึ่ง ได้แก่ การเจริญอาโลกสัญญาและทิวาสัญญา ๓) สมาธิเพื่อความสมบูรณ์ของสติและสัมปชัญญะ และการดับไปของเวทนา สัญญา และวิตก ๔) สมาธิเพื่อดับอาสวะทั้งสี่ ได้แก่ การเพ่งพิจารณาดูการก่อขึ้น และการสลายไปของเบญจขันธ์ อันประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
จากเรื่องนี้ เราอาจะเห็นได้ชัดว่า ในบรรดาสมาธิทั้งสี่ประเภทนั้น สมาธิประเภทที่สี่ ก็คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ ตามที่กล่าวไว้ทั่วๆ ไป ในคัมภีร์นั่นเอง
***หมายเหตุ:
(๑) บาลี โรหิตัสวรรค, จตุก. อํ. (ไทย ๒๑/๕๗/๔๑)
การเจริญสมาธิประเภทนี้ เห็นได้ชัดทีเดียวว่า เป็นการเจริญปัญญาโดยตรง ข้อนี้ทำให้เห็นว่า คำว่า “การสมาธิ” คำนี้ มีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจกันอยู่ทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะหมายถึงกันแต่เพียงการทำรูปฌาน ๔ อย่างเท่านั้น
เพราะฉะนั้น สมาธิตามหลังแห่งการปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่สามารถแยกจากปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิไปได้เลย สมาธิตามหลักของฝ่ายเถรวาทเรา จักต้องไปด้วยกันกับปัญญา ที่มุ่งต่อจุดหมายคือวิมุตติเสมอไป ไม่โดยเปิดเผย ก็ต้องโดยเร้นลับ โดยไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้ มันไม่ใช่เป็นเพียงการนั่งสงบๆ และติดต่อกันไป ดังที่เข้าใจกันโดยมากเลย !
สำหรับสัมมาสมาธิ ที่เป็นองค์ประกอบของอัฏฐังคิกมรรคโดยตรงนั้น ในบาลีทั่วไป พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสระบุไว้เป็นรูปฌานทั้งสี่ และทรงระบุไว้ในบาลีมหาจัตตารีสกสูตร(๑) ว่าได้แก่ เอกัคคตาจิต ที่แวดล้อมและนำทางโดยสัมมาทิฏฐิที่รู้ดีรู้ชอบ ว่าอะไรผิดอะไรถูก ฯลฯ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น สมาธิที่จะมีลักษณะว่าเป็น “สัมมา” ได้นั้น จักต้องอาศัยกำลังของสัมมาทิฏฐิเสมอไป ถ้ามิฉะนั้นแล้ว รูปฌานทั้งสี่นั้นจักตกไปเป็นรูปฌานของฝ่ายลัทธิอื่นๆ เช่น ดาบส เป็นต้น และไม่สามารถจะเป็นองค์ประกอบของอัฏฐังคิกมรรคไปได้ และไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางของพุทธบริษัท กล่าวคือ นิพพานได้
จากข้อเท็จจริงอันนี้ ย่อมเห็นได้ว่า สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสมาธิ นั้น จักต้องควงแขนไปไหนไปด้วยกันตลอดเวลา จึงจะเป็นหลักธรรมอันถูกต้องของฝ่ายเถรวาทเรา
***หมายเหตุ:
(๑) บาลี มหาจัตตารีสสูตร, อุปริ. ม. (ไทย. ๑๔/๑๘๐/๒๕๓)
ข้อที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือว่า เมื่อใดสัมมาทิฏฐิหรือความเข้าใจอันถูกต้อง กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างดีแล้ว จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย ในการเจริญองค์แห่งมรรคที่เหลืออยู่อีก ๖ องค์(๑) กล่าวคือ สัมมาสังกัปโป-ความมุ่งหมายอันถูกต้อง, สัมมาวาจา-การพูดจาอันถูกต้อง, สัมมากัมมันโต-การทำการงานอันถูกต้อง, สัมมาอาชีโว-การดำรงชีพอันถูกต้อง, สัมมาวายาโม-การพยายามอันถูกต้อง, สัมมาสติ-การมีสติเครื่องครองตัวอันถูกต้อง
ธรรมชาติของสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมรู้สิ่งทั้งปวงดี ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้ อะไรไม่มีทางจะทำได้ อะไรมีผลควรทำ และอะไรไม่มีผลคุ้มค่าของการทำ อะไรต้องทำอย่างไร ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า อำนาจความเห็นแจ้งอย่างถูกต้องของสัมมาทิฏฐินั้นเอง ช่วยผลักดันบุคคลให้ทำไปแต่ในแนวแห่งความรู้ที่ถูกต้องนั้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐินั่นเอง คนเราจึงสามารถมีและต้องมีการมุ่งหมายแต่ในจุดหมายที่ถูกต้อง พูดจาแต่ในการพูดที่ถูกต้อง ประกอบกรรมแต่ในกรรมที่ถูกต้อง ดำรงชีพแต่ในวิถีทางที่ถูกต้อง ประกอบกรรมแต่ในกรรมที่ถูกต้อง ดำรงชีพแต่ในวิถีทางที่ถูกต้อง ขวนขวายแต่ในความพยายามที่ถูกต้อง ทำสติแต่ในทางแห่งการทำสติที่ถูกต้อง โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงเลยโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุดังกล่าวนี้ องค์ประกอบแห่งอัฏฐังคิกมรรค ๖ องค์ที่เหลือนี้ จึงเป็นของไม่ยากที่จะปฏิบัติ เพราะอำนาจแห่งสัมมาทิฏฐินั่นเอง
***หมายเหตุ:
(๑) ทสก. อํ. (ไทย. ๒๔/๒๕๕/๑๒๑)
