แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมะสำหรับผู้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์และสานุศิษย์พระโพธิสัตว์ ; หลวงปู่ทวด [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๐

ความสามัคคี



เจริญพร

วันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันแห่งองค์สมณโคดมได้ประกาศให้มีพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ พระอนาคามีขึ้นในโลกมนุษย์ และเป็นวันที่อาตมภาพได้รับการสถาปนาแต่งตั้งจากพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงอโยธยา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ แห่งแผ่นดินอโยธยา


การที่จะโปรดสัตว์นั้น ถ้ามนุษย์ยังไม่มีจิตเข้าซึ้งถึงธรรม มนุษย์นั้นก็ย่อมที่จะติดในด้านวัตถุ จุดแรกแห่งความเสื่อมในโลกมนุษย์นี้ เกิดจากมนุษย์ไม่มี “สามัคคีธรรม” เพราะเหตุใดเล่า อาตมาจึงเทศน์ดังนี้

ดังเช่น ในวิถีการศาสนาก็ดี มีการแบ่งสมมติสงฆ์ เป็นค่าย เป็นเหล่า เป็นคณะ เป็นหมู่ การแบ่งเหล่า การแบ่งหมู่ การแบ่งคณะนั้น เป็นสภาพการณ์ของการไม่ได้ปลูกความกลมเกลียวในหมู่ชนแห่งมนุษย์ในโลก จึงเกิดความยุ่งเหยิงขึ้น เพราะฉะนั้น เราเป็น “สำนักธรรมะแห่งโลกวิญญาณ”  

เราจะทำอย่างไร จะทำให้ความสามัคคีแห่งธรรมสงบและมีความสันติบรรลุถึงจุดแห่งความสำเร็จในโลกมนุษย์ ถ้าในหมู่ใดคณะใดก็ตาม แม้แต่ประเทศชาติที่ตั้งคณะทำงานเพื่อส่วนรวมก็ดี เพื่อส่วนตัวก็ดี ถ้ามนุษย์ผู้ใดในหมู่มนุษย์เหล่านั้นไม่มีความยึดมั่นในความสามัคคีของหมู่ของคณะแล้วไซร้ กิจการในการบริหารของประเทศก็ดี ของสงฆ์ก็ดี ของสำนักก็ดี ย่อมไม่มีความสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายของอุดมการณ์

ในสภาพการณ์นี้แหละจะทำอย่างไร จึงจะทำให้เหล่ามนุษย์มีความสามัคคีดำรงตนอยู่ในสัมมาทิฐิเห็นชอบ เพราะว่า เหล่ามนุษย์นั้นมีตัว “เจ้าโลภะ” เข้าครอบงำ บางคนมี “เจ้าโทสะ” เข้าครอบงำ เมื่อมนุษย์ผู้ใดมีตัว “เจ้าโทสะและเจ้าโลภะ” มาพบกันในกายมนุษย์แล้ว มนุษย์ผู้นั้นย่อมไม่รู้จักความอิ่มและความพอในตัวตน เมื่อไม่มีความอิ่มและความพอในตัวตน ก็ย่อมมีความหิวโหยเกิดขึ้น ดั่งเหล่าผีเปรตทั้งหลาย

ทีนี้จะทำอย่างไรให้มนุษย์รู้ตนและเข้าใจตน คือ ต้องให้มนุษย์หยุดและพิจารณาตน สภาพการณ์แห่งการพิจารณาตนนั้น ก็ใช้หลัก “ความเป็นอริยะ” ซึ่งประกอบด้วยศีลและมรรค ๘ เป็นเบื้องต้น ในการพิจารณาตนจะต้องมี “สติสัมปชัญญะ” ให้พร้อมควบคุมตนให้สงบ


เพราะเหตุใดองค์สมณโคดมจึงวางหลักแห่งการปฏิบัติฌานก็ดี ปฏิบัติญาณก็ดี ว่าจะต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน จึงขึ้นไปสู่วิปัสสนา

แต่ทุกวันนี้ มนุษยโลกถูกวัตถุนิยมปกปิดและการยกยอปอปั้นของมนุษย์ด้วยกันที่ยกตนจนเลิศลอย ดังเช่น สมมติสงฆ์ บางคนเป็นสมมติสงฆ์แต่ผ้าเหลือง จิตใจนั้นไม่ได้เป็นสงฆ์เลย เพราะเขาไม่ได้อบรมจิต มนุษย์ผู้นั้นย่อมไม่มีความสงบและการครองผ้ากาสาวพัสตร์ก็ย่อมร้อน


ทีนี้จะทำอย่างไร ให้ความสันติเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ได้ ก็จะต้องใช้หลักธรรมทั้งหลายตีเข้าไปในหมู่ชนเพียงกลุ่มน้อยที่กุมบังเหียนโลก เมื่อมนุษย์ที่กุมบังเหียนโลกรู้จักตน รู้จักพอ เขาก็ย่อมไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่โลก

ทุกวันนี้ “กฎแห่งธรรมในธรรมชาติ” ถูกมนุษย์เปลี่ยนแปลงโดยการสร้างวัตถุ โดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร การสนองของวัฏฏะ เป็นการสนองกรรมของกรรมเทียม ก็เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย “ไม่รู้ซึ้ง” ในหลักแห่งความเป็นจริงของความเป็นคนนั่นเอง

นโยบายและอุดมการณ์ของโลกวิญญาณ ที่จะทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ ก็ต้องการให้เหล่ามนุษย์ที่จะเข้ามาเป็นลูกมือ ได้เข้ามาฝึกจิตของตนให้มีพลังอันแน่วแน่ เพื่อที่จะร่วมกันโปรดสัตว์ต่อไป


เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๙

ตามรอยองค์สมณโคดม



คืนนี้เป็นคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อย้อนไปในอดีตกาลสองพันกว่าปีก่อนนั้น สภาวะเวลานี้โลกมนุษย์ได้สูญสิ้นพระบรมศาสดาองค์สำคัญองค์หนึ่งในแคว้นภารตะ แต่โลกวิญญาณได้ต้อนรับดวงวิญญาณดวงหนึ่งซึ่งโลกวิญญาณส่งมาทำงานได้สำเร็จผลตามที่ได้กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นคืนนี้อาตมภาพจะขอเทศน์ในหัวข้อว่า "ตามรอยองค์สมณโคดม"

สภาพการณ์เวลานี้ ทุกคนในโลกมนุษย์ที่กล่าวว่า “ข้านี้คือชาวพุทธ” แต่หารู้ไม่ว่าการเป็นชาวพุทธนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศาสนาขององค์สมณโคดมในปัจจุบันนี้ เป็นวิถีการแห่งปลายกลียุคของโลกมนุษย์ อยู่ในระหว่างเข้าใจผิด ตีธรรมะขององค์สมณโคดมไปในทางที่ผิด


อย่างเช่น พระภิกษุในปัจจุบันก็ดี ฆราวาสในปัจจุบันก็ดี นักบวชในปัจจุบันก็ดี ทั้งบรรพชิตและฆราวาสโดยมากถือในหลักแห่งการติด หนึ่งติดในนิกาย สองติดในปรมัตถ์ บ้างติดในพระสูตร บ้างติดในพระวินัย แต่หารู้ไม่ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้เกิดจากอะไร

กฎเกณฑ์เหล่านี้ เช่น พระวินัยก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ศีล ๑๐๘ ก็ดี ศีล ๒๒๗ ก็ดี ศีลเท่าไหร่ก็ดี เกิดจากสภาวะแห่งผู้ที่เข้ามาในศาสนาขององค์สมณโคดมไม่ปฏิบัติตามหลักแนวทางขององค์สมณโคดมที่วางไว้ จึงบัญญัติวินัยเหล่านี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักของพระสูตร ซึ่งเป็นการสอนในระหว่างบุคคลที่ฟังเข้าใจในสูตรนั้นๆ


เพราะฉะนั้น โลกมนุษย์เวลานี้หลงอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งสภาวะอันนี้แหล่ ไม่คิดไม่นึกว่าพระไตรปิฎกเกิดขึ้นมาเพราะอะไร

การที่พระไตรปิฎกเกิดขึ้นมา ก็เพราะเหล่าอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย เหล่าเกจิอาจารย์ทั้งหลายก็ได้รวบรวมคำเทศนาสั่งสอนขององค์สมณโคดมรวมไว้ในทางอรรถกถาบ้าง ในทางฎีกาบ้าง หลังจากองค์สมณโคดมได้ปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๓ พรรษา แต่หารู้ไม่ว่าโลกในปัจจุบันนี้ คนทุกคนเข้าใจว่าคำเทศน์เหล่านั้นเป็นขององค์สมณโคดม องค์สมณโคดมได้เทศน์เอาไว้ยังมากกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่รวบรวมไว้ไม่พร้อม


และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันนี้ กฎขององค์สมณโคดมที่วางไว้ไม่เสื่อม แต่มนุษย์เสื่อม การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ของมนุษย์ทุกวันนี้ ติดนิกาย ติดอาจารย์ ติดพรรค ติดพวก ติดเหล่า ติดคณะ เพราะอะไรเล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณีการบวชในกรุงสยามนั้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่รู้ว่าเป็นหลักของใคร เพราะอะไรเล่า

เมื่อสองพันกว่าปีก่อนนั้น ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิตนั้น ถือว่าสละแล้วซึ่งโลกียะเพื่อบำเพ็ญไปสู่ในหลักแห่งโลกุตระ เพื่อหลุดพ้นแห่งวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิดนั้น


แต่หารู้ไม่ว่า ปัจจุบันนี้การบวชแก้บน บวชสามเดือนบ้าง บวชสิบห้าวันบ้าง บวชสิบวันบ้าง เหล่านี้แหละ ทำให้พุทธศาสนาของเราเสื่อม เพราะคนเรามองไม่เข้าใจ กฎอันนี้อาตมากล้าพูดว่า องค์สมณโคดมไม่เคยบัญญัติเลย ว่ามีบวชแก้บน มิฉะนั้นจะมีพระอรหันต์ พระอนาคามีหรือ เพราะว่าบวชแล้วต้องบวช หมายถึง เราสละแล้ว

