ตอนที่ ๓๖ อริยทรัพย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๘ (วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)
คำว่า ทรัพย์ นี้ หมายถึง สิ่งที่บุคคลจะถือกรรมสิทธิ์ได้ รวมเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ เป็นสังหาริมะ ของเลื่อนที่ได้ ๑ เป็นอสังหาริมะ ของเลื่อนที่ไม่ได้ ๑
ทรัพย์ของโลกล้วนเป็นเหตุก่อทุกข์ ทั้งในยามมั่งมี ทั้งในยามอัตคัด ทั้ง ๒ ด้านเช่นนี้ เข้าหลักที่ท่านว่า ความมีก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะต้องระแวดระวังรักษา ทะนุถนอมไม่อยากให้อันตรธานพลัดพรากจากไป และทั้งจะชวนให้อนุชนผู้ใจทรามเร่าร้อนใจคอยสาบแช่ง
และความไม่มีก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะจะต้องพยายามตรากตรำแสวงหา ทนหนาวทนร้อนอดกินอดนอน เพื่อแก้ความไม่มี เมื่อคราวชราทุพพลภาพก็ยังไม่มี พอเป็นสินน้ำใจแก่ลูกหลาน ลูกหลานก็พลอยลำบากใจ ที่ต้องทนเลี้ยงดู ด้วยจำใจตามประเพณี
ทางพระพุทธศาสนาท่านจึงวางหลักสันโดษ คือ ให้รู้จักยินดีเท่าที่มีที่ได้มา ไม่สอนให้เที่ยวทะเยอทะยานในสิ่งที่ยังไม่มีไม่ได้ หรือเที่ยวแส่เห็นดีเห็นชอบ เห็นสวยเห็นงามในส่วนของคนอื่น อย่างเห็นเขาขึ้นคานหามเอามือประสานกันฉะนั้น เป็นการละเลยฐานะตนเองตามที่เป็นจริง
อย่างไรเสียสิ้น เมื่อได้อัตภาพเป็นชาวโลกนี้ จำนวนที่จะต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติของโลกนี้ไว้บำรุงตนพอสุขสบายตามฐานะ แต่ไม่ควรหลงยึดถือหรือตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติจนลืมตัว ควรสำนึกตนเพียงอาศัยหาความสุขสบายพอสมควรแก่อัตภาพเพียงชาตินี้เท่านั้น เพราะถึงคราวแตกกายทำลายชีวิตไปแล้ว ก็ต้องทิ้งทรัพย์สมบัติของโลกนี้ได้ปกครองใช้สอยสืบไป ไม่สามารถนำติดตนไปสู่โลกอื่นได้
พระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์ให้บุคคลมีทรัพย์สมบัติ ซึ่งสามารถติดตามบุคคลไปได้ทุกโลกที่เกิด จึงได้ทรงสอนพุทธบริษัทให้รู้จักทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง คือ คุณธรรมความดีงามที่เกิดกับกาย วาจา ใจ ทรงยกย่องว่าเป็นอริยทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์อย่างเลิศ หรือทรัพย์ของท่านผู้เลิศ ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า
“ขุมทรัพย์ คือบุญของผู้ใด เป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตามฝังไว้ดีแล้ว ด้วยการเสียสละการสงบกาย วาจา ใจ ความสำรวมและความฝึก ขุมทรัพย์นั้นชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใครๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนได้
โภคสมบัติทั้งหลายของเขาต้องละทิ้งไป นำไปได้แต่ขุมทรัพย์คือบุญ และบุญไม่ใช่สาธารณะแก่ชนอื่น ใครก็ลักไม่ได้ ฉะนั้น ขุมทรัพย์คือบุญที่ติดตามตนไปได้ นักปราชญ์พึงนำขุมทรัพย์คือบุญนั้นเถิด”
นี้แสดงว่า บุญ คือการอบรมบ่มนิสัยให้บริสุทธิ์ด้วยคุณความดีอย่างเดียว เป็นอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อย่างเลิศ เป็นทรัพย์ภายใน เพราะแม้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ย่อมไม่ยากจนทรัพย์สมบัติของโลกนี้ ในเมื่อมีอริยทรัพย์ประจำอัธยาศัย ทั้งจะอาศัยขุมทรัพย์คือบุญที่กำลังอบรมอยู่ก่อให้มีเกียรติ มียศเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน
เมื่อถึงสมัยทำลายขันธ์สิ้นชีวิต สละทรัพย์สมบัติของโลกให้ผู้อื่นปกครองต่อไปแล้ว ก็ยังได้อาศัยบุญที่อบรมไว้ให้ติดตามสนองในภพชาติต่อไปได้ ชาติหน้าก็ย่อมรื่นเริงบันเทิงใจ เพราะบุญติดตามส่งเสริมอยู่ตลอดไปอีก บุญสามารถชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดนับแต่ชาตินี้ตลอดชาติหน้า จึงสามารถติดตามเป็นผลสนองถึงชาติต่อไปได้ ส่วนทรัพย์สินเงินทอง สนองให้ความสุข ปลื้มใจได้เฉพาะชาตินี้เท่านั้น จึงไม่เลิศประเสริฐเท่ากับขุมทรัพย์คือบุญ
หากจะย้อนพิจารณาถึงพระพุทธประวัติ ก็ปรากฏว่าพระองค์เป็นรัชทายาท มีโอกาสเสวยราชเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ถ้าจะถือความร่ำรวยด้วยจำนวนทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องหมายความยิ่งใหญ่ ด้วยเกียรติยศชื่อเสียงกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสด็จออกทรงผนวชแสวงหาคุณธรรม คืออริยทรัพย์อันประเสริฐอีกเลย แต่เพราะทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายเหล่านั้น ยังไม่เลิศประเสริฐเท่าอริยทรัพย์ คือคุณธรรมคือบุญ พระองค์จึงต้องเสด็จออกค้นคว้าหาอริยทรัพย์ที่พระองค์ยังมิได้ประสบต่อไป จนกว่าตรัสรู้
ถ้าพิจารณาถึงลักษณะบุคคลที่พระพุทธองค์ตรัสให้แสดงการอ่อนน้อมคารวะก็มีแต่ทรงยกผู้เจริญด้วยอายุชาติ เจริญด้วยคุณธรรม พระองค์หาได้ทรงยกผู้ร่ำรวยทรัพย์สมบัติเป็นเศรษฐีไปด้วยไม่ เคยมีปัญหาถกเถียงกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ทรัพย์กับปัญญา ข้างไหนจะประเสริฐกว่ากัน เมื่อพิจารณาด้วยเหตุและผลอันถ่องแท้แล้ว ย่อมรับรองได้ว่าปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ ดังท่านมหากบิลเถระกล่าวไว้ว่า
“ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็อยู่ได้ แต่เพราะไม่ได้ปัญญาแม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้”
จึงเป็นอันรับรองได้ว่า ปัญญา คือคุณธรรมที่นำให้รู้จักเหตุแห่งความเสื่อมความเจริญแล้ว ดำรงตนอยู่ในเหตุแห่งความเจริญตลอดไปนี้ เป็นตัวบุญคืออริยทรัพย์ประการหนึ่ง
ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
• โลกทิพย์ ๓๐๗ ปีที่ ๑๔ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๓๘: กองบรรณาธิการ เรียบเรียง. หน้า ๑๓-๒๓.
|