แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมะสำหรับผู้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์และสานุศิษย์พระโพธิสัตว์ ; หลวงปู่ทวด [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๘

สังคมของมนุษย์



คืนนี้อาตมภาพขอเทศน์เรื่อง “สังคมของมนุษย์” การฟังเทศน์ก็ดี การเรียนธรรมะก็ดี การเรียนวิชาความรู้ก็ดี เราจะต้องฟังด้วยจิตแน่วแน่ พิจารณาตามไป และจะต้องรู้ว่าอะไรเป็น “หลัก” อะไรเป็น “ขยายความ”

คำว่า “สังคมมนุษย์” นั้น ขยายความตามหลักก็คือว่า มนุษย์ที่อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นคณะ และตัวเราปรับตัวให้เข้ากับคนหมู่มากต่อหมู่คณะ เสมือนหนึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมได้สำเร็จเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระองค์ได้ตั้งอาณาจักรแห่งธรรม คือ
สังคมธรรมะของพระองค์ ก็ได้พรรคพวกจากวิธีการเผยแพร่ความรู้ของพระองค์

สังคมใดก็ดี หมู่คณะใดก็ดี เขาย่อมมีหลักการและอุดมการณ์ของเขา ดังเช่นสำนักปู่สวรรค์นี่ อาตมภาพเป็นผู้บัญชางาน มีพวกเจ้าเป็นผู้ช่วยเผยแผ่การทำงาน อาตมามีหลักการหลักหนึ่ง คือ ทำการรักษาคนป่วย ส่วนคนที่จะมาศึกษาธรรมะ มาเรียนวิปัสสนากรรมฐานก็มาได้ สถานที่นี้บำบัดทุกข์ทั้งกายและใจ

ทีนี้คำว่า “สังคมมนุษย์” นั้นเป็นอย่างไร เราจะเข้าไปอยู่ในสังคมของเขา เราจะต้องทำตนอย่างไร คนที่จะมาร่วมสังคมของสำนักปู่สวรรค์เราจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร หลักมีอยู่ว่า ในการติดต่อกับมนุษย์ทุกคน เราจะต้องศึกษาในด้านจิตและวาทศิลป์ของฝ่ายที่มาติดต่อ หรือในการที่ตัวเราจะไปติดต่อกับเขา คือหมายถึง การที่บุคคลปฏิบัติต่อบุคคลโดยการติดต่อระหว่างกัน

ข้อแรก เราจะท่องขึ้นในใจว่า มนุษย์ทุกคนล้วนแต่นานาจิตตัง ต่างคนต่างมีความคิดของตัวเอง ต่างคนต่างมีอุดมการณ์ของตัวเอง สังคมแต่ละชั้นจึงไม่เหมือนกัน เช่น


สังคมของนักกฎหมาย ก็มีหลักนิตินัยนิติธรรมเป็นหลักหรือเป็นอุดมการณ์ พวกนักกฎหมายจึงต้องปฏิบัติตนตามระบบ คือนิติธรรมอันนั้นจะต้องศึกษาวินิจฉัยในนิติธรรมนั้นว่าเป็นอย่างไร ใคร่ครวญแล้วจะปฏิบัติตามกฎหมายที่วางไว้ในรูปอย่างไร ควรช่วยในกรณีใด เช่น ควรช่วย เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าคนนั้นบริสุทธิ์

สังคมของเจ้าเตี้ย หมายถึง ลูกศิษย์คนหนึ่งที่มาร่วมประชุม มันก็ว่ากูจะขายอะไรๆ นั้น จะขายไปได้เมื่อไรก็ได้ ขายได้ยิ่งมากยิ่งดี มันก็มีอุดมการณ์ของมันอย่างหนึ่งว่า กูผลิตให้มากๆ กูขายได้มากๆ กูได้กำไร เมื่อกูได้กำไรมากๆ กูก็กินน้ำเมาได้มากๆ มันก็เป็นอุดมการณ์สวรรค์ของเจ้าเตี้ย

สังคมนักการค้า ก็ต้องวางแผนการติดต่อว่าจะติดต่อในรูปการอย่างไร สิ่งนี้เราจะเจรจากับเขาอย่างไร ถ้าเราจะต้อง “มุสา” แต่มุสาในทางที่ชอบ การที่มุสาออกไปนั้น วาจาของเราเรียกว่า วจีกรรม สำหรับวจีกรรมนี้เป็นโทษหนักที่สุด วจีกรรมที่เราจะกล่าวออกไปนั้น เมื่อเรากล่าวออกไปแล้ว

หนึ่ง ฝ่ายที่เราติดต่อจะต้องไม่เสียหาย
สอง จะต้องไม่เสียหายแก่ตัวเราเอง


และไม่ใช่เพียงแค่นี้ เราจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คำพูดของเราคำนี้ในอนาคตกาลเป็นผลร้ายหรือผลดีต่อเรา เขาเรียกว่า สร้างมโนกรรมแล้วค่อยแสดงออกทางวจีกรรม คือเป็นคำพูดออกมา เพราะฉะนั้นก่อนที่จะพูดอะไรออกมานั้น จะต้องวินิจฉัยในใจก่อน แล้วค่อยพูดออกมา ทีนี้การที่เราจะคิดติดต่อกับเขา
เราต้องอย่าเป็นนักพูดมาก แล้วจงพยายามหัดเป็นนักฟังที่ดี

สมมุติว่า “ที่เราชวนเขาเข้ามาสำนักปู่สวรรค์ เราจะต้องฟังวาจาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นอย่างไร แล้วเราจะต้องวินิจฉัยคำพูดนั้นว่า เขาแสดงออกด้วยความจริงใจหรือแสดงออกด้วยอารมณ์ หรือว่าเราจะติดต่อการงานใดก็แล้วแต่ เราจะต้องพิจารณา แล้ววางหลักการอันใดอันหนึ่งที่จะไปหักล้างความเข้าใจเดิมของเขาให้เขาเชื่อถือ


คือ ให้ “เกิดศรัทธา” ไม่ว่าสังคมใดก็แล้วแต่ เราจะต้องคุยให้เขาเกิดศรัทธา ให้เขาโน้มเอียงมาทางเหตุผลของเรา เพราะว่าถ้าบุคคลฟังด้วยความเต็มใจ เมื่อฟังแล้วมักเชื่อตามเหตุผลที่ถูกต้อง

อาตมาเทศน์คืนนี้ก็เท่ากับท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎกทั้งหมดคือ มนุษย์ทุกคนต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเองและการโต้เถียงใดๆ ก็ดี มักลงเอยด้วยเหตุผลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าเหตุผลหรือคำพูดของเราที่ได้เลือกสรรมา ไม่สามารถหักล้างเหตุผลของเขาได้ เราก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้ ถ้าเหตุผลของเราหักล้างเหตุผลของเขาได้ เราก็เป็นฝ่ายชนะ นี่คือ “การต่อสู้ของโลกมนุษย์”

ทีนี้เราต้องฟังข้อหนึ่งว่า การที่เราจะเข้าสังคมใดก็แล้วแต่ ถ้าไม่จำเป็นแล้ว อย่าพยายามปฏิบัติตามคำว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ข้อนี้เป็นข้อที่ล้าสมัย ผู้ที่ไม่มีอุดมการณ์จึงจะใช้ข้อนี้ เพราะอะไรเล่า เพราะว่าเมื่อเราศึกษาธรรมะ เราเข้าใจธรรมะ เราจะต้องเป็นผู้ปรับปรุงสังคม ผู้ที่จะปรับปรุงสังคมนั้น คือผู้ที่จะเข้าไปทำให้สังคมเจริญในทางที่ดี ไม่ใช่คล้อยตามสังคม อาตมาจึงว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตาม”

ส่วนมากที่เราเข้าไปในงานเลี้ยงอะไรก็แล้วแต่สมัยนี้ เขาชอบกินเหล้ากัน เมื่อเขาเรียกให้เรากิน เราบอกว่าเราไม่กิน เขาก็ต้องถามว่า เพราะเหตุใดเราจึงไม่กิน เราจะแสดงวาจาอะไรออกไป เราก็ต้องคิดให้ดีเสียก่อน ดูซิพวกนั้นเมากันขนาดไหน ถ้ามันเพิ่งตึงๆ เราก็อาจพูดว่า


การกินสรุาเมรัยนั้น ท่านก็ย่อมรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเป็นสิ่งดี ศีลห้าย่อมไม่บัญญัติไว้ เช่น บุคคลหนึ่งเป็นคนสุภาพอ่อนหวานเป็นคนที่ดี ไปๆ มาๆ ก็ลงเจ้าเตี้ยทุกที เจ้าเตี้ยเมื่อมันยังไม่กินเหล้า ดูมันสุภาพมันพูดดี แต่พอมันกินเหล้า มันพูดอะไรก็ไม่รู้ มันพูดแหง๋วๆ การกินเหล้านี้ ทำให้เราเมาขาดสติ บางครั้งปฏิบัติการอะไรลงไป มันก็ทำให้ได้ผลไม่ดี

ถ้าเราเป็นเช่นนี้ เราจะเข้าสังคมใดก็แล้วแต่ ย่อมจะได้คำว่าเป็น “คนขี้เหล้า” คำว่า “ขี้” นี้เป็นคำที่ไม่ดีทั้งนั้น ขี้เหล้า ขี้เล่น ขี้เกียจ สิ่งที่ไม่ดี รู้สึกว่าทุกทุกคำมีแค่คำว่า “ขี้” เช่นนี้ทั้งนั้น คนขี้เหล้า คนขี้เล่น คนขี้บุหรี่ คนขี้กัญชา คนขี้ฝิ่น สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันจึงใช้เป็นคำขึ้นต้นสมมุตินามของคำพูดมนุษย์ หลักของภาษาสยามมันก็ขึ้นต้นด้วย “ขี้” เพราะฉะนั้น เราจะต้องคิดปรับปรุงให้ตัวเราเป็น “แก้ว” ไม่ใช่เป็น “ขี้” เราจะทิ้งสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ได้ไหม

ทุกคนที่มีการติดต่ออยู่ในสังคม อาตมาอยากจะให้ทุกคนหลังจากทำงานทุกอย่างเสร็จแล้ว คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ไม่ติดต่อกับใคร ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่าที่เราทำไปนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างไร สิ่งนั้นเป็นอย่างไร ทำถูกต้องหรือไม่ แล้วลงเอยด้วยรูปอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร


คือ ให้ปลีกตัว มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาเรื่องของตัวเอง อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มันเอาแต่เรื่องคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง เพราะฉะนั้น เราจงหาเวลามามองตัวเอง แล้วเราจะได้ทำอะไรผิดพลาดให้น้อยลง คือผิดพลาดน้อย

โดยที่เราคิดเสร็จแล้ว คิดอย่างใจเย็นๆ ว่า สิ่งที่ผิด เราจะต้องกาลงไปว่าผิด แล้วเราจะปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้น ถ้าเราผิด เราควรแก้ตัวใหม่ ไม่ใช่พอทำผิดแล้วก็บอกว่า เอ้อไม่ผิด ของเราถูก มันก็เข้าข้างตัวเอง

การติดต่อกับสังคมใดก็ดี การเข้าสังคมใดก็ดี ควรยึดหลัก ๒ ประการ คือ

หนึ่ง เราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้น
สอง เราจะต้องเป็นผู้ปรับปรุงสังคมนั้นให้ดีขึ้น


นักการค้าที่ดี นักการเมืองที่ดี นักธุรกิจที่ดี ควรจะสังวรในข้อนี้ เพราะว่ามนุษย์เราทุกคนอยู่ในโลกนี้ไปได้ไม่นาน ที่เขาเรียกว่า “มนุษยสัมพันธ์” ก็คือ มนุษย์จำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน


อาตมภาพมาสัมพันธ์กับมนุษย์ก็เพื่อที่จะมาช่วยมนุษย์ในเรื่องบางอย่าง พวกเจ้าก็ต้องช่วยเหลืออาตมาให้สำนักนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตบแต่งสังคมปัจจุบัน ให้พวกเจ้าไปคิดกันเอาเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะต้องพยายามทดลองเข้าไปคุยกับคนนี้ ที่เขาคุยออกมามีอะไรเป็นหลัก อะไรเป็นขยายความ แล้วนั่นแหละจะเป็นการลับปัญญาของเรายิ่งๆ ขึ้นไป เราจะได้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมมนุษย์ปัจจุบันเสื่อมลงมาก มันกำลังไปสู่อบายภูมิ ปัจจุบันเป็นเวลาแห่งกลียุค

อาตมภาพขอกล่าวเพียงแค่นี้ ขอให้พวกที่ฟังในวันนี้กลับไปใช้สัญชาตญาณการเป็นปุถุชน รู้จักพิจารณาหาเหตุผลและปฏิบัติตาม ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๙

ตามรอยองค์สมณโคดม



คืนนี้เป็นคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อย้อนไปในอดีตกาลสองพันกว่าปีก่อนนั้น สภาวะเวลานี้โลกมนุษย์ได้สูญสิ้นพระบรมศาสดาองค์สำคัญองค์หนึ่งในแคว้นภารตะ แต่โลกวิญญาณได้ต้อนรับดวงวิญญาณดวงหนึ่งซึ่งโลกวิญญาณส่งมาทำงานได้สำเร็จผลตามที่ได้กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นคืนนี้อาตมภาพจะขอเทศน์ในหัวข้อว่า "ตามรอยองค์สมณโคดม"

สภาพการณ์เวลานี้ ทุกคนในโลกมนุษย์ที่กล่าวว่า “ข้านี้คือชาวพุทธ” แต่หารู้ไม่ว่าการเป็นชาวพุทธนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศาสนาขององค์สมณโคดมในปัจจุบันนี้ เป็นวิถีการแห่งปลายกลียุคของโลกมนุษย์ อยู่ในระหว่างเข้าใจผิด ตีธรรมะขององค์สมณโคดมไปในทางที่ผิด


อย่างเช่น พระภิกษุในปัจจุบันก็ดี ฆราวาสในปัจจุบันก็ดี นักบวชในปัจจุบันก็ดี ทั้งบรรพชิตและฆราวาสโดยมากถือในหลักแห่งการติด หนึ่งติดในนิกาย สองติดในปรมัตถ์ บ้างติดในพระสูตร บ้างติดในพระวินัย แต่หารู้ไม่ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้เกิดจากอะไร

กฎเกณฑ์เหล่านี้ เช่น พระวินัยก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ศีล ๑๐๘ ก็ดี ศีล ๒๒๗ ก็ดี ศีลเท่าไหร่ก็ดี เกิดจากสภาวะแห่งผู้ที่เข้ามาในศาสนาขององค์สมณโคดมไม่ปฏิบัติตามหลักแนวทางขององค์สมณโคดมที่วางไว้ จึงบัญญัติวินัยเหล่านี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักของพระสูตร ซึ่งเป็นการสอนในระหว่างบุคคลที่ฟังเข้าใจในสูตรนั้นๆ


เพราะฉะนั้น โลกมนุษย์เวลานี้หลงอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งสภาวะอันนี้แหล่ ไม่คิดไม่นึกว่าพระไตรปิฎกเกิดขึ้นมาเพราะอะไร

การที่พระไตรปิฎกเกิดขึ้นมา ก็เพราะเหล่าอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย เหล่าเกจิอาจารย์ทั้งหลายก็ได้รวบรวมคำเทศนาสั่งสอนขององค์สมณโคดมรวมไว้ในทางอรรถกถาบ้าง ในทางฎีกาบ้าง หลังจากองค์สมณโคดมได้ปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๓ พรรษา แต่หารู้ไม่ว่าโลกในปัจจุบันนี้ คนทุกคนเข้าใจว่าคำเทศน์เหล่านั้นเป็นขององค์สมณโคดม องค์สมณโคดมได้เทศน์เอาไว้ยังมากกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่รวบรวมไว้ไม่พร้อม


และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันนี้ กฎขององค์สมณโคดมที่วางไว้ไม่เสื่อม แต่มนุษย์เสื่อม การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ของมนุษย์ทุกวันนี้ ติดนิกาย ติดอาจารย์ ติดพรรค ติดพวก ติดเหล่า ติดคณะ เพราะอะไรเล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณีการบวชในกรุงสยามนั้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่รู้ว่าเป็นหลักของใคร เพราะอะไรเล่า

เมื่อสองพันกว่าปีก่อนนั้น ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิตนั้น ถือว่าสละแล้วซึ่งโลกียะเพื่อบำเพ็ญไปสู่ในหลักแห่งโลกุตระ เพื่อหลุดพ้นแห่งวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิดนั้น


แต่หารู้ไม่ว่า ปัจจุบันนี้การบวชแก้บน บวชสามเดือนบ้าง บวชสิบห้าวันบ้าง บวชสิบวันบ้าง เหล่านี้แหละ ทำให้พุทธศาสนาของเราเสื่อม เพราะคนเรามองไม่เข้าใจ กฎอันนี้อาตมากล้าพูดว่า องค์สมณโคดมไม่เคยบัญญัติเลย ว่ามีบวชแก้บน มิฉะนั้นจะมีพระอรหันต์ พระอนาคามีหรือ เพราะว่าบวชแล้วต้องบวช หมายถึง เราสละแล้ว

ทีนี้สภาวะนั้น เหล่าฆราวาสทั้งหลาย ถ้าอยากจะบวชสามเดือน บวชสิบห้าวันนั้น อาตมาอยากจะขอร้องว่าอย่าไปบวชเลย เสียข้าวของ เสียผ้าเหลืองเปล่าๆ ถ้าจะบวชจริงๆ ก็ให้ “บวชใจ” หรือกักบริเวณบำเพ็ญของตนเอง ถือแบบพระจริงๆ โดยไม่ต้องไปโปรดสัตว์ไปบิณฑบาตก็ได้ เรียกว่า บวชจริงๆ บวชทางใจ


การบวชแก้บน คือ การที่บางคนไปห่มผ้าเหลือง ห่มแล้วกลับมากลับเป็นคนไม่ดี เพราะอะไรเล่า เพราะคนในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วรู้เพียงแค่ละอองของพุทธะ ไม่รู้ว่าพุทธแท้เป็นอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักแห่งความจริงแล้ว ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง อาตมาอยากจะบอกว่า ไม่ต้องไปศึกษาพระไตรปิฎก ไม่ต้องไปศึกษาอรรถกถาฎีกาใดๆ ทั้งนั้น ควรจะศึกษากายในกาย ควรจะศึกษาสังขารในสังขาร ควรจะศึกษาวิญญาณในวิญญาณ เพราะอะไรเล่า เพราะว่านี่คือหลักแห่งความจริงที่องค์สมณโคดมวางไว้

ทีนี้ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธแบบพุทธของโลกียะ อยากให้เขาถือว่า ฉันนี่แหละรู้เรื่องพระพุทธศาสนา เรียกว่าเอาแค่ชนะการพูดนั่นก็ควรศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ายิ่งศึกษาตำรายิ่งยุ่ง ยิ่งไม่รู้เรื่อง ถ้าจะศึกษาในหลักธรรมะอรรถกถาฎีกาต่างๆ หรือหลักธรรมะที่เกจิอาจารย์คนนี้บัญญัติไว้ เกจิอาจารย์คนนั้นบัญญัติไว้แล้ว ทั้งชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ศึกษาไม่จบ เพราะตำราทั้งหลายเกิดสะสมกันขึ้นมา เพราะฉะนั้นยิ่งศึกษาก็ยิ่งฟุ้งซ่าน

การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง หรือการตามรอยองค์สมณโคดมที่แท้จริง คือ การปฏิบัติ การพิจารณากายในกาย การพิจารณาธรรมในธรรม การพิจารณาวิญญาณในวิญญาณ การพิจารณาสังขารในสังขาร นี้แหละผู้นั้นจะเดินตามรอยองค์สมณโคดมที่แท้จริง


และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า “บวช” นั้น หมายความว่า ตัดแล้วซึ่งโลกียะ ไม่ยุ่งแล้วซึ่งโลกของโลกียะ บวชตัวเพื่อที่จะบำเพ็ญให้ถึงจุดพุทธะ แล้วเอาหลักแห่งการบำเพ็ญถึงจุดแห่งพุทธะที่องค์สมณโคดมได้วางไว้ มาเผยแพร่สอนคนอื่นต่อไป

