แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 32697|ตอบ: 68
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

S__42418183.1.jpg



รวมบทความพระอริยะ



     ข้าพเจ้าได้คัดลอกและรวบรวมบทความธรรมะจากหนังสือธรรมะต่างๆ โดยมีเนื้อหาทั้งหมด ๕๖ ตอน หวังเล็กๆ ว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากบทความดังกล่าว และได้เป็นข้อคิดแห่งธรรมะกลับไปพิจารณาด้วยการมีสติ ที่รู้จักใคร่ครวญไตร่ตรองตามอัธยาศัยแต่ละบุคคล ขอความสวัสดี และสมประสงค์ในธรรมอันบริสุทธิ์ จงมีแด่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย จงทุกคนเทอญ


l7.png



สารบัญ


๑.   พระอมตมหานิพพาน; สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี


๒.   ตีเหล็กร้อนๆ; สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี


๓.   ความโกรธ; สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี


๔.   ปฏิปทาภินิหารพระอาจารย์ในดง; พระอาจารย์ชาญณรงค์ อภิชิโต (ศิริสมบัติ) (ศิษย์ผู้น้องของพระครูเทพโลกอุดร)


๕.   พระพุทธวจนะ; หลวงปู่ปาน โสนันโท


๖.   จตุรารักษ์; หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล


๗.   หลวงปู่มั่น แสดงธรรมในวันวิสาขบูชา ณ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่


๘.   ความเพียรที่สละตาย; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๙.   เหตุใด ? อริยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว แต่ผู้ศรัทธาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๐.  คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๑.  อย่าให้ใจเหมือน; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๒.  การฝึกซ้อมสติปัญญากับความเจ็บป่วย; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๓.  ปัจฉิมโอวาทของหลวงปู่มั่นในวาระสุดท้ายของชีวิต; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๔.  ใต้รอยบาทหลวงพ่อเดิม; ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์


๑๕.  พิจารณาเห็นธรรมในธรรม; หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


๑๖.  อาหารของผู้บรรลุธรรมชั้นสูง; หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


๑๗.  บทสวดทิพย์มนต์สมัยพระสมณโคดมเสวยพระชาติเป็นพระฤาษี; ท่านพ่อลี วัดอโศการาม


๑๘.  คำเตือนสติและโอวาทของท่านธัมมวิตักโก; เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


๑๙.  ทำอะไรไม่ผิดเลย; เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


๒๐.  สันติสุขจากการพึ่งตน; เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


๒๑.  ละจนถึงที่สุด; พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)


๒๒.  ค้นพบสัจธรรม; พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)


๒๓.  ปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม; หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


๒๔.  ให้ตั้งสัจจะ; หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


๒๕.  คติธรรม…ธัมมุทเทส ๔; หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


๒๖.  หลวงปู่เล่าเรื่อง ประวัติพระแก้วมรกต; หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


๒๗.  พระคติธรรม; หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


๒๘.  มรรคผลนิพพาน อยู่ที่ตนเอง; หลวงปู่โต๊ะ


๒๙.  การกำจัดความโกรธ; หลวงปู่โต๊ะ


๓๐.  ธรรมวิจักขณกถา; พุทธทาสภิกขุ

        - ๑.   ธรรมวิจักขณกถา

        - ๒.   ส่วนสำคัญของพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้

        - ๓.   ลักษณะที่น่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท

        - ๔.   ข้อควรทราบเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนานิกายต่างๆ

        - ๕.   สิ่งที่เรายังสนใจกันน้อยไป

        - ๖.   การเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง (อาสาฬหบูชาเทศนา)


๓๑.  ความสำเร็จ; พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)


๓๒.  ที่แท้ – ก็ใบลานเปล่า; พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)


๓๓.  ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ ธรรม; หลวงปู่สี ฉันทสิริ


๓๔.  เทพเทวดานิมนต์ให้หลวงปู่สีเทศน์; หลวงปู่สี ฉันทสิริ


๓๕.  การแสวงหาสัจธรรมคืออะไร?; หลวงปู่สุภา กันตสีโล


๓๖.  อริยทรัพย์; สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๘


๓๗.  หลวงพ่อโอภาสี ผู้บูชาเพลิง เป็นพุทธบูชา; พระมหาชวน มะลิพันธ์


๓๘.  ธรรมทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ; หลวงปู่หล้า จันโทภาโส


๓๙.  วิธีขจัดความว้าเหว่ ท้อแท้ และเกิดปัญหา; หลวงปู่หล้า จันโทภาโส


๔๐.  ภิกษุผู้ถือการไม่นอนเป็นวัตร; หลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต


๔๑.  กามกิเลสอนุสัย; หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


๔๒.  เทศนาปาฏิหาริย์ของหลวงปู่; หลวงพ่อเกษม เขมโก


๔๓.  หลักคำสอนของหลวงปู่มอก


๔๔.  ปรัชญาธรรมจากหลวงปู่; หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ


๔๕.  ปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า; สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙


๔๖.  ธรรมะในปริศนา ๑๒ ข้อ; หลวงปู่จันทร์ กุสโล


๔๗.  มนต์รัก; หลวงปู่จันทร์ กุสโล


๔๘.  ทำไฉน ? จึงจะฝันดี; หลวงปู่จันทร์ กุสโล


๔๙.  ธรรมจากหลวงพ่อ; พระนพีสีพิศาลคุณ


๕๐.  เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงปู่ยิด; หลวงปู่ยิด จันทสุวัณโณ


๕๑.  เทคนิคการฝึกสมาธิ; พระอาจารย์โชติ อาภัคโค


๕๒.  มหาสติปัฏฐานสูตร; หลวงพ่อกิตติศักดิ์ กิตติสาโร


๕๓.  อภัยทาน; พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


๕๔.  ธรรมดาของชีวิต เป็นเช่นนั้นเอง


๕๕.  บัณฑิตสามเณร


๕๖.  ประวัติและข้อธรรม-คำสอน และการใช้พระผงจักรพรรดิและลูกแก้วจักรพรรดิ; พระอาจารย์วรงคต วิริยธโร (หลวงตาม้า)




l28.png


ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :


ตอนที่ 1 - 9

http://www.dannipparn.com/thread-61-1-1.html


ตอนที่ 10 - 19

http://www.dannipparn.com/thread-61-2-1.html


ตอนที่ 20 - 29

http://www.dannipparn.com/thread-61-3-1.html


ตอนที่ 30 - 33

http://www.dannipparn.com/thread-61-4-1.html


ตอนที่ 34 - 43

http://www.dannipparn.com/thread-61-5-1.html


ตอนที่ 44 - 48

http://www.dannipparn.com/thread-61-6-1.html


ตอนที่ 49 - 56

http://www.dannipparn.com/thread-61-7-1.html



(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 7 กันยายน 2566)

Rank: 8Rank: 8

S__43982856.jpg


ตอนที่ ๑

พระอมตมหานิพพาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี

(วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ)

pngegg.5.3.3.png



สมเด็จพระพุทธเจ้าของเราผู้เป็นพระสัพพัญญูตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้ง คือ

๑. ความทุกข์มีจริง
๒. สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง
๓. ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง
๔. ข้อให้ปฏิบัติถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง


นี่แหละเรียกว่า อริยสัจสี่ คือ เป็นความจริงสี่ประการ ซึ่งเพิ่มอริยเข้าอีกคำหนึ่งนั้น คือ อริย แปลว่า พระผู้รู้อย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริยสัจจะสองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่า อริยสัจ

พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย เป็นที่ดับทุกข์จริงแลสุขจริง พระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประจักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์ เข้าหาความสุขที่จริง แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์ เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง


พวกปุถุชนเลยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดี ไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ จะกลัวทุกข์ทำไม บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น

บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวารเป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร

บ้างก็ว่า ถ้าไปอมตมหานิพพาน ไปนอนเป็นสุขอยู่นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกีย์ชนย่อมเห็นไปดังนี้

อมตธรรม ธรรมที่ทำให้ไม่ตาย คือ พระนิพพานนี้ ใครได้ดื่มแล้วจะไม่ต้องมาเวียนว่ายเกิดในโลกสงสารอีก

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นิพพานมีอยู่ แต่ในนิพพานไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขอย่างเดียว

ครั้งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้พระนครราชคฤห์ ท่านพระสารีบุตร กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรอาวุธโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูกรอาวุธโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข”

ท่านพระอุทายี ขณะนั้นยังเป็นเสขบุคคล บุคคลที่ยังต้องศึกษาต่อไป กล่าวถามท่านพระสารีบุตรว่า

“ดูกรอาวุธโสสารีบุตร นิพพานไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร”
เวทนา คือ อารมณ์สุข ทุกข์หรือเฉยๆ เมื่อในนิพพานไม่มีอารมณ์ เช่นนั้นแล้ว พระอุทายีจึงเกิดความสงสัยดังกล่าว


ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบ

“ดูกรอาวุธโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนา นั้นแหละเป็นสุข”


“สุข” ในที่นี้ ตามพระสารีบุตรกล่าวถึงในพระนิพพาน จึงมิใช่ความสุขแบบโลกียสุขซึ่งเป็นของคู่กับทุกข์อีก ในภาษาธรรมมักเรียกว่า “เกษม” นั่นเอง

ในนิพพานมีความ “เกษม” นิพพานจึงมิใช่สูญเปล่า มิใช่เฉยไม่รู้ไม่ชี้เหมือนพรหมลูกฟัก มิใช่ไม่มีความรู้สึกอะไรเลยเหมือนชาด้าน เพราะในนิพพานยังมี “อายตนะ” คือความรู้เชื่อมต่อ ดังที่พระพุทธองค์ตรัส

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะนั้นไม่มีดินน้ำไฟลม ไม่มีอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกอื่น ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีพระอาทิตย์ ทั้งสอง เราย่อมกล่าวอายตนะนั้นว่า มิใช่การมา มิใช่การไป มิใช่การตั้งอยู่ มิใช่การจุติ มิใช่การเกิดขึ้น ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเป็นไป ไม่มีอารมณ์ นั้นแหละ เป็นที่สุดแห่งทุกข์”

ในนิพพานมีความรู้เชื่อมต่อ คือ ความรู้สึกอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ มีความสุขสถานเดียวที่เรียกว่า ความเกษม

ผู้ปรารถนานิพพาน จะยังไม่ถึงนิพพาน เพราะอะไร……….
เพราะ “ปรารถนา” เป็นความประสงค์ ความต้องการ ความอยาก เป็นกิเลส จึงไม่นำสู่ความเกษมอันแท้จริง ในอภิธรรมปิฎกมีกล่าวไว้


“ศรัทธาและโมหะ เป็นปัจจัยแห่งราคะ”


ตัวศรัทธานั่นแหละคือ ปรารถนาเป็นตัวติด ทำให้เกิดตัณหาราคะ จึงทำให้ไปไม่ถึงดวงดาวคือ นิพพาน ผู้จะถึงนิพพานจำต้องหลุดพ้นแม้กระทั่งศรัทธาเป็นที่สุด

แต่การจะเริ่มต้นไปสู่นิพพานคือ อมตธรรมนั้น จะต้องเริ่มที่ศรัทธา ดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าว


“เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด”


ต้องเริ่มที่ศรัทธาเป็นตัวต้นและปล่อยศรัทธาเป็นตัวสุดท้าย ความที่สุดแห่งทุกข์จะพึงบังเกิดนิพพานจะปรากฏ ใครๆ ก็ไปนิพพานได้ ถ้าศรัทธาปรารถนาเสียแต่เดี๋ยวนี้ แต่เมื่อปรารถนาปุ๊บจะถึงนิพพานปั๊บนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะคำปรารถนามันเริ่มง่ายแต่ตัดยาก


การจะตัดตัวอยากตัวเดียวนี่แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้เวลา ๔ อสงไขยกับแสนกัป ความจริงมากกว่านั้นนับแต่การปรารถนาเวียนว่ายตายเกิดในโลกสงสารของพระพุทธองค์ พระองค์เกิดตายมาหลายชาติหลายภพ ก่อนที่จะมาเกิดเป็นสุเมธดาบสในสมัยพระเจ้าทีปังกรพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ ในพุทธวงศ์

พราหมณ์สุเมธ เกิดศรัทธาตั้งแต่ที่ได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า “พุทโธ” ก่อนที่พระพุทธเจ้าทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จมาให้เห็น เมื่อได้พบเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว ได้กระทำการปรนนิบัติเป็นเอกอุปวารณาอธิษฐานอธิการบารมีเพื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้นโอฆสงสารต่อไปภายภาคหน้า

นับจากพราหมณ์สุเมธอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า จากสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า จนบรรลุเป็นพระสมณโคดมพุทธเจ้า เป็นพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๕ แห่งพุทธวงศ์ ใช้เวลาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารอีก ๔ อสงไขยแสนกัป จึงปล่อยตัว “อยาก” หลุดไปได้


“………การบรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว”
ทรงเปล่งพระพุทธอุทานในวรรคสุดท้ายของประโยคแรกแห่งการตรัสรู้ไว้เช่นนั้น


ระยะเวลาอันยาวนาน แม้จะมีแต่ผลที่เกิดชั่ววิบเดียวก็สำเร็จแล้ว ปัจจุบันแห่งการบรรลุสั้นนัก ยิ่งกว่าลมหายใจเข้าออกของตัวเอง ถ้ามีจุดเริ่ม ต้องมีจุดจบ ตรงกับธรรมจักษุที่กล่าวรับรอง


“สิ่งใดมีเกิด สิ่งนั้นมีดับ”


จงปล่อยศรัทธามาเถิด เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว แน่นอนสักวันหนึ่งมันย่อมดับลง เมื่อเริ่มศรัทธาเป็นตัวต้น วันหนึ่งมันจะดับเป็นตัวสุดท้าย วันนั้นท่านจะหลุดพ้น จะเป็นวันที่บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้วของท่าน นิพพานจะมาถึงท่านเอง เพราะความปรารถนาหมดไป

ถ้าไม่ปล่อยศรัทธาออกมา ความรู้แจ้งก็ไม่บังเกิด ไม่มีความรู้จริงที่จะไปดึงศรัทธาออกดับลงได้ เมื่อศรัทธายังเป็นปัจจัยแห่งราคะในกมลสันดาน ตราบนั้นตัณหาเจ้าแห่งกิเลสก็จะเจริญงอกงามขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด โลกสงสารที่ห่อหุ้มด้วยความทุกข์ก็จะยิ้มร่าต้อนรับท่านอยู่ตลอดไป จนกว่าศรัทธาจะเริ่มต้นปล่อยออกมาสู่ประตูอมตะที่พระพุทธองค์ทรงเปิดรับ เมื่อนั้นจุดจบแห่งความทุกข์ในอนาคตจึงจะเริ่มขึ้น

จงรีบปล่อยศรัทธาออกมาเถิด

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หลวงปู่โต: อนุสรณ์ ๑๓๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี: ทีมงานพระเครื่องเมืองพระพุทธบาท เรียบเรียง, ๒๕๔๕. หน้า ๓๙-๔๐.
          • หลวงพ่อพุทธะ. “หลวงพ่อพุทธะ จุดจบต้องมีจุดเริ่ม” โลกลี้ลับ ๑๔๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๓๙: บัญช์ บงกช เรียบเรียง. หน้า ๑๐๒-๑๐๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒

ตีเหล็กร้อนๆ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี

(วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ)

pngegg.5.3.3.png



ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี โดยปกติในหลวงรัชกาลที่ ๔ มักนิมนต์สมเด็จโตเข้ามาเทศน์ในวังเสมอ วันหนึ่งที่ท่านนิมนต์สมเด็จโตมาเทศน์ พอดีวันนั้นท่านมีกิจธุระที่จะต้องไปทำต่อ เมื่อสมเด็จโตมาเทศน์ ท่านทราบดีว่าในหลวงมีเรื่องร้อนพระทัยอยู่จะรีบไป ท่านก็เทศน์ให้ในหลวงฟังอยู่เสียนานกว่าจะจบลงได้

ครั้งต่อมาในหลวงนิมนต์สมเด็จโตเข้ามาเทศน์ในวังอีก วันนั้นท่านว่างจากธุระการงานดีแล้ว ตั้งใจจะฟังเทศน์สมเด็จเต็มที่ สมเด็จโตแทนที่จะเทศน์อะไรให้ในหลวงฟัง วันนั้นท่านกลับไม่แสดงธรรมและไม่เทศน์เลย เพียงแต่ขึ้นต้นว่าธรรมใดๆ มหาบพิตรก็ทรงทราบดีอยู่แล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

เรื่องๆ นี้สอนให้รู้ว่า จะตีเหล็กให้ตีตอนร้อนๆ ในวันแรกในหลวงทรงมีเรื่องกังวลพระทัยจิตใจไม่ปกติ สมเด็จโตท่านจึงต้องเทศน์นานหน่อย แต่วันต่อมาท่านสบายพระทัยจิตใจเป็นปกติดี ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องเทศน์สอนอีก


ฉันใด การพิจารณาทุกข์ให้เข้าใจทุกข์ให้ผ่านทุกข์ให้ได้ ก็ต้องพิจารณาในยามที่เผชิญทุกข์มากๆ ยามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเช่นนี้ฉันนั้น

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • พรหมปัญโญบูชา: เมธา พรพิพัฒน์ไพศาล เรียบเรียง, ๒๕๔๑. หน้า ๒๐๖-๒๐๗.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓

ความโกรธ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี

(วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ)