เมื่อพิจารณาดูกันอีกทางหนึ่ง ยังจะเห็นได้ต่อไปอีกว่า องค์แห่งมรรคที่เป็นประเภทศีล คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต และสัมมาอาชีโวนั้น จำจะต้องมีธรรมะชื่ออื่นที่เป็นเครื่องสนับสนุน เช่น ต้องมีหิริโอตตัปปะ และ อินทรียสังวร เป็นต้น สนับสนุนให้เต็มเปี่ยม อาศัยอำนาจของสัมมาทิฏฐิอีกนั่นเอง ที่ธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องสนับสนุนนี้ จะมีขึ้นได้โดยง่ายอย่างน่าอัศจรรย์
แม้องค์มรรคประเภทสมาธิ คือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ และสัมมาสมาธิเอง ซึ่งต้องการธรรมะที่มีหน้าที่สนับสนุน เช่น กายปัสสติ เป็นต้น ธรรมเหล่านั้น ก็สามารถมีมาโดยง่าย ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิดังกล่าวแล้วอีกนั่นเอง ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นทั้งผู้ทำโปรแกรมการเดินทางและเป็นทั้งมรรคคุเทสก์เสร็จไปในตัว แก่องค์มรรคองค์อื่นๆ ทั้งสิ้น
จนถึงกับพระพุทธองค์ทรงไม่ประทานเกียรตินามให้ในบาลีมหาจัตตารีสกสูตรว่า “ปุพพงฺคมา(๑) ผู้ทำหน้าที่” ดังกล่าวแล้ว แม้ในองค์แห่งมรรคที่เป็นกลุ่มปัญญา ได้แก่ สัมมาสังกัปโป และสัมมาทิฏฐิเองก็เช่นเดียวกัน จักต้องมีวิธีแห่งการบำเพ็ญให้เกิดขึ้น ภายใต้การนำของสัมมาทิฏฐิด้วยกันที่ก้าวล่วงหน้าไปแล้วเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่โลกุตตรสัมมาทิฏฐิเป็นเจ้ากี่เจ้าการแล้ว อำนาจของสัมมาทิฏฐิชนิดนี้ สามารถกำจัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทุกชนิด จากองค์มรรคที่เหลืออีก ๖ องค์ ดังที่กล่าวข้างต้น หรือแม้ของทั้ง ๗ องค์ คือรวมสัมมาสมาธิเข้าด้วยกัน ความเห็นแจ้ง ที่เกิดจากโลกุตตรสัมมาทิฏฐิในตัวอย่าง ๔ ประเภท ที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น อาจสรุปให้เหลือสั้นๆ แต่เพียงว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีความเป็นเช่นใดที่น่าเป็นสำหรับเรา” ดังนี้
เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติเต็มอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิที่มีหลักว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ฯลฯ” ดังนี้แล้ว มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปโป มิจฉาวาจา มิจฉาสติ และมิจฉาสมาธิ ย่อมไม่มีช่องทางที่จะเหลืออยู่ในจิตของบุคคลนั้นได้เลย และที่แน่นอนยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็คือว่า จิตชนิดนั้นจักน้อมไปเอง จากความเป็นผิด (มิจฉัตตะ) ทุกๆ ประการ ไปสู่ความเป็นถูก (สัมมัตตะ) ทุกๆ อย่างในลักษณะที่สมบูรณ์ และในที่สุดก็จักดำเนินต่อไปจนกระทั่งลุถึง “ความดับสิ้นเชิง”
คือ นิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดของความทุกข์ทั้งปวง พร้อมทั้งต้นเหตุของมัน เพราะอำนาจความที่ไม่เกาะเกี่ยวผูกพันอยู่ในสิ่งใดๆ ในโลกไหนๆ ความเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ มีขึ้นได้เพราะอำนาจของสัมมาทิฏฐิที่ว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีความเป็นเช่นใดที่น่าเป็นสำหรับเรา” ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น
***หมายเหตุ:
(๑) มหาจัตตารีสกสูตร. อุปริ. ม. (ไทย. ๑๔/๑๘๐/๒๕๔)
ข้อที่น่าอัศจรรย์ที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ อริยมรรค มีองค์แปดนี้ สามารถทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เกี่ยวกับความจริงข้อนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ในราตรีที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ว่า “อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขุ สมฺมา วิหเรยฺยํ, อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส, - ดูก่อนสุภัททะ! ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์”(๑) ดังนี้
***หมายเหตุ:
(๑) บาลี มหาปรินิพพานสูตร. (ไทย. ๑๐/๑๗๖/๑๓๘)
คำว่า “อยู่โดยชอบ” นั้น หมายถึง ชอบ ๘ ชนิดในอัฏฐังคิกมรรคนั่นเอง ข้อนี้เป็นเพราะเหตุว่า พระองค์ได้ตรัสไว้ในคราวเดียวกันนั้นว่า ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑-๒-๓-๔ กล่าวคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ตามลำดับ และว่าอริยมรรคมีองค์แปดนั้น มีในธรรมวินัยของพระองค์(๑)