แต่ทุกวันนี้
รู้สึกว่าโลกของศาสนาพุทธกำลังไปสู่กาลแห่งความเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าบรรพชิตต้องอยู่ในปกครองของฆราวาส บรรพชิตจะต้องมีการตั้งตำแหน่งอะไรทั้งหลาย ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก่อให้จิตฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะบำเพ็ญไปตามองค์สมณโคดมไม่สมควรหลงในตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์เจ้าคุณเจ้าอะไรที่เขาตั้งกัน

เมื่อสมัยที่อาตมาอยู่ ณ กรุงศรีอโยธยา ได้รับตำแหน่งเป็นพระสังฆราชในวงศ์ของพระรามาธิบดีที่ ๒ อาตมาได้เป็นสังฆราชอยู่ ๓ พรรษา อาตมาหนีตำแหน่งสังฆราชไปสร้างวัดที่ปัตตานี เพราะอะไรเล่า


เพราะว่าทีแรกๆ เราก็ไม่รู้ นึกว่าเป็นสังฆราชเราก็ต้องทำตามแบบองค์สมณโคดม จะไปไหนๆ หรือไปในวังเราก็เดินไป แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ท่านเป็นสังฆราชเดินไปไม่ได้ ต้องให้คนแบกไป นั่งเปลอะไรก็ไม่รู้ สองคนแบกกันไป อาตมาก็คิดในใจว่าแย่แล้ว พอเป็นสังฆราชก็กลายเป็นคนป่วย เดินไม่ได้ ต้องให้เขาหาม ทีนี้ถ้าเราขืนหลงอยู่ในตำแหน่งนี้ เราก็ยิ่งฟุ้งกันใหญ่ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร อาตมาเลยหนีไปจำพรรษาอยู่ ณ น้ำตกทรายขาว

วิถีการพิจารณาของอาตมาที่บำเพ็ญอยู่นั้น อาตมาไม่ได้มีอะไร อาตมาเริ่มด้วยการเพ่งน้ำในน้ำตกว่า น้ำนี้ไหลมาอย่างไร มาจากจุดใด มาอย่างไร ไปอย่างไร จึงรู้ว่ามันเป็นน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรม มิฉะนั้นองค์สมณโคดมจะไม่เทศน์เอาไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้นั้นรู้เอง”

อีกจุดหนึ่งที่มนุษย์ไม่ยอมสนใจ คือ ไม่สนใจค้นกายในกายของตนเอง สิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “พุทธะ” นั้นอยู่ในกาย ถ้าจิตของผู้นั้นสามารถค้นเข้าไปถึงกายในกายอันบริสุทธิ์ สิ่งนี้ภาษาทางโลกเรียกว่า “พลัง” ชนิดหนึ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่รู้จักค้นออกมาใช้ เพราะอะไรเล่า


ทำไมเราจึงถามเหตุใดองค์สมณโคดมจึงสามารถระลึกชาติได้ เพราะมีบุพเพนิวาสานุสติญาณ มีอนาคตังสญาณ หรือมีญาณอะไร สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องไปรับรู้ เราไม่ต้องยุ่ง เราต้องไม่ไปคิดถึงว่าเราจะได้ฌานโน้นฌานนี้ หลักของการปฏิบัติอันหนึ่งมีอยู่ว่า เราจะยึดอะไรเป็นสรณะของการเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

คำว่า “กรรมฐาน” นั้นหมายถึง การกำหนดจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อรวมพลังจิตไม่ให้ฟุ้ง รวมพลังของจิตอันนั้นไม่ให้ฟุ้งแล้ว รวมอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งรวมจนได้อารมณ์แห่งการ ปีติ คือนิ่งเฉยแห่งจุดนั้น เมื่อนั้นให้ขึ้นวิปัสสนา

“วิปัสสนา” คือ ให้พิจารณาในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอนัตตา “อนัตตา” คือการเดินทางไปสู่โลกแห่งนิพพาน โลกแห่งอรหันต์ โลกแห่งโพธิสัตว์ โลกแห่งอนาคามี โลกเรานี้เป็นโลกแห่งอัตตา ทำอย่างไรเราจึงจะไปสู่จุดแห่งการเป็นอนัตตา (ไม่ใช่อัตตา) ได้


กฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ไม่รู้จักกี่ภพไม่รู้จักกี่ชาติ ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งการเป็นมนุษย์ เมื่อไม่มีที่สิ้นสุดแห่งการเป็นมนุษย์ มันก็เวียนอยู่นี่ วนอยู่นี่ โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะหลุดออกจากคลื่นอันนี้ มันแสนจะลำบาก แสนจะเหนื่อยยาก


จึงหาวิธีการปฏิบัติ พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมชาติเคลื่อนไปสู่ธรรมชาติ แต่เราจะบำเพ็ญไปสู่นิพพาน คือ สามารถทำจุดใดจุดหนึ่งให้เหนือธรรมชาติ นี่คือภาษาของหลักแห่งธรรมะ ซึ่งฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ เมื่อผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นรู้เอง

สิ่งใดที่เราแทงทะลุปรุโปร่ง มีจุดเริ่มแรกจุดหนึ่งซึ่งเรียกว่า จิตได้ฌาน เมื่อจิตได้ฌานแล้ว เราจะทำสิ่งใด เราก็สามารถรู้โดยจิตที่ได้ฌาน คือสภาวะแห่งธรรมชาติอันนั้นมีให้เราใช้ เพราะอะไรเล่า เพราะว่าธรรมชาติมีกฎของมัน กฎแห่งการลงโทษ กฎแห่งการปลดปล่อย กฎแห่งความอิสระ ฉันใดก็ฉันนั้น


วิธีการนี้แหละจึงทำให้รู้ว่า การที่จะเดินตามรอยองค์สมณโคดมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ตำรา ไม่ใช่อยู่ที่เป็นนักพูด เราพูดมากแล้วเราเก่ง หาใช่สิ่งเหล่านี้ไม่

ถ้าจะเดินตามรอยองค์สมณโคดม ขั้นแรกแห่งการเป็นปุถุชน ก็ต้องปฏิบัติในหลักศีล เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในหลักแห่งความเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้ว ให้ขึ้นสู่จุดแห่งปัญญา คือ เอาสมาธิพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ถึงพลังแห่งความสำเร็จของมัน


สิ่งนี้ถ้าเปรียบเทียบกับทางโลกก็มีอยู่สองทาง สุดยอดของนิพพานคือ ละจนถึงที่สุด สุดยอดของความรักคือ เพิ่มกิเลสจนถึงที่สุด ทั้งสองทางนี้รวมกลุ่มเดินของมันแข่งกันไป ถ้าสภาวะนั้น ผู้นั้นจิตอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถึงจุดอันหนึ่งมันก็เป็นความสำเร็จของมัน คือ สำเร็จทางโลกียะหรือโลกุตระ เหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่แท้จริงขององค์สมณโคดม

ผู้ที่จะเดินตามรอยองค์สมณโคดม ต้องละหลง ละโกรธ ละชอบ ละโน่นละนี่ ละเสียงกลิ่นรส ละโภชนาหาร ฉันได้ทุกอย่างเหลืออยู่แต่ความสามารถรักษาอารมณ์แห่งจิตนั้นให้เป็นจิตนิ่ง แล้วใช้จิตแห่งการปีตินิ่งนี้พิจารณาทั้งของการจุติของสรรพสัตว์ทางโลก นั่นแหละจะถึงจุดแห่งความสำเร็จ คือเป็นผู้ที่เดินตามรอยองค์สมณโคดม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ที่จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ก็ควรจะปฏิบัติในกฎแห่งการ

พิจารณากายในกาย
พิจารณาธรรมในธรรม
พิจารณาวิญญาณในวิญญาณ
นั่นแหละคือสานุศิษย์อันแท้จริงขององค์สมณโคดม


เจริญพร


(เทศน์ในวันวิสาขบูชา

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ เวลา ๒๓.๓๕ น.)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๐

ความสามัคคี



เจริญพร

วันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันแห่งองค์สมณโคดมได้ประกาศให้มีพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ พระอนาคามีขึ้นในโลกมนุษย์ และเป็นวันที่อาตมภาพได้รับการสถาปนาแต่งตั้งจากพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงอโยธยา ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ แห่งแผ่นดินอโยธยา


การที่จะโปรดสัตว์นั้น ถ้ามนุษย์ยังไม่มีจิตเข้าซึ้งถึงธรรม มนุษย์นั้นก็ย่อมที่จะติดในด้านวัตถุ จุดแรกแห่งความเสื่อมในโลกมนุษย์นี้ เกิดจากมนุษย์ไม่มี “สามัคคีธรรม” เพราะเหตุใดเล่า อาตมาจึงเทศน์ดังนี้

ดังเช่น ในวิถีการศาสนาก็ดี มีการแบ่งสมมติสงฆ์ เป็นค่าย เป็นเหล่า เป็นคณะ เป็นหมู่ การแบ่งเหล่า การแบ่งหมู่ การแบ่งคณะนั้น เป็นสภาพการณ์ของการไม่ได้ปลูกความกลมเกลียวในหมู่ชนแห่งมนุษย์ในโลก จึงเกิดความยุ่งเหยิงขึ้น เพราะฉะนั้น เราเป็น “สำนักธรรมะแห่งโลกวิญญาณ”  

เราจะทำอย่างไร จะทำให้ความสามัคคีแห่งธรรมสงบและมีความสันติบรรลุถึงจุดแห่งความสำเร็จในโลกมนุษย์ ถ้าในหมู่ใดคณะใดก็ตาม แม้แต่ประเทศชาติที่ตั้งคณะทำงานเพื่อส่วนรวมก็ดี เพื่อส่วนตัวก็ดี ถ้ามนุษย์ผู้ใดในหมู่มนุษย์เหล่านั้นไม่มีความยึดมั่นในความสามัคคีของหมู่ของคณะแล้วไซร้ กิจการในการบริหารของประเทศก็ดี ของสงฆ์ก็ดี ของสำนักก็ดี ย่อมไม่มีความสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายของอุดมการณ์

ในสภาพการณ์นี้แหละจะทำอย่างไร จึงจะทำให้เหล่ามนุษย์มีความสามัคคีดำรงตนอยู่ในสัมมาทิฐิเห็นชอบ เพราะว่า เหล่ามนุษย์นั้นมีตัว “เจ้าโลภะ” เข้าครอบงำ บางคนมี “เจ้าโทสะ” เข้าครอบงำ เมื่อมนุษย์ผู้ใดมีตัว “เจ้าโทสะและเจ้าโลภะ” มาพบกันในกายมนุษย์แล้ว มนุษย์ผู้นั้นย่อมไม่รู้จักความอิ่มและความพอในตัวตน เมื่อไม่มีความอิ่มและความพอในตัวตน ก็ย่อมมีความหิวโหยเกิดขึ้น ดั่งเหล่าผีเปรตทั้งหลาย