1.png



บางโอกาสท่านได้แสดงพฤติกรรมบางอย่างบางประการออกไปในทางพิลึกพิเรนทร์ที่มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาๆ เขาไม่นิยมกระทำกัน แต่ทว่าท่านกลับเป็นผู้กระทำเสียเอง แต่ถ้าเราดูกันอย่างผิวเผินจักเห็นว่าท่านเป็นคนสติเฟื่องจึงกระทำเรื่องบ๊องๆ เช่นนั้น แต่ถ้าได้พิจารณากันอย่างถ่องแท้ให้ถึงซึ่งความเป็นจริงและเป็นสัจธรรมคำสอนตามพุทธธรรมในพุทธองค์แล้วการกระทำของท่านเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้สอดแทรกแก่นแท้ของหลักธรรมเอาไว้ทั้งสิ้น

อย่างเช่น กรณีที่พระลูกวัดของท่านสองรูปกำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรงถึงขั้นจะลงไม้ลงมือกันทีเดียว ถ้าท่านเป็นเจ้าอาวาสก็จะเข้าไปห้ามปรามนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทว่าท่านรีบขวนขวายหาดอกไม้ ธูป เทียน แล้วรีบไปหาสองพระลูกวัดที่กำลังทะเลาะกันอยู่นั้น พร้อมกับก้มลงกราบ แล้วพูดว่า “ท่านทั้งสองเก่งมาก อาตมากลัวแล้ว ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย”

พระภิกษุทั้งสองรูป เมื่อเห็นเช่นนั้นก็ต้องเลิกรากันในทันที แล้วรีบคุกเข่ากราบท่านเจ้าประคุณสมเด็จ และแทนที่ท่านจะดุว่าพระทั้งสองรูปแม้สักคำน้อยก็หาไม่ ท่านกลับว่า ที่ท่านทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น “เพราะอาตมาปกครองท่านไม่ดีต่างหาก หาได้เป็นความผิดของท่านทั้งสองไม่” ท่านเคยได้พบเห็นหรือท่านเคยได้ยินพฤติกรรมอย่างนี้ที่ไหนบ้าง ?

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้นำหลักธรรมคำสอนที่ว่าด้วย “ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ” และ “เวรระงับด้วยการไม่จองเวร” ทำนองนี้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หลวงปู่โต: อนุสรณ์ ๑๓๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี: ทีมงานพระเครื่องเมืองพระพุทธบาท เรียบเรียง, ๒๕๔๕. หน้า ๒๖.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

พระอาจารย์ชาญณรงค์.JPG


ตอนที่ ๔

ปฏิปทาภินิหารพระอาจารย์ในดง

พระอาจารย์ชาญณรงค์ อภิชิโต (ศิริสมบัติ)

(ศิษย์ผู้น้องของพระครูเทพโลกอุดร)

1.png



พระอาจารย์ชาญณรงค์ อภิชิโต นามสกุล ศิริสมบัติ เป็นบุตรของ พระยาศิริสมบัติ มหาเศรษฐีระดับพันล้าน สมัยก่อนสงครามโลก ซึ่งเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านเรียนจบแพทย์ศิริราชรุ่นหลักสูตรเร่งรัด ๒ ปี ในสมัยสงครามโลก เมื่อเรียนจบยังไม่ทันได้ทำงาน ท่านไปเที่ยวกับเพื่อนสนิท ๒ ท่าน คือ หม่อมเจ้าไชยเดช พัฒนเดช และ อาจารย์เฉลียว เพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งสนิทกันมาก

อยู่มาวันหนึ่ง ท่านประสบอุบัติเหตุ แข้งขาหัก ญาติผู้ใหญ่พาไปรักษากับ หลวงปู่พลอย วัดเงิน (วัดรัชฎาธิษฐาน) ตลิ่งชัน เพราะท่านเก่งเรื่องหมอ โดยเฉพาะเกี่ยวกับกระดูกแล้วเชี่ยวชาญที่สุด หลวงปู่บอกว่าถ้ารักษาหายแล้วให้บวชเณร เจ้าตัวก็ยอมรับ หลวงปู่จึงรักษาให้ทางไสยศาสตร์ โดยให้พากลับบ้านได้ แล้วท่านก็นั่งปั้นหุ่นรักษาแข้งขาหักที่ร่างของหุ่น ไม่กี่วันเจ้าของร่างที่ป่วยก็หายเดินได้เป็นปกติ

เมื่อหายแล้วจึงรักษาสัจจะกับหลวงปู่ ไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับท่าน ทั้งได้ชวนเพื่อนสนิทไปด้วย คือ หม่อมเจ้าไชยเดช พัฒนเดช และอาจารย์เฉลียว อยู่กับหลวงปู่พลอยระยะหนึ่ง หลวงปู่ได้ส่งสามเณรทั้ง ๓ ไปเรียนวิชากับ หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดพระปฐมเจดีย์นัก

สามเณรทั้ง ๓ อายุ ๑๘-๑๙ ปี อยู่ในวัยกำลังซุกซน วันหนึ่งชวนกันไปเที่ยวขุดหัวมันในป่าอยู่ติดกับวัดนั่นเอง กำลังขุดกันเพลินก็มีเสียงทักขึ้นมาว่า “เณร ทำอะไรกัน” สามเณรพากันเหลียวดู ก็เห็นตาแก่ผิวดำ รูปร่างสูงใหญ่ยืนยิ้มอยู่ จึงพากันตอบว่า “ขุดหัวมันจะเอาไปต้มกิน” ตาแก่บอกว่า “มันสุกอยู่ในดินแล้ว ขุดขึ้นมาก็กินได้ทันที ไม่ต้องเอาไปต้มหรอก”

เมื่อสามเณรขุดขึ้นมาก็สุกจริงดุจที่ตาแก่บอก จึงมองหน้ากันด้วยความฉงน ตาแก่ถามว่า “พวกแกว่าฉันเก่งมั้ย อยากเป็นศิษย์ของฉันมั้ย” ทั้ง ๓ ท่านมาจากตระกูลสูง เมื่อมีตาแก่บ้านนอกมาใช้วาจาไม่เป็นที่เคารพขึ้นฉัน ขึ้นแก แล้วยังมาอาสาเป็นอาจารย์อีกจึงแสดงความไม่พอใจ พูดสวนขึ้นว่า “ตาแก่ แกมีดีอะไรนักหนาถึงบังอาจมาอาสาเป็นอาจารย์ของพวกข้า”


ตาแก่หัวเราะฮาๆ กล่าวว่า “เอางี้ไหมพนันกัน ฉันจะให้พวกแก ๓ คนนี่ทำร้ายโดยวิธีไหนก็ได้ ถ้าฉันได้รับอันตรายใดๆ จะไม่ถือโทษ แต่ถ้าไม่เป็นอะไรแล้ว พวกแกต้องเป็นศิษย์ไปเรียนวิชากับฉัน”

ทั้ง ๓ ท่านได้คำรับท้า ดังนั้น จึงรีบลุกขึ้นพากันทำร้ายตาแก่คนนั้น บ้างเตะ ต่อย เอาท่อนไม้ตี เอาก้อนหินทุบขว้าง พยายามลงมือกันเป็นเวลานานจนสิ้นเรี่ยวแรง ตาแก่ก็นั่งบนขอนไม้ให้ทำร้ายอย่างไม่สะทกสะท้าน และไม่แสดงกิริยาอาการบาดเจ็บอย่างใดทั้งสิ้น จนทั้งสามท่านนั่งด้วยความเหนื่อยอ่อน


ตาแก่หัวเราะฮาๆ พูดว่า “พวกแกแพ้ฉันแล้ว ต้องกราบรับฉันเป็นอาจารย์เดี๋ยวนี้ สิ้นคำสามเณรทั้งสามก็ลุกขึ้นนั่งกราบท่านพร้อมๆ กัน ตาแก่จึงเอาแขนโอบสามเณรทั้งสามท่านแล้วหายแว็บ จากที่นั่นไปโผล่ในดงลี้ลับแห่งหนึ่งในชั่วพริบตา

พระอาจารย์ชาญณรงค์ เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า...
ในดงนั้นมีพระและฆราวาสที่อยู่ฝึกวิชากับตาแก่ประมาณ ๕๐ ท่าน มีฆราวาสมากกว่าพระ และทุกท่านเรียกตาแก่ว่า “หลวงตาดำ” พระอาจารย์ชาญณรงค์เคยถามชื่อของท่านว่าชื่ออะไรกันแน่ ท่านให้เรียกว่า “หลวงตาดำ” ก็ใช้ได้แล้ว

ถามว่าเป็นคนหรือภูตผี หรือเทวดา ท่านก็ให้จับดู เห็นเป็นคนมีเลือดเนื้อเหมือนกัน เมื่อถามถึงอายุ ท่านบอกว่าไม่รู้กี่ปี ท่านได้ร่วมงานพระศพของพระพุทธเจ้า

ท่านหลวงตาดำ เป็นศิษย์ของพระมหากัสสปะ ได้รับมอบหมายให้บำเพ็ญอิทธิบาทธรรม มีชีวิตอยู่ยืนยาวเพื่อรักษาพระศาสนา คราวใดที่พระศาสนาเริ่มเสื่อมเศร้าหมอง มีอลัชชีเข้ามาอาศัยในพระศาสนามาก คำสอนอันแท้จริงเริ่มเสื่อม ท่านต้องฝึกลูกศิษย์ขึ้นมาช่วยกันสั่งสอนใหม่ ให้กลับคืนสู่เนื้อหาพุทธศาสนาอันจริงแท้