ทำไมอริยมรรคมีองค์แปด จึงสามารถทำโลกไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์เล่า ? ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะเห็นได้ไม่ยากเลย เมื่อบุคคลใดเป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ มีความเข้าใจอันถูกต้องเป็นต้น และมีความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด ดังนั้นแล้ว ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น ย่อมเป็นการตัดอาหารของกิเลสทุกชนิดและทุกชั้นไปในตัว กิเลสตกอยู่ในฐานะที่ถูกล้อม ปิดทางมาแห่งอาหาร (บอยค็อต) หมดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จนผอมหนักเข้าและตายไปเองในที่สุด
เพียงแต่ทุกคนเป็นอยู่ให้ถูกต้องตามหลักของอัฏฐังคิกมรรคเท่านั้น กิเลสนั่นจะขาดอาหารและตายไปเองตามลำดับ เมื่อกิเลสสิ้นไป ในอันดับที่เรียกว่า สมณะที่หนึ่งคือโสดาบันแล้ว ย่อมแน่นอนที่จะเลื่อนขึ้นไปจนถึงขั้นที่สี่ คือพระอรหันต์ อย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้(๑) ฉะนั้น จึงนับว่าความหวังอันใหญ่ยิ่งสำหรับทุกคน เพราะการพากเพียรทำเพียงเพื่อบรรลุความเป็นสมณะที่ ๑ นั้น ไม่เป็นการเหลือวิสัยสำหรับใครเลย
การทำจิตใจให้แจ่มอยู่ด้วยการพิจารณาความจริงที่ว่า “ไม่มีความเพลิดเพลินอะไรที่ควรยึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีความเป็นอะไรที่น่าเป็นสำหรับเรา” นั่นเอง จะทำให้จิตผละจากสิ่งทั้งปวง น้อมไปสู่ “ความดับไม่มีอะไรเหลือ” อยู่เป็นปรกติ เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันไว้ เมื่อจิตแน่วแน่อยู่กับความจริงข้อนี้ ความเข้าใจก็ถูกต้องอย่างยิ่งอยู่แล้วในตัว
ความมุ่งหมายก็น้อมไปเพื่อนิพพาน อยู่ในตัว วาจา, การงาน, การเลี้ยงชีพ, ความเพียร, สติและสมาธิ ก็ไม่ทางที่จะผิด กลับเป็นความถูกต้องถึงที่สุดอยู่ในตัวและตลอดเวลา เป็นมรรคมีองค์แปดที่สมบูรณ์อยู่จริงตลอดเวลาเหล่านั้น เป็นการตัดอาหารของกิเลสอยู่ตลอดไป ในที่สุดก็มีกิเลสน้อยจนเป็นสมณะอันดับใดอันดับหนึ่ง หรือถึงอันดับที่สุดคือเป็นพระอรหันต์ได้จริง
นี้คือ ความมหัศจรรย์ข้อสุดท้ายของอริยมรรคมีองค์แปด ที่ทำโลกให้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ โดยวิธีที่ทุกคนพอจะทำได้ นับว่าเป็นข้อน่าอัศจรรย์ประการที่สองของเถรวาทเรา ซึ่งน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
(ค) หลักพุทธศาสนาอย่างเถรวาท มีความมุ่งหมายที่จะอยู่เหนืออำนาจของการปรุงแต่งเสกสรรทุกชนิด รวมทั้งอำนาจของสิ่งที่เรียกกันว่า พระเป็นเจ้าด้วย ซึ่งสรุปแล้วจำแนกได้เป็น ๓ อย่าง คือ อำนาจสร้าง อำนาจการควบคุม และอำนาจการทำลาย นิพพาน ซึ่งมีธรรมชาติเป็น อชาตอภูต-อมต นั้น เป็นสภาพที่อยู่นอกเหนืออำนาจทั้งสามนั้น เถรวาทเราจึงถือว่า เป็นบรมธรรม
คำว่า “พระเป็นเจ้า” ตามที่อธิบายไว้ในลักษณะต่างๆ กัน ในคัมภีร์ต่างๆ ของทุกๆ ลัทธินั้น เมื่อนำเข้ามาจับกันกับหลักธรรมของพุทธบริษัทแล้ว อาจสรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ พระเป็นเจ้าผู้สร้าง, พระเป็นเจ้าผู้ควบคุม, พระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้าง พระเป็นเจ้าผู้สร้าง คือพระเป็นเจ้าในขณะที่ทำการสร้างโลก และสิ่งต่างๆ ทุกชนิด ทำนองเดียวกับที่พระเป็นเจ้าผู้ควบคุม ในขณะที่ทำการควบคุมดูแลสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามอำนาจ และพระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้าง ในขณะที่ทำโลกนี้ให้อันตรธานไปอีกครั้งเป็นยุคๆ
***หมายเหตุ:
(๑) บาลี มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/ ๔๖๕-๖ / ๑๕๑๑-๒)
ตลอดเวลาที่อำนาจในการทำเช่นนั้น ยังเป็นไปเหนือจิตมนุษย์หรือมนุษย์ยังมีอุปาทาน เชื่อถือในความเป็นเช่นนั้นอยู่เพียงใด เขาก็ยังจะต้องเป็นผู้ถูกสร้าง ถูกควบคุม และถูกทำลายล้างอยู่ได้เพียงนั้น บางศาสนาได้มอบอำนาจทั้งสามนี้ ไว้ในพระเป็นเจ้าองค์เดียว และบางศาสนาจำแนกให้แก่พระเป็นเจ้าตั้งสามองค์หรือมากกว่า แต่ข้อนี้ไม่มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงกัน ความสำคัญอยู่ที่ว่า จะมีพระเป็นเจ้าองค์เดียวหรือหลายองค์ก็ตาม ผู้นับถือพระเป็นเจ้าย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องบูชาและอ้อนวอนต่อพระเป็นเจ้านั้นๆ โดยทำนองเดียวกันหมด