ทีนี้จะทำอย่างไรให้มนุษย์รู้ตนและเข้าใจตน คือ ต้องให้มนุษย์หยุดและพิจารณาตน สภาพการณ์แห่งการพิจารณาตนนั้น ก็ใช้หลัก “ความเป็นอริยะ” ซึ่งประกอบด้วยศีลและมรรค ๘ เป็นเบื้องต้น ในการพิจารณาตนจะต้องมี “สติสัมปชัญญะ” ให้พร้อมควบคุมตนให้สงบ


เพราะเหตุใดองค์สมณโคดมจึงวางหลักแห่งการปฏิบัติฌานก็ดี ปฏิบัติญาณก็ดี ว่าจะต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน จึงขึ้นไปสู่วิปัสสนา

แต่ทุกวันนี้ มนุษยโลกถูกวัตถุนิยมปกปิดและการยกยอปอปั้นของมนุษย์ด้วยกันที่ยกตนจนเลิศลอย ดังเช่น สมมติสงฆ์ บางคนเป็นสมมติสงฆ์แต่ผ้าเหลือง จิตใจนั้นไม่ได้เป็นสงฆ์เลย เพราะเขาไม่ได้อบรมจิต มนุษย์ผู้นั้นย่อมไม่มีความสงบและการครองผ้ากาสาวพัสตร์ก็ย่อมร้อน


ทีนี้จะทำอย่างไร ให้ความสันติเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ได้ ก็จะต้องใช้หลักธรรมทั้งหลายตีเข้าไปในหมู่ชนเพียงกลุ่มน้อยที่กุมบังเหียนโลก เมื่อมนุษย์ที่กุมบังเหียนโลกรู้จักตน รู้จักพอ เขาก็ย่อมไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่โลก

ทุกวันนี้ “กฎแห่งธรรมในธรรมชาติ” ถูกมนุษย์เปลี่ยนแปลงโดยการสร้างวัตถุ โดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร การสนองของวัฏฏะ เป็นการสนองกรรมของกรรมเทียม ก็เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย “ไม่รู้ซึ้ง” ในหลักแห่งความเป็นจริงของความเป็นคนนั่นเอง

นโยบายและอุดมการณ์ของโลกวิญญาณ ที่จะทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ ก็ต้องการให้เหล่ามนุษย์ที่จะเข้ามาเป็นลูกมือ ได้เข้ามาฝึกจิตของตนให้มีพลังอันแน่วแน่ เพื่อที่จะร่วมกันโปรดสัตว์ต่อไป


เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๑

การทำบุญ



เจริญพร

สานุศิษย์ทั้งหลาย คืนนี้เป็นคืนวันพระ อาตมาจะเทศน์ “เรื่องการทำบุญ”

อะไรเรียกว่า “บุญ” อะไรเรียกว่า “การทำบุญ” และเมื่อทำบุญแล้ว จะได้อะไรจากการทำบุญ การทำบุญในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี โลกมนุษย์ปัจจุบันนี้ มนุษย์ส่วนมากทำบุญเพื่อหวังผลที่จะได้ชื่อเสียง ได้ลาภ ได้เกียรติยศ


เราเป็นพุทธสาวก เป็นพุทธบริษัท การทำบุญที่ดีที่สุด คือ เราช่วยเหลือเขาในสิ่งที่เขาเริ่มทำ โดยเราช่วยเหลือเขา โดยพิจารณาด้วยสามัญสำนึกของการเป็นมนุษย์ปุถุชนว่า สิ่งที่เราควรจะช่วยหรือไม่

และระหว่างเราทำบุญนั้น เราไม่ต้องคิดอะไร จงอธิษฐานในการทำบุญนั้นว่า สิ่งนี้ข้าฯ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขอให้ข้าพ้นทุกข์ ขอให้การกระทำข้าฯ สนองข้าฯ ในชาตินี้หรือชาติหน้าเถิด การทำบุญเราไม่จำเป็นจะต้องทำด้วยการหวังผลในปัจจุบันหรืออนาคตกาล ส่วนมากสังคมในปัจจุบันนี้

มนุษย์ใจบาป มันมีมาก
นักบุญใจบาป มันมีแยะ


และการทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จะต้องทำด้วยความศรัทธา ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย แต่ส่วนมาก สังคมปัจจุบันของมนุษย์ล้วนแต่จะดูไปก่อนว่า สิ่งนั้นเขาทำไปในรูปอย่างไร เมื่อเขาทำลงไปแล้ว มันอยู่ได้ เขาก็จะไปผสมโรงกันเป็นส่วนมาก แต่ระหว่างที่จะก่อตั้งมานั้น รู้สึกว่าผู้ที่จะร่วมมือมันน้อยเต็มที นี่คือสัญชาตญาณของมนุษย์ปัจจุบันนี้


การทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ อย่าทำด้วยความอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อนนั่นแหละ มันจะพาไปสู่ทางหายนะ เมื่อเราเกิดอารมณ์ร้อน เราจะไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจงอย่าทำ นั่งให้จิตใจสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งนั้นไปได้โดยสะดวก อาตมาได้เทศน์ไว้แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่สำเร็จ

ทุกอย่างมีกาลเวลาแห่งการสำเร็จของผลงาน แต่ไม่ใช่นั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ แล้วก็รอให้ทุกอย่างสำเร็จๆ อย่างเช่น พวกบ้าหวังลาภ ยศ ขอให้มีเงินทองไหลมาเทมา แต่ไม่ทำงานเลย มันจะเกิดผลขึ้นได้อย่างไร เพราะทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุแล้วจึงเกิดผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ


เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงจะรู้ซึ้งถึงพระพุทธศาสนานั้นสอนให้เราอยู่ในหลักกฎแห่งกรรม คือ ใครทำดี ดีสนอง หมั่นสร้างกุศล ท่านจะดีแล เพราะอะไรเล่า ทำดีดีจึงสนอง ผลแห่งการกระทำที่ทำลงไป มนุษย์ไม่รู้แต่เทวดาย่อมรู้ เราทำด้วยจิตที่เรียกว่า จิตสงบ ทำโดยถือว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ผลของการกระทำนั้นคือ ถ้าทำดี เราก็ได้ผลดี ถ้าทำชั่ว เราก็ได้ชั่ว เรียกว่า หว่านพืชหวังผล เมล็ดพืชชนิดใดย่อมเกิดผลชนิดนั้น เช่น

สมมุติง่ายๆ ว่า เราได้นั่งวิปัสสนากรรมฐานหนึ่งก็ดี ผลแห่งการกระทำของเราก็ย่อมดี ถ้าไม่เชื่อก็จะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทำบุญในใจ ด้วยการสวดมนต์แผ่เมตตา ก่อนนอนก็ดี ตื่นเช้าก็ดี เรานั่งสวดมนต์แผ่เมตตาถึงพรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก นรกโลก ทุกรูปทุกนาม จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด เราท่องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ แล้วจงดูซิว่า การติดต่อการงานของเรามันจะเป็นอย่างไร


รับรองว่าไปไหน อาตมาบอกได้ว่า วิญญาณมนุษย์นั้นละเอียดยิ่งกว่าอณูปรมาณู วิญญาณมนุษย์เสมือนหนึ่งน้ำ ซึ่งเป็นของเหลวที่เราจะจับขึ้นมาไม่ได้ แต่เราเห็นเป็นน้ำ เมื่อเราตั้งจิตดี จะเกิดดวงวิญญาณจิต ถ้าไฟในดวงวิญญาณจิตของเราบริสุทธิ์ จะสามารถต่อดวงไฟในจิตทุกๆ ดวงได้

จิตเราตั้งมั่นแผ่กุศลทุกๆ ดวง ทุกๆ รูป ทุกๆ นาม ผลแห่งการตั้งจิตแน่วแน่ที่เรียกว่า ปณิธาน หรือการตั้งจิตแผ่เมตตา เมื่อจิตเรามีเมตตาบริสุทธิ์มอบของดีให้เขา เหมือนหนึ่งสมมุติง่ายๆ เช่น


เราให้ของเขากิน คนที่กินย่อมคิดถึงเราว่า อ้อ คนนี้เป็นคนดี คนนี้เขาให้เรากิน คนนี้รู้ว่าเราไม่มีจะกิน นั่นแหละ ผลก็คือ จิตของเขาระลึกถึงบุญคุณของเราไว้ และเขาหากาลเวลาตอบแทนเรา ถ้ามนุษย์ที่ไม่รู้บุญคุณของผู้อื่น มนุษย์ผู้นั้นทำการงานย่อมไม่ขึ้น เขาเรียกว่า อกตัญญูอกตเวที

ทีนี้ทำไมเมื่อเราแผ่เมตตาให้ทุกรูปทุกนามแล้ว เราไปติดต่องานต่างๆ ย่อมสะดวก เพราะอะไรเล่า เพราะว่ากายในรับทราบ จิตเราบริสุทธิ์ต่อผู้อื่น ผลสะท้อนของดวงจิตประสานกันได้ เรียกว่า กายในรับทราบ


ทีนี้เมื่อเราได้กรรมฐานแล้ว ถ้าเราจะใช้กรรมฐานนั้นไปในทางที่ชั่ว เช่น บีบรัดเขาก็ดี เห็นผู้หญิงคนนี้สวย คิดจะเอามาเป็นเมียก็ดี ใช้หลักกรรมฐานบังคับจิตก็ดี ผลที่ฝึกมาก็ย่อมเสื่อม แต่ถ้าเสื่อมแล้ว เราก็อย่าถืออัตตาทิฐิ แม้ถืออัตตาทิฐิมันก็ต้องตายไปทั้งนั้น

เพราะอะไรเล่า พุทธองค์ได้สอนให้มนุษย์ไว้ว่า ผลแห่งการกระทำนั้น ต้องสนองต่อเรา เพราะฉะนั้น อาตมาจึงอยากให้ทุกคนที่ได้ฟังคำเทศน์ของอาตมาแล้ว อย่าลงความเห็นเชื่อ ณ บัดนี้ เพราะว่าต้องการจะให้ไปใช้สัญชาตญาณตัวเองคิดเสียบ้าง

พระพุทธองค์ได้เคยเทศน์ให้แก่พระอนุรุทธะว่า


“อนุรุทธะ สิ่งที่ตถาคตกล่าวไปนี้ เจ้าเชื่อหรือไม่”


พระอนุรุทธะตอบว่า…..