ทีนี้สภาวะนั้น เหล่าฆราวาสทั้งหลาย ถ้าอยากจะบวชสามเดือน บวชสิบห้าวันนั้น อาตมาอยากจะขอร้องว่าอย่าไปบวชเลย เสียข้าวของ เสียผ้าเหลืองเปล่าๆ ถ้าจะบวชจริงๆ ก็ให้ “บวชใจ” หรือกักบริเวณบำเพ็ญของตนเอง ถือแบบพระจริงๆ โดยไม่ต้องไปโปรดสัตว์ไปบิณฑบาตก็ได้ เรียกว่า บวชจริงๆ บวชทางใจ


การบวชแก้บน คือ การที่บางคนไปห่มผ้าเหลือง ห่มแล้วกลับมากลับเป็นคนไม่ดี เพราะอะไรเล่า เพราะคนในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วรู้เพียงแค่ละอองของพุทธะ ไม่รู้ว่าพุทธแท้เป็นอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักแห่งความจริงแล้ว ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง อาตมาอยากจะบอกว่า ไม่ต้องไปศึกษาพระไตรปิฎก ไม่ต้องไปศึกษาอรรถกถาฎีกาใดๆ ทั้งนั้น ควรจะศึกษากายในกาย ควรจะศึกษาสังขารในสังขาร ควรจะศึกษาวิญญาณในวิญญาณ เพราะอะไรเล่า เพราะว่านี่คือหลักแห่งความจริงที่องค์สมณโคดมวางไว้

ทีนี้ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธแบบพุทธของโลกียะ อยากให้เขาถือว่า ฉันนี่แหละรู้เรื่องพระพุทธศาสนา เรียกว่าเอาแค่ชนะการพูดนั่นก็ควรศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ายิ่งศึกษาตำรายิ่งยุ่ง ยิ่งไม่รู้เรื่อง ถ้าจะศึกษาในหลักธรรมะอรรถกถาฎีกาต่างๆ หรือหลักธรรมะที่เกจิอาจารย์คนนี้บัญญัติไว้ เกจิอาจารย์คนนั้นบัญญัติไว้แล้ว ทั้งชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ศึกษาไม่จบ เพราะตำราทั้งหลายเกิดสะสมกันขึ้นมา เพราะฉะนั้นยิ่งศึกษาก็ยิ่งฟุ้งซ่าน

การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง หรือการตามรอยองค์สมณโคดมที่แท้จริง คือ การปฏิบัติ การพิจารณากายในกาย การพิจารณาธรรมในธรรม การพิจารณาวิญญาณในวิญญาณ การพิจารณาสังขารในสังขาร นี้แหละผู้นั้นจะเดินตามรอยองค์สมณโคดมที่แท้จริง


และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า “บวช” นั้น หมายความว่า ตัดแล้วซึ่งโลกียะ ไม่ยุ่งแล้วซึ่งโลกของโลกียะ บวชตัวเพื่อที่จะบำเพ็ญให้ถึงจุดพุทธะ แล้วเอาหลักแห่งการบำเพ็ญถึงจุดแห่งพุทธะที่องค์สมณโคดมได้วางไว้ มาเผยแพร่สอนคนอื่นต่อไป

แต่ทุกวันนี้
รู้สึกว่าโลกของศาสนาพุทธกำลังไปสู่กาลแห่งความเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าบรรพชิตต้องอยู่ในปกครองของฆราวาส บรรพชิตจะต้องมีการตั้งตำแหน่งอะไรทั้งหลาย ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก่อให้จิตฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะบำเพ็ญไปตามองค์สมณโคดมไม่สมควรหลงในตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์เจ้าคุณเจ้าอะไรที่เขาตั้งกัน

เมื่อสมัยที่อาตมาอยู่ ณ กรุงศรีอโยธยา ได้รับตำแหน่งเป็นพระสังฆราชในวงศ์ของพระรามาธิบดีที่ ๒ อาตมาได้เป็นสังฆราชอยู่ ๓ พรรษา อาตมาหนีตำแหน่งสังฆราชไปสร้างวัดที่ปัตตานี เพราะอะไรเล่า


เพราะว่าทีแรกๆ เราก็ไม่รู้ นึกว่าเป็นสังฆราชเราก็ต้องทำตามแบบองค์สมณโคดม จะไปไหนๆ หรือไปในวังเราก็เดินไป แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ท่านเป็นสังฆราชเดินไปไม่ได้ ต้องให้คนแบกไป นั่งเปลอะไรก็ไม่รู้ สองคนแบกกันไป อาตมาก็คิดในใจว่าแย่แล้ว พอเป็นสังฆราชก็กลายเป็นคนป่วย เดินไม่ได้ ต้องให้เขาหาม ทีนี้ถ้าเราขืนหลงอยู่ในตำแหน่งนี้ เราก็ยิ่งฟุ้งกันใหญ่ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร อาตมาเลยหนีไปจำพรรษาอยู่ ณ น้ำตกทรายขาว

วิถีการพิจารณาของอาตมาที่บำเพ็ญอยู่นั้น อาตมาไม่ได้มีอะไร อาตมาเริ่มด้วยการเพ่งน้ำในน้ำตกว่า น้ำนี้ไหลมาอย่างไร มาจากจุดใด มาอย่างไร ไปอย่างไร จึงรู้ว่ามันเป็นน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรม มิฉะนั้นองค์สมณโคดมจะไม่เทศน์เอาไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้นั้นรู้เอง”

อีกจุดหนึ่งที่มนุษย์ไม่ยอมสนใจ คือ ไม่สนใจค้นกายในกายของตนเอง สิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “พุทธะ” นั้นอยู่ในกาย ถ้าจิตของผู้นั้นสามารถค้นเข้าไปถึงกายในกายอันบริสุทธิ์ สิ่งนี้ภาษาทางโลกเรียกว่า “พลัง” ชนิดหนึ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่รู้จักค้นออกมาใช้ เพราะอะไรเล่า


ทำไมเราจึงถามเหตุใดองค์สมณโคดมจึงสามารถระลึกชาติได้ เพราะมีบุพเพนิวาสานุสติญาณ มีอนาคตังสญาณ หรือมีญาณอะไร สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องไปรับรู้ เราไม่ต้องยุ่ง เราต้องไม่ไปคิดถึงว่าเราจะได้ฌานโน้นฌานนี้ หลักของการปฏิบัติอันหนึ่งมีอยู่ว่า เราจะยึดอะไรเป็นสรณะของการเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

คำว่า “กรรมฐาน” นั้นหมายถึง การกำหนดจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อรวมพลังจิตไม่ให้ฟุ้ง รวมพลังของจิตอันนั้นไม่ให้ฟุ้งแล้ว รวมอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งรวมจนได้อารมณ์แห่งการ ปีติ คือนิ่งเฉยแห่งจุดนั้น เมื่อนั้นให้ขึ้นวิปัสสนา

“วิปัสสนา” คือ ให้พิจารณาในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอนัตตา “อนัตตา” คือการเดินทางไปสู่โลกแห่งนิพพาน โลกแห่งอรหันต์ โลกแห่งโพธิสัตว์ โลกแห่งอนาคามี โลกเรานี้เป็นโลกแห่งอัตตา ทำอย่างไรเราจึงจะไปสู่จุดแห่งการเป็นอนัตตา (ไม่ใช่อัตตา) ได้


กฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ไม่รู้จักกี่ภพไม่รู้จักกี่ชาติ ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งการเป็นมนุษย์ เมื่อไม่มีที่สิ้นสุดแห่งการเป็นมนุษย์ มันก็เวียนอยู่นี่ วนอยู่นี่ โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะหลุดออกจากคลื่นอันนี้ มันแสนจะลำบาก แสนจะเหนื่อยยาก


จึงหาวิธีการปฏิบัติ พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมชาติเคลื่อนไปสู่ธรรมชาติ แต่เราจะบำเพ็ญไปสู่นิพพาน คือ สามารถทำจุดใดจุดหนึ่งให้เหนือธรรมชาติ นี่คือภาษาของหลักแห่งธรรมะ ซึ่งฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ เมื่อผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นรู้เอง

สิ่งใดที่เราแทงทะลุปรุโปร่ง มีจุดเริ่มแรกจุดหนึ่งซึ่งเรียกว่า จิตได้ฌาน เมื่อจิตได้ฌานแล้ว เราจะทำสิ่งใด เราก็สามารถรู้โดยจิตที่ได้ฌาน คือสภาวะแห่งธรรมชาติอันนั้นมีให้เราใช้ เพราะอะไรเล่า เพราะว่าธรรมชาติมีกฎของมัน กฎแห่งการลงโทษ กฎแห่งการปลดปล่อย กฎแห่งความอิสระ ฉันใดก็ฉันนั้น


วิธีการนี้แหละจึงทำให้รู้ว่า การที่จะเดินตามรอยองค์สมณโคดมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ตำรา ไม่ใช่อยู่ที่เป็นนักพูด เราพูดมากแล้วเราเก่ง หาใช่สิ่งเหล่านี้ไม่

ถ้าจะเดินตามรอยองค์สมณโคดม ขั้นแรกแห่งการเป็นปุถุชน ก็ต้องปฏิบัติในหลักศีล เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในหลักแห่งความเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้ว ให้ขึ้นสู่จุดแห่งปัญญา คือ เอาสมาธิพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ถึงพลังแห่งความสำเร็จของมัน


สิ่งนี้ถ้าเปรียบเทียบกับทางโลกก็มีอยู่สองทาง สุดยอดของนิพพานคือ ละจนถึงที่สุด สุดยอดของความรักคือ เพิ่มกิเลสจนถึงที่สุด ทั้งสองทางนี้รวมกลุ่มเดินของมันแข่งกันไป ถ้าสภาวะนั้น ผู้นั้นจิตอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถึงจุดอันหนึ่งมันก็เป็นความสำเร็จของมัน คือ สำเร็จทางโลกียะหรือโลกุตระ เหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่แท้จริงขององค์สมณโคดม

ผู้ที่จะเดินตามรอยองค์สมณโคดม ต้องละหลง ละโกรธ ละชอบ ละโน่นละนี่ ละเสียงกลิ่นรส ละโภชนาหาร ฉันได้ทุกอย่างเหลืออยู่แต่ความสามารถรักษาอารมณ์แห่งจิตนั้นให้เป็นจิตนิ่ง แล้วใช้จิตแห่งการปีตินิ่งนี้พิจารณาทั้งของการจุติของสรรพสัตว์ทางโลก นั่นแหละจะถึงจุดแห่งความสำเร็จ คือเป็นผู้ที่เดินตามรอยองค์สมณโคดม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ที่จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ก็ควรจะปฏิบัติในกฎแห่งการ