การที่ต้องตกอยู่ในอำนาจ ๓ ชนิด ของสิ่งที่เรียกกันว่าพระเป็นเจ้าในทำนองนี้ แม้จะได้อยู่ในสวรรค์ของพระเป็นเจ้าเอง พุทธบริษัทไม่ยอมถือว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ หรือเป็นอิสรภาพหรือเป็นความรอดพ้น หรือเป็นความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่า นิพพานแต่อย่างใด
การตกอยู่ใต้อำนาจทั้งสามในลักษณะเช่นนั้น ชื่อว่ายังคงตกอยู่ภายใต้อำนาจการเปลี่ยนแปลง ยังจะต้องหมุนเวียนไปในวนของวัฏฏสงสาร ยังอยู่ภายใต้การควบคุม ดลบันดาลของสิ่งอื่นๆ อย่างน้อยก็ของความหวังในอันที่จะเกิดในโลกที่ตนปรารถนา หรือของการกำจัดต้องอยู่ในโลกที่ตนปรารถนานั้นไปตลอดกาลนิรันดร โดยปราศจากอิสรภาพในการที่จะ “ไม่อยู่ หรือไม่เป็นอะไรเลย” ของจิตที่บริสุทธิ์แล้ว
พุทธบริษัทผู้มุ่งหวังแต่จะออกไปให้พ้นอำนาจหมุนเวียนของการสร้าง การควบคุม และการทำลายล้าง อย่างซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ย่อมพิจารณาเห็นว่า การได้เพียงสวรรค์ในลักษณะเช่นนั้น ยังเป็นของที่เป็นเบื้องต้นเกินไปหรือต่ำเกินไป ยังยอมรับนับถือไม่ได้ เขาเหล่านั้นมุ่งมาดแต่จะได้ อิสรภาพที่ถึงที่สุด ความรอดที่ถึงที่สุด การทำลายความถูกผูกพันที่ถึงที่สุด แม้แต่การถูกผูกพันให้จำต้องอยู่ในสวรรค์นิรันดรนั่นเองด้วย
การปราศจากความผูกพันทุกชนิดที่ถึงที่สุดจริงๆ นั้น ย่อมนำมาซึ่งภาวะแห่งความเกษม (คือไม่มีอำนาจอะไรครอบงำ) อันสูงสุดแท้จริง และทั้งเป็นชนิดที่อาจรับได้ในชีวิตชาตินี้เอง อำนาจดลบันดาลในการสร้าง การควบคุม และการทำลายล้าง ย่อมไม่มีอิทธิพลใดๆ เหนือจิตที่มีอิสระจากเครื่องผูกพันโดยประการทั้งปวง คือทั้งที่เป็นของมนุษย์และของสวรรค์ ภายใต้การนำของพระพุทธองค์ พุทธบริษัทได้พิจารณาเห็นความจริง ดังต่อไปนี้ คือ:-
(๑) อำนาจธรรมชาติในการสร้างสิ่งต่างๆ ที่ทำอะไรบางอย่าง ให้ได้นามว่า พระเป็นเจ้าผู้สร้างนั้น คือ อวิชชา (สภาพที่ปราศจากความรู้) ว่าอะไรเป็นความทุกข์ และอะไรเป็นความดับสนิทของความทุกข์) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างหรือปรุงแต่ง (อภิสังขาร) สิ่งต่างๆ ขึ้นโดยลำดับๆ ตามกฎในบาลีที่ว่า “อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ฯลฯ” จนกระทั่งเกิดมีมนุษย์ที่เต็มอยู่ด้วยกิเลส และทำโลกนี้ให้ปั่นป่วนไปด้วยวิกฤตการณ์นานาประการ
(๒) อำนาจธรรมชาติในการควบคุมสิ่งทั้งปวง ที่ทำอะไรบางอย่าง ให้ได้นามว่า พระเป็นเจ้าผู้ควบคุมในที่ทุกหนทุกแห่งนั้น คือ กฎแห่งกรรมของธรรมชาติหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎแห่งความเป็นเหตุและผลอันเนื่องกัน ซึ่งสัตว์ผู้ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจ ความยึดถือในความดีความชั่ว ได้ผูกพันตัวเองเข้าไว้กับกฎนั้น โดยอาศัยอำนาจแห่งอวิชชาของสัตว์นั้นๆ เอง อีกนั่นเอง
(๓) อำนาจธรรมชาติในการทำลายล้าง ซึ่งทำอะไรบางอย่าง ให้ได้นามว่าพระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้างนั้นก็เหมือนกัน ได้แก่ อวิชชา ที่อยู่ในรูปของตัณหาสามชนิด ซึ่งทำสัตว์โลกให้เดือดพล่านอยู่ ด้วยความทะยานอยากและความขวนขวายนานาชนิด และมึนเมาในกามคุณ รวมทั้งในความมั่งมีและอำนาจวาสนาอย่างปราศจากหิริโอตตัปปะ จนกระทั่งเผชิญกันกับความพินาศของตนเอง
พวกเถรวาทเรามีวิธีการที่ทำให้เกิดการเห็นแจ้งแทงตลอดว่า อวิชชาอย่างเดียวนี่เอง แต่อยู่ในรูปลักษณะต่างๆ กัน ที่บันดาลให้เกิดอำนาจสร้างสรรค์ ควบคุม และทำลายล้างขึ้นในโลกมนุษย์ ในโลกนั้นๆ ให้ติดอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจนั้นๆ จนกระทั่งต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ ดังตกอยู่ในกระแสน้ำวนไม่มีที่สุด
พวกเรายังได้เห็นแจ้งต่อไปอีกว่า หน้าที่ทางฝ่ายเราผู้เป็นสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วนี้ ก็คือจะต้องทำการต่อสู้เพื่อทำลายรากเง้าของอำนาจที่ทำการสร้างการควบคุมและการทำลายล้างนั้นเสีย ซึ่งได้แก่อวิชชา ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง
เราไม่สามารถจะมอบตัวไว้กับความกรุณาของสิ่งที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า พระเป็นเจ้า ซึ่งมีหน้าที่แต่จะสร้าง จะควบคุม และจะทำลายล้าง แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ในรอบใหม่ ไม่มีที่สิ้นสุดเสียอย่างเดียว ถ้ารวมพระเป็นเจ้าเป็นองค์เดียว ก็คือ อวิชชา ถ้าแยกเป็น ๓ องค์ ก็คือ อภิสังขาร กรรม และตัณหา !