พระอาจารย์ในดง ลูกศิษย์ของหลวงตาดำ


พระอาจารย์ชาญณรงค์ บอกว่า... เท่าๆ ที่เคยพบเห็นและเรียกกันในดง มีหลวงพ่อตีนโต เป็นพระที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ฝ่าเท้ายาวใหญ่ วัดจากล่างถึงหัวเข่าได้ ๘๑ เซนติเมตร ท่านเปิดเผยตัวเองบ่อย เพราะชอบสอนคน จึงมีคนพบเห็นท่านเสมอ ที่มักเรียกขานกันว่า หลวงปู่เทพโลกอุดร ความจริงชื่อนี้ไม่มีใครเรียก หรือรู้จักกันในดง เห็นเรียกรูปพระที่ปรากฏในภาพถ่ายโบราณว่า พระครูเทพโลกอุดร

ความจริงเป็นรูปของหลวงพ่อตีนโต ท่านเป็นพระกรรมฐานนิกายธรรมยุต เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ และท่านเข้าเป็นศิษย์ของหลวงตาดำ รุ่นเดียวกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือพระองค์ดำ

ท่านเป็นคนร่วมสมัยกับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อโพรงโพธิ์ ผู้มักชอบท่องเที่ยวอยู่ในแถวจังหวัดกาญจนบุรี เหตุที่ชื่ออย่างนั้น เพราะท่านปลูกต้นโพธิ์เป็นวงกลม ปลูกติดๆ กัน พอต้นโพธิ์ใดขึ้นก็มีโพรงใหญ่อยู่ข้างใน ท่านก็ใช้เป็นที่อยู่ของท่าน

พระในดงเขาไม่เรียกชื่อจริง ใครมีลักษณะแบบไหนก็เรียกตามนั้น ลืมชื่อสมมุติในโลกให้หมด หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า ท่านมีลักษณะสกปรกมอมแมมด้วยฝุ่นขี้เถ้า เพราะท่านนิยมก่อไฟบูชาไฟ เพ่งกสิณไฟ และไม่เคยอาบน้ำ


ศิษย์ของท่านที่ผู้คนรู้จักกันดี คือ หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา และ หลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อเศียรบาตร (หลวงปู่หัวยุบ) มีชื่อตามลักษณะของท่าน ซึ่งมีศีรษะโตใหญ่ และ หลวงปู่ย่ามแดง

ตามบันทึกของอาจารย์พันเอกชม บอกว่า


๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๕ เยี่ยมอาจารย์ชาญณรงค์ ไปกับ พ.อ.ยนต์ ท่านเล่าว่า หลวงพ่อตีนโต หลวงปู่สุข (อาจารย์แจ้งฌานแห่งเขาใหญ่) หลวงตาแป้น และ ท่านเจ้า (เสด็จในกรมวังหน้า ร.๔) และ หลวงพ่อโพรงโพธิ์ เรียนกับหลวงตาดำรุ่นเดียวกัน เป็นคนไทย ๕ คน ที่เรียนจบแล้วเป็นครูฝึก รุ่นเดียวกับอาจารย์ชาญณรงค์

และมี อาจารย์ประทุม อาจารย์เฉลียว อีกคนตายชื่อ ศิริ หลวงปู่แป้น หลวงปู่พลอย เป็นศิษย์นอกดงของหลวงตาดำ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่ออี๋ สัตหีบ เป็นศิษย์นอกดง (ไม่บ่งว่าเป็นศิษย์ของใคร) อาจารย์ฉลอง ผู้ทำยาทูลฉลอง อาจารย์พัว แก้วพลอย เป็นศิษย์นอกดง เรียนกับ หลวงปู่สุข (แจ้งฌาน) ที่เขาใหญ่

๖ สิงหาคม ๒๕๓๕ อาจารย์ชาญณรงค์ เล่าว่า ลูกศิษย์นอกดงที่เก่งพิเศษอย่าง หลวงตาพุก เป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน


๔ ตุลาคม ๒๕๒๙ จากคำเล่าของอาจารย์พันเอกชม ทำให้ทราบว่า ศิษย์ในดงนั้น มีหลายชาติ หลายภาษา หลายทวีป

เมื่อใครเข้าไปอยู่ในข่ายฌานของหลวงตาดำ ท่านก็จะไปทรมานแล้วก็รับมาเป็นศิษย์ฝึกวิชากับท่านในดงลี้ลับ ซึ่งดงนี้ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ เพราะไม่ว่าจะอยู่ประเทศไทย เมื่อหลวงตาดำพาไป ก็ใช้เวลาพริบตาเท่ากัน คนอยู่ในประเทศไหนก็เลยคิดว่าดงนั้นอยู่ในประเทศของตน

ในบันทึกของพ.อ.ชม
กล่าวว่า... สามสหาย (พระอาจารย์ชาญณรงค์ หม่อมเจ้าไชยเดช พัฒนเดช และอาจารย์เฉลียว) อยู่ฝึกวิชาฌาน ๘ กับหลวงตาดำในดงลี้ลับเป็นเวลาเกือบ ๔ ปี

เมื่อสำเร็จฌาน ๘ ท่านก็ส่งตัวออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อมาฝึกวิชาภาคสนามต่อสู้กับกิเลสตัณหา อันจะเป็นบรรทัดฐานให้ฝึกจิตชั้นสูงโลกุตรธรรมตราบจนสิ้นพระอรหันต์เป็นที่สุด สหายอีก ๒ ท่าน ได้สึกออกมาฝึกในเพศฆราวาส มีเพียงท่านพระอาจารย์ชาญณรงค์เท่านั้นที่ยังคงเป็นบรรพชิต

เมื่อจบออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว หลักสูตรขั้นแรก คือ ต้องฝึกลูกศิษย์ให้ได้ ๑๐ คน เป็นอย่างน้อย ตามหลักวิชาฤทธิ์อภิญญาที่เรียนมาจากในดง เพื่อสร้างคนมีคุณภาพไว้สืบพระศาสนา ศิษย์ที่ไปเรียนในดงลี้ลับ เรียกว่า "ศิษย์ในดง" ส่วนศิษย์ที่เรียนต่อจากศิษย์ในดงเรียกว่า "ศิษย์นอกดง" ถึงแม้นจะอยู่ในป่าเขาตลอด ก็เรียกว่าศิษย์นอกดงอยู่นั่นเอง


ศิษย์นอกดงรุ่นแรกของพระอาจารย์ชาญณรงค์เท่าที่ทราบ มี หลวงพ่อคูณ ผู้โด่งดังในยุคปัจจุบัน เสือดำ ผู้ล่องหนหายตัว ซึ่งต่อมามีบารมีธรรมถึงขนาดหลวงตาดำมารับเข้าไปอยู่ในดงลี้ลับแล้ว อีกท่านมีนามว่า อาจารย์ละมูล ส่วนอาจารย์พันเอกชม เป็นศิษย์รุ่นหลัง และหลายสิบท่าน ซึ่งไม่ขอเอ่ยชื่อ เพราะไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของชื่อ

การศึกษาในดงของพระอาจารย์ชาญณรงค์ มีขั้นตอนต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้


(จากบันทึกของอาจารย์พันเอกชม ซึ่งไต่ถามพระอาจารย์ของท่าน)

๑. เมื่อเริ่มต้นไปฝึกสมาธิในดง ท่านสั่งให้นั่งสมาธิ รู้สึกนานเตรียมเลิกเอง พระอาจารย์ใหญ่ (หลวงตาดำ) จะก้าวข้ามหัวไปเหยียบมือไว้ พูดว่า “เอ้านั่งให้มันตายไป”


๒. สมาธิดีพอควรแล้ว ให้ไปนั่งสมาธิในทางเสือผ่าน และสั่งว่า ถ้าไม่อยากตายให้นั่งสมาธิ


๓. กำหนดให้เดินธุดงค์คู่ แล้วเดินเดี่ยวไปในป่าลึก ในป่าประเทศต่างๆ หลายแห่ง บางครั้งต้องอดอาหารหลายวัน


๔. สอนให้ใช้พลังจิตจากง่ายไปหายากตามลำดับขั้นของสมาธิ การทำใบไม้ให้เป็นสัตว์ เดินลอดภูเขา เป็นต้น


๕. นั่งเข้าฌานให้ได้ในสภาพอากาศต่างๆ กัน เช่น เข้าฌานในทะเลทรายที่ร้อนจัดตามที่ท่านกำหนดให้ ฝึกอยู่ในทะเล ๒๐ วัน


๖. เดินในเมืองตามเส้นทางที่ท่านกำหนด โดยไม่ให้พักเลย นอนได้วันละ ๓ ชั่วโมง ไม่ให้เข้าอยู่ใต้ชายคา