พิจารณากายในกาย
พิจารณาธรรมในธรรม
พิจารณาวิญญาณในวิญญาณ
นั่นแหละคือสานุศิษย์อันแท้จริงขององค์สมณโคดม


เจริญพร


(เทศน์ในวันวิสาขบูชา

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ เวลา ๒๓.๓๕ น.)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๘

สังคมของมนุษย์



คืนนี้อาตมภาพขอเทศน์เรื่อง “สังคมของมนุษย์” การฟังเทศน์ก็ดี การเรียนธรรมะก็ดี การเรียนวิชาความรู้ก็ดี เราจะต้องฟังด้วยจิตแน่วแน่ พิจารณาตามไป และจะต้องรู้ว่าอะไรเป็น “หลัก” อะไรเป็น “ขยายความ”

คำว่า “สังคมมนุษย์” นั้น ขยายความตามหลักก็คือว่า มนุษย์ที่อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นคณะ และตัวเราปรับตัวให้เข้ากับคนหมู่มากต่อหมู่คณะ เสมือนหนึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมได้สำเร็จเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระองค์ได้ตั้งอาณาจักรแห่งธรรม คือ
สังคมธรรมะของพระองค์ ก็ได้พรรคพวกจากวิธีการเผยแพร่ความรู้ของพระองค์

สังคมใดก็ดี หมู่คณะใดก็ดี เขาย่อมมีหลักการและอุดมการณ์ของเขา ดังเช่นสำนักปู่สวรรค์นี่ อาตมภาพเป็นผู้บัญชางาน มีพวกเจ้าเป็นผู้ช่วยเผยแผ่การทำงาน อาตมามีหลักการหลักหนึ่ง คือ ทำการรักษาคนป่วย ส่วนคนที่จะมาศึกษาธรรมะ มาเรียนวิปัสสนากรรมฐานก็มาได้ สถานที่นี้บำบัดทุกข์ทั้งกายและใจ

ทีนี้คำว่า “สังคมมนุษย์” นั้นเป็นอย่างไร เราจะเข้าไปอยู่ในสังคมของเขา เราจะต้องทำตนอย่างไร คนที่จะมาร่วมสังคมของสำนักปู่สวรรค์เราจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร หลักมีอยู่ว่า ในการติดต่อกับมนุษย์ทุกคน เราจะต้องศึกษาในด้านจิตและวาทศิลป์ของฝ่ายที่มาติดต่อ หรือในการที่ตัวเราจะไปติดต่อกับเขา คือหมายถึง การที่บุคคลปฏิบัติต่อบุคคลโดยการติดต่อระหว่างกัน

ข้อแรก เราจะท่องขึ้นในใจว่า มนุษย์ทุกคนล้วนแต่นานาจิตตัง ต่างคนต่างมีความคิดของตัวเอง ต่างคนต่างมีอุดมการณ์ของตัวเอง สังคมแต่ละชั้นจึงไม่เหมือนกัน เช่น


สังคมของนักกฎหมาย ก็มีหลักนิตินัยนิติธรรมเป็นหลักหรือเป็นอุดมการณ์ พวกนักกฎหมายจึงต้องปฏิบัติตนตามระบบ คือนิติธรรมอันนั้นจะต้องศึกษาวินิจฉัยในนิติธรรมนั้นว่าเป็นอย่างไร ใคร่ครวญแล้วจะปฏิบัติตามกฎหมายที่วางไว้ในรูปอย่างไร ควรช่วยในกรณีใด เช่น ควรช่วย เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าคนนั้นบริสุทธิ์

สังคมของเจ้าเตี้ย หมายถึง ลูกศิษย์คนหนึ่งที่มาร่วมประชุม มันก็ว่ากูจะขายอะไรๆ นั้น จะขายไปได้เมื่อไรก็ได้ ขายได้ยิ่งมากยิ่งดี มันก็มีอุดมการณ์ของมันอย่างหนึ่งว่า กูผลิตให้มากๆ กูขายได้มากๆ กูได้กำไร เมื่อกูได้กำไรมากๆ กูก็กินน้ำเมาได้มากๆ มันก็เป็นอุดมการณ์สวรรค์ของเจ้าเตี้ย

สังคมนักการค้า ก็ต้องวางแผนการติดต่อว่าจะติดต่อในรูปการอย่างไร สิ่งนี้เราจะเจรจากับเขาอย่างไร ถ้าเราจะต้อง “มุสา” แต่มุสาในทางที่ชอบ การที่มุสาออกไปนั้น วาจาของเราเรียกว่า วจีกรรม สำหรับวจีกรรมนี้เป็นโทษหนักที่สุด วจีกรรมที่เราจะกล่าวออกไปนั้น เมื่อเรากล่าวออกไปแล้ว

หนึ่ง ฝ่ายที่เราติดต่อจะต้องไม่เสียหาย
สอง จะต้องไม่เสียหายแก่ตัวเราเอง


และไม่ใช่เพียงแค่นี้ เราจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คำพูดของเราคำนี้ในอนาคตกาลเป็นผลร้ายหรือผลดีต่อเรา เขาเรียกว่า สร้างมโนกรรมแล้วค่อยแสดงออกทางวจีกรรม คือเป็นคำพูดออกมา เพราะฉะนั้นก่อนที่จะพูดอะไรออกมานั้น จะต้องวินิจฉัยในใจก่อน แล้วค่อยพูดออกมา ทีนี้การที่เราจะคิดติดต่อกับเขา
เราต้องอย่าเป็นนักพูดมาก แล้วจงพยายามหัดเป็นนักฟังที่ดี

สมมุติว่า “ที่เราชวนเขาเข้ามาสำนักปู่สวรรค์ เราจะต้องฟังวาจาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นอย่างไร แล้วเราจะต้องวินิจฉัยคำพูดนั้นว่า เขาแสดงออกด้วยความจริงใจหรือแสดงออกด้วยอารมณ์ หรือว่าเราจะติดต่อการงานใดก็แล้วแต่ เราจะต้องพิจารณา แล้ววางหลักการอันใดอันหนึ่งที่จะไปหักล้างความเข้าใจเดิมของเขาให้เขาเชื่อถือ


คือ ให้ “เกิดศรัทธา” ไม่ว่าสังคมใดก็แล้วแต่ เราจะต้องคุยให้เขาเกิดศรัทธา ให้เขาโน้มเอียงมาทางเหตุผลของเรา เพราะว่าถ้าบุคคลฟังด้วยความเต็มใจ เมื่อฟังแล้วมักเชื่อตามเหตุผลที่ถูกต้อง

อาตมาเทศน์คืนนี้ก็เท่ากับท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎกทั้งหมดคือ มนุษย์ทุกคนต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเองและการโต้เถียงใดๆ ก็ดี มักลงเอยด้วยเหตุผลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าเหตุผลหรือคำพูดของเราที่ได้เลือกสรรมา ไม่สามารถหักล้างเหตุผลของเขาได้ เราก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้ ถ้าเหตุผลของเราหักล้างเหตุผลของเขาได้ เราก็เป็นฝ่ายชนะ นี่คือ “การต่อสู้ของโลกมนุษย์”

ทีนี้เราต้องฟังข้อหนึ่งว่า การที่เราจะเข้าสังคมใดก็แล้วแต่ ถ้าไม่จำเป็นแล้ว อย่าพยายามปฏิบัติตามคำว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ข้อนี้เป็นข้อที่ล้าสมัย ผู้ที่ไม่มีอุดมการณ์จึงจะใช้ข้อนี้ เพราะอะไรเล่า เพราะว่าเมื่อเราศึกษาธรรมะ เราเข้าใจธรรมะ เราจะต้องเป็นผู้ปรับปรุงสังคม ผู้ที่จะปรับปรุงสังคมนั้น คือผู้ที่จะเข้าไปทำให้สังคมเจริญในทางที่ดี ไม่ใช่คล้อยตามสังคม อาตมาจึงว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตาม”

ส่วนมากที่เราเข้าไปในงานเลี้ยงอะไรก็แล้วแต่สมัยนี้ เขาชอบกินเหล้ากัน เมื่อเขาเรียกให้เรากิน เราบอกว่าเราไม่กิน เขาก็ต้องถามว่า เพราะเหตุใดเราจึงไม่กิน เราจะแสดงวาจาอะไรออกไป เราก็ต้องคิดให้ดีเสียก่อน ดูซิพวกนั้นเมากันขนาดไหน ถ้ามันเพิ่งตึงๆ เราก็อาจพูดว่า


การกินสรุาเมรัยนั้น ท่านก็ย่อมรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเป็นสิ่งดี ศีลห้าย่อมไม่บัญญัติไว้ เช่น บุคคลหนึ่งเป็นคนสุภาพอ่อนหวานเป็นคนที่ดี ไปๆ มาๆ ก็ลงเจ้าเตี้ยทุกที เจ้าเตี้ยเมื่อมันยังไม่กินเหล้า ดูมันสุภาพมันพูดดี แต่พอมันกินเหล้า มันพูดอะไรก็ไม่รู้ มันพูดแหง๋วๆ การกินเหล้านี้ ทำให้เราเมาขาดสติ บางครั้งปฏิบัติการอะไรลงไป มันก็ทำให้ได้ผลไม่ดี

ถ้าเราเป็นเช่นนี้ เราจะเข้าสังคมใดก็แล้วแต่ ย่อมจะได้คำว่าเป็น “คนขี้เหล้า” คำว่า “ขี้” นี้เป็นคำที่ไม่ดีทั้งนั้น ขี้เหล้า ขี้เล่น ขี้เกียจ สิ่งที่ไม่ดี รู้สึกว่าทุกทุกคำมีแค่คำว่า “ขี้” เช่นนี้ทั้งนั้น คนขี้เหล้า คนขี้เล่น คนขี้บุหรี่ คนขี้กัญชา คนขี้ฝิ่น สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันจึงใช้เป็นคำขึ้นต้นสมมุตินามของคำพูดมนุษย์ หลักของภาษาสยามมันก็ขึ้นต้นด้วย “ขี้” เพราะฉะนั้น เราจะต้องคิดปรับปรุงให้ตัวเราเป็น “แก้ว” ไม่ใช่เป็น “ขี้” เราจะทิ้งสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ได้ไหม