โดยการปฏิบัติตามอริยอัฏฐังคิกมรรค อันพระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ดังกล่าวแล้วข้างต้น เราจะสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า วิชชา อันเป็นคู่ปรับของอวิชชาขึ้นมาได้ สิ่งนี้เองจะช่วยให้เราเห็นสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง จนถึงกับจิตของเรามีโลกุตตรปัญญา มองเห็นความจริงอันสูงสุดที่ว่า
“ไม่ว่าในโลกไหนๆ ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือเอา แม้แต่สวรรค์ของพระเป็นเจ้า ไม่ว่าในภพวิธานใดๆ ไม่มีภาวะอย่างไหน ที่น่าไปเป็นไปอยู่ แม้ที่สุดแต่จะเป็น “ตัวเรา” เอง ซึ่งแท้จริงเป็นเพียงมายาของความยึดถือว่าตัวตน อันเกิดจากอวิชชาเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะเที่ยวสอดส่ายหาความเป็นอย่างใดๆ แม้ที่สุดแต่เป็นเทพเจ้าหรือสัตว์สวรรค์ของพระเป็นเจ้าเหล่านั้น
ความมี “ตัวเรา” ของเรานี้ ก็มิใช่อะไรอื่น นอกไปจากผลิตผลแห่งมิจฉาทิฏฐิของจิต เมื่อใดจิตหมดจดจากมิจฉาทิฏฐินี้แล้ว เมื่อนั้นความรู้สึกว่า “ตัวเรา” ก็หมดไป เหลืออยู่แต่จิตที่บริสุทธิ์ ซึ่งอยู่เหนืออำนาจการเสกสรรบันดาลของพระเป็นเจ้าทั้งหลาย จิตที่บริสุทธิ์นั้น ไม่ต้องการอะไร ไม่มีสิ่งผูกพันที่จะต้องเปลื้อง และไม่มี ‘ตัวเอง’ ที่จะต้องแบกต้องขน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องการให้ใครช่วยเหลือ และทั้งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรนนิบัติใครที่ไหนเลย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จิตที่บริสุทธิ์จึงอยู่นอกขอบเขตอำนาจการเสกสรรบันดาลของพระเป็นเจ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในทางสร้าง หรือในทางควบคุม หรือในทางทำลาย ! นี้แล คือ อิสรภาพอันสูงสุด ความรอดพ้นอันสูงสุด ความหลุดจากข้อผูกพันอันสูงสุด และความดับทุกข์ทั้งปวงอันสูงสุด ซึ่งมีได้ในชีวิตชาตินี้เอง โดยไม่ต้องรอคอยโลกพระศรีอารย์หรือสวรรค์ของพระเป็นเจ้าชนิดใดๆ
นี่แหละคือ นิพพานของเถรวาทหรือบรมธรรมอันแท้จริงของมนุษยชาติ สิ่งนี้เป็นคุณประโยชน์อันสูงสุด ที่มนุษย์อาจทำให้มีแก่ตนได้ในชาติทันตาเห็นนี้ และสมตามพระพุทธวจนะที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา พุทธบุคคลทั้งหลาย กล่าวนิพพานว่าเป็นบรมธรรม ดังนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัตตัง จะรู้ได้เข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเข้าถึงตนเอง และอยู่นอกเหนือความเข้าใจของกลุ่มชนที่ติดแน่นอยู่ในลัทธิที่เอาแต่จะแทรกฝิ่นให้แก่ประชาชนเสียท่าเดียว”
พุทธศาสนาอย่างเถรวาท ไม่มีเมืองพระเจ้า เมืองสวรรค์ที่ไหน ไว้เป็นเหยื่อล่อมหาชน ไม่มีพระเป็นเจ้าที่เป็นตัวเป็นตนหรือสิ่งใดๆ อื่น สำหรับให้คนยึดมั่น นอกจากมีแต่พระรัตนตรัย กล่าวคือ ภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบของจิตที่บริสุทธิ์จริงๆ แล้ว ภายในของบุคคลนั้นๆ เอง ตั้งอยู่ในฐานะแทนที่พระเป็นเจ้า เพื่อให้เขาทำให้ประจักษ์ขึ้นในใจตน ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้เอง พุทธศาสนาอย่างเถรวาท จึงอยู่ในฐานะที่ใครๆ ไม่สามารถจะจัดเข้าไว้ในกลุ่มที่เป็น “ยาเสพติดของประชาชน” ได้แต่อย่างใดเลย
งานธรรมทูตของลัทธิเถรวาท สามารถดำเนินไปได้ทั่วโลก โดยปราศจากกองทัพและปราศจากเหยื่อล่อ หรือสินจ้างใดๆ ตลอดถึงพิธีรีตองอันครึกครื้นสวยงามต่างๆ ในทางวัตถุนิยม แต่สามารถดำเนินไปได้ด้วยรสแห่งธรรมปฏิบัติที่มีให้ชิมล่วงหน้าทันที ที่แม้แต่ลองปฏิบัติ หรือด้วยอำนาจความมีเหตุผลอันอาจเป็นที่เข้าใจได้ ไปตั้งแต่แรกเริ่มได้ยินได้ฟังทีเดียว นั่นเอง ประวัติศาสตร์แห่งสากลศาสนาของโลกทุกยุคทุกสมัย เป็นเครื่องพิสูจน์อันเพียงพอในข้อนี้
นี่แหละคือ ความน่าอัศจรรย์ประการที่สามของลัทธิเถรวาท ที่สามารถแยกตัวเองออกมาเสียได้ จากกลุ่มของการเป็น “ยาเสพติดของประชาชน” ดังกล่าวแล้ว
(ง) เถรวาทเรา มีพระรัตนตรัย ชนิดที่เป็นของในภายในของตนเอง เป็นที่ตั้งแห่งการเข้าถึงด้วยปัญญา ในลักษณะแทนที่แห่งพระเป็นเจ้าในภายนอกของลัทธิอื่นๆ ซึ่งยึดกันด้วยความภักดีอย่างเดียว ดังนั้น จึงมีแต่ “พระเป็นเจ้าสำหรับปัญญา” ไม่ใช่พระเป็นเจ้าสำหรับความภักดี !