๗. ไม่ให้พูด ๑๕ วัน และกำหนดเส้นทางให้เดิน


๘. ให้เป็นคนขอทานครบ ๒๗ วัน ไม่ให้เงิน วันหนึ่งให้ขอ ๒ คน ขออาหารกิน ๕ แห่ง ขอเงินจากคนหนึ่งเพียงบาทเดียว ต่อไปต้องหาใช้คืนเขา ๒,๕๐๐ บาท


๙. ช่วยแก้ทุกข์ของคนตามกำหนด เช่น ช่วยรักษาคนป่วยโรคมะเร็ง คนติดเฮโรอีน คนขอย้ายที่ทำงาน เป็นต้น


๑๐. เรียนจบปีที่ ๖ แล้ว ให้โดดลงเหวลึก สลบไป ๔ วัน ให้รู้เห็นว่ามีกายทิพย์ออกจากร่างไปเที่ยวไกลๆ เหมือนคนตายแล้วฟื้น หรือที่ตายจริง เป็นการเรียนรู้การตายว่าตายอย่างไร


๑๑. นั่งบนน้ำแข็ง ๒๐ วัน ที่เมืองซีแอตเทิล ในอเมริกา เมื่อ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๖


๑๒. ขั้นสุดท้าย ฝึกล่องหนหายตัว ขั้นนี้รวมฝึกพร้อมๆ กันทั้ง ๘ ท่าน เมื่อมาถึงขั้นนี้ หากเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคอะไรก็ดี ท่านห้ามรักษา ไม่ว่าจะด้วยยาสมุนไพรหรือพลังจิต ให้เรียนรู้การเจ็บป่วย

ท่านอาจารย์ชาญณรงค์ ท่านเป็นโรคริดสีดวงทวาร ท่านก็ปล่อยไว้อย่างนั้นไม่ยอมรักษาจนอาการหนักเข้า ลูกศิษย์นำท่านไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ก่อนจะสิ้นใจ ท่านสั่งโยมอุปัฏฐากไว้ว่า ให้จัดศพอย่างไร ห้ามหมอฉีดยากันเน่าเหม็น ให้คงธรรมชาติไว้ที่สุด


เมื่อท่านสิ้นใจแล้ว เขาก็แต่งศพท่านตามคำสั่ง แล้วนำศพไปเก็บไว้ที่ศูนย์ฝึกวิชาของท่านแก่ศิษย์ๆ แถวถนนวงแหวนพุทธมณฑล เมื่อครบ ๗ วัน ก็ทำบุญให้ท่าน เขาเปิดดูศพก็เหมือนคนนอนหลับ ทั้งไม่มีกลิ่นเหม็นใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากกลิ่นอับเท่านั้น พอครบ ๕๐ วัน ก็เปิดศพอีกทีหนึ่ง ปรากฏรูปหน้าไม่ใช่ท่านแล้ว

อาจารย์พันเอกชมเอามือเข้าไปควานดูภายในก็มีแต่ว่างเปล่า หามีร่างกายของท่านไม่ คงเห็นแต่ภายนอกว่ามีศีรษะ เท้า ๒ ข้าง และมือ ๒ ข้าง ที่โผล่ออกจากผ้า ท่านจึงถ่ายรูปไว้ แล้วนำมาขยายให้เท่ากับใบหน้าคน ปรากฏว่าใบหน้าศพกับหน้าของท่านไม่มีร่องรอยสักนิด แต่ใบหน้านั้นเหี่ยวแห้งแล้ว เป็นหน้ายาวรูปหน้าเหมือนหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี มีไฝเม็ดใหญ่ที่แก้มขวา ฟันล่างเกและห่าง

ซึ่งจากคำบอกเล่าของศิษย์บอกว่า ฟันของท่านอาจารย์ชาญณรงค์ขาวสะอาด เรียงเป็นแถวสวยงามดุจไข่มุกที่ร้อยเป็นทาง ไม่มีลักษณะฟันเกเลย ซึ่งผิดกับศพอย่างเห็นได้ชัด จึงสันนิษฐานว่า ท่านใช้วิชาสับเปลี่ยนร่าง หรือเนรมิตร่างตายแทน แล้วล่องหนหายตัวไปอยู่ในดงลี้ลับแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างของพระในดงรูปอื่นๆ ในอดีต เป็นเรื่องเทียบเคียง เช่น หลวงปู่โพรงโพธิ์ ทนคนมารบกวนมาขอหวยไม่ไหว จึงให้เสือมาคาบร่างไปกลางคืน วันต่อมาชาวบ้านไปพบศพของท่านก็เสียใจร้องไห้ แล้วทำการฌาปนกิจศพของท่าน อยู่ไม่นานก็มีคนไปพบท่านยังมีชีวิตอยู่ในโพรงโพธิ์เหมือนเดิม จึงไปนิมนต์มาอยู่วัดที่สร้างขึ้นมานั้นอีก


แล้วต่อมาก็มีคนไปพบท่านอีกที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง และหลวงพ่อโอภาสี ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า เมื่อมรณภาพแล้ว มีชาวอินเดียที่มาเมืองไทยมาเห็นภาพของท่านบอกว่า เขาเห็นพระรูปนี้อยู่ที่อินเดีย ยืนยันว่าเป็นคนเดียวกับภาพที่เห็นนี้จริง

ผู้ที่ฝึกสำเร็จ เมื่อไปอยู่ในดงลี้ลับแล้ว เมื่อจากไปมีอายุเท่าไรก็จะมีอายุเท่านั้น เป็นอมตะหรือยืนยาวถึงหมื่นปี เพราะโลกของชาวบังบดหรือเมืองลับแล คนที่ไปอยู่ที่นั่นจะต้องอายุยืนยาว


พระอาจารย์ชาญณรงค์ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังว่า เมื่อเข้าไปอยู่ดงใหม่ๆ นั้น ท่านเห็นพระรูปหนึ่งแก่หง่อมมาก ตัวสั่นงกเงิน เดินหลังโกงเหมือนมีอายุมากที่สุดในดง เมื่อสอบถามดูปรากฏว่ามีอายุน้อยกว่ารูปอื่นๆ ที่มีใบหน้าอ่อนเยาว์ราว ๕๐-๖๐ ปี ที่เป็นเช่นนี้ เพราะฝึกตอนแก่ เมื่อสำเร็จแล้วเข้าไปอยู่ในดง ท่านก็จะปรากฏในวัยนั้นตลอดไป บางท่านเห็นใบหน้าในวัยกลางคน เมื่อถามอายุกลับประมาณไม่ได้ว่ากี่ร้อยปี

การมีอายุยืนยาวของท่านเหล่านี้ จะเป็นด้วยการบำเพ็ญอิทธิบาทธรรมตามหลักของพระพุทธเจ้า ถ้าทรงบำเพ็ญอิทธิบาทธรรมก็ต้องอยู่ในอีกมิติหนึ่งเช่นท่านเหล่านี้ จึงสามารถมีอายุได้เป็นกัลป์ดุจพระไตรปิฎกกล่าวถึง หรือว่าเพราะบรรดาท่านที่อยู่ในดงลี้ลับฉันยาอายุวัฒนะ แล้วเข้าสมาบัติทุกเดือน จึงมีอายุนานเป็นร้อยเป็นพันปี


พระอาจารย์ชาญณรงค์ เคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่า... เรื่องบุญบารมีของคนนี้ มันแตกต่างกัน มีวาสนาบารมีทางไหนก็ไปทางนั้น ถ้ามีทางธรรมแก่กล้ามาแต่ชาติปางก่อนและมีความเกี่ยวพันกับพระอาจารย์ในดงมาก่อน ท่านจะรับตัวไปฝึกตั้งแต่เด็ก เช่น ผู้ที่หลวงตาดำมารับเข้าไปอยู่ในดงตั้งแต่เด็กน้อย มีอยู่คนหนึ่ง มีปานเป็นรูปใบโพธิ์อยู่หน้าผาก

ความพยายามเฟ้นหาลูกศิษย์ เพื่อถ่ายทอดวิชาของพระอาจารย์ในดงนี้ มีจุดประสงค์ก็เพื่อแก้ไขพระศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาลและรับสงครามใหญ่ที่จะเกิดขึ้น จากนั้นท่านจะเปิดตัวและทำการชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์

ตั้งแต่นั้นคนจะเห็นโทษเห็นภัยของความชั่ว คนชั่วจะพากันตายในสงครามเป็นจำนวนมาก คนที่เหลือเป็นคนมีบารมีพอโปรดได้ พระศาสนาจะเจริญรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้ง บรรดาเหลือบศาสนาต่างๆ จะหมดไป มิจฉาทิฐิก็จะหมดไป เพราะเห็นแจ้งถึงความจริงต่างๆ ทุกวันนี้ท่านก็เริ่มเปิดตัวขึ้นมากแล้ว เพื่อเตรียมการ

ประเทศไทยเรานี้มีอะไรดีๆ ที่แตกต่างจากประเทศอื่น ถึงจะดีจะชั่วอย่างไรเราก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องกันมาตลอด ผู้ที่ป้องกันเราไว้คือ พระอาจารย์ในดงนี่เอง


เสียงจากในดงเล่าว่า...