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์สอนมานั้น ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เชื่อ พระเจ้าข้า”

องค์สมณโคดมซึ่งเป็นผู้สำเร็จ ได้ตรัสว่า..…


“อนุรุทธะ เจ้าได้ปัญญาแล้ว”

เพราะอะไรเล่า การเทศน์ของอาตมาก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่อาตมาเห็นในรอบจักรวาลนี้มีมาก ซึ่งพวกเจ้านั้นจะไม่ได้เห็นไม่ได้พบสิ่งเหล่านั้น ตถาคตเทศน์สิ่งเหล่านั้นให้ฟัง เจ้าก็ยังไม่ได้เห็นไม่ได้พบ ขอให้เจ้าจงอย่าได้เชื่อ จนกว่าได้เห็นได้พบสิ่งนั้น จึงค่อยลงความเห็นเชื่อลงไป นั่นแหละคือ ผู้ที่ปฏิบัติทางญาณที่แท้จริง

ถ้าเป็นพวกเราพูดอย่างนั้นอย่างนี้ อีกคนหนึ่งจะว่าอย่างไร จริงหรือไม่ ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะพูดว่า “โอ๊ย ไม่เชื่อ ไม่จริง” มันก็ต้องลงไปเตะปากกัน แต่ผู้สำเร็จเขาย่อมไม่ทำอย่างนั้น

ศาสนาใดๆ ก็ดี ล้วนแต่เดินไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางแห่งความสำเร็จ คือ “ความสุข” ยอดของทุกข์ คือ “ความสุข” พุทธศาสนาไม่บังคับ เพราะองค์สมณโคดมเล็งเห็นการณ์ไกล ซึ่งไม่เหมือนศาสดาองค์อื่นๆ ซึ่งใช้กฎบังคับ นั่นเป็นเพียงแต่เทวะมาเกิด หาใช่มาปรับปรุงสังคมมนุษย์ไม่ ท่านเหล่านั้นแต่ศึกษาธรรมะ ธรรมะที่แท้จริง คือ “ธรรมชาติ”

ผู้ที่จะศึกษา “ธรรมชาติ” นั้น จะต้องศึกษาธรรมะ ไม่ต้องไปศึกษาพระไตรปิฎก ธรรมะอยู่ที่ขันธ์ห้าของเรา กายเรามีอะไรเป็นใหญ่เป็นประธาน ก็คือใจ กายเรามีอะไรเป็นเครื่องมือของใจ ก็มีสมอง กายเรามีอะไรเป็นเครื่องมือของสมอง ก็มีตา หู จมูก ลิ้น ซึ่งรัฐบาลในกายเรานี้มีครบทุกอย่าง เมื่อตาเราเห็น เรียกว่า จักขุวิญญาณ กระทบรูป รูปเป็นสมมตินาม ตาได้กระทบ ได้รายงานเข้าทางประสาท ประสาทได้รายงานเข้าทางใจ ว่าได้พบเห็นสิ่งนี้ จะทำอย่างไรต่อ ใจก็สั่ง

ถ้าผู้มีสมาธิก็สั่งด้วยฌาน ถ้าผู้ไม่มีสมาธิก็สั่งด้วยโมหะ โทสะ โลภะ คือ “อารมณ์แห่งความหลง” ซึ่งจักขุวิญญาณนั้นรายงานมาทางประสาท ประสาทรายงานทางใจนั้น มันเร็วกว่ายิ่งกว่าอะไรๆ เอาปรอทวัดไม่ได้หรอก ไม่ทันการรายงานของสังขารทั้งห้านี้


ทีนี้ทุกอย่างอยู่ที่มันจะทำ ใจมันก็สั่ง สมมติว่าเราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งสวย ประสาทตานั้นได้เห็น ก็เข้ามารายงานทางประสาทรวม คือสมอง และก็รายงานเข้ามาทางใจว่า บัดนี้เห็นสาวคนหนึ่งสวยมาก ทีนี้ ถ้าใจเราอยู่ในอารมณ์หลง คือปรุงแต่ง หรือถ้าใจเราไม่ปรุงแต่ง เราย่อมบอกว่า ถึงสวยก็รับรู้ว่าสวยเท่านั้นเอง

ทีนี้ มนุษย์ทุกๆ คน ยิ่งๆ หนุ่มด้วย มันชอบปรุงแต่งว่า คนนี้สวยดี มันน่าจะมาเป็นภรรยาของเรา ถ้าเรายิ่งปรุงแต่งใจว่าสวย เราก็ตามไป ใจก็สั่งขาซึ่งเป็นกระทรวงคมนาคมให้เดิน ทีนี้ใจเราวินิจฉัยว่า ผู้หญิงที่นุ่งกระโปรงนี้สวย แล้วเราก็ไปดูคนแก่ว่า เมื่อแก่แล้วเป็นอย่างไร อาตมาได้เทศน์ไว้แล้วว่า คู่แท้ย่อมไม่คลาดแคล้วกัน มันก็จะมีกาลเวลาแห่งการพบกัน ไม่ใช่เห็นสวยๆ ก็ตามยิกๆ ไป พอตามไปถึง บางทีก็ถูกผู้หญิงด่า ก็ต้องหน้าแห้งเดินกลับไป

เพราะฉะนั้น การทำอะไรควรวินิจฉัย จะเป็นการทำมาหากินก็ดี การหาทรัพย์ก็ดี การกระทำทุกอย่างอยู่ที่ขันธ์ทั้งห้า เรามีกระทรวงทุกกระทรวงอยู่ในกายเราอยู่แล้ว กระทรวงคมนาคมคือเท้าสองข้างของเรา ที่จะเดินไปหาอะไรก็ได้ กระทรวงพาณิชย์หรือที่เรียกว่ากระทรวงการค้า มันก็อยู่ที่มือของเราปากของเรา กระทรวงตากระทรวงหูของเรานี้ก็คอยรายงานทุกอย่างอยู่ในขันธ์ห้านี้ และทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถือว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งของตน นั่นคือหลักแห่งสัจธรรมของพระพุทธศาสนา

เพราะอะไรเล่า อาตมาจึงว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน เราจะสมมติง่ายๆ ว่า เราหิวข้าวนั้น ตัวเราหิวใช่ไหม คนอื่นจะรู้ว่าเราหิวหรือ เราหิวข้าว ตัวเราหิวก็ต้องขวนขวายหามากินเอาเอง ถ้าเราไปบอกคนอื่นว่า เราหิวข้าว บางทีอาจจะไปพบคนที่ไม่เคยหิว ไม่รู้จักคำว่าหิวข้าวเป็นอย่างไร เพราะว่าเขาเหล่านั้นเคยอยู่แต่ในความสุข เคยแต่อยู่ในกามคุณ ย่อมไม่รู้ชีวิตอันแท้จริงของการเป็นมนุษย์

อาตมาได้เทศน์มาคืนนี้ ก็มีเพียงเท่านี้


เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๒

ทางสามแพร่ง



การที่อาตมามาวันนี้ก็เพียงแต่มาพูดหลักธรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ปัจจุบัน ภาวะมนุษย์ปัจจุบันที่เกิดมาเจริญเติบโต แล้วกำลังเดินอยู่ในทางสามแพร่ง

ทางสามแพร่งในโลกมนุษย์คืออะไร ก็คือ ทางโลกียะ ทางโลกุตระ และทางขันติ คืออยู่เฉย ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็คือ ทางนรก ทางสวรรค์ และทางนิพพาน


ในปัจจุบันนี้ ทางไหนเป็นทางที่เด่นที่สุดในสังคมโลกมนุษย์ อาตมาคิดว่า ทางเด่นที่สุดในสังคมโลกมนุษย์ในขณะนี้ ในยุคนี้คือ ทางนรก เพราะอะไรเล่า เมื่อท่านออกจากชายคาบ้านของท่านสู่ถนนพื้นพิภพที่มนุษย์สร้าง ก็ล้วนแต่มีสิ่งที่ยั่วยวนกิเลสตัณหา ท่านจะเห็นว่าทางแห่งนรกกำลังเจริญก้าวหน้าเข้ามาสู่ ตา หู จมูก ลิ้น และสู่กาย ใจ ตลอดทางที่ท่านเดินทางมาจะเห็นว่า มีโรงเหล้าสุราทุกหนทุกแห่ง

แล้วมนุษย์ก็อยู่ในภาวะที่กิเลสเข้าครอบงำจนต้องตามกัน ทุกคนรู้ว่าเหล้าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ทุกคนก็อดไม่ได้ ทุกคนรู้ภาวะแห่งความตายคืบคลานก้าวหน้าเข้ามาหาตน แต่ทุกคนก็ไม่ละความเห็นแก่ตัว คือ ตัวโลภของตน เพราะอะไรเล่า ก็เพราะอารมณ์แห่งตัวหลงได้เข้าสู่ในภาวะจิตอันบริสุทธิ์ของคนแล้ว ทีนี้ภาวะวิบากของมนุษย์ทุกคน ก็มีอารมณ์ผุดเข้าผุดออกของนรก สวรรค์ นิพพานสับเปลี่ยนอยู่ในจิตใจของตนแทบทุกรูปทุกนาม

ในขณะนี้ สานุศิษย์ก็กำลังประสบทางสามแพร่ง ทางหนึ่ง คิดจะมาร่วมมือกับท่านโต ทางหนึ่งก็คือ เรื่องส่วนตัวเป็นใหญ่ ทางหนึ่งก็คือ ที่จะมาทำงานในสำนัก ทางหนึ่งก็คือ คิดถึงกิจการของตน ทีนี้ปัญหาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่น่าคิดสำหรับการเป็นมนุษย์ในกลางกลียุคเช่นนี้