ทุกคนที่มีการติดต่ออยู่ในสังคม อาตมาอยากจะให้ทุกคนหลังจากทำงานทุกอย่างเสร็จแล้ว คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ไม่ติดต่อกับใคร ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่าที่เราทำไปนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างไร สิ่งนั้นเป็นอย่างไร ทำถูกต้องหรือไม่ แล้วลงเอยด้วยรูปอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร


คือ ให้ปลีกตัว มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาเรื่องของตัวเอง อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มันเอาแต่เรื่องคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง เพราะฉะนั้น เราจงหาเวลามามองตัวเอง แล้วเราจะได้ทำอะไรผิดพลาดให้น้อยลง คือผิดพลาดน้อย

โดยที่เราคิดเสร็จแล้ว คิดอย่างใจเย็นๆ ว่า สิ่งที่ผิด เราจะต้องกาลงไปว่าผิด แล้วเราจะปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้น ถ้าเราผิด เราควรแก้ตัวใหม่ ไม่ใช่พอทำผิดแล้วก็บอกว่า เอ้อไม่ผิด ของเราถูก มันก็เข้าข้างตัวเอง

การติดต่อกับสังคมใดก็ดี การเข้าสังคมใดก็ดี ควรยึดหลัก ๒ ประการ คือ

หนึ่ง เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้น
สอง เราจะต้องเป็นผู้ปรับปรุงสังคมนั้นให้ดีขึ้น


นักการค้าที่ดี นักการเมืองที่ดี นักธุรกิจที่ดี ควรจะสังวรในข้อนี้ เพราะว่ามนุษย์เราทุกคนอยู่ในโลกนี้ไปได้ไม่นาน ที่เขาเรียกว่า “มนุษยสัมพันธ์” ก็คือ มนุษย์จำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน


อาตมภาพมาสัมพันธ์กับมนุษย์ก็เพื่อที่จะมาช่วยมนุษย์ในเรื่องบางอย่าง พวกเจ้าก็ต้องช่วยเหลืออาตมาให้สำนักนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตบแต่งสังคมปัจจุบัน ให้พวกเจ้าไปคิดกันเอาเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะต้องพยายามทดลองเข้าไปคุยกับคนนี้ ที่เขาคุยออกมามีอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นขยายความ แล้วนั่นแหละจะเป็นการลับปัญญาของเรายิ่งๆ ขึ้นไป เราจะได้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมมนุษย์ปัจจุบันเสื่อมลงมาก มันกำลังไปสู่อบายภูมิ ปัจจุบันเป็นเวลาแห่งกลียุค

อาตมภาพขอกล่าวเพียงแค่นี้ ขอให้พวกที่ฟังในวันนี้กลับไปใช้สัญชาตญาณการเป็นปุถุชน รู้จักพิจารณาหาเหตุผลและปฏิบัติตาม ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๗

การเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง



วันนี้อาตมาขอเทศน์เรื่องการเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ก็คือ ต้องสุขุมรอบคอบและจะต้องไม่ยึดติด “เสียง” เป็นหลัก

“เสียง” นี่ไม่มีตัวตน แต่เสียงสามารถทำให้มนุษย์ฆ่ากันได้ เสียงสามารถทำให้มนุษย์รักกันได้ ถ้ามนุษย์ผู้ใดคิดจะทำงานเพื่อส่วนรวมก็ดี จะอวดตนเป็นผู้ใหญ่ก็ดี ควรจะต้องไม่ติด “เสียง” เป็นจุดแรกก่อน

การเป็นผู้ดีจะต้องมีสัจจะ ไม่กล่าวร้ายบุคคลที่สามลับหลัง เช่น นาย ก. เป็นผู้ใหญ่ ได้ยินนาย ข. มาพูดเรื่องนาย ค. ให้ฟัง นาย ก. จะต้องคิดทันทีว่า นาย ข. นี้ เป็นบุคคลเช่นไร นาย ก. จะต้องมีความสำนึกว่าหากนาย ข. เป็นผู้ดี เขาควรจะต่อว่านาย ค. โดยที่คนๆ นั้นอยู่ต่อหน้า ไม่ใช่คนๆ นั้น
ไม่มีโอกาสพูด ไม่มีโอกาสแก้ตัว

โลกทุกวันนี้ยุ่งยาก ก็เพราะมนุษย์ที่อวดตนหรือยกตน ยังไม่มีจรรยาในการ “พิจารณาตน” ถ้าสัตวโลกอยู่กันอย่างไม่ยึดสิ่งใดเลย โลกนี้ย่อมสงบ ท่านต้องเข้าใจว่า “การให้ทุกข์เขานั้น ทุกข์นั้นถึงตัวท่านเองแน่นอน” นี่เป็นหลักความจริง

สมัยเมื่ออาตมามีสังขารอยู่ปัตตานี ในระยะเริ่มแรกสร้างวัดช้างให้ มีแขกมลายูคนหนึ่งมาบวชอยู่ในวัดของอาตมา แขกมลายูคนนี้ไม่รู้ภาษาสยาม รู้แต่ภาษามลายู ทีนี้เมื่อรู้แต่ภาษามลายู จะสอนให้สวดมนต์ก็ดี จะสอนการอ่านก็ดี ย่อมทำไม่ได้


อาตมาจึงบอกเขาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องสวดมนต์ละ ท่องเพียงสองคำก็พอ คือ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แขกคนนั้นที่อยู่ในปกครองของอาตมา ตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกบิณฑบาตตามปกติ กลับมาก็นั่งท่องแต่คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”

มีแขกมลายูด้วยกันเป็นพวกเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ มาเที่ยวที่วัดบอกว่า พระองค์นี้มันพูดอะไรของมันไม่ทราบ ท่องแต่ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แขกคนนี้ไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่รู้ภาษาไทยดี ก็บอกว่าไม่จริง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นไม่ถึงตัวหรอก” จึงตั้งใจพิสูจน์คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” จริงหรือไม่


วันหนึ่งได้ไปทำโรตีแบบที่ทางปักษ์ใต้เขาชอบกินกันสมัยนั้น คือโรตีแบบแขก แล้วใส่ยาพิษลงไปด้วย นำไปใส่บาตร พระมลายูที่ท่อง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” บังเอิญเจ้ากรรมวันนั้น พระมลายูองค์นี้บิณฑบาตได้อาหารมามาก แล้วก็ฉันอิ่ม จึงนำโรตีสองชิ้นที่แขกนั้นใส่บาตรไปเก็บเอาไว้


ส่วนคนที่ต้องการพิสูจน์คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” มีลูกอยู่สองคน พอเที่ยงก็หิ้วข้าวมาส่งให้พ่อซึ่งเลี้ยงวัวอยู่ในแถบวัดนั้นกิน แถวนั้นมันเป็นโคกโพธิ์ ด้านขวามีภูเขาน้อยๆ เด็กทั้งสองเดินเที่ยวไปถึงกุฏิของพระที่ท่อง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”  

พระองค์นี้เห็นว่า เด็กทั้งสองนี้น่ารัก บัดนี้มันก็เลยเพลแล้ว โรตีที่เก็บไว้ก็จะเสียเปล่า จึงนำเอาโรตี ๒ แผ่น ที่พ่อเด็กเขาใส่ยาพิษที่จะให้พระนี้ฉัน ให้เด็กทั้งสองคนนั้นกิน เด็กสองคนนั้นกินแล้วก็กลับไปถึงบ้านก็ป่วยทันที ครั้นใกล้จะตาย พ่อถามว่า “เมื่อเจ้าเอาข้าวไปส่งให้พ่อน่ะ เจ้าไปกินอะไรหรือเปล่า” ลูกสองคนนั้นบอกว่า ไปที่กุฏิพระองค์หนึ่งที่เป็นชาวมลายูด้วยกัน เห็นท่องแต่ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” เห็นว่าแปลก ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ท่องแต่คำคำนี้คำเดียว พระนั้นสงสารลูกได้ให้โรตีสองอันกิน

ในที่สุดผลแห่งการพิสูจน์ว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” ก็ปรากฏขึ้น เขาต้องการฆ่าพระองค์นั้น แต่กลับกลายเป็นฆ่าลูกสุดที่รักของเขาเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัว เรามีความบริสุทธิ์ เรามีความเที่ยงธรรม เรามีหลักขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา คุณธรรมเหล่านี้จะรักษาให้เราปลอดภัยทุกอย่าง

ทีนี้การเป็นคน ท่านยึดเสียงหรือไม่ ท่านยึดคำพูดดีหรือไม่ ถ้าท่านยังยึดสิ่งเหล่านี้แล้ว ท่านจะเป็นนักพรตที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักบุญที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักปกครองคนที่ดีไม่ได้ มนุษย์เราถ้ายังติดเสียง ติดคำชมและด่า มนุษย์นั้นยังมีใจไม่ถึงธรรม “สัจธรรมเป็นธรรมอันประเสริฐ”


ทำไมสำนักปู่สวรรค์ถึงยึดจุดนี้ เพราะว่าความจริงย่อมเป็นความจริง สิ่งที่เลวก็เป็นความจริงแห่งความเลว สิ่งที่ดีก็เป็นความจริงของความดี ที่จะกล่าวต่อไปในยุคต่างๆ ของมันเอง โดยไม่มีอะไรแปรเปลี่ยนไปได้ ธรรมชาติของโลกียะและโลกุตระมันเดินของมันเอง เราจะชนะความเลวด้วยความดี เราต้องมีอุเบกขา หมายถึง คิดว่าสิ่งนี้เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อ ไม่ใช่ทำเพื่อความมีอำนาจ เมื่อท่านทำใจได้เช่นนี้ ท่านก็จะเป็นคนที่ดีได้และจะเป็นนักเสียสละที่ดีได้