การที่ไทยเราไม่เสียเมืองให้ประเทศอังกฤษ เพราะอภินิหารของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ อาจารย์ในดง ซึ่งไปเหยียบเรืออังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ไม่แน่ใจจนเรือเอียง ทำให้ฝรั่งเห็นว่าในหลวงของเราทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก จึงพากันถอยออกไป

พระอาจารย์ในดงได้ช่วยเหลือประเทศชาติของเราให้หลุดพ้นจากมหาวิบากในรูปแบบที่แตกต่างกัน เราจึงเป็นหนี้บุญคุณของท่าน โดยไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็น เพราะท่านเหล่านี้ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือลาภสักการะ ทำแล้วก็แล้วกัน ขอให้ผลเกิดขึ้นมาเป็นดี ประชาชนมีความร่มเย็นเป็นสุขก็เป็นอันใช้ได้

ในวงการปฏิบัติธรรม หากพระภิกษุสงฆ์หรือฆราวาสท่านใดมีจิตใจมุ่งมั่นในการปฏิบัติกรรมฐาน ชอบหลีกเร้นท่องเที่ยวอยู่ในดงดุจพญาราชสีห์ พระอาจารย์ในดงท่านจะไปโปรดช่วยเหลือแนะนำสั่งสอนเอง


แม้แต่ หลวงปู่ทวด และ หลวงปู่โต สมัยที่ท่านหายไปหลายปี ท่านก็เข้าไปอยู่ในดงกับหลวงตาดำเช่นกัน สิ่งละอันพันละน้อยที่หยิบออกมาจากบันทึก เท่าที่ข้าพเจ้าจะพอสรุปได้มีเพียงเท่านี้ พอเป็นหลักฐานของครูบาอาจารย์ในดงลี้ลับ

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • หนังสือโลกทิพย์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓๐๘ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘: สันยาสี เรียบเรียง. หน้า ๑๘-๕๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

DSC08838.1.JPG


ตอนที่ ๕

พระพุทธวจนะ

หลวงปู่ปาน โสนันโท

(วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา)

1.png



อัญเชิญพระพุทธวจนะจากพระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ นวกนิบาตอังคุตตรนิกาย ท้ายสีหนาทวรรคแนะข้อปฏิบัติง่ายๆ เพียง ๔ ประการ ซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงหรือสิ่งของเงินทองใดๆ แต่มีผลยิ่งใหญ่กว่าการถวายทานแด่พระพุทธเจ้า หรือแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

รื่องน่าอัศจรรย์ของการปฏิบัติง่ายๆ ก็คือ ต้องการให้การปฏิบัติมาอยู่ที่แต่ละบุคคล ผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง ไม่ใช่คอยแต่ชื่นชมตื่นเต้นในคุณงามความดีของบุคคลสำคัญท่านอื่นๆ ซึ่งเปรียบเหมือนการพบมหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์หลายหมื่นแสนล้าน แต่เสร็จแล้วผู้พบและแสดงน้ำใจอันดีงามต่อท่านมหาเศรษฐีนั้นก็ยังคงไม่มีทรัพย์หรือไม่มีคุณความดีเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพราะมิได้ลงมือปฏิบัติอะไรด้วยตนเอง

พระพุทธวจนะที่ตรัสสอนข้อปฏิบัติง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก เพียง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้

• เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ หรือที่พึ่งที่ระลึก

• เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสตั้งใจรักษาศีลห้า

• เจริญหรือแผ่เมตตาจิต คือ ไมตรีจิตคิดจะให้ผู้อื่นเป็นสุข แม้กระทั่งระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่รีดนมโคจากบนลงล่าง


• เจริญอนิจจสัญญา หรือกำหนดหมายความไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย แม้ชั่วระยะเวลาสั้นๆ แค่งอนิ้วหรือเหยียดนิ้ว


คุณธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ ปฏิบัติได้ง่ายและมีคุณค่ามาก เพราะไม่ใช่คุณธรรมของผู้อื่น แต่เป็นการลงมือกระทำด้วยตนเองของแต่ละบุคคล เป็นคุณธรรมจากระดับต่ำสุดถึงสูงสุด ซึ่งจะเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้ปฏิบัติ


ขนาดที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีผลมากกว่าการถวายทานแด่พระอริยบุคคล ๔ ระดับ แด่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นพระประมุข มีผลมากกว่าการสร้างที่อยู่อาศัยถวายพระสงฆ์จากสี่ทิศ

เมื่อทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับผลดีและสูงยิ่งด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียกำลังแรงงานหรือค่าใช้จ่ายใดๆ อย่างนี้ จึงน่าจะได้รับพระพุทธวจนะนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติประจำวันของเราทั้งหลาย อันเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่ามีค่ายิ่งกว่าการบูชาด้วยอามิสมีดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น      

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • ประวัติย่อ พระคาถาพระปัจเจกะโพธิ์โปรดสัตว์. หน้า บทนำ.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖

จตุรารักษ์

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

(วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี)

1.png



หลวงปู่เสาร์ ได้แต่งหนังสือธรรมปฏิบัติเล่มหนึ่งชื่อ จตุรารักษ์ ซึ่งแสดงถึงการนึกถึงคุณพระรัตนตรัย เจริญเมตตา อสุภ และมรณสติ ทั้ง ๔ อย่าง ซึ่งว่ามานี้ ท่านกล่าวว่า จตุรารักษ์ เป็นธรรมป้องกันปกครองรักษาผู้ที่เจริญนั้น ให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายวิบัติทั้งสิ้นได้ และเป็นทางสวรรค์และนิพพานด้วย

รักษาใจโดยใช้กรรมฐาน ๔

๑. ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย


อนึ่ง เมื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พึงระลึกได้ดังนี้ก็ได้ว่า เพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ลุกโพลงรุ่งเรืองไหม้สัตว์เผาสัตว์ให้รุ่มร้อนอยู่เป็นนิตย์ในภพทั้ง ๓ เพลิงกิเลสนั้นคือ ราคะ ความกำหนัดยินดี โทสะ ความเคืองคิด ประทุษร้าย และโมหะ ความหลงไม่รู้จริง

ราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ท่านกล่าวว่า เป็นเพลิงเป็นเครื่องร้อนกระวนกระวายของสัตว์ เพลิงทุกข์นั้นคือ ชาติ ความเกิดคือ ขันธ์ อายตนะ และนามรูปที่เกิดปรากฏขึ้น ชรา ความแก่ทรุดโทรมคร่ำคร่า และมรณะ ความตายคือ ชีวิตขาดกายแตกวิญญาณดับ โสกะ ความเหือดแห้งใจเศร้าใจ ทุกข์ ทนยากเจ็บปวดเกิดขึ้นในกาย โทมนัส ความเป็นผู้มีใจชั่วเสียใจ อุปายาส ความคับแค้นอัดอั้นใจ


ทุกข์ มีชาติเป็นต้น เหล่านี้ท่านกล่าวว่าเป็นเพลิง เพราะเป็นทุกข์ให้เกิดความร้อนรนกระวนกระวายต่างๆ แก่สัตว์ เพลิงกิเลสทุกข์เหล่านี้ ยกพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งในโลกดับได้ แต่ผู้ที่จะรู้ว่าเป็นเพลิงเครื่องร้อนเท่านั้น ก็หายากเสียแล้ว

ผู้ที่จะดับเพลิงนั้นจะได้มาแต่ไหนเล่า ก็ในโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งดับได้ จึงพากันร้อนรนกระวนกระวายอยู่ด้วยเพลิงหมดทั้งโลก ก็ไม่รู้สึกตัวว่าเพลิงไหม้มันเผาเอาให้เร่าร้อนอยู่เป็นนิตย เพราะอวิชชาความหลงไม่รู้จริง

สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พระผู้มีพระภาค เป็นที่พึ่งของเรา พระองค์ตรัสรู้จริงเห็นจริง ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ของพระองค์ได้แล้วคือ ทำให้แจ้งซึ่งกิเลสนิพพานได้แล้วทรงสั่งสอนสัตว์ให้รู้ตามเห็นตาม ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ ทำให้รู้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ด้วยพระองค์นั้น จึงเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ประเสริฐ เป็นผู้อัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม พระธรรมที่เป็นที่พึ่งของเรา ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วทรงคุณคือ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ของสัตว์ผู้ปฏิบัติชอบ ช่วยให้พ้นทุกข์ภัยทั้งสิ้นได้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน พระธรรมนั้นท่านทรงคุณคือ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้อย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ พระสงฆ์ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของตนได้แล้ว สั่งสอนให้ผู้อื่นรู้เห็นรู้ตาม ดับเพลิงกิเลสทุกข์ได้ และเป็นเหตุให้เกิดบุญเกิดกุศลแก่เทวดา มนุษย์มากมายนัก พระสงฆ์นั้นท่านปฏิบัติอย่างนี้จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