เราทำงานทวนกระแส ท่านคิดว่าจะไม่ถึง หรือภาวะที่จะฉุดเขาไปสู่ทางสวรรค์นิพพานมากกว่าดิ่งสู่นรก ตามทัศนะของอาตมา อาตมาเชื่อมันสมองท่านโตว่าเป็นไปได้ ถ้ามนุษย์ที่เอาจริงกับท่านมีเพียงพอ ทุกๆ คนต่อสู้อยู่ในสังคมมนุษย์เพื่ออะไร เพื่อความสุขใช่ไหม แต่ถ้าท่านหันเข้ามาสู่คำว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นคืออะไร สุขที่แท้จริงก็คือนามธรรม คือใจ

ทุกวันนี้มนุษย์ประสบความทุกข์ เพราะไม่เข้าซึ้งถึงจุดสุดยอดแห่งนามธรรม นามธรรมคือ “ละ” การไม่เข้าซึ้งถึงความเป็นอยู่ของตัวเองว่าต้องการอะไร จึงได้เกิดความทุกข์ทุกหย่อมหญ้า ถ้าทุกคนหันมายึดมั่นธรรมะว่า มนุษย์เกิดมาล้วนแต่มีกรรมของตนเป็นหลัก ครอบครัวที่เราเกี่ยวข้อง ผู้ที่มาเป็นลูกเป็นหลาน ที่มาเป็นผัว ที่มาเป็นเมีย ที่มาเป็นพ่อ ที่มาเป็นแม่ ก็มีกรรมของตนที่มาเสวย


ถ้าเรารู้จัก “ละ” ด้วยการเตรียมตัวก่อนตาย คือรู้แน่ว่าทุกคนจะต้องตาย มีชีวิตอยู่ไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตาย ตายก่อนจะดีหรือไม่ ถ้าทัศนะของอาตมาแล้ว จากกันระหว่างเป็นดีกว่าจากกันระหว่างตาย

เพราะอะไรเล่า ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสังคม ถ้ารู้จักคิดว่า วันหนึ่งเรากินเพียงสามมื้อ มื้อหนึ่งกินไม่เกิน ๒ ชาม ก็อิ่มแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายมีใจทำงานทวนสังคม ผู้ที่นั่งอยู่ในที่นี้ส่วนมากทำได้ เพราะทุกคนในด้านวัตถุแล้ว ตามญาณทัศนะของอาตมาตามการรับรู้จากศูนย์รวมกรรม ทุกคนมีวัตถุเกินมี


ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างไม่ยึดปัจจัย ๔ เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า เราใส่อย่างไม่ต้องเอาตัวไปฝากกับสังคม ชุดหนึ่งใส่มันจนขาด ก็คิดว่าชุดหนึ่งใส่ได้เป็นหลายๆ ปี ถ้าท่านไม่ยึดสี ยึดสวย ยึดงาม เมื่ออาตมาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์จนกระทั่งอาตมาสิ้นจากโลกมนุษย์ อาตมาใช้อัฐบริขารจีวรตั้งแต่บวชถึงตายเพียง ๔ ชุดเท่านั้น

ฉะนั้น ท่านคิดว่าท่านจะทำงานเพื่อสังคมมนุษย์ ท่านคิดว่าท่านจะทำเพื่อศาสนา ท่านคิดว่าท่านจะกู้เอกราชของชาติไทยแล้ว ท่านสามารถนุ่งห่มเสื้อผ้าที่ปะได้หรือไม่ ถ้าท่านเอาตัวไปฝากไว้กับสังคม เมื่อไม่มีรถนั่งแล้วทำงานไม่ได้ ถ้าพูดความจริงกันแล้ว ธรรมชาติสร้าง “ตีน” ให้มนุษย์เดิน ให้ทำได้ทุกอย่าง


ถ้าเราไม่มีใจแห่งความ “ละ” ถึงปรมัตถธรรม เราก็ยืนลังเลอยู่ในทางสามแพร่งนี้จนกระทั่งตาย ก็ไม่ได้ทางใดทางหนึ่งที่จะไป

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๗)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๓

กฎแห่งอนัตตา



ชีวิตสัตวโลกเป็นอนิจจัง แต่ละคนที่เกิดมาเป็นสัตว์ประเสริฐนี้ ถ้าจะนับว่าเป็นกุศลก็เป็นกุศล จะนับว่าเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล เพราะว่า

กุศลนั้นหมายถึง เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ที่เรียกว่าสัตว์ประเสริฐนี้ มีหนทางฝึกฝนด้านบำเพ็ญฌาน การบำเพ็ญญาณก็เพื่อไปสู่โลกแห่งความหลุดพ้นคือ โลกุตรฌานหรือสำเร็จเป็นพรหมเบื้องสูง

ที่ว่าเป็นอกุศลก็คือ มนุษย์บางจำพวกไม่ใช้สมองให้เป็นประโยชน์ แล้วก็เหลิงในการภาวะกรรมที่ตนครอบครอง หลงในเกียรติที่สมมุติ หลงในยศถาบรรดาศักดิ์ที่โกหกกัน

เมื่อมนุษย์แบกสิ่งโกหกอยู่ในตัว คิดว่านั่นคือความเจริญและเป็นสิ่งสำคัญ มนุษย์ผู้นั้นก็ตกอยู่ในกองทุกข์ เพราะเมื่อท่านได้เกียรติที่คนโกหกให้ท่านมีเกียรติ ท่านต้องทำทุกวิถีทางที่จะต้องโกหกตัวเองเพื่อรักษาคำว่า “มีเกียรติ” ไว้ นี่คือทุกข์ นี่คืออกุศล และเกียรติเป็นสิ่งพอกพูนให้ร่างกายของท่านเกิดความหนักอกหนักใจกับสิ่งที่ไม่เป็นเรื่อง เมื่อท่านตกอยู่ในภาวะที่มีเกียรติ ท่านมีทุกข์มากในการวางตัว ในการอยู่ในสังคม ในการเข้าหมู่คณะ

ทีนี้มนุษย์บางจำพวกที่หลงในเกียรติจนลืมตน ถือว่าตนเป็นผู้มีอำนาจ คิดว่าจะไม่ตาย เมื่อคิดว่าตัวไม่ตาย ก็เกิดอัตตาทิฐิในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็เกิดกรรมวิบากขนาดหนักกับมนุษย์ผู้นั้น เมื่อถึงวาระถึงคราวดวงตกก็อยู่ในอกุศลวิบาก เกิดความทุกข์มากขึ้น


ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่า ทุกอย่างในโลกนี้เป็นอนิจจัง อนัตตา ถ้าท่านจะมีความสุขที่สุด ท่านต้องพยายามเป็นผู้ไม่มีเกียรติ ไม่ยึดเกียรติและไม่หลงเกียรติ เพราะสิ่งที่เป็นความสุขอันแท้จริงนั้นคือ “นามธรรม” แต่มนุษย์ไม่พยายามคิดค้นในด้านนามธรรม มนุษย์คิดหลงอยู่ในด้านวัตถุธรรม จึงติดความประมาท เมื่อเกิดความประมาทขึ้น สิ่งที่ท่านติดว่าจะเป็นไปไม่ได้ก็จะเป็นไปได้

มนุษย์บางจำพวกมีอัตตาทิฐิ เกิดอารมณ์ ถืออารมณ์ของตัวเป็นใหญ่ จึงไม่มี “ขันติ” ขันตินำความสุขมาให้ท่านได้ ขันติคือความอดทน อดทนต่อคำพูดของมนุษย์ทั้งดีและชั่ว ก็จะนำความสงบมาให้ท่านได้ แต่ถ้าท่านไม่มีขันติ ท่านหลงในอัตตา ท่านยึดในตัวตน ท่านก็เกิดความทุกข์


ดังตัวอย่างเช่น คนที่ด่าท่าน เขาด่าด้วยโทสะครอบงำ เขาจึงด่าท่าน แต่ท่านถูกตัวโมหะครอบงำท่าน ทำให้ท่านเกิดปฏิกิริยาขึ้น เรียกว่า “ตัวหลง” ภาวะนี้ก็จะสามารถทำให้หลงในสิ่งที่เรียกว่า “จุดเล็กไปจุดใหญ่กับฝ่ายตรงข้าม”

ในขณะนี้สังคมมนุษย์ตกอยู่ในภาวะที่ทุกเหล่าล้วนแต่ถูกตัวโทสะโมหะครอบงำ เมื่อทุกเหล่าถูกตัวโทสะโมหะครอบงำ ความยุติธรรมในสังคมมนุษย์ย่อมไม่มี แต่ความยุติธรรมและสัจธรรมในอีกโลกหนึ่งคือ “โลกวิญญาณ” โลกวิญญาณไม่มีคำว่าญาติ ไม่มีคำว่ามิตร โลกวิญญาณมีศูนย์รวมกรรม ใครสร้างกรรมดีก็จะเสวยกรรมดีนั้นๆ ใครสร้างกรรมชั่วก็จะเสวยในกรรมชั่วนั้นๆ

ฉะนั้นในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นมนุษย์ ที่เรียกว่ากุศลส่งให้เกิดก็ได้ อกุศลส่งให้เกิดก็ได้ จงพยายามระลึกถึงพุทธพจน์ ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท แล้วก็ตั้งตนอยู่ใน “ตนนั้นแหล่เป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนี้แหล่เป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้ท่านหลุดพ้นจากวัฏฏะได้


ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเล่า” เพราะวาระสังขารได้สิ่งปฏิกูลบำรุงปฏิกูลเพื่อใช้ขันธ์อยู่ให้จิตวิญญาณมาใช้กรรม ถ้าท่านมีเพื่อนมีหมู่คณะที่รักท่าน เอาข้าวมาให้ท่านถึงหน้า แต่ท่านไม่ยอมอ้าปาก ข้าวนั้นก็เข้าปากท่านไม่ได้ “นี่แหละคือความจริงที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เริ่มแสดงให้ท่านเห็น ถ้ามีเพื่อนใจดีงัดปากกรอกข้าวใส่ปากท่าน แต่อวัยวะของท่านไม่ยอมช่วยตนเอง คือไม่ยอมกลืน เมื่อถึงภาวะนี้ก็ไม่มีใครช่วยท่านได้อีกแล้ว

ในขณะนี้ทุกอย่างในโลกมนุษย์กำลังเข้าสู่ความสลาย กำลังเข้าสู่หายนะ ท่านที่ได้อ่านธรรมะนี้ ขอให้ท่านจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และขอให้ทุกคนจงพยายามทำ “สติปัญญา” ให้ดีเข้มแข็ง ต้อนรับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ ส่วนตัวของท่านให้เข้าซึ่งถึงกฎแห่งอนัตตา คือ