ทีนี้ การที่เราจะให้คนอื่นเหมือนเราหมดย่อมไม่ได้ มนุษย์ต่างคนต่างเกิดมาในโลกนี้ มีกรรมวิบากของคนไม่เหมือนกัน เมื่อมีกรรมวิบากของคนไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน มีคุณธรรมไม่เท่ากัน เราจะเอาใจของเราเป็นสรณะ ว่าที่เราทำนี้ถูก ทุกคนจะต้องว่าถูก เหมือนเรานั้นไม่ได้


ท่านเข้าใจคำว่า “นานาจิตตัง” คือ แต่ละคนมีความคิดของตนเป็นหลัก เราจะทำอะไร ควรมีความสุขุมรอบคอบ เราต้องคิดถึงคนอื่นว่า ทุกคนไม่เก่งเหมือนเรา ทุกคนไม่เหมือนเรา

ดังนั้นจำเป็นต้องมีอภัยทานเป็นสรณะ ถ้าไม่มีการให้อภัยเป็นหลัก เมื่อมนุษย์ผู้นั้นตายไป ก็จะมีแต่กิเลสตัณหาแห่งความยึดมั่นในตน จะมีแต่ความพยาบาทอาฆาตจองเวร เมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ ย่อมเป็นทางนำไปสู่อบายภูมิ นี่คือหลักความจริงของโลกวิญญาณ

เพราะฉะนั้นอาตมาจึงไม่อยากจะเทศน์อะไรมาก เพียงแค่ขอให้เข้าใจว่า จงมีขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา จงตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมทุกๆ ประการ อย่าติดเสียง ไม่ว่าเสียงดีหรือเสียงไม่ดี อันตรายใดๆ จะทำอะไรท่านไม่ได้เลย

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ เวลา ๑๔.๔๕ น.)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖

โลกนี้ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าใคร



ว่าตามความจริงของธรรมชาติของธรรมะแล้ว ไม่มีใครใหญ่ ต้องผลัดกันใหญ่ จึงจะเป็นส่วนรวมได้ และจะต้องรู้จักคำว่า “ใหญ่ที่ใด” เรียกว่ารู้จักในกาลเทศะ อย่างเช่น เราจะไปเรือ ในนั้นใครใหญ่ที่สุดในเรือท่านรู้ไหม นายท้ายเรือใหญ่ที่สุด เพราะชีวิตเราอาศัยอยู่กับเขา เขาเป็นคนขับเรือ เพราะฉะนั้นการที่วางตัวเป็นใหญ่ในสังคมก็ดี ในการเป็นใหญ่ในโลกมนุษย์ก็ดี ต้องรู้จักกาลเทศะ

เราอยู่ในบ้านใครใหญ่ บิดามารดาใหญ่ เราอยู่ในที่ทำงาน ผู้ร่วมงานเหนือเราใหญ่ เราอยู่ในโรงเรียน เราเป็นครูย่อมใหญ่กว่านักเรียน แต่ถ้าท่านดูให้ทั่วแล้ว ไม่มีใครใหญ่ ผลัดกันใหญ่ต่างที่ คือเทศะ ประเทศ ผลัดกันใหญ่ต่างกรรม คือการงานที่ทำ ต่างวาระ คือกาลเวลา ถ้าคนเรารู้จักใช้ความพิจารณา ก็ไม่เกิดการทะเลาะและอิจฉากัน

ทุกวันนี้โลกมนุษย์ยุ่งเหยิง ก็เพราะว่ามนุษย์ไม่พิจารณาในตัวตน ไม่คิดถึงการ “เป็นใหญ่” ว่าเป็นอย่างไร

ใหญ่ถูกที่ คือ ใหญ่ให้เหมาะกับสถานที่
ใหญ่ถูกกาลเทศะ คือ ใหญ่ให้เหมาะสมกับเวลา
วางตนถูกเทศะ คือ ให้เหมาะสมกับสถานที่
คำพูดต้องถูกกาลเทศะ คือ ให้เหมาะสมแก่เวลา


เพราะว่ามนุษย์เรานี่ คนพูดมีทัศนะอย่างหนึ่ง คนฟังก็มีทัศนะอีกอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เหมือนกัน นานาจิตตัง คือ คนพูดมีเจตนาดี แต่คนฟังเข้าใจในทางเจตนาร้ายก็ได้ เพราะว่าคนฟังมีอกุศลและกิเลสติดอยู่ในตน คือ มีอกุศลอารมณ์เกลียดคนๆ นั้นอยู่ ก็ย่อมปรุงใจไปสู่ทางที่ไม่ดี ในทางที่ผิด แต่ถ้า
คนฟังมีเจตนารมณ์รักใคร่คนพูด มีเจตนาบริสุทธิ์ต่อคนที่พูด คำพูดของคนนั้น ถึงแม้จะเป็นคำพูดที่ไม่ดี ก็แปรเจตนานั้นไปในทางที่ดีก็ได้ นี่คือเรื่องของอารมณ์มนุษย์

ในการที่เราจะทำงานใหญ่ เราจะต้องวางตนให้ใหญ่ถูกที่ถูกกาลเทศะ คนเราถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรใหญ่ เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้มีกรรมพัวพันกันในอดีต แผ่นดินนี้ไม่มีขอบเขตกั้น ถ้ามนุษย์ไม่แบ่งกัน ทุกคนที่เกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่มีขอบเขต ไม่แบ่งเป็นประเทศ ทุกคนเป็นสัตวโลกที่เกิดมาใช้กรรม ถ้าทุกคนพิจารณาให้ซึ้งถึงธรรมะอันแท้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดมแล้ว ความสันติสุขย่อมเกิดขึ้นในโลกมนุษย์

แต่ทุกวันนี้ ความสันติสุขในโลกมนุษย์ไม่มี เพราะว่าทุกคนไม่ยอมพิจารณาให้ถ่องแท้ในธรรมะว่า ความจริงนั้นสัตวโลกทุกคนมีกรรมพัวพันกันมา ไม่ว่าจะเกิดเป็นฝรั่งเป็นจีนหรือเป็นพวกแขก หรือชาติอะไรก็แล้วแต่ ก็ล้วนแต่เกิดเป็นคนเพื่อมาใช้กรรมทั้งสิ้น ขอบฟ้านี้ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ยิ่งยุคนี้เป็นยุคก้าวหน้า มีนกเหล็กบินได้ บินประเดี๋ยวเดียวก็ถึงประเทศโน้นประเทศนี้ ไม่เห็นมีอะไรมากั้นเขตแดนว่าเป็นประเทศใด เพียงแต่มาสมมุติกัน มาแบ่งกัน มาถือกัน มาอวดทิฐิกัน จึงเกิดความยุ่งยากขึ้นในโลกมนุษย์

เพราะฉะนั้นการเป็นคน ท่านจะต้องรู้จักการพิจารณาตน ท่านต้องรู้จักจับอารมณ์ แล้วจะไม่มีอะไรที่น่าติดน่ายึด ที่คนอื่นเขาว่าเรา ถ้าคนฟังมีสมอง เขาก็จะต้องคิดว่า คนที่ว่าคนนี้ใช้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าคนดีเขาไม่เที่ยวด่าคน นี่เป็นหลักความจริง และคนที่มีสมองมีความคิด เขาจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดว่า คนๆ นี้พอลับหลังก็ว่าคนนี้คนนั้นได้ ถ้าเราฟังเขาว่า เราเชื่อเขา หลังจากที่เขาจากเราไป เขาไปเจออีกคนหนึ่ง เขาจะไม่ด่าเราหรือ นี่สำหรับคนที่มีปัญญา ปัญญาของการเป็นคน แต่ถ้า “ปัญญาที่ไม่ได้เป็นคนแล้ว” ก็ถือคำด่า ถือคำชม เป็นหลัก

เพราะฉะนั้นผู้ที่มาในสถานที่นี้ควรทราบว่า อาตมาเป็นประธานที่เขาเรียกว่า “เป็นประมุขของสำนักปู่สวรรค์” อาตมาใช้คำว่า “นิ่งเสียพระโพธิสัตว์” เป็นตัวอย่าง เมื่อเราจะมาเป็นศิษย์พระโพธิสัตว์กันแล้ว ก็ควรจะมี “จิตแห่งความนิ่ง” เสียบ้าง คือไม่มีการถืออารมณ์ใดๆ เป็นหลัก อารมณ์ของการชมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี คำชมหรือคำด่าก็จับออกมาดูไม่ได้ เพียงแต่เป็นอารมณ์ของอายตนะที่ผ่านไป ว่าเป็นคำชมหรือคำด่า


เพราะฉะนั้นคำสรรเสริญหรือคำนินทา ถ้าเราไม่ยึดคำสรรเสริญหรือคำนินทาเป็นหลัก เราก็มีความสงบของจิตได้ เมื่อจิตสงบได้ดีก็เกิดประภัสสร เมื่อเกิดประภัสสรก็เกิดปัญญา ปัญญาที่ดีก็ทำให้จิตอิ่มเอิบ ก็ทำให้ร่างกายผ่องใส ไม่มีทุกข์ไม่มีร้อน

ดังที่ทุกวันนี้เกิดความทุกข์ความร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโน่นยึดนี่ ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม ถ้าเป็นอาตมาแล้วมีความเห็นว่า สากลจักรวาลโลกมนุษย์นี้ ทุกคนมีกรรม จึงมาเกิดเป็นสัตวโลก สัตวโลกทุกคนจะต้องใช้กรรมตามวาระตามกรรม ถ้าทุกคนจะถืออารมณ์ ก็เกิดจากการเข่นฆ่า เกิดการฆ่าฟันกัน เพราะอารมณ์แห่งการยึดอายตนะ

สิ่งเหล่านี้แหล่ มนุษย์ไม่สอนไม่พูดไม่พิจารณากัน จึงทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นในโลกมนุษย์มากขึ้น ฉะนั้นท่านที่จะมาเป็นสาวกของอาตมา เป็นสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ซึ่งอาตมาเป็นประธานอยู่นี้ ท่านจะต้องมีอารมณ์นิ่งเสียบ้าง แล้วจะดี ถ้าท่านไปติดในคำนินทา ติดพรรคพวก ติดหมู่คณะ ติดอะไรต่างๆ จะมีความสำเร็จความสามัคคีของงานไม่ได้ ในโลกนี้ ถ้าไม่มีการพูดกัน ก็ยิ่งแคลงใจกันมาก นี่เป็นธรรมดาของโลก