เมื่อนึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ รัตนะนี้ ตรึกตรองด้วยปัญญา ครั้นเห็นจริงเกิดความเลื่อมใสขึ้นแล้ว เมื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ รัตนะนี้ เป็นที่พึ่งของตนจริงๆ เสมอด้วยชีวิตแล้ว ท่านกล่าวว่าถึงสรณะแล้ว มีผลานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทานหมดสิ้น ผลที่สุดวิเศษย่อมมีแก่ผู้เลื่อมใสในรัตนะทั้งสามนั้น และย่อมให้สำเร็จความปรารถนาแก่สัตว์ผู้เลื่อมใสได้ทุกประการ


เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอุตส่าห์นึกถึงพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดความเลื่อมใสทุกๆ วันเถิด จะได้ไม่เสียทีประสบพบพระพุทธศาสนานี้


๒. เจริญเมตตา

อนึ่ง เมื่อเจริญเมตตาภาวนานี้ เป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง เมื่อเจริญเมตตานี้ ย่อมละพยาบาทเสียโดยดี เมตตานี้ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะเป็นเครื่องหลุดพ้นจากพยาบาทของใจ มีผลานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าทานและศีลหมดทั้งสิ้น เมตตามีอานิสงส์วิเศษมากต่างๆ ดังว่ามานี้

เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้ประมาทในเมตตาภาวนานี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสบอานิสงส์วิเศษต่างๆ ซึ่งว่ามานี้เทอญ


๓. เจริญอสุภ


อนึ่ง เมื่อเจริญอสุภกรรมฐาน (อสุภสัญญา) นี้ เป็นข้าศึกแก่ราคะ ความกำหนัดยินดีโดยตรง ผู้ใดเจริญอสุภเห็นเป็นของไม่งามในกาย เห็นกายเป็นของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด จะเกิดความเบื่อหน่ายไม่กำหนัดยินดี ดับราคะ โทสะ โมหะเสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรสคือ พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญกายคตาสติอสุภกรรมฐานนี้ว่า

“ผู้ใดได้เจริญกายคตาสตินี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบริโภคซึ่งรสคือ นิพพาน เป็นธรรมมี ผู้ตายไม่มี อมตธรรม” ดังนี้

นิพพานนั้นก็ดับราคะ โทสะ โมหะนั้นเอง


เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้ประมาทในกายคตาสตินี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสบพบนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เลิศกว่าธรรมทั้งสิ้น


๔. เจริญมรณสติ


อนึ่งการเจริญมรณสติ พึงเจริญดังนี้ ก็ได้ว่า


“เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงความตายไปไม่ได้แล้ว”


ความตายนั้น คือ สิ้นลมหายใจ กายแตก วิญญาณดับ

เหตุนั้น เราจงเร่งขวนขวายก่อสร้างบุญกุศล ซึ่งเป็นที่พึ่งของตนเสียให้ได้ทันขณะมีชีวิตอยู่นี้เถิด อย่าให้ทันความตายมาถึงเข้า ถ้าความตายมาถึงเข้าแล้ว จะเสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนานี้ทีเดียว

ผู้ใดได้เจริญมรณสติ นึกถึงความตายได้เห็นจริง จนเกิดความสังเวชได้ ผู้นั้นย่อมไม่เมาในชีวิต ละอาลัยในชีวิตเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาท รีบร้อนปฏิบัติละบาปบำเพ็ญบุญกุศล ชำระตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์โดยเร็วพลัน


เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญมรณสติที่บุคคลเจริญทำให้มากนี้ ว่ามีผลานิสงส์ใหญ่ยิ่งมากนัก นับเข้าในพระนิพพาน เป็นธรรมมี ผู้ตายไม่มี ดังนี้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • “ประวัติย่อและธรรมปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล”: โลกลี้ลับ ฉบับที่ ๖๘ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๓๓. หน้า ๑๗-๒๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_0973.JPG


ตอนที่ ๗

หลวงปู่มั่น แสดงธรรมในวันวิสาขบูชา

ณ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่

1.png



บันทึกโดย: พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน



ใจความสำคัญของธรรมที่ท่านแสดงในวันนั้นมีว่า วันนี้ตรงกับวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าเกิดกับสัตว์โลกเกิดต่างกันมาก ตรงที่ท่านเกิดแล้วไม่หลงโลกที่เกิด ที่อยู่ และที่ตาย มิหนำยังกลับรู้แจ้งที่เกิด ที่อยู่ และที่ตายของพระองค์ด้วยพระปัญญาญาณโดยตลอดทั่วถึง ที่เรียกว่าตรัสรู้นั้นเอง


เมื่อถึงกาลอันควรจากไป ทรงลาขันธ์ที่เคยอาศัยเป็นเครื่องมือบำเพ็ญความดี มาจนถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ แล้วจากไปแบบสุคโต สมเป็นศาสดาของโลกทั้งสาม ไม่มีที่น่าตำหนิแม้นิดเดียว ก่อนเสด็จจากไปโดยพระกายที่หมดทางเยียวยา ก็ได้ประทานพระธรรมไว้เป็นองค์แทนศาสดา ซึ่งเป็นที่น่ากราบไหว้บูชา คู่พึ่งเป็นพึ่งตายถวายชีวิตจริงๆ

เราทั้งหลายต่างเกิดมาด้วยวาสนา มีบุญพอเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มภูมิ ดังที่ทราบอยู่แก่ใจ แต่อย่าลืมวาสนาของตัว โดยลืมสร้างคุณงามความดี เสริมต่อภพชาติของเราที่เคยเป็นมนุษย์ จะเปลี่ยนแปลงและกลับกลายหายไป ชาติต่ำทรามที่ไม่ปรารถนาจะกลายเป็นตัวเข้าแล้วแก้ก็ไม่ตก

ความสูงศักดิ์ ความต่ำทราม ความสุขทุกชั้นจนถึงบรมสุข และความทุกข์ทุกขั้นจนเข้าขั้นมหันตทุกข์เหล่านี้ มีได้กับทุกคนตลอดสัตว์ ถ้าตนเองทำให้มี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติกลาง แต่กลับกลายมาเป็นสมบัติจำเพาะของผู้ผลิตผู้ทำก็ได้


ฉะนั้น ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน เมื่อเห็นเขาตกทุกข์หรือกำลังจนจนน่าทุเรศ เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้นหรือยิ่งกว่านั้นก็ได้ เมื่อถึงวาระเข้าจริงๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกรรมดีชั่วเรามีทางสร้างได้เช่นเดียวกับผู้อื่น จึงมีทางเป็นได้เช่นเดียวกับผู้อื่น และผู้อื่นก็มีทางเป็นได้เช่นที่เราเป็นและเคยเป็น

ศาสนาเป็นหลักวิชาตรวจตราดูตัวเองและผู้อื่นได้อย่างแม่นยำ และเป็นวิชาเครื่องเลือกเฟ้นได้อย่างดีเยี่ยม ไม่มีวิชาใดในโลกเสมอเหมือนนับแต่บวชและปฏิบัติมาอย่างเต็มกำลังจนถึงวันนี้ มิได้ลดละการตรวจตราเลือกเฟ้นสิ่งดีสิ่งชั่วที่มี และเกิดอยู่กับตนทุกระยะ มีใจเป็นตัวการพาสร้างกรรมประเภทต่างๆ จนเห็นได้ชัดว่า กรรมมีอยู่กับผู้ทำ มีใจเป็นต้นเหตุของกรรมทั้งมวล ไม่มีทางสงสัย


ผู้สงสัยกรรมหรือไม่เชื่อกรรมมีผล คือคนลืมตนจนกลายเป็นผู้มืดบอดอย่างช่วยอะไรไม่ได้ คนประเภทนั้น แม้เขาจะเกิดและได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ว่าได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาอย่างไรบ้าง แต่เขาจะมองเห็นเฉพาะร่างกายเขา ที่เป็นคนซึ่งกำลังรกโลกอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เท่านั้น ไม่สนใจคิดว่าเขาเกิดและเติบโตมาจากท่านทั้งสอง ซึ่งเป็นแรงหนุนร่างกาย ชีวิต จิตใจ เขาให้เจริญเติบโตจนถึงปัจจุบัน

การดื่มและการรับประทานอาหารทุกประเภท ล้วนเป็นการเสริมสร้างและความเจริญเติบโตแก่ร่างกาย ให้เป็นอยู่ตามกาลของมัน การทำเพื่อร่างกาย ถ้าไม่จัดว่าเป็นกรรมคือการทำ จะควรจัดว่าอะไร สิ่งที่ร่างกายได้รับมาเป็นประจำ ถ้าไม่เรียกว่าผล จะเรียกว่าอะไร จึงจะถูกตามความจริง


ดี ชั่ว สุข ทุกข์ ที่สัตว์ทั่วโลกได้รับกันมาตลอดสาย ถ้าไม่มีแรงหนุนเป็นต้นเหตุอยู่แล้ว จะเป็นมาได้ด้วยอะไร ใจอยู่เฉยๆ ไม่คะนองคิดในลักษณะต่างๆ อันเป็นทางมาแห่งดีและชั่ว