พระรัตนตรัยแห่งลัทธิเถรวาทโดยเฉพาะ ซึ่งกล่าวได้ว่าอยู่ในฐานะแทนที่พระเป็นเจ้าในลัทธิอื่นๆ นั้น มีหลักที่จะต้องพิจารณาให้เห็นชัด เป็น ๒ ความหมายด้วยกัน ดังต่อไปนี้ :-
ความหมายที่เป็นชั้นนอก ในตอนต้นๆ สำหรับผู้แรกศึกษานั้น พระรัตนตรัยมีถึง ๓ อย่าง โดยจำนวน คือ (ก) พระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงสอนสิ่งที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้น (ข) พระธรรม หมายถึง สิ่งที่อยู่ในรูปของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นสิ่งที่ต้องสอนต้องปฏิบัติ ต้องทำให้แจ้ง เพื่อความรอดพ้นของบุคคลที่เข้ามาปฏิบัตินั้นเอง (ค) พระสงฆ์เจ้า คือ หมู่ชนที่ได้ฟังพระองค์สอนแล้วเข้าใจ ปฏิบัติแล้วเห็นแจ้งในสิ่งๆ เดียวกันกับที่พระองค์ทรงเห็น และโดยทำนองเดียวกันกับพระองค์ทรงทำมา
ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้ว ก็คือ พระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้แล้วสอนพระธรรม พระธรรมทั้งที่อยู่ในรูปของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เห็นแจ้งแล้วสอนสืบๆ กันไป พระสงฆ์ คือหมู่ชนที่ประพฤติตามพระพุทธเจ้า เพื่อผลอันเดียวกัน รัตนะทั้งสาม ในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจเรียกได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจขนานนามให้ได้กรณีนี้ ว่า “พุทธิก-ตรีมูรติ” หรือพระเป็นเจ้าใน ๓ ปรากฏการณ์
ซึ่งเมื่อกล่าวตามความคิดของพุทธบริษัทเรา โดยเทียบกับลัทธิอื่นแล้ว ก็คือ “พระเป็นเจ้า” (ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ “พุทธภาวะ” ๑. สิ่งที่สามารถทำให้อะไรบางอย่าง ได้นามว่า “พระเป็นเจ้า” ๒. ทำชนบางพวกให้เข้าถึงความเป็นอันเดียวกับ “พระเป็นเจ้า” และ ๓. หมู่ชนที่สามารถเข้าถึงหรืออาจเข้าถึงโดยแน่นอนข้างหน้า ในความเป็นอันเดียวกันกับ “พระเป็นเจ้า” รวมเป็น ๓ อย่างด้วยกัน ดังนี้
แต่ใน ความหมายชั้นลึก สำหรับผู้ที่มีความเห็นแจ้งและมีความรู้สึกสูงแล้วนั้น พระรัตนตรัยมีเพียงอย่างเดียว โดยถือเอาคุณสมบัติภายในเป็นประมาณ ตามหลักที่ว่า “เอกีภูตมฺปนตฺถโต-โดยอรรถอันลึกซึ้งแล้ว รัตนะทั้งสาม เป็นของอย่างเดียวกัน” ดังนี้ ของสิ่งเดียวนี้ ได้แก่ ตัวสภาวะของ “บรมเขมธรรม แห่งความสะอาด-สว่าง-สงบ” (อันพอจะเรียกให้สั้นลง เพื่อความสะดวกสืบไป แต่เพียงว่า “๓ ส.”) นั้นเอง
อันจะปรากฏแก่จิต ในเมื่อจิตมีความบริสุทธิ์ถึงระดับใดระดับหนึ่ง ตามที่กำหนดไว้แล้วเป็นชั้นๆ นี่แหละ คือพระรัตนตรัยตัวแท้ หรือหัวใจของพระรัตนตรัย ที่ทำคนบางคนให้ได้นามว่าพระพุทธเจ้า ทำหมู่ชนบางหมู่ให้ได้นามว่าพระสงฆ์ และทำตัวเองให้ได้นามว่าพระธรรม ตลอดกาลไม่มีกำหนด
ทำไมข้าพเจ้าจึงกล่าวเช่นนี้ในกรณีหลังนี้? ทั้งนี้เพราะอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อพิจารณาดูถึงบุคคลที่ได้ตรัสรู้และสอน ก็จะพบว่า ได้ตรัสรู้และทรงสอนเพื่อให้เข้าถึงภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม แห่ง ๓ ส.” ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ ในฐานะเป็นแก่นสารทั้งหมดของพระหฤทัยนั้น แต่อย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา
และเพราะเหตุที่พระองค์ทรงมีสิ่งๆ นี้ ประจำอยู่ในพระหฤทัย แทนที่จะมีกิเลส พระองค์จึงได้พระนามว่าพระพุทธเจ้า ถ้าสิ่งๆ นี้ ไม่มีในพระหฤทัยแล้ว พุทธภาวะก็หมดไป สิ่งสำคัญสิ่งนี้ อันได้แก่ ภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นต่างหาก หาใช่มนุษย์ภาวะไม่ ที่เป็นองค์แท้ของพระพุทธเจ้า จึงพร้อมทั้งกาย อันเป็นฐานรองรับนั้น เป็นเพียงเปลือกหรือเพียงภาชนะสำหรับรองรับภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นเท่านั้น
เมื่อกล่าวกันถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทราบและทรงสอน ท่านทั้งหลายจะเห็นได้สืบไปว่า สิ่งนั้นก็คือ สิ่งๆ เดียวกันกับตัวภาวะแห่ง “บรมเขมธรรมของ ๓ ส.” ซึ่งพระองค์ทรงมีประจำอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์เองตลอดเวลาอีกนั่นเอง
ถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในกรณีนี้มีความสำคัญที่จะต้องมองให้เห็นชัด อยู่ ๓ ลักษณะ คือ :
(๑) ในทางทฤษฎีสิ่งที่สอนๆ กันนั้น ก็ได้แก่ ทฤษฏีหรือวิธีการแห่งการที่จะได้มายิ่งภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้น
(๒) ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ปฏิบัตินั้น ก็ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นอีกนั่นเอง และ
(๓) ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกเอาเอง ว่า “ในทางการเห็นแจ้ง” เพราะไม่มีคำอื่นที่จะเรียกให้ดีกว่านี้ได้นั้น สิ่งที่เห็นแจ้งแทงตลอดนั้น ก็คือภาวะแห่ง “พระบรมเขมธรรม ของ ๓ ส.” นั้นโดยตรง โดยเหตุนี้ สิ่งที่พระองค์ทรงแสวง ทรงพบ ทรงปฏิบัติ ทรงรับผลของการปฏิบัติแล้วทรงสอนสืบมานั้น ก็ไม่มีอะไรอื่น นอกไปจากภาวะแห่ง “พระบรมเขมธรรม ของ ๓ ส.” นั้น
ฉะนั้นสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นเอง เป็นองค์พระธรรมแท้ โดยใจความอันถูกต้อง และมีปริยัติกับปฏิบัติเป็นเสมือนหนึ่งแผนที่ และการเดินไปตามแผนที่ และมีปฏิเวธหรือการเห็นแจ้งแทงตลอดนั้น เป็นการถึงที่สุดของการเดิน
แม้เมื่อจะกล่าวกันถึงหมู่ชนที่ฟังธรรมเข้าใจ แล้วปฏิบัติจนได้รับผลอย่างเดียวกันกับพระองค์นั้นเล่า หมู่ชนเหล่านั้น ก็ได้แก่ หมู่ชนผู้มีความเข้าใจในการที่จะทำตนให้ลุถึงภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้น และในที่สุดก็คือ หมู่ชนผู้ที่ได้ลุถึงภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นแล้ว มีสิ่งๆ นี้เป็นแก่นสารประจำใจแต่อย่างเดียวไปจนตลอดชีวิตอีกนั่นเอง
สิ่งที่เขาเข้าใจ แล้วปฏิบัติ และเห็นแจ้งแล้ว มีอยู่ในใจเขานั้นต่างหาก ที่เป็นองค์พระสงฆ์เจ้าองค์แท้ หาใช่ลำพังกายกับใจล้วนๆ ไม่ ใจพร้อมทั้งกาย ซึ่งเป็นเสมือนฐานรองรับนั้น คงเป็นได้แต่เปลือกหรือภาชนะสำหรับรองรับสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นไปตามเดิม
เพราะเหตุดังกล่าวมา ตัวสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม ของ ๓ ส.” ดังที่กล่าวแล้วนั้นเท่านั้น ที่เป็นตัวแท้ของพระรัตนตรัยทั้งสามรัตนะ กล่าวคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ใดสามารถทำสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้น ให้ปรากฏในใจของตนได้แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าได้มีพระรัตนตรัยอันแท้จริง ชนิดที่ครบทั้ง ๓ รัตนะ พร้อมกันในคราวเดียว เพราะเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็น ๓ ใน ๑ อยู่ในตัวเองโดยเด็ดขาด เป็นของผู้นั้นจริงๆ โดยไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้
สรุปความว่า พระรัตนตรัย ซึ่งนับเป็นสาม โดยจำนวนตามความหมายในชั้นนอกก็ดี หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นับเป็นหนึ่ง โดยความหมายในชั้นลึกดังกล่าวแล้วข้างต้นก็ดี ย่อมตั้งอยู่ในฐานะแทนที่พระเป็นเจ้าของลัทธิอื่นๆ ในศาสนาอื่นๆ ที่มีการถือพระเป็นเจ้าในฐานะเป็นวัตถุสูงสุดโดยทำนองเดียวกัน
ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยในลักษณะเช่นนี้ได้ ย่อมชื่อว่าเข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “พระเป็นเจ้า” แต่เป็นพระเป็นเจ้าตามความหมายของพวกพุทธบริษัท จึงปราศจากหน้าที่แห่งการสร้าง การควบคุม และการทำลายล้างสิ่งใดๆ โดยสิ้นเชิง นี่แหละคือ “พระเป็นเจ้า” ของพวกเถรวาทเรา ! ถ้าหากเราประสงค์จะมีกะเขาบ้าง และพระเป็นเจ้าสำหรับการเข้าถึงด้วยปัญญา โดยวิธีกล่าวแล้วข้างต้น ไม่ใช่สำหรับยึดถือด้วยความภักดี หรือความไว้วางใจอย่างเดียว
นี้แล ความน่าอัศจรรย์ประการที่สี่ของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท
เพื่อนร่วมการเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย ! บัดนี้ เวลาแห่งการปาฐกถาจะได้สิ้นสุดลงแล้ว ข้าพเจ้าขอถือโอกาสสรุปความว่า
ประเทศของเราทั้งสอง จักต้องมีพุทธศาสนาอย่างเถรวาท อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตและวิญญาณ พร้อมทั้งเป็นเครื่องรักษาสัมพันธไมตรีพร้อมกันไปในตัว