แม้แต่ศัตรูของเราก็ดี ถ้าเราเข้าไปคุยกับศัตรูด้วยการยิ้มแย้มแจ่มใสและด้วยความบริสุทธิ์ของจิต ศัตรูคู่อริก็จะกลายเป็นมิตรได้ นี่เป็นธรรมดาของธรรมชาติที่คนติดอารมณ์ แต่ถ้าท่านถือหลักแห่งความจริงของธรรมชาติแห่งธรรมะแล้ว ย่อมไม่ติดอารมณ์ เมื่อท่านไม่มีอารมณ์ยึดคำว่า “สรรเสริญ นินทา” ก็ไม่เห็นมันโผล่ออกมาให้ดูว่า “นี่เป็นคำสรรเสริญ นี่เป็นคำนินทา” เพียงแต่เป็นอารมณ์ที่มากระทบอายตนะหูเท่านั้น

อารมณ์อันนี้เกิดจากอารมณ์ฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ภายในแสดงออกทางปาก มากระทบหูของเราให้เราฟัง เมื่อเราฟังแล้วเก็บมาปรุงก็เกิดความฮึกเหิม ถ้าเราไม่ปรุงก็จะสบายใจ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเป็นคนที่มีอายุวรรณะ ผิวพรรณผ่องใส ก็อย่าไปถืออารมณ์ของคนอื่นมาปรุง จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สิ่งใดทำไปแล้วสัตวโลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือหลักความจริงของธรรมะ

อาตมาไม่อยากเทศน์ เพราะว่าเทศน์ไปแล้วก็เสีย เพราะเทศน์ไปแล้วก็อย่างนั้น มนุษย์ยังยึดกันมาก


“แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำฉันใด กิเลสตัณหาของมนุษย์ ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุดฉันนั้น”


“ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้ แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง ซึ่งไม่เหมือนกัน ย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก”


เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมะในชมพูทวีป พระองค์ตรัสว่า พระองค์กลัวคนที่มีอนุสัยสันดานเดิมที่นอนนิ่งเกาะกินอยู่มาเป็นกัปกัลป์แห่งชาติ ซึ่งสัตวโลกย่อมไม่เหมือนกัน ย่อมมีกรรม ย่อมมีภาวะ ย่อมมีอะไรต่างๆ เฉพาะตน เพียงแต่ว่าเขายอมพิจารณาตัวเอง ขัดเกลาสันดานของตัวเองหรือไม่


เพราะว่าสันดานนี่นะ ให้ใครขัดเกลาไม่ได้ เปรียบเสมือนหนึ่งคนที่ท้องหิว ไม่มีใครรู้ว่าท่านหิว ต้องตัวท่านเองจึงจะรู้ว่าหิว เมื่อตัวท่านรู้ว่าท่านหิว แต่ท่านไม่อ้าปาก เขาใส่ข้าวไปในปากของท่านได้ไหม ฉันใดก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้นเรื่องสันดานของคน จึงเป็นเรื่องที่แก้ยาก ตามพุทธพจน์ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่กลัวสัตว์ดุร้าย พระองค์ไม่กลัวมหาโจร พระองค์ไม่กลัวคนเคยชิน พระองค์ไม่กลัวสตรี แต่พระองค์กลัวคนที่มีสันดานเดิมที่นอนนิ่งเกาะกินอยู่มาเป็นกัปกัลป์แห่งชาติ

เพราะฉะนั้นผู้ที่จะดัดสันดานเดิมของตนที่ไม่ดี จะต้องหมั่นพิจารณาตนเอง จึงจะได้ผลและดัดสันดานที่ไม่ดีได้


เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕

การบูชาครู



อาตมาในฐานะเป็นประธานรับผิดชอบสำนักปู่สวรรค์ ขออนุโมทนาในกุศลที่ท่านทั้งหลายได้จัดขึ้น คือ การบูชาครูบูรพาจารย์


การบูชาครูนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามควรปฏิบัติ เพราะครูบาอาจารย์เป็นพ่อแม่คนที่สอง รองจากพ่อแม่ที่ให้กำเนิดแก่เรา ซึ่งสอนเราแค่การอยู่การกินการเดิน เรียกว่า เลี้ยงกายเนื้อและคอยดูแลเรา เมื่อเราเป็นเด็ก แต่พ่อแม่ที่ให้ปัญญา ให้ความรู้ ให้สมอง ให้เราเป็นคนนั้น เป็นพ่อแม่คนที่สองก็คือ ครู

เพราะฉะนั้น คนที่รู้จักบูชาครู รู้จักเคารพครู คนนั้นย่อมที่จะมีทางเจริญ ตามหลักของธรรมะถือว่า บูรพาจารย์เป็นผู้เลิศ เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ทำงานให้โลกเจริญ

ทีนี้ คนที่มาที่นี่มาจากปักษ์ใต้ก็มีมาก และบางคนถามว่า เหตุใดอาตมาจึงมาโลกมนุษย์ มนุษย์เรานี้การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เมื่อเราเป็นโรคทั้งกายและใจด้วยแล้ว จะทำให้สมองไม่ดี


ทีนี้ การที่จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายนี่ ตัวเราก็ต้องรู้จักรักษาตัวเรา อย่าให้อารมณ์ ๓ อย่างเข้าสิง อารมณ์ ๓ อย่างนี้ จะทำให้เราเป็นทั้งไข้กายไข้ใจและไข้อะไรๆ อีก ฉะนั้นเราต้องรักษาอารมณ์ของเรา คือ

อารมณ์ที่ ๑  อย่าให้มีตัวโทสะเกิดขึ้น
อารมณ์ที่ ๒  อย่าให้มีตัวโลภะเข้าแทรก
อารมณ์ที่ ๓  อย่าให้ตัวโมหะต้องกาย


ถ้าท่านรักษาอารมณ์ได้ โรคจะเข้ากายเราน้อยที่สุด ท่านก็จะมีสุขภาพที่ดีที่สุด และ
ขอให้ทุกคนอภัยซึ่งกันและกันในหมู่มนุษย์ และก็จะต้องมีความสามัคคีในหมู่มนุษย์ โดยคิดว่า ที่เราเกิดมานี้เท่ากับเรามาแลโลกที่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ให้มาใช้กรรม

ฉะนั้นวันนี้ผู้ที่มาด้วยใจและกายก็ดี ที่มาดูเล่นก็ดี ที่มาสังเกตการณ์ก็ดี ที่ไม่สามารถมาก็ดี ส่งกระแสจิตมาที่นี่ ทั้งเทพพรหมที่มาร่วมในพิธีนี้ อาตมภาพในนามประธานใหญ่สำนักปู่สวรรค์ขออนุโมทนา


ให้ท่านทั้งหลาย จงมีความสุขความเจริญ เทพพรหมที่อยากได้ฌานญาณสูงก็ให้ได้ฌานญาณนั้น มนุษย์ที่จะปฏิบัติให้ถึงธรรมก็ให้ได้ถึงธรรม ผู้ที่คิดว่าอดกินก็ให้มีกินจนเหลือกิน ขอให้สมปรารถนา แต่ไม่ใช่คิดในสิ่งไม่ดี คือให้ปรารถนาแต่สิ่งดี

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๔

ธรรมะเพื่อสันติสุข



เจริญพร

สานุศิษย์ทั้งหลาย วันนี้ก็เป็นวันนิมิตดีวันหนึ่งของโลกมนุษย์ ซึ่งท่านทั้งหลายตอนบ่ายก็ได้ฟังเหตุการณ์เรื่องราวของมนุษย์โลก และในขณะนี้เทวโลกก็กำลังประชุมเรื่อง เมืองเขมรแตกแล้วไทยจะเป็นอย่างไร คิดว่าทุกคนที่ฟังในตอนบ่ายนั้น ก็ให้เข้าใจว่า ขณะนี้สยามประเทศของเราตกอยู่ในฐานะอะไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร
คิดว่าทุกคนฟังแล้ว คงจะไม่ใช่ปล่อยทิ้ง หรือว่าแลไปแล้วก็ไม่แลต่อ

ปัญหาอย่างทางปักษ์ใต้ ทางปักษ์ใต้มันเป็นปัญหาเรื้อรังมานานตั้งแต่สมัยที่อาตมาอยู่ที่วัดช้างให้ เริ่มสร้างวัดช้างให้ คือทางนั้นเขาเรียกว่ามณฑลอยู่ทางใต้ จึงเป็นการที่เมืองหลวงแลไม่ถึง ดูแลไม่ถึงทั้งน้ำทั้งทะเล ทางนั้นก็ติดไปทางมลายู เมื่อมลายูเข้ามา ก็มาสอนในคัมภีร์อัลกูรอาน เขาก็พยายามสอนว่า ดินแดนแห่งนี้มันของมลายู

ถ้าจะพูดว่าเป็นดินแดนของใครนั้น มันก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เมื่อยุคสุโขทัยเรืองอำนาจ พ่อขุนรามคำแหงได้ตีตลอดแหลมมลายูถึงสิงคโปร์ ถ้าเราจะพูดเรื่องที่ดิน มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องต่อสู้จะต้องแย่งกัน ปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นเรื้อรังมานานหลายศตวรรษ

ทีนี้ ในปัญหาปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรให้มนุษย์มีกระแสจิตในการวาง ในการหยุดก่อเรื่องก่อราว หันมารวมกัน เพื่อพาจุดยุติให้เกิดสันติสุขในโลกมนุษย์ ปัญหาเรื่องคน คนย่อมจะมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสเข้าออกในด้านมนุษย์

ปัญหาเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ ของมนุษย์ เรานั้นจะทำอย่างไร เพียงแต่ให้เบาบาง อย่าพูดคำว่าหมดกิเลส ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ ตราบนั้นกิเลสตัณหายังต้องมีอยู่ในสังขาร ในสังสารวัฏ เพียงแต่อย่าให้ประมาท อย่ายึดในตน ให้รู้จักสังวรหนึ่ง ให้รู้จักสันโดษเพียงพอในตนที่มีอยู่หนึ่ง ถ้ามนุษย์ทั้งโลกยึดหลักแห่งการรู้สึกสังวรตน รู้จักสันโดษตนในขอบเขต ก็คิดว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นได้

