"ลูกเดินจงกรมยังไง"
คุณแม่ชีเกณฑ์ : ลูกเดินจงกรมยังไง
ผู้ปฏิบัติธรรม: เดินไปเรื่อยๆ บริกรรมพุทโธไปด้วย แต่ใจรู้สึกว่าเดินแบบธรรมดาใจมันร้อน บางทีก็เบื่อ ดูแต่นาฬิกา พอเดินช้าๆ กะว่าเพื่อฆ่าเวลาใจมันกลับเย็น เดินจงกรมแบบไหนที่เหมาะกับหนู หนูจะเดินช้าๆ ได้ไหม
คุณแม่ชีเกณฑ์ : การเดินช้าๆ ช่วยขัดจิต ขัดกิเลส ลูกเดินอย่างนี้นะ พอพุท ยกเท้าขึ้น ให้คำว่าพุทที่เอ่ยออกมา กับเท้าที่ยกขึ้น เกิดขึ้นพร้อมๆกัน แล้วหยุดไว้อย่าเพิ่งเอาลง ลูกจะเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจ ให้คำว่าโธในใจดับไปก่อน แล้วเอ่ยออกมาใหม่ พร้อมกับขาที่เหยียบลงไป
ถ้ามันแว่บไปคิดให้หยุดค้างไว้ พอมันหยุดคิดก็เอาขาลง มันคิดอีกก็หยุดอีก มันหยุดคิดเราก็ไปต่อ ถ้ามันปวดขาก็หยุดค้างไว้ มันหายปวดเราก็ไปต่อ มันปวดอีกก็หยุดอีก มันหายเราก็ค่อยไป
......ทดลองทำตามที่คุณแม่บอก พยายามให้การรับรู้เท้าที่ยกขึ้นและคำว่าพุทเกิดขึ้นพร้อมๆกัน แล้วหยุดค้างไว้ เราเห็นคำว่าโธผุดขึ้นในใจจริงๆ ทั้งๆที่เท้ายังไม่ได้เอาลง พอคำว่าโธดับเราจึงเอ่ยออกมาใหม่พร้อมกับเอาเท้าลง
มันคิดขึ้นมาก็หยุดทันที บางทีค้างขาไว้จนปวดมันจึงกลับมา มากี่รอบก็หยุดเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นคือความคิดมันดับเองได้โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน มันเกิดขึ้นมากี่ครั้ง มันก็ดับของมันเอง เพิ่งรู้ว่า เออ หนอ ความคิดมันดับเองได้ มันเกิดของมันเอง มันก็ดับมันไปเอง เราโง่แท้ๆเลยหนอ ไปนั่งหาวิธีหยุดมัน
หยุดขาค้างไว้บ่อยๆ มันก็เริ่มตึงเริ่มปวด เจ็บขึ้นมาก็หยุดค้างไว้ทันที วินาทีที่หยุดความเจ็บหายไป เดินไปอีกขึ้นมาอีกก็หยุดอีก พอหยุดมันก็หายไป เกิดๆดับๆจนสุดท้ายมันก็หายไป เราจึงรู้ว่าความเจ็บก็มีช่องว่างของมันอยู่เหมือนกัน มันไม่ได้อยู่กับเราตลอด
ความเบื่อหน่ายในการเดินจงกรมหายไป ใจเริ่มเบิกบานและกระตือรือร้นต่อการปฏิบัติธรรม คุณแม่ท่านว่าการเห็นการเกิดดับนี่แหละคือต้นทางของการวิปัสสนา