คนเราจะกินยาตายหรือฆ่าตัวตายได้ด้วยอะไร สาเหตุแสดงอยู่อย่างเต็มใจ ที่เรียกว่าตัวกรรมและทำคนจนถึงตาย ยังไม่ทราบว่าตนทำกรรมแล้ว ถ้าจะไม่เรียกว่ามืดบอด จะควรเรียกว่าอะไร กรรมอยู่กับตัวและตัวกรรมอยู่ทุกขณะ ผลก็เกิดอยู่ทุกเวลา ยังสงสัยหรือไม่เชื่อกรรมว่าให้ผลแล้ว ก็สุดหนทาง


ถ้ากรรมวิ่งตามคนเหมือนสุนัขวิ่งตามเจ้าของ เขาก็เรียกว่าสุนัขนั้นเอง ไม่เรียกว่ากรรม นี่กรรมไม่ใช่สุนัข แต่คือการกระทำดีชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ต่างหาก ผลจริงคือความสุขที่ได้รับกันอยู่ทั่วโลก กระทั่งสัตว์ผู้ไม่รู้จักกรรม รู้แต่กระทำคือหากิน ที่ทางศาสนาเรียกว่า กรรมของสัตว์ของบุคคล และผลกรรมของสัตว์ของบุคคล

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • รอยธรรม พระวิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต. คณะศิษยานุศิษย์ รวบรวม. พิมพ์ครั้งที่ ๑ วันศุกร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖. หน้า ๔๐-๔๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘

ความเพียรที่สละตาย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

(วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)

1.png



ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาทและชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตน ในเวลาที่เป็นฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาททั้งที่ยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่า ยังอีกนานเท่าไรจึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้

จึงขอฝากปัญหาธรรมเหล่านี้ไว้กับท่านทั้งหลายนำไปขบคิดด้วยว่า เราจะเป็นฝ่ายคืบหน้ากล้าตายด้วยความเพียรหมายพึ่งธรรม ไม่เหลียวหลังไปดูทุกข์ที่เคยเป็นภาระให้แบกหาม ด้วยความเจ็บแสบและปวดร้าวในหัวใจมาเป็นเวลานาน หรือยังจะเป็นฝ่ายเสียดายความตายแล้วกลับเกิดอีก อันเป็นตัวมหันตทุกข์ที่แสนทรมานอีกต่อไป รีบพากันนำไปพิจารณา อย่ามัวเมาเฝ้าทุกข์และหายใจทิ้งเปล่าๆ ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้ จะช้าทางและเสียใจไปนาน

เพราะโรงดัดสันดานกิเลสตัวพาให้ว่ายบกอกแตกแบกกองทุกข์ไม่มีเวลาปลงวางนั้น มิได้มีอยู่ในที่อื่นใดและโลกไหนๆ แต่มีอยู่กับผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญด้วยการใช้หัวคิดปัญญาศรัทธาความเพียร เป็นเครื่องมือบุกเบิกเพื่อพ้นไปนี้เท่านั้น ไม่หยุดหย่อนนอนใจว่ากาลเวลาอีกนาน สังขารยังไม่ตายร่างกายยังไม่แก่ ซึ่งเป็นความคิดที่ทำให้ผิดพลาดและพาให้ฉลาดแหลมคมก็มีอยู่กับใจดวงเดียวจะเป็นผู้ผลิตไม่มีอยู่ในที่ใดๆ จึงไม่ควรตั้งความหวังไว้กับที่ใดๆ ที่มิได้สนใจดูตัวเอง

ตัวจักรเครื่องทำงานคือ กายวาจาใจที่กำลังหมุนตัวกับงานทุกประเภทอยู่ทุกขณะ ว่าผลิตอะไรออกมาบ้าง ผลิตยาถอนพิษหรือธรรมเพื่อแก้ความไม่เบื่อหน่ายและอิ่มพอในความเกิดตายหรือผลิตยาบำรุงส่งเสริมความมัวเมาเหมาทุกข์ ให้มีกำลังขยายวัฏฏะ วนให้ยืดยาวกว้างขวางออกไปไม่มีสิ้นสุด หรือผลิตอะไรออกมาบ้าง ควรตรวจตราดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นจะเจอแต่ความฉิบหายล่มจม ไม่มีวันโผล่ตัวขึ้นจากทุกข์ที่โลกทั้งหลายกลัวๆ กันได้เลย

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ๒๕๓๘. หน้า ๑๘๙-๑๙๐.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๙

เหตุใด ? อริยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว

แต่ผู้ศรัทธาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

(วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)

1.png



ในวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่มั่นนั่งสมาธิได้รับความสว่างอยู่นั้น ท่านทวนพิจารณาถึงความรู้ของท่านและที่ได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ปรากฏว่า อันที่จริงอริยธรรมเหล่านี้พระพุทธเจ้าแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพราะเหตุที่ผู้ศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น จึงปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับยากแก่การจะรู้จริงได้

แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงแจ้งชัดสักเท่าใดก็ตาม เช่นพระองค์แสดงอนัตตลักขณสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงชี้ลงไปที่กาย คือรูปของปัญจวัคคีย์นั่นเอง ได้ทรงแสดงว่า แม้รูปของปัญจวัคคีย์ก็มีอยู่แล้ว ทำไมปัญจวัคคีย์จึงไม่พิจารณาเอาเองเล่า มารู้แจ้งเห็นจริงเอาตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดูจึงค่อยมาได้สำเร็จ


ข้อนี้ก็เป็นเช่นกับตัวของเรานั่นเอง ได้อุตส่าห์เที่ยวไปแสวงหาอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิกระทั่งทั่วประเทศและต่างประเทศ แต่ครั้นจะมารู้จริงได้ก็คือ การมาปฏิบัติเอาโดยตนเองตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง แต่ว่าเท่าที่เราเองได้เข้าใจนั้นก็เพราะเราไปเห็นความจริงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงก็อยู่ใกล้นิดเดียว

แต่ว่าการปฏิบัติเพื่อความรู้จริงนี้มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเหตุว่าการทำจิตเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบายก็ไปเข้าใจเสียว่าดีเสียแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะรู้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่เขาพากันทำสมาธิแล้วหลงใหลไปตามโลกียฌาน หรือตามวิปัสนูปกิเลส เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับความสงบความเย็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่าเขาไม่พยายามหาโลกุตรธรรมนั่น แม้แต่เราในเบื้องแรกเราก็ได้พบโลกียฌาน ฌานมากมาย ซึ่งมันก็ทำให้เราหลงใหลมันไปพักใหญ่ แต่เราพยายามที่จะแสวงหาได้ยิ่งขึ้น เราจึงไม่ติดอยู่เพียงแค่นั้น อันการติดอยู่หรือเข้าใจผิดในธรรมปฏิบัติจิตอันเป็นภายในนี้ มันไม่ไปนรกดอก แต่ว่าการที่ไปติดมัน มันทำให้ต้องล่าช้าต่อการรู้ยิ่งเห็นจริงต่างๆ


หากเราเองเมื่อได้ความรู้แจ้งนี้แล้ว จึงได้พยายามเพื่อความที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง ทุกหมู่ทุกจำพวกในบรรดาผู้บำเพ็ญจิตในกัมมัฏฐานทั้งหลายนั้น ต่างก็มุ่งหวังเพื่อความดีความเจริญทุกหมู่ทุกคณะ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเองที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์

ท่านได้ปรารภไปถึง อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ฉิบหายเสียจากคุณอันยิ่งใหญ่” เนื่องด้วยดาบสทั้ง ๒ นั้น ได้มรณะไปเสียก่อนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ความจริงดาบสทั้งสองก็เป็นผู้สำเร็จฌานชั้นสูงกันทั้งนั้น


อันว่าฌานชั้นสูงนี้ ก็เป็นการให้ความสุขอันยิ่งแก่ผู้ที่ได้สำเร็จอยู่มากแล้ว แต่เพราะเหตุใดเล่า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า “ฉิบหายเสียจากคุณอันยิ่งใหญ่” ก็เพราะว่ายังไม่หมดจดจากกิเลส เพราะเพียงแต่ข่มกิเลสไว้ เหมือนกับศิลาทับหญ้าเท่านั้น

อันที่จริงฌานชั้นสูงนั้น
ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการดำเนินไปสู่ความหมดจดจากกิเลส แต่เพราะความที่ดาบสนั้นไม่เข้าใจวิธีแห่งการอันจะพึงทำจิตเข้าสู่อริยสัจเท่านั้น ข้อนี้เป็นประการสำคัญนัก เพราะการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้ คืออริยสัจนี้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • บันทึกโดย พระญาณวิริยาจารย์. เวียนว่าย/ตายเกิด. ราช เลอสรวง บรรณาธิการ: ตรงหัว. หน้า ๕๘-๕๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-4 16:34 , Processed in 0.117014 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.