ตอนที่ ๑ เหตุที่เกิดมาเตี้ย
ในอดีตกาล ครั้งศาสนาของพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเถระรูปนี้เกิดในตระกูลมีโภคะมาก ในหังสวดีนคร พอเจริญวัยแล้ว ได้ไปนั่งฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาอยู่ ในขณะนั้นได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศในทางมีเสียงไพเราะ จึงถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน แล้วตั้งความปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง
ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ ท่านเกิดเป็นนกดุเหว่า มีขนปีกงดงาม คาบผลมะม่วงมาจากพระราชอุทยาน ขณะที่บินไปได้เห็นพระพุทธเจ้าเกิดความเลื่อมใส จึงคิดว่าจะถวาย พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของนกดุหว่านั้น จึงทรงถือบาตรรอรับอยู่ นกดุเหว่าจึงได้ใส่มะม่วงสุกนั้น นกดุเหว่าเห็นดังนั้น ก็เกิดปีติใจเลื่อมใสอยู่ตลอดสัปดาห์ ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านจึงเป็นผู้มีเสียงไพเราะ
ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เมื่อมหาชนปรารภกันที่จะสร้างเจดีย์ ว่าจะสร้างขนาดไหน? เมื่อเขาว่าจะสร้างประมาณ ๗ โยชน์ ท่านก็ค้านว่าขนาดนั้นใหญ่เกินไป เมื่อเขาว่า ๖ โยชน์ ท่านก็ยังแย้งว่า ขนาดนั้นก็ยังใหญ่ไป เมื่อมหาชนลดขนาดลงมาจาก ๕ โยชน์ ๔ โยชน์ ๓ โยชน์ จนเหลือ ๒ โยชน์ พระเถระผู้เกิดเป็นหัวหน้าช่างในครั้งนั้นจึงพูดว่า
“มาเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราควรจะทำให้ปฏิบัติได้สะดวกในอนาคตเถิด” เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว เขาก็เอาเชือกวงแล้วหยุดอยู่ที่คาวุตหนึ่ง ด้านหนึ่งๆ จึงเป็นพระเจดีย์มีทรงกลมและเตี้ยแค่โยชน์หนึ่ง มหาชนเชื่อถือถ้อยคำของช่างนั้น ด้วยผลแห่งกรรมนั้น หัวหน้าช่างนั้นไปเกิดในชาติใดๆ จึงเป็นคนต่ำเตี้ยทุกชาติ แม้ในชาติปัจจุบันนี้ก็เป็นคนต่ำเตี้ย
ในพุทธกาลนี้ ท่านได้มาเกิดในตระกูลมั่งมีโภคะมากในกรุงสาวัตถี มีชื่อว่า ภัททิยะ แต่เพราะเป็นคนเตี้ยมาก จึงปรากฏชื่อว่า ลกุณฑกภัททิยะ ท่านได้ไปฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เกิดศรัทธาจึงได้ออกบวช แล้วเป็นพหูสูตเป็นพระธรรมกถึก แสดงธรรมไพเราะมาก
ครั้งหนึ่ง มีงานมหรสพประจำปี มีหญิงงามคนหนึ่ง กำลังไปเที่ยวงานกับพราหมณ์คนหนึ่ง นางเห็นพระเถระนั้นเป็นคนเตี้ย จึงหัวเราะขึ้นจนพระเถระเห็นฟัน พระเถระถือเอานิมิตในกระดูกฟันของหญิงนั้นแล้วทำฌานให้เกิดขึ้น กระทำฌานนั้นให้เป็นบาทเจริญวิปัสสนาได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ท่านอยู่ด้วยกายคตาสติเป็นเนืองนิตย์
ต่อมาท่านพระสารีบุตรให้โอวาทอยู่ ท่านก็ดำรงอยู่ในพระอรหัต คาถาอันเป็นสุภาษิตของท่าน มีดังนี้
“ชนเหล่าใด ถือรูปร่างเราเป็นประมาณ และถือเสียงเราเป็นประมาณ ชนเหล่านั้นย่อมตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักเรา
คนพาลถูกกิเลสกั้นไว้โดยรอบด้าน ย่อมไม่รู้ภายใน ไม่เห็นภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียงโฆษณา
แม้บุคคลผู้เห็นผลภายนอก ไม่รู้ภายใน ไม่เห็นภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียงโฆษณา
ส่วนผู้ใดมีความเห็นไม่ถูกกั้น ย่อมรู้ชัดทั้งภายใน และเห็นแจ้งทั้งภายนอก ผู้นั้นย่อมไม่ลอยไปตามเสียงโฆษณา”
อรรถกถาลกุณฑกภัททิยเถรคาถา พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่ม ๕๒ หน้า ๒๔๔
|