ทุกอย่างต้องสลาย
เมื่อมีเกิดขึ้นก็ต้องมีสลาย


เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๔

วิบากกรรมของประเทศ



การที่จะประกาศตัวรับใช้สังคมแห่งสัตวโลกนั้น จะต้องมีลูกมือทำงานอย่างจริงจัง และถ้าจะทำงานโกยสัตวโลกกันจริงแล้ว อาตมาขอถามท่านว่า พวกทำงานจะเลือกทาง “โลกียะ” หรือ “โลกุตระ”

คนที่จะเดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกียะไม่ได้ คนที่เดินทางโลกียะ ย่อมจะสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกียะและโลกุตระง่ายแล้ว ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดมต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ถ้าเป็นไปได้ พระองค์ก็เป็นทั้งมหาจักรพรรดิทั้งธรรมราชาไม่ดีหรือ แต่มันเป็นไปไม่ได้

โลกของโลกุตระและโลกียะเดินคู่ขนานกัน เราต้องตันสิน ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ อย่างอาตมา ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้าน มองอย่างผิวเผินแล้วอาตมาเป็นคนอกตัญญู แม่ของอาตมาอายุ ๔๔ จึงจะมีลูกคืออาตมา อาตมาเป็นลูกชายคนเดียว พ่อของอาตมาเป็นอิสลาม แต่อาตมาเมื่อเห็นพระสวดมนต์ก็คิดว่าดี จึงไปขออนุญาตพ่อแม่บวช อยากบวชดูว่ามันจะเป็นอย่างไร


พอบวชแล้วบารมีเก่าช่วยให้ไม่อยากสึก ทั้งพ่อและแม่มาร้องไห้ที่หน้ากุฏิ อาตมายืนยันว่าไม่สึกก็ไม่สึก จึงหนีจากจะทิ้งพระ (ตำบลหนึ่งในจังหวัดสงขลา) มาที่สงขลาทั้งที่แม่แก่แล้ว อายุตั้งห้าหกสิบ ตอนเป็นเณร แม่อายุห้าสิบกว่า เมื่ออาตมาเป็นพระ แม่อายุหกสิบกว่าแล้ว อาตมาทิ้งทั้งพ่อแม่มาอยู่สงขลา ไม่ไปมองไม่ไปแลเลย แล้วเดินทางไปเมืองอโยธยา

การทำงานเพื่อส่วนรวมบางอย่างต้องยอมเสียสละ อาตมาคิดแล้วเห็นว่า “นี่เป็นทางหลุดพ้นได้ เป็นทางที่จะให้เราไปสู่สวรรค์ได้ ถ้าเราติดพันกับพ่อแม่แล้ว ตลอดทั้งชาติก็ไม่มีทางจะสำเร็จได้” เราเกิดมาเพราะมีกรรม เราเกิดเป็นลูกเขาก็เพราะกรรม จึงได้มาเป็นลูกเขา เขาเป็นพ่อแม่เรา มีเราเป็นลูกคนเดียว เขาก็มีกรรม ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร อาตมาสบายแล้วก็ช่วยพ่อแม่ไปสู่สวรรค์ได้ นี่เป็นตัวอย่างให้ท่านคิด

มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง กล่าวถึง “กลียุค” ในประเทศพม่าเมืองหงสาวดี ขณะนั้นแผ่นดินไร้ประมุขปกครองแผ่นดินว่างกษัตริย์ บุราณกาลเขาถือว่า คนที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะต้องเป็นคนบุญหนัก จะต้องเป็นคนของสวรรค์ส่งมาและไม่เมาอำนาจง่ายๆ อำมาตย์ทั้งหลายได้ประชุมกันว่า เอาอย่างนี้ดีไหม เราปล่อยหงส์ไปตัวหนึ่ง ถ้าหงส์ตัวนี้ไปเกาะใคร เราจะเชิญคนนั้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน


เมื่อปล่อยหงส์ไป หงส์ตัวนั้นก็บินมาที่เมาะตะมะ มีพระภิกษุสงฆ์สองรูปกำลังพูดกันถึงเรื่อง “กลียุค” ภิกษุรูปหนึ่งพูดว่า “ถ้าฉันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉันจะบูรณะบ้านเมืองให้อาณาประชาราษฎรมีความสุข จะไม่ถือทิฐิ ไม่โลภ ไม่มีโทสะ จะไม่ให้อำนาจฝ่ายต่ำครอบงำ จะปกครองด้วยความเป็นธรรม

ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็บอกเพื่อนว่า “ถ้าฉันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉันจะมีเมียมากๆ จะกินเหล้าเมาสุราทุกเช้าเย็น จะสะสมเงินทองสร้างปราสาทให้หรูหรา”


มันเป็นกรรมของพม่า หงส์ที่เขาปล่อยมา จึงบินไปเกาะบนบ่าของพระภิกษุที่ไร้สัจธรรม อำมาตย์ก็เชิญภิกษุผู้ไร้สัจธรรมองค์นั้นไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ภิกษุนั้นบอกกับเพื่อนว่า “เห็นไหมมันเป็นยุคของฉัน ฉันก็จะทำตามที่พูดไว้ คือเมื่อฉันมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉันจะต้องเมาสุรา มีเมียมากๆ” นี่เป็นวิบากกรรมของประเทศ

ทีนี้พูดถึงอนุสัยของมนุษย์ ท่านเคยอ่านหนังสือพระไตรปิฎกหรือเปล่า มีพระธรรมบทหนึ่งกล่าวว่า มีชายสองคนเป็นเพื่อนกัน ต่างคนต่างอธิษฐานว่า “ถ้าเธอได้เป็นเทวดาหรือว่าเธอได้ดี เธอได้ไปสวรรค์แดนนิพพาน ก็อย่าลืมฉันที่ยังไม่สำเร็จมาช่วยโปรดฉันด้วย” ชายสองคนตั้งจิตอธิษฐานเหมือนกันอย่างนี้ เมื่อต่างคนต่างตายจากโลกมนุษย์ ชายคนหนึ่งได้เป็นเทวดา อีกคนหนึ่งไปเป็นหนอนอยู่ในกองขี้  

คนที่เป็นเทวดาก็มามองๆ ดูเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ได้ตกลงกันไว้ว่า ถ้าใครสำเร็จได้ไปสู่ทางที่ดีต้องมาบอกกัน ต้องมาช่วยกันให้ไปในทางที่ดี เมื่อมองลงมาเห็นเพื่อนที่เกิดเป็นหนอนอาศัยอยู่ในขี้ ก็ลงมาบอกเพื่อนที่เป็นหนอนอยู่ในขี้ว่า


“เธอเป็นหนอนอยู่ทำไม ไปเป็นเทวดาดีกว่า อยู่ในเทวโลก เขามีทิพยอาหาร นึกอะไรนึกจะกินอะไรในวิมานอาหารก็ลอยมาให้กิน”

เพื่อนคนนั้นมีอนุสัยไม่ดีบอกว่า “ไม่เอาน่ะ ฉันเป็นหนอนที่สบาย ไม่ต้องไปนึกอะไร ตื่นเช้าก็มีคนมาปล่อยให้ฉันกินไม่ต้องนึก” นี่เรียกว่าอนุสัย

เพราะฉะนั้นการโปรดสัตว์ ท่านต้องระลึกว่า “บางคนมีอนุสัยแบบหนอน คือไม่อยากเป็นเทวดา” เราก็อย่าไปพูดให้มันเหนื่อย ขอให้ท่านถือเป็นคติประจำใจ เมื่อพบกับผู้มีอนุสัยแบบนี้ว่า

พูดมาก     เสียมาก
พูดน้อย     เสียน้อย
ไม่พูด       ไม่เสีย
นิ่งเสีย      โพธิสัตว์


เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๕

ระวังภัย



ขณะนี้เหตุการณ์ของประเทศไทย ทุกอย่างมันเชี่ยวและแรง เขาจึงถามความเห็นว่าควรทำอย่างไร

อาตมาก็บอกว่า เมื่อฝ่ายธรรมะมันหลับอยู่ ก็ควรให้มันตายไปกับกระแสน้ำเสียบ้าง เพราะความสบาย ความยึดตน เราจะไปทะนงว่าเรามีตั้งสี่สิบล้าน ผู้นำเรายังกินเหล้าเมายา ยังอยู่ในห้องที่สบาย และอาตมาพูดที่นี่เป็นเวลาหลายปีแล้ว ก็รู้สึกว่าเฉยๆ เพราะว่ายังไงๆ เทวดาต้องช่วย ถ้าเกิดเทวดาไม่ช่วยท่านจะทำยังไงบ้าง

ฉะนั้นอาตมาจึงว่า เพื่อให้เขาเกิดเรื่องกันขึ้นบ้าง ใครมีไหวพริบดีก็ชิงจังหวะไป ถ้ากรรมฝ่ายธรรมะไม่หนัก ก็คงจะชิงและปรับปรุงเหตุการณ์ได้ ถ้ากรรมฝ่ายธรรมะหนักก็ชิงไม่ได้ ก็จะเกิดกลียุคขึ้นมากขนาดหนัก แล้วตอนนี้คิดว่า เราจะช่วยได้ก็ช่วยไป ถ้าเราช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อย

ถ้าท่านไม่เชื่อ เวลานี้ท่านออกจากที่นี่ เดินไปตามร้านเหล้าจากสำนักนี้ไปร้านเหล้าตลอดไปถึงฝั่งเมืองบางกอกว่าร้านไหนไม่เต็มบ้าง บุญบารมีมันก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ขอให้ท่านสร้างบารมีไว้บ้าง แล้วก็สวดมนต์ไว้ให้ดี

อาตมายังเชื่อสมองท่านโต ปัญหาอยู่ที่มนุษย์ว่า วันนี้เอาจริง พรุ่งนี้ไม่เอาจริง ชั่วโมงนี้ว่าจริง แต่ว่าอีกสามชั่วโมงเปลี่ยนใจแล้ว เพราะว่าจิตใจมนุษย์เราไม่ได้ฝึกความแน่วแน่ของนามธรรม ก็ย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์มนุษย์บ้าง ย่อมรักตัวกลัวตายขึ้นมาบ้าง ก็มีความเสียดายตระหนี่ขึ้นมาบ้าง นั่นเป็นธรรมดาของมนุษยโลก