ภาวะขณะนี้ในโลกมนุษย์นั้นเป็นภาวะ “กลางกลียุค” ภาวะที่อยู่ในกลางกลียุคเช่นนี้ การที่จะรวมฝ่ายธรรมะให้อยู่อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็เป็นเรื่องที่ยาก แต่ปัญหาที่ว่ายากน่ะ ทุกอย่างในโลกมนุษย์มันไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์ที่มีความจริงใจในการที่จะประกอบความดี
คือ เราจะทำความดี เราควรจะยึดในคติที่ว่า

ทำความดีเพื่อความดี
ทำความดีเพื่อคนอื่น
ทำความดีเพื่อความสุขของส่วนรวม


สิ่งเหล่านี้
ถ้าทุกคนมีกระแสจิตเข้ามาอยู่ในกระแสนี้ ก็ย่อมจะทำให้เกิดสันติสุขได้ การที่จะเข้าสู่กระแสนี้ได้ อยู่ที่การเผยแพร่ การพูด การอ่าน ซึ่งเราจะเป็นการที่จะออกไปสู่มนุษย์โลก เป็นกระแส “ประชาชนพลังธรรม”

เมื่อทุกคนรู้ว่า ขณะนี้สยามประเทศอยู่ในภาวะที่อันตราย เมื่อท่านรู้ว่าอันตราย แต่ถ้าทุกคนมาท่องแต่อันตราย แต่ไม่รวมกันทางสันติ มันก็ไม่มีทางพ้น เช่นในการที่ท่านเป็นชาวพุทธ ท่านท่องแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ท่องแค่นี้ ถ้าท่านไม่ปฏิบัติในศีล ไม่ทำสมาธิ ปัญญานี้ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ท่านจะต้องแข่งกับอันตราย ด้วยการสละความสุขของตน เพื่อขจัดอันตรายให้เป็นไม่อันตราย นั่นเป็นหลักที่ท่านควรที่สังวร อย่าฟังแล้วก็ผ่าน แลครั้งเดียวก็ไม่แล นี่ก็เป็นการที่ไม่ดี ฉะนั้นอาตมาก็หวังว่า คงจะเป็นคติให้ท่านคิด แล้วมีอะไรอีกไหม


เลขาธิการ –
ภาวการณ์ของเขมรจะแตกนี้ จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้างครับ หลวงปู่ครับ

หลวงปู่ทวด –
คือ ผู้นำ ถ้าเขานำทัพเข้ามา ภาษาชาวบ้านก็ว่า เป็นผู้ที่มีความแค้นต่อผู้นำฝ่ายไทยในอดีต และก็เป็นการที่เขาใช้เครื่องมือของฝ่ายที่โลกมนุษย์เรียกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าคิด ถ้าเขาทำสำเร็จ ท่านก็ต้องใช้สมองคิดว่า มันมีอะไรเกิดขึ้นในแผนงานที่เขาทำอยู่ มันมีมือที่จะมาเสริมของเขา มีทหารเข้าไปมาก ทหารต่างชาติ

(เทศน์เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๓

ความยิ่งใหญ่อันแท้จริง



หม่อมเจ้าชุมปกะบุตร ชุมพล ทรงอาราธนาธรรม

หลวงปู่ทวด - เจริญพร การทำงานทุกอย่างนั้น เราต้องทำด้วยหลักแห่งความเมตตาและเสียสละ คือทำด้วยหลักแห่งการไม่มีการยึดมั่นในอัตตา ทุกวันนี้โลกมนุษย์ยุ่งเหยิง ก็เพราะว่าโลกมนุษย์ยึดมั่นในอัตตา คือการทำอะไรก็แล้วแต่ มนุษย์ล้วนแล้วแต่ยึดในตน คือหากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มนุษย์ทุกคนต่างคนต่างมีกรรม ต่างคนต่างมีภาวะ ต่างคนต่างมีวิบาก แต่ทุกคนไม่แลตน แลแต่ความยิ่งใหญ่


ทีนี้ ท่านลองศึกษาลองดูรอบๆ ว่า อะไรเป็นความยิ่งใหญ่อันแท้จริง มนุษย์บางคนทำงานหวังมีทรัพย์ นึกว่าตนมีทรัพย์มากก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มนุษย์บางคนทำงานหวังมียศสมมติแห่งบัญญัติที่เขาแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าเมือง เป็นนายทหาร เป็นนายด่าน ก็นึกว่าสิ่งนั้นเป็นความยิ่งใหญ่ มนุษย์ทุกคนบางคนที่ทำงาน ก็นึกว่าตนที่มีอยู่ใหญ่ๆ มีอะไรใหญ่ๆ ก็เรียกว่าใหญ่ มนุษย์บางคนก็ยึดในตนว่า ฉันมีที่ดินมากๆ ก็เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่

การต่อสู้ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมมนุษย์แห่งความวุ่นวายนั้น ทุกคนหวังเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่แล้วไม่มีใครได้ใหญ่จริง ทีนี้ความยิ่งใหญ่อันถาวรจะมีได้อย่างไร อาตมาว่า มี แล้วอาตมาจะค่อยอธิบายให้ท่านฟังต่อไป

ในการฟังเทศน์นั้น ต้องมีความนิ่งของจิตและมีความวินิจฉัยในวาจาแห่งคำพูด แล้วต้องแลด้วยความสงบ ภาษาใต้เขาพูดว่า “แล” เช่น บางคนดิ้นรน ดิ้นรนจะเป็นนู่นเป็นนี่ เป็นโน่น เป็นเสนาบดี เป็นหัวหน้า ก็เป็นใหญ่ในตอนที่อยู่ในตำแหน่งเท่านั้น พอออกจากตำแหน่งก็ไม่ใหญ่ บางคนก็หวังจะขึ้นไปนั่งเมือง ตอนได้นั่งเมืองก็ใหญ่ แต่พอออกจากการนั่งก็ไม่ใหญ่ แล้วก็มีแต่เรื่องตามมา บางคนก็นึกว่า ฉันมีอำนาจแล้วใหญ่ มีเงินแล้วใหญ่ มีปืนแล้วก็ใหญ่


สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใหญ่ไม่จีรัง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหญ่แห่งอนิจจัง ใหญ่อย่างไม่เที่ยง ใหญ่อย่างไม่ถาวร ใหญ่อย่างไม่คงทน และการที่มนุษย์เกิดความวุ่นวายทั่วสรรพธุลีในโลกแห่งสมมติ เพราะต่างคนต่างมาเป็นใหญ่กัน

ที่นี้ ท่านอยากจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่เขาไม่ลืมง่ายไหม การเป็นนักการเมือง การเป็นเสนาบดี การเป็นรัฐบาล การเป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นอธิบดีก็ไม่ใหญ่ถาวร และบางคนใหญ่อย่างเขาจำยอมให้ใหญ่ ใหญ่อย่างไม่ใช่ชนะหัวใจเขา เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่า บุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่ท่านทั้งหลายกำลังหลง กำลังยึดอยู่ เขาอยู่เพียงชั่วขณะ ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักกบฏ เป็นนักปกครอง เป็นนักการเมือง เป็นนักการค้า เป็นเศรษฐี เป็นเสนาบดี เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ใหญ่แค่เป็นยุคๆ


แต่ใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ที่ใหญ่อันแท้จริงและใหญ่ชั่วนิรันดร มีใหญ่เป็นเวลายาวนานจนกว่าโลกสลาย คือการใหญ่อันแท้จริง ต้องใหญ่แห่งการเป็นนักปราชญ์

ทำไมอาตมาจึงบอกว่า ต้องใหญ่แห่งการเป็นนักปราชญ์เล่า? ท่านจะเห็นว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เป็นนักปราชญ์และเป็นบรมศาสดา พระองค์ได้สิ้นจากโลกมนุษย์ก็เป็นเวลา ๒,๐๐๐ กว่าปี ชื่อเสียงเกียรติคุณของพระองค์อันยิ่งใหญ่และใหญ่อย่างไม่ต้องมีคนบังคับให้นับถือ ใหญ่อย่างที่มีผู้นับถือด้วยหัวใจ ด้วยใจจริง รองมาก็คือ พระเยซูคริสต์ ถัดลงมาก็พระมะหะหมัด เล่าจื๊อ เต้าจื๊อ เหล่านี้ ต่อมาก็พระอริยสงฆ์และพวกที่เป็นพระเกจิอาจารย์ พวกนี้เขาเรียกว่า “ใหญ่ที่แท้จริง”

เพราะอะไรอาตมาจึงเรียกมนุษย์พวกนี้ว่าใหญ่ที่แท้จริงเล่า นักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ นักเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยิ่งใหญ่ พอสิ้นจากโลกมนุษย์ไม่นาน มนุษย์รุ่นอนุชนต่อๆ มา ที่มาใช้กรรมในโลกมนุษย์ก็ลืมไป แล้วก็มีเพียงส่วนน้อยที่จะศึกษาประวัติ แต่ว่า นักวิชาการ นักปราชญ์ นักลัทธิที่ตั้งขึ้นมาในศาสนา ในด้านนามธรรม ถึงแม้ว่ามนุษย์ในยุคที่มีนักปราชญ์และบรมศาสดายังคงมีสังขารอยู่ สิ้นจากโลกมนุษย์เป็นพันๆ ปี อนุชนรุ่นหลังเกิดมาก็ยังนับถือนักปราชญ์และบรมศาสดาอยู่

ท่านจะเห็นว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นพุทธสาวกก็ดี ผู้ที่เป็นชาวคริสต์สาวกก็ดี ผู้เข้ามาเป็นอิสลามมิกชนก็ดี หรือว่าผู้ที่เข้ามาเป็นในลัทธิใดลัทธิหนึ่งแห่งศาสนาก็ดี เขาเรียกว่า นามธรรมแห่งการนับถือนักปราชญ์นั้นๆ เขาเหล่านั้นเข้ามาด้วยศรัทธา เข้ามาด้วยความอยากรู้อยากเห็นถึงอัจฉริยะถึงความเป็นอยู่ของบรมศาสดาที่ตนศรัทธาจากนามธรรม


และใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ ใหญ่ในการสร้างสิ่งสมมติแห่งวัตถุในโลกมนุษย์ให้ยืนยาว แต่ก็ไม่จีรังเท่าความยิ่งใหญ่แห่งการอยู่เหนือหัวใจมนุษย์ที่เกิดมา