ลัทธิเถรวาทเรา มีความบริสุทธิ์อยู่ดังเดิมได้ ซึ่งโลกนักศึกษาต่างยอมรับรองในข้อนี้ จึงยังคงเป็นสิ่งที่ควรเทิดทูนและยึดไว้ อัฏฐังคิกมรรค เป็นหัวใจของลัทธิ สามารถทำโลกไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์ ในลักษณะที่ไม่เหลือวิสัยคนทุกคน ซึ่งเมื่อทำให้ถูกวิธีแล้วจะง่ายดายเหมือนของเบาลอยน้ำออกไปสู่ทะเล เป็นหลักที่ใช้ถือปฏิบัติได้ ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายโลกุตตระ
เรามีความมุ่งหมายที่จะอยู่เหนืออำนาจเร้นลับ แห่งการสร้าง การควบคุม และการทำลายของสรรพกิเลส กล่าวคือ การลุถึงนิพพาน ตามแบบของเถรวาท ซึ่งมีสภาพเป็นอชาตอภูต-อมต ไม่น้อมไปเพื่อความมีตัวตน หรือมีการอยู่ในโลกของพระเป็นเจ้าแต่อย่างใด
เรามีพระรัตนตรัยแท้ ชนิดที่เป็นความสะอาด-สว่าง-สงบ ของจิตที่หมดกิเลส เป็นที่พึ่ง เป็นที่สักการะ แทนที่พระเป็นเจ้าของลัทธิอื่นๆ การกระทำของเราเป็นการช่วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา มีเหตุผลชัดเจน อำนวยประโยชน์ที่จำเป็นแก่ชีวิตให้จริงๆ จนไม่อยู่ในวิสัยที่ใครๆ จะกล่าวว่าเป็นยาฝิ่นของประชาชนดังได้กล่าวแล้ว และสามารถต่อสู้หรือทำลายอิทธิพลของลัทธิวัตถุนิยมได้จริง
เราทั้งหลาย ก็อยู่ในสภาพที่จะรู้ จะเข้าใจ จะปฏิบัติ และเห็นแจ้งในผลของการปฏิบัติ ตลอดจนถึงกับสามารถสั่งสอนสืบต่อๆ กันไปได้จริง เพราะว่าเรามีจิตใจสูงพอที่จะเข้าใจในเรื่องจิตหรือวิญญาณที่สูงไปกว่าเรื่องของวัตถุ และในเรื่องโลกุตตระซึ่งเร้นลับจากเรื่องโลกียะทั้งหลายได้นั่นเอง
เมื่อกล่าวอย่างสำนวนภาษาไทย เพราะข้าพเจ้าไม่สามารถทราบสำนวนภาษาอื่น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า เราต้องไม่เป็นแรด เพราะแรดไม่สามารถที่จะฟังเสียงปี่อันไพเราะ โลกุตตรธรรมนั้น บรรเลงเพลงอันไพเราะอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นแรด เราก็จะไม่ได้ยิน
เมื่อ ๕๐๐ ปีเศษ ก่อนคริสต์ศักราชมาแล้ว ในประเทศกรีก ซึ่งโลกถือกันว่าเป็นดงปราชญ์ เฮรัคคลิตัส (Heraclitus) ได้เป่าปี่ให้แรดทั้งหลายของเขาฟังอย่างเหนื่อยเปล่า ! เขาเกิดพ้องสมัยกันกับพระพุทธองค์ ห่างกันไม่กี่ปี ได้โฆษณาทฤษฎี “แปนตาเร ทุกอย่างไหล” ของเขา ซึ่งมีใจความว่า
สิ่งทั้งปวง หรือที่รวมเรียกกันว่าโลกนี้ เป็นเพียงความไหลเนื่องกันไม่ขาดสาย ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่อยู่จริง มีแต่ความเปลี่ยนแปลงทุกส่วน กำลังดับอยู่ตามกันไม่มีขาดสาย เหมือนความดับติดต่อกันของไฟที่กำลังลุกโพลงๆ อยู่
“แปนตาเร ทุกอย่างไหล” ของเรานี้ ก็คือ “สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา” ของพระพุทธองค์นั่นเอง แต่คนทั้งหลายในที่นั้น ฟังไม่รู้เรื่องเลย แล้วยังกลับหาว่าเขาเป็น “มนุษย์ลึกลับ” ทั้งนี้ ก็เพราะไม่ใช่อะไรอื่น นอกไปจากประเทศกรีกในสมัยนั้น เป็นดงแรดแห่งปรัชญาวัตถุนิยม แรดเหล่านั้น ฟังเรื่องทางฝั่งโลกุตตระไม่เข้าใจ ทั้งที่โลกยกย่องกันว่า เป็นเมืองนักปราชญ์มาจนกระทั่งทุกวันนี้
เราทั้งหลาย จงภูมิใจเถิดว่า เราฟังเพลงแห่งโลกุตตรธรรมของพระพุทธองค์ได้ยินและเข้าใจ เราไม่ยอมเป็นแรด แห่งลัทธิที่เป็นยาเสพติดของประชาชน เพราะมัวหวังผลเป็นวัตถุนิยม ทั้งในเมืองมนุษย์และเมืองสวรรค์อย่างแน่นอน ปรัชญาของเถรวาท ต้องเป็นมโนนิยมโดยเด็ดขาด จึงมุ่งผลเป็นนิพพาน คือความอยู่นอกเหนืออำนาจของสิ่งทั้งปวง อันเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง จนถูกสร้าง ถูกควบคุม ถูกทำลายล้างวนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด
ประเทศของเราเหลืองอร่ามไปด้วยกาสาวพัสตร์ นั่นมันเป็นเครื่องหมายของผู้อยู่เหนืออำนาจของผู้สร้าง ผู้ควบคุม ผู้ทำลายล้าง เป็นเครื่องหมายของแสงสว่างหรือปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ความดับทุกข์ทั้งหลายได้สิ้นเชิง ไม่มีทางที่จะกลับเป็นทุกข์ได้อีกต่อไป
นี้แลคือ ความน่ามหัศจรรย์แห่งหลักธรรมอันประเสริฐของเถรวาทเราโดยสรุป รวมทั้งความน่ามหัศจรรย์แห่งความเป็นเถรวาทินของพวกเราเองทุกๆ คนด้วย เราจะต้องรักษาคุณสมบัติอันนี้ไว้ ให้เหมือนเกลือรักษาความเค็มของมันเองไว้ได้ ตลอดกาลนิรันดร ฉันใดก็ฉันนั้น จงทุกคนเทอญ.
|