แล้วก็คนทำงานอยู่สิบคน ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า คนหาเงินอยู่คนเดียวแต่คนกินตั้งพันคน คนหาเงินมันจะอยู่ไหวเหรอ เรื่องของประเทศก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางที่หนึ่ง ทางโลกก็ให้ท่านต้องคิดไป ไม่ใช่เทวดาหรืออาตมาต้องมาวางแนวให้ฝึกการปลุกคนให้ตื่น จะต้องรีบรวมกลุ่มทำงานเผยแพร่สัจธรรม

เจริญพร

(เทศน์เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘)


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๖

ชิงลูกตะกร้อ



ในลักษณะการเป็นอยู่ของโลกวิญญาณแล้ว เรื่องการชิงดีชิงเด่น เรื่องการแพ้ชนะ เรื่องอะไรเหล่านี้ทางโลกวิญญาณเขาไม่มี เขาอยู่กันเป็นกลุ่มๆ พวกมารเขาก็อยู่ตามโลกของมาร เทพเจ้าก็อยู่กันตามที่อยู่ของเทพ พรหมก็อยู่ตามความเป็นอยู่ของพรหม ยมโลกเขาก็อยู่กันตามความเป็นอยู่ของยมโลก แต่ในโลกมนุษย์นี้เป็นโลกแห่งสื่อกลางของการใช้กรรม

ขณะนี้เป็นกลางกลียุค ทีนี้ปัญหาเวลานี้ ก็คือว่าอาตมาได้รับการขอเห็นใจและร่วมมือจากท่านโต ทีนี้ปัญหาก็คือ การทำงานท่านต้องเข้าใจว่า ท่านกำลังจะทำงานอะไรเป็นหลักก่อน งานในขณะนี้ที่ท่านจะทำเป็นงานที่เปรียบเสมือนหนึ่งก็คือว่า สงครามแย่งชิงมนุษย์


ถ้าเปรียบอีกจุดหนึ่งก็คือ ขณะนี้ในโลกมนุษย์แบ่งเป็น ๒ ค่าย มนุษย์เปรียบเสมือนหนึ่งลูกตะกร้อ ขณะนี้ลูกตะกร้อชาวไทยทุกฝ่ายที่เล่นนุ่งชุดแดงเป็นเครื่องหมายอุ้มอยู่ ถ้าภาษาชาวบ้านก็คือว่า ท่านจะลงไปแย่งลูกตระกร้อลูกนี้จากมือผู้นุ่งชุดแดง ซึ่งท่านเป็นกลุ่มผู้นุ่งชุดขาว

ทีนี้การเป็นกลุ่มผู้นุ่งชุดขาวที่จะแย่งชิงตะกร้อมาอยู่มือนั้น จำเป็นที่จะต้องมีไหวพริบ มีชั้นเชิง มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ มีความจดจ่อ มีความแน่วแน่ มีสติพร้อม และมีการใช้ปัญญา ก็ย่อมที่จะแย่งลูกตระกร้อลูกนั้นมาอยู่ในมือท่านได้

ทีนี้วิธีการทำงานต้องเข้าใจว่า ท่านกำลังทำงานกับใครเป็นหลักเป็นจุดสำคัญแต่ก็ในด้านอุปนิสัยของผู้นำ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นทุกคนต้องมีสติว่า ไม่ใช่วันนี้ฉันเอาแน่ พรุ่งนี้ฉันยังไม่แน่ มะรืนนี้ไม่เอาเลย เมื่อไม่ได้ถูกบีบรัด ฉะนั้นปัญหาเหล่านี้ ท่านจะให้คำตอบยังไง และท่านจะรักษาระดับอารมณ์แห่งความเอาแน่ของท่านได้ตลอดหรือไม่

ทีนี้ การทำงานเราต้องหวังว่า งานนั้นต้องสำเร็จได้มันจึงทำได้ดี ฉะนั้นเมื่อเห็นว่าทุกคนในวินาทีนี้ อาตมาก็ไม่อยากจะพูดให้มันหวังมากเกินไป เมื่อในวินาทีนี้เห็นว่าทุกคนมี “ความแน่วแน่จดจ่อ” เมื่อจิตแน่วแน่จดจ่อกับงานดีแล้วย่อมก้าวต่อไปเพื่อชัยชนะ และถ้าไม่เห็นทางชนะหรือไม่สำเร็จก็อย่าทำดีกว่า มันเหนื่อยเปล่า

และการที่ท่านจะเป็นผู้นำนั้น ที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรก็คือ คำว่า “ไม่สู้” ไม่มี เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่า ผู้นำนั้นต้องมีชั้นเชิงหาทางทำเองของท่าน ปัญหามันมีอยู่ว่า วันหนึ่งเราต้องทำงานกันจริงๆ จังๆ และเวลาทำก็ตั้งเป้าไว้ว่า “ต้องชนะ ต้องสำเร็จ มันจึงจะเกิดผล”

เจริญพร


(เทศน์เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๘)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๗

สิ่งศักดิ์สิทธิ์กับความอยู่รอดของประเทศ



เจริญพร

วันนี้เท่าที่แลก็เป็นนิมิตที่ดีที่ทางเหนือทางใต้ก็มา ภาคอีสานก็มาร่วมกันที่นี้ การทำงานศาสนาเป็นงานที่ลำบาก งานที่ต้องใช้ขันติธรรมเป็นหลัก ดังนั้นงานของศาสนาเป็นงานใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้สมอง ต้องใช้ความคิด ต้องใช้ความวิริยะ ต้องใช้ความขันติ ต้องใช้ความแลตน


ทีนี้ ในขณะนี้ในเรื่องประเทศสยาม เป็นภาวการณ์ของกรรมวิบากที่ฝ่ายอสูร ฝ่ายปีศาจเขากำลังรุ่งเรืองและดำเนินการสำเร็จของเขา ก็ใกล้เข้ามาแล้ว ทีนี้ในภาวะแห่งการใกล้เข้ามาแล้ว

เมื่อท่านยังติดในทรัพย์   ไม่ช้าก็จะไม่มีทรัพย์ยึด
ถ้าท่านยังห่วงในเรื่องบ้าน   ไม่ช้าก็จะไม่มีบ้านห่วง
เพราะฝ่ายอสูรปีศาจพวกนี้ไม่มีบ้าน


ทีนี้มาแลมนุษย์ในยุคปัจจุบัน มันเป็นยุคที่น่าอนาถ เป็นยุคแห่งการที่เรียกว่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่การกิน เห็นแก่ความเป็นอยู่ เห็นแก่ความสบายที่จะเอาตนรอด ไม่ได้คิดว่าในสังคมนี้ สังคมการเป็นสัตวโลกที่สืบเผ่าพันธุ์นี้ ที่คุยกันรู้เรื่องในภาษาไทย จะต้องมีการพัวพัน จะต้องมีการช่วยเหลือจะต้องมีการค้ำจุน จะต้องมีการเรียกว่าแลกันไป

แต่สังคมกลางกลียุคเช่นนี้ เป็นสังคมที่ล้วนแต่มีมานะทิฐิในการที่ยึดตน ในการที่หลงตน ในการที่จะให้ตนสบาย เมื่อภาวะเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการที่เปิดช่องว่างให้ผู้ที่เรียกว่าทำลายศาสนา หรือว่าเหล่าปีศาจ เหล่าอสูรบำเพ็ญเกิดมาในกลางพิภพนี้ มีทางดำเนินผลสำเร็จ ถ้าเราพูดในลักษณะของดวงดาวโหราศาสตร์ก็เรียกว่า ดวงอสูรดวงปีศาจกำลังขึ้น


ในปัญหา เมื่อดวงอสูรดวงปีศาจกำลังขึ้นนี้ ท่านที่ถือว่าคนเป็นฝ่ายธรรมะ ท่านที่ถือว่าท่านกำลังมีความรักแผ่นดิน แต่ว่าท่านก็ยังยึดในตน ท่านไม่มีการวางตน ไม่มีการรวมพลัง ไม่มีการที่จะทำกันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย

ท่านอาจจะถามว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์หายไปไหน ต้องเข้าใจว่าประเทศลาวจะพินาศก็ดี เทวดาของประเทศเขา เขาก็มากันมาก แต่ว่ามนุษย์ที่ติดในวัตถุยุคปัจจุบัน ที่เขาไปถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะวัตถุเข้าครอบงำจิตใจของมนุษย์ ประเทศเหล่านั้นเห็นเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง มองข้ามไป ตั้งตนอยู่ในความประมาท

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายก็ได้มาได้เข้าใจ เหตุการณ์มันจะเป็นอย่างไร ถ้ายังตั้งตนอยู่ในตนที่ยึดตน ที่คิดว่าเราก็ช่วยแต่ปากก็พอ และช่วยส่งกระแสจิต แล้วท่านคิดว่าท่านจะอยู่ได้หรือ ถ้าท่านคิดว่าท่านอยู่ได้ก็เชิญอยู่


แต่ถ้าท่านอยู่ไม่รอด ประเทศสยามหรือประเทศไทยอยู่ไม่รอด ท่านจะมาโทษวิญญาณไม่ได้ ต้องโทษพวกท่านเอง ความอยู่รอดของมนุษย์ไม่ใช่ความอยู่รอดของเทวดา เทวดาเพียงแต่ส่งเมตตามาช่วย ถ้าท่านไม่ยอมช่วยตนเอง แล้วก็จะมาว่าอาตมาไม่ได้

เวลานี้ต้องเข้าใจว่างานของเทวดา คำว่า “ไม่สำเร็จ” ไม่มี ที่ไม่สำเร็จเพราะมนุษย์ห่วง มนุษย์ไม่เอาจริงเอง มนุษย์ยึดตน ห่วงสมบัติ เพราะฉะนั้น ก็ถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องตัดสินใจให้แน่ว่า จะเอาบ้าน หรือเอาประเทศ ถ้าจะเอาประเทศก็ต้องเลิกยึด เลิกห่วงใยในเรื่องบ้าน เรื่องสมบัติ เรื่องลูก เรื่องเมีย ต้องวางให้หมดอย่างจริงจัง


แล้วเสียสละความสุขส่วนตัวและทรัพย์สินเงินทอง มาช่วยกันพิทักษ์รักษาให้ประเทศมีเอกราชอยู่รอด อาตมาก็คิดว่า มีทางสำเร็จ

เจริญพร

(พระโอวาทเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๐ น.)

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 20:46 , Processed in 0.048277 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.