ฉะนั้นท่านทั้งหลายในการเป็นมนุษย์นั้น ที่วุ่นวายที่ยุ่งเหยิงทั่วสรรพธุลีในโลกมนุษย์ เกิดจากความอยากเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ ทีนี้การอยากเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่ไม่ถ่องแท้นั้น เพราะไม่รู้จักทางเลือก ก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่แบบร้อนๆ ใหญ่แบบใจเต้นไม่ปรกติ ใหญ่อย่างที่เรียกว่า ไม่มีความจีรังถาวร

ฉะนั้นตามทัศนะอาตมาแล้ว อยากให้ท่านทั้งหลายหาทางใหญ่อย่างใจไม่เต้น หาทางใหญ่อย่างจีรัง หาทางใหญ่อย่างมั่นคง คือใหญ่แห่งการศึกษาเข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงอมตธรรม เข้าถึงสัจจะถึงโลก และเรียนตนเป็นนักปราชญ์ ที่สืบต่อศาสนา ความยิ่งใหญ่อันแท้จริงอยู่ที่ “ต้องชนะใจของมนุษย์” ที่เราปกครองและเขายอมให้เราปกครองโดยศรัทธาเราอย่างจริงใจจากภายในออกสู่ภายนอก ไม่ศรัทธาเราแต่ปาก ใจไม่นับถือ

ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาศึกษาและมาฟังธรรมเตือนสติแห่งการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ อาตมารู้ว่า ขณะนี้ท่านโตกำลังวางแผนงานใหญ่ แต่ใหญ่ด้วยการสร้าง “ธรรมาวุธ” ขึ้นในประเทศสยาม ใหญ่อย่างที่กระตุ้นมนุษย์ให้เข้าสู่คุณธรรม ใหญ่อย่างให้มนุษย์มีอุดมการณ์และมีจุดแห่งความยึดในการดำรงชีวิต


ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผล ก็อาศัยท่านทั้งหลายที่รับตนเป็นกรรมการหรือเป็นอะไรนั้น ก็เรียกว่า เป็นทหารธรรมที่จะไปขยายไปดำเนินงานให้ลุล่วงให้ผลงานเป็นอมตะชั่วนิรันดร์

ขอยุติเพียงแค่นี้ อาตมภาพไม่มีอะไรจะเทศน์มากกว่านี้ เพราะอาตมามีคติยึดมั่นอยู่แล้วว่า “พูดมากเสียมาก พูดน้อยเสียน้อย ไม่พูดไม่เสีย นิ่งเสียโพธิสัตว์” และใคร่ขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลาย จงสัมฤทธิ์ผลในชีวิตแห่งการเป็นมนุษย์ และขอให้ท่านทั้งหลาย จงละจากกิเลสเข้ามาสู่ธรรมะและมีจุดแห่งการไปถึงนิพพานเถิด

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๒

ความเงียบที่น่ากลัว



ภาวะปัจจุบันอาตมารู้สึกว่า ท่านได้พยายามทุกวิถีทางในการขยาย กระจายแผนงาน เพื่อที่จะแข่งขันกับเวลาทันเหตุการณ์ ทุกคนก็คงรู้ว่า ท่านกำลังจะทำอะไร ขณะนี้ไฟกำลังจะไหม้ ท่านก็กำลังจะเดินเข้าไปทางไฟ แล้วก็จะดับไฟ แต่ว่าการที่จะเดินทางเข้าไปในกองไฟ แล้วก็จะดับไฟนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำง่าย โดยเฉพาะน้ำน้อย

เมื่อสถานการณ์ทั่วไปก็เรียกว่า เป็นสถานการณ์ของการเงียบ อย่างการอยู่ในป่าเรียกว่า “เงียบอย่างน่ากลัว” ในความเงียบย่อมมีความวังเวง มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในความเงียบ


สัตว์ป่าเมื่อเห็นศัตรู จะเข้าตะครุบศัตรู สัตว์นั้นก็จะเรียนเดินอย่างเงียบ เพื่อไม่ให้ศัตรูรู้ เพื่อการตะครุบ นั่นคือ “สัญชาตญาณของสัตว์ป่า” และในภาวะท่านจะเข้าหาไฟและดับไฟ แล้วก็ประกาศท้าทายไฟ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดมาก แต่ว่าทั้งนี้และทั้งนั้น ระดับสมองจะต้องเพิ่มมากขึ้นและมีความจริงจังกว่านี้

คำว่า “การไปฝึกปรมัตถธรรมนั้น” ท่านต้องเข้าใจคำว่า ปรมัตถ คืออะไร ปรมัตถเป็นธรรมะขั้นสูง ปรมัตถธรรม ธรรมะแห่งความหลุดพ้น ธรรมะแห่งความหลุดพ้นย่อมต้องไม่มีทิฐิมานะในอัตตาของตัวตนของการ “ยึด” เพราะว่า “ยึด” แล้วก็จะหลง และการทำงานนั้นคนหนึ่งจะอุดช่องรั่วทั่วประเทศ มันย่อมอุดไม่ไหวแน่ มันก็จะต้องให้มันรั่วบ้าง

ในเมื่อคนจำนวนมากเขาไม่รู้สึกตัวว่า “ภัยกำลังลุกเป็นไฟ” กรรมที่เขาสร้างกันเอง คนหนึ่งไปดุลกรรมคนทั้ง ๔๓ ล้านคน มันไม่ไหวแน่ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ขณะนี้ก็คิดว่า ท่านกำลังจะเข้าไปในกองไฟ ท่านก็ต้องมีไฟถือบ้าง และขอให้ทุกคนรับทราบขณะนี้ ท่านกำลังท้าทายไฟทั้งโลก


เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเพียงแค่ให้ท่านฟังแค่นี้ แล้วก็ให้ท่านไว้วินิจฉัย และการทำงานต้องเข้าใจว่า “ขณะนี้ทุกวินาทีมีค่ามาก” ถ้าท่านคิดว่าท่านจะครองความเป็นเอกราชของไทยและไม่อยากเป็นทาส

(เทศน์เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๑

อารมณ์ของสตรีในการทำงานใหญ่



สานุศิษย์หญิง – กราบนมัสการหลวงปู่เจ้าค่ะ ดิฉันขอกราบทูลถามว่า ดิฉันมีโครงการรวบรวมสานุศิษย์หญิงที่ร่วมตั้งสัจจะอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยทำงานศาสนา โดยจะพยายามคัดเลือกตัดสินอย่างยุติธรรม รับเฉพาะคนที่พร้อมตายด้วยกันได้เจ้าค่ะ ขอพระเมตตาหลวงปู่โปรดให้คำแนะนำด้วยเจ้าค่ะ

หลวงปู่ทวด – อารมณ์แห่งการทำงานของสตรี ก็ต้องเข้าใจว่า ทัศนะของอาตมาก็พูดแบบท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระว่า

สตรีเต็มไปด้วยอารมณ์ สตรีเต็มไปด้วยความหวั่นไหว สตรีเต็มไปด้วยความทิฐิของความพอใจไม่พอใจ สตรีเขาเรียกว่า ยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมไม่ออก อารมณ์คนเราเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายทั่วทั้งโลกตลอดเวลา ถึงแม้สตรีจะเป็นเพศมารดาก็จริง


แต่ในภาวะนี้ต้องเข้าใจว่า อยู่ในภาวะที่ท่านจะยึดอุดมการณ์ หรือยึดบุคคล หรือยึดอะไรในการทำงานใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดในลักษณะงานของการทำงานแล้ว งานศาสนาไม่ใช่งานราชการ ประเทศไทยจะพังก็เพราะระบบราชการที่ยืดเยื้อ ซึ่งทำไมระบบราชการไม่บริหารแบบสมัยเก่า เช่น ยุคพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น คือเรียกว่า มาปรึกษามาคุยกันสุจริตทั้งกายและใจ

ที่นี้ลักษณะของผู้หญิง เราจะถือว่าเราจะไปมองแง่ไหนว่าเขาทำผิด มองแง่ไหนว่าเขาถูก เรื่องนี้เป็นการพูดลำบาก จะเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่า คนนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ และจะเอาอะไรเป็นเครื่องวัดในอารมณ์การพิจารณาของมนุษย์ที่ตัดสินว่า นี่คือ “ความยุติธรรม”


เมื่อของมันอยู่ตรงกลาง คนอยู่ทิศเหนือมองของนั้นเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง คนอยู่ทิศใต้มองของนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสัจจะแห่งความเจริญมีอยู่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันมีดีก็ต้องมีชั่ว มีถูกก็ต้องมีผิด เพียงแต่มีส่วนใดมากน้อยเท่านั้น ที่เราจะมีความสามารถเลือกใช้ส่วนที่ดีของเขาได้

ทีนี้บางเรื่องนี่ มนุษย์จะเอาแต่อารมณ์ตัวเป็นใหญ่ คือ บางคนแบบเอาตามใจฉัน ฉันพอใจฉันก็ทำ ฉันไม่พอใจฉันก็ไม่ทำ และอาตมาขอเตือนให้เหล่าสตรีทั้งหลายหมั่นบำเพ็ญจิตว่า จงพยายามละลายกิเลสแห่งการเป็นคนเจ้าอารมณ์ เจ้าบทบาท เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย งดเว้นอารมณ์แห่งการจองเวรอาฆาตมาดร้าย นินทาความผิดของคนอื่น และพร้อมที่จะแผ่มหาเมตตา อันเป็นการฝึกให้จิตใจไม่คับแคบ มิฉะนั้นแล้ว สตรีก็จะทำงานใหญ่ไม่ได้

จะเห็นตั้งแต่โบราณกาลลงมา สตรีมีอำนาจเมื่อใด ส่วนมากประเทศนั้นหมู่คณะนั้น ก็ต้องฉิบหายล่มจมไม่ช้าก็เร็ว โดยไม่มีวันดีขึ้นได้ เมื่อสตรีเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายโลก จึงขอเตือนสติเพียงเท่านี้ และเตือนบุรุษทั้งหลายว่า จะทำงานร่วมกับสตรี ต้องมีจิตใจหนักแน่นและไม่หูเบา แล้วท่านก็จะทำงานกับสตรีได้

(วันเสาร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐)

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-5-18 23:33 , Processed in 0.554408 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.